TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistเจอ-จ่าย-จบ-จอด!! พิษโควิด-19 หรือ ...?

เจอ-จ่าย-จบ-จอด!! พิษโควิด-19 หรือ …?

การสั่งเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย บริษัท เอเชียประกันภัย 1950 จำกัด (มหาชน) เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา สาเหตุจากมีฐานะการเงินไม่มั่นคง การดำรงเงินกองทุนไม่ครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนด  มีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สิน สภาพคล่องไม่เพียงพอต่อการจ่ายค่าสินไหมทดแทน จ่ายค่าสินไหมทดแทนล่าช้า รวมถึงเสนอขายกรมธรรม์ไม่เป็นไปตามแบบและข้อความที่ได้รับความเห็นชอบจากนายทะเบียน นอกจากจะเป็นการปิดฉากบริษัทประกันในมือของตระกูลศรีกาญจนาแล้ว ยังเป็นเรื่องน่าสงสัยว่า โควิดทำให้เจ๊ง หรือมีเหตุผลอื่นอะไร

ปิดตำนาน … บ.ประกันที่ดังจากเทคโนโลยี

บริษัทเอเชียประกันภัย (1950) จำกัด (มหาชน) เป็นของกลุ่มตระกูล ”ศรีกาญจนา” มหาเศรษฐีเมืองไทย ปัจจุบันอยู่ในรุ่นที่ 3 ในมือของ “อภินรา ศรีกาญจนา” ทายาท “จุลพยัพ ศรีกาญจนา” ประธานคณะกรรมการบริษัทฯ ที่ส่งไม้ต่อให้ลูกสาวได้เข้ามาบริหารอย่างเต็มตัว ปัจจุบันอภินราดำรงตำแหน่ง “ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการสำนักสื่อสารองค์กร”

ครอบครัวศรีกาญจนาเป็นผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทอาคเนย์ประกันภัยฯ ซึ่งจุลพยัพได้เข้าไปช่วยงานตั้งแต่เรียนจบ แต่หลังเกิดความขัดแย้งรุนแรงในกลุ่มผู้ถือหุ้น ทำให้จุลพยัพต้องแยกตัวออกมาทำธุรกิจใหม่ โดยเข้าเทกโอเวอร์ “บริษัท เอเชียประกันภัย 1950 จำกัด” ซึ่งเป็นบริษัทประกันภัยขนาดเล็กของกลุ่มธนาคารเอเชียทรัสต์ เมื่อปี 2546 ตั้งแต่นั้นจุลพยัพนำทีมสร้างบริษัทขึ้นเป็น “สมาร์ท อินชัวรันส์” แข่งกับตลาด

ช่วงปี 2548-2549 บริษัท เอเชียประกันภัย 1950 จำกัด (มหาชน) คิดค้นกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์แบบใหม่แบบแรกในประเทศไทยจนได้เป็น GENERIC NAME ของวงการประกันภัย คือ ASIA 3+ ที่สร้างความแปลกใหม่เพิ่มสีสันให้กับวงการประกันภัย และได้รับการยกย่องเป็นบริษัทประกันภัยแนวนวัตกรรมใหม่

ปี 2550 บริษัท เอเชียประกันภัย 1950 จำกัด (มหาชน) ได้รับรางวัล GOLD AWARD สุดยอดแคมเปญการตลาด MAT AWARD 2007 อันดับหนึ่งจากสมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย ประเภทแนวความคิดสร้างสรรค์ทางการตลาดใหม่

เปิดศูนย์จำหน่าย ASIA 3+ บนสถานีรถไฟฟ้า BTS เป็นการให้บริการแบบครบวงจรเข้าถึงผู้บริโภคได้โดยตรง เพื่อตอบสนองไลฟสไตล์ของคนรุ่นใหม่ที่ต้องการความรวดเร็ว สะดวกสบาย ซึ่งสอดคล้องกับความต้องการจากผู้บริโภคอย่างแท้จริง

23 ธันวาคม 2551 ธนาคาร DEG (KFW) ธนาคารเพื่อการพัฒนาธุรกิจ อันดับหนึ่งจากประเทศสาธารณรัฐเยอรมัน ซึ่งเป็นธนาคารอันดับต้นของสหภาพยุโรปได้บรรลุข้อตกลงร่วมทุนกับ บริษัท เอเชียประกันภัย 1950 จำกัด (มหาชน) โดยมีวัตถุประสงค์ร่วมกัน คือ พัฒนาธุรกิจประกันภัยของบริษัทฯ ให้มีประสิทธิภาพและศักยภาพในการขยายกิจการ และเสริมฐานะความมั่นคงทางการเงิน 

6 กุมภาพันธ์ 2556 เอเชียประกันภัย 1950 ได้จดทะเบียนแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชน “บริษัทเอเชียประกันภัย 1950 จำกัด (มหาชน)” สู่ก้าวต่อไปที่ยิ่งใหญ่ และมั่นคง เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันในตลาด

ตั้งแต่ปี 2559 บริษัทฯ จับมือเป็นพันธมิตรกับคู่ค้าระดับประเทศทั้งในและนอกธุรกิจประกันภัย เพื่อสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ประกันภัยใหม่ ๆ และการให้บริการที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้าในสังคมปัจจุบันที่มีเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้บริษัทฯก้าวสู่การเป็นผู้นำและเจ้าตลาดด้านการประกันภัยสมาร์ทโฟน นอกจากนั้น บริษัทฯ เปิดตัวเทคโนโลยีการทำเคลมแบบเบ็ดเสร็จด้วยตัวเองครั้งแรกในประเทศไทย ผ่านแอปพลิเคชันมือถือ A-Serve (Click2Claim) สะดวก รวดเร็ว เลือกรับเงินโอนเข้าบัญชีได้ทันที

ปี 2561 บริษัทฯ ยังได้เปิดตัวเทคโนโลยีใหม่ ๆ อีกมากมาย อาทิ การแจ้งพิกัดการเกิดอุบัติเหตุผ่านแอปพลิเคชันมือถือ A-Serve (Click2Call) ติดตามสถานะการเดินทางพนักงานเซอร์เวย์ได้แบบเรียลไทม์ การสำรวจภัยโดยอากาศยานไร้คนขับ (Drone)

ปี 2562 บริษัทฯยกระดับการให้บริการ เพิ่มการบริการช่วยเหลือฉุกเฉิน (Asia Roadside Assistance) และการนำเทคโนโลยีเข้ามาอำนวยความสะดวกแก่ลูกค้าและคู่ค้า เช่น การส่งกรมธรรม์อิเล็กทรอนิกส์ e-policy การส่งใบเตือนต่ออายุผ่านสมาร์ทโฟน ฯลฯ เพิ่มความสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยกระดับความมั่นคงทางการเงินโดยการเพิ่มทุนจดทะเบียนเพิ่มอีก 300 ล้านบาท

แต่เมื่อหันไปดูงบการเงินงวด 6 เดือนแรกปี 2464 ของบริษัทเอเชียประกันภัย 1950  พบว่า มีผลขาดทุนสะสม 285.8 ล้านบาท แสดงว่าบริษัทมีความไม่แน่นอนในการดำเนินงานของบริษัท โดยเฉพาะปัญหาของบริษัทเอเชียประกันภัย มีมาตั้งแต่ต้นปี 2563 การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 

ขณะที่ข้อมูลงบการเงิน ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2564 ที่มีการเปิดเผยพบว่า เอเชียประกันภัย 1950 มีสินทรัพย์รวม 4,867 ล้านบาท มีเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสด 684.50 ล้านบาท มีรายได้รวม 491.06 ล้านบาท 

ในขณะที่ค่าสินไหมทดแทนจากการรับประกันภัยโดยตรง ขาดทุน 720.79 ล้านบาท เงินลงทุนในหลักทรัพย์ ขาดทุน 78.10 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายในการรับประกันภัยอื่น ขาดทุน 222.68 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน ขาดทุน 200.30 ล้านบาท

เกิดอะไรขึ้นกับบริษัทประกันวินาศภัยที่สร้างชื่อเสียงกับการคิดและการใช้ในวัตกรรมทางธุรกิจ จนมีชื่อเสียงและได้รับการยอมรับ เวลาผ่านไป 10 ปี กลับขาดทุนจนต้องถูกถอนใบอนุญาต?

เจอ- จ่าย- จบ ทำเจ๊ง?

การกำเนิดของกรมธรรม์โควิด-19 ที่เรียกติดหูกันว่า เจอ-จ่าย-จบ ที่ผู้ซื้อกรมธรรม์ จะได้รับการคุ้มครองเมื่อติดเชื้อโควิด-19 เริ่มได้สวย บริษัทประกันวินาศภัยหลายแห่งพร้อมใจกันระเบิดแคมเปญนี้ออกมา ในราคาที่แตกต่างกัน คุ้มครองไม่เท่ากัน ตั้งแต่หลักหลายร้อยไปจนถึงหลักหลายพัน  

แต่เมื่อวิกฤติโควิดระลอกสามระเบิดขึ้นในเดือนเมษายน มีผู้ขอซื้อกรมธรรม์เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว “อาภากร ปานเลิศ” ผู้ช่วยเลขาธิการสายกำกับผลิตภัณฑ์ประกันภัย สำนักงาน ศปภ. เปิดเผยใน ประชาชาติออนไลน์ เมื่อ 22 ก.ค. 64 ว่า ณ วันที่ 30 มิ.ย. 64 มีเบี้ยประกันภัยรับรวม 9,221 ล้านบาท จากจำนวน 26.94 ล้านกรมธรรม์ ยอดจ่ายเคลมประกันรวม 2,051 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14.99% จากปี 2563 ซึ่งมีจำนวนกรมธรรม์รวม 12.65 ล้านกรมธรรม์ ยอดจ่ายเคลมรวม 1,774.84 ล้านบาท ส่งผลให้สิ้นเดือนมิ.ย. ยอดจ่ายเคลมสะสมเพิ่มมาอยู่ที่ 2,050.49 ล้าน หรือเพิ่มขึ้น 79.38% และเพิ่มขึ้น 645.50% จากสิ้นปี 2563

ขณะที่พิเชฐ เจียรมณีทวีสิน กก.ผจก.แอคชัวเรียล บิสซิเนส โซลูชั่น และอดีตนายกสมาคมนักคณิตศาสตร์ประกันภัย มองว่า จุดอ่อนของประกันโควิด คือ ผูกติดกับประสิทธิภาพการจัดการของรัฐบาล และเบี้ยประกันภัยเฉลี่ยเท่ากันทุกช่วงอายุ ซึ่งความเป็นจริง ต้นทุนของการเคลมจะดูที่อัตราการติดเชื้อกับความรุนแรงที่เกิดหลังการติดเชื้อ ซึ่งทั้งสองปัจจัยจะแตกต่างกันตามช่วงอายุ

คิดผิด คิดใหม่ (ไม่)ได้

ก่อนเหตุการณ์เอเชียประกันภัย ก็มีกรณีของสินมั่นคงประกันภัย ที่ใช้สิทธิ์บอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยโควิดแบบ “เจอ-จ่าย-จบ” แต่ถูกสังคมวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง จนสำนักงานศปภ.ต้องคำสั่งนายทะเบียนให้ยกเลิกการยกเลิกเสีย เพราะจะกระทบต่อระบบประกันภัยโดยรวม

การประกันที่เรียกว่า “เจอ-จ่าย-จบ” จึงไม่คุ้มค่า หลายรายจึงต้องเพิ่มเงื่อนไข เมื่อหมดอายุกรมธรรม์ เป็นลักษณะจ่ายเมื่ออยู่ในสภาพอาการหนัก หรือมุ่งเน้นไปการรักษา ไม่ใช่ติดเชื้อก็จ่าย

นี่เป็นสาเหตุหลักหรือเปล่าที่เอเชียประกันภัย ประสบกับการขาดทุนจนต้องเข้าสู่การถูกยกเลิกใบอนุญาต บริษัทประกันวินาศภัย ไม่ได้มีกรมธรรม์โควิดประเภท “เจอ-จ่าย-จบ” แต่เพียงอย่างเดียว ยังมีกรมธรรม์เรื่องรถยนต์ เรื่องบ้านพักอาศัยอยู่อีก หรือสาเหตุจากเรื่องอื่นที่ต้องติดตามกันไป

แต่ข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งที่คณิตศาสตร์ประกันภัย คิดไม่ได้ คือ ปัจจัยจากธรรมชาติ ที่คาดเดาไม่ได้ว่าความรุนแรงของการติดเชื้อ จะขยายตัวได้อย่างรวดเร็ว ดังคำพูดของพิเชฐที่ว่า

“บริษัทประกัน ลืมคิดถึงสิ่งที่เรียกว่า over insure ของลูกค้า ตั้งแต่ขั้นตอนการพิจารณารับประกัน ส่งผลให้เมื่อความรุนแรงของเชื้อไวรัสกลายพันธุ์เพิ่มมากขึ้น จึงเป็นเหตุให้บริษัทประกันขาดทุนเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะแผนเจอ-จ่าย-จบ”

จะมีอีกไหม?

รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย และอดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ให้ความเห็นกรณี การถอนใบอนุญาตและปิดกิจการของบริษัท เอเชียประกันภัย 1950 จำกัด (มหาชน) ว่า อาจจะไม่ได้เป็นเพียงรายเดียว เนื่องจากยังมีบริษัทประกันภัยจำนวนหนึ่งมีฐานะการเงินไม่เข้มแข็งนักและมีปัญหาสภาพคล่องอยู่ ในระยะแรกของการแพร่ระบาดโควิด-19 (covid-19) นั้น ธุรกิจประกันภัยได้รับผลกระทบน้อยมาก และบริษัทประกันจำนวนไม่น้อยได้พลิกวิกฤติเป็นโอกาส 

แต่จากการสำรวจข้อมูลของ คปภ. เมื่อปีที่แล้วพบว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อธุรกิจทุกภาคส่วนรวมถึงรายได้และความสามารถในการใช้จ่าย จากการรับรู้ข้อมูลข่าวสารที่หลากหลายช่องทาง ผู้คนจึงตระหนักและมีความต้องการซื้อผลิตภัณฑ์ประกันภัยมากยิ่งขึ้น ทำให้แนวโน้มยอดขายกรมธรรม์ประกันภัยโควิด-19 มีสัดส่วนมากเมื่อเทียบกับยอดขายทั้งหมดของธุรกิจประกันใน 1-2 ปีที่ผ่านมา 

แต่การเกิดการติดเชื้อโควิดจำนวนมาก ทำให้ธุรกิจประกันบางแห่งที่มีฐานะการเงินอ่อนแออยู่แล้ว ทรุดตัวลงอย่างรวดเร็ว ดร.อนุสรณ์เตือนให้ระมัดระวัง กิจการธุรกิจประกัน สหกรณ์ออมทรัพย์ ธุรกิจโรงรับจำนำจะมีปัญหาสภาพคล่องเพิ่มเติม นอกจากนี้ ขอให้เฝ้าระวังหนี้เสียของกลุ่มพิโกไฟแนนซ์และกิจการเช่าซื้อขนาดเล็ก

“กรณีของบริษัทเอเชียประกันภัยนั้นเป็นผลมาจากความผิดพลาดในการบริหารความเสี่ยงและการบริหารสภาพคล่องของบริษัท มากกว่าผลจากธุรกิจอุตสาหกรรมประกันและเศรษฐกิจโดยรวม” คือ ความเห็นในตอนท้าย ที่น่าจะเป็นการส่งสัญญาณของกรมธรรม์ประเภท “เจอ-จ่าย-จบ” ว่าอาจจะมีภาคสองหรือไม่ อยู่ที่มาตรการในการดูแลของศปภ.ว่าจะเข้มงวดและติดตามได้รวดเร็วเพียงใด

น้าแมวน้ำ: ในบุญ พรวศิน

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ