TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistโขนภาพยนตร์ “หนุมาน ไวท์ มังกี” จากการแสดงจารีต สู่การถ่ายทอดแบบสากล

โขนภาพยนตร์ “หนุมาน ไวท์ มังกี” จากการแสดงจารีต สู่การถ่ายทอดแบบสากล

ตั้งแต่วันที่ 5 ธันวาคม 2565 โขนภาพยนตร์ “หนุมาน ไวท์ มังกี” (Hanuman White Monkey) ที่กระทรวงวัฒนธรรมให้การสนับสนุนงบประมาณการผลิต ได้เข้าฉายในโรงหนังทั่วประเทศ 260 แห่งแล้ว นับเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมตามนโยบายส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์จากวัฒนธรรมไทย ภายใต้ยุทธศาสตร์ 5F ที่ประกอบด้วย Food, Fashion, Film, Fighting และ Festival โดยนำการแสดงแบบจารีตมาดัดแปลงและผสมผสานเข้ากับเทคโนโลยีสมัยใหม่ สร้างการเล่าเรื่องแบบภาพยนตร์ที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน จึงเป็นงานสร้างสรรค์ที่น่าสนใจว่าจะสามารถสร้างการยอมรับจากผู้ชมวงกว้างได้หรือไม่

สร้างคุณค่าใหม่จากสิ่งเก่า

“หนุมาน ไวท์ มังกี” เป็นการสร้างสรรค์ในนามโขนภาพยนตร์ ผลงานของบริษัท สหศีนิมา จำกัด ผู้จัดแสดงโขน ณ โรงมหรสพหลวงศาลาเฉลิมกรุง ร่วมกับ บริษัท ทศกัณฐ์ ฟิล์ม จำกัด ผู้เชี่ยวชาญการผลิตสื่อภาพยนตร์โฆษณาและวิดีทัศน์ นำโขนมาถ่ายทำแบบภาพยนตร์ด้วยการเล่าเรื่องที่สั้นกระชับเข้าใจง่าย แต่ยังคงการแสดงตามจารีตของโขน ที่มีทั้งการเดินเรื่องด้วยบทพากย์ บทเจรจา และบทร้อง การแต่งกายและท่ารำแบบนาฏศิลป์ไทย ผสมผสานเข้ากับเทคนิคพิเศษทางภาพยนตร์เพื่อความสมจริง และเทคนิคการสร้างภาพแบบคอมพิวเตอร์กราฟิกเพื่อให้ได้ภาพตามท้องเรื่อง โดยมีจุดเด่นที่ฉากในภาพยนตร์มีทั้งของจริงและเสมือนจริงผสมกันอย่างกลมกลืน

การนำนาฏศิลป์ชั้นสูงอย่าง “โขน” มาประยุกต์เป็นการเล่าเรื่องแบบภาพยนตร์ก็ด้วยความตั้งใจจะพัฒนาการแสดงแบบจารีตที่เป็นเอกลักษณ์ของชาติให้มีความทันสมัยสามารถเข้าถึงผู้ชมวงกว้างทั้งในประเทศและต่างประเทศ

นฤมล ล้อมทอง กรรมการผู้จัดการ บริษัท สหศีนิมา จำกัด ในฐานะผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ บอกว่าจากประสบการณ์การจัดแสดงโขนมานานเกือบ 20 ปี มีการพัฒนาเทคนิคการแสดงมาหลายครั้ง อาทิการฉายเลเซอร์ครอบคลุมภายในโรงเพื่อสร้างบรรยากาศเสมือนอยู่ใต้น้ำ หรือการใช้ภาพ mapping เป็นฉากหลังประกอบการแสดง รวมถึงเทคนิคพิเศษอื่น ๆ ทำให้เกิดความคิดว่าน่าจะทำโขนเป็นภาพยนตร์ได้

จนช่วงเกิดการระบาดของโควิด-19 ต้องหยุดแสดงโขนนาน 2 ปี จึงตัดสินใจลงมือทำภาพยนตร์ตามที่เคยคิดฝันไว้ และชวนบริษัท ทศกัณฑ์ฟิล์ม จำกัด มาร่วมงานเป็นผู้รับผิดชอบการผลิตภาพยนตร์

บทภาพยนตร์เรื่องนี้ดัดแปลงมาจากบทพระราชนิพนธ์เรื่องรามเกียรติ์ที่นิยมใช้ในการแสดงโขน ซึ่งเป็นเรื่องราวการทำศึกระหว่างพระราม (ฝ่ายธรรมะ) กับทศกัณฐ์ (ฝ่ายอธรรม) ที่ได้เค้าโครงมาจากวรรณคดีมหากาพย์เรื่อง “รามายณะ” ของอินเดีย แต่เนื้อเรื่องในภาพยนตร์เน้นเกี่ยวกับชีวิตของ “หนุมาน” พญาวานรหรือลิงขาวที่ถูกส่งมาเป็นทหารเอกของพระรามเพื่อปราบทศกัณฐ์กษัตริย์แห่งกรุงลงกา 

การตั้งชื่อภาพยนตร์ว่า White Monkey นอกจากหมายถึงหนุมานที่เป็นลิงสีขาวแล้ว ผู้สร้างยังแฝงความหมายของสีขาวแทนความดี ความสงบ และความหลุดพ้น ซึ่งในเนื้อเรื่องตัวละครเอกจะนำผู้ชมไปค้นหาคำตอบในตอนจบ

จรัญ พูลลาภ ผู้เขียนบทภาพยนตร์ ซึ่งมีประสบการณ์งานแสดงและเขียนบทโขนละครกว่า 40 ปี บอกว่าครั้งนี้จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนการสื่อสารให้เข้ากับผู้ชม นำจารีตการแสดงโขนกับธรรมชาติของภาพยนตร์มาผสมผสานกันโดยไม่ทำให้ส่วนหนึ่งส่วนใดสูญเสียตัวตนไป 

เขาได้ปรับเปลี่ยนเนื้อเรื่องให้สั้นกระชับจบในเวลา 1 ชั่วโมง 25 นาที ด้วยรูปแบบเก่าประสานกับรูปแบบใหม่ คือมีทั้งบทวรรณกรรมร้อยกรองแบบดั้งเดิม ควบคู่กับบทร้อยแก้วที่สะท้อนธรรมชาติของมนุษย์ เพื่อทำให้เข้าใจง่ายและชวนติดตาม 

งานผลิตภาพยนตร์เรื่องนี้ใช้นักแสดงมากกว่า 200 ชีวิต มีทั้งนักแสดงโขนศาลาเฉลิมกรุงและนักแสดงโขนจากสถาบันต่าง ๆ ภายใต้การดูแลของ รศ.ดร.ศุภชัย จันทร์สุวรรณ์ ศิลปินแห่งชาติผู้มีความเชี่ยวชาญการแสดงโขนและละคร ในฐานะผู้กำกับการแสดงโขนศาลาเฉลิมกรุง ร่วมด้วยครูที่ปรึกษาฝ่ายการแสดงโขนอีกหลายท่าน

ความพิเศษของงานสร้างสรรค์นี้อยู่ที่การออกแบบงานศิลป์ในภาพยนตร์ ซึ่งใช้เทคนิคการถ่ายทำแบบ blue screen และสร้างสรรค์งานภาพจากคอมพิวเตอร์กราฟิกเป็นส่วนใหญ่ ทำให้ได้ภาพที่ดูตื่นตาตื่นใจ นอกจากนี้ยังเพิ่มเติมความเป็นสากลด้วยการผสมผสานดนตรีปี่พาทย์ของไทยเข้ากับดนตรีแบบตะวันตกทั้งในสไตล์ออเคสตร้าและร็อค รวมทั้งการร้องแบบแร็ปของวัฒนธรรม Hip-Hop ควบคู่การร้องแบบดั้งเดิม

สาโรจน์ สุวัณณาคาร ผู้กำกับและร่วมเขียนบทภาพยนตร์ ให้ความเห็นว่างานอนุรักษ์สามารถปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงได้ ซึ่งงานภาพยนตร์ที่เขารับผิดชอบจะทำหน้าที่ช่วยปรุงแต่งให้คนดูเข้าใจโขนมากขึ้น ในขณะเดียวกันก็ยังคงเอกลักษณ์ของความเป็นโขนไว้อย่างครบถ้วน เพราะเป็นงานที่มีจุดมุ่งหมายในการเผยแพร่วัฒนธรรมของไทยออกไปสู่วงกว้าง

ดังนั้นความน่าสนใจของโขนภาพยนตร์จึงไม่ใช่อยู่ที่เป็นงานอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมของชาติเท่านั้น หากยังเป็นงานสร้างสรรค์จากคุณค่าดั้งเดิมให้เกิดคุณค่าใหม่ที่เหมาะกับยุคสมัยที่เปลี่ยนไปด้วย

กว่าจะเป็นโขนภาพยนตร์

โขนเป็นศิลปะการแสดงเก่าแก่ของไทย ตามหลักฐานจากจดหมายเหตุลาลูแบร์ ราชทูตฝรั่งเศสที่เดินทางมาเจริญสัมพันธไมตรีในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชแห่งกรุงศรีอยุธยา ได้กล่าวถึงการละเล่นที่เรียกว่าโขนไว้ ทำให้เชื่อได้ว่าการแสดงชนิดนี้มีมานานกว่า 300 ปีแล้ว

แรกเริ่มปรับปรุงจากการละเล่น 3 ประเภท คือ เนื้อเรื่องจากหนังใหญ่ การแต่งกายจากชักนาคดึกดำบรรพ์ ท่าเต้นและร่ายรำจากกระบี่กระบอง เวลาผ่านไปมีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงรูปแบบการแสดงอย่างต่อเนื่องเรื่อยมา จากเดิมไม่มีการสร้างฉากประกอบการแสดง นิยมเล่นกลางแจ้ง เรียกว่าโขนกลางแปลง หรือแสดงหน้าจอหนังใหญ่ เรียกว่าโขนหน้าจอ จนถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงคิดสร้างฉากประกอบการแสดงโขนบนเวทีขึ้น จึงเรียกว่าโขนฉาก

นอกจากนี้ยังมีโขนโรงนอก หรือโขนนั่งราว ที่พัฒนาจากโขนกลางแปลง จะแสดงบนโรงมีหลังคา นักแสดงนั่งกันบนราวไม้กระบอก และโขนโรงใน ที่นำรูปแบบการแสดงของละครในเข้ามาผสมผสาน แสดงกันภายในโรง ตัวพระ ตัวนาง และเทวดา เริ่มไม่สวมหัวโขนในการแสดง ซึ่งเป็นต้นแบบการแสดงโขนของกรมศิลปากรในปัจจุบัน

ในอดีตโขนเป็นมหรสพหลวงของราชสำนัก นิยมแสดงสมโภชในงานพระราชพิธีต่าง ๆ แต่ภายหลังเสื่อมความนิยมลงจนเข้าสู่ภาวะตกต่ำหลังจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เสด็จสวรรคต ในสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 โปรดให้เลิกโรงมหรสพต่าง ๆ รวมทั้งโขน และโอนงานด้านนาฏศิลป์และศิลปะให้อยู่ภายใต้สังกัดของกรมศิลปากร

ปัจจุบันการฝึกซ้อมและจัดแสดงโขนแบบดั้งเดิมไม่ได้มีเฉพาะกรมศิลปากรเท่านั้น ในช่วงกว่าสิบปีที่ผ่านมาโขนของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทำให้การแสดงประเภทนี้มีชีวิตชีวาขึ้นมาจากการฟื้นฟูงานช่างประณีตศิลป์แขนงต่าง ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการแสดงโขน ตลอดจนการพัฒนาเทคนิคของฉากและเทคนิคการแสดงอย่างไม่หยุดนิ่ง

เช่นเดียวกับโขนของโรงมหรสพหลวงศาลาเฉลิมกรุงที่มุ่งเน้นการจัดแสดงสำหรับนักท่องเที่ยวเพื่อส่งเสริมให้ศิลปะการแสดงโขนเป็นที่ประจักษ์สู่สายตาประชาคมโลกมาตั้งแต่ปี 2548 ต่อเนื่องมาจนปัจจุบัน และต่อยอดสู่การสร้างเป็นโขนภาพยนตร์ ซึ่งถือเป็นวิวัฒนาการอีกก้าวของโขนยุคใหม่ที่มีความทันสมัยเพื่อเอาใจคนรุ่นใหม่

ทั้งนี้ โขนเป็นศิลปะการแสดงที่รวมเอาศิลปะหลายแขนงไว้ด้วยกันอย่างครบถ้วน มีทั้งวรรณศิลป์ คีตศิลป์ นาฏศิลป์ และประณีตศิลป์ UNESCO จึงได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติในปี 2561

จากมรดกไทยสู่สากล

การสร้างโขนภาพยนตร์นับเป็นการนำมรดกทางวัฒนธรรมของชาติต่อยอดสู่ระดับสากล จึงสอดคล้องกับนโยบายสนับสนุนอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ที่เชื่อมโยงกับวัฒนธรรมเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจของรัฐบาล เป็นที่มาให้ได้รับการสนับสนุนเงินทุนจากกระทรวงวัฒนธรรม โดยกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ประเภทเชิงยุทธศาสตร์ ประจำปี 2563

อิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวในวันแถลงเปิดตัวภาพยนตร์ว่า โครงการนี้ทำเพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์และวีดิทัศน์ที่มุ่งใช้มิติวัฒนธรรมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศและสร้างรายได้ให้แก่ประเทศไทย รวมทั้งผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ความเป็นไทยด้วยการเผยแพร่ศิลปะการแสดงประจำชาติของไทยไปสู่สากล ตามแนวคิด “Goes Digital โลกเปิด เราปรับ ประเทศเปลี่ยน”

ตามแผนการเผยแพร่ผลงานนี้ออกสู่ตลาดต่างประเทศ ผู้สร้างจะเน้นประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก่อน เริ่มจากสปป.ลาวเป็นแห่งแรก ซึ่งน่าจะมีโอกาสประสบความสำเร็จเพราะประเทศเพื่อนบ้านส่วนใหญ่ได้รับอิทธิพลจากมหากาพย์เรื่อง “รามายณะ” ของอินเดีย และหลายประเทศมีการแสดงนาฏศิลป์ที่มีเนื้อเรื่องจากวรรณคดีดังกล่าวเช่นกัน

แต่ประเทศในภูมิภาคอื่น ๆ ผู้เขียนเห็นว่ายังมีโจทย์ยากตรงที่ผู้สร้างเน้นรักษาจารีตดั้งเดิมไว้ด้วยการเล่าเรื่องจากบทพากย์และบทร้องแบบร้อยกรอง อันเป็นรูปแบบเฉพาะที่มีในนาฏศิลป์โบราณของไทย ซึ่งอาจเป็นอุปสรรคต่อการสื่อสารกับผู้ชมที่มีพื้นฐานวัฒนธรรมแตกต่าง จนเป็นข้อจำกัดในการเข้าใจเนื้อเรื่องและส่งผลต่อการยอมรับในตัวภาพยนตร์ได้ 

การที่ผู้สร้างพยายามสอดแทรกความเป็นสากลเข้าไปแม้จะช่วยทำให้อุปสรรคข้อนี้เบาบางไปได้บ้าง แต่กระนั้นก็ไม่ง่ายนักที่จะเข้าใจได้ทั้งหมด เพราะแม้แต่คนรุ่นใหม่ของไทยเองก็ยังเผชิญกับปัญหานี้จากความไม่คุ้นเคย ซึ่งผลลัพธ์จะเป็นเช่นไรต้องรอเวลาพิสูจน์ว่าโขนภาพยนตร์จะไปได้ไกลแค่ไหน

เครดิตข้อมูลและภาพ : กระทรวงวัฒนธรรม

บทความอื่น ๆ ของผู้เขียน

รำลึกถึง “โขนพระราชทาน” กว่าทศวรรษแห่งการฟื้นศาสตร์และศิลป์ของแผ่นดิน

บันทึกครั้งหนึ่งกับปรากฏการณ์ “เมษาหน้าหนาว”

รถไฟสายล้านนาตะวันออก ฝันเป็นจริง หลังรอคอยนาน 60 ปี

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ