TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistยูเนสโก ขึ้นทะเบียนการละเล่น “โนรา” ของไทย เป็นมรดกวัฒนธรรม ที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ

ยูเนสโก ขึ้นทะเบียนการละเล่น “โนรา” ของไทย เป็นมรดกวัฒนธรรม ที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ

ข่าวดีก่อนสิ้นปี พ.ศ.2564 “โนรา” การละเล่นพื้นเมืองภาคใต้ของไทย ในชื่อ Nora, Dance Drama in Southern Thailand ได้รับการรับรองขึ้นทะเบียนเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ในการประชุมคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลตามภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ครั้งที่ 16 ซึ่งจัดขึ้นที่สำนักงานใหญ่องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก (UNESCO) กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ระหว่างวันที่ 15-16 ธันวาคม 2564 นับเป็นรายการที่ 3 ของประเทศไทยหลังจาก “โขน” และ “นวดไทย” ได้รับการขึ้นทะเบียนในปี พ.ศ. 2561 และ 2562 ตามลำดับ

อนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้กำหนดให้ประเทศภาคีจัดทำรายชื่อมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ และดำเนินการให้ดำรงสืบทอดต่อไป โดยมีการระดมเงินบริจาคระหว่างประเทศสมาชิกยูเนสโกมาใช้เพื่อการทำนุบำรุงมรดกที่ขึ้นทะเบียนแล้ว

นิยามของ “มรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้” (Intangible Cultural Heritage) คือ การปฏิบัติ การแสดงออก ความรู้ ทักษะ ตลอดจนเครื่องมือ วัตถุ สิ่งประดิษฐ์ รวมทั้งพื้นที่ทางวัฒนธรรมอันเป็นผลจากสิ่งเหล่านั้น ซึ่งชุมชนและกลุ่มชนยอมรับว่าเป็นส่วนหนึ่งของมรดกทางวัฒนธรรมของตนที่ถ่ายทอดจากคนรุ่นหนึ่งไปยังคนอีกรุ่นหนึ่ง โดยมีการปรับเปลี่ยนอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่องเพื่อตอบสนองต่อสภาพแวดล้อมของตน จนทำให้เกิดความรู้สึกมีอัตลักษณ์

“โนรา” เป็นการละเล่นพื้นเมืองของภาคใต้ที่สืบทอดกันมายาวนานกว่า 500 ปี ตามตำนานเชื่อกันว่าเกิดขึ้นที่เวียงบางแก้ว (พื้นที่จังหวัดพัทลุงในปัจจุบัน) เดิมเป็นการแสดงในราชสำนักแล้วแพร่หลายออกไปยังเมืองอื่น ๆ ของภาคใต้ จนไปถึงภาคกลางในสมัยกรุงศรีอยุธยามีการนำเอานิทานพื้นบ้านเรื่องพระสุธน-มโนราห์ มาแสดงเป็นละครชาตรี จึงเกิดคำเรียกว่า “มโนราห์” (บางทีก็เขียนว่ามโนห์รา)

บ้างก็สันนิษฐานว่าโนราได้รับอิทธิพลมาจากการร่ายรำของอินเดียโบราณตั้งแต่ก่อนสมัยศรีวิชัย จากพ่อค้าชาวอินเดียที่เดินทางมาค้าขายทางแหลมมลายู เนื่องจากท่ารำแม่บทของโนราหลายท่าคล้ายคลึงกับ “ท่ากรณะ” ในคัมภีร์ภรตนาฏยศาสตร์ของอินเดีย รวมทั้งใช้เครื่องดนตรีแบบเดียวกันที่เรียกว่า “เบญจสังคีต” ประกอบด้วย โหม่ง ฉิ่ง ทับ กลอง ปี่ใน จนพัฒนาเป็นรูปแบบโนราชัดเจนในราวพุทธศักราชที่ 1820 สมัยสุโขทัยตอนต้น

ต่างจากความคิดของ สุจิตต์ วงษ์เทศ นักประวัติศาสตร์เจ้าของผลงานหนังสือ “โขน ละคร ลิเก หมอลำ เพลงลูกทุ่ง มาจากไหน? ที่เชื่อว่าโนรามาจากละครภาคกลางที่แพร่หลายลงไปทางภาคใต้ในสมัยอยุธยา ซึ่งเดิมเรียกว่า “ชาตรี” เป็นละครชาวบ้านรับจ้างเล่นแก้บน มักเล่นเรื่องพระสุธน นางมโนราห์ จึงเรียกคำคล้องจองเป็น “มโนราห์ชาตรี” ต่อมากร่อนเป็นโนราชาตรี และเหลือเพียงแค่คำว่า “โนรา” ในที่สุด

คำว่า “ชาตรี” กลายมาจากคำสันสกฤตว่า “ยาตรี” หมายถึงนักแสวงบุญด้วยการ “ยาตรา” หรือการเดินทางย่างก้าวของเท้าทั้งคู่ โดยผู้รับจ้างเล่นละครแก้บนจะเดินตระเวนหางานจากผู้ว่าจ้างไปตามชุมชนหมู่บ้านเสมือนนักแสวงบุญ 

นอกจากนี้ “เทริด” (ออกเสียงว่า “เซิด”) ซึ่งโนราให้ความสำคัญอย่างมาก เดิมเป็นเครื่องสวมหัวเมื่อเล่นละครในยุคแรกเริ่มของราชสำนักอยุธยา ซึ่งในพิธีไหว้ครูและครอบโขนละครในภาคกลางยังต้องมีเทริดตั้งบูชาบนแท่นเชิญศีรษะศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ จึงถือได้ว่าโนราเป็นละครอยุธยาตกค้างเก่าแก่ที่สุด

การละเล่นโนรามีทั้งการร้อง การรำ และการเล่นเป็นเรื่อง โดยแสดงตามคติความเชื่อที่เป็นพิธีกรรม บทร้องเป็นกลอนสด ผู้ขับร้องต้องใช้ปฏิภาณไหวพริบ สรรหาคำให้สัมผัสกันได้อย่างฉับไว โนรามีแม่บทท่ารำอย่างเดียวกับละครชาตรี ทั้งยังมีท่ารำตัวอ่อน หรือโนราตัวอ่อน มีการโค้งตัว และดัดตัวเป็นท่าทางต่างๆ แบบเดียวกับนักแสดงกายกรรม ซึ่งต้องฝึกหัดตั้งแต่ในวัยเด็ก อีกทั้งต้องแสดงออกทางสีหน้า ท่าทาง แววตา ทำให้ผู้เล่นโนราจะต้องมีความสามารถในศาสตร์และศิลป์ครบเครื่อง 

เอกลักษณ์ที่โดดเด่นอย่างหนึ่งของโนราคือเครื่องแต่งกายที่ทำด้วยลูกปัดหลากสีเป็นลายมีดอกดวง ใช้สวมลำตัวท่อนบนแทนเสื้อ สวมปีกนกแอ่นและหางหงส์ ผ้านุ่ง สนับเพลา ผ้าห้อยหน้า ผ้าห้อยข้างกำไลต้นแขน-ปลายแขน และมีการต่อเล็บยาวที่ทำด้วยโลหะ ศีรษะสวมเทริดทรงสูง เป็นเครื่องประดับของโนราใหญ่หรือโนรายืนเครื่อง ส่วนตัวนางหรือนางรำสวมเครื่องแต่งกายที่เรียกว่า “เครื่องนาง” ไม่มีกำไลต้นแขน ทับทรวงและปีกนกแอ่น ซึ่งแต่เดิมโนรานิยมใช้ผู้ชายล้วนแสดง ภายหลังมีผู้หญิงเข้าไปแสดงด้วย

เครื่องดนตรีที่ใช้ส่วนใหญ่เป็นเครื่องตีให้จังหวะทำให้เกิดความตื่นเต้นเร้าใจ เครื่องตีที่สำคัญที่สุดคือ ทับโนรา 2 ใบ ทำหน้าที่คุมจังหวะและนำในการเปลี่ยนจังหวะตามผู้รำ โดยใช้คนตีเพียงคนเดียว มีกลองทำหน้าที่เสริมเน้นจังหวะและล้อเสียงทับ ปี่ใน โหม่งหรือฆ้องคู่ ฉิ่ง และแตระ ปัจจุบันมีการพัฒนาเอาเครื่องดนตรีสากลเข้ามาร่วมแสดงด้วย

การแสดงโนรามี 2 รูปแบบ คือ โนราเพื่อความบันเทิง จะเน้นแสดงอวดความชำนาญทั้งการร้องและการรำเป็นสำคัญ การร้องจะต้องแสดงเสียงที่ไพเราะ จังหวะถูกต้องเร้าใจ มีปฏิภาณในการคิดกลอนได้รวดเร็ว คมคาย มีเนื้อหาดีและสัมผัสดี การรำสามารถผสมท่าต่าง ๆ เข้ากันอย่างต่อเนื่อง ลีลาถูกต้องตามแบบฉบับ อ่อนช้อยและเข้ากับจังหวะดนตรี บางคนมีการแสดงความสามารถเฉพาะตัว เช่น การเล่นแขน การทำตัวอ่อน หรือรำท่าพลิกแพลง และ “การทำบท” ซึ่งถือเป็นศิลปะสุดยอดของโนรา โดยการอวดความสามารถในการตีความหมายบทร้องออกมาเป็นท่ารำที่พิสดาร ทำให้คำร้องกับท่ารำและดนตรีกลมกลืนกันอย่างเหมาะเจาะ 

นอกจากนี้ ยังมีการเล่นเป็นเรื่อง ซึ่งปกติโนราจะไม่เน้นการเล่นเป็นเรื่อง ยกเว้นมีเวลาแสดงมากอาจเล่นเป็นเรื่องเพื่อเพิ่มความสนุกสนาน จะเลือกเนื้อเรื่องที่รู้จักดีกันอยู่แล้ว โดยไม่เน้นการแต่งตัวตามเรื่อง แต่เน้นตลกและการขับบทกลอนแบบโนราให้ได้เนื้อหาตามท้องเรื่อง

ส่วนโนราอีกประเภทเป็นพิธีกรรมไหว้ครูหรือบรรพบุรุษของโนรา (บางพื้นที่เรียกว่า “ตายายโนรา”) เพื่อแสดงความกตัญญูโดยมีการเชิญวิญญาณครูมาเข้าทรงหรือ “ลง” มายังโรงพิธี จึงเรียกพิธีนี้ว่า “โนราลงครู” หรือ“โนราโรงครู” นอกจากนี้ยังมีวัตถุประสงค์อื่นๆ เช่น ประกอบพิธีครอบเทริดหรือผูกผ้าแก่ผู้แสดงโนรารุ่นใหม่ การแก้บน หรือรักษาโรคภัยแก่ชาวบ้านตามความเชื่อดั้งเดิมที่สืบทอดกันมา รวมถึงความเชื่อท้องถิ่นอีกมากมาย ซึ่งแสดงให้เห็นมิติทับซ้อนทางด้านวิถีวัฒนธรรม ความเชื่อ และความศรัทธา ของชาวใต้ที่ผูกพันกับโนราอย่างแนบแน่น

โนราโรงครูมี 2 ชนิด ได้แก่ โนราโรงครูใหญ่ เป็นการรำโนราโรงครูอย่างเต็มรูปแบบ มีการทำพิธีต่อเนื่องกัน 3 วัน 3 คืน โดยเริ่มในวันพุธไปสิ้นสุดด้วยพิธีส่งครูในวันศุกร์ จะทำเป็นประจำทุกปี หรือทุก 3 ปี 5 ปี ตามแต่การถือปฏิบัติของโนราแต่ละสาย อีกชนิดเรียกว่าโนราโรงครูเล็ก ใช้เวลาเพียง 1 วันกับ 1 คืน นิยมเริ่มพิธีตอนเย็นวันพุธไปสิ้นสุดในวันพฤหัสบดี โดยมีสาระสำคัญเช่นเดียวกับโนราโรงครูใหญ่

แม้การแสดงโนราจะเป็นการละเล่นหรือศิลปะการแสดงเก่าแก่ แต่ยังคงได้รับความนิยมในพื้นที่ภาคใต้ของไทยอย่างเหนียงแน่นท่ามกลางกระแสวัฒนธรรมและวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป โดยปัจจุบันมีจำนวนมากกว่า 200 คณะ แบ่งเป็น 12 สายตระกูลหลัก มีการสืบทอดท่ารำตามแบบฉบับของแต่ละสายตระกูล ส่วนใหญ่กระจายอยู่ในพื้นที่จังหวัดพัทลุง ตรัง นครศรีธรรมราช และสงขลา ซึ่งตั้งอยู่รอบ ๆ ทะเลสาบสงขลา

อย่างไรก็ตาม ทางตอนบนของภาคใต้ก็มีคณะโนราแสดงขึ้นไปถึงจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ส่วนทางตอนใต้มีคณะโนราสองภาษาในเขตสามจังหวัดภาคใต้ รวมทั้งข้ามพรมแดนไปยังชุมชนชาวไทยใน กลันตัน เกดาห์ ปะลิส และปีนัง ของมาเลเซียด้วย

ทั้งนี้ คำแปลเป็นภาษาไทยของคำว่า Intangible Cultural Heritage แม้จะนิยมเรียกว่ามรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ แต่ก็มีการใช้คำอื่นๆ หลากหลายจนกระทรวงวัฒนธรรมได้เปิดเวทีรับความคิดเห็น และมีมติให้ใช้คำว่า “มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม” แทนคำว่า “มรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้” ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม พ.ศ. 2559 ซึ่งมีความหมายที่แตกต่างจากความหมายในคำศัพท์เดิมบางประการ จึงยังไม่มีการใช้กันแพร่หลายนัก

ปัจจุบันประเทศไทยมีรายการที่ขึ้นทะเบียนในบัญชีมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของยูเนสโกแล้ว 3 รายการ ได้แก่ โขน ละครรำสวมหน้ากากในไทย ขึ้นบัญชีในปี พ.ศ. 2561, นวดไทย การนวดแผนไทย ขึ้นบัญชีปี พ.ศ. 2562 และล่าสุดปี พ.ศ.2564 คือ โนรา นาฏศิลป์ในภาคใต้ของไทย โดยมีรายการที่เสนอขึ้นทะเบียนอยู่ระหว่างการพิจารณา 2 รายการคือ สงกรานต์ในประเทศไทย และต้มยำกุ้ง ส่วนรายการที่เตรียมเสนอขึ้นทะเบียนต่อไป คือ มวยไทย และผีตาโขน

สมชัย อักษรารักษ์ … อดีตบรรณาธิการ ผู้มีประสบการณ์ 20 ปี ในวงการงานข่าวการตลาด-ไอที แต่มีความสนใจในประวัติศาสตร์เป็นพิเศษ จนได้ใช้ทำงานสารคดีนาน 10 ปี

ขอบคุณภาพจาก เว็บไซต์ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม

จาก “ละมุนภัณฑ์” ถึง “จักรวาลนฤมิต” คำศัพท์สะท้อนเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป

รถไฟความเร็วสูงไทย…หนทางอีกยาวไกล

ป้ายทะเบียนรถแบบพิเศษ ใส่ชื่อคนปนตัวเลขได้

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ