TH | EN
TH | EN
หน้าแรกSustainabilityเทรนด์ความยั่งยืนของปี 2024

เทรนด์ความยั่งยืนของปี 2024

ถึงแม้จะมีความท้าทายมากมายหลายประการ แต่ดูเหมือนว่ามนุษย์ได้ตัดสินใจจะขับเคลื่อน “ความยั่งยืน” กันอย่างจริงจังแล้ว ดังจะเห็นได้จากการที่ความยั่งยืนกลายเป็นประเด็นหลักประเด็นหนึ่งที่รัฐบาล นักการเมือง องค์กรธุรกิจและชุมชนทั่วไปต้องหยิบยกมาสื่อสารกับสาธารณชน

ธอมสัน รอยเตอร์ ระบุว่ากระแสความยั่งยืนยังแรงดีไม่มีตก แม้จะมีสงครามหรือความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ปะทุขึ้นบนโลกตลอดช่วงปีผ่านมา

ปัจจุบัน ผู้เชี่ยวชาญจากทุกวงการแสดงความมั่นใจว่าแนวคิดเรื่องความยั่งยืนจะไม่ได้เป็นเพียงกระแสที่ผ่านมาแล้วผ่านไป เพราะทุกฝ่ายต่างเล็งเห็นประโยชน์ของการเสริมสร้างความยั่งยืนโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากหลักการรักษาสิ่งแวดล้อม ดูแลสังคม รวมถึงส่งเสริมการกำกับดูแลที่ดี (ESG)

ESG ลงหลักปักฐาน

ไพร้ซ์วอเตอร์เฮ้าส์คูเปอร์ส ระบุว่าราว 1 ใน 3 ของประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน กำลังวิเคราะห์ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อผลประกอบการทางการเงินขององค์กรตนเอง ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าประเด็นความยั่งยืนกำลังจะเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของรากฐานทางการเงินของบริษัทต่าง ๆ

นอกจากนี้แล้ว หลายบริษัทยังถึงขั้นสร้างตำแหน่ง “ผู้กำกับดูแลงาน ESG” เพื่อทำหน้าที่กำกับดูแลกิจการที่เกี่ยวข้องกับ ESG และบูรณาการงาน ESG เข้าเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงานและการรายงานผลประกอบการทางการเงิน

ยิ่งไปกว่านั้น บริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์และส่งออกสินค้าไปยังสหภาพยุโรปยังเริ่มกระตุ้นให้ผู้จัดหาวัตถุดิบร่วมส่งเสริมความยั่งยืนด้วยการพร้อมใจกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกสู่ชั้นบรรยากาศของโลก

ทุกวันนี้ รายงานความยั่งยืนขององค์กรต่าง ๆ เริ่มหันมาเปิดเผยข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยตรงขององค์กร รวมถึงโดยอ้อมจากผู้ประกอบการที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานและจากผลิตภัณฑ์ที่องค์กรนั้น ๆ เป็นผู้ผลิตด้วย

ปัจจัยที่ขับเคลื่อนกระแสความยั่งยืนเหล่านี้มีทั้งกฎระเบียบจากภาครัฐ การตระหนักถึงความสำคัญของความยั่งยืนในภาคส่วนต่าง ๆ รวมถึงความต้องการของผู้บริโภคทั่วโลกเอง

ผลสำรวจความคิดเห็นในอังกฤษเมื่อเร็ว ๆ นี้เผยว่าร้อยละ 69 ของผู้ตอบแบบสอบถามไม่ประสงค์จะซื้อสินค้าจากบริษัทที่หลอกลวงสาธารณชน ให้ข้อมูลเท็จ ดูแลพนักงานหรือสังคมไม่ดี เช่น ไม่ให้ค่าตอบแทนที่เป็นธรรมหรือไม่คิดช่วยเหลือสังคม

ยับยั้ง “ฟอกเขียว”

แม้ผู้คนทั่วโลกจะหันมาให้ความสำคัญกับการสร้างความยั่งยืนกันแล้ว แต่องค์กรเพื่อสิ่งแวดล้อมหลายแห่งยังต้องออกมาย้ำเตือนให้ทุกฝ่ายระมัดระวัง “การฟอกเขียว” หรือการอวดอ้างว่าได้รักษาสิ่งแวดล้อมเพื่อโลกที่ยั่งยืนแล้วเพื่อภาพลักษณ์อันดีขององค์กร แต่มิได้สร้างผลกระทบที่ดีอย่างแท้จริง

กรีนพีซอธิบายว่าหากผู้บริโภคไม่เท่าทันกลยุทธ์การฟอกเขียว การแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมหรือการแก้ไขปัญหาความยั่งยืนอาจจะเกิดขึ้นแบบฉาบฉวยเท่านั้น

ในสายตาของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย “การฟอกเขียว” อาจถือเป็นอุปสรรคใหญ่ของการเปลี่ยนผ่านสังคมสู่ความยั่งยืนเลยทีเดียว เพราะองค์กรที่ฟอกเขียวจะให้ข้อมูลเท็จหรือบิดเบือนข้อมูลจนอาจทำให้ระบบการเปิดเผยข้อมูลเพื่อส่งเสริมความยั่งยืนสูญเสียความน่าเชื่อถือไปทั้งระบบ นอกจากนี้แล้ว ผู้ที่ปฏิบัติตามกฎกติกาอาจกลายเป็นผู้ที่แบกรับต้นทุนมากกว่าและสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน

กรีนพีซจึงแนะนำให้ผู้บริโภคมีความตื่นตัว คอยติดตามข้อมูลข่าวสารและแสดงจุดยืนต่อต้านการฟอกเขียวอย่างจริงจัง

สหภาพยุโรปกำลังเดินหน้าปราบปรามการฟอกเขียวผ่านการออกกฎระเบียบใหม่ ๆ หลายอย่าง อาทิ กฎที่ห้ามเผยแพร่ข้อมูลเท็จและกฎที่บังคับการเปิดเผยข้อมูลเพื่อช่วยให้ผู้บริโภคเข้าถึงข้อมูลที่เกี่ยวข้องได้ดียิ่งขึ้น

“เกมการเมือง“ ของ “ความยั่งยืน”

ในปี 2024 จะมีการเลือกตั้งระดับประเทศในกว่า 40 ประเทศทั่วโลก อาทิ อินโดนีเซีย อินเดียและสหรัฐอเมริกา จึงมีการจับตากันอย่างใกล้ชิดว่าผลการเลือกตั้งจะส่งผลต่อกระแสความยั่งยืนที่เริ่มหยั่งรากลึกในสังคมหรือไม่

อย่างไรก็ตาม ผู้สังเกตการณ์เชื่อว่าไม่ว่าใครจะก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำ กระแสขับเคลื่อนความยั่งยืนมีแนวโน้มที่จะเดินหน้าไปต่ออย่างไม่หยุดยั้ง เพียงแต่อาจจะมีศัพท์ใหม่หรือแนวคิดใหม่มากำกับกระแสดังกล่าวเท่านั้นเอง

ที่มา: Eco Business, Thomson Reuters, Greenpeace และ Stock Exchange of Thailand

ข่าวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

บางจาก จับมือ BTS เปิดให้บริการเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า แก่วินมอเตอร์ไซค์ใกล้สถานีรถไฟฟ้า

เปิดตัว ‘BEBESUP ICAN’ ทิชชู่เปียกย่อยสลายในน้ำ เจาะกลุ่มแม่และเด็ก – คนรุ่นใหม่ที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ