TH | EN
TH | EN
หน้าแรกLifeDDC-Care ยกระดับประสิทธิภาพการดูแลที่ “ใส่ใจ” ชีวิตของกรมควบคุมโรค

DDC-Care ยกระดับประสิทธิภาพการดูแลที่ “ใส่ใจ” ชีวิตของกรมควบคุมโรค

ย้อนกลับไปเมื่อช่วงต้นปี 2563 เมื่อข้าศึกที่ชื่อว่า ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือ ไวรัสโควิด-19 ส่งสัญญาณบุกประชิดรุกคืบและเตรียมข้ามพรมแดนเข้ามายังไทย กรมควบคุมโรค ในฐานะนักรบแนวหน้า ก็ได้เตรียมความพร้อมทั้งคนและเครื่องมือในการเฝ้าระวัง ควบคุมและป้องกันการระบาดแพร่กระจายเป็นวงกว้างอย่างเข้มงวด เคร่งครัด

ขั้นตอนการปฎิบัติงานตามหลักสากลถูกนำมาปรับประยุกต์ใช้ มีการตรวจสอบคัดกรองเพื่อหาผู้ติดเชื้อและคัดแยกกลุ่มผู้มีโอกาสเสี่ยงสัมผัส ซึ่งในส่วนของผู้ติดเชื้อเมื่อตรวจพบย่อมจัดการรักษากักตัวที่โรงพยาบาลตามระเบียบต่อไป แต่ในส่วนของผู้ที่ตรวจไม่พบ กลับไม่ได้หมายความว่า คนกลุ่มนี้ “ไม่ติดเชื้อ” หรือ “ปลอดเชื้อ 100%” แต่กลายเป็นกลุ่มที่ยังคงต้องเฝ้าระวังติดตามอาการในระยะฟักเชื้ออย่างน้อย 14 วัน ทำให้คนกลุ่มเสี่ยงนี้จำเป็นต้อง “กักตัว” จำกัดตัวเองให้อยู่ในพื้นที่ขอบเขตที่กำหนด โดยที่กรมควบคุมโรคจะให้คำแนะนำในการปฎิบัติตัวอย่างใกล้ชิด 

แน่นอนว่า ระเบียบการควบคุมโรคระบาดอุบัติใหม่หรือโรคระบาดอุบัติซ้ำ รวมถึงคำแนะนำต่าง ๆ ข้างต้น เป็นแนวทางที่อาศัยความร่วมมือและความรับผิดชอบของผู้ที่ต้องเข้ารับการกักตัวที่บ้านเป็นหลัก แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงกับเคสตัวอย่างที่ตกเป็นข่าวหน้าหนึ่งบนสื่อต่าง ๆ ทำให้กรมควบคุมโรคตระหนักถึง “หลุมช่องว่าง” ขนาดใหญ่ ของแนวทางการควบคุมโรค ว่า ปราศจากเครื่องมือหรือกลไกที่จะเข้ามาเป็นหลักประกันยืนยันให้มั่นใจและอุ่นใจว่า คนกลุ่มเสี่ยงทั้งหลายเหล่านี้ ดำเนินการกักตัวตามที่กรมควบคุมโรคคาดหวังไว้อย่างจริงจัง 

กลายเป็นโจทย์ใหญ่ที่กรมควบคุมโรคพยายามคิดหาทางออก ภายใต้ความร่วมมือช่วยเหลือของทีมนักวิจัยและนักพัฒนาจากศูนย์วิจัยเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกและเครื่องมือแพทย์ (A-MED) และศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) ในสังกัดสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ซึ่งเล็งเห็นว่า นวัตกรรมและเทคโนโลยีเกี่ยวกับระบบบริหารจัดการข้อมูลจะเข้ามาช่วยตอบโจทย์ความต้องการดังกล่าวได้ และเป็นที่มาของระบบ COVID Tracking หรือที่เปลี่ยนชื่อในภายหลังว่า DDC-Care (Department of Disease Control Care)  

ระบบติดตามและประเมินผู้ที่มีความเสี่ยงต่อโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 : DDC-Care

นายแพทย์ยงเจือ เหล่าศิริถาวร ผู้อำนวยการ ศูนย์สารสนเทศกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ก่อนที่จะมี DDC-Care กรมควบคุมโรคจะให้เจ้าหน้าที่คอยเฝ้าติดตามและโทรศัพท์สอบถามกลุ่มเสี่ยงเป็นระยะ ๆ ซึ่งแม้จะเข้มงวดจริงจังเพียงใด ก็ไม่อาจควบคุมบังคับหรือลงโทษผู้ที่จัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงได้เต็มที่ อีกทั้งยังเป็นการสิ้นเปลืองเวลาและทรัพยากรในการทำงาน ทำให้เจ้าหน้าที่และบุคลากรสาธารณสุขที่มีปริมาณจำกัด สูญเสียโอกาสที่ควรจะนำไปใช้กับการดูแลใส่ใจผู้ที่สมควรจะได้รับการดูแล ซึ่งในกรณีนี้ก็คือผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ตัวจริง 

“การส่งเจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุขลงพื้นที่ บางครั้งก็ลงพร้อมกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงเพื่อคอยเก็บข้อมูลสอบถามอาการเป็นวิธีที่สร้างภาระงานค่อนข้างสูง เราจึงมีการพูดคุยกับทาง สวทช.ว่าเราจะมีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการควบคุมป้องกันโรคให้มีประสิทธิภาพได้อย่างไร” 

ดังนั้น การมี DDC-Care จึงหมายถึงการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยลดภาระงานของเจ้าหน้าที่ในการมอนิเตอร์ติดตาม ทำให้สามารถนำบุคลากรไปทำงานในด้านอื่น ๆ ที่จำเป็นและไม่สามารถใช้เทคโนโลยีเข้าไปทำแทนได้ ขณะเดียวกัน DDC-Care ยังช่วยลดปัญหาในการตรวจสอบสอบสวนโรคโดยจัดการกับประเด็น “จำไม่ได้” และ “จงใจปิดบัง” ที่ช่วยให้การค้นหาผู้มีโอกาสเสี่ยงติดเชื้อสูงจากการสัมผัสผู้ติดเชื้อทั้งทางตรงและทางอ้อม ทั้งโดยรู้ตัวและไม่รู้ตัว ได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

ด้าน นายแพทย์ไผท สิงค์คำ ผู้อำนวยการ ศูนย์นวัตกรรมด้านสุขภาพและป้องกันควบคุมโรค (ศนนคร.) กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวเสริมว่า ภายใต้สถานการณ์โควิด-19 การที่คนไม่ปฎิบัติตามคำแนะนำจะส่งผลกระทบที่เป็นอันตรายคุกคามสังคมโดยรวมอย่างร้ายแรง เพราะถ้าไม่มีการกักตัวอย่างเข้มงวดจะทำให้เกิดการแพร่เชื้อที่รุนแรงเกินควบคุมหรือรับมือได้

“เราเลยคิดว่า จะมีเครื่องมืออะไรที่จะนำมาใช้ให้เรามั่นใจมากขึ้น หรือสร้างความมั่นใจให้สังคมชุมชนได้มากขึ้นว่าคำแนะนำที่เราให้ไปให้ดูแลกักกันตัวเองจะถูกมอนิเตอร์หรือติดตามอย่างใกล้ชิดมากขึ้น DDC-Care จึงกลายมาเป็นเครื่องมือทางเลือกในการควบคุมโรค โดยเฉพาะกับ โควิด-19” 

ทั้งนี้ DDC-Care คือ ระบบติดตามและประเมินผู้ที่มีความเสี่ยงต่อโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่กรมควบคุมโรคได้รับความร่วมมือจาก A-MED และ NECTEC ในการคิดค้นและพัฒนาขึ้น โดยมีแนวคิดหลักมุ่งเน้นไปที่การมอนิเตอร์อาการรายงานสุขภาพ การกักตัว และการติดตามตัว 

ดร.ณัฐนันท์ ทัดพิทักษ์กุล หัวหน้าทีมวิจัยเทคโนโลยีที่ทุกคนเข้าถึงและสิ่งอำนวยความสะดวก ศูนย์วิจัยเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกและเครื่องมือแพทย์ (A-MED) อธิบายว่า แนวคิดแรกเริ่มของ DDC-Care คือ ความจำเป็นในการมีระบบระบุตำแหน่งติดตามตัวสำหรับผู้ที่ต้องได้รับการกักตัวเพื่อป้องกันการหลบหนีหรือหนีหาย ซึ่งระบบจะแบ่งการทำงานออกเป็น 3 ส่วนหลัก คือ

  1. Mobile Application ที่ผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงได้รับอนุญาตให้ดาวน์โหลดติดตั้งบนอุปกรณ์สมาร์ทโฟนส่วนบุคคล
  2. ส่วน DDC-Care Registry เป็น Web Application สำหรับเจ้าหน้าที่ใช้ดำเนินการอนุมัติให้กลุ่มเสี่ยงตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 ลงทะเบียนติดตั้ง Mobile Application
  3. ส่วนแสดงผลที่เรียกว่า Dashboard เพื่อให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องและได้รับอนุญาตแล้วเท่านั้นเข้ามามอนิเตอร์ ดูสุขภาพอาการและระบุตำแหน่งของกลุ่มเสี่ยงได้อย่างใกล้ชิด 

“DDC-Care พัฒนาขึ้นโดยมีจุดประสงค์หลักอยู่ที่การกักตัว ซึ่งการกักตัวต้องเป็นคนที่เจ้าหน้าที่เห็นว่าจำเป็นและมีความเสี่ยง เพื่อให้เจ้าหน้าที่เห็นว่าคนที่กักตัวอยู่นั้นยังมีสุขภาพดีอยู่ และคนที่กักตัวนั้นยังอยู่ในพื้นที่กักตัวนั้น ไม่ได้ออกไปข้างนอก”

ขณะที่ ดร.นัยนา สหเวชชภัณฑ์ นักวิจัย ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) อธิบายเพิ่มเติมในส่วนของ Dashboard ว่า เป็นเครื่องมือสำคัญที่สนับสนุนการปฎิบัติงานของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในการติดตามและประเมินผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19

“DDC-Care ทำให้ผู้ใช้เห็นภาพรวมของสถานการณ์ตอนนี้ว่าเป็นอย่างไร มีผู้ที่มีความเสี่ยงเข้ามาในระบบแล้วกี่ราย อยู่ในระหว่างกักตัวกี่ราย การรายงานสุขภาพที่เข้ามาเป็นอย่างไรบ้าง แล้วก็เห็นเป็นแผนที่ได้เลยว่า ผู้ที่มีความเสี่ยงพำนักอยู่ในตำแหน่งไหน กักตัวครบไหม เปิด GPS หรือเปล่า ออกนอกพื้นที่พำนักหรือไม่ ซึ่งเจ้าหน้าที่สามารถมอนิเตอร์ทั้งภาพรวมและรายบุคคลได้”

โดยในกรณีผู้ที่มีความเสี่ยงมีประวัติเสี่ยง เช่น มีการเดินทางไปต่างประเทศ ไปพื้นที่ชุมชนแออัด สัมผัสกับผู้ป่วยยืนยัน ร่วมกับมีอาการบ่งชี้การติดเชื้อ DDC-Care Dashboard ก็จะแสดงขึ้นมาให้เห็นว่า ขณะนี้บุคคลคนนี้น่าเป็นห่วง ทางกรมควบคุมโรคก็จะโทรศัพท์เข้าไปสอบถามอาการได้ กรณีที่คนต้องติดตามเข้าข่ายต้องสงสัยว่าออกนอกพื้นที่กักตัว ระบบก็รายงานให้เจ้าหน้าที่ทราบ ซึ่งกรมควบคุมโรคจะมีการจัดส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปสอบถาม และขอความร่วมมือหรือตักเตือนให้ผู้ที่มีความเสี่ยงจำกัดอยู่ในพื้นที่ที่กำหนด 

“ประโยชน์หลักของ DDC-Care Dashboard ก็คือสนับสนุนให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขสามารถติดตามสุขภาพของผู้ที่มีความเสี่ยง เพื่อการเข้าช่วยเหลือที่ทันท่วงที รวมทั้งติดตามการกักตัวของผู้ที่มีความเสี่ยง เพื่อควบคุมการระบาดให้อยู่ในวงจำกัดหรือที่สามารถจัดการได้”

สำหรับ การใช้งาน DDC-Care จะเริ่มต้นด้วยการระบุกลุ่มคนที่มีความเสี่ยงเพื่อให้คนกลุ่มนี้เข้ามาลงทะเบียนใช้งานระบบ DDC-Care โดยกลุ่มเสี่ยงเหล่านี้จะได้รับการรับแจ้งจากทางโรงพยาบาล หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขตามด่านตรวจคนเข้าเมืองต่าง ๆ ให้ติดตั้ง DDC-Care แอปพลิเคชัน ที่ผู้สมัครต้องกรอกประวัติส่วนตัวอย่างละเอียด ประวัติความเสี่ยง พฤติกรรมต่าง ๆ และรายงานสุขภาพ จากนั้น ระบบก็จะดำเนินการจัดเก็บจีพีเอส แล้วส่งข้อมูลจีพีเอสทุก ๆ 10 นาทีมาให้เจ้าหน้าที่รับทราบ ขณะที่ข้อมูลต่าง ๆ จะถูกส่งเข้ามาในระบบเพื่อทำการวิเคราะห์ประเมินระดับความเสี่ยงตามเกณฑ์ที่กรมควบคุมโรคกำหนดต่อไป

ขณะเดียวกัน เนื่องจากข้อมูลของผู้ที่มีความเสี่ยง เป็นข้อมูลส่วนบุคคลที่มีความอ่อนไหวในระดับหนึ่ง ทางทีมวิจัยและพัฒนาเข้าใจและเห็นความจำเป็นในการปกป้องความเป็นส่วนตัว (Privacy) ของผู้ที่มีความเสี่ยง ดังนั้น การใช้งานในส่วนของการแสดงผลที่ Dashboard จะจำกัดสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลของผู้ที่มีความเสี่ยง โดยแบ่งออกเป็น 6 ระดับ คือ ระดับกรม ระดับเขต ระดับจังหวัด ระดับอำเภอ ระดับตำบล และระดับโรงพยาบาล 

ส่วนในฐานะของผู้ใช้งาน นายแพทย์ไผท ระบุว่า คุณลักษณะหลัก ๆ ที่ทำให้ DDC-Care โดดเด่นและแตกต่างจากแอปพลิเคชันติดตามตัวอื่น ๆ ก็คือ Live Location หรือการระบุพิกัดตำแหน่งแบบเรียลไทม์ โดยมีความคาดเคลื่อนของเวลาและสถานที่ในระดับที่ยอมรับได้ และ Dashboard Visualization ที่แสดงผลซึ่งได้จากการประมวลวิเคราะห์ทำให้สามารถนำไปใช้งานได้เลย

ช่วยให้เจ้าหน้าที่ 1 คน สามารถมอนิเตอร์ประชาชนกลุ่มเสี่ยงที่ต้องกักตัวที่บ้านได้คราวละหลายคน จึงช่วยประหยัดทั้งเวลาและทรัพยากรของกรมควบคุมโรคที่จะนำไปใช้กับงานอื่นที่จำเป็นสำคัญมากกว่า 

คนเปลี่ยนสถานการณ์เปลี่ยน“ระบบ” จึงต้องเปลี่ยน

ทั้งนี้ หนึ่งในความยากของการทำงานควบคุมโรค โดยเฉพาะในช่วงที่มีการระบาดของโรค ก็คือการเกิดเหตุเหนือความคาดหมายและสถานการณ์ต่าง ๆ ที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้อยู่ตลอดเวลา โดยในกรณีของโควิด-19 ก็คือจากการที่ต้องหาทางป้องกันเชื้อนำเข้าจากต่างประเทศ ไปสู่การรับมือกับการระบาดภายในประเทศ และภายใต้การล็อกดาวน์ ปิดประเทศไปสู่การควบคุมการระบาดที่ยังคงอนุญาตให้ดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมตามปกติได้ 

นายแพทย์ไผท กล่าวว่า การใช้งาน DDC-Care เปลี่ยนแปลงไปจากแนวคิดตั้งต้นแรกเริ่มที่ต้องการเพียงแค่เครื่องมือในการติดตามตัวกลุ่มเสี่ยงเท่านั้น โดยปัจจุบัน มีการประยุกต์ใช้งาน DDC-Care ภายใต้ 3 สถานการณ์หลักด้วยกันคือ

  1. การกักตัวและเฝ้าติดตามอาการตามปกติ 14 วันเนื่องจากสัมผัสผู้ติดเชื้อยืนยันหรือเดินทางเข้า-ออกพื้นที่ที่มีการระบาด
  2. ต้องเฝ้าติดตามเพราะเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อ เนื่องจากทำงานขนส่งสินค้าข้ามจังหวัด ข้ามชายแดน
  3. กรณีการระบาดในจังหวัดสมุทรสาคร ที่ทำให้ต้องดำเนินการกักตัวบนพื้นที่จำกัดระหว่างที่บ้านกับที่ทำงาน 

ขณะที่ พัลลภ สิริพัลลภ นักวิชาการสำนักงานป้องกันและควบคุมโรคที่ 2 กรมควบคุมโรค กล่าวว่า นอกจากใช้ DDC-Care ในการรายงานอาการและระบุพิกัดตำแหน่งผู้กักตัวแล้ว ทางพื้นที่ที่ดูแลครอบคลุมถึงด้านชายแดนแม่สอด จังหวัดตาก ยังประยุกต์ใช้ DDC-Care กับทางผู้ขนส่งสินค้าภายในประเทศและระหว่างประเทศ เพื่อที่ทางเจ้าหน้าที่จะได้ติดตามอาการของกลุ่มเสี่ยงเหล่านี้ได้อย่างใกล้ชิดและดำเนินการตอบสนองได้อย่างทันท่วงที 

“กรณีล่าสุดของคนขับรถขนส่งไปฝั่งเมียววดีของเมียนมา แล้วติดโควิดกลับมา ซึ่ง DDC-Care ช่วยให้เราดักจับได้ทัน ขณะที่ตัวโปรแกรมทำให้เห็นพิกัดว่าเจ้าตัวไปได้คอนแท็กต์ที่ไหนมาบ้าง เราสามารถชี้พิกัด ชี้เป้า ของตัวตำแหน่งต่าง ๆ ที่ไป ทำให้เราสามารถชี้เป้าพื้นที่ที่ต้องควบคุม และจำกัดพื้นที่ในการดูแลได้อย่างถูกต้องแม่นยำ อีกทั้งยังเห็นระยะเวลาที่เขาอยู่ในพื้นที่ต่าง ๆ เหล่านั้นได้”

ด้านนายแพทย์ยงเจือ เสริมว่า ขณะนี้ กรมควบคุมโรคใช้ประโยชน์จาก DDC-Care อยู่ 3 ด้านด้วยกันคือ คือ

  1. ใช้กรณีที่ต้องกักกันตัวที่บ้าน โดยตรวจสอบติดตามว่าอยู่ที่บ้านหรือพื้นที่ที่ต้องกักตัวจริง ช่วยลดภาระจำนวนเจ้าหน้าที่ที่ต้องไปตรวจติดตามที่บ้าน
  2. ใช้ในการสอบสวนโรค เพื่อสืบดูว่า ผู้ติดเชื้อไปที่ไหน มีโอกาสเสี่ยงสัมผัสกับใคร เป็นประโยชน์ในการสืบค้นไทม์ไลน์ ลดปัญหาลืม จำไม่ได้ หรือจงใจปกปิด ใช้ประโยชน์ในการ Tracking เพื่อติดตามค้นหาผู้มีโอกาสเสียงติดเชื้อเพิ่มเติม
  3. ใช้ประโยชน์ในการรายงานสุขภาพรายวัน โดยเฉพาะในกรณีที่ยังไม่เป็นผู้ป่วยแต่สัมผัสกับผู้ป่วยยืนยัน เพื่อให้เจ้าหน้าที่ได้ตามมอนิเตอร์อาการ เพื่อที่ว่าในกรณีที่มีอาการจะสามารถนำมาตรวจยืนยันติดเชื้อแล้วทำการรักษาต่อไป ลดโอกาสในการแพร่เชื้อต่อไปได้ 

DDC-Care ยกระดับควบคุมโรคให้ก้าวไปอีกขั้น 

กว่า 1 ปีที่มีการใช้งาน DDC-Care มาอย่างต่อเนื่อง ทางกรมควบคุมโรคในฐานะผู้ใช้งานระบบ และทีมวิจัยพัฒนาของ A-med กับ NECTEC ภายใต้สังกัดของสวทช. ต่างเห็นตรงกันว่า DDC-Care มีศักยภาพและประสิทธิภาพในการใช้ควบคุมการระบาดของโรคอุบัติใหม่ โรคอุบัติซ้ำ และความเสี่ยงทางสุขภาพต่าง ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับโรค เช่น ปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 เป็นต้น 

“แนวโน้มต่อไปข้างหน้าหมดจากโควิด-19 ก็มีโอกาสที่จะมีโรคระบาดอื่น ๆ ต่อไปในอนาคต สถานการณ์โควิด-19 ทำให้เราพบว่า ประเทศจำเป็นต้องมีเครื่องมือตรงนี้มารองรับ เราคุยกับกรมควบคุมโรค คุยกับสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ ในการทำแผนพัฒนา DDC-Care ให้เป็นแพลตฟอร์มของประเทศในการควบคุมโรคอุบัติซ้ำและโรคอุบัติใหม่ในอนาคต” ดร.ณัฐนันท์ กล่าว

ด้านนายแพทย์ไผท กล่าวว่า ผลตอบรับการใช้งานจากเจ้าหน้าที่ของกรมควบคุมโรคระบุชัดว่า การมอนิเตอร์ผ่านแอปพลิเคชัน ช่วยลดเวลาและภาระงานที่จะต้องคอยตามกลุ่มเสี่ยงทุกคน และมีเวลาใส่ใจเฉพาะเคสที่ต้องติดตามจริง ๆ ซึ่งหลังจากการใช้งานโดยรวมแล้ว พบว่า เครื่องมืออย่าง DDC-Care สามารถนำมาประยุกต์ใช้ภายใต้สถานการณ์อื่น ๆ ได้เป็นอย่างดี 

“ถ้ามันสามารถใช้ได้ผลดีมีประสิทธิภาพสูง (กับโควิด-19) ย่อมสามารถนำไปใช้กับโรคอื่น ๆ ที่เพิ่มประสิทธิภาพจากแนวปฎิบัติเดิมในกลุ่มประชาชนที่มีความเสี่ยง รวมถึงใช้เป็นช่องทางในการติดตามอาการต่อได้ เป็นช่องทางการติดต่อระหว่างเจ้าหน้าที่กับคนกลุ่มเสี่ยงต่อไป” 

ขณะที่ นายแพทย์ยงเจือ กล่าวว่า เพราะเล็งเห็นประโยชน์ของ DDC-Care ที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับงานควบคุมโรคได้หลายด้าน ทำให้ทางกรมฯ ตัดสินใจเปลี่ยนชื่อ COVID Tracking เป็น DDC-Care พร้อมพูดคุยกับทางทีมนักวิจัยเพื่อพัฒนาโปรแกรมให้สอดคล้องเหมาะสมกับการใช้งานตามสถานการณ์ต่าง ๆ อยู่ตลอด โดยนอกจากประโยชน์ในเรื่องของการควบคุมโรคแล้ว DDC-Care ยังเป็นประโยชน์ในเรื่องของการวางแนวนโยบายการจัดการควบคุมโรคในบริบททางสังคมที่กว้างขึ้น 

ยกตัวอย่าง เช่น กรณีในอนาคตข้างหน้าที่ต้องมีการกักตัวระหว่างกลุ่ม A กับกลุ่ม B อีกระลอก ข้อมูลที่เก็บไว้ใน DDC-Care จะแสดงให้เห็นว่ากลุ่มไหนต้องบังคับแบบเข้มงวดห้ามผ่อนปรน กลุ่มไหนสามารถอะลุ่มอล่วยให้ได้ พิจารณาจากประวัติความประพฤติในการปฎิบัติตัว

หรืออีกตัวอย่าง เช่น การประยุกต์ใช้กับการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาในประเทศ โดยสามารถใช้เป็นระบบติดตามเส้นทางของนักท่องเที่ยว จำกัดพื้นที่ในการเดินทางท่องเที่ยว เพื่อลดความเสี่ยงของคนในชุมชน พร้อม ๆ กับการที่ประเทศยังมีรายได้จากการท่องเที่ยวเข้ามา 

ยิ่งไปกว่านั้น การนำระบบ DDC-Care มาใช้ ยังเป็นประโยชน์ต่อประเทศในแง่ของเศรษฐกิจ

ปัจจุบันการควบคุมโรคกับเศรษฐกิจเป็นเรื่องที่ไม่อาจแยกจากกันได้ ซึ่งหมายความว่า การควบคุมโรคจะต้องไม่ทำให้เศรษฐกิจแย่ โดยความเชื่อของกระทรวงสาธารณสุขก็คือ เมื่อควบคุมโรคได้ดี เศรษฐกิจก็จะดีตาม หน้าที่ของกรมควบคุมโรคก็คือการหาจุดสมดุลระหว่างการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจกับการควบคุมโรค ตลอดจนการทำให้การควบคุมโรคไม่กระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนโดยรวม ซึ่งกรมควบคุมโรคตระหนักดีว่าเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยากที่จะทำให้ประเทศปราศจากผู้ติดเชื้อ ตราบใดที่ยังไม่อาจล็อกดาวน์ประเทศได้เบ็ดเสร็จเด็ดขาด ดังนั้น สิ่งที่ทำได้ ก็คือ การหาทางสืบค้นจุดกำเนิดโรค แล้วเข้าไปสกัดกั้นการระบาดไม่ให้ลุกลามแพร่กระจาย 

“DDC-Care มีฟังก์ชันที่เพียงพอที่จะสามารถป้องกันโรค และสามารถที่จะติดตามว่า เขาไปสถานที่ใดบ้าง มันจะทำให้เราสามารถควบคุมโรคได้อย่างรวดเร็ว ถ้าเราควบคุมโรคได้อย่างรวดเร็ว แปลว่าผู้ติดเชื้อระลอกใหม่ก็จะน้อยมาก ทำให้เศรษฐกิจของเราสามารถเดินหน้าได้ เพราะเราไม่จำเป็นต้องล็อกดาวน์ ขอเพียงแค่สามารถติดตามผู้มีความเสี่ยง หรือผู้ติดเชื้อได้หมด จัดการผู้ที่ต้องควบคุมโรคได้เร็ว อาจจะมีผลกระทบบ้างเล็กน้อยสำหรับผู้ที่จำเป็นต้องกักกันตัว แต่ประชาชนทั่วไปจะไม่ได้รับผลกระทบมากนัก” นายแพทย์ยงเจือ กล่าวก่อนเสริมว่า ประชาชนทั่วไปก็ใช้ชีวิตตามปกติ โดยที่ต้องปฎิบัติตามคำแนะนำทั่วไปของกระทรวงสาธารณสุขอย่าง ล้างมือ สวมหน้ากากอนามัยและเว้นระยะห่างทางสังคม 

“จากจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ แอปพลิเคชัน DDC-Care ก็ค่อย ๆ เติบโตไปตามกาลเวลา ผ่านมา 13 เดือนจนถึงทุกวันนี้ มีการปรับเปลี่ยนแปลงไปจากเวอร์ชันแรกเยอะมาก ดังนั้น ความร่วมมือที่ทำระหว่างกรมควบคุมโรคกับสวทช. ถือว่าเป็นความสำเร็จก้าวเล็ก ๆ ที่ยิ่งใหญ่มากครับ” นายแพทย์ยงเจือ กล่าว 

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ