TH | EN
TH | EN
หน้าแรกBusinessจับทิศการตลาดปี 67 ลงลึกด้วยข้อมูลและเอไอ ดันยอดขายด้วย Affiliate

จับทิศการตลาดปี 67 ลงลึกด้วยข้อมูลและเอไอ ดันยอดขายด้วย Affiliate

ภูมิทัศน์โลกที่เปลี่ยนไปเพราะการดิสรัปชันโดยเทคโนโลยีส่งผลให้เกิดเทรนด์ทางการตลาดใหม่ ๆ การบูรณาการข้อมูลและเทคโนโลยีให้เป็นเนื้อเดียวกับกระบวนการพัฒนากลยุทธ์การตลาด การสร้างเครื่องมือเทคโนโลยีการตลาด หรือ มาร์เทค (Marketing Technology) ซึ่งผนวกเทคโนโลยีเอไอมากขึ้น The Story Thailand จึงชวน คุณหนุ่ย ณัฐพล ม่วงทำ เจ้าของเพจดัง การตลาดวันละตอน มาร่วมกันฉายภาพฉากทัศน์และปัจจัยที่มีผลต่อการกำหนดทิศทางการตลาดปี 2567

มาตรฐานข้อมูลต้องมี ทาเลนต์ต้องมา

ในปี 2566 คำที่แวดวงธุรกิจพูดถึงบ่อย ๆ อาทิ ข้อมูล เอไอ การตลาดที่สนองความต้องการลูกค้ารายบุคคล (Personalization) เทคโนโลยีการตลาด ถูกนำมาใช้ในการวางแผนและมีการอิมพลิเมนต์เพื่อใช้งานอย่างจริงจัง แต่กลับเจออุปสรรคสำคัญคือ การบูรณาการข้อมูลเข้าด้วยกันซึ่งไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด

“ในหนึ่งบริษัทอาจมีหลายระบบงาน ทั้งระบบขาย การตลาด บริการลูกค้า การเงิน เป็นต้น ทว่ามีการเก็บข้อมูลต่างรูปแบบ เช่น เก็บข้อมูลยอดขายเป็นวันเดือนปีเป็น พ.ศ. แต่ระบบซีอาร์เอ็มเวลาลูกค้าสแกนไลน์กลับบันทึกข้อมูลเป็นปี ค.ศ. แต่นี้ก็คุยกันยากล่ะ ก็ต้องทำให้ข้อมูลแต่ละระบบพูดจาภาษาเดียวกันให้ได้ก่อน”

ดังนั้น ในปีหน้า ความยากที่สุด คือ การวางมาตรฐานข้อมูล (Data Standardization) เพื่อปรับใช้ให้เข้ากับบริบทของตัวเองมากขึ้นทั้งกับเนื้องานและคนทำงาน ความใหม่ไม่ค่อยมีแต่จะมีความลึกเกิดที่หน้างานในการทำสิ่งที่คิดให้เกิดขึ้นจริง นี่คือภาพแรก ยิ่งเมื่อตลาดอันล็อกจากโควิด คนเริ่มกลับมาจับจ่ายใช้สอย ทำให้การพัฒนาระบบข้อมูลซึ่งมีแค่บริษัทใหญ่ทุนพร้อมจึงจะทำได้ แต่ต่อไปจะเป็นปีที่อีกหลายบริษัทเริ่มลงมือทำอย่างจริงจัง

ทีมงานและบุคลากร เป็นสิ่งที่สำคัญรองลงมา เพราะเมื่อเครื่องมือเปลี่ยน กระบวนการเปลี่ยนตาม คนจะสามารถเปลี่ยนให้เข้ากับเครื่องมือและกระบวนการที่เปลี่ยนไปได้หรือไม่ ตำแหน่งงานที่ไม่เคยมีต้องมีหรือไม่ เช่น เมื่อก่อนเรามีทีมทำงานด้านข้อมูลของบริษัทที่รับความต้องการจากทุกทีมเข้ามา แต่เมื่อข้อมูลมากจนเริ่มเป็นคอขวด ก็ต้องปรับให้มีคนทำเรื่องข้อมูลกระจายอยู่ในทุกทีม เช่น ทีม Publisher ซึ่งไม่ใช่มีแค่คนทำข้อมูล แต่ต้องมีคนออกแบบคอนเทนต์ ทำด้านวิเคราะห์คอนเทนต์เพื่อชี้นำให้ไปพัฒนาต่อ ส่วนแบรนด์ซึ่งเริ่มปรับตัวในการทำคอนเทนต์ของตัวเอง โพสต์เอง ก็ต้องยอมลงทุนกับคนใหม่ คนเก่าก็ต้องเรียนรู้ทักษะใหม่และปรับตัวให้เข้ากับการทำงานที่เปลี่ยนไป

“หลายบริษัทที่ผมไปช่วยเริ่มฝึกสอนเรื่องเอไอแบบจริงจัง ๆ ยกตัวอย่างแชตจีพีที (ChatGPT) เมื่อสอนแล้วให้โจทย์ ให้ตัวชี้วัดเพื่อให้พนักงานได้ลองเรียนรู้และทำงานมาส่ง เป็นการสร้างทาเลนต์ให้เกิดขึ้นในองค์กร”

การตลาดวันละตอน จับมือ ICEHR TU เปิดหลักสูตร MDA : Marketing Data Analytics เพื่อองค์กร

วิน-วินด้วย Affiliate Marketing

ระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมา นับเป็นปีทองของอินฟลูเอนเซอร์ งบประมาณที่จ่ายไปกับเพจหลักเพจใหญ่น้อยลงแต่ถูกจัดสรรไปจ้างอินฟลูฯ เพิ่มแทน เพราะให้ความรู้สึกในการปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนกับคนมากกว่า อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เห็นได้ชัด คือ เทรนด์ของ Affiliate Marketing ได้เข้ามาเปลี่ยนนิยามของอินฟลูฯ ไป เมื่อก่อนแบรนด์นิยมจ้างอินฟลูฯ เพราะคาดหวังว่าน่าจะจูงใจให้คนอยากซื้อสินค้า แต่ได้ตามนั้นจริงหรือไม่ไม่มีใครรู้เพราะวัดผลยาก แต่ Affiliate Marketing ได้สร้างเทคโนโลยีที่เรียกว่า Affiliate Link ในการแกะรอยลิงก์สินค้าที่ใครก็ตามดึงไปแปะในช่องทางโซเชียลมีเดียของตัวเองแล้วเผยแพร่ออกไป และมีคนกดลิงค์สั่งซื้อสินค้าดังกล่าว ระบบสามารถตรวจสอบข้อมูลและยอดการสั่งซื้อตามจริงว่า ซื้อโดยใคร ซื้อจริงหรือไม่ ซื้อมาจากใครได้แบบไร้รอยต่อ ทำให้นักการตลาดสามารถวัดประสิทธิผลของโซเชียลมีเดียได้เป็นรูปธรรมมากขึ้นอย่าง Conversion Rate ซึ่งบอกตัวเลขสัดส่วนระหว่างจำนวนผู้กดลิงก์เข้าชมกับยอดจำหน่ายที่ขายได้จริง  

“ตี๋โอเคยคุยกับผมนานแล้วว่า เมื่อก่อนต้องมีคนจ้างถึงจะไลฟ์หรือทำคอนเทนต์ให้ แต่วันนี้ไม่ต้องล่ะ ถ้าโปรดักส์ตัวนี้ดี มีโอกาส ก็ทำคอนเทนต์เอง ดันเอง ได้คอมมิชชันเอง ไม่ต้องรอแบรนด์มาจ้าง อินฟลูฯ ก็อาจไม่จำเป็น ทีนี้เมื่อโลกเปลี่ยนแต่อินฟลูฯ ที่ยังติดอยูกับทำคอนเทนต์ไลฟ์สไตล์แต่ดันยอดคอนเวอร์ชันไม่ได้ก็จะไปยากหน่อย ยกเว้นคนที่ดังมาก ๆ สร้างผลกระทบแรง ๆ แบรนด์อยากจ้างอยู่แล้วโดยไม่ได้คาดหวังยอดซื้อนอกจากสร้างการรับรู้ในวงกว้าง ส่วนค่า Affiliate เป็นโบนัสที่อินฟลูฯ จะได้รับไปโดยปริยาย”

ขณะเดียวกัน กระแส D2C (Direct to Customer) ในช่วงล็อกดาวน์จากโควิด ทำให้แบรนด์ต้องพยายามจูงใจให้ลูกค้าซื้อผ่านออนไลน์ตรงกับแบรนด์ดอทคอม แต่เมื่อนำมาผูกกับ Affiliate อาจให้ภาพที่เปลี่ยนไปเป็น I2C (Influencer to Community) หรือ C2C (Creator to Community) จากการที่อินฟลูฯ หรือครีเอเตอร์พร้อมดันสินค้าตัวไหนก็ได้โดยไม่ต้องจ้าง ดังนั้น สิ่งที่แบรนด์ต้องทำ คือ ทำให้สินค้ามีลิงก์พร้อมใช้งานไว้ในแพลตฟอร์มต่าง ๆ หรือสร้างระบบไว้ให้ทุกคนดึงลิงก์มาทำ Affiliate ได้ รวมถึงต้องวางค่าตอบแทนไว้ให้น่าสนใจ เพราะลำพังตัวแบรนด์เองนอกจากอยากสร้างการรับรู้แล้ว ยังต้องการได้คอนเวอร์ชันควบคู่ไปด้วยเพียงแต่ในอดีตไม่มีเครื่องมือตรวจสอบเลยต้องพยายามทำทุกอย่างก่อน แต่เมื่อทุกอย่างเปลี่ยน คอนเทนต์ครีเอเตอร์สามารถทำให้สินค้าเป็นที่รู้จักและน่าซื้อไปพร้อมกัน มีโอกาสหาเงินได้แบบไม่มีต้นทุน แค่รีวิวแบบเดิมเพิ่มเติมแค่ลิงก์ Affiliate หรือต่อให้คนเข้ามาแล้วไม่ได้ซื้อสินค้าที่แนะนำแต่ไปซื้อสินค้าตัวอื่นแทนขอแค่ให้อยู่ในแพลตฟอร์มอี-คอมเมิร์ซเดียวกัน ระบบยังสามารถจำข้อมูลได้ว่า คนซื้อล่าสุดกดลิงก์มาจากคนไหน และค่าตอบแทนจะส่งไปหาคน ๆ นั้นโดยอัตโนมัติ นับว่า วิน-วิน กันทุกฝ่าย

จากการตรวจสอบข้อมูลในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2566 พบว่า มีการแปะลิงก์ Affiliate ไม่ต่ำกว่า 5 ล้านครั้ง ส่วนสินค้า 3 หมวดยอดนิยมของคนไทยในการแปะลิงก์ คือ ความสวยความงาม แฟชั่นเสื้อผ้า และเฟอร์นิเจอร์ของใช้ในบ้าน ซึ่งขายดีตั้งแต่โต๊ะ เก้าอี้ กระทั่งเครื่องซักผ้า จะเห็นว่า ทุกอย่างเปลี่ยนไปจากการที่ Affiliate ใช้งานได้จริง ตรวจสอบได้ดี และได้เม็ดเงินเข้ากระเป๋าจริง ๆ

การตลาดวันละตอน ปักธงหนุน SME ไทย สู่ Data-Driven Marketing

“Affiliate Marketing เป็นสิ่งที่พยายามมาเป็น 10 ปี แต่ไม่ค่อยเวิร์กเพราะระบบไม่เกิดผลในเชิงปฏิบัติเหมือนปัจจุบัน เมื่อก่อนแวลาตรวจสอบว่าใครซื้อใครขาย ต้องมีโค้ดยืนยันตัวตนผู้ขายเพื่อแจ้งผู้ซื้อ แต่ผู้ซื้อจะจำโค้ดคนขายได้ทุกครั้งไปรึเปล่า จำไม่ได้ก็ซื้อ ๆ ไปเพราะขี้เกียจกลับไปถาม ความตัดขาดตรงนี้ทำให้การตลาดแนวนี้ไปไม่ถึงไหน แต่การมาของเทคโนโลยีทำให้การเกิดขึ้นของอีโคซิสเท็มนั้นง่าย”

ป้ายยาต้องปังดันคอนเวอร์ชัน

อย่างไรก็ตาม พอทุกคนหันมาทำการตลาดแปะลิงก์เหมือนกันหมดจนกลายเป็นมาตรฐานใหม่ การได้คอนเวอร์ชันกลับมาจากการขายสินค้าแบบเดียวกันทำให้ทั้งอินฟลูฯ และครีเอเตอร์ต้องทำงานหนักขึ้นเพื่อให้คนอยากซื้อของจากการกดลิงก์ของตัวเอง เช่น มีดีลพิเศษจากแบรนด์ให้ไม๊ คอนเทนต์ดีจนอยากซื้อกับคน ๆ นี้หรือไม่ หรือรีวิวดีแต่ใช้สินค้าจริงรึเปล่า มันจึงไม่ใช่แค่การโพสต์สนุก ๆ แต่ต้องได้คอนเวอร์ชันกลับมาด้วยซึ่งแต่ละคนจะมีเทคนิคป้ายยาไม่เหมือนกัน บางคนป้ายเหมือนไม่ป้าย ป้ายแบบตรง ๆ ป้ายแบบอัดโปร ป้ายแบบมีคาร์แรกเตอร์ของตัวเอง

ตัวครีเอเตอร์เองจะมีโอกาสมากขึ้น ง้อแบรนด์น้อยลงเพราะสามารถเลือกแปะลิงก์ได้เองหากสินค้านั้นดีจริง ต่างจากเดิมที่ต้องทำเพจให้ดังแล้วทำเงินจากคอนเทนต์อย่างเดียวแล้วรอสปอนเซอร์มาลง หรือหนีไปลงยูทูปรับส่วนแบ่งโฆษณามากบ้างน้อยบ้าง แต่เมื่อมี Affiliate เป็นอีกหนึ่งโซลูชันและผู้ติดตามเชื่อมั่นว่า อินฟลูฯ หรือครีเอเตอร์ไม่ได้ป้ายยาแบบหลอก ไม่ได้เอาของไม่ดีมารีวิวแนะนำเพราะความจริงใจเป็นเรื่องสำคัญ เช่น “นายอาร์ม” ครีเอเตอร์สายเทคที่ออกสินค้ามาขายเอง เวลาไปใช้อะไรแล้วแปะลิงก์ เอฟซีหรือผู้ติดตามคือพร้อมซื้อโดยไม่สนใจแบรนด์ 

“ผมแอบคิดว่า ถ้าให้ดี แบรนด์ควรให้แปะลิงก์เฉพาะสินค้าที่อินฟลูฯ หรือครีเอเตอร์เคยซื้อ คนก็จะยิ่งเชื่อถือมากขึ้น”

สำหรับแบรนด์ที่ต้องการดึงคนมาสู่ลิงก์และดันสู่ยอดซื้อจริง ต้องทำเรื่อง Transparency ให้ทุกอย่างง่ายและโปร่งใสที่สุด ยกตัวอย่างเช่น Shopee แสดงข้อมูลอัปเดตในโปรแกรม Affiliate ให้ครีเอเตอร์รู้ว่า ลิงก์ที่ดึงมาแปะในช่องทางโซเชียลของตัวเอง มีคนคลิ๊กลิงก์กี่ครั้ง จะได้คอมมิชชันกี่บาท ทำให้ครีเอเตอร์มั่นใจว่า แบรนด์นี้มีคุณค่าควรแก่การแปะลิงก์ และจะเริ่มดึงลิงก์ของแบรนด์จากทุกแพลตฟอร์มที่เชื่อว่าแปะแล้วได้เงินจริง ซึ่งนอกจาก Shopee และลาซาด้า ติ๊กต๊อกก็เป็นอีกแพลตฟอร์มที่เริ่มมีการแปะลิงก์แต่ยังจำกัดการโพสต์อยู่แค่ในติ๊กต็อก ยังไม่ได้ออกมาสู่ช่องทางโซเชียลอื่น ๆ

“แนวโน้มปีหน้าคงไม่ใช่แค่การปรับปรุงทางการตลาด (Marketing Optimization) เพียงอย่างเดียว แต่คือการปรับปรุงกระบวนการทางธุรกิจทั้งหมด (Business Optimization) เพราะวันนี้นักการตลาดรู้แล้วว่า จะจ้างดาราไปทำไมถ้าสินค้าไม่ได้แมสมากขนาดนั้นและจะหันมาใช้ช่องทางนี้มากขึ้น แค่ทำอย่างไรให้สามารถแบ่งเซ็คเมนต์ทางการตลาดได้ดีกว่าเดิม รู้ใจลูกค้าให้มากกว่าเดิม จัดสรรงบประมาณในการให้ค่าตอบแทนเสียใหม่ให้มีประสิทธิภาพกว่าเดิมจากที่เคยให้กับพนักงานขายหรือโมเดิร์นเทรดมาให้ในช่องทางการขายใหม่ หรือเปลี่ยนมาลงทุนกับข้อมูลและเทคโนโลยีให้มากขึ้นแทน”

เอไอกับเทรนด์การตลาดปีหน้า

เมื่อข้อมูลกลายเป็นรากฐานสำคัญในการทำความรู้จักเพื่อรู้ใจลูกค้า การเกิดสิ่งนี้ได้ต้องบูรณาการข้อมูลจากหลายแหล่งให้ได้ก่อน จากนั้นนำข้อมูลมาวิเคราะห์แยกแยะเพื่อจัดแบ่งกลุ่มทางการตลาด ยิ่งสามารถแบ่งฐานลูกค้าได้ละเอียดเท่าไหร่ ก็ยิ่งรู้ถึงการจัดวางกลยุทธ์ทางการตลาดมากขึ้นเท่านั้น แต่ด้วยข้อมูลที่มีอยู่มากจึงต้องใช้ เอไอหรือปัญญาประดิษฐ์ เข้าช่วย

ณัฐพลกล่าวว่า เอไอก็เหมือนเด็กคนหนึ่งที่ต้องสอนให้รู้ว่า ต้องแบ่งกลุ่มลูกค้ายังไงเพื่อให้ฝ่ายการตลาดนำไปคิดต่อ กลุ่มไหนคือลูกค้าชั้นดีที่สามารถทำการตลาดให้ถูกจริตเป็นรายบุคคล แล้วนิยามลูกค้าชั้นดีเป็นแบบไหน ต้องซื้อเยอะซื้อถี่แค่ไหนจึงจัดว่าชั้นดี ต้องการลูกค้ารวยเข้ามาในฐานข้อมูลก็ต้องนิยามองค์ประกอบที่สะท้อนความรวย ซึ่งบางครั้งต้องศึกษาฐานข้อมูลเดิม เช่น ลูกค้าที่เคยจัดส่งของอยู่บ้านแบบไหน ทาวน์โฮมไม่ถึง 5 ล้าน หรือ คฤหาสน์ 25 ล้าน เป็นการทำงานตรงไปที่ข้อมูลเพื่อย้อนกลับมาสอนเอไอ ยกตัวอย่างกลุ่มคนเลี้ยงสุนัขในคอนโดมีเท่าไหร่ เลี้ยงอยู่บ้านมีเท่าไหร่ รถยนต์แอคคอร์ดที่ขายคนได้หลายมิติก็จริง แต่ถ้าเจาะจงลงลึกอีกหน่อยว่า แอคคอร์ดกับคนมีลูกเล็กต้องเป็นอย่างไร แอคคอร์ดกับคนเลี้ยงสุนัขต้องเป็นแบบไหน แล้วเลือกนำเสนอสินค้าให้ตรงตามความชอบ ความต่างเล็ก ๆ ตรงนี้ทำให้คนหยิบแล้วอ่าน ความใส่ใจที่มากขึ้นนั้นสร้างโอกาสเพิ่มคอนเวอร์ชันทีละน้อยจนรวมเป็นผลลัพธ์ที่เพิ่มขึ้น

ด้วยเหตุนี้ งานการตลาดจากเดิมที่เคยมีแค่ 1 บิ๊กไอเดียต่อการขายสินค้า แต่วันนี้ต้องลงลึกกว่าเดิมว่า สินค้าอย่างหนึ่งจะตอบโจทย์คนแต่ละกลุ่มที่ต่างกันได้อย่างไร ทำให้งานการตลาดกลายเป็นส่วนหนึ่งของ CRM Canvas ที่เกี่ยวพันกับการบริหารความสัมพันธ์กับลูกค้า ซึ่งเป็นการวางกลยุทธ์ไปตามเส้นทางของผู้บริโภค (Customer Journey) เช่น เมื่อมีการกดสั่งซื้อสินค้าแล้ว ควรวางกลยุทธ์การตลาดต่ออย่างไร ส่งโปรโมชันใหม่ไปให้ทันทีหรือรอสัก 30 วัน ขึ้นอยู่กับการพิจารณาว่าอะไรดีกับลูกค้าที่สุด เมื่อทำแล้วทดสอบนำมาปรับปรุงแล้วนำเสนอให้โดนใจมากขึ้น จนกระทั่งได้ผลลัพธ์สุดท้ายว่า คนกลุ่มนี้ชอบโฆษณาประมาณนี้ ก็ให้ยึดเป็นหลักในการทำการตลาดสำหรับคนกลุ่มนี้ต่อไป

ส่วนเจเนอเรทีฟ เอไอในความคิดเห็นของณัฐพลเป็นมุมมองเชิงบวก เช่น แชตจีพีทีซึ่งเป็นประโยชน์ในการค้นคว้าข้อมูลความรู้ทั้งในการทำงานและการสอน หรือ เจอเนอเรทีฟ เอไอ ในการสร้างอิมเมจ เช่น มิด เจอร์นี (MidJourney) หรือ สเตเบิล ดิฟฟิวชัน (Stable Diffusion) เป็นการป้อนคำสั่งเพื่อให้เอไอวาดภาพซึ่งเคยมีปัญหาการใช้งานแบบถูกลิขสิทธิ์ ปัจจุบันเว็บไซต์ขายภาพรายใหญ่อย่าง Shutterstock ได้ออกมาตรการป้องกันความเสียหายจากการโดนฟ้องราว 1 แสนเหรียญ ส่วนแพลตฟอร์ม Getty Image ก็พร้อมปกป้องการถูกละเมิดลิขสิทธิ์ให้ผู้ใช้ทุกบาททุกสตางค์ อีกทั้งโดยความเป็นจริงแล้วการใช้งานเอไอไม่ได้ยากขนาดนั้น ขอแค่ลองใช้มันหน่อย ฝีกการเขียน Prompt เป็นประโยคหรือข้อความอธิบายสิ่งที่ต้องการให้เอไอทำ ซึ่งทำให้เราสั่งงานและมอบหมายงานเยอะขึ้นกว่าเดิม สร้างความได้เปรียบมากขึ้น เป็นการยกระดับการแข่งขันขึ้นมาทั้งหมด จากหนึ่งคนทำได้หนึ่งอย่างกลายเป็นหนึ่งคนทำได้สิบอย่าง

รู้จัก หนุ่ย-ณัฐพล ม่วงทำ นักย่อยกลยุทธ์ “การตลาดวันละตอน”

“ลองนึกถึง Hype Cycle ของการ์ทเนอร์ที่บอกว่า ทุกเทคโนโลยีตอนเกิดจะดูหวือหวาแต่พอใช้จริงแล้วไม่ได้อย่างนั้น อย่างเอไอเป็นเทคโนโลยีที่เจ๋งมากๆ แต่พอใช้จริงต้องเขียนโปรแกรมเพิ่ม ต้องรันเรื่องวิทยาศาสตร์ข้อมูล แต่ในวันที่เทคโนโลยีเสถียรขึ้น ทุกคนกลับใช้เอไอเสมือนกำลังแชตคุยกับเพื่อน”

เทรนด์การตลาดปีหน้าจึงแบ่งเป็น 2 มิติ ได้แก่ มิติแนวลึก ซึ่งไม่หนีไปจากการทำสิ่งที่เดิมทำอยู่ในปีที่ผ่านมาให้เกิดขึ้นจริง ไม่ว่าจะเป็นข้อมูล เอไอ การตลาดที่ตอบโจทย์ลูกค้าได้เจาะจงมากขึ้น ขึ้นอยู่กับว่า ใครจะทำให้เกิดขึ้นจริงได้ดีกว่าเดิม ใครจะทำให้เอไอฉลาดจนเพิ่มประสิทธิภาพทางการตลาดได้มากกว่ากัน อีกด้านหนึ่ง คือ มิติแนวกว้าง ในการขยายไปหาลูกค้ากลุ่มใหม่ ด้วย Affiliate Marketing เพื่อให้คนอยากป้ายยาแปะลิงก์สินค้าของเรา

เปลี่ยนกล้าท้าชน

ด้วยเทคโนโลยีหรือแพลตฟอร์มบางอย่างที่มาราคาจับต้องได้มากขึ้น เช่น แพลตฟอร์มการเชื่อมโยงลูกค้า การเข้าถึงเอไอก็ง่าย แชตจีพีทีซึ่งมีให้ใช้ฟรี หรืออยากใช้ดีหน่อยก็จ่ายเพิ่มแค่เดือนละ 20 เหรียญ ทำให้เม็ดเงินในการลงทุนไม่ได้เป็นปัญหามากเท่ากับ การกล้ารื้อกระบวนการทำงาน กล้าที่จะมอบหมายงานใหม่ ๆ ให้กับคนเดิมหรือไม่ และคนเดิมกล้าเปลี่ยนรึเปล่า

จากประสบการณ์ในการเป็นที่ปรึกษาหลายแห่ง สิ่งที่เปลี่ยนยากสุด คือ วัฒนธรรมและโครงสร้างองค์กร เมื่อมีเครื่องมือใหม่ ทุกอย่างต้องรื้อใหม่ เราจะกล้ารื้อธุรกิจรึเปล่า คำแนะนำที่บอกลูกค้าทุกราย คือ ให้คิดภาพว่าถ้าพรุ่งนี้ต้องทำบริษัทนี้ขึ้นมาใหม่ จะต้องมีใครบ้าง ตำแหน่งอะไรที่ต้องมี ตำแหน่งไหนใครคนเดิมมาได้บ้าง สามารถปรับทักษะให้เข้ากับองค์กรใหม่ได้ไหม เพื่อให้เห็นภาพชัดว่า เราขาดคนแบบไหน การทำความเข้าใจองค์กรใหม่ก็จะง่ายขึ้น เหมือนต้องคอยทุบบริษัทเดิมทิ้งอยู่เรื่อย ๆ สิ่งสำคัญ คือ อย่าพยายามปรับทุกอย่างแต่ให้ลองเริ่มวางแผนใหม่ เหมือนปีก่อนเราเล่นรักบี้ แต่ปีนี้เปลี่ยนมาเล่นเบสบอลแล้วใช่ว่าทุกคนจะเล่นได้ ต้องยอมรับก่อนว่า มีแค่คนที่พร้อมเปลี่ยนจะไปได้ รวมถึงคนที่มีทักษะดีอยู่แล้วจะไปได้เลย

“หากมองในแง่ดีจะเริ่มไม่มีใครได้เปรียบเสียเปรียบ เช่น แชตจีพีทีถูกพูดถึงที่สหรัฐอเมริกาเมื่อ 2 พฤศจิกายนปีก่อน บ้านเราเกิดขึ้นหลังจากนั้นประมาณ 2 วัน  ดังนั้น อะไรที่เริ่มใหม่นับเป็นข้อดีตรงที่ทุกคนเริ่มต้นจากศูนย์เหมือนกันหมด”

ส่วนการเก็บและสร้างมาตรฐานข้อมูลที่ต่อยอดด้วยเอไอสำหรับองค์กรที่ยังไม่มีการเก็บข้อมูลที่ดีพอ หรือเอสเอ็มอี จำเป็นต้องซื้อบริการใช้หรือเช่าข้อมูลจากผู้ให้บริการด้านข้อมูล ซึ่งทำได้โดยไม่ผิดกฎหมายปกป้องข้อมูล PDPA เพราะไม่ใช่การซื้อข้อมูลรายบุคคลแต่เป็นการได้ข้อมูลแบบเซคเมนต์ เพียงแต่ต้องฝากเขาทำการตลาดให้ก่อนแล้วรอจนได้ลูกค้ากลับมาจึงจะเริ่มสะสมข้อมูลลูกค้าเข้าระบบซีอาร์เอ็มเป็นของตัวเอง

 ณัฐพลเล่าว่า เมื่อ 2 ปีที่แล้วตอนไปสอนหลักสูตรผู้ประกอบการทั่วประเทศ (Pre NIA) ได้ตั้งคำถามว่ามีใครใช้ข้อมูลในการทำธุรกิจบ้าง เอสเอ็มอีทุกภาคทั่วประเทศใน 10 รายจะมียกมือแค่ 2 ราย ซึ่งไม่แปลก แต่ปีนี้พอเดินสายสอนเหมือนกันทุกภาค ใน10 รายยกมือแล้ว 8 ราย อีก 2 รายไม่ยกเพราะขี้เกียจ จะเห็นว่าทุกคนใช้ส่วนจะใช้แบบไหนก็อีกเรื่อง บางคนใช้วิธีแบบพื้น ๆ คือ เอาฐานข้อมูลลูกค้ามาแบ่งกลุ่ม ลูกค้าประจำดูแลแบบหนึ่ง ลูกค้าที่เหมือนจะหาย ๆ ไปก็ดูแลจัดการอีกแบบหนึ่ง ธุรกิจของบางคนมีเครื่องจักร ก็เอาข้อมูลจากเครื่องจักรมาสอนให้เอไอประมวลผลและคาดการณ์ความชำรุดเสียหายที่เกิดกับเครื่องจักร ซึ่งถือว่าก้าวหน้ามาก ๆ 

“เราสามารถนำข้อมูลไปทำได้ทุกเรื่อง ทำการตลาด ลดขั้นตอนหรือเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการทำงาน ทำให้ไลน์ผลิตสินค้ากระชับขึ้น หรือปรับปรุงระบบบริการลูกค้าอยู่ที่เราจะวางกลยุทธ์และออกแบบการใช้งานแบบไหน แล้วการตลาดกับข้อมูลเป็นเรื่องพื้นฐานสุด ๆ มันง่ายต่อการนำไปปฏิบัติได้เลย ต่างจากงานส่วนอื่น ๆ ที่อาจต้องใช้คนหลายกลุ่มมาทำงานร่วมกัน”

การตลาดวันละตอนในปีถัดไป

“เป้าของผมคงเป็นพยายามแชร์ความรู้ออกไปให้ได้มากที่สุด”

อาทิ โปรเจกต์แจกข้อมูล 76 จังหวัด เพื่อให้ทุกคนได้ใช้ฟรีในปีก่อน กำลังจะขยายผลไปสู่การเก็บรวบรวมข้อมูลเพื่อเจาะกลุ่มร้านอาหารให้มากขึ้นในปีหน้า เพราะอาหารไทยมีรสชาติถูกปากคนไทยและชาวโลก เป็น “ซอฟต์พาวเวอร์” ที่ทรงพลังอย่างหนึ่ง และบ้านเรามีร้านอาหารเล็ก ๆ อยู่เยอะมากที่คนที่มีอำนาจผลักดันอาจมองข้ามไป การใช้ Social Listening ในการเก็บข้อมูลทำให้รู้ว่า ธุรกิจแบบไหนที่คนโพสต์ขายเยอะ ๆ การจัดหมวดหมู่ร้านอาหารจากเมนูง่าย ๆ ตั้งแต่ร้านอาหารข้างถนน ห้องแถว ไปจนถึงภัตตาคาร เช่น ข้าวขาหมู ข้าวมันไก่ ก๊วยเตี๋ยวเรือ ส้มตำ ลาบ เพื่อเป็นคีย์เวิร์ดในการสืบค้นว่า คนชอบกินขาหมูแบบไหน ชอบไม่ชอบอะไรบ้างในร้าน อะไรที่คนไม่ชอบก็อย่าทำ สิ่งที่คนชอบถ้ามีก็ทำให้ดีกว่าเดิม เป็นต้น ซึ่งข้อมูลร้านอาหารเป็นสิ่งที่ทำอยู่เรื่อย ๆ เพียงแต่ทำให้ภาพมันใหญ่ขึ้น มีธนาคารเอสเอ็มอี ดีแบงก์มาสนับสนุน มีไลน์แมน วงในมาช่วย ได้แมคโคร และ ต่อ เพนกวิน (ธนพงศ์ วงศ์ชินศรี) มาช่วยแชร์ข้อมูลที่ยังไม่รู้ รวมถึงเทรนด์ร้านอาหารที่กำลังมา

“ผมอยากทำข้อมูลดี ๆ ให้คนทำธุรกิจเล็ก ๆ เหนื่อยน้อยลงหน่อย มีกำลังใจมากขึ้น และช่วยให้ธุรกิจของพวกเขาดีขึ้นได้บ้าง ผมจะรู้สึกดีมาก ๆ เวลาทำแล้วมีคนหรือเจ้าของธุรกิจแชร์ข้อมูลไปใช้ต่อแล้วส่งข้อความมาขอบคุณ เท่านี้ผมก็อิ่มแล้ว”

ณัฐพล สรุปส่งท้ายว่า นักการตลาดไม่ว่าจะอยูฟากแบรนด์ ไม่ใช่แบรนด์ เอเจนซี คอนเทนต์ครีเอเตอร์ในปีหน้าจะมีความสนุกสนานรออยู่หากคุณเป็นคนที่พร้อมจะลองสิ่งใหม่ แต่ถ้าไม่ก็จะทุกข์ระทมหน่อย ๆ เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่า การมาของสิ่งใหม่เกิดขึ้นเร็วกว่าเดิมมาก เช่น กว่าที่ทุกคนจะเข้าถึงเฟซบุ๊คต้องใช้เวลา 6-8 ปี แต่ทุกวันนี้ให้ค้นคำว่าแชตจีพีทียังเจอเยอะกว่าคำว่ามาร์เก็ตติ้งเพราะความหลากหลายในการใช้งานที่มากกว่า ทั้งยังมีข้อมูลที่ชี้ว่าแชตจีพีทีถูกใช้โดยอาจาย์และนักเรียนมากกว่านักการตลาดเสียอีก

“เพราะฉะนั้น ถ้าคุณรู้สึกว่าทำไมโลกไม่เป็นอย่างที่เคยเป็น จงละวางให้ไว และยอมรับในสิ่งที่ไม่รู้ให้เร็ว ลองดูก่อนเพื่อให้รู้ว่าเราสามารถต่อยอดเป็นอะไรได้บ้าง กระทั่งการลองทำตามกันไปก่อนก็ไม่ใช่เรื่องผิด ถ้าไม่เวิร์กจะได้ไม่ต้องคาใจ ถ้าเวิร์กก็ต่อยอดในแบบของเราเข้าไป เพราะทุกคนต้องเริ่มใหม่เหมือนกันหมด ขึ้นอยู่กับใครจะออกแบบกระบวนท่าในการดันเป้าและสร้างยอดขายได้มากที่สุดกว่ากัน”

ข่าวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

เบื้องหลังความสำเร็จ ของ ‘สาระ ล่ำซำ’ กับรางวัล ‘นักการเงินแห่งปี 2566’ ครั้งที่ 2

Amity เปิดตัว ‘Amity Voice’ โซลูชันวอยซ์บอตใหม่ รองรับเสียงภาษาไทย

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ