TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistคำถามก่อนประชุม ... "จะปิดหรือเปิดกล้องดีนะ?"

คำถามก่อนประชุม … “จะปิดหรือเปิดกล้องดีนะ?”

คุณเคยอยู่ในการประชุม Zoom ที่คนพูดหรือนำเสนอเปิดกล้องอยู่คนเดียว แล้วทุกคนปิดกล้องมั้ย? แล้วคุณรู้สึกอย่างไร?

ถ้าคุณเคยเป็นคนร่วมประชุมที่ปิดกล้องฟังอยู่ก็คงไม่รู้สึกอะไร แต่ถ้าคุณเป็นคนพูดที่เปิดกล้องอยู่คนเดียวในการประชุมนั้น (อย่างที่ผมมีประสบการณ์อยู่หลายครั้ง) ถ้าเป็นครั้งแรกคงเป็นความรู้สึกแปลกใหม่ เหมือนพูดกับตัวเอง หรือพูดกับหลุมดำ โดยที่รู้ว่าคนฟังอยู่เต็มห้อง

ในยุคก่อน COVID-19 ที่การประชุมแบบเปิดกล้องยังไม่เป็นที่วิถีทำงานใหม่แบบปัจจุบันนี้ การเห็นสีหน้า คิ้วผูกกันเป็นปม หรือการหยิบโทรศัพท์มือถือขึ้นมาเล่น ล้วนเป็นสัญญาณที่ดีสำหรับผู้พูดในการปรับเนื้อหา หรือวิธีการนำเสนอ หรือหยุดถามผู้เข้าร่วมที่ทำหน้าสงสัย 

จึงไม่เป็นที่แปลกใจที่ในช่วงแรกของการ Work From Home ที่เราเปลี่ยนรูปแบบมาประชุม หลายบริษัทถึงขอความร่วมมือ (แกมบังคับ) ให้พนักงานทุกคนเปิดกล้องเวลาประชุม

ซึ่งการที่ทุกคนเปิดกล้องก็มีข้อดีหลายอย่าง เช่น

  • เป็นการให้เกียรติคนที่นำเสนอ หรือพูดอยู่ 
  • ช่วยส่งสัญญาณภาษากายให้คนนำเสนอสามารถปรับเนื้อหา และวิธีการนำเสนอให้เหมาะกับบรรยากาศของผู้เข้าร่วม
  • ช่วยให้ตั้งใจกับการประชุม เพราะจะทำงานอื่นได้ยากขึ้น

แน่นอนว่าก็มีพนักงานไม่น้อยที่ไม่อยากจะเปิดกล้องในการประชุมซึ่งในช่วงแรกเหตุผลที่เคยได้ยิน เช่น

  • เขินหน้าตัวเอง กลัวเพื่อน ๆ จำหน้าไร้เครื่องสำอางของเราไม่ได้
  • กลัวเห็นว่าห้องรก สำหรับช่วงแรกที่ยังไม่มี virtual background
  • อยากทำอย่างอื่นไปด้วย ถ้าเปิดกล้องจะไม่สะดวก

จะเห็นว่าช่วงแรก ๆ ที่มีเสียงสะท้อนของพนักงานที่ไม่อยากเปิดกล้องประชุม จะไม่ได้รับความสนใจมากจากผู้บริหาร แต่เมื่อสถานการณ์ COVID-19 ลากนานขึ้น ไม่ต่างกับจำนวน และเวลาที่ใช้อยู่หน้าจอในการประชุมออนไลน์นานขึ้น มีการวิจัยออกมาถึงปัจจัยที่ทำให้คนรู้สึกล้าจากการเปิดกล้องประชุมนานๆ หรือ Zoom Fatigue ซึ่งมีผลต่อประสิทธิภาพการทำงาน ไม่ได้เป็นเรื่องที่พนักงานคิดไปเอง หรือหาข้ออ้างไปทำงานอย่างอื่น

นักวิจัยของ Stanford ได้อธิบายสาเหตุของการล้าจากการเปิดกล้องประชุมนาน ๆ ได้ 4 ข้อ คือ

  1. เวลาการมองหน้าและสบตาอีกระยะใกล้ที่นานเกินไป  ในการประชุมแบบปกติเราจะมีระยะห่างกับผู้อื่น และเราก็ไม่มองผู้เข้าร่วมประชุมตลอดเวลา ต่างกับการการประชุมออนไลน์แบบเปิดกล้องที่ทุกคน มองทุกคนในระยะใกล้ “ตลอดเวลา” ลองนึกสถานการณ์แบบนี้ในชีวิตจริงที่คุณพูดแล้วมีคนหลายๆ สิบคน “จ้อง” มองคุณตลอดการพูดคงจะรู้สึกเครียดไม่น้อย
  2. การล้าจากการมองตัวเองในแบบreal time อย่างต่อเนื่อง ในโปรแกรม VDO Chat ส่วนใหญ่มักจะกรอบเล็ก ๆ ให้ตัวเองดูว่า คนอื่นเห็นเราอย่างไร ซึ่งเป็นเรื่องไม่เรื่องธรรมชาติสำหรับคนทั่วไป และสร้างความเครียดโดยไม่รู้ตัว
  3. การคุยแบบเปิดกล้องทำให้ลดการเคลื่อนไหวของร่างกายอย่างมีนัยยะสำคัญ การเปิดกล้องตลอดเป็นการบังคับกลาย ๆ ให้คุณนั่งนิ่ง ๆ อยู่กับที่เป็นเวลานาน ซึ่งต่างกับการประชุมปกติที่คุณสามารถผ่อนคลาย ขยับตัว หรือเดินไปมาเพื่อทำกิจกรรมกลุ่ม หรือนำเสนอได้
  4. ภาระทางปัญญา (cognitive load) ที่สูงกว่าในการคุยแบบเปิดกล้อง ในการสนทนาแบบตัวต่อตัว จิตใต้สำนึกเราสามารถรับสัญญาณทางภาษากาย และตีความหมาย ซึ่งทำได้ยากขึ้นในการสื่อสารแบบเปิดกล้องประชุม สมองจะต้องประมวลผลและตีความภาษากายที่เห็นของหลายคน ในบริบทที่ต่างกันแบบ real time ตลอดเวลา 

อ่านถึงตรงนี้อย่าเพิ่งแขยงกลัวการเปิดกล้องตอนประชุมไปก่อนนะครับ เพราะอย่างที่เกริ่นตอนต้นว่าการเปิดกล้องมีข้อดี แต่อะไรที่มากเกินไปก็ย่อมมีข้อเสียรวมถึงการล้าหรือ Zoom Fatigue ด้วย

ถ้าคุณเป็นคนที่ร่วมประชุม สิ่งที่ทำได้เพื่อลดการล้าจากการเปิดกล้อง เช่น

  • ย่อขนาดหน้าจอของโปรแกรม VDO Chat ให้เห็นหน้าผู้เข้าร่วมประชุมเล็กลง 
  • ปิดหรือซ่อนหน้าต่างที่แสดงหน้าของตัวเราเอง
  • ใช้ External webcam และตั้งกล้องให้เห็นภาพมุมกว้างมีระยะห่างจากตัวเรามากขึ้นเพื่อทึ่จะสามารถขยับตัวโดยไม่ได้หลุดไปจากจอ
  • ปิดกล้องเป็นบางช่วง

อีกบทบาทที่สำคัญ คือ ผู้บริหาร หรือคนจัดประชุมที่ควรคิดถึงปัจจัยความล้าจากการเปิดกล้องเป็นเวลานาน และเป็นตัวอย่างในการประชุมแบบปิดกล้อง ใช้เฉพาะเสียงบ้าง เพราะก่อนหน้านี้เราก็ประชุม conference call ด้วยเสียงอย่างเดียวมาเป็นสิบปีได้ การที่โปรแกรมประชุมสมัยนี้ “มี” VDO Call ไม่ได้หมายความว่าคุณจำเป็นต้อง “ใช้” ทุกครั้ง

ว่าแต่คุณเลือกได้หรือยังว่าการประชุมครั้งต่อไป คุณจะปิดหรือเปิดกล้องครับ?

Source: https://news.stanford.edu/2021/02/23/four-causes-zoom-fatigue-solutions/

ผู้เขียน: ชัชพล ยังวิริยะกุล

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ