TH | EN
TH | EN
หน้าแรกTechnologyก้าวต่อไปของ nt ใต้บังเหียน "สรรพชัยย์ หุวะนันทน์" พลิกโฉมองค์กรสู่ "คนกลาง" อุตสาหกรรมดิจิทัล

ก้าวต่อไปของ nt ใต้บังเหียน “สรรพชัยย์ หุวะนันทน์” พลิกโฉมองค์กรสู่ “คนกลาง” อุตสาหกรรมดิจิทัล

ภายใต้บริบทสภาพแวดล้อมที่อุตสาหกรรมโทรคมนาคมเต็มไปด้วยการแข่งขันอย่างดุเดือด การปรับโครงสร้างองค์กรด้วยแนวทางต่าง ๆ จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำ เพื่อยกระดับศักยภาพขีดความสามารถในการแข่งขัน ทำให้องค์กรมีความคล่องตัวในการบริหารจัดการ และมีช่องทางโอกาสในการสร้างรายได้และผลกำไรให้มากขึ้น และเป้าหมายของการควบรวม nt (โทรคมนาคมแห่งชาติ) ก็เป็นเช่นเดียวกัน 

อย่างไรก็ตาม ในฐานะกรรมการผู้จัดการใหญ่คนแรกผู้ที่มารับไม้ต่อหลังควบรวมมากว่า 1 ปีครึ่ง พันเอกสรรพชัยย์ หุวะนันทน์ ยอมรับว่า ยังมีภารกิจอีกมากมายที่จะต้องดำเนินการเพื่อให้บริษัทแห่งนี้สามารถยืนได้อย่างมั่นคง และก้าวเข้าสู่สถานะที่สามารถเติบโตต่อไปได้ โดยมีจุดยืนหลัก คือ การเป็นรัฐวิสาหกิจที่ “เป็นกลาง” ทำงานร่วมกับทุกฝ่ายได้ และเป็นแกนหลักในการสนับสนุนหน่วยงานรัฐขับเคลื่อนภารกิจด้านดิจิทัลแบบครบวงจร 

“ผมให้คำตอบไม่ได้ว่าการควบรวมดีหรือไม่ดี แต่สิ่งที่ตอบได้ก็คือการควบรวมเป็นสิ่งที่ถูกต้อง เพราะทำไมจะต้องมีองค์กรทีทำงานซ้ำซ้อนกัน แข่งขันกันเอง ในประเทศเดียวกัน”

ขณะเดียวกัน สรรพชัยย์ ย้ำว่า การควบรวมไม่ได้หมายถึงการลดงานลดคน แต่เป็นการ จัด และ ปรับ องค์กร ให้ “ลีน” เพื่อความคล่องตัว โดยนำทรัพยกรที่มี ทั้งเงิน และคน มารวมกันแล้วบริหารจัดการในแง่ที่จะลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ และสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน 

นอกจากนี้ อาศัยจุดยืนของการเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจอยู่ก่อน สรรพชัยย์มองว่า nt เหมาะที่จะมุ่งกลุ่มลูกค้าภาครัฐ เน้นส่งเสริมนโยบายภาครัฐทุกระดับอย่างจริงจังในการปรับเปลี่ยนพัฒนาองค์กรด้วยเทคโนโลยีด้านดิจิทัลและสื่อสารโทรคมนาคม ซึ่งเป็นสินทรัพย์และองค์ความรู้ที่ nt มีอย่างเต็มเปี่ยม 

สรรพชัยย์ กล่าวว่า โครงการภาครัฐที่ nt เข้าไปมีส่วนร่วมแน่นอนก็คือ โครงการคลาวด์กลางภาครัฐ (GDCC) 

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา nt เน้นให้บริการในระดับโครงสร้างพื้นฐานพร้อมพัฒนาบุคลากรของภาครัฐอย่างต่อเนื่อง โดยตอนนี้ คือ การมุ่งขยายการบริการในระดับแพลตฟอร์มและซอฟต์แวร์ ให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนผ่านรัฐบาลดิจิทัลไทยแลนด์ 4.0 ตามนโยบาย Digital Thailand ขณะที่ ดำเนินโครงการอื่น ๆ ที่จะรองรับความต้องการภาครัฐด้าน Data Analytic ที่จะเพิ่มมากขึ้นในอนาคต ทั้งด้านการท่องเที่ยว การเกษตร การศึกษา สาธารณสุข แรงงาน ฯลฯ 

ยิ่งไปกว่านั้น การควบรวมครั้งนี้ยังเป็นโอกาสในการชำระปรับปรุงโครงสร้างองค์กรขนานใหญ่ที่สรรพชัยย์ระบุว่า ไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อที่จะแข่งขันกับใคร แต่เป็นการประเมินความกำลังความสามารถของตนเองในขอบเขตที่สถานะของ nt จะทำได้ และจะไม่มีการผูกขาด (monopoly) โดยเด็ดขาด

สรรพชัยย์ อธิบายว่า ส่วนไหนที่สามารถจะตัดลดค่าใช้จ่ายได้ก็ต้องดำเนินการต่อไป ส่วนไหนที่ดูแล้วว่ามีช่องทางโอกาสเติบโตได้ก็ผลักดันต่อ และส่วนไหนที่จะต้องแข่งขันก็ปล่อยให้เป็นอิสระจาก nt เพื่อความเหมาะสมคล่องตัว 

อย่างไรก็ตาม ภาระงานหรือโครงการตามภารกิจที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมมอบหมายก็ยังคงต้องทำควบคู่ไปด้วย เช่น การจัดระเบียบสายสื่อสารในปี 2565 ที่ได้เริ่มดำเนินการในกลุ่มเร่งด่วนพื้นที่ชั้นในกรุงเทพมหานครตามแนวถนนสายหลักแล้ว และเตรียมขยายสู่พื้นที่รอบนอกต่อไป  

หากพื้นที่ใดยังไม่สามารถนำสายลงใต้ดินได้ จะดำเนินโครงการจัดระเบียบสายด้วยการตัดสายเก่าทิ้งและเดินสายสื่อสารใหม่ ซึ่งเป็นการดำเนินการร่วมกันกับทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและผู้ประกอบการภาคเอกชน ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) สมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทย ซึ่งมีไอเอสพีเป็นสมาชิก และกรุงเทพมหานคร ในการจัดระเบียบสายพร้อมกัน 

สำหรับโครงการท่อร้อยสายสื่อสารใต้ดิน nt มีศักยภาพพร้อมที่จะดำเนินการได้ทันทีด้วยความพร้อมของท่อร้อยสายใต้ดินที่มีอยู่แล้ว 4,450 กิโลเมตร สามารถรองรับเคเบิลทองแดงขนาดใหญ่ที่ไม่สามารถแขวนกับเสาไฟฟ้าได้ รวมทั้งการสร้างท่อร้อยสายไปพร้อม ๆ กับการก่อสร้างถนนใหม่เพื่อลดผลกระทบจากการเปิดผิวจราจร

สรรพชัยย์ กล่าวว่า ในส่วนนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน และสินทรัพย์ที่ nt ครอบครองอยู่เพื่อประโยชน์ในการต่อยอดสร้างรายได้ตามแผนงานธุรกิจต่อไป โดยสรรพชัยย์ ย้ำว่า หน้าที่ของตนเองต้องทำให้ดีกว่าแผนธุรกิจที่วางไว้ รับฟังปัญหาที่เกิดขึ้น พิจารณาข้อมูลอย่างรอบด้าน และดำเนินการตัดสินใจ

“ไม่ได้บอกว่าทุกเรื่องที่ผมตัดสินใจจะถูกต้องเสียทั้งหมด แต่ผมต้องมีข้อมูลเพียงพอที่จะตัดสินใจ และหากผิดพลาดก็ต้องยอมรับ แล้วเข้าไปแก้ไขทนที” 

nt มีสถานะเป็น “ตัวกลาง”

ในส่วนที่บอกว่าจะให้ nt มีสถานะเป็น “ตัวกลาง” นี้หมายความว่า เป็นการใช้โครงการและสินทรัพย์ที่ nt มีอยู่ทั้งหมดมาบริหารจัดการในแบบที่สามารถ “แชร์” หรือแบ่งปันกับผู้ให้บริการรายอื่น ๆ เพื่อทำให้เกิดรายได้ร่วมกันได้ 

ตัวอย่างเช่น โครงการ 5G ซึ่ง nt มีคลื่นความถี่ที่ได้รับจากการประมูลใน 2 ย่านความถี่ โดยคลื่นความถี่ 26 GHz (คลื่นในย่านความสูง)  จะเน้นลงทุนให้บริการสำหรับผู้ประกอบการขนาดใหญ่เฉพาะกลุ่มเพื่อความคุ้มค่า โดยในปีนี้มุ่งเน้นการพัฒนาและเปิดให้บริการร่วมกับพันธมิตรในพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ (EEC) และสนับสนุนการพัฒนาสู่ Smart City ซึ่งได้เริ่มเปิดให้บริการในเชิงพาณิชย์แล้ว   

ขณะที่ ความถี่ 700 MHz ได้ดำเนินการใน 2 รูปแบบ ได้แก่ การดำเนินการเองสำหรับประชาชนผู้มีรายได้น้อยที่ใช้บริการพื้นฐานทั่วไป ไม่ต้องการแบนด์วิดท์สูง และการให้พันธมิตรร่วมให้บริการ 5G ในรูปแบบ Network Sharing เพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายในการลงทุนขององค์กร 

นอกจากนี้ก็ยังมีโครงการอื่น ๆ อีก อาทิ การจัดการสินทรัพย์ดาวเทียมไทยคม, ASEAN Digital Hub, การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่มีอยู่ เป็นต้น  ทั้งนี้ในแต่ละเรื่องมีแนวทางต้องดำเนินการทั้งระยะสั้นและระยะยาวคู่ขนานกันไป 

“การปรับองค์กรแต่ละครั้งต้องดู wealth, health และ happiness ควบคู่กัน ตอนนี้ wealth หรือความมั่งคั่ง ของ nt อยู่ในระดับดีมาก แต่ health หรือสุขภาพ ไม่ค่อยดีสักเท่าไร โจทย์คือจะนำ wealth ที่ nt มีมาทำให้ health แข็งแรงได้อย่างไร” 

ขณะเดียวกัน  เมื่อสุขภาพแข็งแกร่งดีแล้ว ก็ต้องให้ความสำคัญกับความสุขของบุคลากร ดังนั้น การพัฒนาบุคลากรจึงเป็นหัวใจสำคัญของการปรับองค์กรที่ขาดไม่ได้และต้องมีการปรับระบบการทำงานในหลายมิตินั้น จะส่งเสริมการทำงานร่วมกัน ดูแลคุณภาพชีวิต เพิ่มทักษะให้สอดคล้องกับการดำเนินธุรกิจทั้งในปัจจุบันและอนาคต ตลอดจนสร้างขวัญและกำลังใจในการเผชิญกับการเปลี่ยนแปลง ซึ่ง nt จะปรับโครงสร้างองค์กรระยะเปลี่ยนผ่านภายในเดือนสิงหาคมนี้ และจะมีการจัดทำโครงการเกษียณอายุก่อนกำหนดเพื่อเป็นทางเลือกให้กับพนักงานด้วย โดยโครงการเกษียณอายุก่อนกำหนดในปี 2565 นี้ ตั้งเป้าไว้ที่ 1,800 ราย 

“งานของผมมาเพื่อรับฟังแล้วช่วยให้เกิดการตัดสินใจ การปรับเปลี่ยนองค์กรกว่าจะเข้าที่ได้ยังคงต้องใช้เวลาอีกหลายปี แต่การให้ nt เป็นองค์กรโทรคมนาคมแห่งชาติที่พร้อมทำงานร่วมกับทุกฝ่ายคือสิ่งที่เราจะมุ่งไป แน่นอนเพื่อประโยชน์ของคนในประเทศ และเพื่อให้อุตสาหกรรมดิจิทัลไทยเติบโตต่อไปได้อย่างยั่งยืน โดยมี nt เป็นอีกหนึ่งแกนหลักสำคัญ” 

ทั้งนี้ สำหรับผลประกอบการในปี 2565 ถึงปัจจุบัน nt มีรายได้รวม 49,557.65 ล้านบาท คิดเป็น 47.78% เมื่อเทียบกับเป้าหมายที่วางไว้  โดยรายได้หลักมาจากกลุ่มธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ กลุ่มธุรกิจโทรศัพท์ประจำที่และบรอดแบนด์

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ