TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistอย่าพยายามหาคำตอบสำเร็จรูป

อย่าพยายามหาคำตอบสำเร็จรูป

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาซึ่งผมได้ไปบรรยายและทำเวิร์คชอปด้านการตลาดกับองค์กรต่าง ๆ นั้น สิ่งหนึ่งที่มักจะได้รับบ่อย ๆ ในบรีฟงานหรือการระบุความคาดหวังว่าจะได้ “เทคนิคการทำโฆษณาให้โดนใจ” “เคล็ดลับการทำคอนเทนต์ให้ปัง” “แผนการตลาดสำหรับธุรกิจ” และนั่นทำให้หลาย ๆ ทีผมต้องเกริ่นแต่ก่อนการบรรยายว่าตลอดคลาสนี้คุณจะไม่ได้สิ่งเหล่านี้เลย

นอกจากนี้แล้ว อีกเรื่องหนึ่งที่เรามักจะเห็นในการทำเวิร์คชอปการตลาดอยู่บ่อย ๆ ก็คือ รอให้ผู้สอน “บอกคำตอบที่ถูกต้อง” มาให้หน่อย เช่นควรเลือกกลุ่มเป้าหมายอะไรดี จุดขายของสินค้าคืออะไร ซึ่งพอเป็นแบบนี้มันเลยเป็นภาวะ “รับ” โดยที่ไม่ได้ใช้ความคิดอะไรเยอะ

ซึ่งภาวะนั่นเป็นสิ่งที่ผมคิดว่ามันน่าห่วงอยู่ไม่น้อยเพราะกระบวนการเรียนรู้ที่ดีไม่ใช่อยู่ในการรับ แต่ควรเป็นการที่สมองของเราอยู่ในโหมดตื่นตัว พยายามคิด พยายามตั้งคำถาม และนั่นจะไปสู่การพยายามหาคำตอบโดยการสร้างกระบวนการคิดของตัวเองที่จะปะติปะต่อสิ่งต่าง ๆ เข้าไป

นั่นทำให้ผมมักเห็นคนทำงานในเวิร์คชอปจะมีอยู่สองกลุ่มหลัก ๆ คือ แบบที่นั่งนิ่งแล้วก็รอดูว่าเดี๋ยวคลาสจะเฉลยว่ายังไง รอฟังสไลด์หน้าถัดไป แต่ก็จะมีอีกกลุ่มที่สนุกกับการคิด พยายามหามุมต่าง ๆ มาลองวิ่งตามกิจกรรมตรงหน้า ซึ่งผมเชื่อว่านั่นก็พอจะทำให้เราเห็น “แวว” ของพนักงานแต่ละคนที่เข้าร่วมเวิร์คชอปนั้นได้ทันที

เหตุที่ผมหยิบเรื่องนี้มาพูด ไม่ใช่แค่เพราะการดูว่าคนไหนดูแอคทีฟและพยายามมีส่วนร่วมในการเรียนรู้เท่านั้น แต่เพราะมันสัมพันธ์กับสถานการณ์ของธุรกิจในปัจจุบันที่น่ากังวลอยู่พอสมควร นั่นคือ การที่ภาวะของธุรกิจในปัจจุบันนั้นซับซ้อนจนยากที่จะหาอะไร “สำเร็จรูป” ได้

ที่เล่าเรื่องนี้ เพราะสิ่งที่ผมรู้สึกได้ คือ การที่ผู้เรียนหลายคนพยายามถามหาสูตรหรือคำตอบที่ถูกคิดไว้แล้วว่าจะต้องทำอย่างไร ซึ่งนั่นก็อาจจะพอเป็นไปได้ (บ้าง) ในภาวะที่ธุรกิจและตลาดมีความผันผวนน้อย มีตัวแปรไม่ซับซ้อนจนพอจะสามารถหารูปแบบมาตราฐานเอามาทำซ้ำกันได้เรื่อย ๆ แต่นั่นคงไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นกับสถานการณ์ของธุรกิจที่มีความซับซ้อนมากขึ้นเรื่อย ๆ จนทำให้ทักษะของ Complex Problem Solving ถูกยกขึ้นมาเป็นทักษะสำคัญของคนทำงานในปัจจุบัน

และพอสถานะของธุรกิจมันกลายเป็นปัญหาที่มีความซับซ้อน (Complex Problem) มันเลยจำเป็นมากที่การเรียนรู้ต่าง ๆ ของเราในปัจจุบันโดยเฉพาะในสายธุรกิจและการตลาดคือเข้าใจกระบวนการคิด ฝึกฝนทักษะการหาคำตอบด้วยตัวเองผ่านการเข้าใจองค์ประกอบต่าง ๆ ที่สำคัญ เพราะสุดท้ายเราจะต้องเจอกับโจทย์ธุรกิจใหม่ ๆ อยู่เสมอ ฉะนั้นสิ่งที่ทำให้เรารอดได้ในสถานการณ์แบบนั้นไม่ใช่การได้คำตอบที่สำเร็จในวันนี้ แต่คือการได้ทักษะการคิดเพื่อให้สามารถพลิกแพลงได้ในอนาคต

ผมเลยมักจะบอกเสมอในคลาสที่ dots academy ว่าการเรียนรู้ที่คุณจะได้มากที่สุดจากการเรียนที่นี่ ไม่ใช่การนั่งรอคำตอบจากผมและเพื่อนที่ร่วมบรรยายด้วยกัน เพราะเอาจริง ๆ เราก็ไม่รู้หรอกว่าคำตอบนี้ถูกต้องที่สุดหรือเปล่า แต่คุณจะได้ประโยชน์สูงสุดจากการเรียนรู้การตลาดในวันนี้ก็ต่อเมื่อคุณพยายามคิดวิเคราะห์และสร้างระบบความคิดให้ตัวคุณเองได้

และนั่นคือสิ่งที่ผมว่านักธุรกิจและการตลาดในวันนี้ควรหันมาใช้ Mindset เหล่านี้กับการฝึกอบรมและฟังสัมมนาการตลาดต่าง ๆ กันได้แล้ว

ล่าสุด มีน้องคนหนึ่งส่งข้อความมาหาผมใน Facebook Page เพราะไปเจอบทความเรื่อง Content Calendar โดยมีข้อความว่า

“อยากให้พี่สอนเกี่ยวกับสัดส่วนของคอนเทนต์ ว่าพี่ใช้หลักการอะไรใรการจัดว่าคอนเทนต์ประเภทนี้ควรอยู่วันนี้ พี่มีหลักการไหมคะ หนูสงสัยค่า”

ผมรีบทำคลิปอธิบายเรื่องนี้ให้น้องเขาในวันถัดมาทันทีพร้อมกับขอบคุณมากที่น้องเขาถามแบบนี้แทนที่จะบอกว่าควรโพสต์วันละกี่โพสต์ดี วันไหนควรโพสต์อะไรดี

เพราะนั่นแหละครับ คือ จุดเริ่มต้นแล้วว่าเราอยาก “คิดเป็น” ไม่ใช่ “ทำได้” เพียงอย่างเดียว

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ