TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistจับตา Thematic Investment สไตล์การลงทุนสุดฮอต

จับตา Thematic Investment สไตล์การลงทุนสุดฮอต

มีใครที่ยังไม่รู้จัก Thematic Investment กันบ้างครับ ผมต้องบอกเลยว่า กระแสลงทุนในธีม หรือ Thematic ในไทยมาแรงยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในช่วง 2 ปีที่เกิดวิกฤติโควิด-19 ทั้ง ๆ ที่การลงทุนตามธีมได้เกิดขึ้นมาหลายปีก่อนหน้านี้แล้ว 

ผมเชื่อว่าใครที่เคยลงทุนกองทุนรวมเมื่อ 10 ปีก่อน จะคุ้นเคยกับกองทุนรวมที่มีนโยบายเน้นลงทุนตลาดหุ้นต่างประเทศแน่ ๆ ซึ่งจะเลือกกลุ่มประเทศพัฒนานำร่องเป็นรายประเทศ อย่างตลาดหุ้นในสหรัฐอเมริกาก็จะอ้างอิงกับดัชนี (Index) ทั้งตลาดหลักและตลาดรอง คือ ดัชนี S&P 500 หรือ ดัชนี NDX (ดัชนีแนสเดค) หรือช่วงที่กลุ่มประเทศในยุโรปรวมตัวเป็นสหภาพยุโรป ในปี พ.ศ.2535 ก็มีการออกกองทุนไปลงทุนในตลาดหุ้นยุโรป ตลาดหุ้นญี่ปุ่นก็เคยมีเช่นกัน ต่อมาด้วยมีบริษัทใหญ่จากประเทศต่าง ๆ พาเหรดกันเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นหลักของโลก จึงทำให้หมวดอุตสาหกรรมหลัก ๆ ของโลกมีขนาดใหญ่ขึ้น ทำให้มีการจัดตั้งกองทุนที่มีนโยบายลงทุนเหมวดอุตสาหกรรมเฉพาะทางเกิดขึ้น ซึ่งจุดขายของกองทุนเหล่านี้จะเป็นไปตามวงจรวัฏจักรขาขึ้นและขาลงวนรอบ

เมื่อโลกได้ก้าวเข้าสู่ยุคอินเทอร์เน็ต ทั้งภาคธุรกิจ และอุตสาหกรรมต่าง ๆ ได้มีการนำเทคโนโลยีขั้นสูงเข้ามามีบทบาทในการทำวิจัยและพัฒนา สร้างนวัตกรรมต่าง ๆ มาใช้ในการต่อยอดการผลิตสินค้าและบริการใหม่ ๆ ชนิดที่ฉีกรูปแบบเดิม ๆ ที่ไร้เทคโนโลยีทิ้งไป กลายเป็นปรากฏการณ์เมกะเทรนด์ (Megatrend) ที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงกระแสหลักของโลกทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม  

แต่ละเมกะเทรนด์ จะมีความเกี่ยวข้องกับการเติบโตของธุรกิจที่มีการใช้เทคโนโลยี และเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่จะได้รับประโยชน์จากโลกดิจิทัลในระยะยาวด้วย

โดย MSCI ได้อธิบายการลงทุนแบบ Thematic ไว้ว่า “เป็นการลงทุนแบบ Top-Down เพื่อระบุเทรนด์วัฏจักร (Structural Trends) ในระยะยาว ซึ่งคาดว่าจะเป็นเทรนด์ที่โดดเด่น และมีปัจจัยสนับสนุนผลตอบแทนที่สามารถอธิบายได้อย่างมีนัยสำคัญ ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงอันรวดเร็วของโลกใบนี้” 

ตลาดลงทุนใน Thematic ยังฮอตไม่เลิก

เป็นที่ทราบกันดีว่า การลงทุนแบบธีมนั้นนิยมลงทุนผ่าน ETF (Exchange Traded Funds) ซึ่งข้อมูลจาก ETFGI บริษัทที่ปรึกษาและทำด้านการวิจัยอิสระสัญชาติอังกฤษเปิดเผยว่า สินทรัพย์ที่มีการลงทุนโดย Thematic ETF และ ETP (Electronic Trading Platform) ที่จดทะเบียนทั่วโลกเติบโตสูงกว่าสองเท่าจากสิ้นปี 2562 มาเป็นมูลค่า 414,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ณ สิ้นพฤษภาคม 2564 

ในขณะที่ ถ้าดูการลงทุน Thematic ผ่านกองทุนรวมทั่วโลก ทำการสำรวจโดย Morning Star พบว่า ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา มูลค่าสินทรัพย์ภายใต้กองทุนเหล่านี้ได้เพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่าตัว หรือมีมูลค่ากว่า 5.9 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ตลาดหลัก ๆ อยู่ในยุโรป มีสัดส่วนถึง 51% ของกองทุน Thematic ทั้งหมด พร้อมกับจำนวนกองทุนกว่า 400 กองทุน และมีมูลค่าสินทรัพย์รวมมากกว่า 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ 

ตลาดที่มีกองทุน Thematic ใหญ่อันดับสองคือ สหรัฐอเมริกา ถือเป็นตลาดที่มีอัตราการเติบโตของกองทุน Thematic สูงมากในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งเกิดจากผลการดำเนินงานที่ค่อนข้างดี จึงดึงดูดเม็ดเงินลงทุนได้จำนวนมาก เฉพาะไตรมาสแรกของปี 2564 มีเงินไหลเข้าสูงถึง 35,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีมูลค่าสินทรัพย์สูงถึง 160,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

นอกจากนี้ ยังพบอีกว่า 90% ของนักลงทุนเชื่อในการลงทุนแบบ Thematic ว่าจะสร้างผลตอบแทนที่ดีได้ในระยะยาว  

นอกจากสหรัฐฯและยุโรป ยังมี Thematic Funds ที่อยู่ในประเทศอื่น ๆ โดยรวมแล้วมีมูลค่ามากถึง 128,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อย่างในญี่ปุ่นมีมูลค่ากองทุนประเภทนี้สูงถึง 56,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และธีมที่ฮิตมากในญี่ปุ่น คือ กลุ่ม Technology Fund ส่วนประเทศจีน กองทุน Thematic มีมูลค่าสูงเช่นกันประมาณ 49,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งธีมที่ฮอตมากในจีนคือกลุ่ม Robotics & Automation กลุ่ม NextGen และกลุ่ม Energy Transition

Morning Star ยังได้สรุปภาพรวมผลตอบแทนของกองทุน Thematic  ในช่วงหลังเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 พบว่าจำนวนกว่า 2 ใน 3 ของกองทุนนี้ทั้งหมดให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าตลาดหุ้นโดยรวม

ส่วน Thematic ที่ได้รับความนิยมจากนักลงทุนทั่วโลก คือ ธีม Energy Transition เป็นผลจากนโยบายของ Joe Biden ประธานาธิบดีสหรัฐฯ และนโยบายของรัฐบาลจีนที่เริ่มจริงจังในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมมาตั้งแต่ปี 2551 ผ่านการตั้งกระทรวง Environmental Protection ที่ช่วยส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในธีม Green Energy นอกจากนี้ ยังมีธีมที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี เช่น ธีม FinTech และ Digital Economy อย่าง ธีม E-commerce ธีม Cloud Computing และธีม Social Media ก็ยังเป็นที่นิยมอยู่มากเช่นกัน

ข้อดีในการลงทุน Thematic  ก็คือ กำหนดเป้าหมายการลงทุนที่ชัดเจน ทำให้สามารถคัดเลือกกลุ่มหลักทรัพย์ที่จะเข้าลงทุนได้ตรงเป้า  

ส่วนความเสี่ยงที่ต้องให้ความสำคัญ นั่นคือ Thematic Investment จะเป็นการลงทุนที่เน้นได้รับประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงในอนาคต บางธีมอาจต้องใช้เวลานานกว่าจะเห็นผลว่า บริษัทที่ลงทุนมีการเติบโตได้ จึงอาจไม่เหมาะกับนักลงทุนที่ต้องการลงทุนในระยะสั้น ๆ

นอกจากนี้  Thematic Investment ยังเป็นการลงทุนกระจุกตัวในกลุ่มอุตสาหกรรมเมื่อเทียบกับการลงทุนในกองทุนรวมทั่วไป จึงอาจจะไม่เหมาะกับนักลงทุนที่เน้นลงทุนกระจายความเสี่ยง แต่ก็สามารถนำไปผสมกับการลงทุนอื่นๆ เพื่อให้พอร์ตรวมมีความหลากหลายและกระจายตัวมากขึ้น เพราะฉะนั้น นักลงทุนควรพิจารณาถึงความเสี่ยงของการลงทุนเทียบกับระดับความเสี่ยงที่สามารถรับได้ของตนเองก่อนการตัดสินใจลงทุนทุกครั้ง

สิ่งที่น่าจับตาคือ ช่วง 10 ปีที่ผ่านมาจนถึงเดือนมีนาคม 2564 มีจำนวนกองทุน Thematic 30% ที่ไม่สามารถไปต่อได้ ในขณะที่ 36% หากเทียบกับ Morningstar Global Markets Index กลับชนะดัชนีที่สำคัญ ๆ ทั่วโลกได้ ส่วนที่เหลืออีก 34% ให้ผลตอบแทนต่ำกว่าดัชนีตลาดหุ้นทั่วโลก

อย่างไรก็ตาม ได้เริ่มมีการนำ AI เข้ามาใช้ในการลงทุนแบบ Thematic อย่างที่สิงคโปร์ ก็จะมี Thematic.AI ที่นำเทคโนโลยี AI มาช่วยวิเคราะห์ตลาดการเงิน ด้วยการนำเทคโนโลยีมาประมวลข้อมูลที่ไม่ใช่ข้อมูลด้านการเงิน อย่างข้อมูลพวกเนื้อหาต่าง ๆ มุ่งเน้นที่จะให้การลงทุนแบบธีมนั้นง่ายขึ้นสำหรับนักลงทุน

สำหรับในประเทศไทย ก็จะมี Thematic Optimize ของ Jitta Wealth ที่เป็นรายแรกของประเทศ นำเทคโนโลยี AI มาช่วยนักลงทุนเลือกธีมที่น่าลงทุนที่สุดถึง 4 ธีม จากธีมที่เปิดให้บริการทั้งหมด 16 ธีม โดยที่นักลงทุนสามารถลงทุนได้จากที่เดียว และแน่นอนธีมเหล่านี้ เป็นการลงทุนผ่าน ETF ที่ดีที่สุดในสหรัฐฯ ผ่านการคัดกรองโดย AI เรียบร้อยแล้ว โดยเราจะเน้นลงทุนที่เป็น Passive Fund เพื่อรับกับการเติบโตระยะยาวไปกับเมกะเทรนด์โลก พิสูจน์ด้วยผลตอบแทนย้อนหลังตั้งแต่ 1 มกราคม 2561 ถึง 31 สิงหาคม 2564 เฉลี่ยผลตอบแทนทบต้น 25.22% ต่อปี ชนะดัชนี MSCI World Index (Total Return) ที่มีผลตอบแทน 13.78% ต่อปี

ท้ายที่สุด แม้การลงทุนแบบ Thematic จะยังคงแรงดีไม่มีตก ผมมองว่า เราควรศึกษาข้อมูลของธีมที่เราจะลงทุนให้ดี เพราะธีมที่เกิดขึ้นมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาตามเทรนด์เศรษฐกิจโลก ธีมใดที่แข็งแกร่ง ก็จะสามารถเติบโตมีภูมิคุ้มกันการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่เข้ามากระทบได้ แต่ถ้าหากไม่มั่นใจในการเลือกธีมที่จะลงทุน การใช้ AI เข้ามาช่วย ก็จะสามารถติดปีกพอร์ตให้เติบโตไปกับเมกะเทรนด์โลกแห่งอนาคตได้อย่างสบายครับ

ผู้เขียน… ตราวุทธิ์ เหลืองสมบูรณ์ CEO บลจ. จิตตะ เวลธ์ จำกัด

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ