TH | EN
TH | EN
หน้าแรกSustainabilityส่องเทรนด์ความยั่งยืนมาแรงในปี 2024 กำหนดทิศทางดำเนินงานบริษัททั่วโลก

ส่องเทรนด์ความยั่งยืนมาแรงในปี 2024 กำหนดทิศทางดำเนินงานบริษัททั่วโลก

เป็นเรื่องที่ชัดเจนแน่นอนแล้วว่า การดำเนินธุรกิจของบรรดาบริษัททั่วโลกนับต่อจากนี้ นอกจากจะต้องปรับตัวเองให้ก้าวทันตามเทคโนโลยีดิจิทัลที่จะเข้ามามีบทบาทในการขับเคลื่อนธุรกิจมากขึ้นแล้ว ประเด็นด้านความยั่งยืน (Sustainability) ก็เป็นอีกหนึ่งหัวข้อสำคัญที่ทุกองค์กรเริ่มให้น้ำหนักความสำคัญมากขึ้นเช่นกัน

เหล่าผู้เชี่ยวชาญหลายสำนักต่างเห็นตรงกันว่า ภายใต้ฉากทัศน์ของธุรกิจที่ตกอยู่ท่ามกลางความไม่แน่นอนและเต็มไปด้วยการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาในปี 2024 นี้จะเป็นปีที่บริษัทซึ่งพร้อมสำหรับอนาคตจะวางตำแหน่งความยั่งยืนเป็นแกนหลักของกลยุทธ์องค์กร ซึ่งหมายความว่านอกจากบริษัทนั้น ๆ จะยังคงความสามารถในการทำกำไรแล้ว ผลการดำเนินธุรกิจจะต้องสร้างแรงขับเคลื่อนทางบวกใหักับสังคม ไม่ว่าจะเป็นในแง่ของคน สังคม และสิ่งแวดล้อม

เรียกได้ว่า ความเป็นผู้ประกอบการและนวัตกรรมจะถูกนิยามขึ้นมาใหม่ โดยมีการเปลี่ยนแปลงด้านกฎระเบียบกฎหมายมาช่วยกระตุ้นผลักดันให้องค์กรต่าง ๆ ไม่เพียงแต่ต้องปฏิบัติตาม แต่ยังทำให้อีกหลายองค์กรต้องการเป็นผู้นำในยุคที่ต้องการองค์กรที่มีความรับผิดชอบ

ภายใต้การเปลี่ยนแปลงที่มุ่งสู่ความยั่งยืน การทำงานร่วมกันซึ่งก้าวข้ามขอบเขตเดิม ๆ จะเป็นกุญแจสำคัญของความก้าวหน้าในอุตสาหกรรม ขณะที่ความร่วมมือกับภาครัฐบาล และภาคประชาสังคมจะสร้างพันธมิตรเพื่อจัดการกับความท้าทายด้านความยั่งยืนที่หลากหลายมากขึ้นทำให้เกิดการขับเคลื่อนนวัตกรรม และเผยแพร่แนวปฏิบัติที่ดีที่สุด

สำหรับทิศทางด้านความยั่งยืนที่น่าจะเห็นได้ชัดเจนขึ้นก็คือ ผลกระทบที่ขยายออกไปไกลเกินขอบเขตของภูมิภาค ซึ่งการประชุมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของสหประชาชาติ COP28 ในดูไบในปี 2023 ที่ผ่านมา บวกกับสงครามและความวุ่นวายทางการเมืองทั่วโลก ได้เน้นย้ำถึงความจำเป็นในการมีส่วนร่วมของบริษัทต่าง ๆ ในการกำหนดสภาพแวดล้อมที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับธุรกิจโดยตรง รวมถึงการจัดการความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์

นอกเหนือจากแนวโน้มข้างต้นแล้ว ความยั่งยืนยังหมายรวมถึงการที่องค์กรทั้งหลายให้ความสำคัญกับการพัฒนาภายในที่เพิ่มมากขึ้น เป็นการตอกย้ำว่าความเป็นผู้นำที่มีรากฐานมาจากการเติบโตส่วนบุคคลสามารถกระตุ้นความสำเร็จขององค์กรได้ ดังนั้น ผู้บริหารที่สนับสนุนความยั่งยืนในค่านิยมส่วนบุคคลจะส่งเสริมวัฒนธรรมองค์กรแห่งความรับผิดชอบ นอกจากนี้ การยอมรับเรื่องสุขภาพจิตในที่ทำงานได้กลายเป็นข้อพิจารณาที่สำคัญ โดยครอบคลุมถึงความพึ่งพาซึ่งกันและกันระหว่างความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงานกับองค์กรที่มีประสิทธิภาพสูงที่ยั่งยืน

ทั้งนี้ ด้วยกระแสความยั่งยืนที่เริ่มส่งเสียงดังมากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้ผู้บริหารและคณะกรรมการบริหารทั้งหลายจำเป็นต้องทำความเข้าใจและสำรวจแนวโน้มดังกล่าวเพื่อวางแนวทางให้กับธุรกิจให้มีความยืดหยุ่นทนทาน (resilience) มากขึ้น ซึ่งไม่เพียงแค่จะช่วยให้ธุรกิจมีความได้เปรียบทางการแข่งขันเท่านั้น แต่ยังจะเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างมรดกที่ส่งผลกระทบเชิงบวกและความสำเร็จที่ยั่งยืนในตลาดโลกที่จะซับซ้อนและเชื่อมโยงถึงกันมากขึ้น

งานนี้ บรรดาผู้เชี่ยวชาญของ International Institute for Management Development (IMD) หรือ สถาบันนานาชาติเพื่อการพัฒนาการบริหารจัดการ จึงได้ประมวลสุดยอดเทรนด์ด้านความยั่งยืน (sustainability) ที่จะมีอิทธิพลต่อการขับเคลื่อนเปลี่ยนแปลงภาคธุรกิจในอีก 12 เดือนข้างหน้า หรือตลอดทั้งปี 2024 นี้ ซึ่งสามารถสรุปเป็นแนวโน้มออกมาได้ทั้งหมด 17 เทรนด์ด้วยกัน

1) ผู้บริหารจะออกมาขับเคลื่อนมากขึ้น (CEOs will continue to speak out)

แม้ว่าช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา จะมีการเรียกร้องให้บรรดาผูุ้บริหารองค์กรออกมาแสดงบทบาทในพื้นที่สาธารณะเพื่อความยั่งยืนมากขึ้น แต่ส่วนใหญ่ก็ยังคงสงวนท่าที ไม่ว่าจะเป็นประเด็นด้านโลกร้อน ความเหลื่อมล้ำ หรือการกีดกันชนกลุ่มน้อย เพราะเกรงจะขัดแย้งกับกลุ่มผู้ถือหุ้น แต่หลังจากวิกฤตโควิด-19 ก็เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงชัดเจนมากขึ้น เนื่องจากบทบาทของผู้บริหารองค์กรที่มีต่อประเด็นด้านความยั่งยืนกลายเป็นตัวดึงดูดคนรุ่นใหม่อยากเข้ามาทำงาน รวมถึงช่วยให้พนักงานที่ทำงานอยู่ยังคงอยากทำงานกับองค์กรต่อไป อีกทั้งยังได้แรงหนุนจากกลุ่มผู้ถือหุ้นที่เริ่มเห็นความสำคัญความยั่งยืนมากขึ้น

2) การมาถึงของเทคโนโลยี “ความฉลาดทางธรรมชาติ” (The rise of ‘nature intelligence’)

ประเด็นด้านความยั่งยืนทำให้การบรรลุเป้าหมายที่เกี่ยวข้องกับธรรมชาติเป็นสิ่งที่ต้องปฎิบัติให้เห็นชัดเจนมากขึ้น และการพิสูจน์ดังกล่าวจะเป็นจะต้องมีข้อมูลทั้งในแง่ที่เกี่ยวข้องกับธรรมชาติมากขึ้นกว่าเดิมเพื่อให้สามารถตัดสินในได้ดีมากขึ้น และระบบการประมวลผลลัพธ์ของแผนดำเนินการที่แม่นยำมากกว่าเดิม ซึ่งเป้าหมายดังกล่าวที่ต้องการความเข้าใจธรรมชาติ ต้องอาศัยเทคโนโลยีใหม่ ๆ เช่น เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ เทคโนโลยีดาวเทียมสังเกตโลก เทคโนโลยีรหัสพันธุกรรมด้านสิ่งแวดล้อม และเทคโนโลยีด้านภาพและเสียง เป็นต้น โดยกระแสดังกล่าวจะทำให้ เทคโนโลยี ‘nature intelligence’ ได้รับความนิยามอย่างล้นหลามในปีนี้

3) การจับมือทำงานร่วมกันเพื่อสร้างผลกระทบทางสังคม (Greater societal impact lies in collaboration)

เพราะเรื่องของความยั่งยืนมีความซับซ้อนเกี่ยวพันเชื่อมโยงถึงกันหมด ดังนั้น บริษัทเพียงแห่งเดียวจึงไม่สามารถขับเคลื่อนบรรลุผลด้านความยั่งยืนได้ ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างบริษัท กับเหล่าผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจะหันมาจับมือทำงานร่วมกันมากขึ้นเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงทางสังคมร่วมกัน ขณะเดียวกัน ความร่วมมือดังกล่าวระหว่างบริษัทก็จะหลอมรวมผสมผสานความเฉียบแหลมทางธุรกิจเข้ากับวัตถุประสงค์ ชุมชนที่องค์กรต่างๆ อยู่ในพื้นที่ที่บริษัทเหล่านั้นดำเนินการอยู่ เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมทางสังคมที่แท้จริง เช่น จากเดิมที่คอยบริจาคให้ชุมชน บริษัทต่าง ๆ จะหันมาปรับนโยบายที่เอื้อต่อประโยชน์ชุมชน อย่าง อุดหนุนผลิตภัณฑ์ชุมชน จ้างงานคนในชุมชน หรือทำโปรเจ็กต์ร่วมกันคนในชุมชน เป็นต้น

4) ความหลากหลายของบอร์ดบริหาร (Board diversity may be set to reverse)

ในรายการศึกษาของ Deloitte และ พันธมิตร เกี่ยวกับความหลากหลายของบอร์ดบริหาร (Board Diversity) ในปี 2022 ซึ่งศึกษา บริษัทจดทะเบียน 3,483 แห่งทั่วโลก พบว่า บริษัทที่มีคณะกรรมการที่หลากหลายมากกว่าจะมีความแตกต่างระหว่างการสื่อสารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และแนวทางปฏิบัติที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่า เรียกได้ว่าความหลากหลายของบอร์ดบริหารจะช่วยให้แนวคิดเปลี่ยนแปลงทางสิ่งแวดล้อม มีความชัดเจนและดำเนินการได้คล่องแคล่วยืดหยุ่นมากขึ้น

5) ความยั่งยืนของมนุษย์และสุขภาพจิต (Human sustainability and mental health)

หนึ่งในความยั่งยืนขององค์กรก็คือทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งองค์กรทั่วโลกจะให้ความสำคัญกับการดูแลพนักงานมากขึ้น กล่าวคือไม่เพียงแต่ดูแลเรื่องความสมดุลระหว่างการงานกับชีวิตมากขึ้นเท่านั้น แต่ให้ความสำคัญกับสุขภาพจิตใจ มีการสอดส่องเรื่องความเครียดและความเหนื่อยล้า เพื่อให้องค์กรเป็นองค์กรในฝันที่ดึงดูดคนเก่ง โดยการสำรวจล่าสุดพบว่า 92% ของคนทำงานต้องการทำงานให้กับองค์กรที่ให้ความสำคัญกับความเป็นอยู่ที่ดีของตน

6) จีนจะเป็นแกนนำขับเคลื่อนนวัตกรรมด้านความยั่งยืน (China drives sustainability innovation)

แม้แนวคิด ESG จะมีต้นกำเนิดมาจากตะวันตก แต่กลับก็ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางมากกว่าในจีน เพราะสอดคล้องกับหลักปรัชญา “ความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน” และ “ปัจจัยขับเคลื่อนสองประการ” ของรัฐบาลจีน โดยเป้าหมายการลดการปล่อยคาร์บอนในปี 2060 ของรัฐบาลจีนได้กระตุ้นให้อุตสาหกรรมต่าง ๆ ในจีนเร่งมุ่งมั่นคิดค้นเทคโนโลยีนวัตกรรมด้านความยั่งยืน

ตัวอย่างเช่น CATL ซึ่งเป็นผู้นำในตลาดแบตเตอรี่ EV โดยมีส่วนแบ่งทั่วโลก 37% ในปี 2022 สามารถลดความเข้มข้นของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 25% ภายในหนึ่งปี และเริ่มโครงการรีไซเคิลด้วยการนำวัสดุกลับมาใช้ใหม่จากแบตเตอรี่ที่ใช้แล้วมากกว่า 99.3% 

ขณะเดียวกัน จีนยังตั้งเป้าที่จะเพิ่มการใช้พลังงานที่ไม่ใช่ฟอสซิลอย่างมีนัยสำคัญภายในปี 2060 แสดงให้เห็นถึงวิสัยทัศน์ของรัฐบาลและนวัตกรรมทางการตลาดที่มาบรรจบกันเพื่อส่งเสริมความยั่งยืน

7) ความขัดแย้งของกติกาด้านความยั่งยืนจะดุเดือดมากขึ้น (Materiality wars heat up)

ปัจจุบัน โลกกำลังเผชิญกับกติกาด้านความยั่งยืนที่แตกต่างกันสองระบบ หนึ่งคือ ‘ISSB’ หรือ International Sustainability Standards Board ที่ฝั่งสหรัฐฯ ยึดถืออยู่ ซึ่งมีการออกกติกากำหนดให้บริษัททั่วโลกต้องแสดงข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืนกับสถานะทางการเงินของบริษัทได้อย่างชัดเจน ส่วนกติกาที่สองคือ Corporate Sustainability Reporting Directive (CSRD) ที่ฝั่งยุโรปยึดถืออยู่ ซึ่งจะมีการคำนึงถึงผลกระทบต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดที่บริษัทสร้างขึ้นจากมุมมองทางการเงินและไม่ใช่ทางการเงิน โดยความแตกต่างของกติกาทั้งสองก็คือมาตรฐานของวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตที่ค่อนข้างแตกต่างกัน ทำให้ความยั่งยืนโลกในภาคธุรกิจมีประเด็นขัดแย้งที่ต้องการแนวทางบรรจบกันให้เร็วที่สุดก่อนที่จะบานปลายจนยากแก้ไข

8) การขยายขอบเขตอำนาจของคณะกรรมการองค์กรเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของสังคมและ AI ที่มีจริยธรรม (Expanding corporate board mandate for societal wellbeing and ethical AI)

คณะกรรมการของบริษัทได้ให้ความสำคัญกับการกำกับดูแล ESG มากขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เนื่องจากโซลูชัน AI ที่เกี่ยวพันกับการบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืนและการคำนึงถึงสังคมทำให้เป้าหมายด้าน ESG มีความคืบหน้ามากขึ้น ซึ่งประเด็นสำคัญที่ต้องคำนึงตามมาก็คือการที่คณะกรรมการต่าง ๆ ต้องเผชิญกับการแลกเปลี่ยนที่ซับซ้อนมากขึ้น ดังนั้น คณะกรรมการจึงได้รับการคาดหวังให้เพิ่มพูนทักษะเพื่อให้สามารถเข้าใจศักยภาพของ AI ในการนำโซลูชันด้านความยั่งยืนไปใช้ รวมถึงเข้าใจบริบททางสังคม เพื่อรับผิดชอบในการกำกับดูแลความเสี่ยงทางสังคมที่เกี่ยวข้องกับ AI และความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงาน

9) การมุ่งเน้นที่ความรับผิดชอบด้านคาร์บอนเพิ่มมากขึ้น (Growing focus on carbon accountability)

หลังจากที่ กฎหมาย“CBAM” หรือ มาตรการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism) ของยุโรปที่มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2023 ที่่ผ่านมา โลกก็เข้าสู่ช่วงยุคเปลี่ยนผ่านที่ กำหนดให้ผู้นำเข้ารายงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ของตนภายในวันที่ 31 มกราคมปีนี้ โดย CBAM ตั้งเป้าที่จะยกระดับสนามแข่งขันสำหรับอุตสาหกรรมทั่วโลก เริ่มต้นที่ยุโรป และส่งเสริมแนวทางปฏิบัติที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น กระนั้น เพื่อให้ทุกองค์กรทั่วโลกสามารถปฎิบัติตาม CBAM ได้อย่างเสมอภาคเท่าเทียมกัน ไม่ทำให้ CBAM กลายเป็นเครื่องมือกีดกันทางการค้า ทางสหภาพยุโรปก็ยังมีระยะเวลาผ่อนผันจนกว่าจะถึงปี 2026

งานนี้ บรรดาผู้นำธุรกิจจึงต้องติดตามความคิดริเริ่มเหล่านี้อย่างใกล้ชิด เนื่องจากแสดงให้เห็นการมุ่งเน้นที่เพิ่มมากขึ้นเกี่ยวกับความรับผิดชอบด้านคาร์บอนและความยั่งยืนในตลาดโลก การทำความเข้าใจและการเตรียมพร้อมสำหรับผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทาน ต้นทุนการผลิต และการเข้าถึงตลาดจะเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการรักษาความสามารถในการแข่งขันในภูมิทัศน์ด้านกฎระเบียบที่เปลี่ยนแปลงไป

10) ความโปร่งใสในห่วงโซ่อุปทานที่เข้มข้นขึ้น (Supply chains face radical transparency)

บรรดาหน่วยงานกำกับดูแลและนักลงทุนเรียกร้องให้บริษัทต่างๆ มีความรู้ที่ดีขึ้นมากเกี่ยวกับซัพพลายเออร์ของตนตั้งแต่เริ่มต้นของห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งต้องมีการติดตามเส้นทางตั้งแต่ต้นทาง ไม่ว่าจะเป็นฟาร์มหรือเหมือง ข้ามซัพพลายเออร์หลายระดับ ตัวอย่างเช่น เครือร้านอาหารเม็กซิกัน Toks มีการแสดงให้เห็นขั้นตอนการผลิตและจัดส่งตั้งแต่ชาวไร่กาแฟไปจนถึงกาแฟที่เสิร์ฟในร้านอาหาร เรียกได้ว่า บริษัทต้องแสดงให้เห็นความยั่งยืนที่โปร่งใสไม่เพียงแต่ภายในบริษัทเท่านั้น แต่ยังลึกไปถึงซัพพลายเออร์ที่ทุกรายที่เกี่ยวข้องกับบริษัทด้วย

แน่นอนว่า สำหรับบริษัทเล็ก ๆ ซัพพลายเออร์ย่อมไม่ซับซ้อนเท่าไร แต่สำหรับบริษัทอาหารที่ใหญ่ที่สุดในโลกอย่าง Nestlé นั่นหมายถึงซัพพลายเออร์หลายแสนราย ซึ่งงานดังกล่าวสามารถทำได้ในรูปแบบดิจิทัลเท่านั้น ทั้งนี้ ด้วยความร่วมมือในระดับที่ไม่เคยมีมาก่อนระหว่างบริษัทต่าง ๆ ในห่วงโซ่อุปทาน สถานการณ์ดังกล่าวจะเป็นอีกระดับหนึ่งของการทำให้ห่วงโซ่อุปทานเป็นดิจิทัลทั่วทั้งระบบนิเวศ

11) การเติบโตของโมเดลธุรกิจหมุนเวียนที่ทำกำไรและสร้างผลกระทบทางบวกต่อสังคม (Unleashing profitable and impactful circular business models)

วิวัฒนาการของแนวโน้มความยั่งยืนจะเน้นไปที่การเจริญเติบโตด้านระบบความยั่งยืนประเด็นหลัก ซึ่งนอกเหนือจากการปฏิบัติตามกฎระเบียบแล้ว ธุรกิจต่างๆ ยังตระหนักถึงศักยภาพในการเปลี่ยนแปลงและความสามารถในการทำกำไรโดยธรรมชาติของโมเดลธุรกิจแบบหมุนเวียน โดยการเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์นี้ได้รับแรงกระตุ้นจากสิ่งจูงใจด้านกฎระเบียบ เช่น แผนปฏิบัติการเศรษฐกิจหมุนเวียนของคณะกรรมาธิการยุโรป ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของ EU Green Deal ทั้งนี้ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ โมเมนตัมที่มุ่งไปสู่ความเป็นหมุนเวียนได้รับการตอกย้ำด้วยการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ในพลวัตทางธุรกิจ โดยมีบริษัทจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ ที่ประสบความสำเร็จในการสร้างโมเดลธุรกิจที่ทำกำไรได้ภายในกรอบการทำงานแบบเศรษฐกิจหมุนเวียนนั่นเอง ซึ่งการยอมรับความสามารถในการทำกำไรของระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนนี้ถือเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญที่จะบ่งชี้ถึงเส้นทางการเปลี่ยนแปลงและผลกำไรสำหรับธุรกิจที่นำทางภูมิทัศน์ที่เปลี่ยนแปลงไปของเศรษฐกิจหมุนเวียน

12) การยอมรับความยั่งยืนเป็นแกนหลักของกลยุทธ์ธุรกิจ (Embracing sustainability at the core of strategy)

ผู้นำที่มีความคิดก้าวหน้าในปัจจุบัน ต่างตระหนักดีว่าการผสานความยั่งยืนเข้ากับกลยุทธ์ไม่ได้เป็นเพียงทางเลือกเท่านั้น แต่ยังเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการสร้างความยืดหยุ่นและการได้รับชัยชนะในระยะยาว ปัญหาคือ บริษัทส่วนใหญ่ติดอยู่กับการปรับปรุงและความคิดริเริ่มแบบค่อยเป็นค่อยไปที่ไม่สามารถขยายขนาดได้ และพลาดการเคลื่อนไหวที่โดดเด่นยิ่งขึ้นซึ่งสามารถสร้างมูลค่าให้กับบริษัทในระยะยาว

การศึกษาที่สำรวจโครงการริเริ่มด้านความยั่งยืน 500 โครงการทั่วโลก พบว่ามีเพียง 1 ใน 5 โครงการริเริ่มที่ขับเคลื่อนมูลค่าทางธุรกิจ และมีเพียง 1 ใน 15 รูปแบบธุรกิจที่กำหนดรากฐานการเติบโตอย่างยั่งยืน ซึ่งการขาดการเชื่อมต่อนี้เน้นย้ำถึงความจำเป็นสำหรับธุรกิจต่าง ๆ ที่จะมุ่งเน้นไปที่การเชื่อมโยงระหว่างกลยุทธ์และความยั่งยืน โดยใช้ประโยชน์จากสิ่งหลังในฐานะตัวขับเคลื่อนการตัดสินใจเชิงกลยุทธ์เพื่อปลดปล่อยพลังแห่งการเปลี่ยนแปลง การดำเนินการดังกล่าวต้องอาศัยความเข้าใจว่าความยั่งยืนสามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจได้ที่ไหนและอย่างไร และเปลี่ยนพื้นฐานของการสร้างมูลค่า รวมกับผลที่ตามมาของการจัดสรรทรัพยากร

13) การเชื่อมโยงการพัฒนาความเป็นผู้นำเข้ากับผลกระทบทางสังคม (Tying leadership development to societal impact)

แม้ว่าความคืบหน้าในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDGs) จะดำเนินไปอย่างช้า ๆ อย่างน่าหงุดหงิด แต่การต่อสู้ร่วมกันเพื่อนำทางความซับซ้อนของปัญหาระดับโลกที่เชื่อมโยงถึงกันกำลังได้รับการตอบสนองด้วยแนวทางที่เป็นนวัตกรรมมากขึ้น เช่น โครงการริเริ่ม ‘เป้าหมายการพัฒนาภายใน’ หรือ Inner Development Goals initiative (IDGs) ที่ตั้งอยู่บนจุดบรรจบของความก้าวหน้าส่วนบุคคลและสังคม โดยมีเป้าหมายที่จะปลูกฝังจุดแข็งภายในตัวบุคคลเพื่อสนับสนุนความก้าวหน้าทางสังคมอย่างมีความนัยสำคัญ

ทั้งนี้ บริษัทยักษ์ใหญ่ระหว่างประเทศอย่าง Inter IKEA, Google และ Ericsson ต่างยอมรับ IDG อย่างแข็งขัน บริษัทเหล่านี้เชื่อมโยงโครงการพัฒนาความเป็นผู้นำขององค์กรเข้ากับการพัฒนาภายในและผลกระทบทางสังคมที่ระบุไว้ใน SDGs โดยตระหนักว่าการเติบโตของผู้นำควรสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ระดับโลกที่กว้างขึ้น ซึ่งเสาหลักทั้งห้าของ IDGs ได้แก่ การเป็น การคิด การเชื่อมโยง การทำงานร่วมกัน และการดำเนินการ (Being, Thinking, Relating, Collaborating, and Acting) ซึ่งทั้ง 5 เสาหลักจะ มอบกรอบการทำงานแบบองค์รวมที่ส่งเสริมการเติบโตส่วนบุคคล และโดยการขยายออกไปจะขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกในบริบททางสังคมที่กว้างขึ้น

14) การคว้าศักยภาพที่ยังไม่ได้ใช้ของศิลปะเพื่อความยั่งยืน (Seizing the untapped potential of art in sustainability)

ศิลปะมีศักยภาพมหาศาลในการพัฒนาความพยายามด้านความยั่งยืนโดยทำหน้าที่เป็นสื่อที่ทรงพลังสำหรับการรับรู้และการดำเนินการ รวมถึงส่งเสริมการเชื่อมโยงที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นกับประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม ตัวอย่างหนึ่งของความยั่งยืนในงานศิลปะคือผลงานของ Vik Muniz ศิลปินชาวบราซิล ในโครงการที่ชื่อ “Waste Land” ที่ Muniz ร่วมมือกับคนเก็บขยะที่ Jardim Gramacho หนึ่งในสถานที่ฝังกลบที่ใหญ่ที่สุดในโลกบริเวณชานเมืองริโอเดจาเนโร ด้วยการแสดงออกอย่างสร้างสรรค์ เรียกได้ว่าผลงานศิลปะของศิลปินเป็นความคาดหวัง ที่จะสามารถช่วยให้องค์กรทั้งหลายสามารถถ่ายทอดข้อความที่ซับซ้อนด้วยวิธีที่เรียบง่ายยิ่งขึ้น ช่วยเผชิญกับความท้าทายต่อสภาพที่เป็นอยู่ และทำให้เกิดการมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันต่อสังคมที่ยั่งยืนและมีจิตสำนึกมากขึ้น

15) ธุรกิจทำหน้าที่เป็นตัวเร่งให้เกิดประชาธิปไตย (Businesses act as catalysts for democracy)

หมายความว่า ภาคเอกชนจะมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมระบบประชาธิปไตยที่ดีและยั่งยืนมากขึ้น ความเป็นพลเมืองขององค์กรนำมาซึ่งความมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจอย่างมีจริยธรรมและการมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในความเป็นอยู่ที่ดีของชุมชนและสังคม ซึ่งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวไม่ใช่แค่การเห็นแก่ผู้อื่นเท่านั้น แต่จะกลายเป็นความจำเป็นเชิงกลยุทธ์ โดยระบอบประชาธิปไตยที่ยั่งยืนเป็นสิ่งที่ดีสำหรับธุรกิจ เพราะจะเป็นรากฐานที่แข็งแกร่งของหลักนิติธรรมที่เสริมสร้างความเชื่อมั่นของธุรกิจในการลงทุนระยะยาว เพราะสิทธิในทรัพย์สินของบริษัทจะได้รับการเคารพและมีการบังคับใช้ตามสัญญา

ขณะที่ผู้บริโภคจะให้ความสนใจกับแบรนด์ที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม และนักลงทุนตระหนักถึงคุณค่าระยะยาวของบริษัทที่มุ่งมั่นในการสร้างสันติภาพทางสังคม ผ่านทางการให้การสนับสนุน การลงมือปฎิบัติ และการมีส่วนร่วมกับกลุ่มที่ขับเคลื่อนอยู่ก่อนแล้ว

16) การแสดงจุดยืนด้านความแตกต่าง ความเท่าเทียม และความมีส่วนร่วม หรือ DEI ต่อสาธารณะ อย่างชัดเจน ไม่คลุมเครือ (DEI public displays: Don’t waffle)

การหยิบยกหรือแสดงจุดยืนด้าน ความแตกต่าง ความเท่าเทียม และความมีส่วนร่วม หรือ Diversity, Equality และ Inclusiveness เป็นสิ่งที่ต้องพึงระมัดระวังรอบคอบให้มาก ต้องพึงตระหนักเสมอว่า ให้แสดงออกอย่างชัดเจน แต่ต้องไม่เป็นการก้าวก่ายตัดสินว่าใครถูกหรือผิดโดยเด็ดขาด บทเรียนสำคัญคือการคำนึงถึงความเชื่อหลักอย่างครบถ้วนและเตรียมพร้อมสำหรับความไม่แน่นอน รวมถึงยืนหยัดอยู่บนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในตลาด ตัวอย่างเช่น กรณีที่มีการใช้ศิลปินผิวสีเป็นพรีเซนเตอร์ แม้จะเผชิญกับกระแสเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในทางลบเกี่ยวกับเชื้อชาติ บริษัทก็ต้องไม่หวั่นไหว เพราะสิ่งที่โจมตีคือประเด็นเรื่องเชื้อชาติ ไม่ใช่ประเด็นด้านพฤติกรรมส่วนตัวที่ไม่เหมาะสมของศิลปิน เป็นต้น ซึ่งการที่บริษัทจะแสดงจุดยืน DEI ที่ถูกต้องชัดเจนได้ บริษัทนั้นๆ จะต้องนิยมเกณฑ์และวัตถุประสงค์ของ DEI ภายใต้ ESG ให้ชัดเจน กำหนดบทบัญญัติที่มุ่งมั่นต่อ ESG มีการการประเมินและการติดตามอย่างสม่ำเสมอ และมีกรอบการตัดสินใจภายใต้การคิดวิเคราะห์อย่างครบถ้วนรอบด้านและเต็มไปด้วยความรับผิดชอบร่วมกันของทีมผู้บริหารองค์กร

17) วิวัฒนาการของการขับเคลื่อนเพื่อสังคมที่มีมิติมากขึ้น (Evolving shades of activism)

ทั้งนี้ เพื่อตอบสนองต่อความเป็นจริงเร่งด่วนของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการรับรู้ถึงการเพิกเฉยจากรัฐบาลและองค์กรต่าง ๆ สารพัดกิจกรรมการเคลื่อนไหวที่หลากหลายเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกำลังเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น จากจุดเริ่มต้นด้วยกลุ่มคนรุ่นเยาว์ที่ออกมาเดินขบวนบนท้องถนนในช่วงแรก กลายเป็นการเคลื่อนไหวที่มีหลายแง่มุม โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อเน้นย้ำบริษัทที่ละเลยสิ่งแวดล้อม และสร้างความตระหนักรู้ของสาธารณชนเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ขณะเดียวกัน คลื่นเล็กๆ ของการเคลื่อนไหวกำลังได้รับความสนใจ โดยแต่ละบุคคลใช้ประโยชน์จากความเชี่ยวชาญของตนเพื่อเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการเปลี่ยนแปลง องค์กรต่างๆ นอกจากนี้  กิจกรรมภายในองค์กรโดยกลุ่มพนักงานซึ่งมุ่งเน้นไปที่การจุดประกายการเปลี่ยนแปลงจากภายในบริษัท ก็มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน ทำให้เกิดแรงกดดันต่อองค์กรต่างๆ มากขึ้นในการปรับใช้เป้าหมายที่มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม

ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า ภูมิทัศน์ที่เปลี่ยนแปลงไปนี้เน้นย้ำถึงการเปลี่ยนแปลงจากการประท้วงบนท้องถนนอย่างเปิดเผยไปสู่การเคลื่อนไหวที่เหมาะสมและแพร่หลายซึ่งใช้ช่องทางทางกฎหมายภายใต้ความเป็นมืออาชีพ  และเนื่องจากการเคลื่อนไหวในรูปแบบต่างๆ เหล่านี้ได้รับแรงผลักดันในหลายมิติมากขึ้น ภาคธุรกิจต่างๆ จึงต้องเผชิญกับแรงกดดันที่เพิ่มขึ้นในการประเมินกลยุทธ์ใหม่ให้สอดคล้องกับค่านิยมทางสังคมและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

ที่มา IMD

ข่าวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

เทรนด์ความยั่งยืนของปี 2024

3 ความท้าทายและความเสี่ยง ESG ปี 2024

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ