TH | EN
TH | EN
หน้าแรกSustainabilityความท้าทายของไทย ในยุค Green Gold สร้างกลไกคาร์บอนเครดิตรับศึกมาตรการทางการค้า

ความท้าทายของไทย ในยุค Green Gold สร้างกลไกคาร์บอนเครดิตรับศึกมาตรการทางการค้า

สภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) เผยแพร่ รายงานความเสี่ยงโลกประจำปี 2566 (Global Risks Report 2023) นำเสนอผลจากการเก็บข้อมูลผ่านการสำรวจความเห็นผู้เชี่ยวชาญจากภาคเอกชนที่มีต่อความเสี่ยงโลกที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในระยะสั้น 2 ปี และความเสี่ยงที่มีแนวโน้มจะรุนแรงขึ้นในระยะยาว 10 ปี โดยวิเคราะห์แนวโน้มความเสี่ยงผ่าน 5 มิติ ประกอบด้วย เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม  ภูมิรัฐศาสตร์  และเทคโนโลยี  

ความเสี่ยงมิติสิ่งแวดล้อม ติดอันดับความเสี่ยงที่มีแนวโน้มจะรุนแรงในระยะยาว 10 ปี ถึง 6 อันดับ จาก 10 อันดับ ได้แก่ อันดับ 1 ความล้มเหลวในการบรรเทาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อันดับ 2 ความล้มเหลวในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อันดับ 3 ภัยพิบัติทางธรรมชาติ เหตุสภาพภูมิอากาศสุดขั้ว อันดับ 4 การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพและการล่มสลายของระบบนิเวศ อันดับ 6 วิกฤตด้านทรัพยากรธรรมชาติ และ อันดับ 10 เหตุความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมขนาดใหญ่ 

The Blue Planet Needs Us Now เสียงเพรียกจากดาวสีฟ้า

วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดข้อมูลรายงานความเสี่ยงโลกข้างต้น ในปาฐกถา “The Blue Planet Needs Us Now” ณ งานสัมมนาธุรกิจ EARTH JUMP 2023 : New Frontier of Growth จัดโดย Kbank เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2566 ที่ผ่านมา ชวนคนไทยฟังเสียงเพรียกของโลก ที่กำลังต้องการความร่วมมือจากมนุษย์อย่างเร่งด่วน เพราะในวันนี้ ภัยพิบัติต่างๆ ที่เกิดขึ้นคือผลกระทบเชิงประจักษ์ อากาศเย็นสุดขั้วในเอเชียตะวันออก ไฟไหม้ป่าที่รุนแรงที่ชิลี คลื่นความร้อนถล่มยุโรป หรือนิวซีแลนด์ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินจากอุทกภัย

สามปีที่ผ่านมากับปรากฏการณ์ลานีญา ประเทศไทยต้องเผชิญสถานการณ์น้ำท่วมหนัก และในปี 2566 สถานการณ์ภัยแล้ง จากปรากฏการณ์เอลนีโญ่เริ่มมาเยือน รัฐบาลในอนาคตจะต้องแก้ปัญหาน้ำท่วมสลับภัยแล้งที่จะเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าเช่นนี้  รวมไปถึงปัญหาฝุ่น PM 2.5 หมอกควัน ไฟไหม้ป่า ที่ไม่ว่าจะเกิดจากฝีมือธรรมชาติหรือมนุษย์ ล้วนก่อให้เกิดผลกระทบต่อธรรมชาติและมนุษย์เองมากมาย 

“ประเทศไทยมีความเสี่ยงเป็นอันดับที่ 9 ของโลกในการประสบภัยพิบัติ แต่ในทางกลับกัน อัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทยอยู่ที่ 0.8% อันดับที่ 19 ของโลก อันดับหนึ่งได้แก่ จีน สอง อเมริกา สาม สหภาพยุโรป มันไม่ยุติธรรมเลย เราปล่อยก๊าซอันดับที่ 19 แต่โดนผลกระทบเป็น 10 ประเทศแรกในโลกใบนี้ ก่อความเสียหายทางเศรษฐกิจ สังคม กลุ่มเปราะบาง กลุ่มเกษตรกร โดนผลกระทบถ้วนหน้า” วราวุธกล่าว

ประเทศไทยได้ประกาศจะเข้าสู่สถานะ Carbon Neutrality ในปี 2050 และ Net Zero ภายในปี 2065 โดยกำหนดให้เป็นแผนระยะยาว LTLGS – Long Term Low Greenhouse Gas Reduction Strategy จากปี 2023 – 2065 ซึ่งมีการคำนวณออกมาแล้วว่าประเทศไทยจะปล่อยก๊าซสูงสุดในปี 2025 เป็นปริมาณ 388 ล้านตัน จากนั้นจะต้องค่อยๆ ลดให้เหลือ 120 ล้านตันในปี 2065 เท่ากับ ปริมาณคาร์บอนที่พื้นที่สีเขียวในประเทศไทยสามารถดูดซับได้  

และยังมีแผนระยะสั้น มีเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จาก 20-25% ในปัจจุบัน ให้ลดลง 30-40%  ภายในปี 2030 โดยตั้งเป้ากับ 4 ภาคส่วนสำคัญ ได้แก่ ภาคพลังงานและขนส่ง ภาคอุตสาหกรรม ภาคการกำจัดของเสีย และภาคเกษตรกรรม 

ภาคพลังงานและขนส่ง ตั้งเป้าลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ถึง 216 ล้านตัน  โดยการเพิ่มการใช้พลังงานทดแทน การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและการใช้พลังงาน รวมไปถึงการปรับเปลี่ยนไปใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV)

ภาคอุตสาหกรรม ต้องลดให้ได้ 2.4 ล้านตัน โดยส่งเสริมการใช้ปูนซีเมนต์ไฮดรอกลิก การปรับเปลี่ยนสารทำความเย็น และการส่งเสริม การใช้เทคโนโลยี Carbon capture utilization and storage (CCUS) คาดว่าจะนำมาใช้ในเชิงพาณิชย์ให้ได้ภายในปี 2040

ภาคของเสีย ตั้งเป้าลดให้ได้ 1.6 ล้านตัน โดยส่งเสริมการจัดการขยะและของเสียในชุมชน และการเปลี่ยนของเสียไปเป็นพลังงาน (Waste to Energy)

ภาคการเกษตร ต้องลดให้ได้ 2.6 ล้านตัน โดยการปรับปรุงการทำนาข้าวเพื่อลดการปล่อยก๊าซมีเทน การผลิตก๊าซชีวภาพจากมูลสัตว์ การใส่ปุ๋ยตามค่่าการวิเคราะห์ดิน

วราวุธ ชี้ให้เห็นว่า ภาคพลังงานและขนส่ง ต้องลดการปลดปล่อยคาร์บอนมากที่สุด แต่มีผู้เล่นอยู่ไม่กี่เจ้า ต่างกับ ภาคการเกษตรมีพี่น้องเกษตรอยู่กว่า 13-15 ล้านคนในประเทศไทย ที่ต้องลดการปล่อยก๊าซให้ได้ เพื่อการอยู่รอดของภาคการเกษตรในประเทศไทย 

“การทำนาเกี่ยวข้องกับ Climate Change อย่างไร การทำนาก่อให้เกิดก๊าซมีเทนจากช่วงสี่เดือนที่ต้องคงน้ำไว้ในนา แต่วันนี้เราจะเริ่มเห็นวิธีการทำนาแบบเปียกสลับแห้ง ซึ่งปล่อยน้ำออกจากนาในช่วงข้าวตั้งท้อง นอกจากข้าวจะไม่ตายแล้ว ผลผลิตต่อไร่เพิ่มจาก 700 กก. เป็น 900 กก. ใช้น้ำน้อยลงครึ่งหนึ่ง ซึ่งจะมีผลอย่างมากต่อจากนี้ไปอีก 2-3 ปีที่กำลังจะเข้าสู่ เอลนีโญ่ พลังงานที่ใช้สูบน้ำเข้านาก็หายไปครึ่งนึง ปริมาณก๊าซมีเทนหายไป 70% และก่อให้เกิดคาร์บอนเครดิตที่พี่น้องเกษตรกรจะขายได้จริงๆ แล้ว” วราวุธอธิบาย

ปัจจุบัน ในพื้นที่ 6 จังหวัดภาคกลาง ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี และสุพรรณบุรี มีความก้าวหน้าในการส่งเสริมและพัฒนาการผลิตข้าวด้วยเทคโนโลยีลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก กับโครงการ Thai Rice NAMA ก่อให้เกิดคาร์บอนเครดิตที่เกษตรกรขายได้ไร่ละ 500-600 บาทต่อปี และได้มีการพัฒนาโครงการ Thai Rice GCF เสนอต่อ Green Climate Fund เพื่อขยายผลเพิ่มอีก 15 จังหวัด รวมเป็น 21 จังหวัด

กลไกตลาดคาร์บอนเครดิต โอกาสที่ต้องคว้าและท้าทาย 

ปัจจุบัน ในประเทศไทยเกิดกลไกบริหารจัดการคาร์บอนเครดิต ผ่านการพิจารณาจากสำนักนายกรัฐมนตรี มีระเบียบการซื้อ-ขาย-ถ่ายโอน และมีตลาดคาร์บอนเครดิต ที่มีปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ได้รับการรับรองว่าเกิดขึ้นจริงแล้ว 14 ล้านตัน ผ่านโครงการภาคสมัครใจที่เรียกว่า T-VER (Thailand Voluntary Emission Reduction) เป็นกลไกในการประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 

มีโครงการที่ผ่านการประเมินแล้ว 144 โครงการ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ไม่ว่าจะเป็นโครงพัฒนาพลังงานทางเลือก การกำจัดของเสีย การเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ พลังงานจากของเสีย และมาจนถึงวันนี้ มีการซื้อขายคาร์บอนเครดิตไปประมาณ 2 ล้านตัน คิดเป็นเงิน 154 ล้านบาท จากราคาตันละ 74-75 บาท ในขณะที่ทางฝั่งสหภาพยุโรปมีราคาตันละ 80 ยูโร 

“ในวันนี้ ไม่เพียงแต่บริษัทใหญ่ๆ แต่พ่อใหญ่ แม่ใหญ่ ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน เริ่มพูดกันถึงคาร์บอนเครดิตแล้ว หลายชุมชนมีพื้นที่กักเก็บและดูดซับก๊าซเรือนกระจก และได้รับการรับรองคาร์บอนเครดิต เช่น ป่าชุมชน “คาร์บอนเครดิต” วัดหนองจรเข้ อ.แกลง จ.ระยอง พื้นที่ 151 ไร่ หรือ ป่าชุมชนโค้งตาบาง อ.เมือง จ.เพชรบุรี ป่าชุมชนแห่งแรกที่มีการขึ้นทะเบียนโครงการ T-VER ที่พี่น้องประชาชนเป็นเจ้าของ และขอให้ อบก.ไปประเมินว่า ป่าชุมชนที่ชุมชนดูแลอยู่หลายพันไร่มีคาร์บอนเครดิตอยู่เท่าไหร่ และสามารถขายคาร์บอนเครดิตได้แล้วจริงๆ” วราวุธกล่าว

โครงการ T-VER มีระเบียบวิธีลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจในหลายรูปแบบ ซึ่งในส่วนของภาคป่าไม้น่าจะเป็นส่วนที่สร้างการมีส่วนร่วมระหว่างภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคประชาชนได้มากที่สุด โดยในปี 2565 ทางกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ได้จัดหาพื้นที่ได้มา 6 แสนไร่ จากกรมป่าไม้ กรมอุทยาน กรมทรัพย์ทะเลและชายฝั่ง ทั้งป่าโปร่ง ป่าชายเลน เอื้อให้ภาคเอกชนแสดงเจตจำนงเข้ามาปลูกป่าด้วยกัน และแบ่งปันคาร์บอนเครดิตกันในอัตราที่ภาคเอกชนได้ไป 90% และภาครัฐเก็บไว้ 10%  

ในภาคอุตสาหกรรม ยังได้มีการศึกษาศักยภาพในการนำเทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน (Carbon capture utilization and storage – CCUS) มาใช้ในภาคอุตสาหกรรม โดยอยู่ในระหว่างการสำรวจพื้นที่ที่มีศักยภาพในการกักเก็บคาร์บอน การปรับปรุงระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง คัดเลือกเทคโนโลยีที่เหมาะสมในการลงทุน  มูลค่าเพิ่มและสิทธิประโยชน์ทางภาษี คาดว่าจะนำมาใช้ในเชิงพาณิชย์ได้ภายในปี 2040  

ภาคการขนส่ง รัฐบาลไทยได้ลงนามร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อมของประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อเดือนมิถุนายน 2565 ในการขายคาร์บอนเครดิต 5 แสนตัน โดยภาคเอกชนของสวิสจะสนับสนุนเงินทุนให้กับภาคเอกชนไทย มาใช้ในการปรับเปลี่ยนรถเมล์ทั้ง 5,000 คัน ในกรุงเทพมหานคร ปรับเปลี่ยนจากรถเมล์เครื่องยนต์สันดาปภายใน มาเป็นรถเมล์ไฟฟ้า Bangkok E-Bus ซึ่งจะสามารถลดก๊าซเรือนกระจก 5 แสนตันภายในปี 2030 รวมถึงลด PM 2.5 ทำให้ชีวิตคนเมืองดีขึ้น

นอกจากมีการซื้อขายโดยตรงระหว่างผู้ซื้อ-ผู้ขาย ผ่านกลไก T-VER แล้ว เมื่อเดือนกันยายน 2565 ทางองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) ได้ร่วมมือกับทางสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย  สร้างแพลตฟอร์ม FTIX กระดานซื้อขายคาร์บอนเครดิตขึ้นเป็นครั้งแรก ประกอบด้วย ศูนย์การซื้อขายแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิตที่เชื่อมโยงกับระบบของ อบก. และยังเป็นศูนย์ซื้อขายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนอีกด้วย จนถึงวันนี้มีการขึ้นทะเบียนแล้ว 30 บริษัท มีการซื้อขาย คาร์บอนเครดิตไปประมาณ 3,000 กว่าตัน

ในแง่การพัฒนามาตรฐานเพื่อให้เทียบเท่ามาตรฐานระดับโลก และรองรับการซื้อขายในตลาดคาร์บอนเครดิตระดับสากล ทาง อบก. ได้ยกระดับ โครงการ T-VER เป็นโครงการ T-VER มาตรฐานขั้นสูง หรือ Premium T-VER ซึ่งมีการใช้ภาพถ่ายดาวเทียมในการประเมินคาร์บอนเครดิต และติดตามการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ควบคู่ไปกับในอนาคต ที่มีโครงการจะใช้เทคโนโลยี Flux-Tower หอคอยภาคพื้นดินมีการติดตั้งอุปกรณ์ตรวจวัดก๊าซเรือนกระจก สามารถเชื่อมต่อกับดาวเทียมได้แบบเรียลไทม์

ปรับตัวรับการสู้ศึกมาตรการทางการค้าภาษีคาร์บอน

ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ยังก่อให้เกิดผลกระทบในรูปแบบของมาตรการทางการค้าและกำแพงภาษี โดยสหภาพยุโรปได้ออกมาตรการ CBAM (Carbon Border Adjustment Mechanism) ครอบคลุมสินค้า 5 ตัว เหล็กและเหล็กกล้า อลูมิเนียม ปุ๋ย กระแสไฟฟ้า และปูนซีเมนต์ ในต้นปี 2565 มีการขยายสินค้าเป้าหมายเพิ่ม ซึ่งอนาคตอันใกล้อาจจะครอบคลุมไปถึงภาคการเกษตร ในขณะที่สหรัฐอเมริกา ก็มีมาตรการ CCA – Clean Competition Act มาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนสำหรับสินค้านำเข้า โดยกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ ผลิตและกลั่นปิโตรเลียม ปิโตรเคมี ปุ๋ย ไฮโดรเจน กรดอะดิพิก ซีเมนต์ เหล็กและเหล็กกล้า อะลูมิเนียม กระจก เยื่อกระดาษและกระดาษ และเอทานอล 

หากคาร์บอนฟุตปรินท์ของสินค้า เกินจากที่มาตรการกำหนดไว้จะมีค่าปรับ และรุนแรงที่สุดคือถูกห้ามนำเข้า นี่คือมาตรการที่ทั่วโลกกำลังออกมาเรื่อยๆ ซึ่งทุกภาคส่วนต้องเริ่มปรับเปลี่ยนตัวเองให้ทัน ก่อนต่างชาติจะมาเปลี่ยนโดยการแบนหรือห้ามนำเข้า เหมือนกับที่ประเทศไทยเคยประสบปัญหาผ่านมา เช่น กรณี IUU Fishing ในการทำประมง และสำหรับภาคเอกชนไม่ควรคิดว่าการทำธุรกิจอย่างยั่งยืนนั้นเป็นภาระ หรือทำให้เราเสียเงินมากขึ้น แต่ควรมองว่าทำให้เรามีข้อได้เปรียบในการแข่งขัน หรือ Competitiveness มากขึ้น นำมาสู๋โอกาสที่มากขึ้น

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ได้ประสานกับ บีโอไอ ด้านการสนับสนุนสิทธิประโยชน์ให้กับผู้ประกอบการ ในการปรับเปลี่ยนเครื่องจักร กลไกการทำงานให้มีคาร์บอนเครดิตน้อยลง รวมถึงสิทธิประโยชน์เกี่ยวกับการทำ CCUS และมีการจัดตั้งกองทุน Thailand Climate Initiative มีงบประมาณสนับสนุนจากองค์กรระหว่างประเทศ 4.4 ล้านยูโร ซึ่งภาคเอกชน ส่วนราชการ ท้องถิ่น สถาบันการศึกษา สามารถของบประมาณสำหรับกิจกรรมปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานในองค์กรของท่าน ให้เป็น Low Carbon และนำสู่ Net Zero ในที่สุด

วราวุธ ให้มุมมองว่า ในอดีต น้ำมันถูกเรียกว่า Black Gold แต่ปัจจุบัน เรากำลังเปลี่ยนผ่านสู่ Green Gold หรือ คาร์บอนเครดิต ซึ่งมีอิทธิพลในสังคมโลกมากขึ้น ในส่วนของกลไกทางด้านกฎหมายของประเทศไทย ได้มีการผลักดัน “พระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” ซึ่งจะมีการกำหนดว่าแต่ละภาคส่วนทั้งภาคธุรกิจ ภาครัฐ ภาคประชาชน จะมีโควต้าปล่อยก๊าซเรือนกระจกหรือคาร์บอนฟุตปรินท์ได้เท่าไหร่ โดยรวมกันแล้วทุกภาคส่วนทั้งประเทศต้องไม่เกิน 120 ล้านตัน รวมถึงมีการกำหนดราคาของคาร์บอนด้วย

“ถ้ากฎหมายตัวนี้ออกมา คาดว่าในปลายปี 2565 คาร์บอนเครดิตจะเริ่มเข้ามามีบทบาทในชีวิตคนเรามากขึ้น เชื่อมโยงตั้งแต่พี่น้องเกษตรกร ว่าจะสร้างคาร์บอนเครดิตของตัวเองได้อย่างไร ภาคธุรกิจสามารถซื้อคาร์บอนเครดิตเหล่านี้จากพี่น้องเกษตรกรชาวไร่ชาวนา และนำธุรกิจของเราไปเยือนเวทีโลกได้ คาร์บอนเครดิตจะเชื่อมโยงตั้งแต่ระดับรากหญ้า จนไปถึงนานาชาติ วันนี้มันเกิดขึ้นแล้ว และกำลังขยายตัวมากขึ้น” วราวุธกล่าว

นอกจากตัวกฎหมายแล้ว กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ได้จัดตั้งหน่วยงานใหม่ โดยควบรวม กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม และกองประสานการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพทางภูมิอากาศ แล้วเปลี่ยนชื่อเป็น “กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพทางภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม” มีข้าราชการและพนักงานจากสองส่วนเดิม เป็นการโยกย้ายภายในกระทรวง ไม่ได้มีคนเพิ่ม และไม่ได้มีงบประมาณเพิ่ม

“ดีใจมากที่ทุกภาคส่วนให้ความสำคัญเรื่อง Climate Change ผมเชื่อมั่นในศักยภาพของคนไทยที่จะทำให้เมืองไทยก้าวสู่สถานะ Net-zero GHG ไม่ใช่ในฐานะทางเลือก แต่เป็นทางรอด เพราะธรรมชาติจะไม่มาแบ่งว่าจะท่วมสีไหนก่อน ฝ่ายรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน ไม่รอเวลาว่านี่กำลังจะเลือกตั้ง 

ที่สำคัญถ้าไม่ใช่เราทำในวันนี้ จะโยนภาระให้คนรุ่นต่อๆ ไปทำหรือ  ปัญหาที่เกิดขึ้นในวันนี้เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นจากคนรุ่นเรา ก็ต้องให้มันจบที่รุ่นเราไม่มีอะไรที่คนไทยทำไม่ได้ ถ้าทำด้วยกัน เราต้องร่วมมือกัน Together Possible” วราวุธ ทิ้งท้าย 

ข่าวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

TCP โอบอุ้มลุ่มน้ำไทย หนุนเสริมการบริหารจัดการน้ำ นำร่องชุมชนต้นแบบ “เติมน้ำใต้ดิน” ต. นนทรี จ. ปราจีนบุรี

ธนาคารยูโอบี จับมือศิลปินไทยแปลงชุดยูนิฟอร์มเก่าเป็นผลงานศิลปะ

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ