TH | EN
TH | EN
หน้าแรกStartupBuilk ชูกลยุทธ์ Venture Builder ลงลึก Contech และ Fintech ตั้งเป้าเข้าตลาดฯ ปี 2023

Builk ชูกลยุทธ์ Venture Builder ลงลึก Contech และ Fintech ตั้งเป้าเข้าตลาดฯ ปี 2023

กรุงโรมไม่อาจสร้างเสร็จได้ภายในวันเดียว ความสำเร็จของสตาร์ตอัพไทยอย่าง Builk ก็เช่นกัน …..

Builk เป็นสตาร์ตอัพที่แก่ อายุมากกว่า Venture Capital หลายรายในประเทศไทย ปีนี้ Builk ขึ้นปีที่ 11 แต่สำหรับ ไผท ผดุงถิ่น ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท บิลค์ วัน กรุ๊ป จำกัด กล่าวว่า การเดินทางของ Builk สร้างมา 11 ปีแล้ว แต่ยังไม่เสร็จ และจะยังคงสร้างต่อไป และต้องเป็นก้าวต่อไปอย่างมั่นคง 

ตลอด 11 ปีที่ผ่านมา ไผทมองว่า เป็นการลงเสาเอก (ทำ Ground Breaking) หรือการขุดหน้าดินก่อนจะเริ่มงานก่อสร้างจริง ๆ ซึ่ง Builk ได้ทำการขุดหน้าดินมาอย่างต่อเนื่องยาวนานใน 2 เรื่อง คือ Contech และ Fintech ซึ่งตอนนี้กำลังอยู่ในระยะที่กำลังเติบโตขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง

ไผท เล่าว่า เรื่องราวของ Builk เริ่มต้นตั้งแต่ 2009 ที่เปลี่ยนตัวเองจากเอสเอ็มอี มาเป็นสตาร์ตอัพ เพราะคิดแล้วว่า ถ้าเป็นธุรกิจเอสเอ็มอีต่อไปก็ทำกำไรได้ อยู่กันแบบเล็ก ๆ น้อย ๆ แบบนั้น แต่มีโอกาสเข้ามาในชีวิต ธุรกิจอินเทอร์เน็ตที่จะเข้ามาทรานส์ฟอร์มเอสเอ็มอีดั้งเดิมของเขาได้ 

ตอนนั้นปี 2009 ในเมืองไทยตอนนั้นยังไม่มีคำว่า สตาร์ตอัพ แต่ Builk อยากจะเป็นสตาร์ตอัพ เปิดบริษัทชื่อ Builk Asia อยากไปในตลาดเอเชีย พอปี 2010 เปิดบริการซอฟต์แวร์บริหารธุรกิจก่อสร้างฟรีครั้งแรก โดยที่ยังไม่รู้ว่าจะหารายได้จากบริการนี้อย่างไร (ตอนนั้นยังไม่มีรูปแบบธุรกิจที่ชื่อว่า builk.com) จากวันนั้นจนวันนี้มีทีมงานทั้งหมด 110 คน เติบโตมาจากวันแรกที่มีพนักงาน 2-3 คน 

ไผท กล่าวว่า Builk เป็นสตาร์ตอัพที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมามาก ซึ่งร้อนหนาวล่าสุด คือ โควิด-19 ซึ่งโควิด-19 ได้สอนและให้วัคซีนในการทำธุรกิจมา 2 เข็มใหญ่ 

เข็มแรก คือ การทำธุรกิจไม่สามารถจะลุยเผาเงินไปเรื่อย ๆ แบบสตาร์ตอัพได้อย่างเดียว โลกเปลี่ยนไปแล้วหลังจากการกระแสสตาร์ตอัพที่มูลค่าบริษัทมูลค่าธุรกิจสูงเกินจริง ความฝันที่จะเป็นยูนิคอร์นของธุรกิจสตาร์ตอัพหลาย ๆ รายถูกทำให้ยอมรับความเป็นจริงมากขึ้นว่าธุรกิจอยู่ได้ด้วยอะไร การเติบโตก็จำเป็นอยู่ แต่ความยั่งยืนของธุรกิจก็จำเป็น สุดท้ายแล้วธุรกิจเมื่อขยายได้ (Scalable) ทำซ้ำได้ (Repeatable) ก็จะต้องกำไร (Profitable) ได้ด้วย เมื่อไรจะไปถึงจุด ๆ นั้น

“สำหรับสตาร์ตอัพไทยอย่าง Builk เราโหยหาเรื่อง Scalable และ Repeatable มาตลอด 11 ปีที่ผ่านมา ผลประกอบการก็เป็นแบบสตาร์ตอัพ คือ มีการระดมทุนมาและมีการขาดทุนไปบ้าง” 

วัคซีนเข็มแรกสอนให้ระมัดระวังเรื่องควบคุมค่าใช้จ่าย ช่วงโควิด-19 มีปัจจัยที่ไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น วงการก่อสร้างได้รับผลกระทบบ้าง วงการอสังหาริมทรัพย์กลุ่มลูกค้าของ Builk บางกลุ่มได้รับผลกระทบโดยตรงหนัก ๆ เลย ฉะนั้น บริษัทจะพึ่งพาปัจจัยภายนอกอย่างเดียวไม่ได้

สิ่งที่ทำคือ สร้างภูมิคุ้มกันภายใน บริษัทยกระดับมาตรฐานการจัดการภายในทั้งระบบขึ้นมาและควบคุมต้นทุนอย่างใกกล้ชิดมาก ๆ เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ Builk รอดผ่านโควิด-19 มาได้โดยที่ไม่ได้เอาคนออก 

วัคซีนเข็มที่สอง คือ รูปแบบธุรกิจ Builk One Group มีกลุยทธ์มีธุรกิจหลาย ๆ ตัวย่อย ๆ ประกอบกัน ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่ค่อนข้างจะยืดหยุ่น ทำให้สามารถฝ่าวิกฤติครั้งนี้มาได้ ด้วยรูปแบบธุรกิจที่หลากหลาย ถ้าอุตสาหกรรมและลูกค้าได้รับผลกระทบ จะปรับตัวอย่างไร จะยืดหยุ่นรูปแบบธุรกิจไหนกับลูกค้ากลุ่มไหนได้บ้าง ส่งผลให้ปีที่แล้วบริษัทเติบโตและมีกำไร

สร้างฐานรากอุตสาหกรรมก่อสร้าง

บริษัท Builk One Group มีหลายผลิตภัณฑ์ที่ร้อยเรียงกัน ทุกปีจะเปิดผลิตภัณฑ์ใหม่ ด้วยความที่ต้องการเปิดและขยายโอกหาสใหม่ ๆ ให้กับ Talent ขององค์กร ทำให้ปัจจุบัน บริษัทมีผลิตภัณฑ์อยู่ 6 ตัว

ตัวแรก คือ โปรแกรมบริหารธุรรกิจรับเหมาก่อสร้างขนาดใหญ่ ชื่อว่า “พจมาน 2” (Pojjaman 2) ลูกค้าเป็นผู้รับเหมาญี่ปุ่น ผู้รับเหมาชั้นนำของประเทศไทย ใช้บริการระบบริหารธุรกิจ ระบบควบคุมต้นทุน 

ต่อมาคือ builk.com ที่ทำให้ผู้รับเหมาเอสเอ็มอีใช้งานฟรี เพราะต้องการจะเปลี่ยนฐานรากของอุตสาหกรรมที่เป็นผู้รับเหมาเอสเอ็มอีที่อาจจะไม่มีระบบในการจัดการ ให้มาใช้งานระบบบริหารจัดการธุรกิจและควบคุมต้นทุนฟรี ซึ่งให้บริการฟรีมา 11 ปีแล้ว และจะฟรีต่อไป แต่จะหารูปแบบธุรกิจมาให้ผู้รับเหมาเอสเอ็มอีเหล่านี้ต่อไปให้ได้ เพราะเมื่อเขาทำงานแล้วเข้มแข็งขึ้นก็จะเขยิบมาใช้โปรแกรมตัวอื่นของ Builk ต่อไป 

ถัดมา คือ โปรแกรมบริหารงานขายสำหรับร้านวัสดุก่อนสร้าง ชื่อ Jubili และทำระบบอีคอมเมิร์ซสำหรับร้านวัสดุก่อสร้าง ชื่อว่า Yello และเขยิบมาทำโปรแกรมสำหรับฝั่งต้นน้ำของอุตสาหกรรม คือ อสังหาริมทรัพย์ เจ้าของโครงการสร้างบ้าน สร้างคอนโดขาย ไปช่วยเขาบริหารงานขาย บริหารงานแจ้งซ่อม บริหารบริการของอาคารเหล่านั้นหลังจากที่สร้างเสร็จ คือ พลอย (Ploy) และ ขวัญใจ (KwanJai) 

“ทั้งหมดรันแบบสตาร์ตอัพ ผมไม่กล้าบอกว่าผมเป็น Venture Builder แต่ผมเป็น Startup-in-Startup หัวหน้าทีมแต่ละทีม เปรียบเสมือนซีอีโอย่อย ๆ ที่กำลังรันธุรกิจของเขาอยู่ สมัยก่อนเหมือนสตาร์ตอัพหมด คือ เอาเงินไปลงทุนโดยที่ยังหารูปแบบธุรกิจไม่ได้ ทั้งหมดที่เราทำ คือ การเทฐานรากของอุตสหากรรม ผลิตภัณฑ์ทั้ง 6 ตัว คือ ฐานราก ซึ่งสร้างมา 11 ปี ซึ่งวันนี้ฐานรากเชื่อมกันเสร็จแล้ว”

บริษัทมีรายได้จาก 2 กลุ่ม คือ การทำซอฟต์แวร์ให้กับคนต่าง ๆ ในอุตสาหกรรม ตั้งแต่ซอต์ฟแวร์ฟรี ไปจนถึงซอฟต์แวร์ขนาดใหญ่ ซึ่งกลุ่มนี้ทำรายได้ประมาณ 70 ล้านบาทต่อปี และอีกกลุ่ม คือ ทำอีคอมเมิร์ซขายวัสดุก่อสร้างให้กับคนที่ใช้โปรแกรมในกลุ่มต่าง ๆ เป็นอีคอมเมิร์ซแบบไม่มีหน้าร้าน และใช้ Data ในการขับเคลื่อน ทำยอดขายได้ประมาณ 500 ล้านบาท 

“วันนี้เราเป็นสตาร์ตอัพที่โตมาระดับหนึ่ง มียอดขาย 570 ล้านบาท ฐานรากที่เราทำเสร็จแล้วก็ส่งผลให้ปีที่แล้ว ผลประกอบการเป็นบวกและทำกำไร เรากำลังมุ่งเป้าสู่ขั้นถัดไป คือ การขยายให้สูงขึ้นและเข้มแข็งขึ้น”

สิ่งที่เจอช่วงโควิด-19 คือ ความท้าทายของอุตสาหกรรมก่อสร้าง ทำให้มีโอกาสได้หันไปเริ่มทำธุรกิจที่ไม่ใช่ก่อสร้าง (non-construction business)  เพื่อกระจายความเสี่ยง มีซอฟต์แวร์จากบางกลุ่มธุรกิจที่ให้บริการไปไกลกว่าวงการก่อสร้าง อาทิ วงการ Healthcare และ Packaging สามารถไปช่วยผู้ประกอบการ B2B ในวงการเหล่านั้นทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันได้เหมือนที่ทำในวงการก่อสร้าง และพบว่า

ทักษะอย่างหนึ่งที่ Builk ทำได้ดี คือ ความสามารถในการเปลี่ยนอุตสาหกรรมที่ low-tech มาก ๆ อย่างอุตสาหกรรมก่อสร้างให้เป็นดิจิทัลได้ ยังมีอุตสาหกรรมที่ไม่ได้ low-tech ขนาดนี้ แต่ยังคงต้องการการเปลี่ยนแปลงอีกมาก ฐานรากนี้จะช่วยให้บริษัทพร้อมเติบโตอย่างมีกำไรและต่อเนื่อง 

“เราจะลงลึกขึ้นในสายที่เราชำนาญ เราโตมากับการก่อสร้าง เป็นสตาร์ตอัพที่หาเพื่อนไม่ค่อยได้ในวงการก่อสร้างเท่าใด ทำเรื่อง Contech จริง ๆ ยังมีไม่มาก วันนี้เราจึงทำ Construction Tech โดยจับมือกับลูกค้าของเรา ทั้งผู้รับเหมาขนาดใหญ่และขนาดกลาง และผู้ผลิตวัสดุ มีโอกาสทำให้เราพัฒนา Contech ไปสู่อีกขั้นหนึ่งได้”

ที่ผ่านมา Builk เชื่อมต่อซัพพลายเชนมากแล้ว ตั้งแต่โปรแกรมสำหรับร้านวัสดุ ผู้รับเหมาขนาดเล็ก ขนาดใหญ่ สำหรับผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ สิ่งที่อยู่เบื้องหลังการเชื่อมโยงนี้ คือ การเงิน หรือ Financial Supply Chain หลังจากที่คนส่งของ คนต้องจ่าย ต้องมีธุรกรรม ทั้งเครดิต และสินเชื่อต่าง ๆ บริการ Fintech คือ สิ่งที่ Builk กำลังเติบโตอยู่ในช่วงนี้ 

รุก Contech และ Fintech

Builk กำลังออกสินค้าใหม่อีก 2 ตัว ต่อยอดจากฐานรากที่มีในฝั่ง Contech คือ Builk360 และ BuilkInsite ฝั่ง Fintech เริ่มทำโปรแกมที่ชื่อว่า Builk Bill Loader  ซึ่งเป็นระบบที่เป็น Trade Document ที่เก็บไว้บนคลาวด์ และเตรียมต่อยอดทำงานกับผลิตภัณฑ์ของธนาคารต่อไป ฐานรากทั้งหมดนี้กำลังจะทำให้ Builk โดดเด่นและแตกต่างจากสตาร์ตอัพที่ทำเฉพาะเรื่อง

“เราเป็นสตาร์ตอัพ 11 ปี เราต้องมีอะไรแตกต่างจากคนอื่น เราอยู่รอดได้ด้วยรูปแบบธุรกิจของเราเองแล้ว ทุกตัวทำกำไรได้ และพร้อมจะมีสปริงบอร์ดต่อ”

วงการก่อสร้างเป็นวงการที่ประสิทธิภาพพัฒนาช้ามาก ถ้าเทียบกับวงการอื่น ๆ ดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันช่วยวงการอื่น ๆ ไปมากแล้ว แต่วงการก่อสร้างยังย่ำอยู่ที่เดิม คือยังใช้เวลาสร้างบ้านกัน 8 เดือน สร้างคอนโด 2 ปีกว่า เมื่อเสร็จแล้ว คุณภาพก็ยังมีปัญหา ระยะเวลาก็มีปัญหา ทำเมกะโปรเจกต์ไม่เคยเสร็จทันเวลา นี่คือความจริงของวงการก่อสร้าง ไผท หวังว่าในเจนเนอเรชันของเขาจะสามารถช่วยเปลี่ยนสิ่งนี้ได้

Builk360 ช่วยทำให้ตรวจสอบหน้างานก่อสร้างได้แบบ 360 องศา เสมือนจริงว่าเข้าไปอยู่ที่หน้างาน โดยไม่ต้องเข้าไปที่ Site และสามารถประสานกับคนที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ดีไซเนอร์ ให้คำปรึกษาผู้รับเหมาและเจ้าของโครงการได้ดีขึ้น ทำรายงาน เปรียบเทียบ ดูย้อนเวลาได้ (Time Travel) สามารถติดตามการทำงานย้อนกลับได้ ทำ Reporting โดยที่เอาเวลาไปคืนวิศวกรกับสถาปนิกไม่ต้องมานั่งทำเอกงานเหล่านี้ แต่ให้ระบบเทคโนโลยีทำ

“ช่วงโควิด เราทำงานให้ผู้รับเหมาชั้นนำของประเทศทั้งญี่ปุ่นและไทย เพื่อลดการเข้าไปตรวจงานก่อสร้างที่ Site งาน Builk360 กำลังถูกใช้ในโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ โครงการชั้นนำ และมีพันธมิตร คือ Creful เป็นหนึ่งในคนที่ช่วยเราพัฒนามาตลอด ทำให้คนทำงานก่อสร้างทำงานได้เร็วขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น และลดความผิดพลาดได้”

BuilkInsite เป็นอีกโปรแกรมที่เอาไว้ตรวจงานก่อสร้าง ช่วยทำให้ผู้รับเหมาสามารถติดตามได้ว่าก่อจะเทปูนเหล็กพร้อมหรือยัง เดินสายไฟหรือยัง มีเช็คลิส มีระบบตรวจงานก่อสร้าง เป็นแอปพลิเคชันผู้รับเหมาขนาดใหญ่ชั้นนำของไทยกำลังจะเริ่มใช้

Builk Bill Loader เริ่มต้นจากที่ Builk มี ERP เป็นพื้นฐาน วันนี้ Pojjaman ช่วยผู้รับเหมาขนาดกลางและขนาดใหญ่จำนวน 400 กว่าราย ในขณะที่ builk.com เป็น ERP ช่วยผู้รับเหมาขนาดเล็กเป็นหมื่นราย หลังจากที่ทำระบบให้เป็นดิจิทัลแล้ว ถึงเวลาต่อยอดธุรกิจแล้ว ระบบนี้กำลังเปิดโอกาสให้ซัพพลายเออร์ที่ทำงานกับผู้รับเหมาเชื่อมโยงข้อมูลเป็นอิเล็กทรอนิกส์กัน และสามารถทำให้ธนาคาร หรือสถาบันทางการเงินเข้ามาช่วยมาใช้ประโยชน์จากข้อมูลเหล่านี้ได้ ข้อมูลเหล่านี้จะทำให้ผู้รับเหมาเข้าถึงสินเชื่อที่เร็วขึ้น ข้อมูลจะทำให้ประเมินความเสี่ยงของผู้รับเหมาได้ดีขึ้น

“การเดินทางของเรา ได้พันธมิตรมาช่วย ตั้งแต่ Moonshot Venture Capital นักลงทุนรายใหญ่รายแรกของเราที่เข้ามาช่วยเมื่อหลายปีก่อน ทำให้เราเข้ามาสู่วงการวัสดุก่อสร้างจริง ๆ จัง ๆ ได้มากขึ้น และ​ Add Ventures by SCG ทำให้เราสามารถมีวัสดุก่อสร้างทุกอย่างในประเทศไทย และวันนี้ Beacon VC เป็นผู้นำการลงทุนในรอบนี้ และ Rosewood Capital และ Creful” 

“เมื่อก่อนเราเคยเป็นแค่ผู้ให้บริการในแพลตฟอร์ม วันนี้เรามีคนที่อยู่ในซัพพลายเชน อยู่กับเราครบหมดแล้ว ตั้งแต่ผู้รับเหมา ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ วัสดุก่อสร้าง ธนาคาร นี่คือ ฐานรากที่มั่นคงสำหรับสตาร์ตอัพในวงการก่อสร้างที่อายุ 11 ปี ที่พร้อมจะเติบโตต่อไป” 

“เราอยากทำสตอรี่ของเทคสตาร์ตอัพไทยในแบบของเราเอง เป้าหมาย คือ การเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ในเวลาอันใกล้ ราว ๆ ปี 2023” ไผท กล่าวทิ้งท้าย 

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ