TH | EN
TH | EN
หน้าแรกBusinessPride Clinic บำรุงราษฎร์ เพื่อสุขภาวะที่เท่าเทียมของ LGBTQ+

Pride Clinic บำรุงราษฎร์ เพื่อสุขภาวะที่เท่าเทียมของ LGBTQ+

แม้สังคมโลกเริ่มเปิดกว้างสำหรับกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ หรือ LGBTQ+ ในทิศทางที่เป็นบวกมากขึ้นกว่าในอดีต แต่ในความเป็นจริงกลับพบว่าสิทธิและความเสมอภาคหลายประการถูกลดทอน ไม่ว่าจะเป็นความเท่าเทียมทางกฎหมาย การเข้าถึงบริการสุขภาพที่ดีและมีประสิทธิภาพ หรือการยอมรับที่จริงใจจากสังคม

คลี่มิติสุขภาวะของ LGBTQ+

เพราะความตื่นตัวเกี่ยวกับประเด็นสุขภาพเฉพาะกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศเพิ่งเกิดขึ้นยังไม่ถึง 10 ปี ทำให้การพัฒนาศาสตร์ด้านนี้ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลวิจัยและมาตรฐานการดูแลรักษาเรียกว่าเป็นน้องใหม่เมื่อเทียบกับการแพทย์สาขาอื่น อีกทั้งความหลากหลายทางเพศซึ่งแบ่งออกเป็นหลายกลุ่มย่อย เช่น กลุ่มคนข้ามเพศ เลสเบี้ยน เกย์ ไบเซ็กซ์ช่วล เป็นต้น ดังนั้น การให้บริการจึงแตกต่างกันไปตาม “ความต้องการเฉพาะในแต่ละกลุ่ม” เช่น การใช้ฮอร์โมนเพื่อยืนยันเพศสภาพของกลุ่มข้ามเพศ หรือ การให้คำปรึกษาเรื่องความสัมพันธ์คู่รักเพศเดียวกัน เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ปัญหาของระบบบริการสุขภาพที่สะท้อนผ่านผู้มีความหลากหลายทางเพศ กรณีพบเจอบริการที่ไม่เป็นมิตร ขาดความรู้ความเข้าใจและความละเอียดอ่อนต่อบุคคลหลากหลายทางเพศอย่างแท้จริง ขาดการดูแลโดยแพทย์ผู้ชำนาญการ ทำให้เกิดปัญหาสุขภาพตามมา เช่น กลุ่มหญิงข้ามเพศบางคนเลือกที่จะซื้อยาคุมกำเนิดทานเองจนเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำ หรือการฉีดซิลิโคนตามร่างกายที่ไม่ได้มาตรฐานทางการแพทย์จนเกิดการติดเชื้อหรือภาวะแทรกซ้อนระยะยาว

นอกจากนี้ การขาดพื้นที่ปลอดภัยที่จะทำให้กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศได้สำรวจตัวเองโดยปราศจากแรงกดดัน หลายคนอาจโชคดีที่รับรู้เพศสภาพของตัวเองโดยง่าย แต่ในบางกรณี การรับรู้เพศสภาพอาจไม่ง่ายนัก เนื่องจากมีความท้าทายในชีวิตหลายอย่าง เช่น ครอบครัวไม่ยอมรับ  ขัดกับหลักศาสนา หรือมีภาวะร่วม เช่น ออทิสติก ที่ทำให้ยากต่อทำความเข้าใจเพศสภาพของตนเอง  

บำรุงราษฎร์ ร่วมฉลอง “PRIDE Month” ตั้ง “Pride Clinic”

บริการสุขภาพที่เท่าเทียม

Pride Clinic โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ จึงเกิดขึ้นเพื่อเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้กับกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศในการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพที่เป็นมิตร ครบวงจร มีประสิทธิภาพ และได้มาตรฐานบนหลักการรักษาที่เคารพต่อ “ความเท่าเทียมกันในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์”

นายแพทย์เบญทวิช สุรศาสตร์พิศาล แพทย์ผู้ชำนาญสาขาเวชศาสตร์ครอบครัว และเชี่ยวชาญการดูแลสุขภาพของบุคคลหลากหลายทางเพศ กล่าวกับ The Story Thailand ถึงค่านิยม 4 ประการของ Pride Clinic ที่ต้องการทลายกำแพงการถูกปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียมด้านบริการสุขภาพ และสร้างจุดแข็งที่แตกต่างด้วย 1) Inclusion การโอบรับบุคคลหลากหลายทางเพศในทุกช่วงวัย เชื้อชาติและศาสนา 2) Holistic care การดูแลแบบองค์รวมทั้งมิติกาย ใจ และสังคม 3) Integrated care บูรณาการการดูแลแบบสหสาขาวิชาชีพ และ 4) Personalized care การออกแบบการดูแลที่เหมาะกับความต้องการของผู้รับบริการแต่ละราย

“ความมุ่งหมายของเราต้องการเป็นคู่คิดด้านสุขภาพ (Lifetime Health Partner) ของผู้รับบริการไปตลอดทุกช่วงชีวิต และทำให้พวกเขาได้เป็นตัวของตัวเองในแบบฉบับที่ดีที่สุด (Be The Best Version of Yourself)”

ตอบโจทย์การดูแลสุขภาพแบบองค์รวม

Pride Clinic โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ เลือกออกแบบบริการเป็น 4 รูปแบบ ให้ครอบคลุมทุกสุขภาวะและอุดรอยรั่วด้านบริการสุขภาพที่กลุ่มคนเหล่านี้เคยประสบ ได้แก่ 1) บริการดูแลเพื่อยืนยันเพศ (Gender-Affirming Health service) ในการดูแลภาวะ Gender Incongruence หรือภาสะเพศสภาพไม่สอดคล้องกับเพศกำเนิด เช่น ให้ฮอร์โมน ผ่าตัดกล่องเสียง ผ่าตัดหน้าอก ผ่าตัดแปลงเพศ เป็นต้น เพื่อให้ผู้รับบริการมีคุณภาพชีวิตและสุขภาพจิตที่ดี อยู่ในสังคมได้อย่างภาคภูมิในตัวเอง 2) บริการการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคสำหรับบุคคลหลากหลายทางเพศ (LGBTQ+ Primary care service) เป็นการออกโปรแกรมการตรวจสุขภาพรวมถึงวัคซีนที่จำเป็นในแต่ละกลุ่ม  3) บริการดูแลสุขภาพเพศและภาวะการเจริญพันธุ์ (LGBTQ+ Sexual and Reproductive health service) อาทิ การให้ยาเพื่อการป้องกันติดเชื้อ HIV (PrEP)  การดูแลอวัยวะเพศหลังการผ่าตัดเพื่อการยืนยันเพศสภาพ เช่น ช่องคลอดใหม่ องคชาตใหม่ ในระยะยาวต่อเนื่อง และ 4) บริการสุขภาพใจ (LGBTQ+ Behavioral health service) ทั้งประเด็นสุขภาพจิตที่เกิดขึ้นได้เช่นเดียวกับชายหญิงรักต่างเพศหรือภาวะเฉพาะที่พบในบุคคลหลากหลายทางเพศ เช่น การเปิดเผยความเป็น LGBTQ+ (coming out) และการถูกเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ เช่น การถูกบูลลี่จากสังคม การรับมือกับครอบครัวที่ไม่ยอมรับ ปัญหาความสัมพันธ์ของคู่รักบุคคลหลากหลายทางเพศ หรือการวางแผนการสร้างครอบครัวและการมีบุตร เป็นต้น

“หน้าที่ของเรา คือ เปลี่ยนกายเขาให้ตรงกับใจที่แท้จริง รวมถึงสร้างความมั่นใจว่าคุณหมอที่ดูแลจะให้ความสำคัญและมีความละเอียดอ่อนในประเด็นความหลากหลายทางเพศ”

องค์กรยุคใหม่เล็งกระตุ้น “ความเท่าเทียม” LGBTQI+

เปิดพื้นที่ปลอดภัยทั้งกายใจ

แพทย์ประจำตัว หนึ่งในบริการที่แตกต่างและเป็นจุดแข็งของ Pride Clinic เพราะสัมพันธภาพที่ดีระหว่างผู้รับบริการกับแพทย์มีความสำคัญต่อการเปิดใจพูดคุยในทุกปัญหา ทำให้การดูแลมีความต่อเนื่อง และครบถ้วนทั้งกาย ใจ สังคม ตลอดจนดำเนินการปรึกษาส่งต่อให้กับแพทย์เฉพาะทาง เช่น การผ่าตัดกล่องเสียง มีภาวะทางจิตเวชที่ซับซ้อน หรือมีโรคเจ็บป่วยอื่น ๆ ซึ่งกระบวนการในการดูแลทั้งหมดนี้ นับเป็นการบูรณาการการทำงานระหว่างแพทย์ประจำตัวและแพทย์เฉพาะทาง

แพทย์ประจำตัว pride Clinic ทั้ง 5 ท่าน ประกอบไปด้วย ทีมแพทย์เฉพาะทางและทีมสหสาขาวิชาชีพที่มีทักษะและประสบการณ์สูงในการให้การดูแลสุขภาพสำหรับบุคคลหลากหลายทางเพศในทุกช่วงวัย

ปัจจุบัน บุคลากรของ Pride Clinic ประกอบด้วย “แพทย์ประจำตัว” ทั้งหมด 5 ท่าน ซึ่งนอกจากความเชี่ยวชาญด้าน LGBTQ+ ยังเป็นแพทย์ที่ชำนาญการเฉพาะด้าน อาทิ ฮอร์โมน เวชศาสตร์ครอบครัว สูตินรีเวชวิทยา และเวชศาสตร์วัยรุ่น ผู้รับบริการสามารถเลือกได้ว่าอยากได้แพทย์ประจำตัวแบบไหน สไตล์ไหน และมีทีม“แพทย์ศัลยกรรมตกแต่งสำหรับคนข้ามเพศ” เฉพาะอีก 5 ท่าน ซึ่งทำงานร่วมกันในการให้คำปรึกษาหรือหาข้อสรุปที่ดีที่สุดให้กับผู้รับบริการ และ “แพทย์วิสัญญี” 1 ท่าน ที่มาช่วยดูแลระงับความปวดก่อน ระหว่างและหลังผ่าตัด รวมถึงเจ้าหน้าที่ประจำในคลินิกอีก 4 ท่าน ซึ่งพร้อมให้บริการ ณ สถานบริการแบบออนไซต์ หรือ ผ่านระบบการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) แบบออนไลน์ ตามความสะดวกของผู้รับบริการ

ภายในคลินิกมีการจัดสภาพแวดล้อมทางกายภาพที่โอบรับและเป็นมิตรกับบุคคลหลากหลายทางเพศ เช่น การประดับธงสีรุ้ง การมีโปสเตอร์และนิตยสารที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับบุคคลหลากหลายทางเพศ โดยเฉพาะ “การออกแบบห้องน้ำสาธารณะให้กับทุกเพศสภาพ (ALL Genders Restroom)” ซึ่งเป็นความใส่ใจในการรับฟังเสียงสะท้อนของผู้รับบริการ มีห้อง Education room และ consultation room ที่ออกแบบเพื่อรองรับการให้คำปรึกษาเรื่องความสัมพันธ์โดยเฉพาะ การออกแบบแบบฟอร์มบันทึกข้อมูลผู้รับบริการที่สามารถระบุเพศสภาพที่แท้จริงของตัวเอง การเรียกชื่อ (Preferred name) และใช้สรรพนาม (pronoun) ตามความต้องการของผู้รับบริการเพื่อแสดงความเคารพในเพศสภาพที่เป็น รวมถึงการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ทั้งในคลินิกและเจ้าหน้าที่ทั้งหมดของโรงพยาบาลราว 3 พันคน ซึ่งประจำอยู่ตามแผนกต่าง ๆ ให้เข้าใจถึงความละเอียดอ่อนในการสื่อสาร การใช้ถ้อยคำ อวัจนภาษาต่าง ๆ ที่เป็นมิตรและเหมาะสมกับบุคคลหลากหลายทางเพศ

“เราอยากให้บุคคลหลากหลายทางเพศทุกคนได้รับบริการที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน ในเรื่องการความละเอียดอ่อนต่อความหลากหลายทางเพศทุกพื้นที่ในโรงพยาบาลของเรา”

คืน “คนที่ใช่” ให้กับตัวเอง

คุณหมอเบญทวิชยกกรณีศึกษาที่น่าประทับใจของเด็กผู้ชายข้ามเพศอายุ 11 ขวบ ซึ่งผ่านช่วงเวลายากลำบากที่ครอบครัวและโรงเรียนไม่เข้าใจ ทำให้มีภาวะซึมเศร้า ทำร้ายตัวเองเพราะเกลียดร่างกายของตัวเองที่มีความเป็นผู้หญิง และบางขณะก็มีพฤติกรรมก้าวร้าว จนคุณแม่พามาปรึกษาที่คลินิก เมื่อมีการพูดคุยกันแบบเปิดอกจนยืนยันแน่ชัดถึงภาวะของการมีเพศสภาพที่ไม่ตรงกับเพศกำเนิด และต้องการแสดงออกถึงตัวตนที่เขาเป็น จึงนำไปสู่กระบวนการดูแลทางการแพทย์ที่ถูกต้องในการให้ยาเพื่อชะลอการเข้าสู่วัยหนุ่มสาวชั่วคราว (pubertal blocker) จนกว่าจะเข้าสู่อายุที่เหมาะสมสำหรับการให้ฮอร์โมนเพื่อการยืนยันเพศสภาพต่อไป ทำให้ไม่ต้องทุกข์ทรมานจากการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายที่ไม่สอดคล้องกับใจของเขา ตลอดจนการช่วยแนะนำโรงเรียนใหม่ที่เปิดกว้างให้เด็กได้แสดงความเป็นตัวตน  ดังนั้น การที่ผู้รับบริการสามารถค้นเจอคลินิกที่เข้าใจเขาและให้การดูแลที่ได้มาตรฐานและมีประสิทธิภาพ จึงไม่ใช่แค่เปลี่ยนชีวิตเด็กคนหนึ่งที่สิ้นหวังให้กลับมามีกำลังใจ แต่ทำให้เด็กคนหนึ่งมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ในแบบที่เขาเป็น และได้เปล่งศักยภาพที่แท้จริงของเขาออกมา เด็กมีพลังที่จะสานฝันของตัวเองที่อยากเป็นนักกีฬา สิ่งเหล่านี้นำพาความสุขคืนสู่ครอบครัว โดยเฉพาะคุณพ่อคุณแม่ซึ่งดีใจมากเมื่อเห็นลูกมีความสุขและมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างที่เขาต้องการ

“ในฐานะหมอที่ดูแลสุขภาพของผู้มีความหลากหลายทางเพศ เลี่ยงไม่ได้ที่ต้องทำงานร่วมกับครอบครัว เพราะกระบวนการยืนยันเพศสภาพจะมีความสำเร็จสูงหากครอบครัวให้การยอมรับและสนับสนุน เราทำหน้าที่เป็นคนกลางที่ช่วยในการพูดคุยสื่อสารกับคนในครอบครัวเป็นไปด้วยดี เพื่อช่วยให้ผู้รับบริการไม่รู้สึกโดดเดี่ยวหรือถูกทอดทิ้ง”

หมุดหมายบริการระดับเวิลด์คลาส

จากการดำเนินงานของ Pride Clinic โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ตลอดสองปีได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดีจากจำนวนผู้รับบริการราว 300 คน จากกว่า 30 ประเทศทั่วโลก โดยมีคนไทยที่มารับบริการในจำนวนที่เกิน 50%

โดยคุณหมอเบญทวิชบอกกับเราถึง การตั้งหมุดหมายในการพัฒนา Pride Clinic สู่การบริการที่เป็นมาตรฐานระดับสากล โดยการอ้างอิงการพัฒนามาตรฐานการดูแล ตามเกณฑ์การบริการทางการแพทย์ด้านสุขภาพของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศของประเทศสหรัฐอเมริกา ควบคู่ไปกับการพัฒนาองค์ความรู้อย่างต่อเนื่อง เช่น การฝึกอบรมเฉพาะเรื่อง LGBTQ+ สำหรับบุคลากรของคลินิก

“เราใช้เกณฑ์การให้บริการทางการแพทย์ตามมาตรฐานของประเทศสหรัฐอเมริกา และมุ่งหวังว่า Pride Clinic จะไปถึงเป้าหมายสู่การบริการทางการแพทย์ในกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ ที่มีคุณภาพระดับโลกภายในอีก 3 ปีข้างหน้า ซึ่งเราตั้งใจว่า Pride clinic จะไม่ใช่แค่การดูแลรักษาแค่ตัวโรค แต่เป็นการดูแลสุขภาพของคนทั้งคนที่ยึดผู้รับบริการเป็นศูนย์กลางอย่างแท้จริง” คุณหมอเบญทวิชกล่าวปิดท้าย

นอกจากนี้ ที่ผ่านมา Pride Clinic โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ได้เข้าร่วมกิจกรรมกับชุมชนชาว LGBTQ+ (Community Engagement) อย่างต่อเนื่อง และเมื่อต้นปีที่ผ่านมาโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ได้รับรางวัล Hospital Management Award ด้าน Diversity ซึ่งนับเป็นรางวัลที่ยืนยันถึงการจัดการทรัพยากรทางการแพทย์เพื่อตอบโจทย์ความหลากหลายได้เป็นอย่างดี

TikTok ร่วมสนับสนุนความหลากหลายทางเพศ และความเท่าเทียมในสังคม

วัฒนธรรมองค์กรยุคใหม่ เปิดกว้าง “ความหลากหลาย” เปิด “โอกาส” ทางธุรกิจ

“ผู้หญิงในที่ทำงาน” ในเอเชีย แต่ละรุ่นมีความเห็นต่างกันเกี่ยวกับการยอมรับคนทุกกลุ่มโดยไม่แบ่งแยก (Inclusivity)

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ