TH | EN
TH | EN
หน้าแรกLifeHibrary... ห้องสมุดออนไลน์ ทำเรื่องอ่านให้เป็นเรื่องง่าย สร้างสังคมแห่งการเรียนรู้

Hibrary… ห้องสมุดออนไลน์ ทำเรื่องอ่านให้เป็นเรื่องง่าย สร้างสังคมแห่งการเรียนรู้

หนึ่งในปัญหาสำคัญที่ทำให้ห้องสมุดออนไลน์ไม่ประสบความสำเร็จ แม้ว่าแนวคิดของห้องสมุดออนไลน์ที่ทำให้การเข้าถึงหนังสือทำได้ในทุกที่ และสร้างประสบการณ์ในการอ่านได้ทุกเวลาจะเป็นเรื่องดี ก็คือคอนเทนต์ที่ล้าสมัย และฟีเจอร์ฟังก์ชันในการอ่านที่ไม่สอดรับกับพฤติกรรมการใช้งาน

ไฮบรารี่ (Hibrary) เครือข่ายห้องสมุดออนไลน์ เดินหน้าพัฒนาระบบอีบุ๊กและอีรีดเดอร์อย่างจริงจัง โดยเน้นการเข้าถึงเนื้อหาที่ตอบโจทย์ และการใช้ฟีเจอร์สที่ตอบโจทย์พฤติกรรมคนอ่าน

ขณะนี้ ตลาดหนังสืออิเลกทรอนิกส์ หรืออีบุ๊ก กำลังขยายตัวเติบโตมากขึ้นเรื่อย ๆ จากมูลค่าไม่ถึง 10 ล้านบาทเมื่อ 10 ปีที่แล้วมาอยู่ที่เกือบ 2,000 ล้านบาทในปัจจุบัน

ด้วยอานิสงส์จากอุปกรณ์อี-รีดเดอร์ที่ได้รับการยอมรับจากผู้ใช้งานในตลาดมากขึ้น ความต้องการอีบุ๊กจึงเติบโตมากขึ้นตามไปด้วย บวกกับพฤติกรรมการเรียนรู้ที่หันมาเรียนออนไลน์มากขึ้น ทำให้ “ห้องสมุดออนไลน์” เป็นทางเลือกหลักที่โรงเรียน มหาวิทยาลัย และองค์กรหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ใช้เป็นตัวเสริมเพิ่มองค์ความรู้ให้แก่นักเรียนและบุคลากร เพื่อตอบโจทย์สังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต

ในฐานะผู้ที่คร่ำหวอดอยู่ในวงการอีบุ๊กมาอย่างยาวนาน พัฒนา พิลึกฤาเดช ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท ไฮเท็คซ์ อินเตอร์แอคทีฟ จำกัด (Hytexts Interactive) สตาร์ตอัพไทยผู้ให้บริการและพัฒนาแอปพลิเคชันห้องสมุดออนไลน์ไฮบรารี (Hibrary) กล่าวถึงจุดเริ่มต้นที่ทำให้หันมาทำระบบไฮบรารีอย่างจริงจัง ว่าเป็นเพราะมองเห็นปัญหา (pain point) ที่ทำให้ห้องสมุดออนไลน์ไม่ได้รับการตอบรับเท่าที่ควร สวนทางกับการเติบโตของตลาดอีบุ๊กที่ได้รับการตอบรับมากขึ้นเรื่อย ๆ ตามการยอมรับของ อี-รีดเดอร์ อุปกรณ์การอ่านอิเล็กทรอนิกส์ที่ช่วยถนอมสายตา

โดย 75% ของห้องสมุดออนไลน์ในหลายองค์กร และหน่วยงาน รวมถึงห้องสมุดออนไลน์ของโรงเรียน มหาวิทยาลัย ตลอดจนห้องสมุดประชาชน ที่ไม่ประสบความสำเร็จในแง่ของการใช้งาน (ยอดดาวน์โหลดและยอดใช้งานน้อย ไม่สัมพันธ์กับงบประมาณในการพัฒนาระบบและจัดซื้อหนังสือ) เป็นเพราะ

  1. เนื้อหาของหนังสือไม่ตรงกับความต้องการของกลุ่มเป้าหมายผู้ใช้งาน
  2. อีบุ๊กที่มีในระบบไม่ค่อยมีการอัพเดตในทุก ๆ เดือน โดยมีการประเมินว่า สำหรับนักอ่านขาประจำ หนังสือใหม่ ๆ ที่เข้ามาในแต่ละปีสามารถอ่านจบในช่วง 3 เดือนแรกแล้ว
  3. ฟีเจอร์ในการอ่านอีบุ๊กผ่านห้องสมุดออนไลน์มีน้อย ไม่คำนึงถึงพฤติกรรมการใช้งานของคนอ่าน เช่น การปรับขนาดอักษร การพลิกหน้าหนังสือ หรือบริการหนังสือเสียงแก่ผู้มีปัญหาทางสายตา
  4. ปัญหาในส่วนของการจัดซื้อหนังสือกับทางสำนักพิมพ์ ที่ขาดความยืดหยุ่น โดยห้องสมุดออนไลน์ทั่วไปมักเน้นการขายขาดเพื่อใช้งานสาธารณะ ทำให้สำนักพิมพ์กลัวขาดทุน หนังสือที่ขายอีบุ๊กเลยมีเนื้อหาที่เก่าหรือล้าสมัย หรือมีทางเลือกน้อย
  5. ระบบการลงทะเบียนยุ่งยาก ต้องกรอกแบบฟอร์มมากมาย อีกทั้งต้องรออนุมัติอย่างน้อย 2 วัน ไม่สามารถใช้งานได้ทันที ซึ่งขัดกับพฤติกรรมของผู้ใช้งานส่วนใหญ่ที่เป็นเด็กรุ่นใหม่ ที่มองว่าหากลงทะเบียนแล้วต้องสามารถใช้งานได้เลย
  6. เมื่อคนใช้งานน้อยลง งบประมาณที่หน่วยงานจัดสรรให้กับระบบห้องสมุดออนไลน์ย่อมลดลง แต่ค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาระบบยังเท่าเดิม ส่งผลให้ห้องสมุดออนไลน์ไม่ได้รับการพัฒนา
  7. ปัญหาของ “คนซื้อไม่ได้ใช้ และคนใช้ไม่ได้ซื้อ”  ดังนั้น ยอดดาวน์โหลดการใช้งานจึงไม่สัมพันธ์กับขนาดขององค์กร

เมื่อทราบถึงปัญหาของระบบห้องสมุดออนไลน์ข้างต้นแล้ว พัฒนาอธิบายว่า ไฮบรารี่ จึงปรับปรุงระบบผ่านมุมมอง 3 ด้าน คือในด้านขององค์กร สำนักพิมพ์ และผู้อ่าน

  • ด้านองค์กร – ต้องไม่ใช่งบเยอะในการพัฒนาระบบแต่ให้ความสำคัญกับอีบุ๊ก หรือทรัพยากรที่จะจัดหาเข้ามาให้บริการกับบุคลากรในสังกัด มีระบบบริหารจัดการห้องสมุดออนไลน์ที่มีประสิทธิภาพ ลดภาระงานของบุคลากร และมีระบบเก็บข้อมูลในเชิงสถิติเพื่อวัดผลความคุ้มค่าของอีบุ๊กที่ให้บริการ
  • ด้านสำนักพิมพ์ – การช่วยหาโมเดลธุรกิจที่ตอบโจทย์ เช่น รูปแบบการขายแบบรายปี หรือแบบใช้งานอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งเสริมให้ทางสำนักพิมพ์นำเนื้อหาใหม่ ๆ หรือหนังสือขายดี มาให้บริการห้องสมุดออนไลน์ โดยที่ทางสำนักพิมพ์สามารถตรวจสอบได้ว่า สิทธิ์การใช้งานของแต่ละองค์กรเป็นอย่างไร มีระยะเวลาการใช้งานเหลืออยู่เท่าไร ภายใต้ระบบการจัดการลิขสิทธิ์ (DRM) ที่ปลอดภัยและได้มาตรฐาน
  • ด้านผู้อ่าน – ที่ทางไฮบรารี่พัฒนาระบบห้องสมุดออนไลน์ด้วยการจัดทำแอปพลิเคชันที่เข้าถึงได้ง่าย ใช้งานง่าย และมีฟีเจอร์ที่ออกแบบสวยงาม คำนึงถึงผู้ใช้งานเป็นหลัก มีระบบรองรับไฟล์ทั้งไฟล์ PDF หรือ E-PUB ครบตามมาตรฐาน โดยที่ไฟล์ E-PUB รองรับการอ่านออกเสียง เพื่อช่วยให้ผู้ใช้งานที่มีปัญหาในการอ่านเข้าถึงได้ และรองรับใช้งานทั้งระบบ IOS, แอนดรอยด์ หรือผ่านเว็บไซต์

พัฒนา กล่าวว่า ไฮบรารี่ ต้องการเป็นส่วนหนึ่งในเรื่องของการผลักดันตลาดหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ และยกระดับไฟล์อีบุ๊กให้ได้มาตรฐานสากลเป็นที่ยอมรับมากขึ้น โดยปัจจุบันอีบุ๊กเริ่มได้รับการตอบรับและเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของผู้คน เริ่มเห็นคนหยิบอีบุ๊กออกมาอ่านระหว่างใช้บริการขนส่งมวลชน โดยมีการคาดการณ์ว่าตลาดอีบุ๊กปัจจุบันมีขนาดตลาดเติบโตเกือบ ๆ 2,000 ล้านบาท เทียบกับเมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้วที่อีบุ๊กเข้าตลาดใหม่ ๆ มีมูลค่าประมาณแค่ 1 ล้านบาท และห้องสมุดออนไลน์ไฮบรารี เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยผลักดันตลาดให้ค่อนข้างโตขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญอย่างต่อเนื่องในทุก ๆ ปี

ทั้งนี้ ไฮไลบรารี่ เป็นแอปพลิเคชันห้องสมุดออนไลน์สำหรับองค์กรที่ได้รับการพัฒนาอย่างจริงจังในปี 2562 โดยมีเป้าหมายหลักเน้นการเข้าถึงหนังสือให้กับคนทุกกลุ่ม รวมถึงผู้ที่มีปัญหาหรือความบกพร่องในการอ่านต่าง ๆ และต้องการเป็นส่วนหนึ่งของการส่งเสริมการเรียนรู้ผ่านการอ่านในทุกที่ทุกเวลา เพราะการมีอยู่ของห้องสมุดออนไลน์ทำให้การเข้าถึงหนังสือทำได้อยู่เสมอ

ขณะเดียวกัน ภายใต้บริบทของระบบการเรียนในปัจจุบันที่ยังจำเป็นต้องพึ่งพาการเรียนออนไลน์ ทำให้โรงเรียน และมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ต้องเร่งยกระดับระบบห้องสมุดออนไลน์ เพื่อให้นักเรียนนักศึกษาสามารถเข้าถึงแหล่งค้นคว้าหาความรู้

นอกจากนี้ โรงเรียนอีกหลายแห่งยกระดับระบบห้องสมุดออนไลน์ เพื่อใช้เป็นส่วนเสริมที่ช่วยให้นักเรียนผ่อนคลายความตึงเครียดจากการเรียนในระบบออนไลน์ ด้วยการมีหนังสืออีบุ๊กในระบบห้องสมุดออนไลน์ใหม่ ๆ ที่สนุก และตอบโจทย์กลุ่มผู้อ่านในระดับวัยเรียน

ยิ่งไปกว่านั้น การระบาดของโควิด -19 ทำให้ห้องสมุดออนไลน์เป็นที่ต้องการมากขึ้น ซึ่งไฮบรารี่ เข้าไปจัดการรูปแบบการให้บริการของห้องสมุดออนไลน์สำหรับองค์กร ทั้งแบบรายปีและแบบใช้ต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการจัดการสิทธิ์ทรัพยากรการอ่านพร้อมกันในรูแบบเสมือนหนังสือในห้องสมุด ระบบการยืม-คืน-จองคิว และในกรณีที่องค์กรมีห้องสมุดออนไลน์อยู่แล้ว ไฮบรารีสามารถช่วยเจรจากับสำนักพิมพ์เพื่อโอนสิทธิ์อีบุ๊กที่ซือขายมาใช้ที่ระบบไฮบรารีได้ รวมถึงบริการระบบเผยแพร่สื่อต่าง ๆ ขององค์กรรายปี เช่น อีบุ๊ก, วีดีโอ และพอดคาสต์ เป็นต้น

พัฒนาเชื่อมั่นว่า ตลาดห้องสมุดออนไลน์ยังมีโอกาสเติบโตได้ เพราะยังมีอีกหลายหน่วยงานที่จำเป็นต้องมีห้องสมุดออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็น สถาบันอุดมศึกษา 150 แห่ง โรงเรียนขนาดกลางขึ้นไป 14,000 แห่ง ห้องสมุดประชาชน 900 แห่ง บริษัทมหาชนกว่า 700 แห่ง และหน่วยงานในการกำกับดูแลของรัฐอีกกว่า 300 แห่ง

ทั้งนี้ ไฮบรารีพบว่า อย่างน้อยในตอนนี้มีองค์กรมากกว่า 5,000 แห่งที่มีความจำเป็นต้องจัดหาระบบห้องสมุดอิเลกทรอนิกส์ (E-library) มาใช้บริการ ขณะที่หน่วยงานในการกำกับดูแลของรัฐก็มีโครงการจัดซื้อที่เกี่ยวข้องกับอี-ไลบรารี่ หรือ อีบุ๊กภาษาไทยเพิ่มขึ้นถึง 60 % จากปี 2563

สำหรับเป้าหมายในปี 2565 นี้ ทางไฮบรารีตั้งเป้าขยายเครือข่ายองค์กรที่ใช้งานซึ่งมีอยู่มากกว่า 80 แห่งให้ได้ 400 แห่ง พร้อมเดินหน้าต่อยอดพัฒนาห้องสมุดออนไลน์ให้มีการเติบโตที่สอดคล้องกับตลาดอีบุ๊ก ซึ่งหมายถึงทำอย่างไรจึงจะมีคนเข้ามาใช้ระบบ ใช้อย่างต่อเนื่อง และมีการเติบโตตามขนาดองค์กรและจำนวนผู้ใช้งาน

พัฒนากล่าวว่า มูลค่าตลาดของอีบุ๊กในปัจจุบันที่ 2,000 ล้านบาท ห้องสมุดออนไลน์มีสัดส่วนไม่ถึง 5-10% ดังนั้นจึงยังมีพื้นที่ให้สามารถเติบโตได้อีกมากสำหรับผู้เล่นในตลาด รวมถึงตัวไฮบรารีเอง โดยต้องมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ซึ่งความโดดเด่นที่ทำให้ไฮบรารี เป็นตัวเลือกลำดับต้น ๆ และประสบความสำเร็จในแง่ของจำนวนผู้ใช้งานและความพึงพอใจสูงสุดในทุกวันนี้เป็นเพราะ

  • ให้ความสำคัญกับคอนเทนต์ ที่ต้องตอบโจทย์ผู้อ่าน และถูกต้องตามลิขสิทธิ์ มีความหลากหลาย อัปเดตเสมอ
  • ฟีเจอร์ออกแบบมาครบถ้วนรอบด้าน ใช้งานง่าย ทำลายข้อจำกัดหรืออุปสรรคด้านการอ่านของผู้ที่มีความบกพร่องในการอ่านด้านต่าง ๆ เช่น ระบบอ่านออกเสีย ย่อ-ขยายขนาดอักษร จัดเรียงหน้าจออัตโนมัติ
  • รองรับการใช้งานในทุกระบบปฏิบัติการ และอุปกรณ์ขนาดเล็ก
  • ขยายความร่วมมือกับพันธมิตร จัดโครงการหรือกิจกรรมพิเศษ
  • เลือกใช้ระบบคลาวด์ที่มีประสิทธิภาพและความเสถียรอย่าง AWS ซึ่งมีรูปแบบการบริการที่ครบวงจร ไม่ต้องแปลงไฟล์ให้ยุ่งยาก
  • รองรับการใช้งานแบบวอล์คอิน (Walk In) และการใช้งานแบบ KIOS MODE คือ มีระบบสแกน QR CODE ให้สิทธิ์การใช้งาน สำหรับการให้บริการในห้องสมุดหรือสถานที่ต่าง ๆ กับพนักงาน หรือสมาชิก ทำให้สามารถใช้งานห้องสมุดออนไลน์จากร้านอาหาร หรือคาเฟ่ ที่เข้าร่วมได้
  • มีฟีเจอร์สำหรับบรรณารักษ์ในการบริหารจัดการ เช่น การอัปโหลดอีบุ๊ก ดูสถิติใช้งาน จัดการสมาชิก อัปโหลดแบรนเนอร์ และการใช้งานวอร์คอิน

ทั้งนี้ ไฮเท็กซ์ เริ่มดำเนินการธุรกิจทางด้านสื่อสิ่งพิมพ์อิเลกทรอนิกส์และอี-คอมเมิร์ซ ด้วยการพัฒนาแพลตฟอร์มขายหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (อีบุ๊ก) บนเว็บไซต์ hytexts.com ในปี 2554 โดยมีเป้าหมายมุ่งเป็นระบบให้บริการอีบุ๊ก ในรูปแบบ อี-พับ (E-PUB) ที่เป็นไฟล์มาตรฐานสากล เพื่อให้ลูกค้ามีประสบการณ์การอ่านที่ดี รวมถึงรองรับการใช้งานอุปกรณ์อี-รีดเดอร์ (E-reader) ก่อนเริ่มขยายตลาดเข้าสู่ห้องสมุดออนไลน์ ด้วยการพัฒนาระบบไฮบรารี ในปี 2562 และสามารถเติบโตอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

เชียงใหม่ กุหลาบแห่งภาคเหนือ ที่เบ่งบานด้วยเครือข่ายอินเทอร์เน็ต เชื่อมต่อโลกดิจิทัลให้หมู่บ้านห่างไกล

ดีแทค เปิด ‘dtac Safe’ ป้องกันการคุกคามทางไซเบอร์ ให้คนไทยใช้งานอินเทอร์เน็ตอย่างปลอดภัย

NIA เตรียมขับเคลื่อน ‘ย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธี’ ส่งเสริมการลงทุน ตั้งเป้าศูนย์กลางการแพทย์ระดับประเทศ

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ