TH | EN
TH | EN
หน้าแรกBusinessเปิดวิสัยทัศน์ “กระทิง” โลกหลังโควิด-19 ... ที่ไม่เหมือนเดิม

เปิดวิสัยทัศน์ “กระทิง” โลกหลังโควิด-19 … ที่ไม่เหมือนเดิม

จากวิกฤติโควิด-19 มีการคาดการณ์เศรษฐกิจในหลายสถานการณ์ แม้แต่ บิล เกตส์ ยังเคยกล่าวไว้ว่าอาจจะต้องมีวัคซีนที่ถึงประชาชนในวงกว้างก่อนถึงจะรอดจากวิกฤติ ขณะที่องค์การอนามัยโลก หรือ WHO ก็ออกมาคาดการณ์ไว้ว่าจะควบคุมได้ทั้งหมดอาจจะใช้เวลา 4-5 ปี

-Techsauce งัด Virtual Summit ชิมลาง ปรับธุรกิจสู่ New Normal
-FlowAccount ชี้ SMEs ดูแลสุขภาพทางการเงิน ทำบัญชี คุมค่าใช้จ่ายให้รอดวิกฤติโควิด

กระทิง-เรืองโรจน์ พูนผล ประธาน KASIKORN Business-Technology Group (KBTG) และ President of Technology ธนาคารกสิกรไทย กล่าวกับ The Story Thailand ว่า มนุษย์จะต้องอยู่กับโควิด-19 ไปอีกนาน ผลกระทบเศรษฐกิจมหาศาลที่จะเกิดขึ้น คือ วิกฤติเงินท่วมโลก ขณะเดียวกันหนี้ก็จะท่วมโลกเช่นกัน เพราะรัฐบาลในหลายประเทศต่างกู้เงินกันหมด หมายความว่าเด็กที่เกิดมาในยุคนี้ เมื่อเกิดมาจะต้องแบกรับหนี้มหาศาลทันที

“ผู้บริโภคจะใช้จ่ายน้อยลง ใช้จ่ายกับสิ่งที่มีประโยชน์มากขึ้น จะไม่มีเงินเที่ยวมากอีกแล้ว”

บริษัทในซิลิคอนวัลเลย์เริ่มคุยกันว่าจะให้ทำงานจากที่บ้านกันตลอด เช่นเดียวกับ KBTG จะมีส่วนหนึ่งที่ให้ไปทำงานที่บ้าน ซึ่งหมายความว่าพื้นที่สำนักงานจะหายไป

งานประชุม (Conference) ต่าง ๆ จะเปลี่ยนรูปแบบทั้งหมด งานที่คนจะต้องมาพบปะกันจะเปลี่ยนไป รวมถึง การศึกษา คอนเสิร์ต ธุรกิจที่พัก ร้านอาหาร จะถูกปฏิรูปอย่างมหาศาล องค์กรจะต้องลีน (lean) เพราะว่ารายได้ลดลง ด้านอสังหาริมทรัพย์ ต้องปรับเพราะการทำงานที่บ้านเป็นเรื่องปกติ

ธุรกิจที่ใช้ดิจิทัลเข้ามาช่วยจะเกิดได้ ระบบอัตโนมัติ (Automation) จะเข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพอย่างมหาศาล เป็นตัวผลักดันเศรษฐกิจ

รถยนต์จะถูกปฏิรูป เพราะคนอาจจะต้องทำงานอยู่บ้านกันและไม่มีความจำเป็นต้องใช้ อีกส่วนคือไม่มีกำลังที่จะไปซื้อรถ ขณะเดียวกันเมื่อน้ำมันถูกลง รถยนต์ไฟฟ้าอาจจะไม่ได้มาเร็วอย่างที่คาดการณ์

ในวิกฤติยังมีโอกาสกับบางธุรกิจ

กระทิง กล่าวว่า ขณะที่โควิด-19 เข้ามาทำลายห่วงโซ่อุปทาน (Supply chain) ทั้งหมด แต่จะทำให้เกิดการผลิตที่ใกล้แหล่งบริโภค ที่คาดว่าจะเกิดในอีก 10 ปีข้างหน้า จากปัจจุบันแหล่งผลิตอาจจะอยู่ในต่างประเทศ แต่เมื่อเกิดวิกฤติแต่ละประเทศจะต้องปรับธุรกิจ และดึงกลับมาผลิตเอง ซึ่งประเทศไทยจะต้องยืนอยู่บนจุดแข็งด้านอาหาร

ธุรกิจบันเทิง และสุขภาพ จะเติบโตอย่างมาก คนจะแสวงหาความสุขรอบตัวมากขึ้น และสนใจเรื่องสุขภาพมากขึ้น

อีคอมเมิร์ซจะเติบโตขึ้นและดึงให้ฟินเทค (FinTech) เติบโตขึ้นตามไปด้วย อีกส่วนหนึ่งคือเรื่อง InsureTech การซื้อประกันออนไลน์จะเกิดแน่นอนจากวิกฤติรอบนี้

ธุรกิจต้องอึดกว่านี้

กระทิง กล่าวว่า สตาร์ตอัพจะต้องมีรันเวย์ยาวถึง 36 เดือน ซึ่งก่อนวิกฤติ “สตาร์ตอัพ และ SMEs มีเงินเหลืออยู่ได้แค่ 21 วัน” ต้องยอมรับว่ามันเป็นความจริงที่น่าเศร้าที่จะมีธุรกิจหายไปอย่างมหาศาล

จากอดีตที่เคยตกงานและจะต้องมีเงินอยู่ได้ 6 เดือน หลังจากวิกฤติรอบนี้อาจจะต้องมีเงินสำรองมากถึง 18 เดือน ถึงแม้ว่าวิกฤติแบบนี้จะไม่ได้เกิดขึ้นบ่อย แต่ในอนาคตก็เป็นไปได้ที่อาจจะเกิดวิกฤติรูปแบบอื่น

“คนจะต้องตระหนักเรื่องความเสี่ยงในชีวิตและเปลี่ยนมุมมอง จะใช้ชีวิตแบบเดิมไม่ได้ รวมถึงเศรษฐกิจและการเมืองก็จะเปลี่ยนทั้งหมด”

เปิดวิสัยทัศน์ “กระทิง” โลกหลังโควิด-19 ... ที่ไม่เหมือนเดิม
กระทิง-เรืองโรจน์ พูนผล ประธาน KASIKORN Business-Technology Group (KBTG) และ President of Technology ธนาคารกสิกรไทย

Virtual Economy หรือ Virtual World จะเกิด?

นอกจาก 5G IoT Big Data จะเกิด Virtual Reality หรือ VR เป็นอีกเทรนด์ที่จะเกิดจากวิกฤติโควิด-19

อย่าง Unreal Engine เป็นเทคโนโลยีที่สามารถทำกราฟิกออกมาได้เหมือนจริง ซึ่งในอนาคตจะอยู่ในคลาวด์และทำงานผ่าน 5G เมื่อมี VR เข้ามาเสริม คนที่อยู่ที่บ้านจะสามารถออกกำลังกายโดยใช้ VR ได้ เป็นการเปลี่ยนโลกของสื่อความบันเทิง

กระทิง กล่าวว่า ถึงแม้ว่ามนุษย์จะเป็นสัตว์สังคมที่ต้องการออกไปพบปะกับผู้คน แต่เมื่อวิกฤติมาเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เช่น การทำงานจากที่บ้าน การศึกษาออนไลน์เป็นเรื่องปกติ ถ้าพัฒนาให้คนปฏิสัมพันธ์กันผ่านทางโลก VR ได้มากขึ้น ไลฟ์สไตล์คนก็จะเปลี่ยน ในอนาคตคนอาจจะไปดูหนังที่โรงหนังน้อยลงเพราะสามารถดูอยู่ที่บ้านได้

“นึกภาพถ้าบริการสตรีมมิ่งให้บริการหนังชนโรงได้ และประสบการณ์การรับชมไม่ต่างกับโรงหนัง ธุรกิจโรงหนังก็จะเหนื่อย”

เทคโนโลยีไม่ยั่งยืน ฮีโร่คือคน

กระทิง กล่าวว่า “เราเคยบอกว่าเทคโนโลยีจะเข้ามาแก้ปัญหาทุกอย่างของโลกนี้ เมื่อถึงจุดหนึ่งจะเห็นว่าโมเดลของการใช้เทคโนโลยีเป็นธงนำตั้งแต่ต้นมันไม่ยั่งยืน”

ในอนาคตเทคโนโลยีจะถูกสร้างมาเพื่อให้ตอบโจทย์การทำงาน เป็นเพียงแค่อุปกรณ์ และคนนำไปใช้เปลี่ยนแปลงโลก

ทุนนิยมที่เร่งเครื่องด้วยเทคโนโลยี สุดท้ายจะได้รับผลกระทบ วัตถุประสงค์ของธุรกิจจากที่มองตัวกำไรมาก่อน จะต้องเปลี่ยนเป็นการดูแลคน และทำเพื่อสังคม ส่งผลให้บริษัทมีพันธกิจมากขึ้น จริงจังมากขึ้น ไม่ใช่แค่ CSR แต่ต้องหยั่งรากลึกเป็น DNA ของบริษัท

“ยกตัวอย่างผู้ถือหุ้นที่เป็นกองทุนบริหารเงินเป็นล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่เลือกลงทุนกับบริษัทที่มีธรรมาภิบาล และใส่ใจสิ่งแวดล้อม”

นโยบาย KBTG ดูแลพนักงาน พร้อมเร่งพัฒนาองค์กร

กระทิง กล่าวว่า KBTG เลือกให้พนักงานทำงานที่บ้านจนถึงสิ้นเดือนมิถุนายน เพื่อความปลอดภัยและสุขภาพ ถึงแม้ว่าจะเหนื่อยมากขึ้น แต่เป็นการทำสิ่งที่ถูกต้อง เพราะถ้าเป็นลูกหลานเรา คงไม่อยากให้มาอยู่กับบริษัทที่ไม่ใส่ใจสุขภาพพนักงาน

ปรับรูปแบบสำนักงานว่าในอนาคตจะออกมาเป็นรูปแบบไหน รวมถึงวางแผนเปลี่ยนวิธีการทำงานทั้งหมด

ด้าน New Digital Core จะมีการพัฒนาอีกหลายตัว เร่งให้เร็วขึ้น เพื่อปฏิรูปบริษัท เป็นการนำแผนของปี 2022 เข้ามาทำตอนนี้

สำนักงานที่ประเทศจีนจะต้องเปิด ถึงแม้ว่าตอนนี้จะเดินทางไปไม่ได้ รวมถึงในเมียนมาและอินโดนีเซีย จะต้องตามไปสนับสนุนเพื่อให้ KBank เป็นธนาคารชั้นนำในภูมิภาคนี้

“ปีที่ผ่านมาเราได้รับการยกย่องเป็น 1 ใน 20 ธนาคารที่ดีที่สุดในเอเชียแปซิฟิก ซึ่งเราสร้างความแตกต่างกับธนาคารอื่นผ่าน KBTG ซึ่งเราตั้งเป้าจะเป็นหนึ่งในธนาคารดิจิทัลที่ดีที่สุดในภูมิภาคนี้ให้ได้”

กระทิง กล่าวต่อว่า หลังจากนี้จะต้องทำงานมากขึ้น เร็วขึ้น และโฟกัสมากขึ้น เลือกทำบางอย่างและทำให้ดีที่สุด แบ่งเป็น 4 เรื่อง คือ เรื่องแรกคือเรื่องของคน เรื่อง 2 คือ นวัตกรรมในองค์กร การทำดิจิทัลทรานสฟอร์เมชั่น เรื่อง 3 คือการปรับโครงสร้างพื้นฐานให้ทันสมัย และเรื่องสุดท้าย คือ การทำ Agile หรือให้ทำงานคล่องตัว สเกลได้อย่างรวดเร็ว

เคล็ดลับความสำเร็จของ “กระทิง”

กระทิง กล่าวว่า ต้องขอบคุณทีมงานที่ทำงานอย่างหนัก ส่วนตัวไม่มีเคล็ดลับอะไร คือต้องมีความพยายาม วิสัยทัศน์ต้องชัดเจน ต้องสื่อสารให้ทุกคนในองค์กรเห็นภาพเดียวกัน และต้อง Empower หรือมอบอำนาจให้พนักงานทำงานได้ ที่ KBTG จะมี Chairman Town Hall ทุกสัปดาห์เพื่ออัปเดทข่าวสารกับพนักงาน

“ถ้าเราติดตามเขาด้วยความใส่ใจ มีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจน และสนับสนุนพนักงานให้ดีที่สุด สุดท้ายแล้ว People will make the Magic”

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ