TH | EN
TH | EN
หน้าแรกSustainabilityกลุ่มธุรกิจ TCP ผนึกพันธมิตร ส่งต่อแนวทางการเปลี่ยนผ่านสู่ Net Zero สู่ผู้ประกอบการ

กลุ่มธุรกิจ TCP ผนึกพันธมิตร ส่งต่อแนวทางการเปลี่ยนผ่านสู่ Net Zero สู่ผู้ประกอบการ


ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป ข่าวภัยพิบัติและปัญหาสิ่งแวดล้อมทั่วโลกนับเป็นสัญญาณเตือนถึงความเร่งด่วน ที่ทุกภาคส่วนต้อง “ลงมือทำ” ตั้งแต่วันนี้ เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและเปลี่ยนผ่านสู่ Net Zero ซึ่งกลุ่มธุรกิจ TCP ได้จัดงานประชุมด้านความยั่งยืนเพื่อส่งเสริมความร่วมมือในกลุ่มอุตสาหกรรม ภายใต้แนวคิด “Net Zero Transition…From Commitment to Action” พร้อมจัดประชุมกลุ่มย่อยสำหรับพันธมิตรมาร่วมแลกเปลี่ยนกลยุทธ์และแนวทางปฏิบัติสำหรับธุรกิจ เพื่อนำไปปรับใช้ในองค์กร ช่วยสนับสนุนให้ประเทศไทยเปลี่ยนผ่านสู่ Net Zero เพื่อวันที่ดีกว่าได้เร็วขึ้น

ในงานนี้ ดร.ธนพัฒน์ พรรธนะประเทศ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซัพพลายเชน กูรู จำกัด ได้ให้ข้อคิดจากมุมมองของคนทำงานว่า เรื่องความยั่งยืน จะกลายเป็นธรรมเนียมปกติของธุรกิจเหมือนมาตรฐาน ISO ที่ธุรกิจคุ้นเคย โดยต้องผนึกกำลัง (Integration) ทั้งภายในองค์กรและกับพาร์ตเนอร์ภายนอกทั้งซัพพลายเชน และอย่ามองว่าเป็นอุปสรรค แต่คือโอกาสและการลงทุน

“ตัวอย่างเช่นการส่งมอบสินค้าให้ลูกค้าโดยไม่หยุดชะงักได้ก็ต่อเมื่อ ธุรกิจที่ส่งมอบให้เราไม่หยุดชะงักด้วย ในปัจจุบัน ลูกค้า ตลาด และสังคม เปลี่ยนไปตลอด การที่เรายืนหยัดมาได้ แสดงว่าการดำเนินการเรื่องความยั่งยืนเป็นสิ่งที่ธุรกิจทำได้ นอกจากช่วยดึงดูดลูกค้าปัจจุบันแล้ว จะทำให้ลูกค้าใหม่ เลือกเราด้วย ซึ่งความยั่งยืนไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นเรื่องใกล้ตัว สามารถทำได้โดยไปทีละขั้น เพื่อให้วันนี้ดีกว่าเมื่อวาน และพรุ่งนี้ดีกว่าวันนี้”

ดร.ธนพัฒน์ อธิบายถึงหลักสากล 10 ประการของการรจัดการห่วงโซ่อุปทานที่ยั่งยืน (Sustainable Supply Chain Management) ตาม UN Global Compact (UNGC) ซึ่งสอดคล้องกับกฎหมายแรงงานและสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย และในทางปฏิบัติเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการทุกท่านได้ดำเนินการอยู่แล้ว ดังนั้นเพื่อการดำเนินการอย่างมีประสิทธิผลผู้ประกอบการควรศึกษาแนวทางปฏิบัติของ UNGC และแบบอย่างจากองค์กรที่ประสบความสำเร็จ ที่สำคัญคือทัศนคติของการดำเนินการอย่างจริงจังเข้มแข็ง

หลักสากล 10 ประการของการจัดการห่วงโซ่อุปทานที่ยั่งยืนตาม UN Global Compact (UNGC) มีดังต่อไปนี้

  • ด้านสิทธิมนุษยชน (Human Rights) มี 2 ประการ คือ การสนับสนุนและเคารพการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน และแน่ใจว่าไม่มีความเกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน
  • ด้านแรงงาน (Labour) มี 4 ประการ คือ ส่งเสริมเสรีภาพในการรวมกลุ่มและเคารพสิทธิในการเจรจาร่วมกันอย่างมีประสิทธิผล ยุติการใช้แรงงานบังคับและแรงงานที่ใช้การบังคับทุกรูปแบบ ยกเลิกการใช้แรงงานเด็กอย่างมีประสิทธิผล และขจัดการเลือกปฏิบัติในการจ้างงานและการประกอบอาชีพ
  • ด้านสิ่งแวดล้อม (Environment) มี 3 ประการ คือ สนับสนุนแนวทางเชิงป้องกันเกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อม ริเริ่มโครงการส่งเสริมความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมให้มากขึ้น และส่งเสริม พัฒนา และเผยแพร่เทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
  • ด้านการต่อต้านการทุจริต (Anti-Corruption) มี 1 ประการ คือ ต่อต้านการทุจริตทุกรูปแบบ รวมถึงการขู่กรรโชกและการติดสินบน

บทเรียนจากกลุ่มธุรกิจ TCP – From Commitment to Action

ขจรศักดิ์ เปลี่ยนสกุล ผู้อำนวยการสายงานซัพพลายเชน กลุ่มธุรกิจ TCP เปิดเผยว่า การเดินหน้าสู่เป้าหมาย Net Zero นั้น กลุ่มธุรกิจ TCP เน้นลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกับเพิ่มผลกระทบเชิงบวกใน 4 ด้านหลัก ดังนี้

  • พลังงานยั่งยืน ด้วยการจัดการพลังงาน ปรับปรุงกระบวนการผลิตเพื่อลดการสูญเสียพลังงาน ใช้พลังงานหมุนเวียนจากเชื้อเพลิงชีวมวลและติดตั้ง Solar Rooftop ลงทุนระบบโรงงานอัจฉริยะ จนผ่านการรับรองมาตรฐาน LEED ทั้งสำนักงานใหญ่ในประเทศไทยและโรงงานในประเทศจีน รวมถึงเปลี่ยนไปใช้รถพลังงานไฟฟ้า (EV) ในระบบขนส่ง
  • บรรจุภัณฑ์ยั่งยืน ลดการใช้วัสดุทั้งขวดแก้ว ขวดพลาสติกและกระป๋องอะลูมิเนียม ยกเลิกขวดสี ใช้กล่องจากกระดาษมาตรฐาน FSC และจัดการบรรจุภัณฑ์ผ่านการร่วมกับพันธมิตรทางธุรกิจอย่าง Aluminum Loop และภาคีภาคประชาสังคม คือ IUCN ในโครงการบริหารจัดการขยะในชุมชนที่จังหวัดระนอง รวมถึงระดับอุตสาหกรรมกับสถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม (TIPMSE) สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
  • จัดการน้ำยั่งยืน ลดการปล่อยน้ำเสีย และคืนน้ำให้ชุมชนได้กว่า 15 ล้านลูกบาศก์เมตร ผ่านโครงการ TCP โอบอุ้มลุ่มน้ำไทย
  • เพิ่มผลิตภัณฑ์สุขภาพ 70% ของผลิตภัณฑ์ทั้งหมด เพื่อส่งเสริมสุขภาพความเป็นอยู่ที่ดีและยั่งยืนให้กับผู้บริโภค

เคล็ดลับสำหรับผู้ประกอบการ ปลุกพลังซัพพลายเชน “ทำวันนี้ เพื่อพรุ่งนี้ที่ดีกว่า”

พันธมิตรของกลุ่มธุรกิจ TCP ประกอบด้วยผู้บริหารจากบีไอจี น้ำตาลมิตรผล และไทย มาลายา กลาส (BJC Glass) มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์เพื่อสร้างแรงบันดาลใจในการปฏิบัติจริง สำหรับธุรกิจในการเริ่มดำเนินการเพื่อความยั่งยืน ดังนี้

  1. วางกรอบจรรยาบรรณธุรกิจ (Code of conduct) – การวางกรอบทิศทาง จะทำให้การเริ่มต้นง่ายขึ้น วรวัฒน์ ศรียุกต์ ผู้อำนวยการด้านบริหารองค์กรเพื่อความยั่งยืน บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด เห็นว่าธุรกิจอาจเริ่มต้นในส่วนที่คิดว่าทำได้ โดยเริ่มทำกับพันธมิตรบางส่วนและเน้นในบางด้านก่อน และวางกรอบจรรยาบรรณ (Code of conduct) ของธุรกิจ โดยจัดลำดับความสำคัญแบบค่อยเป็นค่อยไป นอกจากนี้ การทำงานด้านความยั่งยืน ควรระบุเจาะจง เพราะเรื่องนี้ไม่มีคู่แข่ง บริษัทใหญ่ต่างเปิดเผยเรื่องนี้ให้สามารถดำเนินรอยตามได้ เริ่มทำตามกำลัง แล้วค่อยขยายไปยังส่วนอื่น ๆ
  2. ประเมินความเสี่ยงและวางเป้าหมายที่เป็นไปได้ – จะเริ่มที่ตรงไหน คงเป็นคำถามในใจเมื่อพิจารณาถึงหลัก SDGs ที่มีมากถึง 17 ข้อ ทิพวรรณ อังศิริ ผู้จัดการฝ่ายความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อม บริษัท ไทย มาลายา กลาส จำกัด แนะนำให้พิจารณาว่าประเด็นความเสี่ยงด้านความยั่งยืนขององค์กรคืออะไร ให้ลงมือทำด้านนั้นก่อน และควรตั้งเป้าหมายที่วัดผลได้ เพื่อให้ติดตามผล และประสบความสำเร็จไปถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ ตัวอย่างเช่น ไทย มาลายา กลาส ให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ขยะ บรรจุภัณฑ์ จึงดำเนินการด้านเหล่านี้ ก่อนที่ส่วนอื่นจะตามมา ที่สำคัญคือ การสร้างความตระหนักรู้ของพนักงานผ่านกระบวนการเรียนรู้ต่างๆ เพื่อให้เกิดความรู้และมีส่วนร่วม องค์กรจึงจะขับเคลื่อนไปได้
  3. เริ่มลงมือทำตั้งแต่วันนี้ – การเริ่มต้นนั้นยาก แต่องค์กรต้องปรับตัวเพื่อความยั่งยืน ซึ่งการรับมือกับปัญหาสภาพภูมิอากาศนั้น นายวรวัฒน์ เห็นว่าธุรกิจที่ใช้พลังงานฟอสซิลมาก ยิ่งต้องเริ่มดำเนินการ เพราะในอนาคต พันธมิตรทางธุรกิจหรือธนาคาร จะพิจารณาประเด็นนี้มากขึ้น ตัวอย่างเรื่องภาษีคาร์บอน ถ้าการปล่อยคาร์บอนถึงจุดที่ต้องเสียภาษี อาจต้องไปซื้อจากองค์กรที่ปล่อยคาร์บอนน้อย หมายความว่าธุรกิจเราจะต้องจ่ายเงินให้คู่แข่ง

    ทิพวรรณ ได้ชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นที่ต้องลงมือทำ กล่าวว่า “เราคือคนกลุ่มแรกที่ได้รับผลกระทบ และจะเป็นคนกลุ่มสุดท้ายที่จะแก้ไข จึงต้องลงมือทำตั้งแต่วันนี้ เพื่อรักษาโลกใบนี้ไว้ให้ลูกหลานของเราในอนาคต ทำวันนี้เพื่อวันพรุ่งนี้”
  4. กล้าที่จะลงทุนเพื่ออนาคต – แน่นอนว่าการลงมือทำเพื่อสร้างความยั่งยืน เป็นการมองไปยังอนาคต นายปิยบุตร จารุเพ็ญ กรรมการผู้จัดการ บีไอจี แบ่งปันมุมมองต่อการลงทุนล่วงหน้าว่า “ความยั่งยืนคือ โอกาสที่จะเติบโตไปพร้อมกับการดูแลสิ่งแวดล้อมและภาคสังคมได้ ควรมองไปไกลถึง 10 – 20 ปีข้างหน้าว่าจะสามารถลงทุนอะไรได้ ถ้าไม่มุ่งมั่นและไม่เริ่มต้นวันนี้ อีก 10 ปีข้างหน้าอาจจะสายไปแล้ว และเชื่อว่าธุรกิจต่างๆ จะหาโอกาสนั้นเจอ”
  5. ร่วมมือกับพันธมิตร – ทุกองค์กรเห็นตรงกันว่า ความร่วมมือกับพันธมิตรเป็นสิ่งสำคัญ องค์กรสามารถเริ่มดำเนินการกับพันธมิตรในส่วนที่ทำได้ก่อน สร้างพลังของการผนึกกำลังกันทั้งภายในและนอกองค์กร เพื่อให้ห่วงโซ่บริการไม่สะดุดลงกลางคัน

ทิพวรรณ กล่าวว่า “สิ่งสำคัญคือ ภาคีเครือข่าย เพราะถ้าเราเดินไปด้วยกัน จะทำให้ไปได้ไกล และไปได้เร็ว อย่างเช่นการออกแบบผลิตภัณฑ์น้ำหนักเบาร่วมกับพันธมิตร เพื่อลดการใช้วัตถุดิบหรือทรัพยากร ซึ่งช่วยลดต้นทุนการขนส่งเนื่องจากขวดมีน้ำหนักเบาลง และลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้ด้วย และการจัดการขยะอย่างยั่งยืน ผ่านการร่วมสนับสนุนแอปพลิเคชันการจัดการขยะ C3Leng (ซีซาเล้ง) ที่ไม่เพียงเป็นแพลตฟอร์มที่หลายองค์กรใช้ในการนำขยะเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล แต่ยังมีส่วนช่วยให้คนเก็บของเก่าหารายได้ได้เพิ่มขึ้น การขยายการใช้เครื่องมือเหล่านี้ ต้องอาศัยความร่วมมือ ซึ่งจะช่วยเสริมให้เกิดผลกระทบเชิงบวกได้ในที่สุด”

ข่าวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

foodpanda แนะ 3 วิธีปรับพฤติกรรมง่าย ๆ ช่วยลด “ขยะอาหาร”

ปลุก “ความเชื่อมั่น” ก่อนสายเกินแก้

Bitcoin ทะลุ 1.2 ล้านบาท ที่ Bitkub Exchange ท่ามกลางกระแส Bitcoin ETF

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ