TH | EN
TH | EN
spot_imgspot_imgspot_img
หน้าแรกLifeMindset-ภาษา-หนังสือ-เทคโนโลยี-สุขภาพจิต สำคัญกับเด็กไทยในยุคโลกเปลี่ยนไว

Mindset-ภาษา-หนังสือ-เทคโนโลยี-สุขภาพจิต สำคัญกับเด็กไทยในยุคโลกเปลี่ยนไว

สภาพแวดล้อมทางสังคมที่เปลี่ยนไป การเติบโตอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยี รวมถึงการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ล้วนแต่เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้รูปแบบการเลี้ยงดูเด็กในยุคปัจจุบันมีความแตกต่างจากเดิม

เพื่อเป็นการรับมือกับสถานการณ์โลกที่กำลังเกิดขึ้น รวมถึงอนาคตที่อาจคาดไม่ถึง ดังนั้น คนที่เป็นผู้ปกครอง ควรศึกษาเทรนด์สำคัญในอนาคต รูปแบบการศึกษา และสื่อต่าง ๆ ที่เด็กในการปกครองจะต้องเผชิญ ทั้งที่สามารถหลีกเลี่ยงได้ หรือหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพื่อใช้เป็นเกราะป้องกัน และปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่จะเข้ามาในอนาคต

วันนี้ The Story Thailand จะพาผู้ปกครอง และผู้ใหญ่ทุกท่าน ไปฟังเสียงตัวแทนคุณพ่อคุณแม่ยุคใหม่ ระดับแนวหน้าของประเทศ ที่มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์และรูปแบบวิธีการเลี้ยงลูกในปัจจุบัน จากงานเสวนา “เตรียมพร้อมเด็กไทยในวันที่โลกเปลี่ยน” ซึ่งจัดขึ้นโดย ศูนย์การเรียนรู้ TK Park และ Edsy แพลตฟอร์มเรียนภาษาอังกฤษออนไลน์ สำหรับเด็ก

อัศรินทร์ นนทิหทัย ผู้อำนวยการฝ่ายกิจกรรมการเรียนรู้ สถาบันอุทยานการเรียนรู้ (TK Park) กล่าวว่า “ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เราคงสัมผัสได้ถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับชีวิต และในช่วง 5-10 ปีต่อจากนี้ เด็ก ๆ ในวันนี้ยิ่งจะต้องพบกับการเปลี่ยนแปลงที่มากขึ้น ต้องเจอกับความท้าทายใหม่ ที่ส่งผลต่อการเรียนรู้ การทำงาน ดังนั้น พวกเขาควรมีทักษะแห่งอนาคตที่จำเป็น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการคิดวิเคราะห์ การสื่อสาร ภารกิจของ TK Park ซึ่งเป็นแหล่งเรียนรู้ ส่งเสริมการเรียนรู้ สอดคล้องกับแนวทางของ Edsy ซึ่งเป็นสตาร์ตอัพด้านการศึกษา ดังนั้น ทักษะด้านภาษาและการสื่อสารจึงเป็นเรื่องจำเป็นที่จะเปิดโลกของการเรียนรู้ ให้ก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต”

เมื่อโลกทั้งโลกทำให้เด็กสามารถติดต่อถึงกัน และเชื่อมโยงกันได้มากขึ้น ฉะนั้น อีกบทบาทใหม่ที่พวกเราต้องเตรียมตัวเด็ก ๆ  ให้พร้อมกับการเปลี่ยนแปลงของโลกอนาคตที่จะมาถึงคือการเป็นพลเมืองโลก (Global Citizen)

Global Citizen สร้างได้จากครอบครัว

กอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร ประธานกรรมการบริหาร บริษัท โตชิบา ไทยแลนด์ อธิบายว่า Global Citizen หมายถึงคนที่มีความคิดเปิด มีความคิดกล้ารับสิ่งใหม่ ๆ กล้าออกจากคอมฟอร์ตโซนของตัวเอง 

“ถามว่าทำไมถึงสำคัญ? เพราะในวันนี้โลกเปลี่ยนแปลงเร็ว ถ้าเราสามารถสร้างลูกของเรา หรือพลเมืองของชาติให้เติบโตไปกับการเปลี่ยนแปลงของโลกได้ เขาจะต้องเป็นคนที่โอเพ่น Global Citizen ไม่ได้หมายความว่าต้องเป็นสไตล์นานาชาติ หรือลูกต้องเรียนนานาชาติ ก็อาจจะใช่หรือไม่ใช่ คนหลายคนอาจไม่มีโอกาส แต่ไม่ได้หมายความว่าลูกของเราจะหมดโอกาสเป็นคนที่จะเปิดสู่โลกกว้าง สิ่งสำคัญอยู่ที่ความคิด (Mindset)  ถ้าเราสามารถทำให้เขาเปิดโลกทัศน์ของตัวเองได้ตลอดเวลา ตลอดชีวิต หมายถึงตัวพ่อแม่ต้องเป็นตัวอย่างด้วย”

การศึกษาไม่ได้อยู่แค่ที่โรงเรียนหรือต้องพึ่งโรงเรียนเพียงอย่างเดียว แต่อยู่ที่ตัวเราเอง ที่กำลังสร้างลูก ให้เขาเห็น เราต้องเป็นตัวอย่างให้เขาเห็น อย่างไรก็แล้วแต่ เราทุกคนสามารถเป็น Global Citizen ได้ หากยอมออกจากสิ่งเดิม ๆ ที่มีอยู่ ลองคิดเรียนรู้ในสิ่งใหม่ ๆ ไม่ได้หมายความว่าเราต้องเอาสิ่งใหม่ ๆ ทั้งหมดมาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต แต่เราต้องเข้าใจ เรียนรู้ ตัดสินใจ 

“การเป็น Global Citizen ต้องมี Identity อัตลักษณ์ของความเป็นคนต้องมีอยู่ เราต้องรู้เขาและรู้เรา แล้วตัดสินใจว่าเราจะเป็นใคร ถ้าเรารู้แต่เรา ไม่เคยรู้เขาเลย เราก็จะไปต่อไม่ได้”

Mindset สำคัญสุด

กรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้า และที่ปรึกษาอาวุโส Edsy กล่าวว่า การจะเป็น Global Citizen ต้องคุยกับเขารู้เรื่อง แต่สำคัญสุดคือเรื่องของ mindset ที่จะทำให้เราสนใจเรื่องของเขา ไม่ได้สนใจเรื่องที่เกิดขึ้นแค่ในบ้านเมืองเรา พร้อมเรียนรู้จากเขา ค่อนข้างเปิดใจ มีเสรีนิยม Global Citizen มีนิยามอย่างหนึ่งคือ คุณต้องยอมรับความต่างของคนที่อยู่ในหลากหลายสังคม วัฒนธรรม ที่ต่างจากเรา ซึ่งเราต้องยึดอัตลักษณ์ของตัวเราเองให้มั่น เปิดรับความคิดเห็น และพร้อมที่จะมีส่วนร่วมกับชาวโลก ในการที่เราจะทำอย่างนั้นได้ แน่นอนที่สุดคือภาษา

กอบกาญจน์ เสริมว่า ภาษาสำคัญมากแต่ก็ไม่ใช่ตัวการันตี ยกตัวอย่าง หากไปเรียนเมืองนอกไปอยู่กับแค่คนไทย อยู่กับเพื่อนกลุ่มเดิม ๆ ก็จะเป็นคนไม่เปิด ดังนั้นสำคัญสุดคือ mindset อันดับ 2 คือภาษา ภาษาจะทำให้เราไปได้เร็ว ไปสนทนาสื่อสารกับคนได้มากขึ้น เรียนรู้ เข้าใจถ่องแท้มากขึ้น แต่ทั้งนี้ใจต้องเปิด 

“คนส่วนใหญ่ชอบอะไรที่อยู่กับอะไรที่เราคุ้น ๆ ถ้าเรามี mindset เราต้องฝืนการกระทำเราได้ ต้องไปเจอคนอื่น หรือทำอะไรร่วมกับคนอื่น ซึ่งบางทีเราอาจไม่ชอบ แต่ตอนหลังเราต้องขอบคุณความฝืน ที่ทำให้เราเข้าใจคนอื่นมากขึ้น”

การศึกษาไม่ได้อยู่แค่ในตำราหรือโรงเรียน การศึกษาที่มากที่สุดและดีที่สุด คือการศึกษาจากคน คนหลายคนที่อยู่รอบตัว เพื่อน คนในชุมชน นอกโรงเรียน และครอบครัวเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษา 

ดังนั้น ภาษาได้จะทำให้เร็ว เราต้องฝึกตัวเอง หากเรามีความเชื่อว่า เราจะเป็นต้องเปิดโลกกว้างขึ้น รู้เขามากขึ้นเพื่อที่เราจะได้เข้าใจว่าต่อไปจะต้องทำอะไร เพื่อให้ไปข้างหน้า

วัฒนธรรมของภาษาก็สำคัญ

กรณ์บอกว่า ภาษาอังกฤษจำเป็นสุดอยู่แล้ว เพราะทำให้โลกกว้างขึ้น รวมถึงสื่อสารต่าง ๆ ได้มากขึ้น ติดตามข่าวสาร พูดคุยกับทั่วโลก ให้เรามีส่วนร่วมในสากลโลก นั่นคือนิยามของ Global Citizen แต่ผมก็เห็นด้วยว่าอย่างไรก็แล้วแต่ ทัศนคติหรือ Mindset สำคัญสุด

“ถ้าเรากระตือรือร้น อยากรู้ว่าโลกภายนอกเขาทำอย่างไรกัน อยากมีส่วนร่วม ขวนขวายที่จะเข้าไปมีส่วนร่วม ซึ่งต้องมี Basic Tool หรือตัวภาษาที่จะเข้าไป participate หรือมีส่วนร่วม กับเขาได้ ก็จะทำให้ยากขึ้น”

ถ้าต้องเลือกจริง ๆ ภาษาอังกฤษเป็นภาษาแรก แม้แต่คนจีนเองเขาก็เลือกว่าเขาควรต้องมีภาษาอังกฤษ เพราะภาษาจีนยังไม่ทำให้เขาเข้าถึงโลกทั้งใบได้

กรณ์เปรียบเทียบว่า ปีนังเป็นเมืองค้าขาย ชาวปีนังพูดได้ 4-5 ภาษา มีความเป็นสากลค่อนข้างมาก ภาษาไม่ได้เป็นเรื่องของทักษะการสื่อสารเพียงอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องของวัฒนธรรมของเจ้าของภาษา ซึ่งตรงนี้ผมคิดว่ามีความสำคัญ

การเรียนภาษาไม่ได้เรียนแค่เรื่องแกรมม่า แต่เราอ่านวรรณคดี ทำให้เรามีความเข้าใจวัฒนธรรมของเจ้าของภาษามากขึ้น นั่นคือการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของโลกที่แท้จริง 

“เครื่องแปลภาษาในปัจจุบันก็ช่วยเราเรื่องของภาษา แต่ยังขาดมิติของการทำความเข้าใจวัฒนธรรมความคิดของเจ้าของภาษานั้น เป็นเพียงวิธีช่วยเราสื่อสาร แต่ไม่ได้ช่วยให้เรามีความเข้าใจระหว่างกันได้มากขึ้นในระดับที่เพียงพอ”

โรงเรียนไทยเปิดโลกกว้างได้ อยู่ที่ผู้ปกครอง

กรณ์เล่าว่า ความต่างของเด็กไทยที่เรียนโรงเรียนอินเตอร์ กับเด็กไทยที่เรียนในต่างประเทศ ต่างกันที่ประสบการณ์ที่เขาได้รับ ตรงนี้ผมคิดว่าเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ ส่วนหนึ่งของการศึกษาที่สำคัญมากการที่ลูกหลานเรามีประสบการณ์ในสภาพแวดล้อมที่ไม่ปกติของเขา เวลาเราตัดสินใจให้กับลูกว่าจะไปเรียนเมืองนอกเมื่อไหร่ ส่วนสำคัญคือจังหวะไหนที่เรารู้สึกว่าเราอยากให้เขาเปิดโลกให้กว้างขึ้น มีประสบการณ์มากขึ้นกับการอยู่นอกคอมฟอร์ตโซนของเขา นั่นคือส่วนสำคัญที่ทำให้เขาเข้าใจจริง ๆ กับสังคมที่อยู่นอกบ้านเขา

กอบกาญจน์เสริมว่า การไปเรียนต่างประเทศก็สำคัญถ้ามีโอกาสควรไป แต่ไม่ใช่ทุกคนจะมีโอกาสนั้น ดังนั้น ผู้ปกครองต้อง encourage ให้เขาเรียนรู้ทุกวัน เปิดโลกกว้างทุกวัน นอกเหนือจากภาษา สิ่งหนึ่งคือเขาควรจะเรียนกว้าง อะไรที่อยู่ในตำราอาจล้าสมัย

“การศึกษาที่ดีที่สุด คือการสอนให้เขาเรียนรู้ให้เป็น ทุก ๆ วันต้องมี new chapter ให้ได้ ซึ่งผู้ปกครองก็ต้องเรียนรู้ใหม่ เพราะฉะนั้นการเดินเข้าไปในพิพิธภัณฑ์ การเล่นกีฬา การดูดาว การเดินป่า ทุก ๆ อย่าง มีส่วนช่วยทำให้เขาเปิดมากขึ้น สร้างสรรค์มากขึ้น”

สรุปก็คือภาษาสำคัญ ทำอย่างไรให้เขารู้จักเรียนรู้ใหม่ ๆ อยู่เสมอ เราต้องเป็นตัวอย่าง การอ่านหนังสือเป็นสิ่งสำคัญมาก การสนใจสิ่งต่าง ๆ ที่เข้ามาในชีวิตสำคัญมาก สนับสนุน ถ้าลูกอยากไปดูงานอาร์ต อยากเล่นกีฬา เราควรพาไป ของพวกนี้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เขาค้นพบตัวเอง แต่หากได้ภาษาก็จะทำให้เขาศึกษาอะไรพวกนี้ได้ลึกขึ้น

กอบกาญจน์ ทิ้งท้ายว่า สิ่งสำคัญที่สุดของการเป็นพ่อแม่คือการสร้างคน ทำอย่างไรให้ลูกเป็นคนที่ดีต่อไปในอนาคต ผู้ปกครองต้องเรียนรู้ไปกับเขา เป็นเพื่อนเขา เป็นตัวอย่างในการไม่หยุดการเรียนรู้ สนุกไปกับการเรียนรู้อะไรใหม่ ๆ ให้เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ให้เขารู้ว่าการเรียนรู้สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดชีวิต ทั้งหมดนี้คือหน้าที่เรา หากเราไม่สร้าง ใครจะสร้าง

ด้านกรณ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า “ผมพยายามที่จะบอกตัวเองเสมอ ว่ามันไม่ใช่เรื่องของการแข่งขัน หรือการเปรียบเทียบ อย่าให้ลูกรู้สึกกดดันตัวเอง ผมว่าลูกเราสัมผัสได้ว่าเราผิดหวังเขา เลี้ยงลูกมา 4  คน เลี้ยงเหมือนกัน แต่ออกมาไม่เหมือนกัน เด็กทุกคนมีความต่างในธรรมชาติ เราจะคาดหวังว่าทุกคนจะออกมาเป็นแบบที่เราหวังไม่ได้ แค่ทำออกมาให้ดีที่สุด ที่เหลือก็ขึ้นอยู่กับตัวเขาเอง”

สำหรับช่วงที่ 2 ของการเสวนา ได้มีตัวแทนของพ่อแม่ยุคใหม่ ซึ่งเป็นผู้บริหารระดับสูงขององค์กรชั้นนำอย่าง พรทิพย์ กองชุน ประธานเจ้าหน้าที่ผ่านปฏิบัติการ และผู้ร่วมก่อตั้ง Jitta ดร.พิเชษฐ ฤกษ์ปรีชา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Line ประเทศไทย และสิทธิโชค นพชินบุต รองประธานองค์กรฯ บริษัท Thai Samsung Electronics มาร่วมเปิดวิสัยทัศน์แนวทางการเลี้ยงลูกยุคใหม่

ใช้หลัก VUCA World เลี้ยงลูก

พรทิพย์ คุณแม่ลูก 2 (อายุ 5 และ 1 ขวบ) พูดถึงการวางแผนแนวทางการศึกษาและการเติบโตให้ลูกทั้ง 2 ว่าตัวเองเคยทำงานอยู่สายเทคโนโลยีที่ Google ประเทศไทยร่วมกับดร.พิเชษฐ เป็นคุณแม่สายเทคโนโลยี เป็น Global Citizen ที่ทำงานในต่างประเทศ เรามีลูกตอนที่บรรลุนิติภาวะอย่างมาก ผ่านโลกความเป็นจริงมามาก อยู่ในโลกของดิจิทัล พอมีลูก การวางแผนการศึกษาลูกเราจะมีมุมมองค่อนข้างเยอะ ยิ่งในยุค Full Digital ที่โลกเปลี่ยนไป

อย่างล่าสุด 2 ปีที่โควิดมา ทุกคนจะใช้เครื่องมือดิจิทัลอย่างเต็มที่ พอเข้าสู่ยุคนี้ สิ่งที่เคยเกิดขึ้นก่อนหน้านี้ สมัยที่เรายังเป็นเด็กอยู่ มันไม่เป็นเช่นนั้นแล้ว มันคือสิ่งที่เราเผชิญกับสิ่งที่เป็นออฟไลน์ ซึ่งต่างจากปัจจุบัน ที่เป็นออนไลน์หมดแล้ว ทำให้เราได้ยินคนพูดว่าในอนาคตทักษะ อาชีพต่าง ๆ จะไม่เหมือนเดิม เพราะฉะนั้นสิ่งที่แม่วางแผนอยู่ในขณะนี้คือ VUCA World (V=Volatility ความผันผวน U=Uncertainty ความไม่แน่นอน C=Complexity ความซับซ้อน และ A=Ambiguity ความคลุมเครือ) เป็นสิ่งนำทาง 

“เราอยู่ในยุคที่ไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น มันคลุมเครือ ไม่ชัด แต่ภาพไกล ๆ เราวางแผนได้”

พรทิพย์บอกว่า แม่ทุกคนต้องวางแผนตั้งแต่ก่อนมีลูก จนถึงอนาคตที่เราไม่อยู่แล้ว เรื่องที่ 2 วางแผนการศึกษา การเรียนรู้ เขาต้องได้รับมากที่สุด แต่ไม่ใช่บริบทเดิม ไม่ได้หมายถึงแม่อยากได้ลูกที่ต้องเรียนจบปริญญาเอก ปริญญาโท แต่วางแผนว่า ลูกควรได้รับการวางแผน การเรียนรู้ จนสุดท้ายเขาสามารถที่จะนำไปใช้ในชีวิตประจำวันของเราได้ดี เขาอยู่แบบมีความสุข และสามารถที่จะเอาไปใช้ในการทำงาน ซึ่งในอนาคตลูกจะทำอาชีพอะไร เรายังไม่รู้ เพราะตอนนี้งานที่เราทำอยู่อาจถูกดิสรัป และไม่มีอีกต่อไปแล้ว 

“เราไม่พูดถึงอาชีพ เราจะวางแผนการเรียนรู้การศึกษา ดูว่าจะให้ลูกเรียนรู้ ทดลองทำ หรือมีทักษะอะไร ที่เป็นความต้องการของในอนาคต และลูกเอาตัวรอดได้ นี่คือแผนในระยะ long-term สำหรับ short-term คือต้องใกล้ชิด และดูลูกตลอดเวลา คอยสังเกตุว่าเขาอยากเรียนรู้เรื่องอะไร อยากไปโรงเรียนแบบไหน อยากเป็นอะไร ค่อย ๆ สังเกตุ พยายามยืดหยุ่น วางแผน และตอบโจทย์เขาตอนนี้ ซึ่งจะวางแผนเฝ้าดูในระยะ short-termไปเรื่อย ๆ เพื่อต่อกันไปให้ถึงแผนระยะ long-term ที่วางไว้”

ปริญญาเป็นเพียงตั๋วให้คนยอมรับ สำคัญสุดคือหาสิ่งที่ชอบให้เจอ

ด้านดร.พิเชษฐ เปิดเผยว่า ไม่มีความคาดหวังว่าลูกต้องเรียนหลาย ๆ ปริญญา ผมเรียนมา 3 ใบ ส่วนตัวคิดว่าปริญญาตรียังไม่สำคัญ แต่ในสังคมที่เราอยู่สำคัญ ปริญญาคือตั๋วที่ทำให้คนในสังคมยอมรับได้ว่าคุณมีความรู้ความสามารถในการทำงาน 

หลักสูตรการศึกษาในปัจจุบัน เป็นกฎเกณฑ์ที่เขียนขึ้นมาเมื่อ 40-50 ปีที่แล้ว ผมเรียนภาษาอังกฤษตั้งแต่ 30-40 ปีก่อน สมัยนั้นไม่มีเนื้อหาที่ access ได้ง่ายเหมือนตอนนี้ ทุกคนต้องไปซื้อวิดีโอหนังซาวด์แทรกมาฟัง เพื่อให้ได้สำเนียงภาษาอังกฤษ นอกจากนี้ ความเชื่อของคนยุคก่อน ๆ คนเรียนเก่งต้องไปเป็นหมอ ต้องเป็นวิศวกร ผมจบวิศวกรโยธามาไม่เคยเซ็นต์แบบเลย แต่ด้วยความชอบส่วนตัวด้านเทคโนโลยี จึงทำให้ผมได้มาทำงานในสายนี้

“ผมเรียนรู้ว่าหน้าที่ของตัวเองคือการช่วยให้ลูก หาสิ่งที่เขาชอบเจอ และพยายามสอนเขาว่าอย่าทำทุกอย่างเพื่อเงิน”

ดร.พิเชษฐ บอกว่าผมไม่มีความคาดหวังว่าลูกต้องเรียนหนังสือเยอะ หรือเรียนหนังสือเก่ง ด้วยบริบทของเนื้อหาที่มีอยู่ ผมคาดหวังว่าลูกต้องเอาตัวรอดเป็น ต้องเป็น “ผู้จัดจำเป็น” รู้ว่าข้อมูลนี้เราสามารถไปหาที่ไหน กับใครได้ ไม่ต้องท่องจำเหมือนยุคก่อน ข้อมูลไหนน่าเชื่อถือ ไม่น่าเชื่อถือ 

“ในการที่จะเอาตัวรอดได้ เขาต้องแยกแยะออกระหว่างสิ่งที่จำเป็นในชีวิต กับสิ่งที่เกินความจำเป็นของชีวิต ถ้าเกิดเขารู้สึกว่ามีพอแล้ว เขาจะไม่กดดันตัวเอง”

หน้าที่ขอพ่อแม่คือการเตรียมความพร้อมให้กับลูกทั้งเรื่องของของเล่น สถานที่อยู่ สิ่งแวดล้อม และสถานศึกษา และเรื่องของภาษาอังกฤษซึ่งสำคัญมาก

“ทุกวันนี้ผู้คนส่วนใหญ่ต้องพึ่งอินเทอร์เน็ต ข้อมูลส่วนใหญ่ยังเป็นภาษาอังกฤษอยู่ การที่แค่อ่านและแปลได้ กับความเข้าใจภาษาอังกฤษอย่างถ่องแท้จริง ๆ มันไม่เหมือนกัน”

สร้างทักษะที่จำเป็น

ด้านสิทธิโชค ในฐานะคุณพ่อที่มีลูกอายุมากที่สุด 11 ขวบ ถ้ามองย้อนกลับไปสมัยเด็ก ๆ ผู้ใหญ่จะบอกว่าให้ไปเป็นราชการ ถัดจากราชการจะบอกให้ไปเป็นวิศวกร หรือไปทำงานธนาคาร ซึ่งทุกวันนี้ธนาคารก็ลดคน

“สิ่งที่กำลังจะบอกก็คือ เราเห็นประวัติศาสตร์ที่ผู้ใหญ่พยายามจะทำนายอนาคต และผิดมาตลอด ทุกวันนี้ถามว่าอีก 5 ปีข้างหน้าควรทำงานอะไร ผมเชื่อว่าไม่มีใครตอบได้ ทุกวันนี้ในใครเตรียมความพร้อมลูกให้เป็น YouTuber บ้าง ไม่มี”

พ่อแม่ปัจจุบันต้องการสร้างลูกเพื่ออนาคตที่เราทำนายไม่ได้ ดังนั้น เพื่อจะเตรียมรับกับอนาคตที่เราไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น พ่อแม่ควรสร้างทักษะที่จำเป็นให้กับลูก สิทธิโชคยกตัวอย่าง McKinsey ที่ศึกษาเรื่อง Skill สำหรับโลกอนาคต แยกออกมาได้ 56 ทักษะ แยกเป็น 4 หัวข้อหลักคือ 1) Cognitive skill หรือองค์ความรู้ การคิดวิเคราะห์ 2) Digital skill สำหรับเทคโนโลยี 3) Self-leadership การเป็นผู้นำได้ตัวเอง และ 4) Interpersonal Skills หรือทักษะระหว่างบุคคล จากนั้นเขาไปถามว่าคนเงินเดือนสูงมีทักษะด้านไหน ปรากฏว่าส่วนใหญ่มีเรื่องของ Cognitive เป็นข้อหนึ่งเกี่ยวข้องคนที่มีการศึกษาสูง แต่คนที่มีการศึกษาสูง ไม่เกี่ยวกับทักษะเรื่องของ Self-leadership และ Interpersonal Skills เลย

เมื่อย้อนกลับมาถามวางแผนให้ลูกอย่างไร สิทธิโชคบอกว่า เด็กกว่าจะโตเขามีโอกาสพัฒนาหาสิ่งที่เขาชอบ จะคล้าย ๆ กับ ดร.พิเชษฐ อยากให้ลูกมีโอกาส explore หรือสำรวจสิ่งที่ตัวเองชอบ ระหว่างที่ลูกเราพัฒนาตัวเอง เราจะช่วยอย่างไรเพื่อช่วยให้ลูกเราหาเจอ 

“ถ้าลูกผมอายุ 15-16 ปี ค้นพบว่าเขาอยากไปสายวิชาการ ผมคิดว่าเวลา 2 ปี ก็ไม่สายเกินไปที่เขาจะไปเรียน แต่ระหว่างทางอยากช่วยให้ลูกค้นหาตัวเองว่ามีความถนัดด้านไหน มีโอกาสพัฒนา Interpersonal Skills หรือการมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น ๆ การแก้ปัญหาในชีวิต”

สิ่งหนึ่งที่เราเห็นได้ชัดในสังคมพ่อแม่เด็กไทยคือการประคบประหงมเด็ก สิ่งนี้ทำให้เด็กแก้ปัญหาไม่เป็น โชคดีที่ผมโตขึ้นมากับพ่อแม่ที่ปล่อยให้ทำเองทุกอย่าง โดนหลอกบ้าง ทำผิดพลาดบ้าง ซึ่งทำให้เรามีทักษะในการแก้ปัญหาในระดับที่ผมพอใจ สิ่งสำคัญที่สุดคือทักษะที่ลูกต้องการสำหรับอนาคตมากกว่า

เปิดโอกาสให้ทดลองทำจริง

เมื่อให้ยกตัวอย่าง การเปิดโอกาสให้ลูกได้ explore สิทธิโชค เล่าว่าปัจจุบันข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ มีมากมาย ที่เด็กสามารถหาได้ วิธีการแก้ปัญหาก็ไม่เหมือนรุ่นเรา ซึ่งเราก็ต้องเอื้อให้เขามีโอกาสได้ทดลองทำตรงนั้น “ยกตัวอย่างเมื่อเช้า เขาอยากลองทำอาหารหลังจากไปทานขนมปังจากซิสเลอร์มา เขาก็เปิด YouTube วิ่งเข้าครัว หยิบอุปกรณ์มาทำ และทำออกมาได้เหมือนที่ไปทานที่ร้าน”

ในขณะที่ดร.พิเชษฐ จะเน้นที่กิจกรรมนอกจากวิชาการที่เขาเรียน หลัก ๆ คือการให้เจอผู้คน และเราต้องคอยดูว่าเขาชอบที่อยู่กับคนประมาณไหน ซึ่งเป็น signal ที่เราเริ่มเก็บข้อมูลได้ ให้เขาทำสารพัดที่เขาอยากจะทำ โดยที่เราไม่ไปตีกรอบให้เขา ชัดเลยคือลูกไม่ชอบเล่นกีฬา แต่ทักษะการเอาตัวรอดอย่างว่ายน้ำต้องว่ายเป็น รวมถึงการอ่านนิทานก่อนนอน ทำให้เขาเริ่มมีพฤติกรรมของการชอบอ่าน

ด้านพรทิพย์ คุณแม่สายออนไลน์ จะมี 2 เรื่องในการทำ explore อันแรกคือ Virturl ลูกมาบอกว่าเขาอยากเต้นลิซ่า อยากเต้นเป็น เราเปิด YouTube ให้ลูกดู ในอินเทอร์เน็ตมีคอนเทนต์ต่าง ๆ ที่เปิดให้ลูกดูก่อนได้ กระตุ้นให้เกิดความสนใจ อยู่ในการควบคุมของเรา K-Pop เป็นอย่างไร ศิลปะเป็นอย่างไร

“บางคนไม่ให้ลูกดูไอแพด หรือ YouTube แต่บ้านเราใช้คอมพิวเตอร์กัน 24 ชั่วโมงเพราะพ่อแม่ทำออนไลน์ จะห้ามลูกไม่ให้ใช้ไม่ได้ ลูกจะงง ว่าทำพ่อแม่อยู่หน้าจอตลอด เลยให้เขาใช้”

พรทิพย์บอกว่าอนุญาตให้ลูกดูแค่ 2 เรื่องคือหนูยิ้มหนูแย้ม เนื่องจากช่องนี้ชอบทำการทดลองวิทยาศาสตร์ หรือทำกิจกรรมอะไรก็แล้วแต่ ก็จะถามลูกว่าอยากไปทำไหม เป็นการกระตุ้นความอยากรู้อยากเห็น อีกทางหนึ่งคือ Physical การพาไปทดลองจริง อย่าง Central World พาลูกมาเดินดูกิจกรรมต่าง ๆ ทั้ง ปั้นแป้งโดว์ ดนตรี ศิลปะ ให้ทดลองเรียน ในขณะเดียวกันพ่อแม่เองก็ต้อง explore ตัวเองด้วย ว่าเขาเกิดการเรียนรู้ ชอบ/ไม่ชอบอะไร รวมถึงการเรียนรู้แบบแอดวานซ์ เพื่อที่ไปดูว่าควรพาลูกไปร่วมกิจกรรมนี้หรือไม่ ก่อนพาลูกไปสัมผัสจริง

ทดลองทำผิด ให้อิสระในการเรียนรู้ และปล่อยให้ค้นพบตัวเอง

เมื่อพิธีกรถามว่า ให้มองไปข้างหน้าอีก 20 ปี คิดว่าลูก ๆ ของผู้บริหารทั้ง 3 ท่านอยากขอบคุณอะไรกับเรา สิทธิโชค บอกว่า ขอบคุณที่เปิดโอกาสให้ได้ทดลองทำผิดพลาดและกลับมาแก้ตัวได้ หากเขาทำผิดพลาดยังมีพ่อแม่ที่คอยเป็น safety net ถ้าลูกมีความมั่นใจในชีวิต เขาจะกล้าไปทำอะไรได้อีกมาก ถ้าลูกมีแต่ความกลัว เขาอาจจะกลับมาตำหนิเราในอนาคตได้ อยากให้ลูกเป็นเด็กที่วิ่งชนกับปัญหา เหมือนการเล่นเกม พอผ่านด่านไปได้ก็เก่งขึ้น จะเป็นอย่างนั้นได้ ต้องทดลองทำผิด

พรทิพย์บอกว่า ขอบคุณที่ให้อิสระในการเรียนรู้ และอยู่รอดในโลกใบนี้ที่อาจจะมีเราหรือไม่มีเราในวันที่เขาเติบโตขึ้น เขามีความสุขในชีวิต คือสิ่งที่อยากได้ยินจากเขา ดังนั้นตอนนี้เราไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เราต้องเตรียมให้เขามากที่สุด ตั้งแต่ทักษะชีวิต ทักษะการเรียนรู้ ซึ่งสิ่งหนึ่งที่เรากังวลคือการจะสอนให้เขาเรียนรู้ที่จะเรียนรู้ (Learning how to Learn) ได้อย่างไร เพราะทุกคนเจอเรื่องใหม่ ๆ ทุกวัน ลูกต้องเรียนรู้กับการเปลี่ยนแปลงเร็ว ๆ แบบนี้ได้ 

สุดท้ายดร.พิเชษฐ คือการปล่อยให้เขาค้นพบตัวเอง ว่าชอบอะไร น่าจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุด เขาจะไม่รู้สึกว่าเขาต้องทำงานเพื่อเงิน แล้วเอาเวลาที่เหลือไปทำสิ่งที่ชอบ แต่เขาได้ทำในสิ่งที่ชอบ ได้เงินที่เขาต้องการ เขาจะเข้าใจชีวิตและมาขอบคุณเราว่าเขารู้จักพอ

ช่วงสุดท้ายของงาน มีการเสวนาในหัวข้อ เตรียมพร้อมเด็กไทยสำหรับศตวรรษที่ 21 – บทบาทของครอบครัวและโรงเรียน โดย หมอวิน ผศ. นพ.วรวุฒิ เชยประเสริฐ (เพจเลี้ยงลูกตามใจหมอ) หมออร พญ.กัลย์สุดา อริยะวัตรกุล (เพจเลี้ยงลูกโตไปด้วยกันกับหมออร) และอมฤต เจริญพันธ์ (ที่ปรึกษาด้านนวัตกรรม รร. นานาชาติ VERSO)

สถาบันครอบครัวถือเป็นสถาบันแรกที่สำคัญมากสำหรับลูก ในฐานะที่เป็นพ่อแม่ยุคใหม่ อะไรเป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่ควรติดตั้งในตัวของลูกเพื่อให้เป็นเด็กที่พร้อมสำหรับโลกอนาคต

สุขภาพจิตที่ดี พร้อมจะเรียนรู้

หมอวิน บอกว่า วันนี้เรารู้แล้วว่าทุกอย่างเปลี่ยนไป อาชีพเปลี่ยนหมด ทำอย่างไรที่จะตั้งเป้าหมายให้ลูกเติบโตไปในอนาคต คืออยากให้ลูกเก่ง ดี มีสุข และเอาตัวรอดได้ แต่ในสังคมปัจจุบัน เก่งแต่ไม่มีความสุข หลายคนเก่ง ดี แต่เอาตัวรอดไม่ได้ บางคนมีความสุขแต่ไม่เก่ง เพราะฉะนั้น ผมมองว่าอาวุธพื้นฐานที่ทำให้เขาไปเผชิญโลกในอนาคตที่ไม่แน่นอนคือ Mental Health หรือสุขภาพจิตที่ดี เพราะเด็กที่มีสุขภาพจิตที่ดี เขาจะพร้อมเรียนรู้ และรู้จักอารมณ์ตัวเอง สามารถแสดงอารมณ์ตัวเองได้อย่างสมเหตุสมผลในขณะเดียวกันเขาจะสามารถจัดการอารมณ์ด้านบวกและลบของตัวเองได้ วันที่เจออุปสรรค ความรู้สึกอารมณ์ด้านลบเข้ามา จัดการความรู้สึกด้านลบได้ดี ก้าวผ่านมันไปได้ สามารถจัดการ ดูแล ตัวเองในวันที่โลกไม่แน่นอน ในวันที่โลกมีการเปลี่ยนแปลง หรืออุปสรรคที่เข้ามาในชีวิต อยู่ๆ ตกงานกระทันหัน จัดการชีวิตตัวเองได้

เด็กจะมีสุขภาพจิตที่ดีได้ก็จะกลับมาที่ตัวตนของลูก คนที่จะมีสุขภาพจิตที่ดีได้ต้องมีคุณสมบัติคือ 1) self esteem ความภาคภูมิใจในตัวเอง เมื่อภาคภูมิใจในตัวเองแล้ว เขาสามารถลงมือทำได้ เขาจะมี 2) self confidence ความเชื่อมั่นในตัวเอง เชื่อว่าเรามีค่า มั่นใจว่าเราทำได้ ยืนหยุ่น ดูแลตัวเองได้ จากนั้นจะไปสู่ข้อที่ 3) set Goal มีเป้าหมายชีวิตได้

“ถ้าเด็กไม่มีความมั่นใจในตัวเอง เขาจะมองตัวเองในด้านลบ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะมั่นใจในตัวเองสูง self esteem ที่สูงเกินไปหรือน้อยเกินไป เกิดผลเสียกับเด็กเสมอ”

หมอวินยกตัวอย่างเด็กที่มี High self esteem มั่นใจในตัวเองมาก ปัญหาคือวันที่เขาล้มวันที่เขาเจอสิ่งที่เขาทำไม่ได้ เขาจะกลไกลในการป้องกันตัวเองด้วยการไม่ทำ ขี้โกง ปิดปัง ในขณะที่ Low self esteem หรือความภาคภูมิใจในตัวเองต่ำ จะมองตัวเองในภาพลบ ดังนั้นพ่อแม่ต้องเสริมสิ่งที่เรียกว่าความภาคภูมิใจในตัวเองที่ดี ดีพอและพอดีสำหรับลูก

Self esteem ที่ดีสร้างได้ตั้งแต่ปฐมวัย

พื้นฐานของการมี Self esteem ที่ดีคือการรับรู้ตัวเองที่เรียกว่า Sense of Self คือการรู้รอบสิ่งที่เกี่ยวข้องกับตัวเอง ทั้งใจ อารมณ์ และร่างกาย ทั้งหมดนี้สร้างที่ปฐมวัย หรือเด็กเล็ก ซึ่งเกิดจากการเลี้ยงดู เขาจะมองตัวเขาผ่านปฏิสัมพันธืกับคนอื่น ผ่านสายตาคนอื่น คนแรกที่เขาจะมองคือพ่อแม่

“ชมจนเกินไปก็ High self esteem ตำหนิ ดุด่าเกินไปก็ Low self esteem ห้ามทั้งหมด ลงโทษรุนแรง”

หมอวินบอกว่า การด่าไม่ได้ทำให้เด็กหยุดรักพ่อแม่ แต่จะทำให้เด็กหยุดรักตัวเอง self esteem จะต่ำลงเรื่อย ๆ

ทั้งหมดนี้ เด็กเรียนรู้ผ่านการเลี้ยงดู การทำกิจกรรม เพราะฉะนั้น การผ่านความรักที่ไม่มีเงื่อนไข เพราะรักไม่จำเป็นต้องมีเงื่อนไขให้ได้มา เขาต้องได้อยู่แล้วจากพ่อแม่

“หลายบ้านมีเงื่อนไขจะได้รับความรัก ต้องเป็นเด็กดี ต้องสอบได้คะแนนดี ๆ สิ่งเหล่านี้ทำให้ความภาคภูมิใจในตัวเองถูกสั่นคลอน ไ่ม่มีค่า ในอนาคตอันไกล เขาจะไปรักเพื่อน เพราะเพื่อนเวลาอยู่ข้าง ๆ จะไม่ตีตรา เพราะเพื่อนให้มาซึ่งความรักแบบไม่มีเงื่อนไข”

การวัดผลแบบแพ้คัดออก การติดป้ายโชว์คนเก่งหน้าโรงเรียน คนแย่สุดถูกด่าว่าเป็นเด็กไม่ดี ล้วนเป็นตัวทำลาย self esteem ในเด็ก หมอวินกล่าว

สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่หมอวินแนะนำ คือการสร้างสิ่งแวดล้อมในบ้านให้เด็กรู้สึกปลอดภัยในแง่ของกายภาพ ในแง่ของใจ พ่อแม่เป็นตัวหลัก อยู่ตรงเพื่อเขา อุ้ม กอด บอกรัก และไม่ประเมินวัดผล ที่สำคัญยิ่งลูกโต เรายิ่งต้องใช้หูมากขึ้น สั่งสอนให้น้อยลง

ภาษาที่ 3 4 5 หากมีได้ควรมี

ในขณะที่หมออร คุณแม่ลูก 2 ให้ความคิดเห็นว่าอนาคตเป็นเรื่องอีกยาวไกล ถ้าเราเห็นภาพชัดตั้งแต่ลูกเด็ก ๆ ว่าลูกจะโตขึ้นมาเป็นอะไร แสดงว่าพ่อแม่เป็นคน Fix Mindset เพราะต้องเป็นภาพใหญ่ ๆ ไว้ก่อน อาจจะวางช็อตได้แค่เป็นภาพคร่าว ๆ มองภาพการศึกษาเบื้องต้น เมื่อถามว่าเตรียมความพร้อมให้ลูกอย่างไร ให้ขึ้นเป็น Global Citizen ตัวเองมีความเชื่อว่า ทุกคนอยากผลักดันให้ลูกไประดับโลก ระดับอินเตอร์ ได้ทำงานในบริษัทต่างประเทศ ตอนนี้ไม่ได้ไกลเกินฝัน เพราะทุกอย่างมันเชื่อมหากันหมด เราไม่ใช่แค่พลเมืองประเทศไทย เราเป็นพลเมืองโลก

การเตรียมความพร้อมให้ลูกอยู่ในโลกของความเป็น Globalization สิ่งแรกคือเรื่องของภาษา เป็นสิ่งที่ตัวเองให้ความสำคัญมาก สมองของเด็กจะเรียนรู้ภาษาได้ดีที่สุดในช่วงวัย 2-7 ขวบ เขาจะเรียกว่า windows of opportunity ช่วงเวลาที่เด็กสามารถเรียนรู้ได้เป็นธรรมชาติ เร็วที่สุด ไม่ต้องใช้ความพยายามอะไรมาก หลังจากนั้นความสามารถของสมองจะค่อย ๆ ลดลงแต่ก็ยังเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต

“ตอนนี้ภาษาอังกฤษเป็นแค่ minimum requirement พื้นฐานที่ทุกคนได้หมด ซึ่งเป็นอะไรที่เราจะทำให้กับลูกได้ หากมีข้อจำกัดเรื่องโรงเรียน พ่อแม่สามารถเริ่มได้ด้วยตัวเอง ลูกจะค่อย ๆ ซึมซับไป นอกจากนี้ภาษาที่ 3 4 5 ก็มีความจำเป็น ขึ้นอยู่กับความสามารถพ่อแม่”

ประเด็นที่ 2 ถ้าจะเลี้ยงลูกให้เป็น Global Citizen, Global Mindset ลูกจะต้องมีทักษะเรื่องของการยืดหยุน ปรับตัวได้ การที่เราต้องทำงานกับคนต่างชาติ ต่างภาษา ต่างวัฒนธรรม ถ้าลูกเราไม่เปิดใจ ไม่ปรับตัว ไม่มองเขาในแง่มุมต่าง ๆ ก็จะตัดสินเขาว่าผิด เราถูก รวมถึงทักษะเรื่อง Interpersonal เป็นสิ่งที่สำคัญมากในอนาคต

รู้เทคโนโลยี นวัตกรรมเร็วยิ่งดี

ในฝั่งของโรงเรียนเอง ที่ปัจจุบันระบบการเรียนการสอนแบบเดิมเริ่มใช้ไม่ได้แล้ว มีปัญหาเยอะ ไม่เหมาะกับโลกอนาคตในหลาย ๆ เรื่อง อมฤต ในฐานะผู้บริหารโรงเรียนนานาชาติ มองว่าอยากเป็นแรงบันดาลใจสำหรับโรงเรียนในหลาย ๆ แห่ง ที่จะขับเคลื่อนการศึกษาให้ไปอยู่ในระดับที่ทุกคนเห็นว่า เมืองไทยสามารถก้าวไปอยู่ในยุคของดิจิทัล อินโนเวชันได้

“ผมในฐานะที่ปรึกษาด้านนวัตกรรม มองว่าถ้าเราสามารถรู้จักเทคโนโลยี หรือนวัตกรรมตั้งแต่ตอนเด็ก ๆ ได้ ชีวิตเราจะไปไกลมาก ดังนั้นสถาบันการศึกษาต้องทำงานเป็นทีมร่วมกับครอบครัว หากต้องเลือกเรียนในสถาบันการศึกษา ผู้ปกครองต้องมาคิดว่าที่ไหนจะเป็นแรงขับเคลื่อนที่จะเร่งให้น้อง ๆ สามารถไปในไดเรกชัน หรือทิศทางที่เขาต้องการได้”

นอกจากนี้ การสร้างความมั่นใจในตัวเองและปลูกฝังทักษะ Future ready skills ก็มีส่วนสำคัญ ที่โรงเรียนนานาชาติ VERSO มองเห็นอยู่ 141 ทักษะที่จำเป็นสำหรับโลกอนาคต จะเห็นว่าโรงเรียนที่เป็น On Campus จะเป็นตัวเร่ง มี facility หรือสิ่งอำนวยความสะดวกเหมือน Apple Park นำคำศัพท์เดียวกับซิลิคอนวัลเลย์ Google หรือ Apple มาช่วยทำให้น้อง ๆ สามารถทำโปรเจ็กต์ได้

“สิ่งหนึ่งที่เราให้ความสำคัญคือการที่เขาสามารถค้นพบตัวเองได้ว่าเขาสนใจอะไร เปลี่ยนใจได้ ลองใหม่ได้ ตั้งเป้าหมายเอง หาแรงบันดาลใจเอง ทุกโปรเจ็กต์ที่กำลังจะทำยังเน้นเรื่องของภาษาที่จะเป็นตัวเชื่อมให้ Unlock ข้อมูลที่ทันสมัยจากต่างประเทศ เราจะเอาภาษาบวกกับหลาย ๆ วิชา รวมกันในแต่ละโปรเจ็กต์ ทุกอย่างจะเป็น interdisciplinary หรือสหวิทยาการ”

ทั้งหมดนี้ เป็นส่วนหนึ่งของแนวความคิด จากผู้ประสบการณ์ในการเลี้ยงดูลูกในมุมต่าง ๆ ซึ่งเราจะเห็นว่าหลายท่านจะให้ความสำคัญกับภาษา และเทคโนโลยี รวมถึงการปลูกฝังให้เด็ก ๆ รู้จักอ่านหนังสือ ให้อิสระทางความคิดและการลงมือทำ ซึ่งการที่ครอบครัวให้ความสนใจ ใส่ใจ ดูแลเด็กในการปกครองจนกลายเป็นเด็กที่มีสุขภาพจิตที่ดี จะช่วยสร้างเกราะป้องกันให้เขาสามารถดำเนินชีวิต และพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงในยุคที่โลกหมุนไวเช่นนี้ได้อย่างมั่นใจและปลอดภัย

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

“สวนผึ้งโมเดล” ปักหมุด อำเภอแรก “Zero Dropout เด็กทุกคนต้องได้เรียน”

Apple ชวนเด็กอายุ 8-12 ปี ร่วมกิจกรรม Apple Camp at Home ปล่อยพลังกับ “30 กิจกรรมสุดสร้างสรรค์”

Hibrary… ห้องสมุดออนไลน์ ทำเรื่องอ่านให้เป็นเรื่องง่าย สร้างสังคมแห่งการเรียนรู้

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ