TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistอย่าวิตก อาการแพ้หลังฉีดวัคซีน ... รัฐบาลเป็นประกัน

อย่าวิตก อาการแพ้หลังฉีดวัคซีน … รัฐบาลเป็นประกัน

ตอนนี้หลายคนกังวลกับข้อมูลของการฉีดวัคซีน แล้วเจอผลข้างเคียงหรือแพ้วัคซีน อาการข้างเคียงของการฉีดวัคซีน ถือเป็นอาการปกติที่สามารถเกิดขึ้นได้ ไม่ว่าจะเป็น ปวด บวม แดง คัน หรือช้ำบริเวณที่ฉีดยา อ่อนเพลีย และรู้สึกไม่สบายตัว ปวดศีรษะเล็กน้อย

อาการคล้ายมีไข้ คลื่นไส้ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อและข้อจนถึงข้างเคียงชนิดรุนแรง เช่น แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก ตัวบวม คอบวม อาเจียน หมดสติ และอื่น ๆ ซึ่งมักพบหลังจากการฉีดวัคซีนภายใน 30 นาที

ทำให้จำนวนตัวเลขผู้ฉีดดวัคซีน และผู้จองฉีดวัคซีนไม่มากเท่าที่ทางรัฐบาลวางแผนไว้ ทั้งที่รัฐบาลพยายามรณรงค์ให้เกิดการฉีดมากเท่าที่จะทำได้ เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ขึ้น ซึ่งแม้วัคซีนจะไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อโรคโควิด-19 ได้ 100% แม้ฉีดครบ 2 เข็มแล้วยังมีโอกาสที่จะติดไวรัสโควิด-19 แต่การฉีดวัคซีน การลดระดับความรุนแรงของโรค และลดอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยในโรงพยาบาล

ที่ผ่านมามีประชาชนจำนวนไม่มากที่ซื้อประกันการแพ้วัคซีนโควิด–19 โดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย หรือคปภ.เริ่มให้บริษัทประกันเริ่มขายประกันการแพ้วัคซีนโควิด-19 ตั้งแต่ 1 มี.ค.-12 เม.ย.2564 มีจำนวน 50,000 กรมธรรม์ เป็นเบี้ยประกัน 22 ล้านบาท

แต่จนถึงขณะนี้มีประชาชนบางส่วนยังคงทยอยซื้อประกันดังกล่าวแต่จำนวนน้อยมาก ทั้งที่ราคาเบี้ยประกัน ตั้งแต่ 70 บาท ถึง 1,000 กว่าบาท

ขึ้นอยู่กับบริษัทประกันแต่ละแห่ง ส่วนความคุ้มครองตั้งแต่ ค่ารักษาพยาบาลกรณีแพ้วัคซีนโควิด ค่าปลอบขวัญ ค่าชดเชยรายได้ ค่าโคม่า และค่าเสียชีวิต

ดังนั้นสำนักงานประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จึงสร้างหลักประกัน เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ประชาชนที่เข้ารับการฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 ทุกคน โดยการจ่ายเงินชดเชยสามารถจ่ายได้ภายใน 5 วัน หลังยื่นคำร้อง ใน 3 กรณี คือ

  • กรณีที่เกิดการเจ็บป่วยต่อเนื่องหลังจากรับวัคซีน จะได้รับค่าชดเชยไม่เกิน 100,000 บาท
  • กรณีที่พิการทุพพลภาพอันเนื่องมาจากผลกระทบจากการฉีดวัคซีน จะได้รับค่าชดเชยไม่เกิน 240,000 บาท
  • กรณีเสียชีวิต จะได้รับค่าชดเชยไม่เกิน 400,000 บาท

สปสช. มีเงื่อนไขว่า วัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่ได้จะรับความคุ้มครองกับผู้ฉีด ต้องเป็นวัคซีนที่ได้รับการรับรองหรือการอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เท่านั้น แปลว่า วัคซีนที่รัฐบาลประกาศใช้อย่างเป็นทางการ ไม่ว่าจะเป็นวัคซีนชนิดไหน หากฉีดแล้วแพ้ก็คุ้มครองทุกยี่ห้อ

สำหรับคนที่สนใจฉีดวัคซีนทางเลือกสถานพยาบาลเอกชน ก็จะได้รับการคุ้มครองเช่นกัน ตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับความรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าไม่ปลอดภัย (Product Liability) เพราะแม้สถานพยาบาลเอกชน จะเจรจานำวัคซีนทางเลือกยี่ห้ออื่น ที่รัฐบาลไม่ได้นำเข้ามา แต่ต้องสั่งผ่าน องค์การเภสัชกรรม(อภ.) นำเข้า และขึ้นทะเบียนรับรองโดยองค์การอาหารและยา (อย.)

ดังนั้น ขณะนี้จึงมีวัคซีนเพียง 4 ยี่ห้อ ที่ผู้ฉีดวัคซีนหากมีอาการข้างเคียงจะได้รับการคุ้มครอง คือ

  • วัคซีน CoronaVac ของ ซิโนแวค (Sinovac) ที่นำเข้าโดย องค์การเภสัชกรรม (อก.)
  • วัคซีน AZD1222 ของAstreZeneca นำเข้าโดย บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด
  • วัคซีน JNJ -78436735 ของ Johnson & Johnson นำเข้าโดย บริษัท แจนเซ่น-ซีแลก จำกัด
  • วัคซีน mRNA-1273 ของ Moderna นำเข้าโดย บริษัท ซิลลิค ฟาร์มา จำกัด

นอกจากนี้ บุคลากรทางการแพทย์ของภาครัฐและเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานรวม 270,000 ราย จะได้รับการคุ้มครอง ในวงเงินคุ้มครอง 275,410 ล้านบาท 

โดยแต่ละรายจะได้รับความคุ้มครอง 3 กรมธรรม์ ได้แก่ 

  • คุ้มครองการเสียชีวิต ระยะเวลาคุ้มครอง 2 เดือนนับตั้งแต่วันที่แจ้งรายชื่อ วงเงินคุ้มครอง 1 ล้านบาท 
  • คุ้มครองภาวะโคม่าจากโควิด-19 ระยะเวลาคุ้มครอง 6 เดือนนับตั้งแต่วันที่แจ้งรายชื่อ วงเงินคุ้มครอง 1 ล้านบาท 
  • ผลประโยชน์กรณีตรวจพบว่าติดเชื้อโควิด-19 ระยะเวลาคุ้มครอง 6 เดือน นับตั้งแต่วันที่แจ้งรายชื่อ วงเงินคุ้มครอง 10,000 บาท และกรณีเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ 10,000 บาท

โดย คปภ. ร่วมกับ สมาคมประกันวินาศภัยไทย สมาคมประกันชีวิตไทย มูลนิธิธรรมาภิบาลทางการแพทย์ มูลนิธิสิริวัฒนภักดี และ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ร่วมกันสนับสนุนค่าเบี้ย 38 ล้านบาท

แม้การฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด–19 ในประเทศไทย จะเป็นการสมัครใจฉีด ไม่ใชภาคบังคับ แต่ถ้ารักตัวเอง ครอบครัว และอยากฉีดวัคซีน อย่ารีรอมาฉีดวัคซีนกันเถอะ เพราะถ้าแพ้หลังการฉีด รัฐบาลเป็นประกันให้

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ