TH | EN
TH | EN
หน้าแรกBusiness500 TukTuks ช่วยพอร์ตให้รอดโควิด เดินหน้าลงทุนต่อ

500 TukTuks ช่วยพอร์ตให้รอดโควิด เดินหน้าลงทุนต่อ

ภูมิทัศน์ของระบบนิเวศสตาร์ตอัพทั่วโลกเกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งเชิงบวกและเชิงลบ โควิด-19 กดดันให้ทุกคนต้องเปลี่ยนวิถีชีวิตและการทำงานให้มีพื้นที่มากขึ้นสำหรับการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม ทำให้เกิด pain point ใหม่ ๆ

-เปิดวิสัยทัศน์ “กระทิง” โลกหลังโควิด-19 … ที่ไม่เหมือนเดิม
-Techsauce งัด Virtual Summit ชิมลาง ปรับธุรกิจสู่ New Normal

ในทางกลับกันก็มีผลเชิงลบเช่นกัน โดยเฉพาะธุรกิจดั้งเดิมที่ปรับตัวไม่ทันจะตายหายไป เพราะพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไปจะไม่กล้าใช้เงิน และไม่กล้าทำอะไรเสี่ยง การเดินทางน้อยลง เศรษฐกิจจะไม่ดี สตาร์ตอัพในธุรกิจเหล่านี้จะหาลูกค้าได้ยากขึ้น

ปารดา ทรัพย์ประเสริฐ ผู้อำนวยการ กองทุน 500 TukTuks กล่าวกับ The Story Thailand ว่า อุตสาหกรรมท่องเที่ยวและการบริการจะฟื้นตัวช้ากว่าอุตสาหกรรมอื่น แต่ก็มีโอกาสใหม่ ๆ เกิดขึ้น อาทิ การทำ AR/VR ท่องเที่ยว ซึ่งเป็นธุรกิจที่ถูกคิดไว้นานแล้ว แต่โควิด-19 เร่งให้เกิดขึ้น และอีก 1-2 ปีจะเห็นการบูมของ medical tech และ health tech เพราะทุกคนพยายามแก้ปัญหาเรื่องสุขภาพ สตาร์ตอัพที่ได้รับผลเชิงบวก คือ e-commerce, e-logistic และ e-payment

สถานการณ์นี้เป็นตัวทดสอบเลยว่า CEO หรือ founder เก่งแค่ไหน เพราะว่าคนที่สามารถปรับเปลี่ยนเร็วหรือวิ่งกว่าคนอื่นมีโอกาสเป็นผู้ชนะสูงมาก

เพราะว่าสตาร์ตอัพเน้นความเร็วและการเปลี่ยนแปลงที่เร็ว ถ้ามีโอกาสใหม่ ๆ เข้ามา จะสามารถใช้ประโยชน์จากโอกาสตรงนี้ได้ไหม เป็นใจความสำคัญในการทำสตาร์ตอัพ

“สิ่งที่เราแนะนำสตาร์ตอัพในการรรับมือกับโควิด-19 คือ การลดการใช้จ่ายให้สามารถรักษาธุรกิจไว้ให้ได้นานที่สุด และหันมาดูธุรกิจหลัก ทรัพยากรในมือ ว่าสามารถบิดรูปแบบธุรกิจหรือสร้างสินค้า/บริการใหม่ที่ลูกค้ามีความต้องการ หรือไปร่วมมือกับสตาร์ตอัพอื่น จะเห็นภาพการร่วมมือกันระหว่างสตาร์ตอัพ เพราะตอนนี้แต่ละรายจะมีทรัพยการที่เหลือ จึงเกิดความร่วมมือกัน ซึ่งการร่วมมือกันระหว่างสตาร์ตอัพค่อนข้างเป็นรูปแบบที่เป็นเอกลักษณ์และแตกต่างจากที่อื่น”

ความร่วมมือกันทั้งกับสตาร์ตอัพด้วยกัน สตาร์ตอัพกับลูกค้า และพันธมิตรธุรกิจ ภาพความร่วมมือนี้เกิดจากวิกฤติโควิด-19 ซึ่งเรื่องนี้อาจจะเป็น new normal ของวงการสตาร์ตอัพในไทย

สตาร์ตอัพยังไม่รู้ว่าหลังโควิด-19 จบ หรืออีก 1-3 เดือนข้างหน้า ความต้องการ/พฤติกรรมของลูกค้าจะเป็นอย่างไร ตอนนี้ต้องประเมินสถานการณ์กับทุกวันทุกสัปดาห์ รูปแบบธุรกิจที่จะออกมาใหม่จะต้องประเมินว่ายั่งยืนหรือไม่

สตาร์ตอัพต้องสตาร์ตอัพอีกครั้ง

ใครอยู่ในซีรีส์ A อาจจะต้องกลับกลายเป็น seed ใหม่ ซึ่งก็หาตัว MPV ใหม่กันเลย ไม่มีใครไม่โดนกระทบ แม้ว่าจะไม่ได้อยู่ในอุตสาหกรรมที่ถูกกระทบโดยตรงแต่ก็ต้องมีซัพพลายเออร์หรือลูกค้าที่โดนผลกระทบ

“หน้าที่ของเราในการเป็นนักลงทุนและเป็นสตาร์ตอัพ คือ การทำให้อีโคซิสเต็มส์ยังสนับสนุนซึ่งกันและกันให้ได้มากที่สุด เราก็กังวลเหมือนกันว่าสตาร์ตอัพอีโคซิสเต็มส์ในไทยจะไปรอดไหม”

ภูมิทัศน์ของระบบนิเวศสตาร์ตอัพในไทยมีบางส่วนที่คล้ายโกลบอล คือ อุตสาหกรรมที่ถูกกระทบเชิงบวกและเชิงลบ แต่ด้วยความที่ระบบนิเวศของไทยยังถือว่ามีขนาดเล็ก และค่อนข้างสนิทกันและมีหลายสมาคมฯ ให้ความช่วยเหลืออยู่ เหมือนระบบนิเวศไทยมีความแน่นแฟ้นกันมากขึ้นกว่าเดิม

ส่วนการระดมทุนในระบบนิเวศในไทยจะยากขึ้น เพราะ VC และ CVC ในไทย ต่างก็ให้การสนับสนุนสตาร์ตอัพในพอร์ตเพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจได้ไม่ล้มหายตายจากไป

การระดมทุนจะยากขึ้นเพราะนักลงทุนจะเพิ่มเงื่อนไขของการลงทุนเพราะว่าธุรกิจและภูมิทัศน์ได้เปลี่ยนไปแล้ว เช่น ธุรกิจของสตาร์ตอัพรายนี้ยั่งยืนแค่ไหน ธุรกิจหลักและรูปแบบธุรกิจสามารถปรับเปลี่ยน หรือมีความยืดหยุ่นมากแค่ไหน

เช่น สตาร์ตอัพที่มีโมเดลเป็น B2C ถ้าเกิดอะไรขึ้นที่ทำให้ผู้บริโภคไม่สามารถใช้เงินได้ สตาร์ตอัพรายนี้จะสามารถปรับธุรกิจเป็น B2B หรือเป็นรูปแบบอื่นได้ไหม นักลงทุนจะต้องวิเคราะห์มากขึ้นว่าตัวธุรกิจสามารถบิดไปเป็นอย่างอื่นได้มากน้อยแค่ไหน

VC และ CVC จะเดินหน้าลงทุนตัวเนื่องด้วยกระเป๋าขนาดเท่าเดิม ซึ่ง CVC อาจจะมีการปรับยุทธศาสตร์ ต้องดูว่าบอร์ดของเขายังมีความเชื่อมั่นในความสามารถของสตาร์ตอัพมากน้อยแค่ไหน

500TukTuks มุ่งลงทุนต่อเนื่อง/ช่วยสตาร์ตอัพในพอร์ต

ปารดา ยืนยันว่า โอกาสที่สตาร์ตอัพไทยโตมีอยู่มาก ยิ่งอยู่ในสถานการณ์ที่ปิดประเทศอยู่แบบนี้ อาจจะทำให้ต้องใช้บริการสตาร์ตอัพไทยมากขึ้น วิกฤติมากับโอกาส ระบบนิเวศสตาร์ตอัพไทยค่อนนข้างแข็งแรงพอ

ช่วงนี้นับว่าวิกฤติสำหรับสตาร์ตอัพ เพราะจะชี้ว่าใครจะอยู่หรือใครจะไป ซึ่งขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย อาทิ ใครจะสามารถ pivot ได้เหมาะกับสถานการณ์มากที่สุด ใครโชคดีได้ไป engage กับนักลงทุนมาก่อนที่จะมีโควิดแล้วตัวดีลยังดำเนินไปอยู่เขาจะยังมีเงินสดเข้ามาหมุนเพิ่มเติม

“สตาร์ตอัพควรจะใกล้ชิดกับนักลงทุนเสมอ เพราะไม่มีใครรู้ว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นในอนาคต การมีเงินสดเข้ามาดำเนินธุรกิจจะทำให้อุ่นใจกว่า จนกว่าโควิดจะไป อีกปัจจัยหนึ่งที่กำลังผลักดันอยู่ คือ อยากให้ภาครัฐและคอร์ปอเรตในไทยมาใช้บริการสตาร์ตอัพไทย ไม่เช่นนั้นเศรษฐกิจดิจิทัลของไทยจะไปพึ่งสตาร์ตอัพต่างชาติกันหมด สตาร์ตอัพไทยมีเงินทุนไม่หนาเท่าสตาร์ตอัพต่างชาติที่เข้ามาในไทย การตลาดก็สู้ไม่ได้”

เป้าหมายของ VC และ CVC ไม่อยากให้สตาร์ตอัพตาย เพราะกว่าจะลงทุนในแต่ละสตาร์ตอัพ และช่วยเหลือกันมา 4-5 ปี ไม่อยากเห็นสิ่งที่เขาทำมา 4-5 ปี กลายเป็นศูนย์ นักลงทุนอยากจะช่วยให้เขาอยู่รอด

“นอกจากนี้ หากประเมินในเรื่องของผลงานของ VC และ CVC ขึ้นกับสตาร์ตอัพในพอร์ต ถ้ามีสตาร์ตอัพไหนตายไปจะฉุดรีเทิร์นลงนักลงทุนนไปด้วย ทั้ง emotional และ financially ที่เราต้องช่วยให้เขารอด”

สำหรับ 500 Tuktuks ตอนนี้มี 2 กอง กองแรกลงทุนไป 51 สตาร์ตอัพ กอง 2 ยังลงทุนอยู่ ตอนนี้ลงไปแล้ว 20 สตาร์ตอัพ ภายใน 71 รายนี้ รายที่ค่อยข้างท้าทายที่จะอยู่รอดจากวิกฤติโควิดมีประมาณ 10 ตัว เพราะว่ามีการลงทุนในสตาร์ตอัพสายท่องเที่ยวและบริการค่อนข้างเยอะ ซึ่งเป็นจุดเด่นของประเทศไทย

และมีประมาณ 5 รายที่ได้รับผลกระทบเชิงบวก ส่วนที่เหลือจะทรง ๆ อาจจะมี GMV ลดลงบ้างช่วงเดือนมีนาคม แต่ตอนนี้ยอดกลับมาแล้ว จากการปรับตัวเองให้ลีน (lean) ขึ้น อาจจะมีการปรับเงินเดือนพนักงานเล็กน้อย ใช้จ่ายด้านการตลาดให้น้อยลง แต่เขามีฐานตลาดอยู่แล้ว ตอนนี้พยายามให้ทุกคนโฟกัสที่ retention rate มากกว่าการหาลูกค้าใหม่

สำหรับ 10 รายที่ค่อนข้างน่าเป็นห่วง ส่ิงที่จะช่วยได้ คือ การเชื่อมเขาไปหานักลงทุน ให้เขาได้มีเงินสดเข้ามาหมุนจนกระทั่งสามารถกลับมาดำเนินธุรกิจต่อได้ตามปกติ และช่วยวิเคราะห์สิ่งที่เขาตัดต้นทุนออก อาทิ เรื่องการเช่าออฟฟิศ การลดเงินเดือน ว่าสมเหตุสมผลไหม อะไรต้องทำเพิ่ม อะไรควรลด และให้คำปรึกษาว่าสิ่งที่เขาควรจะปรับเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจหรือไม่อย่างไร มีคำแนะนำอย่างไร หากมีทรัพยากรหรือพันธมิตรที่สามารถช่วยให้สตาร์ตอัพสามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบเพื่อความอยู่รอดได้ก็จะทำ

หากประเทศไทยสามารถบริหารสถานการณ์โควิดได้ดีและกลับวิ่งได้ก่อน สตาร์ตอัพก็จะมีโอกาสมากกว่าประเทศอื่นใน SEA ที่หลายธุรกิจไม่สามารถรันได้หากประเทศยังปิดอยู่

แต่ละ VC และ CVC เงินและเงื่อนไขยังโฟกัสในเรื่องเดิม แต่มีการวิเคราะห์ละเอียดขึ้นมีเงื่อนไขในการลงทุนมากขึ้น ซึ่งทุกคนยังคงตื่นตัวกับการลงทุน มองหาดีลที่ดีอยู่ตลอดเวลา

สิ่งที่มีผลอาจจะเป็นนักลงทุนระดับภูมิภาคที่อาจไม่ได้มีทีมงานในไทย เวลาระดมซีรีส์ A, B อาจต้องออกไประดมนอกประเทศ ซึ่งต้องพึ่งนักลงทุนในต่างประเทศ ด้วยความที่ไม่สามารถเดินทางได้สะดวก อาจจะต้องเลื่อนการระดมทุนออกไป เพราะนักลงทุนอยากรู้จักทีม ผู้ก่อนตั้ง และออฟฟิศ กว่าจะตัดสินใจลงทุน

สตาร์ตอัพต้องขยายรันเวย์เท่าตัว

สตาร์ตอัพต้องขยายรันเวย์ให้ยาวขึ้นเท่าตัว ใช้เงินอย่างสุรุ่ยสุร่ายไม่ได้ สำหรับกรอบการลงทุนของ 500TukTuks อยู่ที่ 100,000 -200,000 ดอลล่าร์ ตั้งแต่ระดับ seed ถึง pre-serries​ A

สำหรับกอง 2 คาดว่าน่าจะลงทุนในสตาร์ตอัพได้อีกประมาณ 10 – 20 ราย ยังมองหาสตาร์ตอัพในทุกอุตสาหกรรมที่มีธุรกิจในไทยหรือใน CLMV แต่ต้องมีธุรกิจเกี่ยวกับประเทศไทย หรือมีแผนจะขยายมาตลาดไทยในอนาคต

“เราลงทุนทุกอุตสาหกรรม แต่ที่สนใจมากตอนนี้คือ food tech และ health tech รวมถึง deep tech หรือไม่ใช่แค่แพลตฟอร์ม หรือมาร์เก็ตเพลส อยากจะหาอะไรที่ original มากขึ้น”

สตาร์ตอัพเป็นธุรกิจขนาดเล็กและอาจจะไม่สำคัญต่อเศรษฐกิจ ณ ขณะนั้น แต่เศรษฐกิจในประเทศใหญ่ ๆ อย่างอเมริกาและจีน บริษัทที่มี market capital ใหญ่เป็นอันดับต้น ๆ เป็นบริษัทเทคโนโลยีที่เริ่มต้นจากการเป็นสตาร์ตอัพ

“โลกทั้งโลกกำลังก้าวเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัล เพราะฉะนั้นสตาร์ตอัพจะมีบทบาทมากขึ้น อาจจะมากกว่าที่ทุกคนคาดไว้ อาจจะได้เห็นบริษัทที่เป็นบริษัทที่มี market capital ใหญ่ที่สุด หรือใหญ่ต้น ๆ ของประเทศไทยเป็นสตาร์ตอัพในวันนี้ อยากให้ทุกคนช่วยกันสนับสนุนระบบนิเวศและสตาร์ตอัพไทยให้มากขึ้น” ปารดากล่าวทิ้งท้าย

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ