TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistประกันโควิด... ผู้ประกอบการเสี่ยงสูง เคลมเยอะ แต่คุ้ม

ประกันโควิด… ผู้ประกอบการเสี่ยงสูง เคลมเยอะ แต่คุ้ม

หากจำกันได้ เมื่อมีนาคม ปี พ.ศ. 2563 ประชาชนไทยมีความวิตกกังวลเรื่อง การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โควิด-19 เนื่องจากมียอดพุ่งสูงขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้มีบริษัทประกันภัยเห็นเป็นช่องทางในการขยายธุรกิจไปยังคนกลุ่มนี้ จึงขอยื่นอนุมัติกรมธรรม์ประกันโควิด-19 ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.)  แม้จะมีบริษัทประมาณ 20 แห่งที่ยื่นขอทำทำกรมธรรม์ประกันโควิด แต่ต้องยอมรับว่า บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) เป็นผู้บุกเบิกตลาดประกันโควิด-19 และมียอดกรมธรรม์จำนวนมาก

ในครั้งนั้น คนซื้อประกันโควิด-19 จำนวนมาก ด้วยราคาที่ต้องจ่ายมีให้เลือกตั้งแต่ 99 บาท –  หลายพันบาท ในขณะที่วิธีการซื้อก็สะดวก ตั้งแต่ซื้อทางโทรศัพท์มือถือ ซื้อผ่านร้านสะดวกซื้อ รวมทั้งเงื่อนไขซื้อปุ๊บคุ้มครองทันที  เจอปั๊บจ่ายตามที่สัญญา แผนที่จ่าย 100,000 บาท โดย แคมเปญ เจอ – จ่าย – จบ ของหลาย ๆ บริษัท เป็นตัวกระตุ้นให้คนที่อยากได้หลักประกัน ยอมซื้อกรมธรรม์ดังกล่าว

คปภ. มีตัวเลขจำนวนกรมธรรม์ รวมในปี 2563 ประมาณ 9.3 ล้านฉบับ โดยมียอดผู้ทำประกันเฉลี่ยต่อเดือน 100,000 ฉบับ แม้ยอดเดือนตุลาคม – ธันวาคม 2563 ยอดซื้อกรมธรรม์ ลดลงอย่างมาก เพราะสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดน้อยลงมาก เบี้ยประกันประมาณ 4,100 ล้านบาท ส่วนยอดเคลมโควิดทั้งปี 2563 อยู่ที่ประมาณเกือบ 80 ล้านบาท

ในปี พ.ศ. 2564 สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด ทำให้ผู้ที่เคยทำประกันโควิดไปแล้วเมื่อปี 2563 กรมธรรม์ที่หมดลง ส่วนใหญ่มีการต่อกรรมธรรม์ ในขณะที่คนที่ไม่ได้ทำประกันในปีที่ผ่านมา ได้เริ่มซื้อกรมธรรม์ใหม่ โดย คปภ. ในส่วนผลิตภัณฑ์ประกันโควิด-19 ให้ตัวเลขว่า เดือนมกราคม – มีนาคม ปีนี้ ปริมาณกรมธรรม์สูงขึ้นมาก ตกเฉลี่ยเดือนละ 4 แสนกว่าฉบับ เมื่อรวมทั้ง 3 เดือนจะมียอดทำประกันรวมแล้ว 1.3 ล้านฉบับ 

เฉพาะเดือนเมษายน ตัวเลขกรมธรรม์สูงเฉลี่ยวันละ 100,000-200,000 กรมธรรม์ คาดว่า มีผู้ซื้อกรมธรรม์โควิดประมาณ 10.65 ล้านกรมธรรม์ โดยตัวเลขยอดเคลมประกันโควิดในเดือนเมษายนจะสูงมากตามจำนวนผู้ติดเชื้อด้วย โดยขณะนี้มียอดเคลมรวมประมาณ 800-1,200 ล้านบาท เนื่องจากมีผู้ติดไวรัสโควิดจำนวนมาก ดังนั้นขณะนี้จึงมีการหยุดขายประกันแบบ เจอ-จ่าย-จบ และมีการปรับเงื่อนไขหลายอย่าง เช่น หลังจากซื้อกรมธรรม์ลูกค้าต้องรอเป็นเวลา 14 วันหากไม่ติดเชื้อกรมธรรม์ประกันภัยจึงจะมีผลบังคับใช้ จากเดิมที่ซื้อแล้วคุ้มครองมันที หรือ วงเงินสินไหม ที่มีจำนวนน้อยลง จากเดิมที่จ่ายตามแผนที่ซื้อ

เช่น บริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) มีกรมธรรม์ให้เลือก 3 แบบ แบบแรกเป็นเบี้ย 99 บาท ติดเชื้อรับ 20,000 บาท แผน 1 (เกินคุ้ม) เบี้ย 199 บาท คุ้มครอง 50,000 บาท และแผน 2 (สุดคุ้ม) เบี้ย 399 บาท คุ้มครอง 100,000 บาท ซึ่งปิดขายไปเมื่อวันที่ 22 เมษายน ที่ผ่านมา โดยบริษัทประกันอื่น ๆ อยู่ในระหว่างการดูสถานการณ์ ว่าจะมีการปรับแผนประกันอย่างไรบ้าง 

ด้าน ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย(คปภ.) เผยว่า ที่ผ่านมาเรื่องเคลมประกัน หากจะจ่ายได้ต้องเป็นคนไข้ในหรือ IPD นอนรักษาตัวในโรงพยาบาลเท่านั้น ไม่เคยมีโมเดลของการจ่ายกรณี แอดมิด รพ.สนาม จึงต้องออกประกาศคำสั่งปลดล็อก เพื่อให้ รพ.สนาม และ Hospitel อยู่ในข่ายที่ลูกค้าประกันสุขภาพหรือประกันโควิดสามารถเข้าไปรักษาและเบิกในฐานะคนไข้ได้เสมือนคนไข้ในรพ.

ขณะนี้เริ่มมีคนไทยบางส่วนได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว ท่ามกลางข่าวคราวของผลข้างเคียงของการฉีดวัคซีน ทำให้คนไทยบางส่วนมีความกังวลใจ ไม่อยากฉีดวัคซีน ดังนั้นบริษัทประภัยประมาณ 15 แห่ง จึงแจ้งความประสงค์ยื่นขอแบบกรมธรรม์ประกันภัยแพ้วัคซีนโควิด-19 ต่อ คปภ. และได้อนุมัติแบบกรมธรรม์ฯไปแล้ว 8 บริษัท ให้ความคุ้มครอง กรณีเสียชีวิต, โคม่า, ค่ารักษาพยาบาล, ค่าชดเชยรายวัน (กรณีนอนโรงพยาบาล), และอื่น ๆ 

ความคุ้มครอง แบ่งออกเป็น 5 แบบความคุ้มครอง แบบที่ 1 : ผลประโยชน์การเจ็บป่วยด้วยภาวะหลังจากการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19  แบบที่ 2 : ผลประโยชน์การรักษาพยาบาลในฐานะผู้ป่วยใน แบบที่ 3 : ผลประโยชน์เงินชดเชยปลอบขวัญสำหรับผู้ป่วยใน แบบที่ 4 : ผลประโยชน์เงินชดเชยรายวันจากการเป็นผู้ป่วยใน และ แบบที่ 5 : ผลประโยชน์การแพ้วัคซีนป้องกันโควิด-19

นอกจากนี้ผู้ประกอบการบริษัทประกันบางราย อยู่ระหว่างเจรจากับสถานพยาบาล เพื่อออกแผนประกันโควิดตัวใหม่ที่รับประกันเตียงสำหรับผู้ป่วยด้วย เรียกว่า ปรับแผนประกันตามสถานการณ์เฉพาะหน้าจริง ๆ

ภาพประกอบจาก pixabay

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ