TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistย้อนเวลาสู่อาณาจักรโรมัน...ตามล่าบทเรียนวิกฤติการเงินเขย่าโลก

ย้อนเวลาสู่อาณาจักรโรมัน…ตามล่าบทเรียนวิกฤติการเงินเขย่าโลก

หากคุณได้ติดตามข่าวมาบ้าง น่าจะรู้ว่าในปี 2565 ที่ผ่านมาได้เกิดความผันผวนขึ้นอย่างหนักในโลกการเงิน จนหลายคนภาวนาอยากให้วิกฤติต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นผ่านพ้นไปเสียที

การจะเข้าใจวิกฤตินั้น ในบางครั้งต้องเจาะลึกเข้าไปที่สาเหตุและข้อมูลต่างๆ มากมาย แต่ผมมีทางลัดที่สนุกและน่าสนใจกว่านั้นมานำเสนอให้คุณครับ

นักปราชญ์เคยกล่าวเอาไว้ว่า การทำความเข้าใจบทเรียนต่าง ๆ ได้ดีที่สุด คือ การเรียนรู้ผ่านเรื่องราวในประวัติศาสตร์

แต่แน่นอนว่าวิกฤติการเงินต่าง ๆ ในอดีตที่เกิดขึ้นนั้นมีมากมายหลายพันเหตุการณ์เหลือเกิน ซึ่งให้บทเรียนที่ต่างกันออกไปด้วย และเป็นบทเรียนที่มีประโยชน์ทั้งหมด

แต่ว่า…วิกฤติทางการเงินที่เคยเขย่าโลกเมื่อ 2,000 ปีที่แล้ว จะให้บทเรียนที่ล้าสมัยจนนำมาเรียนรู้ไม่ได้ในตอนนี้ไหม 

คำตอบ คือ ไม่ใช่แบบนั้นเลยครับ เพราะผมคิดว่าเรื่องราวที่ผมจะเล่าภายในวันนี้ จะให้บทเรียนที่สำคัญและยังมีความคล้ายคลึงกับสภาวะตลาดการเงินของโลกในยุคปัจจุบันอีกด้วย

วิกฤติทางการเงินนี้เกิดขึ้นในปีคริสตศักราชที่ 33 หรือประมาณ 2,000 ปีก่อนในจักรวรรดิโรมัน ช่วงรัชสมัยของจักรพรรดิทิเบริอุส

ต้องเกริ่นก่อนว่าวิกฤตินี้ไม่ได้เกิดขึ้นจากสถานการณ์ตลาดโดยปกติ แต่เกี่ยวข้องกับรัฐบาล ที่ได้เข้ามาแทรกแซงเศรษฐกิจในช่วงเวลานั้น และการบังคับใช้กฎหมายเก่า

วิกฤติทางการเงิน 2,000 ปีก่อนนี้ ได้ก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมามากมาย เช่น การเรียกคืนเงินให้กู้ก่อนกำหนด วิกฤติสินเชื่อ และ ราคาอสังหาริมทรัพย์ร่วงดิ่งสู่ก้นเหว

รู้สึกคุ้นกับข้อมูลที่ผมพูดไปเมื่อกี้ไหมครับ ปัญหาเมื่อ 2,000 ปีที่แล้ว ทำไมแทบจะไม่ต่างจากปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบันสักเท่าไรเลย

และก็เป็นเหตุการณ์นี้แหละครับ ที่ได้ถูกหยิบยกนำมาใช้เปรียบเทียบกับวิกฤติทางการเงินในยุคปัจจุบันหลายครั้ง และได้กลายเป็นบทเรียนสำคัญของโลกแห่งการเงิน การลงทุน และการบริหารเศรษฐกิจ

เรื่องราววิกฤติการเงินเขย่าโลก ที่เกิดขึ้นในอดีตเมื่อ ค.ศ. 33 ที่ผมจะนำมาเล่าในรูปแบบนิทานเพื่อความเข้าใจง่าย กับเรื่องราวที่มีชื่อว่า

“การล่มสลายทางการเงิน ของอาณาจักรโรมโบราณครับ”

ย้อนกลับไปเมื่อประมาณ 2,000 ปีก่อน จากข้อมูลตามพงศาวดารของทาสิทัส

จักรพรรดิจูเลียส ซีซาร์ได้ผ่านกฎหมายเมื่อ 49 ปีก่อนคริสตกาล ข้อกฎหมายนี้จะเกี่ยวกับการควบคุมการให้ดอกเบี้ย โดยกำหนดให้ผู้ให้กู้ยืมเงินต้องมีที่ดินทำกินในอาณาจักร

เพื่อเป็นเหมือนหลักประกันว่าผู้ให้กู้มีฐานะที่ดีในระดับนึง และเป็นการป้องกันไม่ให้เงินไหลออกจากอาณาจักร

แต่ทว่ากฎหมายข้อนี้กลับถูกเมิน และผู้คนยังคงปล่อยกู้กันอย่างอิสระโดยไม่แคร์กฎข้อนี้แต่อย่างใด

ในช่วงต้นรัชสมัยของ ออกุสตุส จักรวรรดิโรมันได้เพิ่มปริมาณเงินมหาศาล คล้ายกับการออกนโยบายอัดฉีดเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจหรือ QE ด้วยการแจกเงิน และลงทุนโครงสร้างพื้นฐานอย่างกว้างขวาง

รวมไปถึงการมอบที่ดินทำกินให้ทหารผ่านศึกเพื่อตั้งถิ่นฐาน แน่นอนว่าการ อัดฉีดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ ย่อม ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยลดลงอย่างมาก จาก 12% เหลือ 4% ต่อปีเท่านั้น

แม้ว่า…อัตราดอกเบี้ยจะลดลง แต่ผู้คนในเมืองก็อยู่กินกันอย่างสงบสุขและมีงานให้ทำ เรียกได้ว่าเป็นชีวิตดีๆ ที่ลงตัวในยุคโรมันเลยก็ว่าได้ครับ

แต่โลกนี้ไม่มีอะไรฟรี เมื่อมีขาขึ้นก็ย่อมมีขาลง และดูเหมือนว่ามันจะเริ่มกลายเป็นขาลงอย่างรวดเร็วเสียเหลือเกิน

ปัญหาเริ่มเกิดขึ้นจากการลงทุนของภาครัฐที่ลดลง และ จักรพรรดิทิเบริอุสผู้สืบทอดของออกุสตุส ก็มีนิสัยเบื่อหน่ายการเมือง ปล่อยให้ขุนนางดูแลบริหารบ้านเมืองกันเอง

รวมไปถึงการใช้จ่ายอย่างตระหนี่หวงทรัพย์ของจักรพรรดิทิเบริอุสยิ่งหนุนให้เศรษฐกิจเกิดขาลงรุนแรงมากยิ่งขึ้นครับ

ตรงส่วนนี้ผมต้องอธิบายนิดนึงครับ หากคุณเป็นผู้นำของประเทศและไม่ได้ใช้เงินในการลงทุน หรือกระตุ้นเศรษฐกิจเลย

จะทำให้ไม่มีเงินหมุนในประเทศและเศรษฐกิจจะไม่เติบโตครับ นอกจากนี้ยังทำให้เศรษฐกิจเกิดแนวโน้มย่อตัวลงด้วยครับ และการที่ผู้นำประเทศตระหนี่ขี้เหนียวย่อมไม่ส่งผลดีอย่างแน่นอนครับ

ในช่วงเวลานั้นรัฐบาลโรมันใช้งบประมาณเกินดุลอย่างมาก ดูๆ ไปแล้วเหมือนจะดีใช่ไหมครับ แต่งบที่เกินดุลกลับไม่ได้ถูกนำมาบริหารบ้านเมืองเลย ตลอดรัชสมัยของทิเบริอุสยิ่งผลทำให้เศรษฐกิจหดตัวลง

ยิ่งไปกว่านั้น ที่ซ้ำเติมสถานการณ์การเงินซบเซามากขึ้นไปอีก ทั้งเงินและทองของจักรวรรดิโรมันก็ไหลออกไปอย่างต่อเนื่อง เพื่อชำระค่านำเข้าสินค้าฟุ่มเฟือย โดยเฉพาะจากอินเดีย

นอกจากนี้ ธุรกิจขนาดใหญ่หลายแห่งได้ล้มละลาย และธนาคารก็ไม่มีเงินสดมาคืนให้กับผู้ฝาก ส่งผลให้รัฐบาลโรมันต้องเข้าแทรกแซง

ในขณะที่ชนวนสัญญาณร้ายเริ่มก่อตัวขึ้นมาเรื่อยๆ มาดูกันว่าการแก้ปัญหาของเหล่าชนชั้นปกครองในโรมันครั้งนี้จะเป็นการ ‘ดับไฟ’ หรือ ‘เติมน้ำมันเข้ากองไฟ’ กันแน่ครับ 

สภาขุนนางโรมันเริ่มเห็นวิกฤติทางการเงินก่อตัวขึ้นมาเรื่อยๆ และหากจำได้ กฎหมายที่จูเลียส ซีซาร์ได้อนุมัติ ที่กำหนดให้ผู้ปล่อยกู้ต้องมีที่ดินทำกิน

ในตอนนั้นเอง รัฐบาลโรมันมองว่า นโยบายนี้แหละคือทางออกในการแก้ปัญหา เพราะจะช่วยป้องกันไม่ให้เงินไหลออก

แต่กลับมีปัญหาหลักคือ ผู้คนในตอนนั้นกลับไม่ปฏิบัติตามกฎหมายข้อนี้สักเท่าไรนัก 

ในปี ค.ศ. 33 ศาลโรมันจึงเพิ่มความเข้มงวดของกฎหมายข้อนี้ขึ้น และเริ่มดำเนินคดีแก่ผู้คนที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายในข้อนี้ครับ

แน่นอนว่าอยู่ดีๆ การบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดย่อมเป็นเรื่องใหญ่ ถึงแม้มันจะถูกสร้างเพื่อกันไม่ให้เงินไหลออกจากกรุงโรม แต่มันกลับสร้างความตื่นตระหนกไปทั่วอาณาจักรจนเกิดความไม่สงบแบบเงียบๆ ขึ้นมา

เมื่อเรื่องนี้ได้ถูกล่วงรู้ไปถึงหูเหล่าขุนนางและจักรพรรดิทิเบริอุส จึงได้มีการหารือกันอย่างเคร่งเครียด โดยผลการหารือในครั้งนี้ได้ออกมาว่า

เหล่าขุนนางและจักรพรรดิตัดสินใจว่า จะให้ระยะเวลาผ่อนผัน 18 เดือน สำหรับผู้ให้กู้เงิน เพื่อหาที่ดินมาครอบครองตามกฎหมาย

แต่ทำไมทั้งจักรพรรดิทิเบริอุสและเหล่าขุนนาง ถึงดูเดือดร้อนกับข้อกฎหมายนี้ จากข้อมูลตามพงศาวดารของทาสิทัสได้กล่าวถึงข้อมูลในส่วนนี้ว่า

‘เป็นไปได้ว่าขุนนางทุกคนละเมิดกฎหมายข้อนี้ด้วยเช่นกัน’

ซึ่งอาจจะเป็นการให้ข้อมูลที่เกินจริงนะครับ เพราะฉะนั้นต้องหาข้อมูลเพิ่มเติมกันต่อไป

หากคิดว่าการผ่อนผันระยะเวลา 18 เดือน คงทำให้สถานการณ์นี้เบาบางลงใช่ไหมครับ แต่มันไม่ใช่แบบนั้นเลยครับ

มันเป็นเหมือนกับการค่อยๆ เติมน้ำมันเข้ากองไฟที่เพิ่งดับมอด และพร้อมจะปะทุกลับขึ้นมาได้ทุกเมื่อ

การผ่อนผันนี้ส่งผลให้ปริมาณเงินหดตัวอย่างรวดเร็วครับ เพราะผู้ปล่อยกู้จำนวนมากได้เรียกเงินคืนเร็วกว่าที่กำหนดไว้ เพื่อนำไปซื้อที่ดินให้ถูกต้องตามกฎหมายนั่นเอง

แต่คุณคิดว่าการขอเงินคืนก่อนกำหนดจะราบรื่นและสวยหรูไหมครับ แน่นอนว่าไม่มีทางเป็นไปได้ มีลูกหนี้หลายคนที่ยังไม่มีเงินจ่ายคืน หรืออาจจ่ายคืนได้บางส่วนเท่านั้น

จากการพยายามแก้ปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาลโรมัน ที่พยายามจะบรรเทาวิกฤติ โดยสั่งให้ผู้ปล่อยกู้ให้ซื้อที่ดินทำกินในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้น เพื่อป้องกันเงินไหลออก

แต่หารู้ไม่ว่า…มันกลับทำให้วิกฤติรุนแรงขึ้นอย่างทวีคูณครับ เพราะผู้ปล่อยกู้ได้ขอให้ผู้กู้คืนหนี้เร็วขึ้นกว่าเดิม

ช่วงเวลานั้นผู้กู้จำเป็นต้องขายทรัพย์สินใน ราคาที่ถูกแสนถูก หรือเรียกว่า Fire Sales เพื่อนำมาชำระหนี้คืนให้ได้ครับ

และหากไม่ได้เงินคืนจากลูกหนี้ ผู้ปล่อยกู้จะไปเอาเงินจากไหนดีล่ะ ก็แน่นอนว่าต้องเป็นธนาคารใช่ไหมครับ

แต่หากคุณยังจำได้ ธนาคารต่างๆ ในช่วงเวลานี้ได้เกิดวิกฤติไปก่อนแล้ว เนื่องจากไม่มีเงินเพียงพอมาคืนให้กับผู้ฝาก

และเหตุการณ์นี้เป็นเหมือนการเอาไม้หน้าสามไปฟาดคนที่กำลังเดินเซใกล้จะล้ม ธนาคารหลายแห่งในกรุงโรมและทั่วทั้งอาณาจักรเริ่มล่มสลายจนต้องปิดตัวลง

สินค้าต่างๆ เริ่มถูกนำมาขายกันในราคาถูกสุดๆ เพราะเงินสดเป็นที่ต้องการมาก แต่ยิ่งสินค้าราคาถูกมากแค่ไหน คนก็ยิ่งเก็บเงินสดเก็บเอาไว้กับตัว เพราะหวังจะได้ซื้อสินค้าในราคาที่ถูกลงไปอีก

ในช่วงเวลานี้ เป็นวิกฤติของแท้ที่เกิดปัญหาทับถมกันหลายประการมาก ประกอบไปด้วย

  • การจับจ่ายใช้สอยทางเศรษฐกิจเป็นอัมพาต
  • คนที่มีเงินสดก็ไม่ใช้จ่าย
  • รัฐบาลก็ลดการลงทุนลง
  • จักรพรรดิก็ขี้เกียจและไม่ยอมใช้จ่ายบริหารบ้านเมือง ให้เกิดการเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจเลยแม้แต่น้อย

เหตุการณ์ดังกล่าวนี้ ในยุคปัจจุบันว่า ‘ภาวะเงินฝืด’ เป็นภาวะที่คนไม่กล้าใช้เงินเพราะไม่มั่นใจในสภาพเศรษฐกิจในช่วงเวลานั้น

และหากไม่มีใครทำอะไรสักอย่าง คงเกิดการล่มสลายและเกิดการจราจลอย่างแน่นอน

‘และอะไรคือทางแก้วิกฤติที่เกิดขึ้นในครั้งนี้กันแน่ เพราะมองไปทางไหนก็ดูมืด 8 ด้าน ไร้แสงสว่าง แต่ผมอยากให้ทุกคนจำเอาไว้ว่า ทุกปัญหา มีทางออกเสมอครับ’ 

หากคุณเป็นนักลงทุนสาย VI ที่ลงทุนระยะยาว คงเคยได้ยินประโยคคลาสสิคว่า

“ทุกวิกฤติมักทำให้คนตกใจกลัว แต่สุดท้ายมันจะผ่านพ้นไปได้เสมอ”

วิกฤตินี้ก็มีทางออกเช่นเดียวกัน และการแก้ไขวิกฤติในครั้งนี้กลับง่ายกว่าที่คิดด้วยครับ

ทางแก้วิกฤติครั้งนี้ คือ การแก้ไขตั้งแต่ต้นเหตุครับ โดยรัฐบาลได้เข้าแทรกแซงอีกแล้ว แต่ในครั้งนี้ได้หารือร่วมกับจักรพรรดิทิเบริอุสว่าจะแก้ไขวิกฤตินี้ยังไงดี

จักรพรรดิทิเบริอุสจึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการขุนนาง 5 คน ที่สามารถปล่อยกู้แบบปลอดดอกเบี้ย ให้เจ้าของที่ดินที่ประสบปัญหาทางการเงินเป็นระยะเวลา 3 ปี หรือจะเรียกง่ายๆ ว่า รัฐปล่อยกู้ 0% 3 ปี ก็ได้ครับ

นอกจากนี้ ยังได้มีการจัดสรรเงินจำนวนกว่า 100 ล้านเซสเตอร์ ซึ่งเป็นสกุลเงินโรมันยุคโบราณ (จำนวนเงิน 100 ล้านใน 2,000 ปีก่อน) คุณคิดว่ามันจำนวนมหาศาลมากขนาดไหน แต่ผมจะไม่คำนวณเงินเฟ้อให้นะครับ

วิกฤติการเงินเขย่าโลกในครั้งนี้จึงเริ่มคลี่คลายลง และเริ่มเห็นแสงสว่างทั้ง ‘ผู้ปล่อยกู้’ และ ‘ลูกหนี้’ การปล่อยกู้เริ่มทำได้อย่างเป็นระบบมากขึ้น และช่วยลดปัญหาในอนาคตได้อย่างยอดเยี่ยม

หลังจากนั้นผู้สืบทอดตำแหน่งของทิเบริอุส อย่าง จักรพรรดิคาลิกูลา ได้เห็นความผิดพลาดจากความขี้งกของทิเบริอุส

จึงได้กลับมาใช้งบประมาณของรัฐอีกครั้งผ่านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในปี ค.ศ. 37 ก่อให้เกิดการหมุนเวียนทางการเงินของระบบเศรษฐกิจอีกครั้งนึง

และวิกฤติการเงินนี้ก็คลี่คลายลง และถูกจารึกไว้บนหน้าประวัติศาสตร์การเงินโลก จนเป็นเรื่องเกี่ยวกับการเงินที่ทุกคนควรรู้ครับ

ยังมีอีก 1 เรื่องราวสั้นๆ ซึ่งอาจเป็นวิกฤติทางการที่เกิดก่อนเหตุการณ์นี้คือเรื่องราว

“วิกฤติการขาดแคลนแร่ทำเหรียญสกุลเดนาริอุส”

เหรียญเดนาริอุสถูกสร้างมาจากแร่เงินบริสุทธ์ และอาจถูกใช้เพื่อซื้อเสบียงหรือจ่ายเงินให้ทหาร

เคยมีทีมวิจัยได้สังเกตแร่เงินบริสุทธ์ในและได้พบว่าจำนวนแร่เงินบริสุทธ์เริ่มลดลงจาก 100% เหลือ 95% 90% และบางเหรียญมีเพียง 86% เท่านั้นครับ บ่งบอกถึงวิกฤติการขาดแคลนแร่เงินที่รุนแรง

แน่นอนว่าผู้ครอบครองเหรียญเดนาริอุสไว้กับตัว ได้รู้ถึงแร่เงินที่สูญหายไป อีกทั้งยังมีเหรียญเดนาริอุสปลอมระบาด จนทำให้ความเชื่อมั่นในเหรียญนี้เริ่มลดลงไปเรื่อยๆ

แต่เหตุการณ์นี้ถูกแก้ไขได้โดยผู้นำมากความสามารถอย่าง มาร์คัสมาริอุส กราติดียนัส ที่ได้ปรับอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างเงินและทองแดงให้สมดุลและฟื้นฟูศรัทธาในเหรียญเดนาริอุสกลับมาได้อีกครั้ง

ว่าแต่ว่าทั้งสองเรื่องนี้ได้สอน และให้บทเรียนอะไรที่สามารถนำไปปรับใช้กับคุณได้บ้าง

เรื่องราวต่อไปนี้มีประโยชน์ และกลายเป็นบทเรียนสำคัญของโลกในการเข้าใจเศรษฐกิจ เพื่อมองภาพรวมและการแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นครับ

ผมได้สรุป 3 ข้อสำคัญจากเรื่องนี้ ที่มีประโยชน์ต่อตัวคุณเอาไว้ให้เรียบร้อยครับ

บทเรียนข้อที่ 1: ให้คุณจำเอาไว้เสมอว่า ทุกปัญหาและทุกวิกฤติมีทางออกเสมอ

ถึงแม้ ตอนเกิดวิกฤติหนทางมันอาจจะดูเหมือนมืดแปดด้าน ไร้ทางออก แต่สุดท้ายเมื่อเจอวิธีแก้ปัญหาวิกฤติจะถูกแก้ไขอย่างรวดเร็ว เหมือนวิกฤติการเงินเมื่อ 2,000 ปีก่อนครับ 

บทเรียนข้อที่ 2: การแก้ไขปัญหาได้ดีที่สุด คือการร่วมมือและแก้ที่ต้นเหตุ

วิกฤติการเงินในกรุงโรมโบราณ 2,000 ปีก่อน ถูกแก้ไขได้ด้วยการร่วมมือกันระหว่างจักรพรรดิทิเบริอุสและรัฐบาล ทำให้สามารถผ่านพ้นวิกฤตินี้ไปได้ครับ

รวมไปถึงการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ ที่ผู้นำต้องมีบทบาทในการรับมือและยอมแก้ไขอย่างเร่งด่วนครับ

บทเรียนข้อที่ 3: ผู้นำดี สำคัญกว่าที่คุณคิด

จากนิทานโบราณสองเรื่อง ที่ผมได้เล่าไป จะพบว่าเรื่อง ‘วิกฤติการขาดแคลนแร่ทำเหรียญ’ ได้รับการแก้ไขที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากจากความสามารถของผู้นำอย่าง กราติดียนัส

แต่ในขณะเดียวกัน ‘วิกฤติยุคทิเบริอุส’ กลับถูกแก้ไขช้าจนแทบจะเกิดการล่มสลายของเศรษฐกิจ และอาจสร้างปัญหาอื่นๆ ตามมาอีกมากมาย

แต่โชคยังดีที่สุดท้ายเกิดการร่วมมือกันจนแก้ไขได้ และได้ผู้นำคนต่อไปที่ไม่ต้องการจะทำผิดพลาดแบบทิเบริอุส โดยเลือกเส้นทางการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน

วิกฤติทางการเงินครั้งนี้ ได้รับการบันทึกโดยนักเขียนชาวโรมันหลายคน และทำให้นักเศรษฐศาสตร์ในปัจจุบันทึ่งว่า ผู้คนเมื่อ 2,000 ปีก่อน ก็มีวิธีการแก้ไขปัญหาที่ชาญฉลาดเช่นกัน

และอาจจะเป็นเรื่องราววิกฤติทางการเงินครั้งแรกของโลกอย่างเป็นทางการเลยก็ว่าได้ครับ และถูกหยิบยกมาเล่าอีกหลายครั้งเปรียบเทียบเกิดวิกฤติการเงินในปัจจุบัน

จะเห็นว่า วิกฤติต่าง ๆ ที่คล้ายกันสามารถเกิดขึ้นได้หลายครั้ง และเมื่อเกิดขึ้นย่อมสร้างความตื่นตระหนกให้กับนักลงทุนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

แต่การที่คุณได้เรียนรู้เรื่องราวในวันนี้ จะทำให้คุณเริ่มมองถึงภาพรวมความผันผวนที่เกิดขึ้นว่า ‘เป็นเพียงผลกระทบระยะสั้น’ หรือ ‘เป็นวิกฤติครั้งใหญ่’

ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า…การพาคุณท่องเวลาย้อนไปในอดีตเมื่อ 2,000 ปีก่อน จะทำให้คุณเข้าใจระบบเศรษฐกิจขึ้นบ้าง ไม่มากก็น้อยครับ

และก่อนจากกันผมขอฝากคำพูดของปู่ Warren Buffett เกี่ยวกับแนวคิดการลงทุนในช่วงวิกฤติ ไว้ดังนี้ครับ

“การมีเงินสด และความกล้าที่จะลงทุนในช่วงวิกฤติ เป็นสิ่งที่คุณประเมินค่าไม่ได้”

หมายความว่า ทุกวิกฤติมีโอกาสทองซ่อนเอาไว้เสมอ หากคุณกล้าพอ จะทำให้คุณได้รับผลตอบแทนอย่างงามจากการลงทุนในช่วงวิกฤติครับ

ผู้เขียน: ตราวุทธิ์ เหลืองสมบูรณ์ CEO Jitta Wealth

บทความอื่น ๆ ที่ของผู้เขียน

เจาะกลโกง แชร์ลูกโซ่ Bernie Madoff โคตรปีศาจแห่ง Wall Street

บทพิสูจน์กลยุทธ์ ‘จับจังหวะตลาด’ ดีจริงไหม…คุ้มค่าแค่ไหน?

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ