TH | EN
TH | EN
หน้าแรกBusiness"ฟู้ดเดลิเวอรี่" ของมันต้องมี สำหรับธุรกิจร้านอาหาร เปิดทางสร้างโอกาสรอดในยุค New Normal

“ฟู้ดเดลิเวอรี่” ของมันต้องมี สำหรับธุรกิจร้านอาหาร เปิดทางสร้างโอกาสรอดในยุค New Normal

ช่วงเวลากว่า 2 ปีที่ผ่านมา นอกเหนือจากการท่องเที่ยวแล้ว บรรดาผู้ประกอบการร้านอาหารส่วนใหญ่ต่างก็เจ็บหนักไปไม่แพ้กัน โดยเฉพาะในช่วงปีแรกของการระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่พ่วงด้วยมาตรการล็อกดาวน์อย่างเข้มงวด ร้านอาหารทั้งหมดต้องปิดให้บริการที่ร้านเป็นการชั่วคราว สร้างความเสียหายที่ทำให้บางร้านจำเป็นต้องถอดใจเลิกกิจการไปเลยก็มี

นัทธมน พิศาลกิจวนิช เจ้าของร้านสุกี้ตี๋น้อย ร้านสุกี้ในรูปแบบบุฟเฟต์ที่กำลังได้รับความนิยมอยู่ในเวลานั้น ยอมรับว่า ช่วง 3 เดือนแรกที่ต้องปิดร้านก็ไม่รู้ว่าจะต้องทำอย่างไรเหมือนเจ้าของร้านอาหารคนอื่น ๆ แต่ก็ตระหนักดีว่า ไม่สามารถอยู่เฉย ๆ ได้ เช่นกัน 

“โควิด-19 และล็อกดาวน์ทำให้เราต้องปรับตัว แม้จะไม่รู้ว่าจะต้องจัดการอย่างไร ตั้งราคาแบบไหน แต่การลองผิดลองถูกในช่วงหลายเดือนแรกที่ล็อกดาวน์ก็แสดงให้เห็นว่าร้านสุกี้แบบบุฟเฟต์ที่คนต้องมานั่งกินที่ร้านเท่านั้น ก็สามารถทำเดลิเวอรี่ให้ประสบความสำเร็จได้”

โดยนัทธมนกล่าวว่า ในช่วงที่ยังไม่คลายล็อกดาวน์ ฟู้ดเดลิเวอรี่กลายเป็นช่องทางรายได้ที่มีมูลค่ามากเกินความคาดหวังไว้ โดยในช่วงที่ล็อกดาวน์เข้ม และผู้บริโภคไม่สะดวกมาทานที่ร้าน มีพฤติกรรมทำอาหารทานเองที่บ้านและต้องเว้นระยะห่างทางสังคม สุกี้ตี๋น้อยสามารถทำรายได้จากฟู้ดเดลิเวอรี่ได้ประมาณ 300 ล้านบาทต่อเดือน 

“ยอมรับว่าการได้ลองขายในแพลตฟอร์มทำยอดขายได้สูงกว่าที่คิดไว้เยอะ แต่การหันมาทำฟู้ดเดลิเวอรี่ก็เป็นเรื่องที่ท้าทายมากเช่นกัน”

สำหรับความท้าทายของร้านสุกี้ตี๋น้อยก็คือเรื่องของต้นทุน จากร้านบุฟเฟต์ที่สามารถคำนวณต้นทุนต่อหัวด้วยจำนวนลูกค้า ก็ต้องมาคิดคำนวณต้นทุนในแบบอาหารตามสั่ง ว่าจะต้องขายอย่างไร เท่าไร ใช้บรรจุภัณฑ์อะไร จัดส่งอย่างไร 

“เมื่อก่อนเราไม่เคยต้องคิดเรื่องภาชนะ แล้วเราก็ทำผิดพลาดไปในช่วงแรกก็คือตั้งใจจะใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จนลืมคิดถึงเรื่องความเป็นมิตรต่อการใช้งาน ผลก็คือเราเลือกใช้กล่องกระดาษ ซึ่งปรากฎว่าพอไปถึงมือลูกค้า ก็เปื่อยยุ่ยไม่น่าดู จนลูกค้าร้องเรียนกลับมา เราก็ต้องปรับเปลี่ยนใหม่ เดือนแรกที่ทำเดลิเวอรี่ คือยากมาก เหนื่อยมาก และต้องเรียนรู้อย่างมาก เพื่อปรับตัวให้เร็วให้ทันกับการขายเดลิเวอรี่” 

แม้ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ไม่ใช่เรื่องยากเกินไปเช่นกัน โดยนัทธมนกล่าวว่า สิ่งที่ผู้ประกอบการร้านอาหารต้องเข้าใจก็คือความพร้อมที่จะเรียนรู้ และพัฒนาไปเรื่อย ๆ ลงมือทำ ลองผิดลองถูก ผิดก็เลิกแล้วทำใหม่ ถ้าดีอยู่แล้วก็ทำให้ดียิ่งขึ้นต่อไป รวมถึงรับฟังเสียงของลูกค้าให้มาก 

ขณะเดียวกัน นัทธมนระบุว่า กุญแจสำคัญของการทำฟู้ดเดลิเวอรี่ คือการที่บรรดาผู้ประกอบการหรือเจ้าของธุรกิจร้านอาหารพร้อมที่จะปรับตัวให้ทันกับปัจจุบันและสอดรับกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา โดยนอกจากการบริหารจัดการหน้าร้านให้มีประสิทธิภาพและต้องสามารถทำกำไรได้แล้ว การปรับรูปแบบธุรกิจโดยใช้ประโยชน์จากแพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรี่ถือเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์สำคัญที่ขาดไม่ได้ เปรียบได้กับการขยายสาขาบนโลกออนไลน์ ที่ไม่เพียงจะช่วยเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงลูกค้ากลุ่มใหม่ ๆ แต่ยังทำให้ร้านของเราเป็นที่รู้จักในวงกว้าง ซึ่งจะช่วยเพิ่มยอดขายและต่อยอดความสำเร็จให้กับธุรกิจได้อย่างมหาศาล

ทั้งนี้ การที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในธุรกิจเดลิเวอรี่ ผู้ประกอบการจำเป็นต้องทำความเข้าใจ 5 หัวใจสำคัญของการทำเดลิเวอรี่ นั่นคือ

  1. การวางแผนเรื่องคนหรือทีมงาน 
  2. การวางแผนเรื่องวัตถุดิบ
  3. การเลือกใช้บรรจุภัณฑ์ให้เหมาะสมกับการจัดส่งแบบเดลิเวอรี 
  4. การวางแผนการใช้งานแอปพลิเคชันให้มีประสิทธิภาพ 
  5. การบริหารต้นทุนและการทำโปรโมชัน 

โดยเนื้อหาทั้งหมดนี้เป็นส่วนหนึ่งที่นัทธมนตั้งใจนำมาแบ่งปันให้กับร้านอาหารบนแพลตฟออร็มแกร็บในโครงการ แกร็บ ให้ความรู้ ในรูปแบบคลิปวิดีโอที่สั้น กระชับ และเข้าใจได้ง่าย 

จันต์สุดา ธนานิตยะอุดม ผู้อํานวยการฝ่ายการตลาดและพันธมิตรธุรกิจ แกร็บประเทศไทย กล่าวว่า ในฐานะผู้นำตลาดฟู้ดเดลิเวอรี่ ประเทศไทย แกร็บมีโครงการที่เรียกว่า Grab for Good ซึ่งในช่วงโควิดที่ผ่านมา นอกจากการใช้ความช่วยเหลือในเรื่องของการลดค่าธรรมเนียม การให้เงินชดเชยค่าน้ำมันสำหรับแกร็บ ไรเดอร์ และการช่วยเรื่องสภาพคล่องด้วยการจัดสรรสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้กับผู้ประกอบขนาดเล็กแล้ว Grab for Good ได้ริเริ่มโครงการ GrabAcademy หรือ Grab ให้ความรู้ ซึ่งปีนี้ดำเนินการเข้าสู่ปีที่ 3 แล้ว และมีการปรับปรุงมาอย่างต่อเนื่อง ตามคำแนะนำของผู้เข้าร่วมการอบรมก่อนหน้า ทั้งในเรื่องของเวลาที่ใช้อบรมให้ความรู้และเนื้อหาในการฝึกอบรม 

“ปีแรกเป็นการร่วมมือกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลหรือดีป้า โดยมีเป้าหมายสนับสนุนการนำเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดประโยชน์เพื่อมุ่งส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพให้กับพาร์ตเนอร์คนขับและร้านอาหารที่อยู่บนแพลตฟอร์มของเรา แต่หลังจากสำรวจความเห็นของผู้เข้าอบรมอย่างต่อเนื่อง ทำให้การพัฒนาปรับปรุงคอร์สต่าง ๆ ให้มีความทันสมัยและตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายให้มากที่สุด จนกลายเป็นรูปแบบคลิปวิดีโอสั้นที่ช่วยให้ร้านเล็ก ๆ เก่งได้ภายใน  5 นาที ครอบคลุม 3 ประเด็นหลัก นั่นคือ การบริหารจัดการร้านอาหารและธุรกิจเดลิเวอรี การทำการตลาดและโปรโมชัน และการบริหารจัดการด้านการเงินในปีนี้”

จันต์สุดา กล่าวเพิ่มเติมว่า ปีนี้ถือเป็นปีแรกที่แกร็บได้ร่วมมือกับ 6 กูรูผู้เชี่ยวชาญและผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จในธุรกิจฟู้ดเดลิเวอรี่มาร่วมแชร์ความรู้และ เคล็ดลับจากประสบการณ์จริง ซึ่งนอกจากเจ้าของร้านสุกี้ตี๋น้อยแล้ว ยังมี  บุณย์ญานุช บุญบำรุงทรัพย์ กูรูด้านการตลาดชื่อดัง, จักรพงษ์ เมษพันธุ์ จากเพจ Money Coach, สกลณัฏฐ์ ชัยกีรติจินดา และรมย์ลักษณ์เนียมเครือ จากร้านโคตรยำ และบังฮาซัน อินฟลูเอนเซอร์ และเจ้าของธุรกิจอาหารทะเลตากแห้งชื่อดัง ที่มาร่วมถ่ายทอดประสบการณ์และความรู้           

เนื้อหาทั้งหมดประกอบด้วย 11 คอร์ส เช่น หัวใจสําคัญของการจัดการเดลิเวอรี่ เทคนิคบริหารจัดการเงินสำหรับคนทำธุรกิจ การสร้างจุดขายให้ต่างจากคู่แข่ง เทคนิคการโปรโมทสินค้าให้เป็นที่จดจำ เป็นต้น ซึ่งแกร็บเชื่อว่า องค์ความรู้เหล่านี้เปรียบเสมือนจิ๊กซอว์แห่งความสำเร็จที่เข้ามาช่วยเสริมแกร่งธุรกิจให้พาร์ตเนอร์ของแกร็บสามารถรับมือกับความท้าทายในยุคที่ธุรกิจร้านอาหารต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

ขณะเดียวกัน แกร็บยังได้ส่งต่อความรู้ดี ๆ เหล่านี้ไปยังบุคคลทั่วไปที่มีความสนใจในการทำธุรกิจร้านอาหารแบบเดลิเวอรี่ผ่านช่องทางออนไลน์อย่าง YouTube และ TikTok ได้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใด ๆ 

จันต์สุดา กล่าวว่า ธุรกิจฟู้ดเดลิเวอรี่ยังสามารถเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า มูลค่าตลาดการสั่งอาหารมายังที่พักในปี 2565จะมีมูลค่าประมาณ 7.9 หมื่นล้านบาท หรือขยายตัว 4.5% เทียบกับมูลค่าตลาดอาหารที่ 4 แสนล้าน ดังนั้น แกร็บจึงเห็นว่ามีโอกาสยังมีอยู่อีกมาก

นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเกื้อหนุนตลาดอยู่ 2-3 ประการ ประการแรกก็คือพฤติกรรมของผู้บริโภคที่รักความสะดวกสบาย เริ่มคุ้นเคยเคยชินกับการเปิดแอป เลือกและสั่งอาหารที่ต้องการ ซึ่งจันต์สุดามองว่า พฤติกรรมดังกล่าวเป็นพฤติกรรมที่เสพติด

ประการที่สองก็คือการเริ่มขยายพื้นที่ให้บริการไปยังเมืองรอง หรืออำเภอต่าง ๆ  นอกเหนือจากเมืองใหญ่และเมืองหลัก ๆ ในแต่ละภูมิภาคทั่วประเทศไทย 

และประการที่สาม ซึ่งเป็นส่วนที่สำคัญที่สุดก็คือตัวร้านอาหารเองที่ขยายจากร้านอาหารขึ้นห้าง ร้านเบอเกอร์ ร้านไก่ทอด ร้านพิซซ่า หรือมิชลิน สตาร์มาเป็นร้านอาหารเล็ก ๆ ร้านอาหารตามสั่ง และร้านก๋วยเตี๋ยวของผู้ประกอบการขนาดเล็กอย่างแท้จริง เริ่มเข้ามาร่วมกับแพลตฟอร์มมากขั้น ผลักดันให้แพลตฟอร์มของแกร็บมีการเติบโตขึ้นอย่างมาก 

การเรียนรู้จากแกร็บบวกกับการใช้เครื่องมือบนแพลตฟอร์มแกร็บจะช่วยให้ธุรกิจร้านอาหารมีทางเลือกให้ธุรกิจก้าวต่อไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคงยั่งยืนมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น เครื่องมือการตลาดสำหรับพาร์ตเนอร์ร้านอาหารแกร็บอย่าง Self-serve ซึ่งช่วยให้ร้านค้าสามารถทำโปรโมชัน ซื้อ search terms ได้ด้วยตนเอง โดยปัจจุบันมีร้านอาหารใช้เครื่องมือนี้แล้วกว่า 10,000 ร้าน ซึ่งโดยเฉลี่ยของร้านที่ใช้สามารถสร้างยอดขายเพิ่มขึ้น 50% และบางร้านสามารถเพิ่มยอดขายได้สูงสุดถึง 3 เท่า

ในส่วนของความสำเร็จของโครงการ GrabAcademy 2 ปีที่ผ่านมา มียอดการเรียนคอร์สออนไลน์รวมทั้งสิ้นประมาณ 300,000 ครั้ง โดยสำหรับปีนี้ จันต์สุดาหวังว่าจะสามารถเติบโตได้มากขึ้นเพราะเปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้ารับชมรับฟังได้ด้วย 

อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากบริหารจัดการร้านอาหารแล้ว สิ่งที่สำคัญเพื่อให้ร้านอาหารอยู่รอดและมั่นคง ก็คือความรู้ในเรื่องของการตลาดและ การวางแผนทางการเงิน โดย บุณย์ญานุช บุญบำรุงทรัพย์ หรือครูบุ๋ม กูรูด้านการตลาดชื่อดัง กล่าวว่า หัวใจสำคัญของการตลาดในยุคดิจิทัล ก็คือการหาเอกลักษณ์ สร้างภาพจำ เพื่อชูจุดขายที่แตกต่างให้กับแบรนด์ โดยผู้ประกอบการร้านอาหารต้องหมั่นทำการตลาดให้สดใหม่เพื่อให้สามารถครองใจลูกค้าที่สามารถเข้าถึงทางเลือกที่ไม่จำกัดได้ตลอดเวลา 

สำหรับการสร้างจุดขายให้ต่างจากคู่แข่งมี 4 เทคนิคสำคัญ คือ 

  1. การทำสินค้าให้แตกต่าง โดยถ่ายทอดผ่านรูปถ่ายที่โดดเด่นหรือบรรจุภัณฑ์ที่สร้างความประทับใจ
  2. การให้บริการที่แตกต่าง เพื่อสร้างความประทับใจให้กับลูกค้าแม้จะเป็นการขายผ่านช่องทางออนไลน์ เช่น การใส่โน้ตเล็กๆ เพื่อขอบคุณ
  3. การเล่าเรื่องให้แตกต่าง ด้วยการใส่เรื่องราวเข้าไปในการแนะนำอาหาร และ 
  4. การขยายช่องทางการสื่อสารให้กว้างขึ้นและสร้างความแตกต่าง

“สไตล์การสอนของเราจะเป็นแบบเข้าใจได้ง่าย เห็นภาพชัด และทำได้จริง แสดงตัวอย่างให้เห็นและมีแบบฝึกหัดให้ได้ลองสนามลงมือทำ ซึ่งกลเม็ดเคล็ดลับเหล่านี้ที่จะช่วยให้ร้านอาหารไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่สามารถนำไปปรับใช้เพื่อพิชิตใจลูกค้าได้อย่างแน่นอน คำแนะนำหลัก ๆ ก็คือต้องลงมือทำ และต้องพร้อมยอมรับความล้มเหลว โดยขอให้จำไว้เสมอว่า ไม่มีใครสามารถประสบความสำเร็จในครั้งแรกที่ลงมือทำ”

ด้านจักรพงษ์ เมษพันธุ์ ที่ปรึกษา ผู้เชี่ยวชาญด้านการวางแผนบริหารจัดการเงิน เจ้าของเพจ Money Coach หรือโค้ชหนุ่มกล่าวว่า เรื่องการวางแผนทางการเงินเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้ประกอบการต้องเรียนรู้และเข้าใจ เพราะเป็นกลเม็ดพื้นฐานที่ทำให้สามารถทำธุรกิจได้โดยไม่เจ๊ง โดยหัวใจสำคัญที่ต้องรู้ก็คือ กระเป๋าเงินของร้านค้า กับกระเป๋าเงินส่วนตัว ต้องแยกออกจากกันให้ชัดเจน อย่าปนกัน

ขณะที่ในส่วนของเนื้อหาในหลักสูตร โค้ชหนุ่มระบุว่า รับผิดชอบดูแลสองเรื่องหลัก ๆ ก็คือการบริหารการเงินสำหรับการทำธุรกิจ และการบริหารจัดการหนี้สิน

“การบริหารจัดการเงินเพื่อธุรกิจก็คือการทำให้คนคนเข้าใจว่า การทำธุรกิจ ยอดขายไม่ใช่กำไร และกำไรไม่ใช่ความร่ำรวย ถ้าบริหารการเงินไม่เป็น ส่วนเรื่องการจัดการหนี้สิน ก็จะแนะนำในเรื่องของการบริหารจัดการหนี้ให้ถูกวิธี” โค้ชหนุ่มกล่าว

ข่าวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

myAIS ร่วมกับ KAMU KAMU เปิดตัวเกม “Boba Crush” สลับเพชร ลุ้นรับเครื่องดื่มฟรี

RISE เปิดตัว Athena Mentor แพลตฟอร์ม Mentor to Earn ครั้งแรกกับการเปลี่ยนความรู้เป็นคริปโทฯ

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ