TH | EN
TH | EN
spot_imgspot_imgspot_img
หน้าแรกLifeภาวะเครียดจากงานและชีวิตประจำวัน ส่งผลผู้ป่วยความดันโลหิตสูงเพิ่มต่อเนื่อง

ภาวะเครียดจากงานและชีวิตประจำวัน ส่งผลผู้ป่วยความดันโลหิตสูงเพิ่มต่อเนื่อง

สมาคมความดันโลหิตสูงแห่งประเทศไทย เผยอัตราผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปี 2566 ข้อมูลสุขภาพกระทรวงสาธารณสุขระบุ ประเทศไทยมีผู้ป่วยจากโรคความดันโลหิตสูงรายใหม่ 507,104 คน ซึ่งมีปัจจัยทั้งภาวะความเครียดสูงจากการทำงาน การดำเนินชีวิต ซึ่งเป็นภัยเงียบที่ส่งผลกระทบทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม รณรงค์วัดความดันที่บ้าน เพิ่มความใส่ใจตัวเอง เพื่อการรักษาที่เหมาะสม

รศ.พญ.วีรนุช รอบสันติสุข หัวหน้าสาขาวิชาความดันโลหิตสูง ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลและกรรมการสมาคมความดันโลหิตสูงแห่งประเทศไทย เผยผลสำรวจผู้ป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูงในประเทศไทยว่า ช่วงปี 2547 และ 2552 จะอยู่ที่ 21% ด้วยลักษณะสังคมเปลี่ยนสู่สังคมเมืองส่งผลให้เกิดความเครียดสูงขึ้น การรับประทานอาหารที่มีรสชาติเค็ม ประชาชนมีภาวะอ้วนมากขึ้น ทำให้แนวโน้มประชาชนเป็นโรคความดันโลหิตสูงเพิ่มขึ้น โดยช่วงปี 2557 เพิ่มขึ้นเป็น 25% ปี 2563 เพิ่มเป็น 25.4%

แม้ตัวเลขสถิติผู้ป่วยฯ จะเพิ่มขึ้นไม่มากแต่หากเทียบกับจำนวนประชากรไทยทั้งหมด การเพิ่มขึ้น 1% เท่ากับประชากรป่วยเป็นโรคความดันโลหิตเพิ่มขึ้นราว 100,000 คน เมื่อเปรียบเทียบกับ 20 ปีที่ผ่านมา มีคนไทยที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงถึง 10 ล้านคน และปัจจุบันมีผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้นเป็น 14 ล้านคน สะท้อนแนวโน้มผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นทุกปี

ยิ่งละเลยยอดยิ่งพุ่ง

อย่างไรก็ตาม ข้อน่ากังวลวันนี้ คือ ประชาชนขาดความตระหนักถึงความสำคัญของการวัดความดันโลหิตด้วยตนเองเป็นประจำทำให้ผู้ป่วยไม่รู้ตัวว่าป่วย จากผลสำรวจผู้ป่วยที่กล่าวมาข้างต้นจำนวน 13 ล้านคน จะมีผู้ที่รู้ตัวว่าป่วยเพียง 50% เท่านั้น และผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษามีเพียงครึ่งหนึ่งที่สามารถควบคุมค่าความดันได้ตามเป้า

หากละเลยจะทำให้ประเทศไทยมีผู้ป่วยความดันโลหิตสูงเพิ่มขึ้น ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อสังคมและเศรษฐกิจอย่างแน่นอน เนื่องจากการรักษาโรคความดันโลหิตสูงแพทย์จะนัดผู้ป่วยทุก 4-6 เดือนเพื่อรักษาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้ป่วยต้องลางานไปพบแพทย์ซึ่งอาจทำให้ธุรกิจหยุดชะงักและประชาชนมีค่าใช้จ่ายในระหว่างการรักษาทั้งค่ายา ค่าเดินทาง และอื่น ๆ เกิดภาวะเครียดจากการอาการป่วย เป็นต้น

“โรคความดันโลหิตสูงเป็นโรคที่รักษาได้ แต่ไม่หายขาด มีเพียง 5-10% เท่านั้นที่รักษาหายขาด โรคความดันโลหิตสูงแม้จะไม่แสดงอาการใด ๆ แต่หากปล่อยทิ้งไว้จะส่งผลต่อสุขภาพในระยะยาว ทำให้เกิดหลอดเลือดตีบเป็นสาเหตุให้เกิดโรคหลอดเลือดสมองตีบหรือโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต มีผลต่อหลอดเลือดหัวใจทำให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจและภาวะหัวใจวายเป็นหลักและส่งผลให้เกิดภาวะไตวาย สุดท้ายเมื่ออวัยวะต่าง ๆ ภายในร่างกายเสียหมดผู้ป่วยจะเสียชีวิต หรือกรณีผู้ป่วยอยู่ในระยะที่เกิดภาวะแทรกซ้อนการรักษาจะยากขึ้น และต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้คุณภาพชีวิตของประชากรลดลง ซึ่งปัญหาเหล่านี้จะทำให้เกิดผลกระทบต่อสังคมและเศรษฐกิจ”

นอกจากนี้ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณะสุขและสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2550-2562 ระบุว่า อัตราการเสียชีวิตของคนไทยที่เกิดจากภาวะไตวาย โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง หรือภาวะเลือดออกในสมอง มีจำนวนเพิ่มขึ้น บางสาเหตุเพิ่มขึ้นถึง 100%

สำนักงานสถิติแห่งชาติรายงานว่าสาเหตุการเสียชีวิตจากโรคความดันโลหิตสูงและภาวะเลือดออกในสมองจากประมาณ 30 รายเพิ่มขึ้นเป็น 50 ราย ต่อประชาชน 100,000 ราย ซึ่งถือเป็นการเพิ่มขึ้นที่สูง ทำให้ภาพรวมเกี่ยวกับสถานการณ์โรคความดันโลหิตสูงในประเทศไทยไม่ดีนัก

อย่างไรก็ดี สมาคมฯ ได้ทำงานเชิงรุกในภาคประชาชนโดยการทำงานร่วมกับภาคเอกชน โดยจัดทำเฟซบุ๊กเพจ ‘เพราะความดันต้องใส่ใจ #BecauseIsayso’ เพื่อให้ความรู้แก่ประชาชนที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงทำให้ประชาชนสามารถศึกษาเพิ่มเติมด้วยตัวเอง ให้สัมภาษณ์ เขียนบทความให้ความรู้แก่ประชาชน รวมถึงการจัดงานวันความดันโลหิตสูงโลก ซึ่งตรงกับวันที่ 17 พฤษภาคมของทุกปี จัดกิจกรรมเสวนาให้ความรู้แก่ประชาชนในโรงพยาบาลต่างๆ และเวทีแลกเปลี่ยนความรู้จากผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับโรคความดันโลหิตสูงในแง่มุมต่างๆ เพื่อประชาสัมพันธ์แก่ประชาชนและแพทย์ได้รับฟัง

ขอความร่วมมือส่งผลความดัน

โครงการตรวจคัดกรองความดันโลหิตสูง (May Measurement Month) สมาคมความดันโลหิตสูงแห่งประเทศไทยร่วมมือกับสมาพันธ์ความดันโลหิตโลกทำงานรณรงค์ร่วมกันทุกปีในเดือนพฤษภาคม ปีนี้เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงเดือนกรกฎาคม 2567

“สมาคม ขอความร่วมมือสำหรับผู้ที่มีเครื่องวัดความดันโลหิตอยู่ที่บ้าน หากมีความยินดีและสนใจให้ความร่วมมือกับทางสมาคม เพื่อเก็บข้อมูลความดันโลหิตนำไปใช้ในการวิจัย สามารถร่วมตอบแบบสอบถามสั้น ๆ ได้ที่นี่ และรายงานผลความดันโลหิตของตนเองหรือสมาชิกในครอบครัว จำนวน 3 ครั้ง ซึ่งหากท่านใดวัดความดันโลหิต 3 ครั้งมีค่าเฉลี่ยมากกว่าหรือเท่ากับ 140/90 มิลลิเมตรปรอท ถือว่าท่านอยู่ในเกณฑ์ความดันโลหิตสูง ขอแนะนำให้ท่านเข้ารับการรักษา ณ สถานพยาบาลที่ท่านสะดวก  นอกจากนี้ยังขอส่งมอบความรู้และคำแนะนำสำหรับผู้ที่มีแนวโน้มจะเป็นโรคความดันโลหิตสูงก็จะแนะนำเรื่องของการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและแนะนำเข้าสู่กระบวนการรักษาติดตามที่เหมาะสมต่อไป”

‘Omron’ มอบเครื่องวัดความดัน

รศ.พญ.วีรนุช รอบสันติสุข หัวหน้าสาขาวิชาความดันโลหิตสูง ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลและกรรมการสมาคมความดันโลหิตสูงแห่งประเทศไทย
ยูซุเกะ กาโตะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ออมรอน เฮลธแคร์ (ประเทศไทย) จำกัด (ซ้าย) – รศ.พญ.วีรนุช รอบสันติสุข หัวหน้าสาขาวิชาความดันโลหิตสูง ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลและกรรมการสมาคมความดันโลหิตสูงแห่งประเทศไทย (ขวา)

ยูซุเกะ กาโตะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ออมรอน เฮลธแคร์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้นำด้านผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพจากประเทศญี่ปุ่น และผลิตภัณฑ์ตรวจวัดความดันโลหิตที่บ้าน กล่าวว่า เดือนพฤษภาคมของทุกปีเป็นเดือนแห่งการวัดความดันโลหิต (May Measurement Month : MMM) ซึ่งเป็นแคมเปญตรวจคัดกรองความดันโลหิตระดับโลกที่ดำเนินการโดย International Society of Hypertension เพื่อเพิ่มความตระหนักรู้เกี่ยวกับโรคความดันโลหิตสูงด้วยการช่วยให้ผู้คนได้รับการวัดความดันโลหิตฟรี Omron จึงได้จัดทำโครงการฯ โดยได้บริจาคเครื่องวัดความดันโลหิตให้แก่สมาคมความดันโลหิตสูงแห่งประเทศไทยอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 4  เพื่อรณรงค์และช่วยให้คนไทยเข้าถึงการตรวจวัดความดันที่ถูกต้อง แม่นยำและอยากเน้นให้คนไทยได้ #วัดความดันทุกวันเพื่อรู้ทันโรคร้าย รวมทั้งเก็บข้อมูลผลการสำรวจนำมาวางแผนการดูแลสุขภาพของคนไทย

ข่าวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

วีซ่า เผย 81% ของผู้บริโภคไทย ใช้จ่ายโดยไม่พึ่งพาเงินสด Gen Z – Gen Y นำเทรนด์

ไบโอเทค จับมือ BioMed และสมาคมจุลินทรีย์ลำไส้ฮ่องกง เสริมแกร่งอุตฯ จุลินทรีย์และโพรไบโอติกส์ในไทย

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ