TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnist“ดอยเชียงดาว” พื้นที่สงวนชีวมณฑลใหม่ของไทย

“ดอยเชียงดาว” พื้นที่สงวนชีวมณฑลใหม่ของไทย

การที่ “ดอยเชียงดาว “ ได้การรับรองจากยูเนสโกให้เป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑลแห่งที่ 5 ของไทย สะท้อนให้เห็นว่าประเทศไทยมีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์เป็นที่ยอมรับในระดับสากลอยู่หลายแห่ง โดยแต่ละแห่งมีลักษณะโดดเด่นแตกต่างกัน ซึ่งควรค่าแก่การทำความรู้จักเพื่อช่วยกันรักษาให้มีความยั่งยืนสืบไป

ค่ำวันที่ 15 กันยายน 2564 ตามเวลาประเทศไทย องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ได้ประกาศรับรองให้ดอยเชียงดาวเป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑลแห่งใหม่ จากการที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เสนอขึ้นทะเบียนตามที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2563 เพื่อยกระดับพื้นที่ทางธรรมชาติของประเทศไทยให้มีการยอมรับในระดับสากล ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาให้เกิดประโยชน์สูงสุดและยั่งยืน

พื้นที่สงวนชีวมณฑล หรือ Biosphere Reserve เป็นพื้นที่ที่มีคุณค่าด้านการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรมในระดับนานาชาติ ภายใต้โครงการมนุษย์และชีวมณฑล (Man and the Biosphere Programme) ของยูเนสโก เริ่มขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2515 มีวัตถุประสงค์ส่งเสริมการศึกษาและวิจัยเพื่อหาคำตอบของความสมดุลระหว่างการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและความเจริญของการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ ปัจจุบันทั่วโลกมีพื้นที่สงวนชีวมณฑลจำนวน 701 แห่ง ใน 124 ประเทศ

ยูเนสโกได้กำหนดให้พื้นที่ที่ขึ้นทะเบียนมีบทบาทหลัก 3 ประการ หนึ่ง การอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพและความหลากหลายทางวัฒนธรรม สอง การพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนท้องถิ่นบนฐานของความยั่งยืน และสาม สนับสนุนการสร้างองค์ความรู้ด้านการศึกษาวิจัย การบริหารจัดการ รวมถึงการเผยแพร่บทเรียนจากการดำเนินงานของพื้นที่สงวนชีวมณฑล

พื้นที่ดังกล่าวจึงต้องส่งเสริมการอยู่ร่วมกันระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ ด้วยการสร้างความสมดุลระหว่างการอนุรักษ์กับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม

ดังนั้น พื้นที่สงวนชีวมณฑลจึงประกอบด้วยส่วนที่เป็นพื้นที่อนุรักษ์และพื้นที่ชุมชน โดยไม่จำกัดเพียงชุมชนภายในหรือชุมชนที่ประชิดพื้นที่อนุรักษ์เท่านั้น แต่ครอบคลุมไปถึงชุมชนรอบนอกที่ได้รับประโยชน์จากระบบนิเวศในพื้นที่อนุรักษ์ด้วย

ซึ่งโดยทั่วไปจะแบ่งออกเป็น 3 เขต ได้แก่ เขตแกนกลาง เป็นพื้นที่อนุรักษ์ที่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย สามารถทำกิจกรรมได้เฉพาะการศึกษาวิจัยทางธรรมชาติเท่านั้น เขตกันชน คือพื้นที่ล้อมรอบเขตแกนกลาง มีได้เฉพาะกิจกรรมที่ไม่ขัดแย้งกับการอนุรักษ์ในเขตแกนกลาง อาทิ การวิจัยและการฝึกอบรม การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ส่วนเขตรอบนอก เป็นพื้นที่ที่สามารถทำกิจกรรมต่างๆ ได้ แต่ต้องไม่ส่งผลกระทบกับเขตแกนกลาง เช่น การทำการเกษตร การตั้งถิ่นฐานของชุมชน และการใช้ประโยชน์ของชุมชน

ดอยเชียงดาวซึ่งเป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑลลำดับที่ 5 ของประเทศไทย ตั้งอยู่ในเขตอำเภอเชียงดาว และอำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่ ครอบคลุมเนื้อที่ 521 ตารางกิโลเมตร ภูมิประเทศเป็นเทือกเขาสูงสลับซับซ้อน สภาพป่าเป็นป่าดิบแล้ง ป่าดิบเขา ป่าสน สลับกับทุ่งหญ้า มียอดดอยหลวงเชียงดาวเป็นเอกลักษณ์โดดเด่นด้วยความสูง 2,275 เมตร จากระดับน้ำทะเล ซึ่งเป็นภูเขาหินปูนที่สูงที่สุดในประเทศไทย และสูงเป็นอันดับ 3 ของประเทศไทย รองมาจากดอยอินทนนท์และดอยผ้าห่มปก

ที่นี่เป็นที่ตั้งของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาวที่มีระบบนิเวศภูเขาหินปูนที่โดดเด่น มีป่าเปิดระดับสูง.(Subalpine vegetation) หนึ่งในไม่กี่แห่งของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เชื่อมต่อทางระบบนิเวศในแนวเทือกเขาหิมาลัยและจีนตอนใต้ ทำให้เป็นถิ่นอาศัยของพันธุ์พืชเฉพาะถิ่นจำนวนมาก และบางชนิดพบว่าเป็นพืชชนิดใหม่ของโลก

เป็นแหล่งที่มีความหลากหลายทางชีวภาพมาก มีทั้งพืชพรรณเขตร้อน กึ่งเขตร้อนและพืชเขตอบอุ่น กว่า 2,000 ชนิด คิดเป็นร้อยละ 20 ของพรรณไม้ในประเทศไทย เป็นแหล่งอาศัยของสัตว์ป่าจำนวน 672 ชนิด จาก 358 สกุล ใน 91 วงศ์ รวมทั้งมีสัตว์ป่าหายากหลายชนิด เช่น ผีเสื้อสมิงเชียงดาว ไก่ฟ้าหางลายขวาง ที่สำคัญเป็นแหล่งอาศัยที่ปลอดภัยของสัตว์ป่าสงวนอย่าง กวางผา และเลียงผา อีกทั้งยังเป็นแหล่งดูนกยอดนิยมด้วยมีนกอาศัยอยู่มากกว่า 300 ชนิด

พื้นที่ดอยเชียงดาวมีประวัติการตั้งถิ่นฐานของผู้คนมานานกว่า 600 ปี รวมทั้งมีความหลากหลายทางวัฒนธรรม จากการมีชุมชนของชาติพันธุ์ต่างๆ อาศัยอยู่ร่วมกันอย่างสันติ อาทิ ไทยใหญ่ ม้ง มูเซอ ลีซอ ปกากะญอ และชาวไทยล้านนา

นอกจากนี้ ตำนานเกี่ยวกับเจ้าหลวงคำแดงซึ่งสถิตอยู่บนดอยหลวงเชียงดาวที่ปรากฏในหลายสำนวนกระจายกันอยู่ในจังหวัดต่าง ๆ ทางภาคเหนือของไทย ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ร่วมของชนเผ่าไทในลุ่มน้ำโขง ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติเมื่อปี พ.ศ.2555 ทำให้พื้นที่ดอยเชียงดาวมีความสำคัญต่อจิตวิญญาณของคนในล้านนา

ทั้งหมดนี้ทำให้ดอยเชียงดาวมีศักยภาพในการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงนิเวศและวัฒนธรรมที่ยั่งยืนอย่างมาก

นอกจากนี้ยั งมีสถานีวิจัยหลายด้านที่เอื้อต่อการวิจัยในพื้นที่ ทั้งสถานีวิจัยต้นน้ำ สถานีวิจัยเกษตรพื้นที่สูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านอนุรักษ์สัตว์ป่า ถือว่ามีความโดดเด่นเรื่องการจัดการพื้นที่คุ้มครองเพื่ออนุรักษ์สัตว์ป่า จากความสำเร็จในการอนุรักษ์กวางผาในถิ่นที่อยู่

การได้ขึ้นทะเบียนรับรองเป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑลจะก่อเกิดประโยชน์ต่อการบูรณาการกิจกรรมของหน่วยงานต่าง ๆ ที่ทำให้พื้นที่นี้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน ทั้งการอนุรักษ์ระบบนิเวศและการพัฒนาเศรษฐกิจของชุมชน ตลอดจนเกิดความภาคภูมิใจของคนไทยที่มีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์เป็นที่ยอมรับในระดับสากล และมีส่วนในการถ่ายทอดความรู้และวิทยาการต่าง ๆ ไปยังเครือข่ายพื้นที่สงวนชีวมณฑลอื่น ๆ ทั่วโลก

สำหรับพื้นที่ธรรมชาติในประเทศไทยอีก 4 แห่ง ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑลภายใต้โครงการมนุษย์และชีวมณฑลของยูเนสโกก่อนหน้านี้ประกอบด้วย

พื้นที่สงวนชีวมณฑลสะแกราช ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นแห่งแรกเมื่อปี พ.ศ.2519 โดยเริ่มจากบริเวณพื้นที่ของสถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช ตำบลสะแกราช ต่อมาได้ขยายขอบเขตพื้นที่รอบนอกครอบคลุม 5 ตำบลของอำเภอวังน้ำเขียว และ 6 ตำบลในอำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติในอนาคต

สภาพเป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติที่มีป่าดิบแล้งและป่าเต็งรังที่มีลักษณะสมบูรณ์ เหมาะเป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับปัจจัยสิ่งแวดล้อมในป่าเขตร้อน และเป็นสถานที่ศึกษาค้นคว้าวิจัยระบบนิเวศของป่าดิบแล้งและป่าเต็งรัง ปัจจุบันอยู่ในความรับผิดชอบของสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย

แห่งที่สองคือ พื้นที่สงวนชีวมณฑลคอกม้า-แม่สา ได้รับการประกาศจัดตั้งในปี พ.ศ. 2520 ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของอุทยานแห่งชาติ 3 แห่ง ได้แก่ อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย อุทยานแห่งชาติออบขาน และอุทยานแห่งชาติขุนขาน จังหวัดเชียงใหม่

พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่าดิบเขามีป่าเต็งรังและป่าผสมผลัดใบซึ่งเป็นแหล่งที่มีความหลากหลายทางชีวภาพทั้งชนิดพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์ ประกอบด้วย 2 พื้นที่ลุ่มน้ำหลัก คือ ลุ่มน้ำแม่สาและลุ่มน้ำห้วยคอกม้า ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการศึกษาและวิจัยทางด้านลุ่มน้ำธรรมชาติและอุทกวิทยา เป็นต้นแบบของการจัดการลุ่มน้ำ รวมทั้งเป็นตัวอย่างที่ดีของป่าขนาดใหญ่ที่ได้รับการคุ้มครองดูแลจากคนในพื้นที่ โดยเฉพาะชาวบ้านที่อาศัยอยู่โดยรอบ ปัจจุบันอยู่ในความรับผิดชอบของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

แห่งที่สามได้แก่ พื้นที่สงวนชีวมณฑลป่าสักห้วยทาก ตั้งอยู่ที่ป่าสงวนแห่งชาติแม่งาว อำเภองาว จังหวัดลำปาง เป็นป่าผสมผลัดใบที่มีไม้สัก ป่าเต็งรัง ป่าดิบแล้ง ที่นี่เป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑลแห่งเดียวที่ครอบคลุมสวนสักที่สำคัญของประเทศที่อยู่ในป่าเบญจพรรณธรรมชาติ และเป็นแหล่งไม้สักที่มีพันธุกรรมที่ดีที่สุดของโลก
อีกทั้งมีคุณค่าในฐานะแหล่งโบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์ เช่น แหล่งภาพเขียนสีประตูผา และแหล่งภาพเขียนโบราณบ้านห้วยหก มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมของชาติพันธุ์ต่างๆ ทั้ง อาข่า ลาหู่ ลีซอ เย้า ม้ง ขมุ ล้านนา และชาวไทยภาคกลาง ได้รับการประกาศเป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑล ในปี พ.ศ.2520 ปัจจุบันอยู่ในความรับผิดชอบของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

พื้นที่ที่สี่ได้รับการประกาศจัดตั้งในปี พ.ศ. 2540 คือ พื้นที่สงวนชีวมณฑลระนอง ซึ่งมีความแตกต่างจากที่อื่นๆ เพราะมีระบบนิเวศแบบป่าชายเลน ประกอบด้วยป่าชายเลนดั้งเดิมที่ไม่ผ่านการทำไม้ซึ่งมีเหลือเพียงไม่กี่แห่งในประเทศไทย และมีต้นโกงกางยักษ์อายุ 200 ปี

พื้นที่สงวนชีวมณฑลแห่งนี้ครอบคลุมพื้นที่ป่าชายเลนของอำเภอเมืองระนอง มีความสำคัญในการรักษาความสมดุลของสภาพแวดล้อมชายฝั่งทะเล ทำหน้าที่เป็นแนวป้องกันลมพายุ และแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำนานาชนิด ถือเป็นแหล่งศึกษาวิจัยเกี่ยวกับระบบนิเวศวิทยาป่าชายเลนที่สำคัญของประเทศ และเป็นแบบอย่างของการค้นคว้าวิจัยให้กับพื้นที่อื่น ๆ ปัจจุบันอยู่ในความรับผิดชอบของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

ทั้งนี้ จะเห็นว่าพื้นที่สงวนชีวมณฑลทั้ง 5 แห่ง ต่างมีเอกลักษณ์ของแต่ละที่แตกต่างกัน แต่ทั้งหมดล้วนมีความสำคัญในฐานะพื้นที่เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ด้วยการรักษา ฟื้นฟู และอนุรักษ์ให้คนรุ่นต่อไป …

สมชัย อักษรารักษ์ … อดีตบรรณาธิการ ผู้มีประสบการณ์ 20 ปี ในวงการงานข่าวการตลาด-ไอที แต่มีความสนใจในประวัติศาสตร์เป็นพิเศษ จนได้ใช้ทำงานสารคดีนาน 10 ปี

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ