TH | EN
TH | EN
หน้าแรกTechnologyอีอีซี พร้อมดัน “ซิลิคอนเทคพาร์ค บ้านฉาง” สู่ ฮอตสปอตด้านนวัตกรรมดิจิทัลของไทยและอาเซียน

อีอีซี พร้อมดัน “ซิลิคอนเทคพาร์ค บ้านฉาง” สู่ ฮอตสปอตด้านนวัตกรรมดิจิทัลของไทยและอาเซียน

จากนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ที่นำไปสู่การพัฒนาเมืองดิจิทัล ณ ศูนย์นวัตกรรมดิจิทัลและเทคโนโลยีขั้นสูง บ้านฉาง หรือ EEC Silicon Tech Park ต้นแบบซึ่งสะท้อนภาพความเป็นอัจฉริยะของเมืองใน 7 มิติ ได้แก่ สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ พลังงาน บรรษัทภิบาล การกินดีอยู่ดี การดำรงชีวิตและธุรกิจในยุคโมบิลิตี้ และการพัฒนาพลเมือง เพื่อเสริมศักยภาพของเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ให้กลายเป็น “ฮอตสปอตด้านนวัตกรรม” (Innovation Hotspot) แห่งต่อไปของไทยและภูมิภาคอาเซียน  ด้วยโครงข่ายอินเทอร์เน็ต 5G ความเร็วสูง 400 Gbps ของซิสโก้ที่เร็ว แรง และมีความปลอดภัยสูงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

เศรษฐกิจดิจิทัลบนโครงข่าย 5G

เป้าหมายสำคัญประการหนึ่งของอีอีซี คือ การออกแบบตนเองให้เป็นแหล่งรวมการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถด้านอุตสาหกรรมของประเทศ ตลอดจนการเดินไปในเส้นทางของเทคโนโลยีดิจิทัลและธุรกิจด้านข้อมูลเพื่อสนับสนุน 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งจำเป็นต้องมีโครงสร้างด้านเครือข่ายที่แข็งแกร่งเป็นพื้นฐาน แนวคิดในการปูพรมโครงข่ายการสื่อสาร 5G แบบเต็มพื้นที่อีอีซี จะส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลที่เดิมไม่คิดว่าจะเกิดขึ้นให้สามารถเกิดขึ้นได้แบบเต็มประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น ระบบการทำงานด้วยหุ่นยนต์หรือเครื่องจักรโดยอัตโนมัติซึ่งจะเกิดผลสัมฤทธิ์สูงในการทำงานเมื่อมีเครือข่ายการเชื่อมต่อที่รวดเร็ว ซึ่งปัจจุบันมีการติดตั้งใช้งานระบบดังกล่าวผ่าน 5G มากชึ้นในโรงงานอุตสาหกรรมหลายแห่ง

เช่นเดียวกับการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลซึ่งขับเคลื่อนด้วยข้อมูลสารสนเทศต่าง ๆ จากที่เคยประเมินกันว่า มูลค่าการลงทุนเทคโนโลยี 5G หนึ่งระบบ จะสามารถสร้างมูลค่าทางธุรกิจด้วยข้อมูลได้ราว 5 เท่า ดังตัวอย่างการเก็บรวบรวม รับ-ส่งข้อมูลบิ๊กดาต้าแบบเรียลไทม์จะมีส่วนสนับสนุนการพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานบนแพลตฟอร์มที่เป็นระบบอัตโนมัติมากขึ้น ต่อเนื่องถึงมูลค่าของข้อมูลที่สามารถสร้างธุรกิจได้ด้วยตัวเอง เช่น ข้อมูลในดาต้าเซ็นเตอร์ที่ไหลรวมเข้าสู่ดาต้าเลค (Data Lake) ซึ่งนำไปสู่การพัฒนาแอปพลิเคชัน แมชชีนเลิร์นนิ่ง  เอไอ ไอโอที หรือแพลตฟอร์มอื่น ๆ ที่อาศัยการวิแคราะห์ข้อมูลเพื่อสร้างประโยชน์ต่องานด้านการเกษตร โรงงาน การแพทย์ การท่องเที่ยว บ้านอัจฉริยะ เมืองอัจฉริยะ การบริหารองค์กร เป็นต้น

ดร.คณิศ แสงสุพรรณ ประธานที่ปรึกษาพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) กล่าวว่า การสร้างซิลิคอนเทคพาร์คให้เป็นต้นแบบเมืองอัจฉริยะในการเชื่อมอีอีซีเข้ากับข้อมูลสารสนเทศที่นำไปสู่การพัฒนาและการลงทุนด้านต่าง ๆ เพื่อให้สถานที่นี้กลายเป็น “ฮอตสปอต” ในการดึงดูดบริษัทระดับท็อปด้านการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมดิจิทัลที่ต้องการการทำงานผ่านโครงข่ายอินเทอร์เน็ต 400 กิกะบิตต่อวินาทีที่มีทั้งความปลอดภัยและความเร็วสูงสุดในภูมิภาคนี้ รวมถึงเตรียมการพัฒนาบุคลากรสำหรับรองรับการขยายตัวของธุรกิจและเมืองน่าอยู่อัจฉริยะเพิ่มเติม

นับถอยหลังเปิดบ้าน Thailand Digital Valley @EEC สวรรค์ของสตาร์ตอัพทุกสัญชาติ

สวทช. นำ EECi ผนึก อบจ.ระยอง เสริมแกร่งชุมชนด้วยวิทยาศาสตร์และนวัตกรรม

“ซิลิคอนเทคพาร์คถือว่าตั้งอยู่ในพื้นที่ยุทธศาสตร์ระหว่างพื้นที่อีอีซีกับสนามบินอู่ตะเภา แวดล้อมด้วยระบบการขนส่ง สถานที่พักอาศัย โรงเรียน โรงพยาบาล มีความเหมาะสมที่จะเป็นต้นแบบการพัฒนาเมืองดิจิทัลให้สามารถขยายผลไปทั้งทางฝั่งระยอง พัทยา และจังหวัดอื่น ๆ ทั่วประเทศในอนาคต”

Silicon-Tech-park

CDA กับการส่งเสริมนวัตกรรมระดับประเทศ

เมื่อมองภาพรวมของอีอีซีนับว่า มีศักยภาพการเติบโตที่สูงกว่าภาคส่วนอื่นของประเทศ ขณะที่การพัฒนาซิลิคอนเทคพาร์คให้เป็นเมืองอัจฉริยะก็ไปในทิศทางเดียวกันกับเทคโนโลยีของซิสโก้ซึ่งเน้นส่งเสริมเรื่องของการเชื่อมต่อ ความปลอดภัย และความเป็นอัตโนมัติ โดยโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง 400 กิกะบิตต่อวินาทีที่ลงไปในพื้นที่ดังกล่าวสามารถรองรับเน็ตเวิร์คได้หลากหลายประเภท ทั้ง 5G ไวไฟ แลน และแวน มีการรับ-ส่งข้อมูลและการตอบสนองที่รวดเร็ว สามารถวางแผนการใช้งานเน็ตเวิร์คได้อย่างยืดหยุ่นและเหมาะสม การออกแบบให้เป็นคลัสเตอร์ที่สามารถเพิ่มพอร์ตเพื่อขยายแบนด์วิธหากมีความต้องการใช้งานเพิ่มขึ้นอย่างการสร้างดาต้าเลคให้เกิดขึ้นในอีอีซี การคำนึงถึงไวไฟสาธารณะที่สะอาด (Clean Pipe) เพื่อรองรับการทำงานแบบไฮบริด บริการพื้นที่การทำงานสาธารณะ (Co-Working Space) บริการฝาก-เช่าเซิร์ฟเวอร์บนอินเทอร์เน็ตดาต้าเซ็นเตอร์ (Co-Location) ได้อย่างปลอดภัย และการบริหารจัดการที่เป็นอัตโนมัติเพื่อการมองเห็นและแก้ไขปัญหาได้ฉับไว

“Country Digital Acceleration (CDA)” เป็นโปรแกรมที่ซิสโก้โกลบอลสร้างขึ้นเพื่อสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีที่พัฒนาโดยซิสโก้ให้เกิดประโยชน์ต่อโครงการต่าง ๆ ในระดับประเทศ และสามารถส่งต่อแบ่งปันนวัตกรรมไปยังประเทศอื่น ๆ ซึ่งปัจจุบันมีประเทศที่ร่วมอยู่ในโครงการราว 44 ประเทศ มีโครงการรวมพันโครงการ สำหรับการนำประเทศไทยเข้าสู่โปรแกรม CDA เพราะมีความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจดิจิทัลของไทยที่คาดว่าจะเติบโตอย่างน้อย 35,000 ล้านบาทภายในปี 2568 ซึ่งต้องมีเทคโนโลยีนวัตกรรมเป็นกลไกขับเคลื่อน ทั้งเล็งเห็นว่า อีอีซี ซิลิคอนเทคพาร์คอยู่ในทำเลที่ตั้งที่ดี ขนาดพื้นที่ 500  กว่าไร่ซึ่งนับว่าเหมาะสมในการแสดงถึงสมรรถนะการทำงานของเทคโนโลยีต้นแบบที่นำไปใช้งานได้จริง รวมถึงเมื่อติดตั้งแล้วจะสามารถสร้างประโยชน์สูงสุดกับผู้ที่ใช้งานหรือผู้มาลงทุนในพื้นที่

ทวีวัตน์ จันทรเสโน กรรมการผู้จัดการ ซิสโก้ ประเทศไทยและพม่า กล่าวว่า CDA ถือเป็นพันธสัญญาระยะยาวที่ทำกับประเทศต่าง ๆ สำหรับประเทศไทยเพิ่งผ่านการทำงานร่วมกันในเฟสแรกมา 1 ปีจากระยะเวลา 3 ปี หลังจากนั้นก็จะก้าวไปสู่เฟสที่สองว่า จะสามารถทำอะไรได้อีกบ้าง ซึ่งซิลิคอนเทคพาร์คเป็นโครงการสำคัญในการสร้างแรงกระเพื่อมให้เกิดขึ้นในเฟสแรกต่อตลาดเป้าหมาย เช่น ดาต้าเซ็นเตอร์ ซึ่งขณะนี้เริ่มมีการติดต่อเพื่อลงทุนฟาร์มดาต้าเลค 30 เมกะวัตต์ เพื่อเป็นศูนย์รวมดาต้าเซ็นเตอร์ขนาดใหญ่ เนื่องจากในสิงคโปรไม่สามารถขยายต่อไปได้แล้ว ส่วนอินโดนีเซียก็ไกลเกินไป เหลือประเทศไทยที่จะกลายเป็นอีกหนึ่งศูนย์รวมดาต้าเซ็นเตอร์ของภูมิภาค อีกเป้าหมายหนึ่ง คือ การดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศมาเช่าพื้นที่เพื่อตั้งศูนย์ออกแบบและพัฒนานวัตกรรม โดยมีอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง สภาพแวดล้อมที่สะอาดและสิ่งอำนวยความสะดวกที่เหมาะต่อการอยู่อาศัยเป็นแรงดึงดูด

ต้นแบบเมืองดิจิทัล “ซิลิคอนเทคพาร์ค”

ประพัฒน์ รัฐเลิศกานต์  ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แพลนเน็ต คอมมิวนิเคชั่น เอเชีย จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้ร่วมพัฒนาโครงการซิลิคอนเทคพาร์ค กล่าวเพิ่มเติมว่า อินเทอร์เน็ตที่แรงและมีความปลอดภัยสูงกลายเป็นจุดแข็งในการดึงดูดนักลงทุนและคนให้มาอยู่และอาศัยในซิลิคอนเทคพาร์ค เมืองใหม่ด้านดิจิทัลที่มีทั้งอาคารอัจฉริยะและพื้นที่การทำงานซึ่งเกิดขึ้นได้ทุกที่ผ่านไวไฟที่มีความปลอดภัยในตัวซึ่งจะได้รับประโยชน์ 5 ด้าน คือ หนึ่ง การอยู่ในชุมชนปลอดภัยโดยนำเทคโนโลยีมาใช้ร่วมกับโครงข่ายซิสโก้ในการตรวจจับคุณภาพน้ำ อากาศ ดูแลความปลอดภัย เป็นต้น สอง การสนับสนุนระบบออโตเมชันในโรงงานอุตสาหกรรมให้ทำงานได้เต็มประสิทธิภาพจากการมีเน็ตเวิร์คที่แข็งแรงในการสั่งการควบคุมเครื่องจักร สาม การพัฒนาระบบราชการให้มีความอัจฉริยะ (Smart Government) อาทิ การพัฒนาแอปฯ พลเมือง ซึ่งองค์กรหรือประชาชนทั่วไปสามารถเรียกดูข้อมูลเมือง ขอรับบริการหรือฝากข้อร้องเรียนได้ผ่านมือถือ ซึ่งทำให้หน่วยงานราชการทำงานบริการได้ดีขึ้น เมืองมีความทันสมัยมากขึ้น สี่ การเปิดรับสตารตอัพให้มาลงทุนเริ่มต้นธุรกิจได้ที่นี่โดยมีสิ่งอำนวยความสะดวกทั้งอินเทอร์เน็ต ดาต้าเซ็นเซอร์ และอุปกรณ์ต่าง ๆ รองรับอย่างเพียบพร้อม และ ห้า การพัฒนาบุคลากรดิจิทัล ซึ่งสามารถใช้ที่นี่เป็นศูนย์ฝึกอบรมในการเพิ่มทักษะการทำงานเพื่อคืนแรงงานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นกลับเข้าสู่ระบบ

“นักลงทุนส่วนใหญ่ ณ ขณะนี้จะมองเรื่องอินฟราสตัคเจอร์เป็นหลัก ทั้งความเร็วและความเสถียรของอินเทอร์เน็ต รวมถึงทำอย่างไรให้มีแหล่งไฟฟ้าเพียงพอ และมั่นคง ซึ่งในซิลิคอนเทคพาร์คเรามีทั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าจากพลังงานแก๊สและโซลาร์เซลล์ ไฮไลท์สำคัญอีกอย่างคือเมืองต้องสะอาดไม่มีมลพิษ โดยเรากำหนดไม่ให้รถที่ใช้น้ำมันเข้ามาวิ่งในแคมปัสของเทคพาร์ค มีการตรวจจับและเตือนภัยโดยใช้ไอโอทีและเอไอในการวิเคราะห์ รวมถึงบริการการแพทย์ทางไกล เพื่อให้ครบองค์ประกอบในการดูแลสุขภาวะของคนทำงานในที่แห่งนี้ และให้เป็นต้นแบบไปพัฒนาเมืองที่ครบทุกองค์ประกอบในการส่งเสริมทำงานและคุณภาพชีวิต”

ขณะที่ เอ็ดเวิร์ด แกรนท์ ที่ปรึกษาอาวุโส โครงการ อีอีซี ซิลิคอนเทคพาร์ค มองซิลิคอนเทคพาร์คเป็นเหมือนผู้ร่วมพัฒนาเศรษฐกิจ (Economics Developer) โดยวางแนวคิดด้านการออกแบบและนำเสนอสถาปัตยกรรมให้มีความหลากหลายในแบบคลัสตอร์ เพื่อให้คนสามารถเลือกพื้นที่การทำงานได้เหมาะสมกับการใช้งานที่แตกต่างกันออกไปตั้งแต่คลัสเตอร์สำหรับธุรกิจด้านเทคโนโลยีชีวภาพไปจนถึงการพัฒนาหุ่นยนต์ การจัดสภาพแวดล้อมเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ (Knowledge based Learning Environment) เสมือนเป็นแคมปัส เพื่อให้บริษัททั้งไทยและต่างประเทศที่มาลงทุนได้มองภาพความเป็นนิคมอุตสาหกรรมที่เปลี่ยนไปจากเดิมสู่การจัดการที่มีเรื่องของเทคโนโลยีนวัตกรรมเข้ามาเกี่ยวข้องมากขึ้น การพัฒนาชุมชนสีเขียวให้เกิดขึ้นในแคมปัส รวมถึงมุ่งเป้าในการทำงานร่วมกับพาร์ทเนอร์ที่ดี เช่น ซิสโก้ แพลนเน็ต คอม เพื่อจูงใจนักลงทุนจากประเทศที่มีการพัฒนาเทคโนโลยีหรือมีธุรกิจระดับโลก เช่น ซาอุดิอาระเบีย ไต้หวัน อิสราเอล สหรัฐอเมริกา เป็นต้น

เอ็ดเวิร์ด แกรนท์ กล่าวว่า เป้าหมาย คือ การสร้างแพลตฟอร์มทางเทคโนโลยีที่มีความร่วมสมัยเพื่อหนุนเสริมขีดความสามารถของไทยสู่การแข่งขันในระดับภูมิภาค และเป็นการดึงดูดนักลงทุนคนรุ่นใหม่มาร่วมพัฒนานวัตกรรมหรือทำงานร่วมกันเสมือนหนึ่งเป็นซิลิคอนวัลเลย์แห่งภาคตะวันออก รวมทั้งต้องการให้อีสเทิร์นซีบอร์ดซึ่งเคยรุ่งเรืองในอดีตได้กลับมายิ่งใหญ่เป็นที่หนึ่งอีกครั้ง

“5G จะสร้างโอกาสให้ไทยไปอีก 5-10 ปีข้างหน้า เพราะเป็นครั้งแรกที่เราเห็นมูลค่าของเทคโนโลยีและมูลค่าความสามารถในการใช้เทคโนโลยีที่เท่ากัน ไทยอาจไม่ได้เป็นผู้คิดค้น 5G แต่เป็นผู้ที่ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีได้ดีมาก เห็นได้จากการใช้งานอีคอมเมิร์ซซึ่งเพิ่มขึ้นสูงเป็น 2 เท่า คลาวด์ที่เริ่มมีการในภาคเอกชนที่โตเป็น 3 เท่าตัวในช่วงโควิด ซึ่งสะท้อนวิสัยทัศน์การประยุกต์เทคโนโลยีที่ไหลรวมสู่การสร้างความเป็นไปได้ให้เกิดขึ้น ซึ่งซิลิคอนเทคพาร์คจะมาช่วยจุดประกายให้เติบโตอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นไปอีก”

สู่ sandbox ด้านระบบนิเวศ

ดร. ชิต เหล่าวัฒนา ที่ปรึกษาพิเศษด้านการพัฒนาการศึกษา บุคลากร และเทคโนโลยี สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) กล่าวว่า ซิลิคอนเทคพาร์คมีการพัฒนาที่ครอบคลุมทั้งมิติด้าน เทคโนโลยี สิ่งแวดล้อม และทุนมนุษย์” เพื่อให้เป็น sandboxในเรื่องของเทคโนโลยี การกำหนดกฎเกณฑ์ เงื่อนไขและแรงจูงใจต่าง ๆ รวมถึงระบบนิเวศด้านซัพพลายเชน ก่อนขยายผลสู่พื้นที่ใกล้เคียง ดัง sandbox ซึ่งเกิดที่มาบตาพุดแล้วขยายผลต่อมาที่บ้านฉาง และกำลังจะเกิดขึ้นต่อไปในเมืองใหม่ 24 ตารางกิโลเมตร ทั้งนี้ เพื่อสร้างชุมชนต้นแบบให้ได้มากขึ้นและเชื่อมโยงเข้าหากันให้เกิดระบบนิเวศที่เป็นประโยชน์ต่อคนท้องถิ่นอย่างแท้จริง

การผลักดันงานวิจัยและพัฒนาที่ไม่ได้แค่อยู่บนกระดาษ แต่ต้องนำไปสู่การสร้างสรรค์นวัตกรรม (Translation Research) ได้จริง ซึ่งอาจไม่ไช่การพัฒนาเทคโนโลยีพื้นฐานหรือสิ่งที่ใช้งานอยู่ปัจจุบัน แต่อาจเป็นนวัตกรรมที่สามารถเข้าสู่ตลาดในอีก 2-3 ปีข้างหน้าก็ได้ หรือการส่งเสริมการลงทุนที่สามารถดึงความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาระหว่างนักวิจัยจากต่างชาติและไทยเช่นที่เกิดขึ้นแล้วในมหาวิทยาลัยบูรพา สุดท้ายเป็นเรื่องความมุ่งหวังให้เกิดการบูรณาการข้อมูลระหว่างภาครัฐและเอกชน เพื่อให้ดาต้าเซ็นเตอร์ในซิลิคอนเทคพาร์คที่จะเดินหน้าไปด้วยเทคโนโลยีมัลติคลาวด์กลายเป็นสถานีหนึ่งของดาต้าเลคเพื่อให้องค์กรที่ประกอบธุรกิจด้านข้อมูล หรือทุกคนสามารถใช้ประโยชน์ร่วมกัน

ส่วนเรื่องสิ่งแวดล้อม อีอีซีมี 5G กับพลังงานสะอาดในรูปแบบโซลาร์ฟาร์ม ตลอดจนมีแนวทางชัดเจนเรื่อง Net Zero, BCG และ ESG ที่ชัดเจน มีข้อตกลงร่วมกันกับซิสโก้ในการพัฒนาคนให้กับทางอุตสาหกรรมมาบตาพุดรวมถึงที่ซิลิคอนเทคพาร์ค ทั้งนี้ กุญแจสำคัญคือ การฝึกอบรมคนให้ตรงกับความต้องการ (Demand Driven) โดยเป็นงบประมาณร่วมจ่ายระหว่างอีอีซีกับธุรกิจที่ต้องการพัฒนากำลังคน มีการประสานผู้เชี่ยวชาญและคอร์สฝึกอบรมจากซิสโก้ ผู้เชี่ยวชาญและมหาวิทยาลัยในพื้นที่มาช่วยเร่งการพัฒนาโดยตั้งเป้าหมายอยู่ที่ 5-6 แสนคน

สำหรับการพัฒนาคนนี้ ดร. ชิต ฉายภาพให้เห็นเป็น 2 มิติ มิติแรก คือ การพัฒนาทักษะเฉพาะตัวบุคคลเหมือนต้องเปิดศึก 3 ด้าน ตั้งแต่การพัฒนาทักษะเพื่อข้ามห้วยไปทำงานในอีกอุตสาหกรรมหนึ่งได้ การยกระดับทักษะเพื่อเปลี่ยนให้กลายเป็นแรงงานด้านดิจิทัลหรือไอโอที และการพัฒนาทักษะใหม่ เช่น ปัญญาประดิษฐ์ การวิเคราะห์ข้อมูลซึ่งไทยยังห่างจากประเทศที่พัฒนาแล้วหลายช่วงตัว จึงต้องหาแรงจูงใจในการดึงผู้รู้เข้ามาเพื่อจัดการใน 3 เรื่องนี้

ส่วนอีกมิติหนึ่ง คือ การพัฒนาเมืองใหม่ที่แตกออกเป็น 2 ประเด็น คือ การพัฒนาด้านเทคโนโลยีและเมืองอัจฉริยะ และการพัฒนาความต้องการพื้นฐาน ซึ่งอีอีซีเลือกที่จะเริ่มต้นจากการพัฒนาความต้องการพื้นฐานของคนในท้องถิ่นก่อนว่าต้องการอะไร และพยายามดึงคนรุ่นใหม่ไม่ว่าจะเป็นไทยหรือต่างชาติมาเริ่มต้นการพัฒนานวัตกรรมร่วมกันที่นี่เพื่อไม่ให้ไทยต้องตกขบวน ก่อนจะมีการถ่ายทอดสู่คนในชุมชนเป็นลำดับต่อไป

อย่างไรก็ตาม เมื่อการพัฒนากำลังคนของไทยยังไม่สามารถแข่งขันกับเพื่อนบ้านได้ อาวุธสำคัญคือ การใช้เทคโนโลยีซึ่งมีการคัดเลือกอย่างดีว่า ต้องมีประสิทธิภาพสูงและไม่ก่อให้เกิดมลภาวะด้านสิ่งแวดล้อม เพราะต้องคำนึงถึงมูลค่าที่ได้รับจากการลงทุนในสินทรัพย์ และค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นในระยะยาว ตลอดจนระบบนิเวศต่าง ๆ ควบคู่ไปด้วย ตัวอย่างเช่น การพยายามเอามหาวิทยาลัยในไทยและต่างประเทศมาทำงานร่วมกัน การสร้างแรงจูงใจด้านการลงทุนที่ต่างจากอดีต อาทิ การให้สิทธิพิเศษหรือแรงจูงใจ 15 ปี แต่ต้องยกธุรกิจมาทั้งซัพพลายเชน หรือมาสานต่อการทำงานกับซัพพลายเชนของไทย เพื่อให้เกิดการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยี และพัฒนาคนรุ่นใหม่ ๆ ขึ้นมา

“เราไม่ได้ทำซิลิคอนเทคพาร์คนี้เพื่อคนต่างชาติ แต่เราต้องการดึงคนต่างชาติมาลงทุนแล้วเกิดประโยชน์กับคนไทยและประเทศไทย รวมถึงเป็นกลไกในการดึงคนรุ่นใหม่ที่เป็นตัวจักรสำคัญในการสร้างอนาคตประเทศเข้ามามีส่วนร่วมไม่ใช่เฉพาะกับคนร่ำรวย แต่เพื่อคนไทยทุกคน” ดร.ชิต กล่าวในที่สุด

ข่าวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

ซิสโก้ ร่วมขับเคลื่อน ศูนย์นวัตกรรมดิจิทัลบ้านฉาง ในโครงการ EEC Silicon Tech Park

วิศวะฯ มธ. เปิดตัวหลักสูตรใหม่ ‘วิศวกรรมยานยนต์และระบบอัตโนมัติ’ V-TECH หนุน EEC

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ