TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistBook ReviewMortality .... มะเร็งระยะสุดท้ายแบบไม่เสียน้ำตา

Mortality …. มะเร็งระยะสุดท้ายแบบไม่เสียน้ำตา

มะเร็งคือโรคร้ายที่คร่าชีวิตคนทั่วโลกปีละเกือบสิบล้านคนทั่วโลก ในขณะที่มีเคสใหม่เพิ่มปีละเกือบยี่สิบล้านคน เท่ากับว่าทุกวันกว่าสองหมื่นคนทั่วโลกต้องเสียชีวิตจากโรคมะเร็ง 

การตายด้วยโรคมะเร็ง คือการที่ต้องทนกับอาการเจ็บป่วยก่อนตาย บางคนเป็นเดือน บางคนเป็นปี ๆ และมีไม่กี่คนที่สามารถอธิบายอาการตัวเองออกมาแบบไม่ปิดบังเพื่อให้ผู้ป่วยคนอื่นและญาติของพวกเขาเตรียมตัวรับมือกับอาการป่วยได้อย่างมีสติ 

มีหนังสือสองเล่มที่ผู้ป่วยเขียนด้วยตัวเองและอยากแนะนำ คือ Mortality ของ Christopher Hitchens (แบบไม่เสียน้ำตา) และ When Breath Becomes Air ของ Paul Kalanithi

ในบทความชิ้นนี้จะรีวิวเล่มแรกก่อนค่ะ

Mortality เหมาะมากกับคนที่อยากอ่านเรื่องเกี่ยวกับอาการของคนป่วยด้วยโรคมะเร็งระยะสุดท้ายแบบไม่ต้องเสียน้ำตา ทุกอย่างที่ Hitchens เขียนเกี่ยวกับอาการป่วยและความเจ็บปวด มันคือข้อเท็จจริงที่ติดการเสียดสีแต่ไม่ได้เรียกน้ำตา

Hitchens เป็นนักเขียนที่มีชื่อเสียง เป็นที่รู้กันว่านักเขียนชาวอังกฤษที่ไปใช้ชีวิตที่สหรัฐคนนี้ปากกล้า ชอบถกเถียงในเรื่องต่าง ๆ ความเป็นเขาสะท้อนอยู่ในทุกหน้าของหนังสือเล่มนี้ ที่เขาเขียนหลังจากรู้ตัวว่าเป็นมะเร็งหลอดอาหารระยะสุดท้าย เมื่อปี 2553 

หนังสือเล่มนี้รวมบทความ 7 ตอนที่ได้รับการตีพิมพ์ทีละบทในนิตยสาร Vanity Fair ที่เขาเป็นคอลัมนิสต์ประจำ ที่ที่เขาเขียนให้ได้ทุกอย่างยกเว้นกีฬา หนังสือเล่มนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 2555 หนึ่งปีหลังจากที่เขาเสียชีวิต 

Hitchens ประกาศตนเป็นผู้ที่ไม่เชื่อว่ามีพระเจ้าอยู่จริง เขายืนยันตัวตนนี้ในบทที่เราชอบมากที่สุดในหนังสือ เขาบอกว่าเวลาป่วย คนรอบข้างมักจะสวดมนต์ภาวนาให้คนป่วย ในกรณีของเขา มันจะน่าหงุดหงิดมากถ้าอาการเขาดีขึ้น แล้วพวกนับถือพระเจ้าที่สวดมนต์ให้จะบอกว่าเห็นไหม พระเจ้าฟังคำสวดของเรา เขามีแอบแสดงความคิดเห็นอีกด้วยว่าคนป่วยที่มีคนมาสวดมนต์ให้ ถ้าอาการไม่ดีขึ้น ก็คงรู้สึกไม่ดี เพราะทำให้คนรอบข้างผิดหวัง 

Hitchens เขียนแบบขำ ๆ ว่า เขาได้ย้ายเข้าไปอยู่ใน Tumortown – เมืองเนื้องอก เมืองที่ผู้อยู่อาศัยต่างก็กระซิบกระซาบกันตลอดถึงวิธีการรักษาโรคที่อาจทำให้หายไปจากโลกได้จริง ๆ เนื่องจากมีผู้รู้มาแนะนำโน่นนี่มากเกินไป ตัวเขาเองก็ได้รับคำแนะนำมากมาย เช่นวิธีการรักษาของคนโบราณที่หมอสมัยใหม่นำเสนอให้คนไข้ที่มีเงิน การทำสมาธิและกินแต่ผักและผลไม้ การแช่แข็งร่างกายหรือสมองเอาไว้จนกว่าจะมีวิธีการรักษา หรือมีคนมาบอกว่ามีหมอเก่งจริง ๆ แต่อยู่ไกลมาก

เขายังติดตลกว่าเรื่องแบบนี้มีเยอะมากจนคิดว่าถ้ามีเครื่องบินของตัวเอง ก็คงไปหาหมอเก่ง ๆ ได้ไม่ครบทุกคน เขาเคยไปที่คลินิกหรูแห่งหนึ่งเพื่อพบว่าคำแนะนำที่ให้มาไม่มีอะไรที่เขาไม่รู้ แถมด้วยแผลแมลงกัดที่ทำให้มือคนทำคีโมอย่างเขาบวมเป่ง

ในเมือง Tumortown เขาอยู่แบบสุข ๆ ทุกข์ ๆ สุข เพราะหมอของเขาเตรียมค็อกเทลคีโมที่ลดอาการข้างเคียงให้ ทุกข์ เพราะวิธีการรักษามะเร็งใหม่ ๆ กำลังจะมา สร้างความหวัง โดยไม่รู้ว่าวิธีรักษานั้นจะมาทันไหม

เขาพิจารณาทางเลือกมากมาย เช่น การใช้สเต็มเซลล์สร้างหลอดอาหารขึ้นมาใหม่ หรือการจัดลำดับดีเอ็นเอ หรือ ลำดับพันธุกรรม แน่นอนทุกวิธีไม่ได้เหมาะกับทุกคน 

ตอนเขาสบายดี Hitchens ชอบจัดเลี้ยงที่บ้านในกรุงวอชิงตัน ดีซี เชิญคนดังต่างวงการมาร่วมโต๊ะอาหาร ช่วงที่เขานอนป่วย เขาก็ยังชอบให้มีคนมาหา แต่ไม่อยากให้คนมาให้ความหวังแบบลม ๆ แล้ง ๆ หรือถามว่าเป็นอย่างไรบ้างตามมารยาท เพราะถ้าถามแบบนี้เขาจะตอบว่า “เร็วไปที่จะบอกได้” มีอยู่ครั้งที่เขากำลังเศร้าเพราะรู้แน่ว่ากลับไปงานแต่งงานหลานสาวที่อังกฤษไม่ได้ เพื่อนคนหนึ่งถามว่า ‘เพราะคุณกลัวว่าจะไม่ได้กลับไปอังกฤษอีกแล้วใช่ไหม”

แน่นอนเขายอมรับความจริงได้ แต่คนอื่นไม่ต้องมาตอกย้ำก็ได้ เขายอมรับว่าคนเป็นมะเร็งมักจะเอาแต่ใจและอยู่ในโลกของตัวเอง Hitchens ถึงขั้นคิดว่าควรจะมีคู่มือมารยาทคนมาเยี่ยมผู้ป่วยโรคมะเร็ง

ในโลกของเขา ทุกวันคือการทดสอบ มันอาจจะมาในรูปความเจ็บปวดหรือแผลตรงลิ้นและในปาก บางทีเท้าก็เย็นหรือชา ที่แย่สุดคือเสียงเขาเปลี่ยนไปเหมือนเสียงเด็ก บางวันก็เสียงหาย ซึ่งมันน่าใจหายมากสำหรับคนที่พูดเสียงดังแบบคนในหอประชุมได้ยินแบบไม่ต้องมีไมค์ ถึงตอนนั้น ถ้าอยากพูดอะไรกับใคร ก็ต้องส่งสัญญาณ และรู้ได้ว่าคนฟังก็จะฟังแบบสงสาร ‘เอาน่ะ ผมไม่อยู่ให้ต้องมาสนใจนานหรอก’ เมื่อเขาพูดไม่ได้ เขาก็ยังรักที่จะฟังเพื่อนคุย

Hitchens ต่อสู้กับมะเร็งอย่างแข็งขันแต่ก็ยอมรับว่าทุกคนต้องตาย เขาใช้คำว่า this year of living dyingly – ปีที่ผมใช้ชีวิตแบบรอวันตาย เมื่อก่อนเขาคิดว่าถึงยามจะตายก็จะตายแบบรู้สึกตัว เพราะเชื่อว่าอะไรที่ฆ่าเราไม่ได้มีแต่จะทำให้เราเข้มแข็งขึ้น แต่พอป่วยเป็นมะเร็ง เขารู้ว่ามันไม่ใช่ ไม่มีอะไรที่ทำให้เขาเข้มแข็งขึ้นแม้มันจะยังฆ่าเขาไม่ได้ ถึงจุดหนึ่งมันไม่ใช่ความปราถนาว่าให้ตายแบบมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์แต่คือความปราถนาว่าได้ตายไปแล้ว

เมื่อถึงวันที่เขาชาไปทั่วร่างจนคิดว่าจะเขียนอะไรไม่ได้อีกแล้ว เขาคิดว่าถ้าวันนั้นมาถึง ความปรารถนาที่จะมีชีวิตอยู่คงจะลดทอนไปมาก เพราะการเขียนคือชีวิตของเขา ในหนังสือเขาเล่าถึงความเจ็บปวดเวลาที่พยาบาลพยายามเสียบเข็มฉีดยาเพื่อเอาเลือดไปตรวจ เขาเจ็บมากเวลาที่พยาบาลควานหาเส้นเลือดจนพยาบาลต้องหยุด แต่เป็นเขาเองที่ให้กำลังใจให้พยาบาลทำต่อให้เสร็จ โดยหวังอยู่ลึก ๆ ว่าเสร็จเสียทีเถอะจะได้หลับเสียที ในช่วงท้าย ๆ เขาลองใช้วิธีทรมานแบบสำลักน้ำให้อยู่ในภาวะใกล้ขาดออกซิเจน เพื่อเตรียมตัวรับการให้อาหารทางสาย 

Hitchens เสียชีวิต 19 เดือนหลังจากรู้ว่าเป็นมะเร็ง ภรรยาเขาเขียนในบทสุดท้ายว่าเขาหวังตลอดว่าจะหาย เขามีพลังเปี่ยมล้นในการจัดงานวันขอบคุณพระเจ้าครั้งสุดท้าย หรือนัดคนในครอบครัวและเพื่อนไปดูนิทรรศการ ‘จุดเริ่มต้นของมนุษยชาติ’ เขากำลังวางแผนจะเขียนหนังสือเล่มใหม่เรื่องการรักษาด้วยรังสีโปรตอนที่เขาไปทำมา และอยากไปดูนิทรรศการตุตันคาเมน แต่เวลาของเขาหมดลงเสียก่อน 

เมื่ออ่านจบ ไม่มีการเสียน้ำตาซักหยด เพราะมัวแต่คิดตามถึงอาการป่วยที่เขียนขึ้นด้วยข้อความเสียดสี …RIP 

บทความรีวิวหนังสือเล่มอื่น ๆ ของผู้เขียน

‘ผู้พิทักษ์ต้นการบูร’

“หมอ” อาชีพในฝัน? คำตอบอยู่ในหนังสือ ‘This is Going to Hurt’

จัดการความโกรธ ด้วยวิธีของ “คานธี”

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ