TH | EN
TH | EN
หน้าแรกBusinessบทบาทของการวางแผนสินทรัพย์ครอบครัว ต่อความยั่งยืนของธุรกิจครอบครัว

บทบาทของการวางแผนสินทรัพย์ครอบครัว ต่อความยั่งยืนของธุรกิจครอบครัว

ธุรกิจครอบครัวเป็นเสาหลักของทุกเศรษฐกิจทั่วโลก โดยเฉพาะเศรษฐกิจไทย ที่แม้จะประกอบด้วยธุรกิจจำนวนมาก แต่กว่า 80% ของ GDP ประเทศไทย มาจากรายได้ของธุรกิจครอบครัว  ด้วยปัจจัยเร่งต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นความเสี่ยงทางด้านสุขภาพจากโรคระบาด และการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ทำให้ธุรกิจต้องปรับตัวอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้บริการ Family Wealth Planning หรือ บริการที่ปรึกษาด้านการบริหารทรัพย์สินครอบครัว มีความสำคัญยิ่งขึ้น 

หลายครอบครัวเริ่มเล็งเห็นความสำคัญของการวางแผนส่งต่อธุรกิจ และให้คนรุ่นใหม่ซึ่งมีความรู้และความสนใจด้านเทคโนโลยี รวมถึงแนวความคิดใหม่ ๆ เข้ามามีส่วนร่วมและมีบทบาทเร็วยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ ธุรกิจครอบครัวที่ไม่ได้มีการวางแผนการส่งต่อมีอัตราการอยู่รอดที่ค่อนข้างต่ำ จากการศึกษาธุรกิจครอบครัวโดยหลายสถาบันระดับโลก พบว่าธุรกิจครอบครัวทั้งชาติตะวันตกและตะวันออก 100 ราย ที่ไม่ได้มีการวางแผนบริหารจัดการทรัพย์สินครอบครัว จะมีธุรกิจที่รอดอยู่ถึงรุ่นที่ 4 เพียง 14 ราย เท่านั้น 

จิรวัฒน์ สุภรณ์ไพบูลย์ Private Banking Group Head ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ธุรกิจครอบครัวที่ปราศจากการวางแผนการส่งต่อที่เหมาะสม จะพบปัญหาการส่งต่อธุรกิจครอบครัวจากรุ่นสู่รุ่น ธุรกิจครอบครัวก็จะล้มหายตายจากไป 

สถานการณ์โควิด 19 เข้ามาสร้างความเสี่ยงเพิ่มขึ้นและเร่งการเปลี่ยนแปลง ธุรกิจครอบครัวกำลังพบกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ทั้งความเสี่ยงที่เกิดขึ้นกับธุรกิจเอง และความเสี่ยงที่ต้องปรับตัวและตรียมวางแผนรองรับการเข้าสู่เศรษฐกิจใหม่ จำเป็นต้องมีแนวความคิดและกำลังของคนรุ่นใหม่ของครอบครัว 

“ตอนไม่มีโควิด ถ้าไม่มีการวางแผนการส่งต่อธุรกิจจากรุ่น 3 ไปรุ่น 4 เหลือรอด 14% มีโควิดก็เป็นตัวเร่งให้เกิดความเสี่ยงมากขึ้น ทุกคนต้องปรับตัวเร็วขึ้น ตั้งแต่รุ่นที่ 1 ไปรุ่นที่ 2 และรุ่นที่ 2 ไปรุ่นที่ 3 ต้องเปิดรับความคิดและคนรุ่นใหม่มากขึ้น” จิรวัฒน์ กล่าว

จิรวัฒน์ กล่าวว่า KBank Private Banking จะมีบทบาทสำคัญที่จะช่วยลูกค้า 

“เราเป็นรายแรก ๆ ที่ชี้ให้เห็นว่าธุรกิจครอบครัวต้องการการวางแผน (Wealth Planning Service) KBank Private Banking ร่วมมือกับพันธมิตร คือ Lombard Odier ซึ่งมีประสบการณ์อยู่มา 7 รุ่น อายุ 200 กว่าปี และดูแลลูกค้าที่ส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่นเป็น 100 ปี เป็นส่วนหนึ่งของการแก้ไขปัญหาและวางแผนเพื่อให้ลูกค้าในยุโรปสามารถส่งต่อธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง เราสามารถรวบรวมประสบการณ์เหล่านี้มาบวกกับองค์ความรู้ในประเทศ เพื่อให้คำปรึกษาที่เป็นประโยชน์กับลูกค้า โดยให้บริการครอบคลุม ตั้งแต่การให้ความรู้ วางแผน และสนับสนุนการดำเนินการตามแผน” จิรวัฒน์ กล่าว

KBank Private Banking และ Lombard Odier ได้ทำสำรวจลูกค้าในเอเชียแปซิปิก พบว่า ลูกค้าส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับการวางแผนธุรกิจครอบครัว ลูกค้า 87% เลือกใช้ Private Banker ที่มีมากกว่าการให้คำปรึกษาด้านการลงทุน ที่สำคัญคือ บริหารจัดการทรัพย์สินครอบครัว 

บริการที่ปรึกษาด้านการบริหารทรัพย์สินครอบครัว (Family Wealth Planning Service) ได้รับความสนใจจากลูกค้าบุคคลสินทรัพย์สูงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งมีปัจจัยเร่งจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ความผันผวนของเศรษฐกิจโลก และความเสี่ยงด้านสุขภาพจากโรคระบาด ทำให้ครอบครัวผู้มีสินทรัพย์สูงเริ่มเล็งเห็นถึงความสำคัญของการวางแผนรับมืออย่างเป็นระบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การให้ทายาทรุ่นถัดไปได้เข้ามามีบทบาทในการบริหารจัดการธุรกิจเร็วยิ่งขึ้น 

พีระพัฒน์ เหรียญประยูร Chief – Wealth Planning Private Banking Group ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า หลักการสำคัญของบริการการบริหารสินทรัพย์ครอบครัว คือ การจัดการทรัพย์สินให้เป็นไปตามโจทย์ของครอบครัว ทุกครอบครัวต้องสามารถรักษาทรัพย์สินที่สร้างมา ทำให้เติบโต และส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่นอย่างยั่งยืน 

ทั้งนี้ บริการการบริหารสินทรัพย์ครอบครัว แบ่งเป็น 6 บริการ ได้แก่ 

  1. การจัดโครงสร้างการถือครองทรัพย์สินของครอบครัว (Asset Holding Structures) ให้คำแนะนำการถือครองทรัพย์สินของครอบครัว เช่น ที่ดิน กิจการของครอบครัว ว่าควรอยู่ในรูปแบบใด ซึ่งรวมไปถึงการจัดการระบบกงสี ระบบสวัสดิการของครอบครัว ให้สอดคล้องกับข้อตกลงของครอบครัว และคำนึงถึงการวางแผนภาษีควบคู่ไปพร้อมกัน
  2. การบริหารความเสี่ยงต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับทรัพย์สินของครอบครัว (Financial Asset, Liability and Risk Management) พิจารณาความเสี่ยงต่าง ๆ ร่วมกับครอบครัวเพื่อร่วมกันวางแผนการบริหารความเสี่ยงต่าง ๆ อาทิ ภาษี ความขัดแย้งในครอบครัว การสืบทอดกิจการ หนี้สิน เป็นต้น
  3. การสร้างกติกาของครอบครัวและการสืบทอดธุรกิจ อย่างเป็นระบบ (Family Continuity Planning) เช่น การทำธรรมนูญครอบครัว เพื่อลดความขัดแย้งระหว่างสมาชิก สร้างความเข้มแข็งให้ธุรกิจ ทำให้ธุรกิจครอบครัวสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน และยังนำไปประยุกต์ใช้กับทรัพย์สินกงสีของครอบครัวได้
  4. การวางแผนการส่งต่อทรัพย์สินจากรุ่นสู่รุ่น (Inheritance and Wealth Transfer) ช่วยลดความขัดแย้งของครอบครัว ทำให้ธุรกิจของครอบครัวดำเนินต่อไปได้อย่างราบรื่น รวมถึงการวางแผนภาษีมรดก เพื่อลดความกังวลและสร้างความมั่งคั่งต่อไปได้
  5. การทำสาธารณกุศล (Philanthropy) อำนวยความสะดวก ทั้งในเรื่องรูปแบบ การบริหารจัดการ ตลอดจนการลงทุน เพื่อให้เกิดความยั่งยืน สร้างชื่อเสียง ตลอดจนส่งต่อความดีงามของครอบครัว
  6. การทำหน้าที่เป็นสำนักงานของครอบครัว (Family Office) ช่วยจัดการกิจธุระของครอบครัว ตลอดจนการดำเนินการตามแผนการบริหารสินทรัพย์ของครอบครัว

ปัจจุบัน KBank Private Banking ได้ให้บริการที่ปรึกษาด้านการบริหารทรัพย์สินครอบครัวแก่ลูกค้ามาทั้งสิ้นประมาณ 3,600 ราย หรือคิดเป็นประมาณ 720 ครอบครัว ครอบคลุมทรัพย์สินครอบครัว ทั้งธุรกิจและที่ดินรวมมูลค่ากว่า 120,000 ล้านบาท (มูลค่านี้มีบางส่วนที่เป็นธุรกิจครอบครัวและทรัพย์สินอื่น ๆ ที่ไม่ได้อยู่ภายใต้การบริหารจัดการของธนาคาร) ตั้งเป้าให้บริการแก่ลูกค้าอย่างน้อย 50% ของพอร์ต ภายใน 3 ปีข้างหน้า จากปัจจุบันที่ให้บริการลูกค้าแล้วประมาณ 32%

ภาพรวมธุรกิจครอบครัวในประเทศไทย 

ธุรกิจครอบครัวมีบทบาทสำคัญอย่างมากต่อระบบเศรษฐกิจไทย โดยพบว่ากว่า 3 ใน 4 ของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เป็นธุรกิจครอบครัว จากสถิติพบว่า 75% เป็นธุรกิจครอบครัวไทยที่อยู่ในการบริหารของรุ่นที่ 2 และมีเพียง 4% เท่านั้นที่อยู่ในการบริหารของรุ่นที่ 3 และ 4 ซึ่งเป็นเครื่องบ่งชี้ว่า ธุรกิจครอบครัวไทยส่วนใหญ่ยังจัดตั้งมาไม่นานและกำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านที่สำคัญในการเริ่มวางแผนเพื่อบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ 

ทั้งนี้ ร้อยละ 80 – 90 ของธุรกิจทั้งหมดทั่วโลก เป็นธุรกิจที่มีเจ้าของหรือผู้บริหารเป็นครอบครัว ซึ่งมีไม่น้อยที่ล้มหายตายจากไป เนื่องจากมีความอ่อนไหวระหว่างความเป็นครอบครัวและธุรกิจ อันเกิดจากหลายปัจจัย เช่น ความขัดแย้งของสมาชิกในครอบครัว ไม่มีแผนการส่งต่อธุรกิจให้ทายาท และการบริหารจัดการที่ไม่เป็นระบบ

ซึ่งการบริหารจัดการที่ไม่เป็นระบบ ถือเป็นปัญหาหลักของธุรกิจครอบครัวไทย ที่ยังคงมีการส่งต่อทรัพย์สินโดยเฉพาะธุรกิจครอบครัวให้เป็นไปตามขนมธรรมเนียมของครอบครัว หรือเป็นไปตามธรรมชาติมากกว่าจะวางแผนให้เป็นระบบ ทั้งนี้ ครอบครัวจำเป็นต้องมีการวางแผนรับมืออย่างเป็นระบบ ทำให้การจัดการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ วางแผนรองรับเหตุการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นและมีผลกระทบรุนแรงและรวดเร็ว 

“เราพบว่าครอบครัวผู้มีสินทรัพย์สูงเริ่มให้ความสำคัญกับการวางแผนเรื่องการส่งต่อทรัพย์สินครอบครัวเพิ่มขึ้น จากการสำรวจโดย Lombard Odier พบว่า 45% ของผู้มีความมั่งคั่งสูงในไทยที่ยังไม่ได้จัดทำธรรมาภิบาลครอบครัว สนใจที่จะเริ่มวางแผนในอนาคต” จิรวัฒน์ กล่าว

ความท้าทายของธุรกิจครอบครัวต่อ Family Wealth Planning

ครอบครัวส่วนใหญ่ยังคงมุ่งเน้นการขยายธุรกิจมากกว่าการวางแผนและจัดการอย่างเป็นระบบ และส่วนใหญ่เผชิญกับความท้าทายและมีความต้องการที่คล้ายคลึงกันหลัก ๆ 3 ประการ

ประการแรก คือ การหาความเชี่ยวชาญในการบริหารจัดการความเสี่ยงจากการดำเนินธุรกิจและการถือครองทรัพย์สิน ในสถานการณ์ที่ธุรกิจในหลายอุตสาหกรรมหยุดชะงักหรือมีการชะลอตัว ทำให้หลายครอบครัวเริ่มมองการกระจายความเสี่ยงด้วยการขยายธุรกิจต่าง ๆ ที่อยู่นอกธุรกิจหลักของครอบครัวมากขึ้น (Diversification) ความท้าทายคือ ทำอย่างไรให้การให้บริการบริหารจัดการความเสี่ยงของธุรกิจและทรัพย์สินครอบครัวให้เกิดประโยชน์สูงสุด

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการวางแผนด้านภาษีอย่างเป็นระบบซึ่งมีปัจจัยเร่งที่สำคัญมาจากการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างประเทศเพื่อการเก็บภาษีที่เข้มงวดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นกฎหมาย Foreign Account Tax Compliance Act (FATCA) ของสหรัฐอเมริกา หรือระบบ Common Reporting Standard 

“ดังนั้น เราจึงเน้นแนะนำให้ลูกค้าวางแผนเรื่องบริหารสินทรัพย์ของครอบครัวโดยคำนึงถึงต้นทุนทางภาษีที่ต้องแบกรับ และวางแผนป้องกันพร้อมรับมืออย่างเหมาะสม” พีระพัฒน์ กล่าว

ประการต่อมา คือ การบริหารจัดการระบบกงสีแบบดั้งเดิมเริ่มมีความท้าทายขึ้นในบริบทปัจจุบัน ซึ่งความยึดมั่นในขนบธรรมเนียมในการตัดสินใจเป็นหลัก หลายครอบครัวจึงเร่งปรับกติกาของกงสีให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น รวมทั้งการใช้เครื่องมือต่าง ๆ เพื่อตอบโจทย์ของครอบครัว 

“การบริหารจัดการกงสีแบบดั้งเดิมยังถือเป็นอีกหนึ่งความท้าทายในการส่งต่อความมั่งคั่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในครอบครัวขนาดใหญ่และมีหลากหลายธุรกิจ สิ่งที่เรานำแนะนำแก่ลูกค้า คือ การบริหารโครงสร้างการถือครองทรัพย์สิน การใช้ทรัสต์ที่จัดตั้งในต่างประเทศยังเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการจัดเก็บและกำหนดกติกาของกงสี ตลอดจนทรัสต์ในการจัดสรรผลประโยชน์ของสมาชิกในครอบครัว รวมทั้งเป็น Back-up plan ในการบริหารความเสี่ยง ในกรณีที่สมาชิกคนใดประสบปัญหาด้านการเงินส่วนตัว ก็ยังมีทรัพย์ที่ได้รับจากกองทรัสต์เพื่อเลี้ยงดูตัวเองและครอบครัวต่อไปด้วย” พีระพัฒน์ กล่าว

และประการสุดท้าย คือ ทัศนคติและเป้าหมายที่แตกต่างกันของสมาชิกในครอบครัว โดยเฉพาะทายาทรุ่นที่ 2 และ 3 ที่มีโอกาสได้ไปศึกษาและใช้ชีวิตในต่างประเทศ รวมถึงมีแนวความคิดใหม่ ๆ ในการทำธุรกิจ ซึ่งอาจทำให้เกิดอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจในช่วงเปลี่ยนผ่านได้ สิ่งที่สำคัญที่แนะนำแก่ลูกค้าคือ การเตรียมความพร้อมให้คนรุ่นใหม่และการเปิดให้พวกเขามีส่วนร่วมตัดสินใจเรื่องสำคัญ ๆ นอกจากนี้ การวางกติกาครอบครัวซึ่งได้รับความเห็นชอบจากสมาชิกทุกรุ่นก็มีความจำเป็นที่ต้องอาศัยคนกลางที่มีประสบการณ์ในการวางแผนอย่างมีระบบ 

“ความแตกต่างด้านทัศนคติและเป้าหมายของสมาชิกในครอบครัว ดูเหมือนเป็นปัญหาเล็ก แต่จริง ๆ แล้วมีความสำคัญมาก อาจเกิดความขัดแย้งได้หากไม่มีการกำหนดกติกาที่ชัดเจน เครื่องมือสำคัญที่เข้ามาตอบโจทย์ได้ คือ การวางแผนการส่งต่อธุรกิจ และให้คนรุ่นใหม่มีส่วนร่วม เพื่อการส่งต่อความมั่งคั่งอย่างราบรื่น” พีระพัฒน์ กล่าว

เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าในด้านการบริหารความมั่งคั่งให้ดียิ่งขึ้น KBank Private Banking จะเร่งยกระดับบริการทั้งในด้านกลยุทธ์ในการพัฒนาระบบติดตามผล เพื่อช่วยให้ครอบครัวสามารถวางแผนและดำเนินการบริหารสินทรัพย์ได้อย่างเป็นขั้นตอนและต่อเนื่อง นอกจากนี้ ยังเตรียมเสริมบริการในด้านการทำสาธารณกุศลของครอบครัว และการอำนวยความสะดวกในเรื่องบริการสำนักงานครอบครัว (Family Office) อีกด้วย 

“บริการที่ปรึกษาด้านการบริหารทรัพย์สินครอบครัวต้องใช้เวลาและความละเอียดในการกำหนดแผนการและข้อกำหนดของแต่ละครอบครัว เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติที่สมาชิกในครอบครัวทุกรุ่นทุกคนเห็นพ้องต้องกัน” พีระพัฒน์ กล่าวสรุป

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ