TH | EN
TH | EN
หน้าแรกTechnologyซีพี - เทเลนอร์ ยืนยัน ควบรวม เพิ่มการแข่งขัน หนุนสตาร์ตอัพ สร้างประโยชน์ให้ประเทศ

ซีพี – เทเลนอร์ ยืนยัน ควบรวม เพิ่มการแข่งขัน หนุนสตาร์ตอัพ สร้างประโยชน์ให้ประเทศ

ธุรกิจโทรคมนาคมเป็นธุรกิจที่ต้องใช้เม็ดเงินลงทุนสูง (Capital Incentive) เมื่อต้องเผชิญการเปลี่ยนแปลงของภูมิทัศน์ธุรกิจจากการดิสรัปของเทคโนโลยี ทำให้ศักยภาพการแข่งขันของผู้ประกอบการลดลง นำมาซึ่งการควบรวมของผู้เล่นเบอร์ 2 และเบอร์ 3 ของตลาด อย่างทรูและดีแทค

ศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ และประธานกรรมการ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การควบรวมครั้งนี้ เกิดขึ้นจากที่ทั้งสององค์กรเห็นว่าศักยภาพการแข่งขันของทั้งสององค์กรค่อย ๆ ลดลง และเกิดความเสี่ยงที่สูงขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของโลก (Digital Transformation) ทำให้ภูมิทัศน์ของการแข่งขันเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งโทรคมนาคมไม่ได้แข่งกันเอง แต่แข่งกับผู้ให้บริการระดับโลก ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมมา รายได้ของผู้ประกอบการโทรคมนาคมลดลงทุกราย แต่การลงทุนสูงขึ้นเพราะต้องเปลี่ยนเทคโนโลยี เช่น จาก 4G เป็น 5G การเกิดการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ ผู้ประกอบการที่เรียกว่า OTT (over-the-top) เป็นผู้ประกอบการระดับโลกที่มีขนาดใหญ่มาก ทั้งรายได้จากเสียงลดลงรุนแรงกว่าทุกปี รายได้จากข้อความก็เกือบจะไม่เหลือ สนามการแข่งขันของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมเเปลี่ยนไปมาก ผู้ประกอบการด้านดิจิทัลมีเดียและอื่น ๆ เข้ามาเล่นในสนามนี้ ทำให้ทั้งสององค์กรมีศักยภาพการแข่งขันที่ลดลงไปเรื่อย ๆ

ประกอบกับด้านการเงินที่มีการลงทุนสูง ทำให้การลงทุนเข้าสู่ 5G ลดน้อยลงไปมาก ทำให้คลื่นความถี่ไม่พอ ทรูที่ลงทุน 5G หนักมากต้องก่อหนี้จำนวนมาก ทำให้การลงทุนไม่สามารถลงทุนได้เต็มที่อย่างต่อเนื่อง

ด้วยศักยภาพการแข่งขันที่ถดถอยลง และภูมิทัศน์ของตลาดที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ต้องมาดูว่า การควบรวมจะสามารถทำให้มีศักยภาพในการแข่งขันมากขึ้น มีบริการที่ดีขึ้น มีเทคโนโลยีที่สูงขึ้น และมีเทคโนโลยีที่สามมารถแข่งขันกับกลุ่ม OTT ซึ่งเป็นผู้ดิสรัปตลาดและเปลี่ยนแปลงตลาดทั้งอุตสาหกรรม

ศุภชัย กล่าวว่า ด้านกสทช. หากมองว่าเป็นการควบรวมที่ไม่เสริมสร้างศักยภาพการแข่งขันนั้นไม่จริง แต่เป็นการควบรวมเพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน ซึ่งจะทำให้ผู้บริโภคและประเทศได้รับประโยชน์สูงสุด

“เราอยากให้ค่าของ HHI (Herfindhal-Hirschman Index) ต่ำลง แต่จริง ๆ แล้วเป็นโอกาสที่จะลดค่า HHI จากการควบรวม เช่น หนึ่งในเงื่อนไขที่ให้เกิดการแข่งขันมากขึ้น คือ การเปิดโครงข่าย ซึ่งวันนี้โอเปอเรเตอร์ไม่มีการเปิดโครงข่ายให้ผู้ประกอบการที่ไม่มีโครงข่ายของตัวเองเข้ามาใช้โครงข่าย เป็นต้น สามารถที่จะลดค่า HHI ให้ต่ำกว่าปัจจุบัน แม้ไม่มีการควบรวม ในเวลาเดียวกันก็สามารถที่จะเพิ่มประโยชน์ที่จะให้แก่ประเทศ ประชาชน และผู้บริโภค ซึ่งนอกเหนือจากประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นโดยธรรมแก่ลูกค้าทรูและดีแทค เพราะว่าคลื่นจะใหญ่ขึ้น เสาสัญญาณและการครอบคลุมจะมากถึง 50,000 เสา เป็นต้น” ศุภชัย กล่าว

การควบรวมจะทำให้เกิดการเชื่อมโยงคลื่นความถี่ ซึ่งจะเกิดประโยชน์สูงสุดต่อลูกค้าของทั้งดีแทคและทรู ตลอดจนเรื่องคุณภาพของการบริการ และการลงทุนอย่างต่อเนื่องในเรื่อง 5G ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดกับประเทศ

การควบรวมจะทำให้ข้อจำกัดเรื่องการลงทุนในโครงข่าย 5G ของทั้งดีแทคและทรูหมดไป เพราะไม่ต้องลงทุนซ้ำซ้อน และศักยภาพในการลงทุนที่มากขึ้น

การควบรวมครั้งนี้จะทำให้ศักยภาพการให้บริการดีขึ้นทั้งด้านวิศวกรรม ด้านเทคโนโลยี และด้านบริการ เพราะเป็นการควบรวมบุคลากรของทั้งสององค์กรเข้าด้วยกัน

การควบรวมจะช่วยลดเรื่องของความเหลื่อมล้ำได้ เพราะโทรคมมีความเชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดและเหนียวแน่นกับระบบการศึกษา โดยเฉพาะต่อไปความรู้อยู่บนอินเทอร์เน็ต การเรียนออนไลน์ การให้คุณครูที่มีศักยภาพทั้งในประเทศและทั่วโลก เข้าสู่ระบบออนไลน์ เป็นเรื่องใหญ่

การควบรวมมีประโยชน์ต่อการขับเคลื่อนดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชัน และช่วยขับเคลื่อนประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางเทคโนโลยีของภูมิภาคได้ เพระาโทรคมนาคมคือโครงสร้างพื้นฐานของเศรษฐกิจดิจิทัล  โทรคมนาคมในที่นี่ไมไ่ด้หมายถึงเพียงแค่โครงข่าย 5G แต่ยังหมายรวมถึงคลาวด์และระบบซอฟต์แวร์ต่าง ๆ และรวมไปถึงระบบนิเวศของสตาร์ตอัพด้านเทคโนโลยี

และการควบรวมมีผลเชิงบวกต่อความยั่งยืน ซึ่งภาครัฐเองมีนโยบายด้านความยั่งยืน อาทิ Bio Circular Economy และ Green Economy เป็นต้น

“การควบรวมครั้งนี้เป็น Eco Partnership ระหว่างเครือเจริญโภคภัณฑ์กับเทเลนอร์ ไม่ได้เป็นการเข้าซื้อกิจการ  (Take over) ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และได้ฉันทานุมัติจากผู้ถือหุ้นสูงถึงกว่า 90% จากทั้งสองฝ่าย เรื่องการควบรวม การควบรวมครั้งนี้จะทำให้ทั้งกลุ่มเทเลนอร์และซีพีมีสัดส่วนการถือหุ้นที่ไม่ถึง 50% สรุปง่าย ๆ คือประมาณ 30% ทั้งสองฝ่าย จะทำให้บริษัทนี้เป็นบริษัทมหาชนที่สมบูรณ์แบบ คือไม่มีหุ้นใหญ่ และเป็นบริษัทไทยที่จะตั้งมั่นในการที่จะวางระบบนิเวศทางด้านความเป็นผู้นำทางเทคโนโลยี ตามยุทธศาสตร์สำหรับประเทศ ได้อย่างเต็มรูปแบบ”​ ศุภชัย กล่าว

ตั้งกองทุน 200 ล้านเหรียญฯ หนุนระบบนิเวศสตาร์ตอัพ

ซิคเว่ เบรกเก้ Cheif Executive Officer เทเลนอร์กรุ๊ป กล่าว่า บริษัทใหม่นี้ จะเป็นครั้งแรกที่ทางเทเลนอร์ และเครือซีพีมาร่วมมือกันเพื่อสร้างประโยชน์สูงสุดให้กับอุตสาหกรรม และเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศไทย 

ภาพรวมของอุตสาหกรรมโทรคมนาคม ในประเทศไทยได้เปลี่ยนแปลงไป ประเทศไทยยังมีโอกาสเติบโต Internet economy เติบโตอย่างก้าวกระโดด เกือบ 3 เท่า จกปี 2020 สู่ระดับ 57,000 ล้านเหรียญ

ระบบนิเวศสตาร์ตอัพในประเทศไทยยังตามหลังประเทศในภูมิภาคนี้อยู่ แม้กระทั่งเวียดนาม ประเทยไทยอยู่ในลำดับที่ 11 เงินลงทุนของ VC ที่เข้ามาในภูมิภาคนี้ ทั้ง ๆ ที่จริง ๆแล้ว VC เข้ามาลงทุนค่อนข้างมาก แต่ประเทศไทยได้แค่ 3% เท่านั้น ซึ่งเป็นสัดส่วนที่น้อยมาก

“ผมกับคุณศุภชัยได้คุยกันตลอด บอกว่าประเทศไทยต้องไม่อยู่ในจุดนี้ เพราะฉะนั้นกันรวมกัน ความร่วมมือครั้งสำคัญของพันธมิตรในครั้งนี้ คือการที่จะมาปิดช่องว่างตรงนี้ ทำให้ประเทศไทยไม่ถูก Left Behind อีกต่อไป”

สิ่งที่จะทำคือการจัดตั้งกองทุน 200 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทย ประมาณ 7,300 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนระบบนิเวศสตาร์ตอัพไทยผ่านการให้ทุน (Funding) ผ่านการจัดตั้งศูนย์นวัตกรรม ศูนย์บ่มเพาะ และที่สำคัญก็คือการมอบความรู้ เป็น facilitator พาไปสู่ตลาดระดับโลก

“โจทย์สำคัญของผม คืออยากจะทำให้ประเทศไทยเป็นแชมป์เปี้ยนในเรื่องของการเป็น Digital Nation ในภูมิภาคนี้ ซึ่งภายใต้ความร่วมมือกัน การนำจุดแข็งของทั้งสองบริษัทมาผสานร่วมกัน มั่นใจว่าทำได้อย่างแน่นอน การที่ทำคนเดียวอาจจะอ่อนแรงเกินไป การนำจุดแข็งของทั้งสองบริษัทมารวมกันนั้นก็จะทำให้ประเทศไทย ขึ้นมาอยู่ในแถวหน้า ในเรื่อง Digital Nation และพร้อมสำหรับเศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาคนี้”

ซิคเว่ กล่าวว่า ที่อยากเน้นย้ำ คือ ไม่ใช่ทำให้บริษัท และระบบนิเวศของเมืองไทยแข็งแรงอยู่ในประเทศเท่านั้น แต่จะพาบรรดากิจการต่าง ๆในประเทศไทยไปสู่ระดับสากล ระดับนานาชาติ ซึ่งสามารถทำได้แน่นอน เพราะทั้ง ซีพี กรุ๊ป และ เทเลนอร์ กรุ๊ป โดดเด่นอยู่ในตลาดโลกอยู่แล้วจะนำจุดแข็งจุดนี้มาพาบริษัทไทยให้ก้าวไปไกลในระดับโลกได้ 

บริษัทภายใต้ความร่วมมือนี้จะสนับสนุนและส่งเสริมให้เกิดรูปแบบธุรกิจใหม่ ๆ ให้เกิดนวัตกรรมที่เชื่อมโยงมาจากโครงสร้างพื้นฐาน 5G  อาทิ Edge Cloud,​Data Center และ IOT รวมถึงระบบความปลอดภัยด้านไซเบอร์ ระบบความปลอดภัยเรื่องการเชื่อมต่อกัน ความปลอดภัยเรื่องข้อมูล เหล่านี้ก็เป็นสิ่งที่บริษัทใหม่ภายใต้ความร่วมมือจะโฟกัสเช่นกัน

กระบวนการสะดุด

ศุภชัย กล่าวว่า “เรายื่นเรื่องเข้าไปตั้งแต่เดือนมกราคม ในกฎหมายมีข้อกำกับไว้ว่า การพิจารณาจะเกิดขึ้น ใน 90 วันโดยเฉพาะในเรื่องของการสร้างเงื่อนไข กระบวนการนี้ต้องเรียนว่าเกิดการสะดุด ตามหลักแล้ว 90 วันก็จะต้อง เสร็จสิ้น ในเดือนพฤษภาคม ก็เลื่อนออกมาระดับหนึ่งแล้ว กสทช. ที่เข้ามาใหม่ ต้องการเวลาเพิ่มเติม จริง ๆ แล้วเป็นกระบวนการที่อยากเห็นว่ามันเกิดขึ้นเร็ว เพราะไม่เช่นนั้นจะมีผลกระทบต่อตลาดทุนและความมั่นใจของตลาดทุน ซึ่งผู้ถือหุ้นทั้งสองฝั่ง ก็มีทั้งไทยและเทศ มีทั้งกองทุนระดับโลก ที่เขารออยู่ ตลอดจนสิทธิประโยชน์หรือผลประโยชน์ บริการที่ดีขึ้น ความครอบคลุมที่ดีขึ้น ให้กับผู้บริโภคชาวไทย ลูกค้าของทั้งสององค์กรก็ล่าช้าตามไปด้วย ความกดดันที่มีต่อทั้ง 2 องค์กร จากผู้ถือหุ้นจากตลาดหลักทรัพย์ก็สูงขึ้นเรื่อย ๆ”

หากกระบวนการควบรวมนี้ไม่ผ่านไปถึงจุดที่ควบรวมสำเร็จ ทรูและดีแทคจะยังเป็น 2 บริษัทที่ไม่แข็งแรง การแข่งขันในภูมิทัศน์นี้มีแต่จะถดถอยลง ศักยภาพในการลงทุน ที่จะทำให้บริการดีขึ้น เท่าเทียม และอาจจะไปถึง 6G มันทำได้ยากขึ้นมาก 

“ผมอยากจะให้เห็นว่า Telco ตอนนี้ Telco กลายเป็น dump pipe แล้วเพราะแข่งขันไม่ได้”

ศุภชัย กล่าวว่า ตาม พรบ.ปี  2561 การควบรวมไม่ใช่การเข้าซื้อกิจการ การควบรวม ดังนั้น กสทช. ไม่ได้ต้องอนุมัติ แต่กสทช. มีอำนาจในการสร้างเงื่อนไขที่จะลดผลกระทบในทางลบและสร้างผลประโยชน์ในทางบวก ซึ่งบริษัทยินดีที่จะทำงานร่วมกับกสทช. เพื่อที่จะตอบเงื่อนไขเหล่านั้นให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการควบรวม

การควบรวมครั้งนี้เป็นการตั้งเป็นบริษัทใหม่ เอาทรัพย์สินของทั้งสองฝั่งใส่เข้าไป เป็นบริษัทใหม่ การควบรวม แบบให้สิทธิ์ทุกคนเท่าเทียมกันหมด เป็นกระบวนการที่แตกต่างจากการเข้าเทคโอเวอร์ และไม่ได้เข้าควบรวมแบบว่า รายหนึ่งแข็งแรงแล้วไปเทคโอเวอร์อีกรายหนึ่ง

“เราควบรวมเพราะว่าทั้ง 2 ราย ในอนาคตอันใกล้ ตลอดจนแม้กระทั่งปัจจุบัน มีศักยภาพในการแข่งขันที่ถดถอยลง ไม่ใช่ว่ารายหนึ่งมันแข็งแรงแล้วไปเทคโอเวอร์อีกรายหนึ่ง”

พร้อมอธิบายว่า การเทคโอเวอร์ของ AIS กับ 3BB เป็นการเทคโอเวอร์ โครงสร้างผู้ถือหุ้นไม่มีการเปลี่ยนแปลง และเป็นไปตามระเบียบกสทช. ที่จะต้องขออนุมัติ ซึ่งอันนี้อยู่ในพรบ.ปี 2561 ชัดเจน ถ้าเป็นการเทคโอเวอร์จะต้องขออนุมัติ แต่ถ้าเป็นการควบรวม ไม่ต้องขออนุมัติ แต่ต้องพิจารณารับเงื่อนไขของกสทช อันนี้อยู่ในกฎหมายชัดเจน

อำนาจ กสทช. สามารถกำหนดเงื่อนไข ถ้าบริษัทไม่รับเงื่อนไข กสทช. สามารถเอาเงื่อนไขเหล่านี้ ไปฟ้องต่อศาลปกครอง เพื่อยับยั้งการควบรวม อันนี้เป็นกระบวนการทางกฎหมาย

“ไม่ได้มากดดัน regulator แต่อย่างใด เข้าใจว่าต้องใช้เวลาในการทำหน้าที่ของท่านให้ดีที่สุด อย่างที่บอกว่าทั้งสองฝ่ายยินดีอย่างยิ่งที่จะปฏิบัติตามและเข้าไปชี้แจงให้เห็นถึงผลประโยชน์พี่จะเกิดขึ้นสำหรับดีลนี้ให้ครบทุกมุมที่สุด วันนี้อยากมาอัปเดตให้ทุกท่านฟังว่ากระบวนการตอนนี้ไปถึงไหนแล้วและเรามีความพร้อมอย่างไรและพร้อมที่จะเข้าไปให้ข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อที่จะเดินหน้า” ซิคเว่ กล่าว

ศุภชัย กล่าวว่า กสทช. ไม่ได้มีอำนาจอนุมัติ แต่มีอำนาจสร้างเงื่อนไข และถ้ากสทช. จะ enforce อำนาจในการที่จะยับยั้งการควบรวม ต้องไปศาลปกครอง เป็นจุดยืนที่แตกต่างกัน เราอยากจะเริ่มทำงานร่วมกับกสทช.ในการทำตามเงื่อนไขของกสทช.

“เราก็อยากจะให้ดำเนินไปตามครรลองของกฎหมายและกรอบเวลาที่กสทช. เป็นคนร่างเอาไว้เองในตัวบทกฎหมาย ก็อยากจะเห็นสิ่งนั้นเกิดขึ้น” ศุภชัย กล่าว

“เราไม่เคยคิดไปถึงขั้นที่จะฟ้องร้อง กสทช. กสทช.ท่านลำบากตรงที่ว่าท่านเข้ามาใหม่ และเป็นยุคเปลี่ยนผ่าน จริง ๆ ต้องยอมรับว่าต้องให้เวลาท่าน เพียงแต่ว่าเราก็มีความกดดัน เราต้องขับเคลื่อนการควบรวมด้วยกลไกตลาด และความยินยอมของผู้ถือหุ้น และเราปฏิบัติตามกฎระเบียบของตลาดหลักทรัพย์ และ กลต.หมดแล้ว” ศุภชัย กล่าว

กสทช. ปฏิเสธอนุฯโหวตคว่ำควบรวมทรูดีแทค

สำนักงาน กสทช. ปฏิเสธอนุฯ โหวตคว่ำควบรวมทรู-ดีแทค ยืนยันรวบรวมข้อมูลยังไม่เสร็จ รอนำเสนอบอร์ด 3 ส.ค.

ตามที่มีรายงานข่าวว่า คณะอนุกรรมการ 4 คณะที่แต่งตั้งโดย กสทช. เพื่อศึกษากรณีการขอควบรวมกิจการระหว่าง บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ได้ลงมติคัดค้านการรวมกิจการครั้งนี้ 3 : 1 โดยคณะอนุกรรมการฯ ด้านคุ้มครองผู้บริโภคและสิทธิพลเมือง คณะอนุกรรมการฯด้านเศรษฐศาสตร์ และคณะอนุกรรมการฯ ด้านเทคโนโลยี ไม่เห็นด้วยกับการควบรวมกิจการ ขณะที่ คณะอนุกรรมการฯด้านกฎหมาย เห็นด้วยนั้น  

ทางสำนักงาน กสทช. ขอแจ้งให้ทราบว่าข่าวดังกล่าวไม่ตรงกับข้อเท็จจริง เนื่องจากการสรุปผลการพิจารณาของคณะอนุกรรมการฯ ทั้งสี่ชุดยังอยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลโดยสำนักงานฯ ซึ่งจำเป็นต้องประมวลข้อมูลจำนวนมากทั้งจากการประชุมของคณะอนุกรรมการทั้งสี่ชุด การจัดทำโฟกัสกรุ๊ปกับกลุ่มผู้เกี่ยวข้องต่างๆและรายงานผลการศึกษาจากที่ปรึกษาทางวิชาการที่สำนักงาน กสทช.ได้มีการจัดจ้างไป

ล่าสุด ทางสำนักงานฯ ได้มีการเสนอบอร์ด กสทช. เพื่อขยายเวลาออกไปอีกเนื่องจากจัดทำข้อมูลเป็นรายงานไม่ทัน ที่ประชุม กสทช. ครั้งที่ 18/2565 เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2565 จึงมีมติให้ขยายระยะเวลาในการจัดทำรายงานความเห็นกรณีการรวมธุรกิจระหว่างบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ของสำนักงาน กสทช. ออกไปจนถึงวันที่ 3 ส.ค. 2565 ตามที่สำนักงาน เสนอ

“กระแสข่าวดังกล่าวไม่เป็นความจริง ระหว่างนี้สำนักงาน กสทช.กำลังรวบรวมข้อมูลรายงานความเห็นของคณะอนุกรรมการทั้งสี่คณะตลอดจนความเห็นของที่ปรึกษาเพื่อจัดทำรายงานความเห็นของสำนักงานฯ เสนอที่ประชุม กสทช. ในวันที่ 3 ส.ค.2565” นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการแทน เลขาธิการ กสทช. กล่าว

ดีแทคยืนยันยังไม่ได้รับการแจ้งมติการควบรวมจากกสทช.

ดีแทคยื่นชี้แจงตลาดหลักทรัพย์กรณีข่าวที่ปรากฏในสื่อเกี่ยวกับการควบรวมกิจการ

ตามที่มีข่าวปรากฏในสื่อเกี่ยวกับผลพิจารณาลงมติของคณะอนุกรรมการการศึกษาและวิเคราะห์ของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เกี่ยวกับการควบรวมกิจการระหว่างบริษัท และบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ในวันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2565

บริษัทได้ยื่นชี้แจงต่อตลาดหลักทรัพย์เพื่อยืนยันว่าบริษัทยังไม่ได้รับการแจ้งอย่างเป็นทางการเกี่ยวกับผลของการพิจารณา หรือผลของการศึกษาวิเคราะห์ หรือการลงมติเกี่ยวกับการควบรวมกิจการจากกสทช. หรือคณะอนุกรรมการของกสทช. แต่อย่างใด

ทั้งนี้ บริษัทขอเรียนแจ้งเพิ่มเติมว่า ไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการแทนเลขาธิการกสทช. ได้ระบุในข่าวที่แถลงบนเว็บไซต์ของ กสทช. https://www.nbtc.go.th/News/Information/55369.aspx?lang=th-th เกี่ยวกับข่าวที่กล่าวถึงข้างต้นว่าข่าวที่ออกมาดังกล่าวนั้นไม่ตรงกับข้อเท็จจริง ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการฯ ยังไม่มีการเผยแพร่ข้อมูลใด ๆ เกี่ยวกับผลการพิจารณา หรือผลของการศึกษาและวิเคราะห์ หรือการลงมติเกี่ยวกับการควบรวมกิจการ ซึ่งขั้นตอนเกี่ยวกับการควบรวมกิจการยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของกสทช.

ข่าวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

เปิดบ้าน Terosoft Capital Group สตาร์ตอัพน้องใหม่ กับเป้าหมายที่เป็นมากกว่า ยูนิคอร์น

ดีพร้อม ผนึกชไนเดอร์ เพิ่มศักยภาพ SME ภาคการผลิต ด้วยเทคโนโลยีอัตโนมัติและดิจิทัล

AIS จับมือ MyWaWa สนับสนุนผู้ประกอบการภาคการผลิต เข้าสู่โลกออนไลน์

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ