TH | EN
TH | EN
หน้าแรกLife"สวนผึ้งโมเดล" ปักหมุด อำเภอแรก "Zero Dropout เด็กทุกคนต้องได้เรียน"

“สวนผึ้งโมเดล” ปักหมุด อำเภอแรก “Zero Dropout เด็กทุกคนต้องได้เรียน”

อำเภอสวนผึ้งได้จับมือกับ กสศ. แสนสิริ และมจธ.ราชบุรี เดินหน้า “สวนผึ้งโมเดล” ปักหมุด อำเภอแรก “Zero Dropout เด็กทุกคนต้องได้เรียน” ชูกลไกป้องกันการหลุดจากระบบการศึกษา พร้อมสร้างโอกาสเข้าถึงการศึกษาอย่างเสมอภาค

รศ. ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ ประธานกรรมการในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา เปิดเผยว่า สองปีที่ผ่านมาวิกฤติโควิด-19 ทำให้ช่องว่างของความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาไทยรุนแรงขึ้นกว่าเดิม เด็กที่ได้รับผลกระทบสูงสุดในทุกประเทศคือเด็กยากจน ด้อยโอกาส และกลุ่มเปราะบาง โดยเฉพาะการหลุดออกจากระบบการศึกษา ประเทศไทยมีโอกาสที่จะสูญเสียเด็กๆ ที่ร่วงหล่นจากเส้นทางการศึกษาเป็นจำนวนมากในช่วงปิดเทอมใหญ่ที่กำลังจะมาถึง และจะส่งผลกระทบตลอดช่วงชีวิตของประชากรในรุ่นปัจจุบัน เนื่องจากเด็กคือทรัพยากรที่มีคุณค่าและควรได้รับการพัฒนาเพื่อเติบโตไปเป็นกำลังคนคุณภาพของประเทศ

รศ. ดร.วรากรณ์ กล่าวต่อว่า จากการลงพื้นที่พบว่า “สวนผึ้งโมเดล” เป็นหนึ่งในต้นแบบที่สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานในพื้นที่ โดยมีความเข้าใจปัญหาอย่างลึกซึ้ง และตระหนักว่าต้องสร้างโอกาสและพัฒนาคุณภาพการศึกษาไปพร้อม ๆ กัน ด้วยการสร้างระบบการเรียนรู้ที่มีความยืดหยุ่น เพื่อให้เด็กทุกคนเรียนรู้อย่างมีความสุข พร้อมกับการพัฒนาทักษะความรู้อย่างเต็มศักยภาพ จนสามารถพึ่งพาตัวเองในการดำรงชีวิตได้ ตอบโจทย์ชีวิตป้องกันการหลุดจากระบบซ้ำ และยังเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับนโยบายการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา เรื่องการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางการศึกษา (Big Rock 1) อีกด้วย

“การปฏิรูปการศึกษาเพื่อบรรเทาปัญหาความเหลื่อมล้ำที่รุนแรงขึ้นจากผลกระทบโควิด-19 ต้องปรับทิศทางเพื่อแก้ปัญหาให้ทันสถานการณ์ เน้นการกระจายอำนาจ และความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเป็นหลัก ผ่านกลไกการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ (Area-based Education: ABE) เพื่อสร้างระบบที่เอื้ออำนวยต่อการจัดการแก้ปัญหาได้มากกว่าส่วนกลาง รวดเร็วและทันต่อสถานการณ์ รวมถึงมีอิสระในการบริหารใช้ทรัพยากร จึงอยากขอส่งสัญญาณให้ท้องถิ่นและทุกจังหวัดทั่วประเทศ มาร่วมเป็นเจ้าภาพในการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำและยกระดับคุณภาพการศึกษาไทย อย่าให้เป็นปิดเทอมสุดท้ายของเด็กยากจนชายขอบ” รศ. ดร.วรากรณ์ กล่าวสรุป

ด้าน ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา และกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา กล่าวว่า สวนผึ้งโมเดล เป็นหนึ่งในพื้นที่นำร่องโครงการ “Zero Dropout เด็กทุกคนต้องได้เรียน” โดยเริ่มต้นที่จังหวัดราชบุรีเป็นที่แรก จุดเปลี่ยนสำคัญคือทุกฝ่ายตระหนักว่าความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเป็นโจทย์เร่งด่วนที่ต้องร่วมกันแก้ไข จึงอาสาเข้ามาเป็นเจ้าภาพร่วมกัน ทั้งชุมชนท้องถิ่น เขตพื้นที่การศึกษา สถาบันอุดมศึกษา รวมถึงภาคเอกชน อย่างบริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ที่จุดประกายสังคมเข้ามาร่วมเปลี่ยนแปลงการศึกษาให้เกิดความเสมอภาคในจังหวัดราชบุรี

ดร.ไกรยส กล่าวต่อว่า ปัจจุบันมีเด็กที่เสี่ยงหลุดออกจากระบบการศึกษาจำนวนกว่า 1.9 ล้านคนทั่วประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มช่วงชั้นรอยต่อที่เสี่ยงหลุดจากระบบในช่วงปิดเทอมใหญ่ที่จะถึงนี้ และยังพบว่ามีเด็กชั้นประถมศึกษาตอนปลายจำนวนมากที่ตัดสินใจออกมาทำงานเพื่อหารายได้ช่วยเหลือครอบครัว

จากวิกฤตินี้ กสศ. มีบทบาทเป็นตัวเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระบบในการป้องกันปัญหาเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษา การแก้ไขปัญหาภาวะถดถอยทางการเรียนรู้ (Learning Loss) และการสนับสนุนการระดมความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทั้งในภาคนโยบาย และภาคปฏิบัติให้กลุ่มเป้าหมายต่าง ๆ สามารถฝ่าวิกฤติครั้งนี้ไปสู่ปีการศึกษา 2565 โดยใช้การวิจัยพัฒนา องค์ความรู้ ฐานข้อมูล และนวัตกรรม

ปัจจุบัน กสศ.ทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เป็นเจ้าต้นสังกัดทางการศึกษาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการอุดมศึกษาฯ รวมถึงเชื่อมโยงเครือข่ายภาคเอกชน และภาคประชาชนเพื่อพัฒนาพื้นที่นำร่องการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในหลายแห่งทั่วประเทศไทย ทั้งระดับสถานศึกษา ชุมชน ท้องถิ่น และจังหวัด ทั้งนี้ กสศ. พร้อมสนับสนุนการทำงานของกลไกจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ (Area-based Education: ABE) ร่วมกับพื้นที่ ท้องถิ่น จังหวัดที่ต้องการร่วมขบวน เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปการศึกษาลดความเหลื่อมล้ำและสร้างโอกาสให้กับเด็กทุกคนอย่างเท่าเทียม

ศุเรนทร์ ฐปนางกูร ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมและสนับสนุนมูลนิธิโครงการหลวงและโครงการตามพระราชดำริ) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) กล่าวว่า จากการทำงานร่วมกับโรงเรียนในอำเภอสวนผึ้ง มีเป้าหมายช่วยพัฒนาคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนในอำเภอสวนผึ้ง โดยอิงความต้องการของเด็กและโรงเรียน เริ่มจากการลงพื้นที่พูดคุยกับผู้เกี่ยวข้อง และให้การสนับสนุนในเรื่องที่โรงเรียนต้องการ เช่น การส่งเสริมโครงการทักษะอาชีพให้กับเด็กที่มีปัญหาด้านรายได้ และส่งเสริมการพัฒนาทักษะต่าง ๆ ตามความต้องการของครูและโรงเรียน การสร้างสังคมการเรียนรู้อย่างมีความสุข เป็นเรื่องของทุกคน เป็น All For Education  ต้องใช้ความร่วมมือจากทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในพื้นที่ โรงเรียน ชุมชน และผู้ปกครอง  สำหรับเด็ก ๆ ในพื้นที่ห่างไกล การศึกษาเพื่อนำไปสู่การมีงานทำเป็นเรื่องที่มีความสำคั ต้องให้เด็กมีความรู้ มีทักษะอาชีพติดตัวไป ควบคู่ไปกับการเรียนวิชาการในห้องเรียน

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ