TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnist10 “Cs” องค์ประกอบความสำเร็จ Squid Game

10 “Cs” องค์ประกอบความสำเร็จ Squid Game

กระแสความดังของ Squid Game ซีรีย์เกาหลี บนแพลตฟอร์ม Netflix ตอนนี้ไม่มีอะไรที่จะมาฉุดรั้งไว้ได้ นับได้ว่าเป็นความสำเร็จของ Netflix และเป็นความสำเร็จยิ่งใหญ่ของ Kseries เพราะเพียง 17 วันที่ออกฉาย หรือ ประมาณแค่ 2 อาทิตย์กว่า ๆ ก็มีคนเข้าชมถึง 111 ล้านคน

ซึ่งต้องบันทึกไว้ในเรคคอร์ดของ Netflix ในฐานะซีรีย์เรื่องแรกที่มีผู้ชมเกิน 100 ล้านคนภายในเวลา 28 วัน ด้วยเช่นกัน ซึ่งใน 94 ประเทศทั่วโลก ที่ Netflix ให้บริการอยู่ Squid Game ฉายอยู่สามารถทะยานขึ้นเป็นซีรีย์อันดับหนึ่งทุกประเทศ (ตามการอ้างอิงของ The Verge) แม้แต่สหรัฐฯ เอง Squid Game ก็เป็นซีรีย์ต่างชาติเรื่องแรกที่ครองใจชาวอเมริกัน 

ถอดความสำเร็จของ SQUID GAME 

เชื่อว่าคอซีรีย์เกาหลี ไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าเสน่ห์ของละคร ภาพยนตร์ หรือ เกมโชว์ของเกาหลี คือ การออกแบบบท ตัวละคร โปรดักชั่น แบบคิดมาทุกเม็ด เก็บทุกรายละเอียด โดยเฉพาะละครทุ่มทุนของ ค่ายชั้นแนวหน้า และเสน่ห์ที่สำคัญของ Kseries Kdrama ก็คือ ความเรียลของตัวละคร หรือ ธรรมชาติของมนุษย์ ไม่ใช่ตอนนอนก็ยังมีลิปสติก ขนตางอน หรือ คิดอะไรก็พูดออกมา เพื่อให้คนดูรู้ว่าคิดอะไร 

Squid Game คือ ซีรีย์ที่มีความเป็น Universal หรือ ความเป็นสากล ที่คนดูทุกชาติสามารถจะเข้าถึงได้ ทั้งในเรื่องของคอนเซปท์หลักของซีรีย์เรื่องนี้ คือ การดึงเอาด้านมืดของตัวละครออกมาจากความสิ้นหวัง การปลดพันธนาการภาระหนี้ด้วยการเดิมพันด้วยชีวิต และการทำทุกทางเพื่อให้มีชีวิตรอด ที่จริงบทของซีรีย์ก็เป็นหนึ่งในสูตรสำเร็จของละคร หรือภาพยนตร์ทั่วโลก รวมไปถึงรายละเอียดที่มีความเป็นสากลต่าง ๆ ที่สอดแทรกอยู่ในซีรีย์เรื่องนี้

แล้วความสำเร็จของ Squid Game คืออะไรมาถอดความสำเร็จผ่าน “Cs” ในแต่ละด้านกัน

CULTURE

วัฒนธรรมของเกาหลีถูกใส่เข้ามาซีรีย์เรื่องนี้ผ่านการละเล่น หรือ เกม ที่มีด้วยกันทั้งหมด 6 เกม ที่เด่นชัดที่สุด คือ เกมแรก คือ  A E I O U หยุด และเกมแกะน้ำตาล

ที่จริงแล้วทั้ง 6 เกมมีความสากล แต่ 2 เกมนี้ สอดแทรกวัฒนธรรมของเกาหลีเข้าไปอย่างชัดเจน นั่นตุ๊กตาสังหารเด็กผู้หญิงผมแกละในชุดสีส้ม ซึ่งเป็นภาพจำภาพแรกของซีรีย์เรื่องนี้ เด็กผู้หญิงคนนี้มีชื่อว่า “ยอนฮี” เป็นตัวละครอยู่ในหนังสือเรียนประถมของเกาหลีในช่วงปี 70s and 80s คู่กับเด็กผู้ชายที่ชื่อว่า “ชุลซู” ซึ่งเป็นเพื่อนรักกัน ประหนึ่ง “มานี มานะ”ของไทย โดยยอนฮีจะร้องเพลงที่ตอนนี้ติดหูไปทั่วโลก “มูกุงฮวา โกชี พีออดซึมนีดา” ซึ่งมูกุงฮวา คือ ดอกชบา ที่เป็นดอกไม้ประจำชาติของเกาหลีใต้ 

ขณะที่เกมน้ำตาลนั้น ในส่วนของขนมน้ำตาลเคี่ยวมีอยู่ในหลายประเทศทั่วโลก แต่กิมมิค หรือ เอกลักษณ์เฉพาะของเกมน้ำตาลของเกาหลี หรือ Dalgona คือการเพิ่มกลเม็ดให้เด็กๆ แกะรูปที่ประทับอยู่บนน้ำตาลแผ่น โดยไม่แตก และจะได้รับน้ำตาลแถมอีกแผ่น หรือ เป็นของรางวัลเล็ก ๆ น้อย ๆ อื่น ๆ 

ซึ่งทั้งสองเกมนี้สะท้อนวัฒนธรรมของเกาหลีได้อย่างชัดเจน เป็นการคิดและออกแบบ ตามแนวทางของการทำซีรียส์ และภาพยนตร์เกาหลีเป็นปกติอยู่แล้ว ซึ่งเป็นกลยุทธ์การส่งเสริมวัฒนธรรมผ่าน Kseries และ Kdrama ทำให้คนทั่วโลกเข้าใจวัฒนธรรมเกาหลีทีละเล็กละน้อย ผ่านอาหาร การกินอยู่ ที่ถูกสอดแทรกอยู่ในภาพยนตร์ ละคร และเพลง

ตอนนี้ทั่วโลกกำลังสนุกสนานกับการนำเกมหยุด และเกมน้ำตาล มาเล่นกัน เพราะเป็นเกมที่มีความเป็นสากล เข้าถึงง่าย

COLOR & iCON

สีสันใน Squid Game ก็ถูกออกแบบมาได้อย่างลงตัว โดยสีจะผสานกลมกลืนไปกับรูปทรงเลขาคณิต วงกลม สี่เหลี่ยม สามเหลี่ยม ที่เป็นสัญลักษณ์สอดแทรกในทุกซีน ทุกฉาก ของเรื่อง การนำสีมาใช้ ถูกเปิดด้วยการเล่มเกมกระดาษตั๊กจี

ซึ่งที่จริงเกมนี้ จริง ๆ แล้วเป็นเกมแรกสุดที่นำพาให้ชีวิตของตัวละครแต่ละตัวก้าวสู่สนามแข่งขันที่ประกอบด้วยผู้เล่น 456 คน โดยเกมกระดาษตั๊กจี ที่ใช้สีน้ำเงิน และ สีแดง พับให้เป็นสี่เหลี่ยมจตุรัส ถัดมาเป็นสีสันที่กระแทกตาและกลายเป็นภาพจำคือ ชุดสีส้มสดของตุ๊กตาสังหาร ชุดวอร์มสีเขียวของผู้เล่น ชุดแดงของกลุ่มผุ้คุม ที่จะมีสัญลักษณ์เลขาคณิต โดยสีและสัญลักษณ์นี้ จะใช้แบ่งแยกสถานะ และบทบาท ขณะที่สัญลักษณ์รูปทรงเลขาคณิต ถูกซ่อนอยู่ในทุกๆ ซีนของซีรีย์

สีที่ถูกใช้ในซีรีย์ หลัก ๆ ก็จะใช้แม่สี แดง เขียว น้ำเงิน เพื่อสร้างความจดจำให้กับผู้ชมได้อย่างง่ายและชัดเจน พร้อมทั้งมีความหมายซ่อนอยู่ในสี และสัญลักษณ์ใปในขณะเดียวกัน

ซึ่งมีภาพยนตร์หลาย ๆ เรื่องที่ใช้เรื่องของสีสร้างความโดดเด่น เช่น ภาพยนตร์ของผู้กำกับระดับตำนาน Akira Kurosawa (อาคิระ คูโรซาว่า) ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง Rashomon, Seven Samurai และ Yojimbo ซึ่ง คูโรซาว่า มีความโดดเด่นของการใช้สี และ เสียง เพื่อสร้างอารมณ์ และการรับรู้ ซึ่งในเชิงจิตวิทยา “สี” จะมีผลต่ออารมณ์และความรู้สึกของคนด้วย

ตอนท้ายผู้เล่นหมายเลข 456 ซึ่งเป็นผู้ชนะ และผู้รอดชีวิตเพียงหนึ่งเดียว เปลี่ยนสีผมเป็นสีแดง … ซึ่งดูเหมือนจะขัดใจผู้ชมหลาย ๆ คน แต่เชื่อว่าผมสีแดง เป็นความหมายที่ซ่อนอยู่ ของผู้กำกับซีรีย์ และรอว่าจะถูกเปิดในซีซั่นสอง ที่หลาย ๆ คนลุ้นให้มีการสร้างภาคต่อ หรือ จะเป็นความหมายที่ให้คนดูไปคิดเอาเอง

CHILDREN

อีกหนึ่งความสำเร็จของ Squid Game คือ ความเป็นเด็ก ทั้งการเปิดด้วยตุ๊กตาสังหาร เกมการละเล่นทั้ง 6 เกม เป็นเกมของเด็ก ๆ ซึ่งเกมเหล่านี้ เป็นสิ่งที่ทำให้คนดูย้อนรำลึกถึงเรื่องราววัยเด็ก เรื่องราวในอดีต ซึ่งนี่คือ การสร้างการมีส่วนร่วมของคนดูทั่วโลก เพราะเกมทั้ง 6 เกม เป็นเกมที่มีความเป็นสากล เข้าถึงได้ง่าย และถูกนำมาเป็นหัวข้อในการสนทนาพูดคุย 

นอกจากเกมแล้ว การเนรมิตฉากของบ้านเรือนสมัยเก่า ในเกมลูกแก้ว ก็สะท้อนถึงการหวนรำลึกถึงความทรงจำในวัยเด็ก และความทรงจำในอดีต ที่แม้จะมีเรื่องร้าย หรือดี ก็เป็นความทรงจำที่ฝังอยู่ในใจเรื่อยมา

การใช้คอนเซปต์ “ความเป็นเด็ก” สร้างความสำเร็จให้ภาพยนตร์ หรือ ละคร หลายต่อหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็น “Reply 1998” หรือแม้แต่ “แฟนฉัน” “สิ่งเล็ก ๆ ที่เรียกว่ารัก” ก็ใช้คอนเซ็ปต์นี้ เล่นกับความรู้สึกของคนดู

CAST & CHARACTER

การเลือกนักแสดง เป็นอีกหนึ่งความโดดเด่น ของซีรีย์ เพราะใช้นักแสดงเบอร์ต้น ๆ ของเกาหลี ไม่ว่าจะเป็นกง ยู (Gong Yoo) ที่เปิดฉากเล่นเกมกระดาษตั๊กจีกับ ลี จอง แจ (Lee Jung-jae) ตัวเอกของเรื่อง และมาเซอร์ไพรส์ซีนสุดท้ายกับการเปิดหน้ากากของ หัวหน้าผู้คุมกองกำลังชุดแดง อี บย็อง-ฮ็อน (Lee Byung-hun) ขณะที่การออกแบบ Character ของตัวละครแต่ละตัวก็มีความชัดเจน ทำให้นักแสดงแต่ละคนดังระเบิดทันทีที่ซีรีย์ออกสู่สายตาของคนดู โดยเฉพาะน้องจอง โฮ ยอน นักแสดงเกาหลีเหนือหน้าเก๋ที่ขณะนี้เป็นนางแบบอยู่ที่อเมริกา 

CONSTRUCTION & CREATION

ที่สร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับคนดู Squid Game ได้อีกเรื่อง คือ การออกแบบโครงสร้างในซีรีย์ ไม่ว่าจะเป็นสนามเล่นเกม ที่ออกแบบให้เหมือนกับสนามเด็กเล่น และ โรงนอน ที่เป็นเหมือนหอพักเด็กนักเรียนประจำ แต่ในสเกลที่ใหญ่ขึ้น ซึ่งฉากในแต่ละเกมที่ออกแบบอย่างอลังการ ยิ่งใหญ่ ให้ความรู้สึกเหมือนคนที่เข้าเล่นเกมเป็นหนูตัวเล็ก ๆ ที่ถูกโยนใส่ไว้ในกรงขังใหญ่ ๆ และฉากที่สร้างความจดจำได้มากที่สุดคือฉากบันไดวน ที่มีสีสันฉูดฉาด 

ทุกองค์ประกอบในซีรีย์ถูกสร้างสรรค์และออกแบบมาอย่างที่บอกไว้ตั้งแต่แรก คือ คิดทุกเม็ด เก็บทุกรายละเอียด เพื่อให้สามารถถ่ายทอดทุกความรู้สึกให้ไปถึงคนดู แต่สิ่งที่น่าพิศวง คือ เงินที่ใช้ในการสร้าง Squid Game ใช้เงินไปเพียง 21.4 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ หรือ ตอนละ 2.4 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งน้อยกว่า “Stranger Things” และ “The Crown” ที่ใช้งบประมาณตอนละ 8 ล้าน และ 10 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งถ้าหักค่าตัวนักแสดงใหญ่ในๆ เรื่องออก ค่าสร้างฉากน่าจะ Cost effective พอควร แต่ทั้งนี้ Netflix และทีมผู้สร้างไม่ได้เปิดเผยตัวเลขจริงๆ ออกมา เป็นเพียงการประเมินตัวเลขของสำนักข่าวบลูกเบิร์ก จากเอกสารที่รวบรวมมาได้

CONNECT & COPY

องค์ประกอบในการสร้าง Squid Game ถูกเชื่อมโยง และร้อยเรียงได้อย่างลงตัว และยังสามารถเชื่อมโยงให้คนดูมีส่วนร่วมไปกับซีรียส์ด้วย ทั้งการย้อนวัยเด็กในการเล่นเกมที่ค่อนข้างสากล ซึ่งเชื่อว่าทุกประเทศจะมีเกมเหล่านี้อยู่ เพียงแต่อาจจะมีรูปแบบที่ต่างออกไปบ้าง รวมถึงการลุ้นว่าตัวละครจะรอดจากเกมได้หรือไม่ การหักมุมของซีรีย์เล็ก ๆ น้อย การซ่อนบริบท และความลับของตัวละครบางอย่าง ก็สามารถดึงให้ผู้ชมมีส่วนร่วมและค่อย ๆ ตามไปจนจบ ขณะที่ยังมีปริศนาที่ยังค้างคาใจ ทำให้มีการพูดถึงและวิเคราะห์กันไปต่าง ๆ นานา เรียกว่าละครจบแล้ว แต่ความรู้สึกคนดูยังไม่จบ

ในขณะเดียวกันด้วยยุคที่ Social Media ครอบงำการใช้ชีวิตของผู้คน ก็ทำให้เกิดการก็อปปี้ หรือ นำรายละเอียดต่าง ๆ ของซีรีย์ มาถ่ายทอดในรูปแบบต่าง ๆ ยิ่งผลักให้กระแสซีรีย์ Squid Game โด่งดังเพิ่มขึ้นอีก 

ด้วยองค์ประกอบต่างๆที่ผ่านการคิดวิเคราะห์ออกแบบและกลยุทธ์ในการโปรโมทซีรีย์ซึ่งมีรายละเอียดอีกพอควรส่งผลให้ Squid Game ทะยานขึ้นเป็นซีรียส์ที่สร้างประวัติศาสตร์ให้กับ Netflix และตอกย้ำความยิ่งใหญ่ระดับโลกของ Kseries Kdrama อีกครั้ง

เครดิตภาพ: Netflix

ผู้เขียน: สุริสา ศรีกุลทรัพย์ อดีต บก.ข่าวต่างประเทศ/ข่าวเศรษฐกิจ สำนักข่าวชั้นนำของไทย (TPBS, MCOT) และต่างประเทศ (NHK)

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ