TH | EN
TH | EN
หน้าแรกLife"ถนนสู่ดวงดาว" ความเสี่ยงบนโลกออนไลน์ที่พ่อแม่หยิบยื่นให้ลูก

“ถนนสู่ดวงดาว” ความเสี่ยงบนโลกออนไลน์ที่พ่อแม่หยิบยื่นให้ลูก

ขณะที่เด็ก ๆ หลายคนตกเป็นเหยื่อของภัยออนไลน์โดยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ บ่อยครั้งก็พบว่าผู้ใหญ่หรือพ่อแม่ผู้ปกครองนั้นกลับเป็นผู้ที่นำพาเด็กแๆ ให้ตกเป็นเหยื่อคนร้ายด้วยตัวเอง กรณี “ถนนสู่ดวงดาว” คืออีกตัวอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้น

-ดีอีเอส ย้ำดูแลความปลอยภัยแพลตฟอร์ม ไทยชนะ
-ทรู ร่วมกับ แพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล นำ 5G ยกระดับหน่วยรักษาอัมพาตเคลื่อนที่

กรณีนี้มีการล่อลวงบนโลกออนไลน์ ในรูปแบบของการเป็นโมเดลลิ่งออนไลน์ คนร้ายได้สร้างบัญชีโซเซียลมีเดียปลอม อ้างว่าเป็นแมวมองค้นหาดารานักแสดงหน้าใหม่ พูดคุยทักทายผ่านทางออนไลน์พร้อมทั้งนัดหมายให้เด็ก ๆ ที่มีความสนใจอยากจะเป็นดารานักแสดงเดินทางมาพบ โดยอ้างว่าเดินทางมาเพื่อทำการคัดเลือกนักแสดง ซึ่งมีเด็ก ๆ หลงเชื่อจำนวนมาก

ยิ่งไปกว่านั้นยังพบว่ามีพ่อแม่หลายคนเป็นผู้หยิบยื่นความเสี่ยงนี้ ด้วยการไปส่งลูกพบโมเดลลิ่งออนไลน์ผู้ไม่หวังดีนี้ด้วยตัวเอง หรือแม้กระทั่งเป็นผู้ติดต่อพูดคุยกับโมเดลลิ่งออนไลน์เอง เพื่ออยากให้ลูกเป็นดารา โดยในขณะที่เด็กอยู่กับคนร้ายตามลำพัง คนร้ายจะแอบใส่ยานอนหลับให้เด็ก ล่วงละเมิดเด็ก ๆ เหล่านั้นแล้วบันทึกภาพหรือวิดีโอเก็บเอาไว้ เพื่อนำไปเผยแพร่หรือนำไปแชร์ในกลุ่มลับบนโลกออนไลน์ต่อไป หรืออาจจะนำคลิปวิดีโอนั้นมาข่มขู่แบล็กเมล ติดต่อเหยื่อโดยอาศัยข้อมูลจากใบสมัครที่กรอกไว้ ทำให้เหยื่อหวาดกลัวและโอนเงินให้ ซึ่งภายหลังที่เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ทำการจับกุมคนร้าย พบว่ากรณีถนนสู่ดวงดาวนี้ มีเด็กตกเป็นเหยื่อสูงถึง 1,000 คน

นับตั้งแต่การก่อตั้ง คณะทำงานปราบปรามการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางอินเทอร์เน็ต (TICAC) ในปี พ.ศ. 2558 จนกระทั่งถึงปัจจุบัน ได้มีการจับกุมดำเนินคดีการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางอินเทอร์เน็ต จำนวน 212 คดี มีผู้ต้องหาทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ จำนวน 245 คน ซึ่งผู้ต้องหา 1 คน สร้างความเสียหายให้แก่เหยื่อได้ตั้งแต่หลักหน่วยไปจนถึงหลักพันคน และคดีการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางอินเทอร์เน็ตนี้ มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ จากการที่สื่อออนไลน์เข้าถึงได้ง่ายมากขึ้น

ข้อมูลส่วนบุคคลคือข้อมูลที่เกี่ยวกับบุคคลซึ่งสามารถทำให้ระบุตัวตนได้ ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม เช่น ชื่อ นามสกุล ที่อยู่ ภาพถ่าย ประวัติการศึกษา ประวัติการรักษาพยาบาล หรือแม้กระทั่ง cookie ซึ่งเป็นไฟล์ข้อมูลขนาดเล็กที่ทำหน้าที่จดจำข้อมูลต่าง ๆ ที่ทำให้เกิดความรวดเร็วและความสะดวกแก่ผู้ใช้งาน

แต่หากเจ้าของนำข้อมูลไปกรอกลงในแบบฟอร์มต่าง ๆ หรือเผยแพร่ลงในโซเชียลมีเดียอย่างไม่ระมัดระวัง ก็อาจมีผู้ไม่หวังดีแอบคัดลอกข้อมูลนำไปใช้ในทางที่ผิดกฎหมายหรือไม่เหมาะสมได้ ปัจจุบันจึงมีการพัฒนาระบบรักษาความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูล ตัวอย่างเช่น การใช้ OTP หรือ One Time Password ในการตรวจสอบและยืนยันตัวตน เพื่อเพิ่มการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคลนั่นเอง

พ.ต.อ มรกต แสงสระคู ผู้เชี่ยวชาญงานช่วยเหลือเด็กและเยาวชน จากคณะทำงานปราบปรามการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางอินเทอร์เน็ต และวิทยากรในห้องเรียนออนไลน์วิชา Online Privacy & Sexual Abuse ของ dtac Young Safe Internet Cyber Camp กล่าวว่า “หลายครั้งในขณะที่เราอยู่บ้าน ก็มีสายโทรศัพท์โทรมาหาเรา มาแนะนำสินค้าให้ทั้ง ๆ ที่เราไม่รู้จักเขาเลย อันนี้ถือว่าเราก็เสียความเป็นส่วนตัวแล้ว

หรือบางครั้งเราเข้าเว็บไซต์ เราโพสต์ภาพบนโซเซียลมีเดีย และต่อมาเราก็พบว่ามีโฆษณาหรือข้อความในเรื่องเดียวกันกับที่เราโพสต์อยู่เต็มไปหมด นี่ก็เป็นเรื่องความเป็นส่วนตัว ที่เราถูกนำเอาข้อมูลส่วนบุคคลไปใช้ เพราะฉะนั้น สำหรับเรื่องความเป็นส่วนตัว (Privacy) และข้อมูลส่วนบุคคล (Personal Data) จึงมักมาคู่กันอยู่เสมอ”

พ.ต.อ. มรกต แสงสระคู และ ดร.ศรีดา ตันทะอธิพาณิช ผู้จัดการมูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย ผู้ทำงานส่งเสริมการใช้อินเทอร์เน็ตอย่างปลอดภัยและสร้างสรรค์ มามากกว่า 16 ปี ได้ให้คำแนะนำแก่เด็กและเยาวชน รวมทั้งพ่อแม่ผู้ปกครองเพื่อรอบคอบระมัดระวัง และตั้งข้อสังเกตก่อนตัดสินใจให้ข้อมูลส่วนตัวบนโลกออนไลน์ ดังนี้

1.ท่องให้ขึ้นใจว่า ยิ่งโพสต์และให้ข้อมูลส่วนตัวบนออนไลน์มากเท่าไหร่ ยิ่งเสี่ยงมากเท่านั้น!

สำหรับพฤติกรรมการเล่นโซเซียลมีเดียของเด็กและเยาวชนไทย มักพบการโพสต์ภาพตัวเอง โพสต์ภาพการทำกิจกรรมต่าง ๆ เพื่ออวดเพื่อน ๆ หรือบอกให้คนในโซเซียลรับรู้ เช่น ภาพบัตรประชาชนใบใหม่ หนังสือเดินทางไปต่างประเทศ หรือภาพถ่ายตนเองในช่วงเวลาต่าง ๆ ภาพเหล่านี้เพิ่มความเสี่ยงเนื่องจากมักมีการบอกโลเคชั่นหรือสถานที่ร่วมด้วย ทำให้รู้ว่าขณะนี้อยู่ที่ไหน หรือบ่งบอกพฤติกรรมของเรา เช่น ช่วงเวลาไหนอยู่บ้านหรือไม่อยู่บ้าน ซึ่งอาจจะทำให้ตกเป็นเหยื่อของผู้ไม่หวังดีได้

2.มีสติอยู่เสมอไม่ว่าจะเสพหรือส่ง และหากข้อมูลส่วนบุคคลหลุดไปต้องรู้วิธีจัดการ

ในทุกวันนี้ เราจะต้องมีความระมัดระวังในการให้ข้อมูลต่างๆ มากขึ้น บางครั้งอาจจะเป็นตัวเราเองที่ตั้งใจเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลนั้นออกไป หรือบางครั้ง เราก็อาจถูกล่อลวง โดยที่ไม่รู้ตัวว่ามีข้อมูลหลุดออกไป ซึ่งหากข้อมูลส่วนตัวของเราถูกนำไปใช้โดยไม่เหมาะสมและไม่ได้รับความยินยอม

สิ่งที่ควรทำเบื้องต้นคือการเก็บรวบรวมข้อมูลหลักฐานของการถูกนำข้อมูลไปใช้ให้มากที่สุด และแจ้งตำรวจเพื่อดำเนินคดีต่อไป พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ปี 2562 คุ้มครองผู้ให้ข้อมูล ตามหลักความยินยอม ซึ่งมีสาระสำคัญ คือ ต้องชี้แจงข้อมูลที่จะเก็บรวมรวบ ต้องขออนุญาตเจ้าของเพื่อเข้าถึงข้อมูล ต้องรักษาความปลอดภัยของข้อมูล ต้องเก็บเป็นความลับ และเจ้าของสามารถขอลบ/ยกเลิกเมื่อไหร่ก็ได้

3.ร้องขอความช่วยเหลือ หากถูกคุกคามจากมิจฉาชีพที่นำข้อมูลส่วนตัวของเราไปใช้ในทางมิชอบ

เด็กและเยาวชนเกือบ 90% เลือกที่จะปรึกษาเพื่อนในวัยเดียวกัน เมื่อรู้สึกกังวล ไม่สบายใจ หรือเมื่อถูกคุกคามจากการถูกนำข้อมูลส่วนตัวไปใช้ในทางมิชอบ เพื่อนที่ให้คำปรึกษาควรปฎิบัติตนให้เป็นปกติเช่นเดิมกับเพื่อน พยายามหลีกเลี่ยงการพูดถึงเหตุการณ์ในอดีตที่เกิดขึ้น และช่วยเสริมสร้างกำลังใจให้เพื่อน

นอกจากนี้ ควรแนะนำให้เพื่อนที่ได้รับความเดือดร้อนได้เข้าถึงความช่วยเหลือเบื้องต้น เช่น การพูดคุยรับฟังอย่างเข้าใจและพร้อมให้ความช่วยเหลือจากพี่ ๆ มูลนิธิสายเด็ก หมายเลข 1387 ตลอด 24 ชั่วโมง หากต้องการคำแนะนำเพื่อดูแลปรับสภาพจิตใจและความสัมพันธ์ โทรหาสายด่วนสุขภาพจิต หมายเลข 1323

และหากต้องการลบภาพการละเมิดทางเพศเด็กออกจากอินเทอร์เน็ต ให้ติดต่อไทยฮอตไลน์ที่เฟซบุ๊กหรือเว็บไซต์ www.thaihotline.org ในกรณีที่เพื่อนต้องการแจ้งข้อมูล/เบาะแสเพื่อดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด ให้แจ้งที่เฟซบุ๊กเพจของคณะทำงานปราบปรามการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางอินเทอร์เน็ต (TICAC) ในแต่ละจังหวัดยังมี บ้านพักเด็กและครอบครัว ภายใต้ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ที่มีนักสังคมสงเคราะห์ นักจิตวิทยา ที่พร้อมช่วยเหลือเด็ก ๆ ที่ประสบปัญหาความรุนแรงและถูกละเมิดทุกรูปแบบ

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ