TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistPerfect Storm สงครามรัสเซีย–ยูเครน โจมตีไซเบอร์พุ่ง ส้มหล่นธุรกิจ 'Cybersecurity' ทางเลือกลงทุนเพื่อพอร์ตเติบโตระยะยาว

Perfect Storm สงครามรัสเซีย–ยูเครน โจมตีไซเบอร์พุ่ง ส้มหล่นธุรกิจ ‘Cybersecurity’ ทางเลือกลงทุนเพื่อพอร์ตเติบโตระยะยาว

ภาพสัญญาณการตอบโต้ หรือ Sanction ระหว่าง ‘รัสเซีย–ยูเครน’ ที่มีองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือหรือ NATO (North Atlantic Treaty Organisation) เข้ามาช่วยฝั่งยูเครน ล้วนเป็นพัฒนาการทางลบที่ทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นตลอดในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา

ท่าทีดุดันของรัสเซียที่คอยขย้ำยูเครนที่หลบอยู่ใต้ปีก NATO แม้ว่าจะถูกมาตรการคว่ำบาตรทั้งการค้า การเงิน แม้กระทั่งล่าสุด กำลังจะถูกคว่ำบาตรด้วยการห้ามการนำเข้าน้ำมันจากรัสเซีย แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้รัสเซียลดราวาศอก มีแต่จะงัดมาตรการตอบโต้กลับชนิดแลกหมัดต่อหมัด ซึ่งทั่วโลกรับรู้กันว่าส่งผลเสียหายต่อยูเครนและหลายๆ ประเทศในยุโรป อีกทั้งมีความเสี่ยงลามสู่เศรษฐกิจโลก แต่เกมของคู่ต่อสู้ต้องไปต่อให้สุด

ในแต่ละวัน สถานการณ์รัสเซียปะทะยูเครน จึงพร้อมจะเกิดเซอร์ไพรส์รุนแรง ชนิดที่นักลงทุนรายวันไม่ทันตั้งตัวว่าจะทำอย่างไรกับพอร์ตดี ความผันผวนอย่างรวดเร็วเพียงพริบตา ตลาดหุ้นสามารถร่วงลึกลงไปได้ เพราะโลกทุกวันนี้ขับเคลื่อนผ่านระบบอินเตอร์เน็ตที่ทรงพลัง ไร้ขีดจำกัด นักลงทุนสามารถตัดสินใจซื้อขายได้ทุกเสี้ยววินาที

ยิ่งโลกดิจิทัลอย่างทุกวันนี้ ใครมีระบบดีกว่าก็ได้เปรียบคนที่ด้อยกว่า เพราะฉะนั้น ไม่ต้องแปลกใจที่โลกดิจิทัลจะมีผู้ร้ายอย่าง ‘อาชญกรรมทางไซเบอร์’ ผุดขึ้นไม่ต่างจากผู้ร้ายที่เห็นกันอยู่ทั่วๆ ไป

และแน่นอน การทำสงครามยุคปัจจุบันก็ย่อมไม่เหมือนในอดีตแล้วเช่นกันครับ สะท้อนจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนครั้งนี้ นอกจากที่รัสเซียจะใช้กำลังทหารและอาวุธยุทโธปกรณ์ รถถัง บอมบ์ต่างๆ นิวเคลียร์รุ่นใหม่ๆ ทันสมัยมีพลังทำลายล้างสูงแล้ว ยังมีการใช้พลังของเทคโนโลยีเข้ามาช่วยรบในสงครามครั้งนี้ด้วย หลังจาก NATO คว่ำบาตรด้วยการตัดระบบการโอนเงินข้ามประเทศ (SWIFT) ระหว่างยุโรปกับรัสเซีย เปรียบเสมือนตัดเส้นเลือดใหญ่ด้านการเงินให้วงจรธุรกิจและเศรษฐกิจในประเทศตกอยู่ในภาวะชะงักงันหรือเป็นอัมพาตนั่นเอง แต่รัสเซียก็แก้เกมด้วยการใช้คริปโทเคอร์เรนซีเข้ามาเป็นเครื่องมือ จนกลายเป็นปลุกให้ตลาดคริปโทเคอร์เรนซีฟื้นกลับมาได้เป็นพักๆ

รัสเซียโจมตีทางไซเบอร์ ภาคธุรกิจเฝ้าระวังเพิ่มขึ้น หวั่นระบบล่ม

นอกจากนี้ฝั่งรัสเซียยังตอบโต้กลับด้วยอาวุธทางดิจิทัล นั่นคือ ‘การโจมตีทางไซเบอร์’ หรือ ‘cyberattack’ ด้วยการโจมตีระบบข้อมูลในยูเครน ทำให้ภาคธุรกิจต่างเผชิญปัญหาระบบล่ม ส่งผลกระทบลุกลามไปยังหลายประเทศทั่วโลก กลายเป็นอีกหนึ่งสมรภูมิการสู้รบที่ส่งผลให้ภาคธุรกิจการค้าเสียหายหนักหนาจากเดิมที่เป็นการสูญเสียผู้คนในสงคราม

การโจมตีทางไซเบอร์ของรัสเซีย สร้างความวิตกกังวลให้กับเครือข่ายไซเบอร์ต่างๆ และต้องเพิ่มกำลังการเฝ้าระวังมากขึ้น เพราะหวั่นว่าจะกลายเป็นอีกสมรภูมิที่ถูกโจมตีอย่างรุนแรง และบานปลายไปทั่วโลก

จากข้อมูลบริษัท ESET ซึ่งเป็นบริษัทด้านการรักษาความปลอดภัยไซเบอร์ของสโลวาเกีย ได้ตรวจพบในเบื้องต้นว่า Malware (มัลแวร์) ที่ชื่อว่า ‘ไวเปอร์’ (Wiper) สามารถเจาะระบบและลบข้อมูลออกจากคอมพิวเตอร์ ซ้ำยังทำให้ระบบคอมพิวเตอร์ไม่สามารถทำงานได้อีก ซึ่งในขณะนี้มีหน่วยงานภาครัฐและสถาบันการเงินหลายแห่งของยูเครนที่ถูกไวเปอร์โจมตี และกำลังกระจายตัวไปประเทศข้างเคียงอย่างลัตเวียและลิทัวเนีย ไม่เว้นกระทั่งหน่วยงานความมั่นคงของยูเครนยังถูกโจมตีเช่นกัน ทำให้เว็บไซต์ของหน่วยงานเหล่านั้นล่มชั่วคราว

ถึงแม้ว่ารัสเซียจะปฏิเสธความเกี่ยวข้อง แต่หลาย ๆ ฝ่ายก็ยังพุ่งเป้าไปที่รัสเซีย

จากกระแสการโจมตีทางไซเบอร์ที่เกิดขึ้นในยูเครน ส่งผลให้ภาคธุรกิจทั่วโลกเร่งเสริมความปลอดภัยทางไซเบอร์แก่ระบบคอมพิวเตอร์ โดยเฉพาะกลุ่มกิจการที่เกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็นสถาบันการเงิน บริษัทการบิน ท่อส่งพลังงาน ไปจนถึงระบบไฟฟ้า ที่เสี่ยงต่อการหยุดชะงักงัน หากเครือข่ายไซเบอร์ของบริษัทถูกโจมตี

วันนี้คงต้องยอมรับว่าโลกดิจิทัลได้เข้ามายึดโยงทุกสิ่งด้วยระบบอินเตอร์เน็ต ผ่านกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ ที่เชื่อมถึงกันหมดไม่ว่า การค้า การบริโภค การเงินของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจและประชาชน

ข้อมูลคร่าวๆ ที่ผมได้ทำการค้นคว้ามา ปัจจุบันทั่วโลกผู้คนกว่า 7.83 พันล้านคน ล้วนมีการเชื่อมต่อสู่โลกอินเทอร์เน็ตและใช้ดิจิทัลเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เช่น การทำธุรกรรมทางการเงินผ่าน Internet Banking หรือ Mobile App การเก็บข้อมูลบน Cloud การประชุม การจัดกิจกรรมต่างๆ ในรูปแบบออนไลน์ การทำงานรูปแบบ Work From Home (WFH) เช่นเดียวกับภาคธุรกิจ ที่บริษัทต่างๆ ก็ได้มีนำระบบการทำงานและข้อมูลเข้าสู่ระบบออนไลน์มากยิ่งขึ้น

ธุรกิจ Cybersecurity  แรงไม่หยุด คาดเติบโตไม่ต่ำกว่า 12%ต่อปี

ในภาวะปกติ การเกิดอาชญากรรมทางไซเบอร์มีอัตราเพิ่มสูงขึ้นอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบข้อมูลรั่วไหล การถูกแฮกเกอร์เจาะระบบ การโจมตีระบบฐานข้อมูล  ถูกจัดให้เป็นหนึ่งในความเสี่ยงหลักของโลก แต่นั่นกลับส่งผลบวกต่อกลุ่มธุรกิจ Cybersecurity ที่จะได้รับประโยชน์จากการที่บริษัทต่างๆ พยายามลงทุนเพื่อรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางข้อมูลและป้องกันความเสียหายจากอาชญากรรมไซเบอร์ที่อาจสร้างความเสียหายด้านชื่อเสียง และด้านการเงินในอนาคต

ข้อมูลจากสำนักงานสอบสวนกลางของสหรัฐฯ (FBI) ประกาศว่า การโจรกรรมผ่านระบบออนไลน์ที่ผ่านมาเติบโตสูงกว่า 4 เท่า หากมองไปข้างหน้า เครือข่ายไซเบอร์จะเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อภาคธุรกิจและประชาชนมากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกัน อาชญากรรมไซเบอร์ก็ยังมีพัฒนาการที่รวดเร็วขึ้นเช่นกัน จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ธุรกิจ Cybersecurity มีการเติบโตรวดเร็วในระยะข้างหน้า โดยมีการคาดการณ์ว่าอัตราการเติบโตของตลาด Cybersecurity จะสูงถึง 12.6% ต่อปี และมีมูลค่าเพิ่มขึ้น 4.3 แสนล้านดอลลาร์ ได้ภายในปี 2573 ผมจึงมองว่า ธุรกิจ Cybersecurity จะเป็นอีกธุรกิจที่จะมีอนาคตไกลในโลกดิจิทัล 

แม้แต่ประเทศไทย นับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของ Covid-19 หลายองค์กรให้พนักงานทำงานที่บ้าน (WFH) ผ่านระบบออนไลน์ อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าขณะนี้ระบบความปลอดภัยไซเบอร์ยังทำงานไม่เต็มประสิทธิภาพ การโจรกรรมยังเกิดมากขึ้น ส่งผลให้องค์กรต่างๆ มีความต้องการติดตั้งระบบป้องกันหรือ ผลิตภัณฑ์รักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์หรือ Cybersecurity เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะสถาบันการเงินและองค์กรขนาดใหญ่

ขณะที่นักลงทุนในต่างประเทศ หันมาให้น้ำหนักการลงทุนธีม Cybersecurity มากขึ้น ทั้งบริษัทต่างๆ ที่ทำธุรกิจที่เกี่ยวกับการป้องกันภัยไซเบอร์ เช่น ความปลอดภัยเชื่อมต่ออุปกรณ์ปลายทาง ความปลอดภัยด้านข้อมูล ความปลอดภัยด้านเครือข่ายและการเชื่อมต่อแอปพลิเคชั่น เป็นต้น

ETF ที่ลงทุนใน Cybersecurity พุ่งรับสงครามไซเบอร์

 หากดู ETF ที่ลงทุนใน Cybersecurity อย่าง First Trust Nasdaq Cybersecurity ETF (CIBR)  มีนโยบายลงทุนตามดัชนี  Nasdaq CTA Cybersecurity Index™ ที่รวบรวมบริษัทผู้วิจัยและพัฒนา ให้บริการ และบริหารจัดการระบบ Cybersecurity เป็นหลัก  พบว่าราคาหุ้นได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดย ณ 31 มกราคม 2565 เมื่อเทียบจาก 3 เดือนก่อนหน้า อาจจะปรับตัวลดลง 11.51% ส่วนหนึ่งเพราะได้รับผลกระทบจากความไม่แน่นอนทางนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟด แต่หากดูราคาย้อนหลัง 1 ปีพบว่าราคาปรับเพิ่มขึ้น 8.8% ย้อนหลัง 3 ปี เพิ่มขึ้น 23.54% ย้อนหลัง 5 ปี เพิ่มขึ้น 18.69%   

อย่างไรก็ตามหากดูราคานับตั้งแต่วันที่ 23 กุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นวันแรกที่รัสเซียเริ่มบุกยูเครนมาถึงวันที่ 2 มีนาคม 2565 ราคา CIBR ได้ปรับตัวพุ่งขึ้น 13.5% สวนทางสินทรัพย์อื่น สะท้อนถึงความกังวลเรื่อง cyberattack หลังจากรัสเซียใช้ยุทธวิธีโจมตีทางไซเบอร์ 

ในภาวะปกติ ธุรกิจ Cybersecurity ก็มีการเติบโตดีอยู่แล้ว และยิ่งเมื่อรัสเซียใช้ยุทธวิธีการโจมตีทางไซเบอร์ ยิ่งทำให้ส้มหล่นใส่บริษัทที่ทำธุรกิจ Cybersecurity นั่นหมายถึง ผลดำเนินงานที่จะเติบโตได้ดีอย่างต่อเนื่อง ถือเป็น Growth Stock ที่สามารถลงทุนระยะยาวได้ จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับการจัดเข้าพอร์ตลงทุน

ผู้เขียน: ตราวุทธิ์ เหลืองสมบูรณ์ CEO Jitta Wealth

บทความอื่น ๆ ของผู้เขียน

เคล็ด (ไม่) ลับ พิชิตตลาดหุ้น ‘ไม่เป็นใจ’ รอดได้อย่างไร

New Year Resolution ลงทุนอย่างมีเป้าหมาย พอร์ตแกร่งพิชิตผลตอบแทนรับปีเสือนอนกิน

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ