TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistบันทึกครั้งหนึ่งกับปรากฏการณ์ “เมษาหน้าหนาว”

บันทึกครั้งหนึ่งกับปรากฏการณ์ “เมษาหน้าหนาว”

เริ่มต้นเดือนเมษายนปีนี้มาแปลก วันที่ 1 อากาศร้อนมากตามลักษณะปกติของฤดูร้อน แต่วันที่ 2 อากาศเย็นสบายตั้งแต่เช้าจนกระทั่งเวลาเย็น ตกค่ำลมพัดแรง ยิ่งดึกอากาศยิ่งเย็นลง เช้าของวันที่ 3 อากาศเย็นเหมือนช่วงฤดูหนาว ลมพัดแรงตลอดทั้งวัน ทำให้ผู้คนพากันสงสัยว่าเกิดอะไรขึ้น “ทำไมมีอากาศหนาวในฤดูร้อน”

ย้อนไปวันที่ 31 มีนาคม 2565 ในการพยากรณ์อากาศ 7 วันข้างหน้า กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่าระหว่างวันที่ 1-2 เมษายน 2565 บริเวณความกดอากาศสูงกำลังค่อนข้างแรงจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ทำให้มีลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดนำความชื้นจากทะเลจีนใต้และอ่าวไทยเข้ามาปกคลุมบริเวณดังกล่าว เมื่อมาปะทะกับอากาศร้อนบริเวณประเทศไทย ส่งผลให้มีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้นในลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางแห่ง โดยมีฝนตกหนักบางพื้นที่

พยากรณ์อากาศช่วงวันที่ 1-2 เมษายน 2565 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะมีอุณหภูมิต่ำสุด 21-25 องศาเซลเซียสภาคเหนืออุณหภูมิต่ำสุด 21-25 องศาเซลเซียส ส่วนภาคกลาง อุณหภูมิต่ำสุด 24-27 องศาเซลเซียส และภาคตะวันออก อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส

เมื่อเข้าสู่ช่วงวันที่ 3-6 เมษายน 2565 บริเวณความกดอากาศสูงกำลังค่อนข้างแรงจากประเทศจีนยังคงแผ่ปกคลุมประเทศไทยตอนบน ส่งผลให้มีอุณหภูมิลดลงกับมีลมแรง โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนืออุณหภูมิจะลดลง 5-7 องศาเซลเซียส ส่วนภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑลอุณหภูมิจะลดลง 2-4 องศาเซลเซียส

ทำให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีอุณหภูมิต่ำสุด 18-23 องศาเซลเซียส ภาคเหนืออุณหภูมิต่ำสุด 19-22 องศาเซลเซียส ส่วนภาคกลาง อุณหภูมิต่ำสุด 21-24 องศาเซลเซียส และภาคตะวันออก อุณหภูมิต่ำสุด 20-24 องศาเซลเซียส 

ขณะที่ภาคใต้ช่วงวันที่ 1-6 เมษายน 2565 จะมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่งอาจให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก อุณหภูมิต่ำสุด 21-25 องศาเซลเซียส 

สรุปคือในสัปดาห์แรกของเดือนเมษายนจะมีความหนาวเย็นปกคลุมพื้นที่ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย

แต่หลายคนไม่เชื่อมั่นว่าสภาพอากาศที่เป็นจริงจะเหมือนที่กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ จนกระทั่งในวันที่ 3 เมษายน 2565 เกิดอากาศหนาวเย็นอย่างรวดเร็วตั้งแต่เช้าจรดค่ำ ความไม่มั่นใจต่อพยากรณ์อากาศเปลี่ยนเป็นความรู้สึกประหลาดใจของคนไทยทั่วประเทศว่าทำไมมีอากาศหนาวในเดือนที่ร้อนที่สุด ทำให้อยากรู้สาเหตุที่มาของความหนาวเย็นครั้งนี้

ความสงสัยดังกล่าวได้คำตอบเมื่อมีข้อมูลเผยแพร่ทางสื่อสังคมว่าปรากฏการณ์ที่ทำให้อุณหภูมิลดลงอย่างรวดเร็วนี้เกิดจาก “โพลาร์วอร์เท็กซ์” (Polar Vortex) ซึ่งเป็นผลกระทบมาจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก 

เช้าวันนั้นเฟซบุ๊คของ นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ สมาชิกวุฒิสภา กรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้เผยแพร่ข้อความในหัวข้อว่า “เผชิญหน้าเย็นวูบวาบ ปรากฏการณ์ Polar Vortex” โดยมีเนื้อหาบางส่วนระบุว่า

“นี่คือผลของภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง หรือ climate change ที่เกิดจากอุณหภูมิภายในขั้วโลกทั้งสอง เกิดอาการหนาวน้อยลงในบางจุด หรือบางจุดมาจากไออุ่นนอกพื้นที่เบียดรุกเข้าสู่แดนขั้วโลก น้ำแข็งขั้วโลกละลาย ทำให้กระแสลมที่เคยพัดวนทวนเข็มนาฬิกาด้วยความเร็วเฉลี่ย 50 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ที่ปกติหมุนพัดที่ความสูง 10 กิโลเมตรจากพื้นดินรอบเขตขั้วโลกมานับล้านปีเกิดสะดุด

กำแพงลมนี้เป็นเสมือนปราการธรรมชาติที่เคยขังไอเย็นไว้ในขั้วโลก บัดนี้เริ่มมีจุดที่มันยืดย้วยออกเป็นห้วงๆ เพราะไออุ่นจากมหาสมุทรและแผ่นดินทวีปบางย่านที่มากขึ้น ลอยไปกระทบกำแพงลม ทำให้ลมหมุนถูกเบี่ยงเบน อ้อมออกจากเส้นทางเดิม ๆ ทีนี้ไอเย็นก็ขยายออกตามลงมา แล้วแต่ว่ารอยยืดนั้นไปเกิดในจุดไหน พอจุดนั้นยืดย้วย ก็จะดันเอาอากาศชุดที่ติดกับมันให้ดันกันต่อไปสู่เขตอื่น แม้แต่เขตอากาศของเส้นศูนย์สูตร ความเยือกเย็นจึงถูกดันมาเป็นทอด ๆ ปรากฏการณ์นี้เรียกว่า Polar Vortex”

ในตอนท้ายเขาเน้นย้ำให้ทุกคนตระหนักว่า “แม้จะย้วยมาเพียงระยะเวลาสั้น ๆ แต่ก็ชี้ให้เราตระหนักว่า โลกใบนี้เล็กกว่าที่เราเคยรู้จัก สิ่งที่เกิดกับภาวะโลกร้อนที่ขั้วโลกเหนือ สะเทือนมาถึงเส้นศูนย์สูตรได้อย่างรวดเร็วเหมือนกัน”

“โพลาร์วอร์เท็กซ์” คือมวลอากาศเย็นที่ปกคลุมอยู่บริเวณขั้วโลกเหนือ โดยมีมวลอากาศที่อุ่นกว่าในเขตอบอุ่นล้อมรอบ บริเวณแนวปะทะระหว่างมวลอากาศเย็นกับมวลอากาศอุ่นจะเกิดกระแสลมแรงพัดจากด้านตะวันตกไปตะวันออกแบบทวนเข็มนาฬิกาที่เรียกว่า polar jet stream ทำหน้าที่เป็นปราการกันมวลอากาศเย็นไว้ในเขตขั้วโลกเหนือ ไม่ให้เลื่อนต่ำลงมาในเขตอบอุ่น ขณะเดียวกันก็กั้นมวลอากาศอุ่นรอบละติจูดกลางไม่ให้เคลื่อนเข้าสู่เขตขั้วโลกด้วย
.
แต่เมื่อใดที่ความสมดุลของระบบเปลี่ยนแปลงไป ทำให้กระแสลมอ่อนกำลังลง หรือเกิดการเปลี่ยนทิศทางลม แนวปราการกันมวลอากาศเย็นบางส่วนอาจจะเลื่อนต่ำลง จนเกิดมีการบิดเบี้ยว ทำให้มวลอากาศเย็นแผ่ลงมายังเขตละติจูดที่ต่ำกว่าได้ ดังที่เคยเกิดขึ้นเมื่อต้นเดือนมกราคม ปี พ.ศ.2557 ทำให้ผู้คนที่อาศัยอยู่ในทวีปอเมริกาเหนือต้องเผชิญทั้งกระแสลมแรงและความหนาวเย็นที่เคลื่อนลงมาจากขั้วโลก

หรือในปี พ.ศ.2562 หลายพื้นที่ในสหรัฐอเมริกาเผชิญอากาศหนาวเย็นผิดปกติ บางแห่งมีอุณหภูมิต่ำขนาด -53 องศาเซลเซียส จนต้องประกาศภาวะฉุกเฉิน และเตือนให้ประชาชนงดทำกิจกรรมกลางแจ้ง เช่นเดียวกับหลายประเทศในทวีปยุโรปที่ประสบกับพายุหิมะรุนแรง

ปรากฏการณ์นี้นักวิทยาศาสตร์บางส่วนอธิบายว่าเป็นผลกระทบต่อเนื่องมาจากภาวะโลกร้อน ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศบริเวณขั้วโลกเหนือ ส่งผลให้อุณหภูมิสูงขึ้นจนเกิดการสูญเสียแผ่นน้ำแข็งทะเล ซึ่งมีส่วนทำให้กระแสลมบริเวณขั้วโลกอ่อนกำลังลงจนมวลอากาศเย็นเลื่อนต่ำลงมา

อย่างไรก็ตาม หลังจากข้อมูลเรื่องโพลาร์วอร์เท็กซ์ถูกเผยแพร่ผ่านสื่อสังคมอย่างกว้างขวาง ในวันเดียวกันกรมอุตุนิยมวิทยาได้ออกมายืนยันว่า ความแปรปรวนของสภาพอากาศในช่วงวันที่ 1-3 เม.ย. 2565 เป็นผลมาจากอิทธิพลของความกดอากาศสูง หรือมวลอากาศเย็นกำลังค่อนข้างแรงจากประเทศจีนแผ่ลงมาปกคลุมบริเวณประเทศไทยตอนบน 

“อุณหภูมิที่ลดลงในระยะนี้จึงไม่ได้มาจากอิทธิพลของกระแสลมวนขั้วโลก (Polar Vortex) ดังกล่าวแต่อย่างใด”

โดยชี้แจงว่าประเทศไทยเริ่มเข้าสู่ฤดูร้อนเมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ.2565 ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาประกาศ โดยทั่วไปอุณหภูมิบริเวณประเทศไทยตอนบนในช่วงกลางวันอากาศจะร้อนถึงร้อนจัดในบางวัน และมักมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ซึ่งความกดอากาศสูง หรือมวลอากาศเย็นที่เคยปกคลุมในช่วงฤดูหนาวจะอ่อนกำลังลง และถอยกลับไปปกคลุมบริเวณประเทศจีน แต่ยังมีบางช่วงที่มีมวลอากาศเย็นดังกล่าวแผ่ลงมาปกคลุมได้เป็นระยะๆ ขึ้นอยู่กับความแรงของมวลอากาศ 

หากมวลอากาศเย็นมีกำลังแรงแผ่ลงมาปกคลุมถึงภาคใต้ตอนบน มักจะทำให้ประเทศไทยตอนบนมีสภาพอากาศแปรปรวน มีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นในระยะแรก ซึ่งมักเริ่มเกิดขึ้นทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือก่อน หลังจากนั้นอุณหภูมิจะลดลงและมีลมแรง ในอดีตปรากฏการณ์แบบนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้ว เช่นเมื่อวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ.2559 ทำให้มีอากาศหนาวเย็นในฤดูร้อน 2-3 วัน

ส่วนโพลาร์วอร์เท็กซ์ที่มีการกล่าวถึงนั้นจะไม่มีผลกระทบถึงประเทศไทย เพราะมีเทือกเขาหิมาลัยซึ่งเป็นเทือกเขาสูงกีดขวางกระแสลมวนที่ไหลเวียนจากทางด้านตะวันตกไปตะวันออก ทำให้ทิศทางลมของกระแสลมวนเปลี่ยนทิศทางไป โอกาสนำความหนาวเย็นจากขั้วโลกลงมาเกิดขึ้นได้ค่อนข้างยาก

เพียงชั่วข้ามคืนอากาศที่หนาวเย็นก็มลายหายไป เข้าวันที่ 4 ความร้อนเริ่มหวนกลับคืนมา แม้ไม่ร้อนอ้าวแต่ก็รู้สึกได้ว่านี่คือฤดูร้อน 

ปรากฏการณ์“เมษาหน้าหนาว” ครั้งนี้แม้เพียงช่วง 2-3 วัน แต่ก็ทำให้คนไทยได้ประสบการณ์แปลกใหม่อีกครั้งหนึ่ง ทั้งยังทำให้ได้รู้จักและตระหนักถึงความท้าทายใหม่ที่อาจเกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกที่กำลังคืบคลานเข้ามา

บทความอื่น ๆ ของผู้เขียน

รถไฟสายล้านนาตะวันออก ฝันเป็นจริง หลังรอคอยนาน 60 ปี

รำลึกตำนาน Root Beer วันที่ A&W ปิดกิจการในไทย

รถไฟฟ้ารางเบา LRT เมืองขอนแก่น ต้นแบบขนส่งสาธารณะฝีมือคนไทย

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ