TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistโลกเดือด กระทบ เศรษฐกิจเดี้ยง

โลกเดือด กระทบ เศรษฐกิจเดี้ยง

ทุกวันนี้ไม่ว่าจะไปที่ไหน มีแต่คนคุยกันเรื่องอากาศร้อน ปัญหาโลกร้อน ฝนแล้ง บทความต่าง ๆ เริ่มพูดถึง Climate Change มากขึ้นเรื่อย ๆ ในปี 2023 ที่ผ่านมา เป็นปีที่ถูกบันทึกว่าปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทำให้โลกร้อนที่สุด 

แต่เชื่อว่าปีนี้จะทำลายสถิติปีที่แล้วแน่ ๆ ความจริงไม่น่าจะเรียกว่าโลกร้อนแล้ว น่าจะเรียกว่า “โลกเดือด” ตามที่ “อันโตนิโอ กูเตร์เรส” เลขาธิการสหประชาชาติ ได้ประกาศว่ายุคของภาวะโลกร้อนได้สิ้นสุดลงแล้ว และจากนี้ไปโลกเข้าสู่ยุคโลกเดือด

วิกฤติโลกร้อนหรือโลกเดือดไม่กระทบเฉพาะวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคน สัตว์ สิ่งมีชีวิตที่เปลี่ยนไปเท่านั้น ยังส่งผลต่อวัฏจักรของน้ำทั่วโลก นอกจากน้ำทะเลที่อุ่นขึ้นส่งผลโดยตรงต่อแนวปะการัง พืชทะเล และการอยู่รอดของสัตว์ทะเล ยังเกิดการขาดแคลนน้ำ เกิดภัยแล้ง ทั้งยังทำให้ฤดูกาลต่าง ๆ วิปริตผิดเพี้ยนไม่เหมือนเดิม 

แน่นอนว่าภาคเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือภาคเกษตร เมื่อโลกร้อนเกิดฝนแล้ง ภาคเกษตรกรรมต้องใช้น้ำมากกว่า 3 ใน 4 ของการใช้น้ำทั้งประเทศ เมื่ออากาศร้อน และขาดแคลนน้ำทำให้ปีนี้พืชเศรษฐกิจทั้งข้าว อ้อย มันสำปะหลังมีผลผลิตลดลง แม้แต่ทุเรียนภาคใต้ตอนนี้ผลผลิตลดลงอย่างมาก เกษตรกรมากกว่า 7,000,000 ครัวเรือนที่อยู่ในภาคเกษตรได้รับผลกระทบ แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ 90% ของครัวเรือนเกษตรกรไทยล้วนมีหนี้ทั้งสิ้น

เมื่อผลผลิตพืชผลทางการเกษตรลดลงจะส่งผลต่อเนื่องไปยังธุรกิจอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำไม่ว่าจะเป็น ธุรกิจปุ๋ย ยาปราบศัตรูพืช ที่เป็นวัตถุดิบหลักของการทำเกษตรกรรม ธุรกิจเมล็ดพันธุ์ ต่อเนื่องไปถึงโรงงานแปรรูปสินค้าเกษตร อุตสาหกรรมอาหารและอาหารแปรรูป

ปีนี้ผลผลิตพืชผักต่าง ๆ จะออกน้อยกว่าทุกปี บางส่วนก็จะแห้งตายและไม่ได้คุณภาพตามที่ตลาดต้องการ รวมถึงชาวสวนผักส่วนหนึ่งต้องเลิกอาชีพนี้ เพราะฝนแล้งหนัก ต้องซื้อน้ำเพื่อมารด ต้นทุนเพิ่มขึ้นไม่คุ้มกับที่ลงทุนลงแรงส่งผลให้ราคาผักต่าง ๆ แพงขึ้น

ได้คุยกับเจ้าของไร่อ้อยทางภาคอีสานเล่าว่าแรงงานที่รับจ้างทำไร่รายวัน เจออากาศร้อนมาก ๆ สู้ไม่ไหว ต้องพักบ่อย ๆ สมมติงานที่จากเดิมเคยเสร็จภายใน 5 วันตอนนี้เพิ่มเป็น 7 วัน ต้นทุนเจ้าของไร่เพิ่มขึ้นในจำนวนไร่เท่าเดิม

นอกจากนี้ ภาคการท่องเที่ยวที่เป็นเครื่องจักรสำคัญในการหารายได้เข้าประเทศแต่ละปีมากกว่า 2,000,000 ล้านบาท เกิดการจ้างงานมากกว่า 4,000,000 ตำแหน่ง ตอนนี้โดนหางเลขจากปัญหาโลกร้อน 

ปัจจุบันธุรกิจท่องเที่ยวไทยเริ่มได้รับผลกระทบจากปัญหาโลกร้อน ในแต่ละปีสถานที่ท่องเที่ยวอาจถูกทำลายหรือกลายเป็นอุปสรรคที่ขัดขวางการเดินทางของนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่จะเดินทางมาเที่ยวในประเทศไทยเขาอาจจะเที่ยวประเทศใกล้ ๆ แทน

ปัญหาการขาดแคลนน้ำจะกระทบกับธุรกิจท่องเที่ยวอย่างมาก ทั้งร้านอาหาร โรงแรมต่าง ๆ เป็นต้น ในทางกลับกันโลกร้อนทำให้คนไทยต้องหันไปเที่ยวต่างประเทศแทน สถิติตั้งแต่ต้นปีคนไทยไปเที่ยว ญี่ปุ่น เกาหลี และจีน เพิ่มขึ้น 

แม้แต่ภาคอุตสาหกรรมซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจถึง 1 ใน 3 ของ GDP ก็ได้รับผลกระทบจากปัญหาโลกร้อน และปัญหาการขาดแคลนน้ำ อาจทำให้โรงงานต้องลดกำลังการผลิตลง โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่ต้องใช้น้ำในปริมาณมาก ๆ

เหนือสิ่งอื่นใด โลกร้อนยังส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทย เนื่องจากสหภาพยุโรปบังคับใช้มาตรการ CBAM (Carbon Border Adjustment Mechanism) ซึ่งเป็นมาตรการปรับภาษีคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของยุโรปพูดง่าย ๆ ‘เรียกเก็บภาษีเพิ่ม’ กับผู้ส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมสินค้าที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

มาตรการดังกล่าวจะเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่ตุลาคม 2566 เป็นต้นไป และจะเริ่มมีการเก็บภาษีอย่างเต็มรูปแบบในปี 2569 โดยมีอุตสาหกรรมและธุรกิจที่ต้องเตรียมตัวหลัก ๆ เลย 6 อุตสาหกรรม คือ เหล็กและเหล็กกล้า อะลูมิเนียม ซีเมนต์ ปุ๋ย กระแสไฟฟ้า และไฮโดรเจน

ขณะเดียวกันสหรัฐอเมริกาออกกฎหมายที่เรียกว่า Clean Competition Act (CCA) เก็บภาษีคาร์บอนสำหรับสินค้าที่มีการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สูงในกระบวนการผลิต อาทิ เชื้อเพลิง ฟอสซิล ผลิตภัณฑ์จากการกลั่นปิโตรเลียม ปิโตรเคมี ปุ๋ย เหล็กและเหล็กกล้า และถ่านหิน เช่นกัน 

หากมาตรการต่างๆถูกบังคับใช้อย่างเต็มรูปแบบอาจส่งผลกระทบต่อมูลค่าการส่งออกประมาณ 216,000 ล้านบาทหรือคิดเป็น 1.1% ของจีดีพีไทยเลยทีเดียว

ขณะที่ ในประเทศเองรัฐบาลกำลังเร่งออกมาตรการ Carbon Tax คือ มาตรการการเก็บภาษีคาร์บอนจะเรียกเก็บจากธุรกิจที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงกว่ากําหนด นั่นหมายความว่าภาคธุรกิจกำลังได้รับผลกระทบจากภาษี Carbon Tax ไม่ทางตรงก็ทางอ้อมในอนาคตอย่างแน่นอน

ปัญหาโลกร้อนจึงเป็นเรื่องใหญ่ที่รัฐบาลต้องให้ความสนใจเพราะจะมีผลต่อเศรษฐกิจของประเทศโดยตรง แม้แต่นักลงทุนต่างประเทศจะลงทุนที่ไหนยังต้องดูว่าประเทศที่เขาจะลงทุนรัฐบาลให้ความสนใจแก้ปัญหาโลกร้อนมากน้อยแค่ไหน นอกจากนี้ เขายังจะดูว่าโรงงานอุตสาหกรรมในประเทศนั้น ๆ ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากน้อยแค่ไหน มีพลังงานสะอาดเพียงพอไหม รัฐบาลมีนโยบายพลังงานเสรีให้นักลงทุนก็มีทางเลือกหรือไม่ หากรัฐบาลมีนโยบายแก้ปัญหาโลกร้อนชัดเจนก็จะจูงใจให้นักลงทุนจากต่างประเทศตัดสินใจลงทุนง่ายขึ้น

จะเห็นว่าปัญหาโลกร้อนไม่ได้กระทบแค่วิถีชีวิตความเป็นอยู่และสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่กระทบกับจีดีพีของประเทศโดยตรง รัฐบาลจึงมิอาจนิ่งนอนใจได้

ผู้เขียน: ทวี มีเงิน

บทความอื่น ๆ ของผู้เขียน

แบงก์ “ลดดอกเบี้ย”​ แค่น้ำจิ้ม

ท่องเที่ยวไทย… ต้องตีโจทย์ให้แตก

เศรษฐา-เศรษฐพุฒิ ห่างไม่ได้ ใกล้ไม่ดี

ทางออกจากวิกฤติต้อง … ปลดล็อก เศรษฐกิจนอกระบบ

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ