TH | EN
TH | EN
หน้าแรกBusinessMG เปิดเกมรุก สร้างระบบนิเวศ EV ครบวงจร พร้อมดันอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยทัดเทียมตลาดโลก

MG เปิดเกมรุก สร้างระบบนิเวศ EV ครบวงจร พร้อมดันอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยทัดเทียมตลาดโลก

เอ็มจี ค่ายผู้ผลิตรถยนต์ชั้นนำสัญชาติจีนเปิดเกมรุก เตรียมสร้างระบบนิเวศรองรับอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ไทยแบบครบวงจร ไล่เรียงตั้งแต่ต้นน้ำด้วยการสร้างโรงงานผลิตรถยนต์แบตเตอรี่ ไปจนถึงปลายน้ำ คือการร่วมมือสนับสนุนการติดตั้งสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าทั่วประเทศไทย โดยตั้งเป้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งที่จะผลักดันให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยมีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับทัดเทียมตลาดโลก และยืนหนึ่งสู่การเป็นฮับผลิตและพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) 

จาง ไห่โป กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสเอไอซี มอเตอร์ – ซีพีจำกัดและ บริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้เปิดเผยวิสัยทัศน์และทิศทางธุรกิจของทางค่ายประจำปี 2565 เมื่อช่วงกลางเดือนมกราคมที่ผ่านมา ด้วยการเริ่มต้นกล่าวถึงความสำเร็จของค่ายรถยนต์เอ็มจีในช่วงปี 2564 ซึ่งแม้จะมียอดขายน้อยกว่าเป้าที่ตั้งไว้ แต่ก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ เพราะส่วนหนึ่งที่ยอดขายไม่เป็นไปตามเป้าเนื่องจากปัญหาในห่วงโซ่อุปทานและการขาดแคลนชิป โดยทางเอ็มจีได้เรียนรู้และมีแนวทางรับมือบ้างแล้ว ดังนั้นปัญหาดังกล่าวสำหรับปีนี้ แม้ยังจำเป็นต้องเฝ้าระวัง แต่ก็ไม่ถึงกับยากเกินรับมือ

อย่างไรก็ตาม ใจความสำคัญที่เอ็มจีต้องการเน้นย้ำในปีนี้ก็คือ การเดินหน้าเปลี่ยนผ่านมุ่งสู่การพัฒนาและผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในเชิงพาณิชย์แบบเต็มตัว ตามทิศทางและแนวโน้มของอุตสาหกรรมยานยนต์โลกที่หันมาใส่ใจกับ “สิ่งแวดล้อม” และ “ความยั่งยืน” มากขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยคำที่ได้รับการพูดถึงมากขึ้นก็คือการเดินหน้าสู่เศรษฐกิจพลังงานสะอาด (Green Economy) กับมาตรฐานการปล่อยก๊าซคาร์บอน (Emission Standard) ซึ่งทำให้แต่ละประเทศมีการตั้งเป้าตัวเลขการปล่อยก๊าซคาร์บอนของตนเพื่อให้ได้อยู่ในระดับศูนย์ หรืออย่างน้อยก็ระดับสมดุล (neutral) ภายในปี 2030 ตามข้อตกลงปารีส 

ในมุมมองของเอ็มจี และอีกหลายค่ายรถเชื่อมั่นว่า เทคโนโลยีรถยนต์พลังงานไฟฟ้า (อีวี) คือหนึงในกุญแจสำคัญที่ตอบโจทย์ความต้องการด้านสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนของเศรษฐกิจโลก ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกในที่ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา การพัฒนารถ EV จะเติบโตอย่างก้าวกระโดด 

ขณะเดียวกันก็เป็นที่น่าดีใจว่า รัฐบาลไทยมีนโยบายและจุดยืนในการสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์อีวีอย่างชัดเจน อีกทั้งยังมีมาตรการและแนวทางสนับสนุนที่มีอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น เอ็มจีจึงเชื่อว่า ไทยมีศักยภาพที่จะเติบโตทัดเทียมอุตสาหกรรมยานยนต์โลก และการให้ความสำคัญกับ “เทคโนโลยี” จะช่วยสร้างจุดเปลี่ยนและยกระดับประเทศไทยได้ 

“ที่ผ่านมาจะเห็นได้ชัดว่าเรามีการนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่มาพร้อมเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาโดยตลอด ทำให้คนไทยได้ใช้รถที่มีระบบการเชื่อมต่ออัจฉริยะและระบบการขับขี่อัตโนมัติที่ให้ความสะดวกสบายและความปลอดภัยกับผู้ขับขี่เพิ่มมากขึ้น ในขณะที่ธุรกิจ Car Sharing กำลังเป็นที่จับตา รวมถึงรถยนต์พลังงานไฟฟ้าในประเทศไทยก็เป็นที่ยอมรับและมียอดจำหน่ายที่เพิ่มสูงขึ้น ถือได้ว่าในวันนี้ประเทศไทยก้าวมาไกลทัดเทียมกับประชาคมโลกอย่างที่เอ็มจีตั้งใจไว้” จาง ไห่โป กล่าว 

รัฐบาลไทยสนับสนุนอีวีเต็มที่ 

รศ. ร้อยเอกดร.วีระเชษฐ์ ขันเงิน ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม Kumwell Corporation Public Company จำกัด (มหาชน) และ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ ซึ่งเข้าร่วมการแถลงวิสัยทัศน์ในฐานะวิทยากรพิเศษ กล่าวว่า รัฐบาลไทยมีจุดยืนสนับสนุนการพัฒนาและผลิตรถยนต์ไฟฟ้าอย่างเต็มที่ เห็นได้จากการตั้งเป้าให้ไทยเป็นฮับ หรือศูนย์กลางสำหรับผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาคอาเซียน โดยเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามที่จะสอดคล้องกับเป้าการปลอ่ยก๊าซคาร์บอนสมดุลภายในปี 2030 

ขณะเดียวกัน ในส่วนของการพัฒนาเทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้า ดร.วีระเชษฐ์ กล่าวว่า รัฐบาลไทยตั้งเป้าสู่การผลิตถรถยนต์ไฟฟ้าประเภท ZEV (นโยบาย ZEV 30/30) หรือปล่อยก๊าซคาร์บอนเป็นศูนย์ (Zero EV) ซึ่งเข้าใจว่าเป็นเรื่องยาก ดังนั้นในเบื้องต้นจึงเริ่มต้นการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบปลั๊กอิน ไฮบริดที่ต้องอาศัยแบตเตอรี่เป็นหลักไปก่อน 

สำหรับนโยบายสนับสนุนมี 2 รูปแบบหลัก คือ แบบที่ใช้มาตรการทางภาษีและไม่ใช่ภาษี โดยแบบที่ใช้ภาษี มีภาษีศุลกากร ภาษีสรรพสามิต และภาษีป้ายทะเบียน ซึ่งภาษีป้ายทะเบียนประกาศใช้เป็นไปแล้ว คือ มีมูลค่าภาษีครึ่งหนึ่ง (50%) จากมูลค่าภาษีป้ายทะเทียนของรถยนต์เชื้อเพลิง ส่วนภาษีศุลกกรและภาษีสรรพสามิตกำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของครม. 

ด้านมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี หมายรวมถึง สิทธิ์ซื้อรถอีวีใหม่ การสนับสนุนรถอีวีสำหรับภาครัฐ และการประชาสัมพันธ์เชิงรุก ซึ่งในส่วนนี้ อาจต้องขอความร่วมมือและแรงสนับสนุนจากภาคเอกชนร่วมด้วย  

ทั้งนี้ ในมุมมองของดร.วีรเชษฐ์ เมื่อพิจารณาจากต้นทุนค่าใช้จ่าย ราคาสินค้าและบริการ รวมถึงสมรรถภาพศักยภาพของรถอีวี เชื่อว่า ภายใน 5 ปีข้างหน้าสัดส่วนการใช้อีวีจะมีมากขึ้นทัดเทียมกับรถยนต์เชื้อเพลิง ขณะเดียวกัน มีความเป็นไปได้อย่างมาก ที่เทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้าจะได้รับการพัฒนา จนรถยนต์ไฟฟ้าไม่ได้จำกัดอยู่แค่การใช้ประโยชน์ในฐานะยานพาหนะ แต่หมายถึงการเป็นแหล่งพลังงานสำหรับครัวเรือนที่จะตอบโจทย์ความยั่งยืนด้านพลังงาน 

เอ็มจีผลักดันระบบนิเวศรองรับอีวีเต็มสูบ 

ภายใต้มาตรการของภาครัฐ จาง ไห่โป กล่าวว่า เอ็มจี เตรียมแผนปูทางสู่การเป็นผู้บุกเบิกอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าของไทยแบบครบวงจร โดยสามรถแบ่งได้เป็น 4 แนวทางหลัก คือ 1) พัฒนาและผลิตรถอีวีที่หลากหลาย 2) พัฒนาและผลิตแหล่งพลังงานอย่างแบตเตอรี่ ซึ่งหมายรวมถึงการสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่ไฟฟ้าในไทย และการจัดการรีไซเคิลแบตเตอรี่ที่ไม่ใช้งานแล้ว 3) การสร้างและขยายเครือข่ายสถานีชาร์จให้ครอบคลุมทั่วไทย เพื่ออำนวยความสะดวกและรองรับการใช้งานที่แพร่หลาย โดยตั้งเป้าสร้างสถานีชาร์จนอกบ้านให้ได้ทุก ๆ 150 กิโลเมตร และ 4) ส่งเสริมให้ไทยเป็นฮับที่แข็งแกร่งด้วยการสร้าง “คนรุ่นใหม่” ที่มีความรู้พื้นฐานและความเข้าใจเกี่ยวกับรถยนต์พลังงานไฟฟ้า ผ่านความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาชั้นนำทั่วประเทศไทย 

ขณะเดียวกัน จางไห่โป ยังใช้โอกาสนี้ประกาศแผนลงทุนครั้งใหม่ด้วยมูลค่ากว่า 2,500 ล้านบาท เพื่อสร้างโรงงานประกอบแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าในไทย โดยวางแผนที่จะผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและจะเริ่มต้นได้ทันทีหลังจากที่โรงงานประกอบแบตเตอรี่มีความพร้อม ซึ่งคาดว่าจะเป็นในปี 2566 พร้อมกับการใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตในประเทศเป็นจำนวนมากกว่าที่เงื่อนไขของการได้รับการสนับสนุนจากบีโอไอ

เดินหน้าขยายฐานเติบโตอย่างต่อเนื่อง

จาง ไห่โป กล่าวว่า ปีที่ผ่านมาเอ็มจีมียอดขายรถยนต์รวม 31,005 คัน หรือมีอัตราการเติบโตที่ 9.5% นับเป็นหนึ่งในไม่กี่แบรนด์ที่มีตัวเลขอัตราการเติบโตที่เพิ่มขึ้น ซึ่งตัวเลขที่น่าสนใจก็คือ กลุ่มรถยนต์พลังงานไฟฟ้าได้รับความนิยมมากขึ้นจากกลุ่มลูกค้าทั่วไปและลูกค้าองค์กร โดยครองการเป็นผู้นำด้วยส่วนแบ่งทางการตลาดสูงถึงกว่า 90% อีกทั้งทางบริษัทยังสามารถดำเนินการติดตั้งสถานีชาร์จแบบเร็ว MG Super Charge ได้ทั่วประเทศถึง 120 แห่งแล้ว 

สำหรับในปี 2565 เอ็มจีคาดหมายว่า ยอดขายตลาดรถยนต์ทุกแบรนด์ในประเทศไทยจะสามารถขยายตัวโดยรวมที่ 800,000 – 850,000 คัน ซึ่งสำหรับเอ็มจี ตั้งเป้าการจำหน่ายรวมเอาไว้ที่ 50,000 คัน โดยคาดว่าจะมีรถยนต์รุ่นใหม่เปิดตัวอย่างน้อย 3 รุ่นภายในปีนี้

อย่างไรก็ตาม จาง ไห่โป ย้ำว่า นอกจากยอดขายแล้ว เอ็มจียังคำนึงถึงสัดส่วนทางการตลาด โดยแม้ยอดขายจะทำไม่ได้ตามเป้าแต่สัดส่วนการขายของเอ็มจีดีขึ้นเมื่อเทียบกับคู่แข่งในตลาด ดังนั้น เมื่อมองระยะยาวแล้วเป้าของเอ็มจีมีความหวังในการติด 5 อันดับสุดยอดแบรนด์รถยนต์ที่ขายดีที่สุดของไทยได้

ขณะเดียวกัน เอ็มจีจะมุ่งเน้นการพัฒนาและนำเสนอผลิตภัณฑ์ให้ตอบโจทย์ครอบคลุมความต้องการของตลาดทั้งในกลุ่มเครื่องยนต์สันดาปและกลุ่มรถยนต์พลังงานทางเลือก เพื่อให้สอดคล้องกับพฤติกรรมการใช้รถของผู้บริโภคชาวไทย มีการนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาใช้ในผลิตภัณฑ์และ การบริการควบคู่ไปกับการดำเนินธุรกิจที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม

ในส่วนของการลงทุนของบริษัทร่วมอย่าง เอสเอไอซี มอเตอร์ – ซีพี จำกัด จะเป็นในลักษณะของการลงทุนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งตลอดระยะเวลา 8 ปีที่ผ่านมาใช้เม็ดเงินจำนวนหลักพันล้านดอลล่าร์สหรัฐหรือหลายหมื่นล้านบาท ถือว่าเป็นบริษัทผู้ผลิตรถยนต์จีนที่ลงทุนมากที่สุดในประเทศไทย โดยเม็ดเงินลงทุนทั้งหมดใช้เพิ่มในส่วนของเครื่องจักรและชิ้นส่วนใหม่รวมถึงการปรับไลน์ผลิต

อีวีอุตสาหกรรมรถยนต์สุดดุเดือด

ในฐานะแบรนด์รถยนต์ชั้นนำ จาง ไห่โป มองว่า เทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้า คือ ทิศทางอนาคตของอุตสาหกรรมรถยนต์ทั่วโลก และบทเรียนจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ผ่านมา ทำให้แทบทุกค่ายตระหนักถึงความสำคัญของการพึ่งพาตนเอง ดังนั้น จะเห็นได้ว่าในมาเลเซีย อินโดนีเซีย หรือเวียดนาม นอกจากแข่งขันกันพัฒนาและผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแล้ว ประเทศเหล่านี้ล้วนหันมาหาทางผลิตแบตเตอรี่ไฟฟ้า ตลอดจนชิ้นส่วนรถยนต์อื่น ๆ ขึ้นมาด้วยเช่นกัน ภายใต้การสนับสนุนจากภาครัฐ ซึ่งเอ็มจีก็ตั้งเป้าที่จะสร้างระบบนิเวศการผลิตรถอีวีแบบครบวงจรดังกล่าวในไทย 

“เทคโนโลยี คือ กุญแจสำคัญที่ช่วยให้ปรับตัวและอยู่รอด และการลงทุนในรถยนต์ไฟฟ้า คือ หนึ่งในหนทางของการอยู่รอด” จาง ไห่โป กล่าว 

ในส่วนของความท้าทายของอุตสาหกรรมรถยนต์ไทยและตลาดโลกนับต่อจากนี้ จางไห่โป มองเป็น 2 ส่วนหลัก ๆ ด้วยกัน คือ ปัจจัยท้าทายภายนอกและปัจจัยท้าทายภายใน โดยปัจจัยท้าทายภายนอกก็คือการหาทางตอบสนองความต้องการของลูกค้าผู้ใช้งานรถยนต์ที่ต้องการความเป็นส่วนตัวมากขึ้น คือต้องการรถยนต์ที่เหมาะกับเอกลักษณ์ของตน ในขณะที่รถยนต์เป็นสินค้าชิ้นใหญ่ที่ไม่อาจผลิตขึ้นมาแบบตอบสนองความต้องการของคนเพียงคนเดียวได้ 

สำหรับปัจจัยภายในก็คือตรงตัว หมายถึงทัศนคติและแนวคิดการดำเนินธุรกิจของตนเอง โดยต้องมองข้ามความเคยชินจากการทำงานแบบเดิม ๆ ไปให้ได้ 

“ในฐานะคนที่อยู่ในอุตสาหกรรมมานาน เรามักทำงานกันด้วยความเคยชิน ซึ่งเป็นเรื่องที่อันตราย โดยเฉพาะสำหรับโลกในปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงขับเคลื่อนอยู่ตลอดเวลา ดังนั้น เราต้องพยายามเตือนให้ตัวเองเปลี่ยน คิดนอกกรอบ หลุดจากความเคยชินแบบเดิม กระตุ้นตัวเองให้พร้อมกับท้าทาย” จางไห่โป กล่าวปิดท้าย 

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

เมื่อขาใหญ่ Binance จับมือ GULF บุกตลาดคริปโทฯ ในไทย

“นึกถึงอสังหาฯ นึกถึง DDproperty” … มิชชันของ ‘กมลภัทร แสวงกิจ’

บิทคับ ผนึก ทองแตงกรุ๊ปตั้ง บิทคับ เวิร์ดเทค สร้างหลักสูตรปั้นคนดิจิทัลเสริมแกร่งศก.ไทย

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ