TH | EN
TH | EN
หน้าแรกTechnologyดีอีเอส ย้ำดูแลความปลอยภัยแพลตฟอร์ม ไทยชนะ

ดีอีเอส ย้ำดูแลความปลอยภัยแพลตฟอร์ม ไทยชนะ

ศบค. ให้ความมั่นใจการบริหารข้อมูลระบบ “ไทยชนะ” เผยรมว.ดีอีเอส เน้นย้ำนโยบายด้านความมั่นคงปลอดภัยและมีการเฝ้าระวังดูแลความปลอดภัยของข้อมูลบนแพลตฟอร์มนี้ในทุกด้าน วอนร้านค้า/สถานบริการที่บันทึกข้อมูลการเข้าใช้บริการระบบแมนน่วล ช่วยเพิ่มความเข้มข้นในการดูแลรักษาข้อมูลของผู้ใช้บริการไว้ให้เข้าถึงได้ยาก สกัดกั้นผู้ไม่ประสงค์ดีขโมยข้อมูลเบอร์โทรลูกค้าไปใช้ในทางที่ไม่ดี

-AIS แจง กสทช. ไม่มีข้อมูลส่วนบุคคลหลุด
-ทีดีอาร์ไอ ชี้ยุทธศาสตร์ประเทศไทยหลังโควิด-19 ต้องชัด

ผศ.(พิเศษ) นพ.พลวรรธน์ วิทูรกลชิต ผู้ตรวจราชการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ในฐานะรองหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการด้านข้อมูลมาตรการแก้ไขปัญหาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และเจ้าหน้าที่ศูนย์ปฏิบัติการด้านการสื่อสาร โทรคมนาคม และสื่อสังคมออนไลน์ ศูนย์บริหารสถานการณ์ โควิด-19 (ศบค.) แถลงข่าวอัปเดทสถานการณ์โควิด-19 ร่วมกับกรมควบคุมโรค และกรมอนามัย วันนี้ (26 พ.ค. 63) โดยเน้นย้ำว่า ตามนโยบายด้านความมั่นคงปลอดภัยของนายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.ดีอีเอส ได้กำชับและให้ความสำคัญกับการเฝ้าระวังดูแลด้านความปลอดภัยของแพลตฟอร์ม “ไทยชนะ” เพื่อให้ประชาชนมั่นใจในเรื่องความปลอดภัยของข้อมูล และการปกป้องคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

ทั้งนี้ การบริหารข้อมูลระบบ “ไทยชนะ” เป็นการพัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อติดตามมาตรการผ่อนปรน เป็นตัวช่วยในการปลดล็อคดาวน์ได้เร็วขึ้น ปัจจุบันหลายประเทศมีการพัฒนาแพลตฟอร์มหรือแอพพลิเคชั่นในรูปแบบนี้เช่นกัน และนำไปใช้ในการควบคุมป้องกันโควิด-19

จากข้อมูลภาพรวมการใช้งานล่าสุดวันที่ 25 พ.ค. 63 รวบรวมเมื่อเวลา 21.00 น. มีร้านค้าลงทะเบียนแล้ว 111,691 ร้านค้า จำนวนผู้ใช้งานทั้งสิ้น 12,845,612 คน โดยมียอดเช็คอินเข้าใช้งาน 31,153,255 ครั้ง เช็คเอาท์ 21,481,593 ครั้ง และมีจำนวนการประเมินร้าน 12,222,685 ครั้ง

ไทยชนะ เป็นแพลตฟอร์มที่จัดทำขึ้นมาเพื่อคนไทย เป้าหมายหลัก คือ

1.ประเมินความหนาแน่นของสถานประกอบการ เพื่อให้ร้านค้าสามารถบริหารจัดการและช่วยผู้ใช้ในการตัดสินใจว่าจะไปใช้บริการหรือไม่
2.เพื่อการสอบสวนโรค ทำให้เจ้าหน้าที่สามารถติดตามผู้สัมผัสใกล้ชิด จากพิกัดสถานที่ที่บุคคลเข้าใช้บริการ

“เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้รับความร่วมมือที่ดีจากประชาชนชาวไทย เพื่อให้สถานการณ์บ้านเมืองเป็นไปด้วยดีและผ่านพ้นวิกฤติโควิดไปด้วยกัน” นพ.พลวรรธน์กล่าว

สำหรับประเด็นข้อกังวลของประชาชนผู้เข้าใช้บริการนั้น ขอให้มั่นใจว่าจะไม่มีการละเมิดสิทธิใด ๆ อย่างแน่นอน ซึ่งการใช้งานระบบนี้ จะช่วยให้ผู้เข้าใช้บริการทราบปริมาณคนที่เข้ามาใช้บริการในจุดนั้น ๆ การติดตามและป้องกันโรคก็จะเป็นความลับเฉพาะตัว เป็นต้น การที่บางคนกังวลและกรอกหมายเลขของคนอื่น หรือหมายเลขปลอม กรณีที่พบการแพร่ระบาดจะไม่สามารถติดตามตัวได้เลย

“การบันทึกข้อมูลการเช็คอิน-เช็คเอาท์ ของผู้เข้าใช้บริการ ไม่ถือเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล เพราะ ข้อมูลที่ถูกเก็บของผู้เข้าใช้บริการจะเป็นข้อมูลแบบมีรหัส ซึ่งต้องเป็นหน่วยงานและผู้ได้รับอนุญาตเท่านั้นถึงจะเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลนั้นได้ อีกทั้งได้กำหนดระยะเวลาในการจัดเก็บข้อมูลไว้เพียง 60 วัน และปัจจุบันแพลตฟอร์มไทยชนะ เป็นเพียงระบบเดียวที่ราชการรับรอง ข้อมูลจะส่งต่อให้กรมควบคุมโรค มีวัตถุประสงค์ เพื่อควบคุมและป้องกันโรคโควิด-19 เท่านั้น” นพ.พลวรรธน์กล่าว

ส่วนกรณีที่ประชาชนสงสัยว่า ข้อมูลเบอร์โทรศัพท์อาจรั่วไหลจากการแสกนเข้าใช้งาน แพลตฟอร์มไทยชนะ เนื่องจากประชาชนได้รับข้อความสแปมโฆษณาบ่อยครั้ง หลังแสกน QR code นั้น มีความเป็นไปได้ว่าจะเกิดขึ้นจากบางกรณีซึ่งผู้ใช้บริการไม่มีสมาร์ทโฟนสำหรับทำการเช็คอิน-เช็คเอาท์ หรือกรณีร้านค้า/กิจการ/สถานประกอบการ ไม่มีระบบที่ใช้ เช็คอิน-เช็คเอาท์ และใช้วิธีการขอจดบันทึกเบอร์โทรศัพท์ที่ติดต่อได้ ของผู้เข้าใช้บริการเพื่อง่ายต่อการติดต่อกลับเมื่อมีปัญหาต่าง ๆ หรือพบความเสี่ยงเกี่ยวกับโควิด-19 ทำให้มีผู้ไม่ประสงค์ดีถ่ายภาพหน้ากระดาษที่มีการบันทึกข้อมูลติดต่อดังกล่าวไว้ และนำไปใช้ในทางที่ไม่ดี ดังนั้นจึงอยากกำชับให้แต่ละร้านค้า ช่วยเพิ่มความเข้มข้นในการดูแลรักษาข้อมูลของผู้ใช้บริการไว้ให้เข้าถึงได้ยาก

นพ.พลวรรธน์ กล่าวเสริมว่า อยากฝากไปถึงร้านค้า/กิจการ/สถานประกอบการ ที่ยังไม่มีระบบที่ใช้เช็คอิน-เช็คเอาท์ ต้องขอความร่วมมือให้สมัคร/ลงทะเบียน โดยเร็ว เพื่อผู้ใช้บริการจะมีความเชื่อมั่นด้านสุขอนามัยของร้านค้าที่มีการลงทะเบียนและปฏิบัติตามมาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุข

พร้อมกันนี้ ได้ชี้แจงเกี่ยวกับตามที่มีข่าวปรากฎในสื่อออนไลน์ต่าง ๆ ในประเด็นเรื่อง ส่ง SMS แจ้งลิงก์ ให้ดาวน์โหลดแอป “ไทยชนะ” โดยทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ตรวจสอบข้อเท็จจริง พบว่าข้อมูลที่ปรากฏดังกล่าว เป็นข้อมูลเท็จ ภาครัฐไม่ได้เป็นผู้ส่ง SMS ดังกล่าว และ “ไทยชนะ” เป็นแพลตฟอร์มไม่ใช่แอปพลิเคชันใด ๆ ดังนั้นประชาชนจึงไม่ต้องดาวน์โหลดแอปตามที่กล่าวอ้าง ซึ่งการกระทำดังกล่าวนั้น ถือเป็นอีกหนึ่งในวิธีการล่อลวงข้อมูลจากประชาชน ทันทีที่กดเข้าเว็บ จะมีการพยายามดาวน์โหลดแอป Thaichana.apk เข้ามาในเครื่อง หากกดติดตั้งอาจถูกขโมยข้อมูลส่วนตัวได้

ที่ผ่านมา ศูนย์ประสานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยระบบคอมพิวเตอร์ประเทศไทย (ไทยเซิร์ต) ก็ได้ประกาศแจ้งเตือนว่า พบการแพร่กระจายมัลแวร์ โจมตีผู้ใช้งาน Android ในประเทศไทย โดยช่องทางการโจมตีผู้ไม่หวังดีจะส่ง SMS ที่แอบอ้างว่าเป็นการดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน ไทยชนะ ใน SMS ดังกล่าวจะมีลิงก์ไปยังเว็บไซต์หลอกลวง ซึ่งหน้าเว็บไซต์ดังกล่าวสร้างเลียนแบบเว็บไซต์จริงของโครงการไทยชนะ โดยจะมีปุ่มที่ให้ดาวน์โหลดไฟล์ .apk มาติดตั้ง ซึ่งไฟล์ดังกล่าวเป็นมัลแวร์ขโมยข้อมูลทางการเงิน จะขอสิทธิ์ในการเข้าถึงข้อมูลการโทร รับส่ง SMS แอบอัดเสียง และเข้าถึงข้อมูลต่าง ๆ ภายในเครื่อง

จากข้อมูลที่ตรวจสอบพบ ชื่อเว็บไซต์ปลอม ได้แก่ thaichana.pro, thai-chana.asia และ thaichana.asia หรือชื่อใกล้เคียง ซึ่ง ศคบ. จะมีการดำเนินการตามกฎหมายอย่างเด็ดขาดกับผู้ที่กระทำการดังกล่าว ขณะที่ ไทยเซิร์ตได้ประสานเพื่อระงับการเข้าถึงเว็บไซต์ดังกล่าวแล้ว และแนะนำให้ผู้ใช้ควรระมัดระวังก่อนคลิกลิงก์ที่ส่งมาใน SMS รวมถึงไม่ควรดาวน์โหลดและติดตั้งซอฟต์แวร์ที่ไม่สามารถยืนยันความน่าเชื่อถือของแหล่งที่มา

ปัจจุบัน ช่องทางการสื่อสารของไทยชนะ ประกอบด้วย เว็บไซต์ www.ไทยชนะ.com และ www.thaichana.com รวมทั้ง ไลน์ทางการ “ไทยชนะ” และโทรสายด่วน 1119 ซึ่งมีไว้สำหรับการติดตามข่าวสารที่ถูกต้อง เที่ยงตรงเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 จากรัฐบาล

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ