TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistอมตะซิตี้-บ่อเต็น ทุนจีนทุนไทย โตไปกับเส้นทางรถไฟลาว-จีน

อมตะซิตี้-บ่อเต็น ทุนจีนทุนไทย โตไปกับเส้นทางรถไฟลาว-จีน

นับตั้งแต่เปิดการเดินรถไฟขบวนล้านช้างอย่างเป็นทางการ วันที่ 4 ธันวาคม 2564 จนวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2565 เป็นเวลา 2 เดือน ได้ขนส่งผู้โดยสารไปแล้ว 108,770 คน เฉลี่ย 1,699 คน/วัน มีรายได้จากการขายตั๋วรถไฟประมาณ 12.98 ล้านหยวน สำหรับรถขบวนสินค้า ขนส่งสินค้าทั้งหมด 124.5 คู่ ปริมาณการขนส่งสินค้า 133,191 ตัน เฉลี่ย 2,081 ตัน/วัน

ข้อมูลข้างต้น เฉพาะรถไฟขบวนล้านช้างที่วิ่งรับส่งผู้โดยสารภายใน สปป.ลาว ไม่นับรวมขบวนรถไฟฟูซิ่ง วิ่งจากนครคุนหมิงถึงบ่อหาน ซึ่งมียอดผู้ใช้บริการและรายได้จากการขายตั๋วมากกว่าขบวนล้านช้างหลายเท่าตัว

เช้าวันที่ 7 ก.พ.2565 ท่านทองลุน สีสุลิด ประธานประเทศ สปป.ลาว และเลขาธิการใหญ่พรรคประชาชนปฏิวัติลาวพร้อมคณะ นั่งรถไฟขบวนล้านช้างจากสถานีนครหลวงเวียงจันทน์ เพื่อไปตรวจราชการที่แขวงหลวงน้ำทา และแขวงพงสาลี ท่านทองลุน กล่าวกับสื่อมวลชนลาวว่า เป็นครั้งแรกที่นั่งรถไฟ EMU ขบวนล้านช้าง รู้สึกพอใจที่สุดในความสะดวก มั่นคง และปลอดภัยของขบวนรถไฟ

บ่ายวันเดียวกันนั้น เมื่อขบวนรถไฟแล่นถึงสถานีบ่อเต็น แขวงหลวงน้ำทา ท่านทองลุนลงจากรถไฟ และเดินทางต่อไปยังเขตเศรษฐกิจบ่อเต็นแดนงาม ซึ่งอยู่ติดกับสถานีรถไฟ ซึ่งสถานีบ่อเต็น เป็นสถานีแรกบนแผ่นดินลาว นับแต่รถไฟวิ่งจากนครคุนหมิง มณฑลยูนนาน เข้าสู่เขตแดน สปป.ลาว โดยสถานีแห่งนี้ใหญ่เป็นอันดับ 2 รองจากสถานีนครหลวงเวียงจันทน์

บ่อเต็น เมืองหลวงน้ำทา แขวงหลวงน้ำทา อยู่ตรงข้ามกับบ่อหาน ในเขตปกครองตนเองชนชาติไต สิบสองปันนา มณฑลยูนนาน และเป็นจุดผ่านแดนสากลบ่อเต็น-บ่อหาน ชายแดนลาว-จีน สิบปีที่แล้ว รัฐบาลลาวและจีน ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจในการจัดตั้งเขตร่วมมือเศรษฐกิจ บ่อเต็น-บ่อหานขึ้น โดยจะพัฒนาเขตเศรษฐกิจบ่อเต็นแดนงาม ให้เป็นจุดเชื่อมโยงจีนเข้าสู่อาเซียน เนื่องจากเป็นจุดที่มีถนนสาย R3A ตัดผ่าน และเป็นจุดเชื่อมการโดยสารและขนส่ง ทั้งทางรถยนต์และรถไฟของจีนที่จะลงมาสู่อาเซียน

บ่อเต็นแดนงาม

ช่วงตรุษจีนที่ผ่านมา แอดมินเพจบ่อเต็นแดนงามเผยแพร่ภาพอาคารทันสมัยสูงเด่น เหนือชุมชนชายแดนลาว-จีน แสดงให้เห็นความคืบหน้าของเมืองใหม่บนเส้นทางรถไฟลาว-จีน และถนน R3A ที่ตัดผ่านมาถึงชายแดนด้าน อ.เชียงของ จ.เชียงราย

เดิมทีรัฐบาลลาวอนุญาตให้บริษัทฟุกฮิง ทราเวล ฮ่องกง เป็นผู้ได้สัมปทานสร้างเขตเศรษฐกิจเฉพาะบ่อเต็นแดนคำ ภายในประกอบด้วยกาสิโน และศูนย์บันเทิงครบวงจร เปิดให้บริการในปี 2550 แต่เกิดปัญหาอาชญากรรมร้ายแรง รัฐบาลลาวจึงสั่งปิดกาสิโนและยึดสัมปทานกลับคืนมา

ปี 2554 รัฐบาลลาวได้ให้สัมปทานที่ดินแปลงใหญ่ 21,375 ไร่ แก่กลุ่มบริษัทยูนนาน ไห่เฉิง ไปทำต่อ และเปลี่ยนชื่อโครงการเป็นเขตเศรษฐกิจบ่อเต็นแดนงาม โดยตั้งบริษัท เขตเศรษฐกิจพิเศษเฉพาะ บ่อเต็น จำกัด เป็นผู้ดำเนินการ ปรับรูปเป็นเขตเสรีทางการค้าและการท่องเที่ยวสากลศูนย์กลางการขนส่งสินค้า รวมถึงเป็นศูนย์รวมทางวัฒนธรรม

ปี 2559 กลุ่มบริษัทยูนนาน ไห่เฉิง จึงลงมือก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน และอาคารที่พักอาศัย รวมถึงโรงแรมมาตรฐาน ภายใต้สัญญาสัมปทาน 90 ปี ซึ่งแบ่งพื้นที่การลงทุนออกเป็นพื้นที่การค้า, โลจิสติกส์, การศึกษา,การแพทย์, การท่องเที่ยว การเงินและการธนาคาร ปัจจุบัน มีบริษัทจดทะเบียน 148 แห่ง มีธุรกิจเอกชน 171 แห่ง เงินลงทุน 725 ล้านหยวน

ในอนาคต เขตเศรษฐกิจพิเศษบ่อเต็นแดนงาม จะกลายเป็นใจกลางเศรษฐกิจภาคเหนือลาว และจะมีประชากร 3 แสนคน เทียบเท่านครหลวงเวียงจันทน์

อมตะสมาร์ทซิตี้

บนเส้นทางรถไฟลาว-จีน นับจากสถานีบ่อเต็น ขยับมาไม่ไกลมากนักก็คือ สถานีนาเตย เป็นสองสถานีรถไฟที่ตั้งอยู่ในเมืองหลวงน้ำทา แขวงหลวงน้ำทา ซึ่งเพิ่งมีการเปิดบริการรับส่งผู้โดยสารที่สถานีนาเตย เมื่อ 6 ก.พ.2565

บ้านบ่อเต็น มีโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษบ่อเต็นแดนงาม และที่บ้านนาเตยก็มีโครงการพัฒนาเมืองทันสมัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเช่นกัน

วันที่ 11 ม.ค.2565 บริษัท อมตะซิตี้ ลาว จำกัด (AMATA CITY LAO) จัดพิธีวางศิลาฤกษ์พัฒนาโครงการเมืองทันสมัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (AMATA SMART & ECO CITY) ที่บ้านนาเตย แขวงหลวงน้ำทา ได้รับเกียรติจากท่านคำไหล สีปะเสิด เจ้าแขวงหลวงน้ำทา มาเป็นประธานในพิธี พร้อมกับ วรงค์ ตังประพฤทธิ์กุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท อมตะซิตี้ ลาว จำกัด

บริษัท บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) ได้รับการอนุมัติสัมปทานการพัฒนาที่ดินจำนวน 410 เฮกตาร์ หรือราว 2,562.5 ไร่ จากรัฐบาล สปป.ลาว มีอายุสัมปทาน 50 ปี โดยได้เซ็นสัญญาร่วมกันทั้ง 2 ฝ่าย  โดยการลงทุนในครั้งนี้ ถือเป็นก้าวแรกของอมตะใน สปป.ลาว เพื่อพัฒนาโครงการอมตะ สมารท์ แอนด์ อีโค ซิตี้ ที่นาเตย ภายใต้การบริหารงานของบริษัท อมตะซิตี้ ลาว จำกัด ซึ่งอมตะถือหุ้น 100% โดยจะเริ่มดำเนินการพัฒนาภายในปี 2565 เน้นพัฒนาการลงทุนในอุตสาหกรรมที่ยั่งยืนเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ด้วยนโยบายการปล่อยของเสียเป็นศูนย์ (zero waste discharge)

บริษัท อมตะซิตี้ ลาว จำกัด มีเป้าหมายที่จะเชิญชวนโรงงานที่มีอยู่ในพื้นที่ต่าง ๆ ในนิคมอมตะไทยและเวียดนามเข้ามาลงทุนในอมตะ สมาร์ท แอนด์ อีโค ซิตี้ ที่บ้านนาเตย โดยมีกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น คลังสินค้า โลจิสติกส์ เครื่องจักร การขนส่ง ผลิตภัณฑ์ยาง พลาสติก การแปรรูปอาหารและเครื่องดื่ม เคมีภัณฑ์ ยา เป็นต้น

การพัฒนาเมืองสมาร์ทซิตี้จะนำไปสู่การเป็นเมืองคาร์บอนต่ำ (low carbon) ในระยะยาวที่เป็นเทรนด์ของโลก โดยมีอุตสาหกรรมเป้าหมายในการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ยั่งยืนเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่สอดรับกับนโยบายการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (smart city)ของอมตะ

บ้านนาเตย เป็นหมู่บ้านที่ได้รับผลกระทบจากโครงการก่อสร้างรถไฟลาว-จีน มาแล้วส่วนหนึ่ง ดังนั้น ท่านคำไหล สีปะเสิด เจ้าแขวงหลวงน้ำทา จึงเรียกร้องให้ภาคเอกชนกับทางแขวงได้ทำงานประสานกันอย่างใกล้ชิด เพื่อให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบ มีความรู้สึกโล่งอกโล่งใจ ให้ประชาชนมีส่วนร่วมและเกิดความเรียกร้องต้องการอยากได้โครงการดังกล่าวมาพัฒนาและยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น

โครงการเมืองทันสมัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นโครงการแรกที่มีการลงทุนของต่างประเทศในลักษณะแบบนี้ที่แขวงหลวงน้ำทา บทเรียนการลงทุนของต่างชาติในหลายแขวงจึงทำให้ทางแขวงหลวงน้ำทา ให้ความสำคัญกับการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารและดึงประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น

สองข้างทางรถไฟลาว-จีน ตั้งแต่บ้านบ่อเต็น แขวงหลวงน้ำทา ถึงนครหลวงเวียงจันทน์กำลังเกิดการพัฒนาและการลงทุนอย่างมากมาย โดยเขตเศรษฐกิจบ่อเต็นแดนงาม และอมตะ สมาร์ท แอนด์อีโคซิตี้ เป็นรูปธรรมของการเปลี่ยนแปลงที่ชาวลาวหลายชนเผ่าในบ่อเต็นและนาเตย เฝ้ามองด้วยความคาดหวังว่า ชีวิตความเป็นอยู่จะดีขึ้นและประเทศชาติหลุดพ้นจากความยากจน

คอลัมน์ Mekong Connect เขียนโดย ประชา บูรพาภิวัฒน์

ภาพ: เขตเศรษฐกิจพิเศษบ่อเต็นแดนงาม และสถานีโทรทัศน์หลวงน้ำทา

บทความอื่น ๆ ของผู้เขียน

‘ท่าบก-ท่านาแล้ง’ รองรับรถไฟจีน-ลาว-ไทย

สนามบินสามเหลี่ยมทองคำ เติมฝัน “เจ้าเหว่ย” มังกรลุ่มน้ำโขง

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ