TH | EN
TH | EN
หน้าแรกBusinessม.มหิดล เผยผู้บริโภคไทยคนรุ่นใหม่ ยืนหนึ่งปลื้ม "การอวดแบบถ่อมตน"

ม.มหิดล เผยผู้บริโภคไทยคนรุ่นใหม่ ยืนหนึ่งปลื้ม “การอวดแบบถ่อมตน”

เมื่อโลกโซเชียลมีเดียกลายเป็นช่องทางและเครื่องมือทางการตลาดที่มีอิทธิพลและเข้าถึงผู้บริโภคในสังคมไทยมากขึ้นเรื่อย ๆ งานนี้ วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล หรือ ซีเอ็มเอ็มยู (CMMU) จึงไม่พลาดที่จะเปิดเผยผลการศึกษาทิศทางแนวโน้ม หรือ เทรนด์การตลาดมาแรงรับปีใหม่อย่างปี 2565 โดยพบว่า “การอวด” ถือเป็นคำสำคัญสำหรับนักการตลาดในการต่อยอดทางธุรกิจ และส่งเสริมแบรนด์ให้โดดเด่น-โดนใจผู้บริโภค จนส่งผลต่อพฤติการการซื้อและยอดขายให้ได้ตามเป้าที่ตั้งกันไว้ 

ผศ. ดร.บุญยิ่ง คงอาชาภัทร หัวหน้าสาขาวิชาการตลาด วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) กล่าวว่า ผลการศึกษาครั้งนี้เกิดจากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างประชากรศาสตร์และวิเคราะห์ข้อมูลงานวิจัยของนักศึกษาปริญญาโทของ CMMU ในหัวข้อเรื่อง “BRAGGER MARKETING รู้ก่อนใครได้ใจคนชอบอวด” เพื่อศึกษาทัศนคติและตัวแปรสำคัญที่อิทธิพลต่อพฤติกรรมการอวดของผู้บริโภค และในภาคธุรกิจจะทำอย่างไรให้ผู้บริโภคสนใจสินค้าและบริการของตน กระทั่งต้องการที่จะแสดงความคิดเห็นเชิงบวก ตลอดจนจะสามารถเปลี่ยนแปลงให้เข้ากับผู้บริโภค เพื่อหากลยุทธ์ที่สามารถรองรับหรือสร้างโอกาสทางธุรกิจให้อยู่รอดต่อไปในโลกยุคเศรษฐกิจดิจิทัล 

ทั้งนี้ ในการสัมมนาออนไลน์ ทีมนักวิจัยได้อธิบายถึงพฤติกรรมการ “อวด” ว่าเป็นการย่อมาจาก 3 ตัวอักษรที่ใช้สะกดคำว่า “อวด” โดย “อ” สื่อถึงอำนาจ, “ว” สื่อถึงการวัดสถานะ และ “ด” หมายถึง ดูดี

ดังนั้น การอวดจึงเป็นพฤติกรรมที่แสดงถึงอำนาจ เป็นตัววัดสถานะ และทำให้ผู้อวดดูดีและได้รับความสนใจ ซึ่งตัวอย่างของพฤติกรรมการอวดที่กลายเป็นกระแสไวรัลในช่วงปีที่ผ่านมา เช่น การรีวีวกล่องสุ่มพิมรี่พาย หรือ กิจกรรม Falling Stars Challenge เทรนด์ล้มอวดรวย กระแส #ของมันต้องมี

แม้ว่าพฤติกรรมการอวดจะให้ความรู้สึกเชิงลบ แต่จากการเจาะสำรวจกลุ่มเป้าหมายรวม 810 คน แบ่งเป็นการสอบถามออนไลน์ 750 คน และสัมภาษณ์เชิงบลึกกลุ่มตัวอย่าง 60 คน ครอบคลุมเพศชาย, หญิง และ LGBTQ+ และทุกช่วงวัยคือ ยุค เบบี้บูมเมอร์, เจน X, เจน Y และเจน Z พบว่า โซเชียลมีเดียทำให้พฤติกรรมการอวดเป็นที่ยอมรับในเชิงบวกมากขึ้น และสามารถแบ่งการอวดได้ออกเป็น 2 ประเภทหลัก ๆ คือ 1) การอวดแบบเปิดเผย (BRAGGER) มีลักษณะอวดแบบให้โลกรู้ว่าเราอวด และ 2) การอวดแบบถ่อมตน (HUMBLE BRAGGER) มีลักษณะอวดให้คนอื่นคิดว่าตนเองไม่ได้อวด ซึ่งสำหรับคนไทยส่วนใหญ่ชอบการอวดแบบถ่อมตนมากกว่าการอวดแบบเปิดเผย

แม้ว่าคนไทยส่วนมากมีนิสัยขี้เกรงใจคนอื่น แต่ภายในจิตใจลึก ๆ มี “แรงขับเคลื่อน” บางอย่างที่ทำให้เกิดการอวดได้เช่นกัน ซึ่งมีส่วนมาจากบุคลิกภาพ 2 แบบ คือ 1. ผู้ที่ชอบแสดงตัวตน (Self-Presentation) ผู้ที่พยายามนำเสนอตนเอง มีการกำหนดควบคุมวิธีให้ผู้อื่นเห็นแล้วเกิดความประทับใจ และ 2. ผู้ที่มีความมั่นใจในตัวเอง (Self Esteem) ผู้ที่เคารพและเห็นคุณค่าในตนเอง มั่นใจ เชื่อมั่นในสิ่งที่ตนเองทำ จึงมักตั้งโพสต์แบบสาธารณะ แสดงให้ผู้อื่นเห็นว่าสิ่งที่ตนทำนั้นเป็นสิ่งที่ดี น่าชื่นชม โดยไม่คิดเล็กคิดน้อย” ทีมนักวิจัยสรุป 

อย่างไรก็ตาม พฤติกรรมการอวดก็ยังขึ้นอยู่กับว่าตัวบุคคลที่อวดนั้นอยู่สถานะอะไร โดยงานวิจัยอธิบายว่า ถ้าผู้พูดเป็นผู้มีประสบการณ์ เช่น เซเลบ คนดัง อินฟลูเอนเซอร์ ผู้บริโภคชอบให้คนกลุ่มนี้รีวิวแนะนำสินค้าและบริการ ด้วยวิธีการอวดแบบถ่อมตน ซึ่งช่วยให้สินค้าและบริการ ได้ผลตอบรับดีถึง 70.5% แต่หากเป็นบุคคลธรรมดาทั่วไป ผู้บริโภคมักชอบวิธีการอวดแบบจริงจัง โดยจะช่วยให้บริการได้ผลตอบรับดี 51.2% 

ขณะเดียวกัน งานวิจัยยังพบอีกว่า ไม่ใช่ทุกคอนเทนต์ที่จะเหมาะกับการทำการตลาดแบบคนสายอวด โดยผลการวิจัยได้ให้ข้อแนะนำแก่นักการตลาด เจ้าของกิจการ นักสร้างแบรนด์ และผู้ที่ต้องการเป็นอินฟลูเอนเซอร์หน้าใหม่ ที่สนใจใช้กลวิธีและรูปแบบการสื่อสารผ่านการอวดว่า คอนเทนต์แรกที่ผู้บริโภคชอบเสพแบบคนชอบอวด คือ 1) แบรนด์เนม 2) บริการ และ 3) ไลฟ์สไตล์ชีวิตประจำวัน 

นอกจากนี้ สิ่งที่คนชอบโพสต์และแชร์มากที่สุด 3 อันดับแรก คือ ท่องเที่ยว 33% ของกินของใช้ 25.5 % และร้านอาหาร ร้านกาแฟ 19.2%

ในส่วนของการศึกษาการอวดในสไตล์ที่คนไทยชอบด้วยการเปรียบเทียบการบอกเล่าเกี่ยวกับการบริการและสินค้า พบว่า ผู้บริโภคชอบการบอกเล่าเกี่ยวกับการบริการ ในลักษณะอวดแบบจริงจัง 51.2% มากกว่าการอวดแบบถ่อมตน 48.8% ขณะที่การบอกเล่าเกี่ยวกับสินค้า หากเป็นการอวดแบบจริงจัง เช่น ถ่ายรูปสินค้าแบรนด์เนมเห็นโลโก้ชัดเจน ผู้บริโภคมีผลตอบรับ 29.5% น้อยกว่าการอวดแบบถ่อมตนที่มากถึง 70.5% เช่น ถ่ายรูปแก้วกาแฟโพสต์ลงอินสตาแกรม โดยมีกระเป๋าแบรนด์เนมวางด้านข้างดูไม่ตั้งใจ อีกทั้ง การอวดยังนำไปสู่การรีวิวหรือการแชร์บนโลกออนไลน์ ในรูปแบบ E-WOM หรือบอกปากต่อปาก ซึ่งมีอิทธิพลทสามารถกระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมการซื้อ (Purchase Intention) โดยผู้มีรายได้มากกว่า 100,000 บาท มีแนวโน้มที่จะมีพฤติกรรมการซื้อตามมากกว่าระดับรายได้อื่นๆ

สำหรับภาพรวมของผลการวิจัยอื่น ๆ ที่น่าสนใจ พบว่า กลุ่ม  LGBTQ+ มีแนวโน้มที่จะอวดมากกว่าเพศอื่น ๆ และกลุ่มเจน Z มีแนวโน้มที่จะอวดมากกว่าเจนอื่น ๆ  เนื่องจากเกิดมาในยุคที่มีอินเทอร์เน็ตและเทคโนโลยี ดังนั้นจึงมีความชำนาญในการเข้าถึงเทคโนโลยีได้มากกว่า และยังมีพฤติกรรมในการเข้าสังคมผ่านโซเชียลมีเดีย เว็บไซต์ มากกว่าเจนอื่น 

ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อวัดกันที่ระดับรายได้ งานวิจัยยังพบว่า กลุ่มคนที่มีรายได้ระหว่าง 15,000 – 25,000 บาท มีแนวโน้มที่จะอวดมากกว่าระดับรายได้อื่น ๆ เพราะต้องการแสดงให้เห็นความพยายามในการเก็บเงินซื้อของตนเอง และผู้ที่ชอบแสดงตัวตน (Self-Presentation) มีแนวโน้มที่จะอวดมากกว่า เพราะอยาก “โชว์” ให้คนเห็น อยากเป็นจุดสนใจ 

ขณะที่ ช่องทางที่คนนิยมใช้ในการอวดมากที่สุด คือ อินสตาแกรม (Instagram) เพราะนิยมใช้โพสต์เกี่ยวกับไลฟ์สไตล์ เช่น วันนี้ไปกินข้าวที่ไหน กินกาแฟที่ไหน แต่งตัวอย่างไร ร้านอาหารที่ชอบคือร้านใด และอินสตาแกรมเป็นแพลตฟอร์มใช้งานง่าย ตัวหนังสือไม่มาก มีหลายรูปแบบให้ใช้งาน สามารถโพสต์รูปภาพ วิดีโอ ในระยะเวลาสั้นๆ 24 ชั่วโมง อย่าง IG Story ได้

ด้าน อัจฉรา รุจิระพงค์ นักศึกษาปริญญาโท วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) หัวหน้าทีมนักวิจัย กล่าวว่า การทำการตลาดด้วยกลยุทธ์คนชอบอวดแบ่งเป็น 3 ขั้นตอนหลัก ๆ คือ1) Awarenss ซึ่งหมายถึงการเลือกใช้อินฟลูเอนเซอร์, KOL (Key Opinion Leader) 2) Engagement แนวคิดการมีส่วนร่วมให้น่าจดจำ น่าถ่ายรูป เช่น การทำกิจกรรมตามกระแสหรือสอดคล้องกับเทศกาลต่าง ๆ และ 3) Loyalty การสร้างความภักดีด้วยการมอบของขวัญพิเศษ สำหรับลูกค้าคนสำคัญ เพื่อกระตุ้นให้เกิด e-WOM (e- Word Of Mouth) พร้อมมอบสิทธิพิเศษสำหรับกลุ่มลูกค้าพรีเมียมที่จะได้รับการบริการเป็นพิเศษกว่าบุคคลทั่วไป

ทั้งนี้ ทีมนักวิจัยยังได้คิดค้น “กลยุทธ์การตลาดคนขี้อวด” หรือ “BRAG STRATEGY” เพื่อสร้างโอกาสให้แก่การทำธุรกิจในปี 2565 เพื่อให้บรรดานักการตลาด เจ้าของกิจการ และอินฟลูเอนเซอร์ ใช้เป็นแนวทางในการทำการตลาดให้โดนใจผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมาย โดยถ้าเป็นสินค้าแบรนด์เนม (Brandname) ต้องให้เหตุผลที่บริโภคต้องอวดสินค้าแบรนด์ของตน เช่น ราคาสูงบอกสถานะได้ หรือมีแรงจูงใจในการที่จะให้อวด เช่น มีของขวัญพิเศษมอบให้ 

ในกรณีที่เป็นร้านอาหาร (Restaurant) การตกแต่งร้านใสวยงามน่าถ่ายรูปและแชร์ลงโซเชียลมีเดียถือเป็นหัวใจสำคัญของการตลาดแบบคนชอบอวด ควบคู่ไปกับเมนูอาหารที่อร่อย หน้าตาดี เป็นร้านที่ต้องจอง เข้าถึงไม่ได้ง่าย ๆ ได้รับการรับรองจากสถาบันที่มีชื่อเสียง และต้องรักษษมาตรฐานให้อยู่ในระดับที่สูงอยู่เสมอ ขณะเดียวกันต้องระวังหรือการโปรโมทด้วยการกดไลก์หรือแชร์เพจ เพื่อแลกรับส่วนลด เพราะผลการวิจัยพบว่าการกระทำดังกล่าวไม่สามารถดึงลูกค้าให้อยู่กับสินค้าหรือบริการหนึ่ง ๆ ได้ตลอด 

สำหรับที่พักหรือโรงแรม (Accommodation) นอกจากโลเคชั่นและการตกแต่งที่สวนแล้ว ความประทับใจจากการบริการคืออีกหนึ่งกุญแจสำคัญที่ช่วยให้ผู้บริโภคอยาก อวด-รีวิว-แชร์ โดยกลยุทธ์ที่แนะนำธุรกิจที่พักอาศัยหรือธุรกิจโรงแรม คือต้องมีมีจุดถ่ายรูปตามธีมเทศกาลต่าง ๆ จัดกิจกรรมตามสิ่งที่กำลังเป็นกระแส มอบสิทธิพิเศษสำหรับกลุ่มลูกค้าพรีเมียมที่จะได้รับการบริการเป็นพิเศษกว่าบุคคลทั่วไป และต้องให้ความสำคัญกับรีวิวใน Travel Booking Platform

ขณะเดียวกัน อีกหนึ่งสถานที่ที่สามารถทำการตลาดแบบคนชอบอวดได้ คือ ยิม (Gym) เพราะเป็นการอวดรูปร่างที่ดีจากความพยายามของตนเอง ทำให้ตัวเองมีสไตล์หรือมีเอกลักษณ์ที่โดดเด่นด้วยรูปร่างที่ดี ที่ได้มาจากความพยายามของตนเอง โดยตัวอย่างธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ เช่น ฟิตเนสเฟิร์ส (Fitness First) โค้ชคลั่ง หรือคนดังอย่าง ยิปซี กีรติ, เบเบ้ ธันย์ชนก ซึ่งเจ้าของธุรกิจในกลุ่มนี้ต้องคอยติดตามกระแสที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจอยู่เสมอ และมีส่วนร่วมกับกระแสให้ทันอยู่ตลอดเวลา หาทางสร้างเทรนด์การออกกำลังกาย หรือการปั้นหุ่นในฝัน โดยทางฟิตเนสอาจสร้างชาเลนจ์เพื่อให้เกิดกระแสไวรัล (Viral) ในโซเชียลมีเดีย แต่ต้องไม่ตั้งเป้าให้ยากเกินไป เนื่องจากคนคนมักจะไม่อยากเข้าร่วมกิจกรรม ถ้ามีโอกาสสำเร็จน้อย

อย่างไรก็ตาม อัจฉรา เตือนว่า สิ่งที่ผู้บริโภคคนไทยไม่ต้องการอวดเช่นกัน คือ กิจกรรมตามกระแส เนื่องจากมีความรู้สึกว่าตนเองตกจะเป็นเหยื่อการตลาด และเมื่อกิจกรรมตามกระแสเกิดจำนวนมากก็ทำให้ผู้บริโภครู้สึกเหนื่อยที่จะตามในทุก ๆ กิจกรรม รวมถึงบางกิจกรรมก็ไม่ใช่สิ่งที่สนใจมากพอ 

ขณะที่ ทีมอินฟลูเอนเซอร์ อย่าง ภัทรพงศ์ วงค์เที่ยง เจ้าของเพจ Phaztter, พรนภา โอภานนท์ เจ้าของเพจ รีวิว มนุษย์ผิวแห้ง และ ชวมณฑ์ ปวโรดม ดีไซเนอร์เจ้าของแบรนด์ “สุวิมล” ได้ให้คำแนะนำสำหรับผู้ที่สนใจอยากก้าวเข้าสู่วงการในฐานะอินฟลูเอนเซอร์ นักรีวิว หรือเจ้าของแบรนด์ ให้คำแนะนำว่า ต้องเริ่มจากสิ่งที่ตัวเองสนใจอย่างจริงจัง โดยอาจจะเป็นปัญหาที่ตนเองต้องประสบพบเจอในชีวิตประจำวัน และแนวทางแก้ปัญหาของตนเอง หรือเป็น Passion หรือ ความชอบ ซึ่งในช่วงแรกที่ทำอย่าคาดหวังถึงผลความสำเร็จใด ๆ เน้นที่ความสม่ำเสมอ และกุญแจที่สำคัญที่สุดที่ขาดไม่ได้สำหรับอาชีพนี้ก็คือความซื่อสัตย์ ซื่อตรงกับกลุ่มผู้ติดตามของตนเอง

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

ม.มหิดล ค้นพบวิธีใหม่ ระบุอัตลักษณ์ “เจ้าทุย” โดยใช้ AI จดจำและจำแนก “ลายจมูก” ครั้งแรก

Mortality …. มะเร็งระยะสุดท้ายแบบไม่เสียน้ำตา

เชลล์ จับมือ ปอร์เช่ ขยายเครือข่ายสถานีชาร์จรถยนต์พลังงานไฟฟ้าสู่ประเทศไทย

มิตซูบิชิ หนุนไทยสู่สังคมคาร์บอน สมดุล ติดตั้งแผงโซลาร์ให้ 40 โรงพยาบาลใน 10 ปี

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ