TH | EN
TH | EN
หน้าแรกBusinessโควิด ดันอีคอมเมิร์ซโต แต่กระทบกำลังซื้อผู้บริโภค

โควิด ดันอีคอมเมิร์ซโต แต่กระทบกำลังซื้อผู้บริโภค

เศรษฐกิจปี 2020 เป็นปีที่มีความท้าทายหลายอย่าง โดยเฉพาะโควิด-19 ส่งผลกระทบทั่วโลก หลายธุรกิจที่พึ่งพาตลาดรีเทล ไม่ว่าจะเป็น ธุรกิจค้าปลีก ร้านอาหาร หรือการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบอย่างมากต้องใช้เวลานานกว่าจะกลับมาในจุดเดิม อาจจะกลับมาได้ปี 2021 -2022 แต่ทว่าอีคอมเมิร์ซกลับเติบโตก้าวกระโดด

ธนาวัฒน์ มาลาบุปผา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท ไพรซ์ซ่า จำกัด และนายกสมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย กล่าวกับ The Story Thailand ว่า ตลาดอีคอมเมิร์ซประเทศไทย ก่อนโควิด-19 เติบโตปีละ 20-30% ปี 2020 โควิด-19 เป็นตัวเร่งให้อีคอมเมิร์ซเป็นกระแสหลักมากขึ้นจากเดิมคนที่ไม่เคยช้อปปิ้งออนไลน์ แต่มาอยู่ในข้อจำกัด จึงมาใช้อีคอมเมิร์ซในการสั่งซื้อสินค้าต่าง ๆ

มีการทำสำรวจความคิดเห็น พบว่า 50% ของคนที่ไม่เคยซื้อของออนไลน์ แต่ต้องมาซื้อของออนไลน์เพราะความจำเป็นช่วงโควิด-19 จะซื้อของออนไลน์ต่อไปเรื่อย ๆ ทำให้เห็นภาพว่าอีคอมเมิร์ซในไทยยิ่งเติบโต แทนที่จะต้องรอ 2-3 ปี ปีนี้เป็นตัวเร่งให้อัตราการเติบโตสูงกว่าที่มันควรจะโตตามปกติ

ปัจจัยที่ต้องคำนึงถึง คือ เม็ดเงินของผู้บริโภค แม้ธุรกิจในหลายอุตสาหกรรมจะมีการปรับตัวได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นค้าปลีก แบรนด์ต่าง ๆ ช่วงโควิด-19 แทบทุกแบรนด์​ทุกธุรกิจ กระโจนเข้าสู่ออนไลน์ หลายแบรนด์ใช่ช่องทางโซเชียลมีเดียเป็นเพียงช่องทางสำหรับการปฏิสัมพันธ์ เข้าถึง สื่อสารกับฐานลูกค้า แต่พอเจอวิกฤติโควิด-19 ช่องทางเหล่านั้นถูกเปลี่ยนมาเป็นช่องทางในการซื้อขายของ

แม้ธุรกิจจะมีการปรับตัวได้ดี แต่ก็ต้องคำนึงถึงด้วยว่าเม็ดเงินในกระเป๋าของผู้บริโภค ถ้าเขาเองไม่สามารถที่จะหารายได้ส่วนบุคคล (Disposable Income) เพื่อมีเม็ดเงินสำหรับการจับจ่ายใช้สอยให้ได้เพียงพอ หรือเท่าเดิม หรือเติบโต ในระยะยาวจะส่งผลกระทบกับธุรกิจเช่นกัน เป็นสิ่งที่น่ากลัว และไม่มีใครบอกได้ชัดเจนว่าเม็ดเงินในกระเป๋าผู้บริโภคจะยังคงมีมากน้อยแค่ไหน

โควิด-19 กระทบต่อกำลังซื้อของผู้บริโภค (Spending Power) ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญต้อการขยายตัวของอีคอมเมิร์ซในไทย แม้ว่าจะมีโปรโมชั่นดี แต่หากกำลังซื้อเริ่มหด จะส่งผลกระทบในวงกว้าง ซึ่งมีสัญญาณหลายตัวออกมา อาทิ มาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายของภาครัฐ ที่เห็นคือ เม็ดเงินที่ใช้กระตุ้นเศรษฐกิจ แต่โควตาใช้ไม่หมด หมายความว่าแม้จะมีมาตรการส่วนลดภาษี แต่คนจะระมัดระวังการใช้เงิน ไม่รีบใช้จ่าย การท่องเที่ยวไม่ใช่สิ่งจำเป็น ตรงนี้เป็นปัจจัยที่บอกยากว่าอีคอมเมิร์ซไทยในปีหน้าจะเติบโตมากแค่ไหน

ภาพรวมธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ก่อนโควิด-19 มาถึงช่วงล็อกดาวน์ ​จำนวนคนเข้าแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ (Traffic) เติบโตขึ้นประมาณ​ 50% โดยเฉลี่ยในทุกหมวดสินค้า แต่หลังจากเริ่มคลายล็อกดาวน์แล้วจำนวนคนเข้าแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซกลับมาอยู่จุดเดิม

แต่มีสิ่งหนึ่งที่เปลี่ยนแปลงไป คือ อัตราการซื้อ (Conversion Rate) เติบโต 20% แม้คลายล็อกดาวน์แล้ว ตรงนี้เป็นสัญญาณบอกว่าคนเริ่มเปลี่ยนพฤติกรรม

“เดิมคนเข้าแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ เพื่อเข้าไปตรวจสอบราคา แต่มีพฤติกรรมไปซื้อผ่านช่องทางออฟไลน์ แต่โควิด-19 จบไป พฤติกรรมจากไปหาข้อมูลเปลี่ยนเป็นตัดสินใจซื้อบนออนไลน์เลย”

ผู้บริโภคในยุคโควิด-19 ได้ให้ความสำคัญกับ 2 ปัจจัย ได้แก่ ความคุ้มค่าคุ้มราคา ถ้าแบรนด์ไหนสามารถสื่อจุดขายตรงนี้ได้ มีแนวโน้มได้เม็ดเงินผู้บริโภค ปัจจัยต่อมาคือ สุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นอาหารและเครื่องดื่ม จะเน้นเรื่องสุขภาพ การคุ้มค่าและคุ้มราคาสำหรับอีคอมเมิร์ซ คือ ส่วนลดต่าง ๆ และการจัดส่งฟรี

สินค้า แบรนด์​ การจัดส่ง

สิ่งที่ยังขาดอยู่ในระบบนิเวศอีคอมเมิร์ซในไทยมี 3 เรื่องหลัก ๆ เรื่องแรก คือ สินค้า ในมุมผู้ขายคนไทย มีทั้งรายย่อย (C2C) ใช้อีคอมเมิร์ซสร้างรายได้เสริม กลุ่มที่ 2 คือ ภาคธุรกิจต่าง ๆ ที่ต้องการทำธุรกิจอีคอมเมิร์ซ เรื่องที่ยังขาดอยู่ คือ การสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จัก หลายรายยังเป็นซื้อมาขายไป นำสินค้าจากจีนมาบวกราคาแล้วขายตัดราคากัน

“ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ไม่ใช่แค่หาสินค้ารายถูกมาขายราคาแพง ได้กำไร แต่ต้องอาศัยการคาดการณ์ ธุรกิจอีคอมเมิร์ซในประเทศไทยยังขาดการสร้างแบรนด์ ทั้งแบรนด์สินค้าและแบรนด์ร้านค้า การสร้างความเชื่อใจว่าอะไรคือมูลค่าเพิ่มที่ร้านมีให้กับฐานลูกค้า ถ้านึกถึงแบรนด์ของร้านค้า ลูกค้าจะนึกถึงอะไร บริการที่ดี การตอบที่ดี การบริการหลังการขายที่ดี การจัดส่งเร็ว หรือไว้ใจ้ได้

การสร้างแบรนด์สำคัญมาก เพราะตลาดอีคอมเมิร์ซในปัจจุบันไม่ได้แข่งกันเฉพาะคนขายคนไทยเท่านั้น แต่มีผู้ขายจากต่างประเทศโดยเฉพาะจากจีน เข้ามาขายแข่งกับคนไทยบนตลาดเดียวกัน

สิ่งที่ยังขาดอีกอย่าง คือ การจัดส่ง ในประเทศที่อีคอมเมิร์ซพัฒนาแล้วอย่างประเทศจีน จะสามารถจัดส่งสินค้าได้ทั่วประเทศภายในระยะเวลา 2-3 วัน ประเทศไทยมีพัฒนาการไปค่อนข้างมาก แต่ยังมีจุดที่ยังสามารถพัฒนาได้อีก อาทิ ในกรุงเทพฯ​ มีจัดส่งแบบภายในวัน (Same Day) หรือวันถัดไป (Next Day) ได้ แต่พอออกไปต่างจังหวัดที่ไม่ใช่หัวเมืองใหญ่ Same Day หรือ Next Day ยังทำไม่ได้

“ถ้าทำให้จัดส่งแบบ Same Day หรือ Next Day ได้ทั่วประเทศ จะเป็นการจุดพลุของตลาดอีคอมเมิร์ซในประเทศไทย ซึ่งเป็นแนวโน้มหลักของโลก คนซื้ออยากได้สินค้าเร็ว ทันที ซึ่งเอกชนที่ทำธุรกิจขนส่งจะมีการลงทุนเพื่อให้บริการนี้”

ประการสุดท้าย คือ การชำระเงิน (Payment) ซึ่งดีขึ้นเรื่อย ๆ ปัจจุบัน คนใช้เงินสดน้อยลง โควิด-19 เร่งให้คนใช้เงินสดน้อยลง เปลี่ยนไปใช้การชำระเงินแบบไร้สัมผัส (Contactless) การชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้นเรื่อย ๆ

Direct-to-Consumer และ หลากหลายช่องทาง

แนวโน้มของอีคอมเมิร์ซ ปี 2021 คือ Direct-to-Consumer เป็นโมเดลที่แบรนด์เริ่มรุกขึ้นมาขายสินค้าตรงสู่ผู้บริโภคมากขึ้นเรื่อย ๆ พร้อมแคมเปญจำนวนมาก โดยเฉพาะโควิด-19 เป็นตัวเร่งให้แบรนด์สร้างช่องทางของเขาเอง ปีนี้แบรนด์เข้ามาทดสอบตลาด ยังไม่หวังยอดขายมาก แต่ปีหน้าจะเป็นปีที่เติบโต

อีกแนวโน้มอีคอมเมิร์ซที่สำคัญ คือ การขายหลากหลายช่องทาง ไม่ว่าจะผ่านเว็บไซต์ของแบรนด์ อีคอมเมิร์ซ มาร์เก็ตเพลส และโซเชียลมีเดีย ปีหน้าเทรนด์นี้จะชัดมากขึ้นเรื่อย ๆ ผู้ให้บริการพยายามเพิ่มฟีเจอร์ ฟังก์ชั่น ให้แบรนด์สามารถขายสินค้าได้มากขึ้น ปีหน้าจะเป็นปีที่แบรนด์ขายออนไลน์ผ่านหลากหลายช่องทางมาก

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ