TH | EN
TH | EN
หน้าแรกBusinessหนุ่ย พงษ์สุข ปั้น "แบไต๋" บริษัทที่ยั่งยืน สำนักสื่อนวัตกรรม

หนุ่ย พงษ์สุข ปั้น “แบไต๋” บริษัทที่ยั่งยืน สำนักสื่อนวัตกรรม

แบไต๋ (beartai.com) เป็นเว็บไซต์ที่นำเสนอข่าวสารด้านเทคโนโลยีเว็บแรก ๆ ในประเทศไทย มี “หนุ่ย-พงศ์สุข หิรัญพฤกษ์” เป็นผู้บริหาร ที่ลงมือทำเองทุกอย่างตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง ผ่านมรสุมมานับครั้งไม่ถ้วน แต่ก็สามารถฟื้นกลับขึ้นมาได้ทุกครั้ง ซึ่ง “หนุ่ย” ตั้งเป้าหมายอยากจะทำบริษัทให้มีความมั่นคง เป็นที่พึ่งของพนักงาน และอยู่รอดต่อไปได้ในทุกยุคทุกสมัย

หนุ่ย-พงศ์สุข หิรัญพฤกษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โชว์ไร้ขีด จำกัด (Show no Limit) กล่าวกับ The Story Thailand ว่า เป็นคนถนัดนำเสนออยู่หน้ากล้อง พูดกับผู้คนอธิบายให้เข้าใจ และมีความภาคภูมิใจนำเสนออยู่เสมอ ซึ่งเป็นมาตั้งแต่สมัยเข้าวงการใหม่ ๆ ตั้งแต่ปี 1998 ที่ทำรายการกับพี่ “จอห์น รัตนเวโรจน์”

ในช่วงอายุ 20-30 จะลุยเอง ทำทุกอย่างเอง และคิดว่าเอาอยู่ มั่นใจในตัวเองสูง แต่เมื่อเข้าวัย 30-40 ก็เริ่มล้าและพ่ายแพ้ต่อความผิดพลาดในการลงทุนกับการทำรายการลงดิจิทัลทีวี ถึงแม้ว่าจะมีเพื่อนในวงการเตือนแล้ว

“ซึ่งตอนนั้นได้เปิด 12 รายการใน 6 สถานี และสิ้นสภาพภายในปีเดียว”

หนุ่ย ใช้เวลาซ่อมสร้างตัวเองมา 4 ปี (ตั้งแต่ปี 2016) ก่อนจะมาถึงวันนี้ในวัย 42 ปี และได้ปรับแนวคิดใหม่ คือ รู้ว่าตัวเองจะทำอะไรและจะไม่ทำอะไร หมายความว่าจะทำเฉพาะเรื่องที่ตัวเองถนัดเท่านั้น โดยเฉพาะงานบริหารที่เคยคิดว่าตัวเองทำได้ ก็หาคนที่เข้ามาบริหารแทน หนุ่ยจ้างกรรมการผู้จัดการ (MD) เข้ามาดูแลงานบริหารแทน และขึ้นไปนั่งในตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) แทน ซึ่งยังคงประชุมงานเหมือนเดิมแต่อยู่ในภาคของการให้ความเห็น

แบไต๋ปรับโฉมใหม่เป็นแพลตฟอร์มที่นำเสนอเรื่องเทคโนโลยีและไลฟ์สไตล์ เจาะกลุ่มอุตสาหกรรมที่ต้องอิงความเป็นเทคโนโลยี กลายเป็นแบไต๋ยุคใหม่ที่มีรีวิวหลากหลาย ไม่ใช่แค่คอมพิวเตอร์และมือถือ แต่ยังลามไปถึงวงการรถยนต์ เทคโนโลยีนาโน ไม่เว้นแม้แต่สุขภัณฑ์ห้องน้ำ

“เราทำให้แบไต๋เป็นสื่อที่สื่อสารเรื่องเทคโนโลยีที่เข้าสู่ผู้คนในระดับ Premium Mass ที่กว้างขึ้นกว่าเดิม”

อีกส่วนที่ หนุ่ย เข้ามาปรับ คือ ทุกการประชุมจะให้พนักงานได้แสดงความเห็นอย่างเต็มที่ และยังให้พนักงานสับเปลี่ยนหมุนเวียนเพื่อเรียนรู้งานใหม่ ๆ หรือให้พนักงานได้ทำงานในอีกตำแหน่งหนึ่ง เพื่อรีเฟรชความรู้สึกให้เหมือนได้ทำงานใหม่ตลอดเวลา เช่น ช่างภาพในสตู ให้ลองไปเรียนรู้การตัดต่อ การถ่ายภาพนิ่ง ฝึกทำโมชันกราฟิก ทำให้เกิดการเรียนรู้ใหม่และอยากจะอยู่กับบริษัทนานขึ้น

หนุ่ย กล่าวว่า หลังจากที่ปรับการทำงาน อัตราการลาออกของบริษัทก็น้อยลง เคยลองนั่งนึกดูว่าคนสุดท้ายที่ลาออกจากบริษัท ลาออกไปเมื่อไร ยังนึกไม่ออก เพราะมันนานมากแล้ว แบไต๋กลายเป็นบริษัทที่มีความสุข พนักงานได้โบนัสทุก 3 เดือน โดยเป็นการแบ่งรายได้จากโฆษณาให้พนักงานก่อนผู้ถือหุ้น เสมือนได้โบนัสปีละ 5 ครั้ง ทำให้ทุกคนมีพลังและสนุกกับการทำงาน

ปัจจุบันแบไต๋มีพนักงาน 47 คนที่เป็นพนักงานประจำ และอีก 40 คนเป็นพนักงานฟรีแลนซ์ที่ไม่ต้องเข้าออฟฟิศเลย ซึ่งเป็นนักเขียน

เอาตัวรอดจากมรสุมอย่างไร?

หนุ่ย เล่าว่า ถ้านับทั้งหมด ตัวเองสะดุดมานับครั้งไม่ถ้วน แต่ใน 4 ปีหลังเริ่มนิ่งแล้ว บางคนพูดว่าดิสรัปชันเพิ่งจะเกิดในยุคนี้ แต่จริง ๆ แล้วมันเกิดมาตลอด บังเอิญว่าเป็นคนที่เกิดมาในยุคอินเทอร์เน็ตยุคแรก ซึ่งสมัยนั้นทำรายการออกในทีวีและให้ข้อมูลความรู้กับคนให้ใช้อินเทอร์เน็ต แต่ในความจริงแล้วก็เป็นการทุบหม้อข้าวตัวเองไปเรื่อย ๆ พอถึงวันที่คนมาใช้อินเทอร์เน็ตกันจริง ๆ ก็ต้องกลับมาสร้างอาณาจักรในอินเทอร์เน็ตใหม่เหมือนกัน

“เราบอกให้คนดูรายการใช้อินเทอร์เน็ต แต่เรากลับไม่ได้สร้างอะไรในอินเทอร์เน็ตเอาไว้มากพอ”

หนุ่ย เล่าต่อว่า แบไต๋ต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงมาตลอดตั้งแต่ยุคที่ขอเวลาทีวียากมาก และมีคนดูมากมาย แต่สุดท้ายพอคนมาอยู่บนอินเทอร์เน็ต แบไต๋นำรายการที่เคยออกในทีวีมาใส่ในโลกออนไลน์ มีคนดูแค่ 3,000 วิว ซึ่งมันไม่มีมูลค่ามากพอที่ใครจะมอง ตอนนั้นเครียดมาก และใช้เงิน 2 ล้านสุดท้ายมาเดิมพัน ปฏิรูปทุกสิ่งอย่าง จากที่เคยบอกคนอื่นให้ก้าวข้ามแต่ตัวเราเองไม่เคยก้าวข้ามเลย จึงขอก้าวข้ามเองบ้างโดยใช้กระบวนการผลิตดิจิทัลคอนเทนต์ และมานั่งพิจารณาการทำคอนเทนต์กันจริงจัง จนเป็นอย่างทุกวันนี้ ที่ไม่ต้องมีไตเติ้ลรายการ ทำให้คนเข้าใจมากที่สุดในเวลาอันสั้น

“หลายคนทักว่าคลิปจะต้องจบภายใน 3-5 นาที ส่วนตัวมองว่าไม่เป็นอย่างนั้นเสมอไป เพราะเคยทำคลิปเกือบ 30 นาที ก็มีคนดูเป็นล้านวิว แต่ขอให้สนุกตลอด เช่นเดียวกับเวลาที่คนดูสารคดีหรือดูหนัง ก็อยากดูตลอดถึงแม้จะยาว เพราะมันมีจุดที่ทำให้เราลุ้นว่าจะมีอะไรต่อไป ถ้าเราสามารถสร้างความสนุกให้มันอยู่ได้ตลอดเวลาคนก็จะดู”

อีกส่วนหนึ่งเพราะได้พลังจากครอบครัว ภรรยาเป็นผู้ช่วยที่ดีในการจัดการเรื่องงาน คอยป้อนงานให้ตามเวลา หลังจากเสร็จงานก็เล่นกับลูก

ปัจจุบันแพลตฟอร์มของแบไต๋เป็นออริจินัลคอนเทนต์แค่ 20% ส่วนอีก 80% เป็นคลิปที่เป็นโฆษณาที่มีการติ หรือให้ข้อสังเกต เพื่อสมดุลความรู้สึกของคนดู

“ทุกวันนี้ที่คนดูแบไต๋อย่างคับคั่งเพราะมีการติสินค้าที่เป็นโฆษณา เป็นการสร้างบรรทัดฐานของการรีวิว ซึ่งลูกค้าทั้งหมดก็ยอม”

ตั้งเป้า “แบไต๋” เป็นบริษัทที่ยั่งยืน

หนุ่ย ต้องการเปลี่ยนแบไต๋ให้เป็นสำนักสื่อที่จะสื่อสารเรื่องราวอันทันสมัย วิทยาการความก้าวหน้าที่จะเป็นประโยชน์กับผู้คน และเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจไปในตัว ทำให้สินค้าที่มาพูดผ่านแบไต๋มีคนเข้าไปอุดหนุนในแบบที่ลูกค้าพอใจ หนุ่ย มองว่าปัจจุบันแบไต๋ทำ Facebook ได้ดีแล้ว ในอนาคตต้องทำ YouTube ให้ดีทุกคลิป ปังมากขึ้น

“เราทำคอนเทนต์เทคโนโลยีและไลฟ์สไตล์ อะไรก็ตามที่เป็นไลฟ์สไตล์ที่มาเป็นเทคโนโลยีเราจะพูดถึงมันทั้งหมด จะเห็นว่าเราได้รีวิวรถประมาณ 10 ยี่ห้อ จนกระทั่งผู้จัดมหกรรมรถท่านหนึ่งเคยเรียกเข้าไปคุย”

หนุ่ย กล่าวต่อว่า ความท้าทายส่วนตัวหมดแล้ว เพราะสนุกที่ได้ทำอาชีพนี้ และอยากจะทำมันไปได้ตลอดชีวิต แต่เคยตั้งสมการว่าถ้าจะทำอาชีพนี้ไปตลอดจะต้องทำอย่างไร วันนี้มีองค์กรที่ต้องดูแลรับผิดชอบ และได้เรียนรู้แล้วว่ารวยที่สุดไม่มีอยู่จริง จึงแบ่งรายได้ที่ได้มาไปให้พนักงานอย่างเท่าเทียมกับทุก ๆ คนที่รับผิดชอบตามส่วน

“คนเอาเวลา 40 ปี มาแลกกับการเอาร่างกายในวัยที่ทำไหวมาใช้ แต่ในวัยเกษียณหลายคนยังลำบาก เพราะว่าคนเหล่านี้ไม่ได้ค่าตอบแทนที่ดีพอหรือไม่ ซึ่งเป็นสิ่งที่บริษัทจะทำให้ได้”

การ Work from Home ในช่วงวิกฤติโควิด-19 ทำให้ได้เห็นพนักงานทุกคนชัดเจนขึ้น ไม่เพียงแต่เรื่องประสิทธิภาพการทำงานหรือประชุมดีขึ้น แต่ได้เอาใจลงไปเล่นด้วย คือเห็นบรรยากาศรอบตัวของพนักงาน บางคนอยู่ในห้องที่ไม่มีหน้าต่าง หรือแสงเข้าน้อย ก็อยากให้พนักงานทำงานเก็บเกี่ยวประสบการณ์ และสามารถสร้างความมั่งคั่งให้ตัวเองได้

“เราอยากเห็นความเจริญเติบโตของทีมงานที่มีความมั่งคั่งในชีวิต อยากจะเห็นเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นกับทุก ๆ คน เพื่อให้เป็นบริษัทที่น่าทำงานด้วย มีความมั่นคง เป็นที่พึ่งของพนักงาน ถึงแม้ว่าเศรษฐกิจจะตกต่ำอีกกี่รอบ จะมีโรคระบาดอีกกี่รอบ ก็ไม่ได้รับผลกระทบ ซึ่งจากวิกฤติโควิด-19 ที่ผ่านมาจะเห็นว่าเราไม่ได้รับผลกระทบ”

นอกจากการสร้างบริษัทแล้ว หนุ่ย ยังมีเป้าหมายส่วนตัวที่จะช่วยปฏิรูปการศึกษา แต่จากวิกฤติโควิด-19 ทำให้ต้องพักโครงการใหญ่ชั่วคราวและปรับเป็นการทำคอนเทนต์ให้ความรู้ผ่านช่องทางออนไลน์ หนุ่ย คาดหวังว่าจะปฏิรูปการศึกษาได้สำเร็จ และไม่อยากปล่อยให้เลยวัยที่ยังมีไฟอยู่ ซึ่งถ้าเปลี่ยนแปลงได้ก็จะภูมิใจ แต่ถ้าทำไม่สำเร็จเพราะเกิดจากปัญหาอื่น ๆ ของประเทศ ก็จะไม่โทษตัวเองเพราะได้ทำเต็มที่แล้ว

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ