TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistเทรนกันไป แต่ไหงไม่เกิดอะไรขึ้นมา?

เทรนกันไป แต่ไหงไม่เกิดอะไรขึ้นมา?

หนึ่งในประเด็นยอดฮิตที่มีหลายคนมาพูดคุยกับผมและเป็นอีกสาเหตุสำคัญที่ทำให้หลายองค์กรเลือกจะไม่ทุ่มในการพัฒนาทักษะพนักงานมากนัก ก็คือ การที่ต่อให้เรียนกันไปเท่าไร แต่พอกลับไปออฟฟิศก็ไม่เห็นได้มีพัฒนาการอะไรดีขึ้น ไม่ได้เห็นผลอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน

และนั่นทำให้เกิดภาพจำว่าการเทรนนิ่งก็เหมือนกับการทำอะไรให้ครบ ๆ ไปตาม KPI และอย่าไปคาดหวังอะไรกับมัน

ถ้าเราจะมองวิเคราะห์สถานการณ์นี้แล้ว เราก็อาจจะเห็นหลายปัจจัยที่ทำให้การฝึกอบรมต่าง ๆ อย่างการฝึกทักษะด้านการตลาดเช่นการวางกลยุทธ์ การหา Customer Insight และการวางแผนการตลาดนั้นไม่ได้ผลเมื่อกลับไปทำงานต่อ ซึ่งปัจจัยที่ผมมักจะพบ (และได้ยินเสียงบ่นมาบ่อย ๆ) คือ

กลับไปก็ไม่ทำแบบที่ฝึกมา

อันนี้เป็นสิ่งที่เห็นได้บ่อยมาก ๆ เพราะการจะให้เกิดผลลัพธ์จากทักษะใหม่ที่ถูกฝึกนั้นก็ต้องอยู่ในกระบวนการทำงานที่สอดคล้องไปกับทักษะใหม่ อย่างถ้าไปเรียนวิธีการวางแผนกลยุทธ์แล้ว เมื่อต้องวางแผนใหม่ก็ต้องปรับขั้นตอนการทำงาน ปรับกระบวนการให้ได้ใช้ทักษะแบบที่ฝึกใหม่ ไม่ใช่การทำงานแบบเก่า แต่พอเอาเข้าจริงก็กลับทำแบบเดิม ๆ เพราะคนอื่น ๆ ที่ไม่ได้เรียน ไม่ได้ฝึกมาไม่ได้คิดและเห็นแบบคนที่ไปเรียนมา

ปัญหาเรื่องการไม่สามารถเอาสิ่งที่เรียนกกลับไปใช้ที่ทำงานได้ ไม่สามารถทำจริงได้เป็นสิ่งที่ผู้เรียนมักมาบอกกับผมบ่อยมากโดยเฉพาะกับบริษัทใหญ่ ๆ ที่มีระบบและวิธีการทำงานต่าง ๆ ซึ่งไม่เอื้อหรือขัดกับทักษะใหม่ของพนักงาน หรือถ้าจะเอาหนัก ๆ เลยก็คือคนที่ชื่อว่าหัวหน้า ผู้จัดการ ผู้บริหาร นั้นไม่ได้เข้าใจสิ่งที่พนักงานไปฝึกมา ก็ยังคิดจะทำกันแบบเดิม ๆ เลยทำให้สิ่งที่ลงทุนเรียนไปก็ไม่ได้ถูกใช้ออกมา

“หนูเข้าใจที่พี่แก่พูดหมด แต่สุดท้ายนายหนูเขาก็วัดผลแบบเดิม คิดแบบเดิม มันก็เลยไม่ได้ใช” นั่นเป็นหนึ่งในเสียงบ่นที่สะท้อนปัญหานี้และคงต้องทำให้เราคิดกันหน่อยว่าความคาดหวังของบรรดาหัว ๆ ที่ส่งทีมงานมาเรียนนั้นมีความเข้าใจในสิ่งที่ถูกส่งคนมาฝึกฝนหรือไม่ เช่นเดียวกับที่พวกเขามีตระหนักหรือเปล่าว่าเมื่อพนักงานมีทักษะใหม่แล้วจะทำอย่างไรให้มันถูกใช้งานได้มีประสิทธิภาพสูงสุด

ปล่อยทิ้งไว้นาน ไม่ถูกใช้

อีกแบบหนึ่งที่เจอเหมือนกันคือการมาเรียนเพราะเห็นเป็นเทรนด์ เห็นว่าเป็นเรื่องที่คนกำลังพูดถึง ตอนมาเรียนก็พนักงานหงึก ๆ น่าสนใจ แต่กลับไปออฟฟิศก็ไม่ได้ใช้ ไม่ได้เอาที่เรียนไปทำอะไรต่อเพราะเรื่องนั้นไม่ได้เกี่ยวกับงานของตัวเอง พอเวลาผ่านไปนาน ๆ ความรู้ก็ไม่ได้ถูกกระตุ้นให้มาใช้งาน ทักษะที่ถูกฝึกมาก็สนิมเกาะเสียอย่างนั้น

ด้วยเหตุนี้จึงเป็นที่มาว่าการจะฝึกเทรนนิ่งอะไรนั้น ไม่ใช่เอาใครก็ได้มายัด ๆ กันให้เต็ม (เพราะหลายบริษัทก็คิดกันเรื่องว่าเอาให้คุ้มกับการจ้างเทรนนิ่ง ให้พนักงานมีชั่วโมงฝึกอบรมครบตาม KPI) แต่ควรเอาคนที่เห็นว่าเรื่องนี้สำคัญ ได้ใช้งานจริง เอาไปทำงานต่อได้ เพราะไม่อย่างนั้นสิ่งที่เรียนมาก็จะกลายเป็นแฟ้มเอกสารที่วางไว้รอเคลียร์ตอนสิ้นปีเป็นแน่

รีบร้อนทั้งที่บางอย่างต้องใช้เวลา

ผมมักพูดบ่อย ๆ ว่าการใช้เวลาอบรม 1-2 วันนั้นอาจจะได้ความรู้ใหม่ระดับหนึ่ง และมีทักษะกับประสบการณ์อีกนิดหนึ่ง ซึ่งแน่นอนว่าด้วยเวลาที่มีเพียงน้อยนิดนั้นคงยากที่จะทำให้คนเกิดทักษะที่ชำนาญได้ เอากันแค่เรื่องการทำคอนเทนต์นั้น กว่าผมจะเขียน คิด และเล่าคอนเทนต์จนชำนาญก็ใช้เวลาร่วมสิบปี จะให้ย่นระยะเวลาเหลือ 1 วันแล้วคนเรียนทำได้เหมือนผมเลยก็คงจะเป็นไปไม่ได้ สิ่งที่ทำได้คือการให้พื้นฐานและผู้เรียนต้องไปฝึกฝนต่อจนชำนาญ และเมื่อวันที่เขาชำนาญแล้วจะเห็นผลลัพธ์ที่ชัเเจน

นั่นจึงเป็นที่มาของการบอกเหล่าผู้บริหารที่ส่งคนมาเทรนนิ่งบ่อย ๆ ถึงความคาดหวังต่อผู้เรียนว่าคงไม่สามารถกลับไปแล้วเปลี่ยนเป็นคนใหม่ในทันที สิ่งที่ต้องตามต่อคือการกระตุ้นให้เขานำความรู้ไปใช้จริง ฝึกฝนและพัฒนาทักษะอยู่ย่างสม่ำเสมอ และแน่นอนว่าในกระบวนการนี้ย่อมมีความผิดพลาดบ้างเป็นธรรมดา แต่มันก็เป็นการเรียนรู้เพื่อให้เก่งขึน มีความสามารถขึ้นตามมานั่นเอง ผู้เป็นหัวหน้างานก็ควรจะรู้ว่ากระบวนการนี้จะเกิดขึ้นอย่างไร และต้องทำอะไรบ้างเพื่อให้เขาได้ใช้สิ่งที่เรียนมาอย่างคุ้มค่าที่สุด

ที่ผมเล่ามานี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของปัจจัยใหญ่ ๆ ที่ทำให้การเรียนรู้ไม่ได้เกิดผลจริง และยังมีอีกหลายสาเหตุที่เกี่ยวโยงกันเช่นสภาพแวดล้อมของการฝึกอบรม ความตั้งใจระหว่างอบรม เนื่อหาและเวลาที่ให้ในการอบรม ฯลฯ ซึ่งนั่นคงจะเป็นการเตือนให้คิดอยู่เสมอว่าการฝึกอบรมทักษะที่ดีไม่ใช่บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่ 3 นาทีแล้วจะได้ผลสำเร็จทันทีแต่อย่างใดนั่นเองล่ะครับ

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ