TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistBook Reviewจัดการความโกรธ ด้วยวิธีของ "คานธี"

จัดการความโกรธ ด้วยวิธีของ “คานธี”

จัดการความโกรธ ด้วยวิธีของ คานธี ….. The Gift of Anger by Arun Gandhi

มีสักครั้งไหม ที่ข้อความบนโซเชียลมีเดียทำให้คุณโกรธจนผีนักเลงคีย์บอร์ดเข้าสิง บางคนอาจจะจบที่ทะเลาะกันไปสามวันสามคืน บางคนที่รู้จักกันอาจจะจบที่การทำร้ายร่างกายกันจริง ๆ

มีสักครั้งไหม ที่ท่าทีหรือการกระทำของเพื่อนร่วมงานทำให้คุณโกรธจนไม่อยากเห็นหน้า ไม่อยากทำงานด้วย

มีสักครั้งไหม ที่เราโกรธคนที่มีความเห็นต่างจนไม่คิดว่าเขาเป็นพี่น้องร่วมโลก 

มีสักครั้งไหม ที่โกรธโชคชะตาจนไม่อยากลุกมาทำอะไร

ความโกรธทำร้ายเราและผู้อื่น แต่ถ้ามีใครสักคนที่สามารถทำให้ความโกรธกลายเป็นแรงบันดาลใจในการทำดีเพื่อตนเองและคนอื่น คนนั้นน่าจะเป็นมหาตมะ คานธี

มหาตมะ คานธี นับเป็นหนึ่งในบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์ยุคใหม่ด้วยหลักการการต่อสู้ด้วยอหิงสา หรือ การไม่เบียดเบียน และ การเว้นจากการทำร้ายผู้อื่น เขาเป็นผู้นำการต่อสู้ที่ทำให้อินเดียได้รับเอกราชจากอังกฤษหลังการยึดครองที่ยาวนานกว่า 150 ปี

มีหนังสือหลายเล่มที่บอกเล่าถึงประวัติชีวิตและคำสอนของคานธี แต่สำหรับคนที่ไม่มีเวลา ขอแนะนำหนังสือชื่อ The Gift of Anger ที่เขียนโดย “อรุณ” หลานชายคนหนึ่งของคานธีที่ได้ไปใช้ชีวิตอยู่กับคานธีช่วงอายุ 12 ถึง 14 ปี ที่อาศรมซาบาร์มาตี ใจกลางของประเทศอินเดียที่เชื่อมต่อโลกภายนอกด้วยถนนดินยาวเกือบ 13 กิโลเมตร

อรุณเขียนหนังสือ 292 หน้า เล่มนี้ จากการใช้ชีวิตร่วมกับปู่ การสังเกต การซักถาม และการติดตามปู่ของเขาไปในบางสถานที่ ได้รับรู้ถึงแรงบันดาลใจที่คานธีใช้หลักการอหิงสานี้ ในการต่อสู้เพื่อให้อินเดียได้เอกราชจากจักรวรรดิอังกฤษที่แผ่อิทธิพลไปทั่วโลกในยุคที่ท่านยังมีชีวิตอยู่

ที่ทำให้น่าอ่านมากกว่าหนังสืออัตชีวประวัติทั่วไป คือ The Gift of Anger เต็มไปด้วยวิธีการสอนแบบง่าย ๆ ของคานธี ที่ทำให้เด็กอายุ 12 เข้าใจถึงความสำคัญของการรักเพื่อนมนุษย์ ไม่เบียดเบียนกัน ไม่ว่าจะมีความแตกต่างในเรื่องเชื้อชาติ ศาสนา เพศ สีผิว หรืออื่น ๆ   

จากบทเรียน 11 ข้อที่ได้เรียนรู้จากปู่ บทเรียนที่ 1 คือ ชื่อเดียวกับหนังสือ ‘ค่าของความโกรธ‘ อรุณเล่าถึงชีวิตเขาที่สาธารณรัฐแอฟริกาใต้ ในสมัยที่การเหยียดผิวยังรุนแรงอยู่มาก ชาวอินเดียที่ไปขายแรงงานใช้ชีวิตอย่างลำบาก เพราะเป็นที่รังเกียจของคนขาวที่คิดว่าคนผิวขาวเท่านั้น คือ พวกของตน คนผิวดำเองก็หลีกเลี่ยงเพราะเหตุผลเดียวกัน เด็กอย่างอรุณถูกแกล้งจากเด็กทั้งสองกลุ่ม แม้จะโกรธแต่ด้วยคำสอนของพ่อแม่ไม่ให้โต้ตอบใครด้วยความรุนแรง เขาต้องเก็บความโกรธไว้ จนกลายเป็นคนอารมณ์ฉุนเฉียว โกรธง่าย พ่อแม่เขาจึงต้องการให้คานธีอบรมสั่งสอนหลาน

ในบทเรียนนี้ อรุณจำได้ว่าคานธีบอกเขาครั้งแล้วครั้งเล่าว่า ‘มนุษย์ทุกคนมาจากครอบครัวเดียวกัน
คานธีไม่ยอมรับการแบ่งชนชั้น เขาอ่านหนังสือที่เกี่ยวกับศาสนาทุกศาสนา และไม่ยอมรับศาสนาที่สร้างความแตกแยก คานธีเชื่อว่าทุกศาสนามีความจริงเพียงบางส่วน และปัญหาจะเกิดขึ้นเมื่อเราเชื่อว่าความจริงบางส่วน คือ ความจริงทั้งหมด คานธีเองหยิบความจริงจากหลาย ๆ ศาสนามาใช้ในการสั่งสอนผู้อื่น

วันหนึ่ง อรุณถูกเด็กคนหนึ่งในอาศรมแกล้งขัดขา เขาโกรธมากและเกือบขว้างก้อนหินใส่เด็กคนนั้น เขาร้องไห้วิ่งไปหาปู่ที่บอกเขาให้ไปหยิบเครื่องปั่นฝ้ายมา

คานธีมักจะมีเครื่องปั่นฝ้ายไว้ข้างตัว และมีอีกเครื่องให้อรุณที่ต้องปั่นวันละ 1 ชม. ตอนเช้า และอีก 1 ชม ตอนเย็นทุกวัน เพื่อให้หลานได้นั่งนิ่ง ๆ ทำสมาธิ

ในวันนั้น ปู่และหลานปั่นฝ้ายไปพร้อม ๆ กัน และคุยเรื่องความโกรธ

คานธี: “จะเล่าเรื่องหนึ่งให้ฟัง มีเด็กหนุ่มคนหนึ่งที่โกรธอยู่ตลอดเวลาเพราะอะไรก็ไม่ได้อย่างใจ เขาไม่ยอมรับความคิดของคนอื่น และถ้ามีใครมาแหย่ เขาก็จะระเบิดความโกรธออกมา

“วันหนึ่ง เขาไปต่อยตีกับคนและทำให้คู่ต่อสู้ตาย แค่วินาทีหนึ่งที่เขาไม่มีสติ เขาได้ทำลายชีวิตเขาด้วยการฆ่าผู้อื่น

“หลานก็เต็มไปด้วยความโกรธ แต่ปู่ก็ดีใจนะที่หลานมีความโกรธ ความโกรธเป็นสิ่งที่ดี ปู่เองยังโกรธโน่นนี่ตลอดเลย”

อรุณ: “ผมไม่เคยเห็นปู่โกรธซักครั้ง”

คานธี: “เพราะปู่เรียนรู้ที่จะใช้พลังความโกรธในทางที่ดีน่ะสิ ความโกรธก็เหมือนน้ำมันที่ทำให้รถเคลื่อนไปข้างหน้า ถ้าไม่มีความโกรธก็เหมือนเราไม่มีแรงผลักดัน”

คานธี เล่าถึงชีวิตวัยเด็ก เขาเคยขโมยเงินพ่อแม่ไปซื้อบุหรี่และต่อยตีกับเด็กคนอื่น เมื่อแต่งงานตอนอายุ 13 ปี ก็ชอบตะโกนใส่ภรรยา บางครั้งก็กระชากลากถูไล่ภรรยาออกจากบ้าน แต่เขาก็ไม่ชอบใจเหมือนกันที่เป็นคนแบบนั้น เลยพยายามควบคุมอารมณ์

เมื่อหลานถามว่าเขาจะทำได้บ้างไหม คานธีตอบว่าหลานกำลังทำอยู่ด้วยการปั่นด้าย และเล่าต่อว่าการปั่นด้ายก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของการใช้ความโกรธให้ถูกทาง

อินเดียผลิตฝ้ายได้มากมาย แต่ฝ้ายทั้งหมดถูกส่งไปอังกฤษเพื่อผลิตผ้า ผ้าที่ส่งกลับมาขายที่อินเดียมีราคาสูงจนคนอินเดียซื้อไม่ไหว คนอินเดียเจ็บแค้นมาก แต่แทนที่จะไปสร้างสงคราม คานธีสนับสนุนให้คนอินเดียมีเครื่องปั่นฝ้ายไว้ใช้เองทุกบ้าน จนผ้าจากอังกฤษขายไม่ได้

เมื่อเห็นหลานฟังอย่างตั้งใจ ปู่ก็เล่าอีกหนึ่งตัวอย่าง ด้วยการเปรียบความโกรธกับไฟฟ้า

“ถ้าเราใช้ไฟฟ้าอย่างฉลาด ไฟฟ้าก็จะทำให้ชีวิตเราดีขึ้น แต่ถ้าเราใช้มันไม่ถูกทาง ไฟฟ้าก็ฆ่าเราได้”

จากนั้น เขาก็หยิบสมุดและดินสอให้หลาน บอกให้หลานจดรายการความโกรธ จดให้หมดว่าโกรธใครหรืออะไร และเหตุผลว่าทำไมถึงโกรธ การจดบันทึกทำให้เรามองตัวเราจากมุมอื่น และเข้าใจผู้อื่น วิธีการนี้ไม่ใช่ทำให้เรายอมแพ้ แต่ทำให้เราหาทางแก้ที่จะไม่เพิ่มความโกรธแค้นให้มากขึ้น

คนที่โต้ตอบความโกรธแบบไม่มีสติ เช่น ใช้คำพูดแรง ๆ เวลาโดนแหย่ ตัวเองก็ไม่มีความสุข สังเกตได้จากกล้ามเนื้อที่ตึง และจิตที่ปั่นป่วนเหมือนมีไฟสุม บางครั้งเราเสียใจกับการโต้ตอบเช่นนั้น และไปขอโทษ แต่ความเสียหายเกิดขึ้นแล้ว เหมือนกระสุนที่ยิงออกไปแล้วเอากลับคืนมาไม่ได้

บันทึกความโกรธ คือขั้นแรกในการจัดการกับความโกรธ ขั้นต่อไปคือเราต้องควบคุมอารมณ์เพื่อจะได้รับกับความโกรธอย่างมีสติในเวลาต่อไป

“เราต้องรู้ถึงเหตุของความโกรธ เราถึงจะหาทางดับมันได้”

อีกบทเรียนที่เข้ากับยุคสมัยมาก คือ Waste is Violence (การทิ้งขว้างของ คือ ความรุนแรงอันหนึ่ง)

อรุณเล่าถึงครั้งหนึ่งที่เขาเห็นดินสอใหม่ในร้านค้าแล้วอยากได้ เขาเลยโยนดินสอแท่งเก่าทิ้ง เขากลับบ้านไปหาปู่บอกว่าอยากได้ดินสอใหม่ เพราะอันเก่ามันสั้นกุดแล้วไป เมื่อปู่ขอดูแท่งเก่าและพบว่าเขาโยนทิ้งแล้ว ปู่สั่งให้เขาไปเอากลับมา เขาต้องใช้ไฟฉายหาดินสอแท่งเล็กในพุ่มหญ้าเป็นเวลานาน เมื่อพบเขาคาดว่าจะได้แท่งใหม่ ปู่กลับเก็บไว้และบอกว่ายังใช้ได้อีกตั้ง 2 อาทิตย์ พร้อมกับคำคมที่ว่า “การทิ้งขว้างอะไรก็ตามเป็นนิสัยที่ไม่ดี มันแสดงถึงความไม่ใส่ใจต่อโลก และเป็นการทำร้ายธรรมชาติ”

“ของชิ้นนึงต้องใช้เงิน เวลา และความพยายามในการสร้าง การโยนของทิ้งก็เหมือนทิ้งขว้างทรัพยากร มีคนจนมากมายที่ไม่มีเงินซื้อดินสอ แต่เราสิ ซื้อได้ แต่ก็ทิ้งขว้างของ ถ้าเราทำแบบนี้เรื่อยๆ เราก็จะทำให้ไม่มีอะไรเหลือให้กับคนที่เขาไม่มี”

คานธีให้อรุณวาดรูปต้นไม้ความรุนแรงที่มีกิ่งไม้สองกิ่ง กิ่งหนึ่งสำหรับความรุนแรงที่เรามองเห็น เช่น การทุบตี อีกกิ่งสำหรับความรุนแรงที่มองไม่เห็นด้วยตา เช่น การกดขี่ การทิ้งขว้างสิ่งของ เมื่ออรุณนำการบ้านมาส่ง คานธีให้บทเรียนที่น่าสนใจมาก

ในยุคของเขาที่ยังไม่มีกระแสการอนุรักษ์ธรรมชาติ คานธี มองเห็นว่า การใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างสิ้นเปลืองโดยบางประเทศก่อให้เกิดความไม่สมดุลทางเศรษฐกิจไปทั่วโลก การใช้ทรัพยากรแบบฟุ่มเฟือยในยุควัตถุนิยม มีแต่ทำให้คนยากจนเพิ่มขึ้น และทำให้เกิดการแก่งแย่งทรัพยากร ซึ่งนำไปสู่ความรุนแรงต่อชีวิตและทรัพย์สิน

“ความรุนแรงที่มองไม่เห็นด้วยตา คือ เชื้อไฟที่ทำให้เกิดความรุนแรงที่เราเห็น ๆ กันบนโลกนี้ เราต้องตัดเชื้อไฟ ถ้าเราต้องการดับความรุนแรง”

อีกบทหนึ่ง คานธี เล่าถึงเมื่อครั้งที่เขาขึ้นรถไฟในอาฟริกาใต้ มีชายผิวขาวไล่เขาลงไปจากตู้รถไฟ แม้ว่าเขาจะมีตั๋วถูกต้องและแต่งกายเยี่ยงชาวตะวันตก เมื่อเขาปฏิเสธ ตำรวจมาช่วยชายคนนั้นจับเขาลงจากรถไฟที่สถานีต่อไป เขาต้องทนหนาวอยู่ที่สถานีนั้นจนเช้า เหตุการณ์นั้นทำให้เขาต้องการต่อสู้กับความอยุติธรรมที่คนในสังคมระดับล่างต้องเจอ รวมถึงคนอินเดียที่ต้องอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษมากว่าร้อยปี

ตอนหนึ่งในหนังสือ เล่าถึงการสอนของคานธี ที่อธิบายว่าทุกชีวิตบนโลก มีความเกี่ยวพันกันอย่างไร เขาให้อรุณถอดเครื่องปั่นด้ายออกเป็นชิ้น ๆ แล้วสั่งให้หลานปั่นฝ้าย แน่นอนว่าทำไม่ได้ เมื่อประกอบเครื่องขึ้นมาใหม่ คานธีถอดขดลวดอันหนึ่งออก ทั้งที่ขดลวดนั้นเป็นตัวยึดเครื่อง บอกว่ามันเป็นแค่อุปกรณ์ชิ้นเล็กนิดเดียว พออรุณแย้งว่าเครื่องขาดขดลวดนั้นไม่ได้ คานธียิ้มและกล่าวว่า

“ทุก ๆ ส่วนมีความสำคัญ ที่ทำให้ภาพรวมทำงานได้  ขดลวดเล็ก ๆ อันนี้ก็ทำให้เครื่องปั่นด้ายทำงานได้ ดังนั้น คนทุกคน คือ ส่วนเติมเต็มของสังคม เราขาดใครไปไม่ได้ และไม่มีใครที่เป็นคนไม่สำคัญ ทุกคนต้องเดินไปด้วยกัน”

อรุณเล่าบทเรียนเหล่านี้ ไปพร้อม ๆ กับวิธีที่เขานำบทเรียนเหล่านี้ไปใช้ในชีวิตจริง ตัวเขาเองเมื่อยังเป็นนักข่าวอยู่ในอินเดียเคยพบเห็นทารกที่ถูกทิ้งไว้ข้างกองขยะ เขาพบว่า มีเด็กกำพร้าจำนวนมากที่ตายจากการขาดอาหาร เขาและภรรยาพยายามหาพ่อแม่อุปถัมภ์ให้เด็กเพียงเพื่อไม่ให้ชีวิตน้อย ๆ เหล่านี้ถูกทิ้งขว้าง

เมื่อย้ายไปอยู่สหรัฐอเมริกา เขาก่อตั้งสถาบันการต่อสู้ด้วยหลักอหิงสา เพื่อสืบทอดคำสอนของคานธี เขาเชื่อว่าคำสอนของคานธีจะทำให้โลกสงบและน่าอยู่ขึ้น  แม้ผู้นำประเทศบางคนจะปฏิบัติตัวตรงข้ามแต่คนทุกคนทำส่วนของตัวเองได้

แน่นอนว่าถ้าคุณอ่านหนังสือเล่มนี้จบ คุณก็จะคิดแบบอรุณ ในยุคนี้ที่ดูเหมือนทุกหย่อมหญ้าบนโลก (รวมถึงประเทศไทย) ตกอยู่ภายใต้ความเกลียดชังและทำร้ายกัน หากมีใครศึกษาหลักการอหิงสาของคานธีและนำไปปฏิบัติ ความสงบสุขจะอยู่แค่เอื้อมนี่เอง

ผู้เขียน: อัจฉรา ดีบุญมี ณ ชุมแพ อดีตบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ The Nation

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ