TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistทำความรู้จัก Mr. Market และวิธีรับมือฉบับ Benjamin Graham

ทำความรู้จัก Mr. Market และวิธีรับมือฉบับ Benjamin Graham

ในตลาดหุ้นรวมไปถึงตลาดอื่น ๆ มีความผันผวนเกิดขึ้นมาก ทำให้หลายคนอาจจะเกิดความกลัว และความกังวลในการลงทุน ขึ้นมาแต่ในวันนี้ผมจะพาทุกท่าน กลับไปเข้าคลาสเรียนการลงทุน กับบิดาแห่งการลงทุนเน้นคุณค่าอย่าง Benjamin Graham ผู้เขียน The Intelligent Investor คัมภีร์ลงทุนที่มีชื่อไทยคือ ‘คัมภีร์การลงทุนแบบเน้นคุณค่า’ รวมไปถึง เกรแฮม ยังเป็นอาจารย์ของ Warren Buffett นักลงทุนที่ประสบความสำเร็จที่สุดในโลกอีกด้วย

สิ่งที่ Graham มักจะสอนทุกคนในบทเรียนแรกของการลงทุน คือ การสอนให้นักลงทุนได้รู้จักกับคน ๆ นึงในตลาดหุ้น ซึ่งเป็นคนที่นักลงทุนทุกคนต้องเจอทุกครั้งที่เข้าไปในตลาด และมีความคุ้นเคยกับเขาเป็นอย่างดี ซึ่งเขาคนนั้นมีชื่อว่า ‘Mr. Market’ หรือ ‘นายตลาด’ นั่นเองครับ

มาถึงตรงนี้คุณอาจจะเกิดข้อสงสัยขึ้นมาแล้วใช่ไหมครับว่า Mr. Market คือใคร มีอุปนิสัยยังไง และถ้ารู้จักเขาแล้วจะทำให้การลงทุนของคุณดีขึ้นได้ยังไง ในวันนี้ผมจะมาเล่าถึงทฤษฎี Mr. Market ในตำนาน ที่ยังมีประโยชน์ และใช้ได้จนถึงทุกวันนี้

ก่อนอื่น ผมจะพาทุกท่านไปรู้จักกับเจ้าของทฤษฎีนี้กันแบบคร่าว ๆ ก่อนครับ หลายคนคงคุ้นเคย หรือได้ยินชื่อของ Benjamin Graham มาบ้างไม่มากก็น้อย เกรแฮม เป็นนักลงทุนระดับปรมาจารย์ และถูกยกย่องให้เป็น ‘บิดาแห่งการลงทุนเน้นคุณค่า’ เลยทีเดียวครับ

เกรแฮม ได้เริ่มต้นในฐานะโบรกเกอร์ตลาดหุ้น ก่อนจะเข้ามาเป็นอาจารย์สอนวิชาการลงทุนและวิเคราะห์หลักทรัพย์ ของมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ซึ่งเป็นสถานที่ ที่ปู่ Warren Buffett เลือกจะเรียนกับเขาครับ

ต้องบอกว่า เกรแฮม เป็นผู้ที่มีอิทธิพลในการเปลี่ยนรูปแบบการลงทุนเป็นอย่างมาก เกรแฮม เห็นว่าในช่วงแรกผู้คนส่วนใหญ่มัก จะลงทุนตลาดหุ้นแบบ ‘เก็งกำไร’ มากกว่า ซึ่งเขาต้องการให้นักลงทุนวิเคราะห์หลักทรัพย์ และลงทุนในหุ้นเสมือนว่าเป็น หุ้นส่วน ของธุรกิจนั้นจริงๆ

เกรแฮม ได้เขียนหนังสือร่วมกันกับ David Dodd เพื่อนของเขา โดยเล่มที่โด่งดังเล่มแรกมีชื่อว่า Security Analysis ครับ (ยังไม่มีฉบับแปลไทยออกมาในไทย) ซึ่งเป็นหนังสือที่เหมาะกับนักวิเคราะห์ ที่ทำงานในสายการเงินเป็นหลัก

ภายหลัง เกรแฮม และ ดอดด์ มีความคิดอยากจะเขียนหนังสือที่คนทั่วไปที่ไม่ใช่เฉพาะผู้ที่ทำงานสายการเงิน สามารถอ่านได้อย่างเข้าใจง่าย จนในที่สุดก็เกิดเป็นหนังสือ The Intelligent Investor ‘คัมภีร์การลงทุนแบบเน้นคุณค่า’ ขึ้นมา ซึ่งเล่มนี้ได้กลายเป็นเหมือน คัมภีร์ไบเบิล สำหรับนักลงทุนสาย VI ในทุกวันนี้ โดยมีเนื้อหาที่อ่านแล้วเข้าใจง่าย และครอบคลุมการลงทุนแบบเน้นคุณค่า รวมไปถึงทฤษฎี Mr. Market ที่ผมกำลังจะเล่าต่อไปด้วย

หนังสือ The Intelligent Investor ได้กลายเป็นหนังสือเกี่ยวกับการลงทุนที่มีอิทธิพลมากที่สุดเล่มนึงในโลกนี้ และได้รับการยกย่องโดยปู่ Warren Buffett ว่า ‘นี่คือหนังสือการลงทุนที่ดีที่สุดตลอดกาล’

Buffett และนักเรียนของ เกรแฮม มักจะบอกอยู่เสมอว่า ‘บทเรียนแรกที่เกรแฮมจะสอนนักลงทุนทุกคน คือสอนให้ทุกคนรู้จักกับ Mr.Market’ ซึ่งในวันนี้คุณจะได้รู้กันอย่างแน่นอนครับว่า Mr.Market คือใคร

ก่อนอื่นผมอยากให้ทุกท่านจินตนาการถึงตลาดหุ้นที่คุณกำลังลงทุน ให้เป็นเหมือนมนุษย์คนนึงขึ้นมา โดยเขาคนนี้มีชื่อว่า Mr. Market ครับ

Mr. Market จะทำหน้าที่เหมือนหุ้นส่วนในการลงทุนของคุณ โดยเขามีธุรกิจต่าง ๆ มากมายหลายอุตสาหกรรมมาเสนอขาย ให้กับคุณอยู่เสมอ แต่ทว่า ตัว Mr. Market เป็นคนที่มีอารมณ์แปรปรวน เป็นอย่างมากครับ จนทำให้ตัวเขาเป็นคนที่ไร้เหตุผลแบบสุด ๆ ในราคาที่เขากำลังเสนอขายให้กับคุณ เรียกได้ว่า Mr. Market มี บุคลิกภาพ 2 ขั้ว เลยก็ว่าได้

เมื่อใดก็ตามที่ Mr. Market อารมณ์ดี เขาจะมาเสนอขายหุ้นให้กับคุณในราคาที่สูงลิ่ว จนเปรียบเสมือนว่าหุ้นบริษัทนั้น จะเป็นอนาคตของเศรษฐกิจโลก และจะสร้างกำไรไปให้กับคุณตลอดกาล แต่เมื่อใดก็ตามที่ Mr. Market รู้สึกเศร้าหมอง เขาจะมาขายหุ้นให้กับคุณในราคาที่ต่ำมาก เสมือนว่าโลกจะแตก ระบบเศรษฐกิจจะพังพินาศ ทั้งที่บริษัทนั้นยังมีความสามารถในการทำกำไรและมีแนวโน้มเติบโตที่ดี

นอกจากนี้ Mr. Market ยังเป็นคนที่ตื๊อเก่งอีกด้วย เขาจะปรากฏตัวขึ้นทุกๆ วัน หรืออาจจะทุกๆ ชั่วโมง เพื่อมาเสนอขาย ธุรกิจให้กับคุณ

ข้อดีของ Mr. Market คือ เขาจะไม่ว่าหรืองอนคุณเลย ถ้าคุณไม่สนใจที่จะซื้อหุ้นในราคาที่เขาเสนอมา และเขาก็จะไม่เดือดร้อน อะไรเลยแม้แต่น้อย ในตอนที่คุณทำกำไร หรือขาดทุนจากหุ้นที่เขาขายให้กับคุณ อย่างไรก็ตาม อย่าลืมนะครับว่า Mr. Market เป็นเหมือนหุ้นส่วนของคุณ และมีโอกาสสูงมากที่อารมณ์ของ Mr. Market จะส่งผลต่ออารมณ์ส่วนตัวในการลงทุนของคุณด้วยเช่นเดียวกัน

ยกตัวอย่างเช่น เมื่อ Mr. Market อารมณ์ดีมีความสุข อาจส่งผลให้คุณอารมณ์ดีไปด้วยและอาจจะเผลอไปยอมรับข้อเสนอของ Mr. Market โดยซื้อหุ้นที่เขาขายให้คุณในราคาสูงมาก และเมื่อ Mr. Market เกิดความกลัวและเศร้าหมอง อาจส่งผลให้คุณรู้สึกกลัวไปด้วย และที่ร้ายกว่านั้นคือ คุณอาจจะยอมขายหุ้นธุรกิจที่ดีของคุณ ในราคาที่ต่ำกว่ามูลค่าคืนให้กับ Mr. Market เพราะความกลัวและความกังวล ที่เกิดขึ้นนั่นเองครับ

มาถึงตรงนี้ คุณคงพอจะเห็นภาพขึ้นมาบ้างแล้วใช่ไหมครับว่า Mr. Market คือใคร

ตัวตนที่แท้จริงของ Mr. Market คือ ‘อารมณ์ของนักลงทุนทุกคนในตลาดหุ้นรวมกัน ที่มีทั้งอารมณ์แปรปรวน ผันผวน และความไม่สมเหตุสมผลในการลงทุน’ ซึ่งอารมณ์การลงทุนที่เกิดขึ้นเหล่านี้ อาจจะรวมไปถึงตัวคุณด้วยเช่นเดียวกันครับ และนั่นทำให้เกิดเป็นตัวตนของ Mr. Market ขึ้นมา

เกรแฮม ได้กล่าวเอาไว้ว่า ‘ข้อเสนอต่างๆ ที่ Mr.Market เสนอมานั้น มักเกิดจากอารมณ์ของผู้คนส่วนใหญ่ในตลาดหุ้น ณ ช่วงเวลานั้น ไม่ใช่มูลค่าของหุ้นที่แท้จริง’

เช่นนั้นแล้ว วิธีเดียวที่จะรับมือกับข้อเสนอของ Mr. Market ได้ คือคุณต้องรู้มูลค่าที่แท้จริงของธุรกิจนั้น ซึ่งเกิดจากการวิเคราะห์ บริษัท ก่อนที่คุณจะลงทุนครับ

สิ่งที่ เกรแฮม มักย้ำเตือนกับนักลงทุนในเรื่อง Mr. Market คือ ‘จงหาทางฉวยเอาประโยชน์จาก Mr. Market และอย่าตกอยู่ภายใต้อิทธิพลและอารมณ์ของเขา จนทำให้ตัวเรากลายเป็น Mr. Market ซะเอง’ คงจะไม่ดีอย่างแน่นอน หากคุณกลายเป็น Mr. Market ที่ลงทุนแบบไม่สมเหตุสมผล หรือถูก Mr. Market ครอบงำจนขาดทุนในท้ายที่สุด

การที่คุณลงทุนในตลาดหุ้น และได้พบเจอกับ Mr. Market เป็นโอกาสในการวัดความนิ่งในจิตใจของคุณครับ หากคุณตั้งเป้าจะประสบความสำเร็จจากการลงทุนระยะยาว จิตใจของคุณต้องทนทานต่อความผันผวนที่เกิดขึ้นได้ ทั้งในระยะสั้น และในระยะยาว ซึ่งการหาความรู้เกี่ยวกับการลงทุน เช่น การอ่านหนังสือ ฟัง Passive Way Story หรือเข้าใจในสิ่งที่คุณกำลังลงทุน จะทำให้ใจของคุณนิ่งขึ้น และไม่ตื่นตระหนกเวลาที่ Mr. Market มีอารมณ์ผันผวนในระยะสั้นครับ

อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่า Mr. Market จะมีอารมณ์ผันผวนในระยะสั้น แต่ เกรแฮม ได้บอกเอาไว้ว่า ‘ในระยะยาว Mr. Market จะเป็นคนที่มีเหตุผล และรู้ถึงมูลค่าที่แท้จริงของหุ้นที่คุณกำลังลงทุนอยู่’

มาถึงตรงนี้ อยู่ที่ตัวคุณแล้วว่า คุณเลือกที่จะเป็นใครในตลาดหุ้นระหว่าง

  1. ‘เป็นส่วนนึงของ Mr. Market ที่มีอารมณ์แปรปรวนผันผวนไปตามข่าวสารที่เกิดขึ้นตลอดเวลา’ หรือ
  2. ‘เป็นคนที่หาโอกาสที่ดี จากความผันผวนของ Mr. Market ที่เกิดขึ้นครับ’

หลังจากที่คุณได้รู้จักกับ Mr. Market แล้ว สิ่งสุดท้ายที่ผมอยากจะพูดถึง คือการใช้ Margin of Safety หรือ ส่วนเผื่อความปลอดภัย ในการลงทุนครับ

การใช้ Margin of Safety ในการลงทุน คือ การที่คุณลงทุนในหุ้น ที่มีราคาต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริงของธุรกิจนั้น ซึ่งนั่นจะทำให้คุณมี ‘ความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น’ ในการลงทุน ยกตัวอย่าง เมื่อคุณต้องขึ้นลิฟต์ที่รองรับน้ำหนักได้ทั้งหมด 1,000 กิโลกรัม และในลิฟต์นั้นมีคนและสัมภาระอยู่เต็มไปหมด จนในตอนนี้ในลิฟต์น่าจะรับน้ำหนักแตะ 900 กิโลกรัม แล้ว ถึงแม้ว่า คุณจะหนักไม่ถึง 100 กิโลกรัม แต่หากขึ้นลิฟต์ในตอนนี้คุณรู้ว่ามันไม่ปลอดภัยแบบ 100% แน่นอน และนั่นคือแนวคิดการใช้ Margin of Safety ในการตัดสินใจลงทุนนั่นเองครับ

และเมื่อ Mr. Market เกิดอารมณ์เศร้าและหดหู่อย่างหนัก ทำให้เขาเทขาย ‘หุ้นดี ในราคาที่ถูก’ ให้กับคุณ จะยิ่งทำให้คุณมี Margin of Safety ในการลงทุนมากยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม การจะคาดเดาอารมณ์ของมนุษย์คนนึงตลอดเวลา เป็นเรื่องที่ทำได้ยากครับ เช่นเดียวกับอารมณ์ของ Mr. Market เพราะฉะนั้นคุณจึงไม่ควรจับจังหวะอารมณ์ ของเขามากจนเกินไป ตามที่ เกรแฮม ได้ย้ำเอาไว้ว่า ‘อย่าตกอยู่ภายใต้อารมณ์ของ Mr. Market จนกลายเป็น Mr. Market เสียเอง’

หากคุณยังลงทุนในหลักการที่ถูกต้อง มีความเชื่อมั่นในการลงทุน และมีจิตใจที่แข็งแกร่ง ทนต่อความผันผวนที่เกิดขึ้นของ Mr. Market ได้ จะทำให้คุณประสบความสำเร็จจากการลงทุนระยะยาวได้อย่างแน่นอนครับ

ทั้งหมดนี้ คือเรื่องราวของ Mr. Market ที่ผมอยากจะให้คุณได้รู้จัก ซึ่งเป็นแนวคิดของ Benjamin Graham ที่เป็นอมตะตลอดกาล และถูกหยิบมาพูดอยู่บ่อยครั้ง จากนักลงทุนทั่วโลก แน่นอนครับว่า หลายคนอาจจะบ่นและเอือมถึงความผันผวนของ Mr. Market แต่ก็มีหลายคนที่สามารถหาโอกาสสร้าง ผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้นจากความผันผวนนี้ได้เช่นเดียวกัน

สุดท้ายนี้ ผมอยากจะฝากประโยคของ Benjamin Graham ที่พูดถึง Mr. Market เอาไว้ว่า “หน้าที่ของ Mr. Market คือการเสนอราคาซื้อ-ขายหุ้นให้กับคุณ แต่หน้าที่ของคุณ คือ การตัดสินใจว่าคุณจะ ได้ประโยชน์จากการซื้อหุ้นในครั้งนี้หรือไมและจงจำไว้เสมอว่า คุณไม่จำเป็นต้องซื้อ-ขายกับ Mr. Market ถึงแม้ว่าเขาจะมาอ้อนวอนคุณอยู่บ่อยครั้งก็ตาม”

ผู้เขียน: ตราวุทธิ์ เหลืองสมบูรณ์ CEO Jitta Wealth

บทความอื่น ๆ ของผู้เขียน

ทำความรู้จัก Charlie Munger ผู้เปลี่ยนแนวคิดการลงทุนของ Warren Buffett 

เปิดไส้ในรถ EV มีอะไรให้ลงทุน ไม่พลาดโอกาสรับเมกะเทรนด์โลก

จับสัญญาณการลงทุน Warren Buffett กับปฏิบัติการณ์ช้อปหุ้น HP ของดีราคาถูกช่วงตลาดผันผวน

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ