TH | EN
TH | EN
หน้าแรกBusinessแกร็บ VS ไลน์แมน 2 ยักษ์ใหญ่มองตลาดคนละมุม

แกร็บ VS ไลน์แมน 2 ยักษ์ใหญ่มองตลาดคนละมุม

Grab และ LINEMAN คือ ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มเดลิเวอรี่รายใหญ่ที่สุดในไทยตอนนี้ ด้วยสัดส่วนการครองตลาดที่ไม่ต่างกันมากนัก ทำให้ทั้งคู่งัดกลยุทธ์ด้านโปรโมชันทั้งส่วนลดอาหาร ฟรีค่าส่ง ยิ่งสั่งมากยิ่งลดราคา การทำตลาดวิธีนี้ตอบโจทย์คนไทยอย่างแน่นอน แต่ตัวบริษัทเองอาจอยู่ยาก หากทุ่มเงินส่วนใหญ่ไปกับโปรโมชันส่งเสริมการขายเพียงอย่างเดียว ดังนั้นการทำตลาดที่ต่างออกไปของ Grab เพื่อลดภาวะขาดทุนสะสมและเป้าหมายมีกำไรในปีนี้จึงน่าจับตาอย่างมาก ในขณะที่ LINEMAN ยังคงแน่วแน่ในการใช้โปรโมชันลดราคาเป็นไม้ตายในการขึ้นเป็นอันดับ 1 ของตลาด

ในช่วงมกราคมที่ผ่านมา ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ในปี 2566 ตลาดธุรกิจส่งอาหาร หรือ Food Delivery จะมีมูลค่าประมาณ 81,000-86,000 ล้านบาท โดยหดตัว 0.8- 6.5% ซึ่งจากผลสำรวจผู้บริโภคพบว่า ตั้งแต่ต้นปี 2565 จนถึงปัจจุบันกลุ่มตัวอย่างกว่า 37%  ปรับลดความถี่ในการใช้บริการลงหลังจากที่สถานการณ์โควิด-19 ดีขึ้น โดยมีการใช้บริการแอปพลิเคชันจัดส่งอาหารไปยังที่พักเฉลี่ยประมาณ 5 ครั้งต่อเดือน ซึ่งลดลงจากผลการสำรวจในช่วงการระบาดของโควิด-19 ที่อยู่ประมาณ 7 ครั้งต่อเดือน

การทำตลาดของผู้ให้บริการแพลตฟอร์มจัดส่งอาหาร และแนวโน้มราคาต่อการสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้น ซึ่งผู้ให้บริการแพลตฟอร์มจัดส่งอาหาร มีการปรับตัวรองรับกับโจทย์ธุรกิจ Food Delivery ที่เปลี่ยนไป ไม่ว่าจะเป็นการขยายฐานตลาดไปยังต่างจังหวัด การนำเสนอแพ็กเกจรายเดือน เพื่อให้ลูกค้าเก่าใช้งานต่อเนื่อง การขยายธุรกิจไปยังกลุ่มที่เกี่ยวเนื่อง เช่น บริการฝากซื้อสินค้าจากซูเปอร์มาร์เก็ต และกระจายฐานธุรกิจไปหลากหลาย เช่น ธุรกิจเรียกรถรับส่ง ธุรกิจจองที่พัก เป็นต้น

นอกจากนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่าในระยะข้างหน้า ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มจัดส่งอาหารไปยังที่พักควรจะมีการเพิ่มประสิทธิภาพ AI โดยนำฐานข้อมูลที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก มาจัดทำโปรโมชันที่มีความเฉพาะเจาะจงมากขึ้น เพื่อช่วยบริหารต้นทุนให้กิดประสิทธิภาพสูงสุด รวมทั้งบริหารจัดการขั้นตอนของห่วงโซ่ธุรกิจให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นเพื่อลดระยะเวลาและค่าเสียโอกาส

ธุรกิจส่งคน ส่งอาหาร ส่งของ โตไม่หยุด

จากผลสำรวจของ Google Temasek และ Bain and Company ที่มีการสำรวจอัตราการเติบโตของธุรกิจเรียกรถในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบว่า ช่วงปี 2564 ผลกระทบของการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ทั้งปีทำให้ธุรกิจเรียกรถมีการเติบโตที่ลดลงจากปี 2563 ถึง 12% จากเดิมที่มูลค่าตลาดของธุรกิจกลุ่มนี้ในปี 2563 อยู่ที่ 4,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงมาอยู่ที่ 3,700 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เนื่องจากมาตรการล็อคดาวน์ในหลายประเทศและผลจากการทำงานที่บ้าน หรือ  Work from home แต่ในปี 2565 ธุรกิจเรียกรถเติบโตเพิ่มขึ้นมากถึง 43% จากการเดินทางของนักท่องเที่ยวระหว่างประเทศมากขึ้น ทำให้มีมูลค่าตลาดอยู่ที่ 5,200 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และคาดการณ์ว่าในปี 2568 ธุรกิจกลุ่มนี้จะเติบโตเพิ่มขึ้นอีก 40% ซึ่งจะมีมูลค่าตลาดมากถึง 14,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

ส่วนธุรกิจส่งอาหารยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องแม้ว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 จะไม่รุนแรงเท่ากับช่วงที่ผ่านมา โดยในช่วงปี 2564 มีมูลค่าตลาดอยู่ที่ 15,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งเติบโตจากปี 2563 ที่มีมูลค่าตลาดเพียง 9,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เติบโตเพิ่มขึ้นในสัดส่วนถึง 65%  ส่วนปี 2565 ยังคงเติบโตต่อเนื่องที่ 14% มีมูลค่าที่ 17,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และมีการคาดการณ์ว่าจะมีการเติบโตเพิ่มขึ้น 13% ต่อเนื่องในปี 2568 ส่งผลให้จะมีมูลค่าตลาดธุรกิจนี้สูงถึง 24,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งจะเป็นธุรกิจที่มีขนาดใหญ่มากในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ทั้งนี้ การสำรวจดังกล่าว มีการรายงานเกี่ยวกับบริการส่งด่วน หรือ Quick Commerce ซึ่งเป็นบริการสั่งสินค้าทุกชนิด เช่น ของใช้ภายในบ้าน, ยา, สินค้าในร้านค้าทั่วไป เป็นต้น และเป็นบริการที่จัดส่งภายในเวลา 30 นาทีไปยังผู้สั่งซื้อบนแพลตฟอร์มออนไลน์มีการเติบโตที่น่าสนใจ เนื่องจากผลสำรวจชี้ให้เห็นว่า ทิศทางการเติบโตมีแนวโน้มสูงกว่าบริการอี-คอมเมิร์ซ (e-Commerce) ทั่วไป โดยเมื่อเปรียบเทียบมูลค่าตลาดของทั้ง 2 กลุ่มธุรกิจ พบว่า ปี 2563 บริการอี-คอมเมิร์ซ อยู่ที่ 74,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ส่วนบริการส่งด่วนอยู่ที่ 7,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งในปี 2564 บริการทั้ง 2 กลุ่ม เติบโตขึ้นจากปีก่อนหน้าในสัดส่วน 15% และ 50% ตามลำดับ ทำให้มูลค่าตลาดของบริการอี-คอมเมิร์ซ อยู่ที่ 112,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และบริการส่งด่วนอยู่ที่ 15,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

ส่วนในปี 2565ที่ผ่านมา บริการอี-คอมเมิร์ซ มีมูลค่าตลาดที่ 131,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เติบโตในสัดส่วน 16% ขณะที่บริการส่งด่วนเติบโตในสัดส่วน 21% ทำให้มีมูลค่าตลาดอยู่ที่ 18,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ทั้งนี้มีการคาดการณ์ว่าในอีก 3 ปีข้างหน้า สัดส่วนการเติบโตของบริการส่งด่วนจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง 19% ส่งผลให้จะมีมูลค่าในตลาดมากถึง 31,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ส่วนบริการอี-คอมเมิร์ซ จะมีมูลมูลค่าตลาดอยู่ที่ 211,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในอัตราเติบโตเพียง 17%

2 ยักษ์ใหญ่มองตลาดคนละมุม

ผลการสำรวจของ Momentum works ซึ่งเก็บข้อมูลบริการส่งอาหารจากทุกประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบว่า แกร็บ (Grab) เป็นบริษัทอันดับ 1 ที่มีมูลค่าส่วนแบ่งการตลาด (Market share) ในประเทศไทย, เวียดนาม, สิงคโปร์, มาเลเซียและอินโดนีเซีย ซึ่งในปี 2565 ประเทศไทยมูลค่าตลาดรวมการส่งอาหารอยู่ที่ 3,600 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยแกร็บมีส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ 51% รองลงมาคือ ไลน์แมน 24% ฟู้ดแพนด้า 16% โรบินฮู้ด 6% และช้อปปี้ฟู้ด 3%

ธุรกิจการส่งอาหารในประเทศไทยมีการแข่งขันที่ดุเดือดเนื่องจากจำนวนผู้เล่นในตลาดนี้เพิ่มขึ้นจากเดิมที่มีเพียงรายใหญ่ไม่กี่ราย แต่หลังจากสถานการณ์โควิด-19 ระบาดทั่วโลก ทำให้บริการส่งอาหารและสิ่งของเติบโตอย่างต่อเนื่องเกิดผู้เล่นหน้าใหม่มากกว่า 5 รายในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ทำให้เกิดการแย่งส่วนแบ่งในตลาดอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งรายใหญ่ที่อยู่มานานอย่างแกร็บ (Grab) ที่ก่อตั้งขึ้นในปี 2555 เป็นซูเปอร์แอปที่ให้บริการส่ง บริการการเดินทางและบริการทางการเงิน ซึ่งครอบคลุมใน 8 ประเทศของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ กัมพูชา อินโดนีเซีย มาเลเซีย เมียนมาร์ ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม เข้าสู่ตลาดประเทศไทยในปี 2556

ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าที่ผ่านมาทุกบริการของแกร็บเน้นทำการตลาดแบบส่งเสริมการขายแบบให้ส่วนลดมากสุดถึง 90% ทำให้จำนวนผู้ใช้งานเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วมีการเติบโตอย่างเห็นได้ชัด แต่ในมุมของกำไรและขาดทุนนั้น แกร็บยังคงต้องใช้มาตรการลดภาวะขาดทุนให้ได้มากที่สุด ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา มีการปรับกลยุทธ์ทางธุรกิจอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยปัจจุบันแกร็บมีฐานลูกค้าใน 8 ประเทศ จำนวนกว่า 30 ล้านคน โดยสิ้นปี 2565 จำนวนผู้ใช้งานเติบโตขึ้น 16% จากปี 2564 ทำให้มีรายได้สุทธิเพิ่มขึ้น 112% และสามารถลดภาวะขาดทุนลงได้ 51% จากปีก่อนหน้า และในปี 2566 นี้ แกร็บตั้งเป้ามีกำไรภายในสิ้นปีนี้ ด้วยการลดภาวะขาดทุนอย่างจริงจัง ภายใต้แนวคิดการเติบโตอย่างยั่งยืน หรือ Building Sustainable Growth through Innovation

สำหรับธุรกิจของแกร็บ แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มบริการ ได้แก่ 1.บริการการเดินทาง หรือบริการเรียกรถ (Mobility) ประกอบด้วย Grab car, Grab bike, Just Grab, Grab taxi, Grab car for ladies, Grab car premium และ GrabSUV 2. บริการส่ง (Deliveries) ประกอบด้วย บริการส่งอาหาร (Grab Food), บริการส่งสิ่งของ (Grab Mart) และบริการส่งสินค้าแบบด่วน (Grab Express) และ 3. บริการทางการเงิน (Financial Services) ที่เน้นให้บริการด้านการเงินกับพนักงานขับรถและพนักงานส่งสินค้า รวมถึงร้านค้าบนแพลตฟอร์ม Grab เป็นหลัก

ขณะที่ผู้เล่นรายใหญ่อย่าง ไลน์แมน (LINE MAN) ที่มีอายุห่างกันไม่มากนั้นก่อตั้งในปี 2559 ซึ่งเป็นการต่อยอดธุรกิจของไลน์ (LINE Corporation) โดยไลน์แมนเป็นบริการที่มีเฉพาะในประเทศไทย ต่อมาในปี 2563 มีการควบรวมกิจการระหว่าง LINE MAN กับ แพลตฟอร์มรีวิวร้านอาหาร Wongnai โดยภายหลังใช้ชื่อเป็น ‘ไลน์แมน วงใน’ ซึ่งปี 2565 ที่ผ่านมามีการระดมทุนใน Series B จำนวน 265 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 9,700 ล้านบาท

ทั้งนี้แบ่งธุรกิจของ LINE MAN Wongnai ออกเป็น 3 กลุ่มธุรกิจ ได้แก่ 1. บริการภายใต้แบรนด์ LINE MAN ครอบคลุมการส่งอาหาร ส่งสินค้า และบริการเรียกแท็กซี่ ปัจจุบัน LINE MAN ให้บริการครอบคลุมพื้นที่รวม 246 อำเภอ รวม 77 จังหวัดทั่วไทย และมีร้านอาหารบนแพลตฟอร์มกว่า 700,000 ร้าน และบริการไลน์แมนมาร์ท รวม 96 อำเภอ ใน 9 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ, สมุทรปราการ, ปทุมธานี, สมุทรสาคร, นครปฐม, นนทบุรี, อยุธยา, ชลบุรีและระยอง มีจำนวนผู้ใช้งานต่อเนื่อง 10 ล้านคนต่อเดือน

LINE MAN Wongnai ลุยธุรกิจโฆษณาดิจิทัล ชูจุดเด่น แพลตฟอร์มอาหาร ที่สามารถเข้าถึงลูกค้า 10 ล้านคน

2. กลุ่มโซลูชันสำหรับร้านค้าและร้านอาหาร โดยมี Wongnai POS ระบบจัดการร้านอาหารและการขายผ่านดีลิเวอรี่ มีผู้ประกอบการร้านอาหารใช้งานมากกว่า 50,000 ร้าน และ3. กลุ่มธุรกิจเสริมมูลค่า เป็นธุรกิจใหม่ เช่น ธุรกิจโฆษณาสำหรับร้านอาหาร และธุรกิจบริการทางการเงิน

LINEMAN ในมุม Red Ocean Strategy

กฤษฎ์ ใบสิริกุล รองประธานฝ่ายการตลาด LINE MAN กล่าวว่า ตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นมา ธุรกิจเดลิเวอรี่เติบโตอย่างก้าวกระโดด แม้ช่วงโควิด-19 จะผ่านไป การสั่งอาหารผ่านแอปพลิเคชันก็ยังคงมีการเติบโตที่ต่อเนื่อง เพราะวิถีชีวิตของคนเปลี่ยนไปแล้ว มีความเคยชินกับการหาร้านอาหารบนดิจิทัลและสะดวกในการสั่งอาหารมารับประทาน ทั้งนี้มองว่าตลาดของการส่งอาหารยังคงแข่งขันกันดุเดือดในปีนี้ ซึ่งจะเริ่มเห็นได้ว่าตอนนี้มีผู้เล่นรายใหญ่ให้เห็นชัดเจนในตลาดไม่กี่ราย ซึ่งทุกรายมีเงินทุนมากพอที่จะแข่งขันกันในตลาด Food Delivery อย่างแน่นอน

อย่างไรก็ตามเชื่อว่า LINEMAN ขึ้นเป็นที่ 1 ของตลาดนี้ได้ ด้วยจำนวนข้อมูลลูกค้าที่มีการเก็บมาอย่างต่อเนื่อง มีการสำรวจพฤติกรรมผู้บริโภคเพื่อมาปรับใช้ให้เป็นกลยุทธ์ทางการตลาด ซึ่งทีมงานที่ไลนแมนมีเข้าใจคนไทยมากกว่าคู่แข่งแน่นอน แม้ตลาดจะแข่งขันอย่างดุเดือด แต่เชื่อว่าผู้เล่นทุกรายจะเติบโตกันไปพร้อมกันได้ด้วย ซึ่งมองว่าฟู้ดเดลิเวอรี่เป็นทางเลือกของไลฟ์สไตล์หนึ่งที่คนเลือก เห็นได้ชัดเจนในช่วงที่เริ่มมีโควิด-19 ระบาด หรือในช่วงที่มีค่าฝุ่น PM2.5 สูง ผู้บริโภคก็เลือกที่จะใช้ Food Delivery แทนการออกนอกบ้าน

สำหรับในปี 2565 ที่ผ่านเน้นแจกโค้ดส่วนลด โปรโมชั่น และจะมีการแจกต่อเนื่องในปีนี้ แต่เน้นที่สร้างประสิทธิภาพมากขึ้น โดยในปีนี้สิ่งที่ต้องการทำใหม่คือการมีฟังก์ชั่นใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์ผู้ใช้งานมากขึ้น โดยที่ผ่านมามีการเก็บข้อมูลเชิงลึกจึงทำให้รู้ว่าลูกค้ามีพฤติกรรมและความชื่นชอบในเรื่องอะไรบ้าง เช่น ฟีเจอร์ ‘มาลองร้านใหม่กับไลน์แมน’ ซึ่งประสบการณ์แบบนี้ลูกค้ายังไม่เคยเจอในแอปพลิเคชันอื่น โดยระบบจะประมวลร้านค้าที่ลูกค้าไม่เคยสั่งพร้อมกับมีส่วนลดค่าอาหารให้ ทำให้เกิดประสบการณ์ในการลองร้านอาหารใหม่ๆ เป็นต้น ทั้งนี้ยังคงใช้แนวทางส่วนลด โปรโมชั่นเพื่อนำเสนอให้ตรงกับไลฟ์สไตล์ลูกค้าแต่ละราย

ขณะที่บริการ LINEMAN MART จะขยายบริการในต่างจังหวักเพิ่มขึ้น จากเดิมมีบริการในพื้นที่ 9 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ, สมุทรปราการ, ปทุมธานี, สมุทรสาคร, นครปฐม, นนทบุรี, อยุธยา, ชลบุรีและระยอง ซึ่งวิธีทำโปรโมชันใน 2 รูปแบบคือ 1. โปรโมชันสำหรับร้านค้าย่อย ร้านเล็กทั่วไป หรือใครก็ตามที่ต้องการเปิดร้านขายบนไลน์แมน ซึ่งมีทั้งลูกค้ารายใหม่และลูกค้าประจำอยู่แล้ว 2.โปรโมชันสำหรับแบรนด์ค้าปลีกรายใหญ่ เช่น Tops, BigC, Gourmet เป็นต้น โดยเป็นการร่วมกันส่งโปรโมชันที่ทางแบรนด์มีอยู่แล้วให้กับลูกค้า โดยจะมีส่วนลดค่าส่งในบางโปรโมชัน

ส่วนในบริการ LINEMAN TAXI นั้น เป็นที่ต้องการของลูกค้าจำนวนมาก แต่ปัญหาคือจำนวนรถแท็กซี่ของไทยไม่เพียงพอต่อจำนวนผู้ต้องการใช้ โดยในบริการนี้ยังไม่มีการทำตลาดมากนัก เนื่องจากต้องแก้ที่ปัญหาความขาดแคลนคนขับแท็กซี่

Grab ในมุม Blue Ocean Strategy

วรฉัตร ลักขณาโรจน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ แกร็บ ประเทศไทย กล่าวว่า กลยุทธ์ธุรกิจในปี 2566นี้ จะเป็น Grab 3P คือ Profits การสร้างกำไรให้ได้ภายในสิ้นปี้นี้ Planet การใส่ใจชุมชนมากขึ้นและ People การให้ความสำคัญในด้านบุคคล โดย 3 แกนหลักนี้จะนำไปใช้เชื่อมโยงเข้ากับแต่ละบริการของแกร็บ ภายใต้แนวคิดการเติบโตอย่างยั่งยืน หรือ Building Sustainable Growth through Innovation

ทั้งนี้ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา Grab มุ่งมั่นในวิสัยทัศน์ขององค์กรมาตลอดคือ การสร้างโอกาสและสร้างอาชีพให้กับกลุ่มธุรกิจรายย่อยให้กับผู้คนในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และในปีนี้ บริษัทได้เพิ่มมุมมองการทำธุรกิจในเรื่องการเติบโตอย่างยั่งยืน แม้ว่า 9 ปีที่ผ่านมา บริษัทมีการเติบโตต่อเนื่องในการขยายธุรกิจ แต่ยังคงมีภาวะขาดทุนอย่างหนักเช่นกัน โดยการเติบโตอย่างยั่งยืนในมุมของ Grab คือ การหยุดภาวะขาดทุนของบริษัทเป็นเป้าหมายแรก ซึ่งต่อจากนี้บริษัทจะเติบโตด้วยตัวเองโดยที่ไม่พึ่งพาเงินจากนักลงทุนในการทำการตลาดหรือทำส่งเสริมการขายแบบเดิมอีกต่อไป

สำหรับแกร็บ (ประเทศไทย) ในปี 2565 มีการเติบโตในกลุ่มธุรกิจเรียกรถเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าถึง 152% ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบจำนวนผู้เรียกรถช่วงปลายปีที่ผ่านมา กับช่วงก่อนโควิด-19 ระบาด พบว่าตอนนี้มีจำนวนผู้เรียกรถสูงกว่าแล้ว เนื่องจากนักท่องเที่ยวทยอยเดินทางเข้าประเทศไทยตั้งแต่ช่วงกลางปีที่ผ่านมา แกร็บ ซึ่งก่อนหน้านั้นบริษัทได้วางแผนรับมือนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ด้วยการสำรวจจำนวนผู้ให้บริการของแกร็บในหลายจังหวัดหัวเมืองการท่องเที่ยวใหญ่ๆ ตั้งแต่ช่วงไตรมาส 2 ของปีที่ผ่านมา โดยทำการยกระดับการให้บริการ เช่น รับสมัครผู้ขับขี่ หรือ Rider ใหม่มากขึ้น, เพิ่มบริการที่เฉพาะพื้นที่และมีการเปิดรถบริการในรูปแบบใหม่ตามลักษณะของพื้นที่ที่จังหวัดนั้นๆ มีให้บริการ เป็นต้น

ส่วนบริการส่งมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2562-2565 ซึ่งมีการทำตลาดและส่งเสริมการขายให้ผู้ใช้งานสั่งอาหารต่อครั้งในจำนวนเพิ่มมากขึ้น แต่ค่าส่งเท่าเดิม ส่งผลให้สามารถลดภาวะการขาดทุนได้อย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งมีสัดส่วนการสั่งอาหาร (Grab food) ลักษณะนี้เพิ่มขึ้น 18% และการสั่งสินค้า (Grab mart) เพิ่มขึ้น 28% โดยมีกลยุทธ์ที่สำคัญคือการแนะนำร้านค้าที่ได้รับคำชม คือ Grab Thumbs up มีร้านอาหารมากกว่า 9,000 ร้าน และการทำระบบสมาชิก หรือ Grab Unlimited ซึ่งผู้ใช้งานสามารถสมัครแพกเก็จแบบรายเดือน ที่มีส่วนลดค่าบริการ โค้ดส่วนลด และโบนัส

ทั้งนี้ปัจจุบันมีผู้ใช้งานที่เป็นสมาชิกบน Grab food มากถึง 50% โดยลูกค้ากลุ่มนี้จะใช้บริการอื่นๆ ของ Grab มากถึง 3 เท่า ในลูกค้าทั่วไปที่ไม่ใช่สมาชิก โดยในปี 2566นี้ จะเน้นการกลยุทธ์ Brand Loyalty มากขึ้น เพื่อลดสัดส่วนของการให้โปรโมชั่นทั่วไป และสำหรับ Grab mart มีการเพิ่มร้านค้าขนาดย่อยและร้านค้าปลีกขนาดใหญ่มากขึ้น เพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับลูกค้า อีกทั้งตลาดในต่างจังหวัดเติบโตสูงถึง 3 เท่า เมื่อเปรียบเทียบกับการเติบโตของตลาดในกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยหัวเมืองหลัก 5 เมือง ที่มีอัตราการเติบโตเร็วที่สุดได้แก่ เชียงใหม่ ภูเก็ต พัทยา ขอนแก่นและนครราชสีมา โดยปัจจุบันให้บริการในประเทศไทยใน 68 จังหวัด ซึ่งมีการขยายพื้นที่ให้ครอบคลุมอำเภอต่างๆ ในจังหวัดใหญ่มากขึ้น

ขณะที่บริการทางการเงิน เป็นอีกหนึ่งมุมมองของบริษัทที่ต้องการสร้างวงจรแห่งความสุขให้กับผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียบนแพลตฟอร์มของ Grab คือ ร้านค้าและพนักงานขับรถ ซึ่งเป้าหมายคือทำงานแล้วได้รับเงินเร็ว โดยแกร็บพัฒนาระบบชำระเงินให้ระบบเงินทุนหมุนเวียนมีสภาพคล่องและสอดคล้องกับความต้องการของทั้ง 2 ส่วน รวมถึงบริการสินเชื่อที่ช่วยสนับสนุนให้เจ้าของร้านค้าและพนักงานขับไม่ต้องพึ่งพาเงินทุนนอกระบบ

Grab ปั้นโมเดลธุรกิจใหม่สู่ B2B

บริการด้านการเดินทาง เน้นกลุ่มอุตสาหกรรมท่องเที่ยว การสร้างความเชื่อใจ และบริการพรีเมียม โดยในกลุ่มอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจะมีการทำความร่วมมือกับสนามบินต่างๆ เพื่อสร้างประสบการณ์ใช้งานที่สะดวก และทำการส่งเสริมแหล่งท่องเที่ยวและเทศกาลของไทย มีการพัฒนา Grab map ที่แม่นยำและเพิ่มการแปลในหลายภาษาเพื่อสะดวกในการเดินทางของนักท่องเที่ยว ส่วนการสร้างความเชื่อใจในบริการนั้น มีการยกระดับพนักงานขับทั้งการอบรมและมาตรการด้านความปลอดภัยทั้งในส่วนของบุคคลและการตรวจสอบขณะขับรถหากเกิดความผิดปกติระบบจะมีการแจ้งเตือนให้เจ้าหน้าที่เพื่อโทรสอบถามพนักงานขับรถทันที และในส่วนของบริการพรีเมียม จะมีการเพิ่มบริการที่สอดรับกับความต้องการของลูกค้าแบบเฉพาะมากขึ้น เช่น ในบริการกลุ่มรถพรีเมียมซึ่งตอบโจทย์นักท่องเที่ยวต่างชาติ กลุ่มโรงแรม เป็นต้น

บริการส่ง เน้นประสิทธิภาพ คุณภาพและ Loyalty มีการพัฒนาระบบในการรับและส่งในเวลาที่รวดเร็วขึ้นเพื่อคุณภาพของอาหารและสินค้า แต่ยังคงประสิทธิภาพของพนักงานส่ง ซึ่งจะส่งผลดีต่อพนักงานส่งที่สามารถเพิ่มรายได้มากขึ้น ร้านค้ามีรายได้และลูกค้าเพิ่มขึ้นรวมถึงลูกค้าได้รับอาหารและสินค้าที่มีคุณภาพในเวลาที่รวดเร็ว ขณะที่การสร้าง Loyalty ด้วย Grab Unlimited ซึ่งปีนี้ลูกค้าสมาชิกจะได้รับส่วนลดและสิทธิพิเศษในบริการกลุ่มอื่นด้วย

แกร็บ เปิดบริการ ‘GrabExpress 2 Hours’ ส่งพัสดุด่วนใน 2 ชั่วโมง เริ่มต้น 36 บาท

บริการด้านการเงิน มีการให้สินเชื่อในกลุ่มร้านอาหารขนาดใหญ่มากขึ้น และในกลุ่มพนักงานขับรถที่เพิ่มสินค้าและบริการให้ครอบคลุมความต้องการยิ่งขึ้น ขณะที่ในมุมของลูกค้าจะได้สัมผัสประสบการณ์การจ่ายเงินที่ไม่ซับซ้อนในบริการใช้ก่อนจ่ายที่หลัง หรือ Pay later ลูกค้าสามารถวางแผนการใช้จ่ายเงินได้อย่างสะดวกมากขึ้นซึ่งเริ่มให้บริการตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมา

บริการลูกค้าองค์กร ในปี 2566นี้ จะได้เห็นบริการสำหรับองค์กรเพิ่มมากขึ้น ซึ่งมีการเริ่มทำโครงการต่างๆ บ้างแล้วในปีที่ผ่านมา โดยผลักดันบริการซูเปอร์แอป (Super Apps) เข้าสู่ภาคธุรกิจ ผ่าน Grab for Business โดยจะเป็นโซลูชันที่จะช่วยบริหารจัดการทุกบริการของแกร็บสำหรับลูกค้าองค์กร ทำให้องค์กรสามารถบริหารจัดการเวลาและค่าใช้จ่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และจะมีบริการด้านการตลาดในรูปแบบโฆษณา หรือ GrabAds ที่จะช่วยให้นักการตลาดสามารถเจาะลึกพฤติกรรมผู้บริโภค และเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้อย่างตรงกลุ่มเป้าหมายและแม่นยำมากขึ้น

ข่าวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

‘จิตตะ’ ครบรอบ 11 ปี มุ่งสร้างสุขภาพการเงินให้คนไทย เล็งขยาย Ecosystem การเงินส่วนบุคคล

YDM ชู 4 กลยุทธ์มาร์เก็ตติ้ง ทรานส์ฟอร์เมชัน” พาแบรนด์โต้คลื่นหลังโควิด ตั้งเป้าปีนี้โต 1,000 ลบ.

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ