TH | EN
TH | EN
หน้าแรกLifeTTRS พันธกิจเพื่อ "โลกไม่เงียบ" ของ "คนไร้เสียง"

TTRS พันธกิจเพื่อ “โลกไม่เงียบ” ของ “คนไร้เสียง”

สำหรับคนส่วนใหญ่กิจกรรมพื้นฐานอย่างการพูดคุยสื่อสารปฎิสัมพันธ์กับคนรอบข้างเพื่อแลกเปลี่ยนความเห็น ขอความร่วมมือ หรือเพียงแค่ทักทายทำความรู้จักถือเป็นเรื่องง่ายที่ทำได้โดยไม่ต้องลงทุนลงแรง แต่สำหรับ “นับดาว องค์อภิชาติ” คนพิการทางการได้ยินแต่กำเนิด การพูดคุยเพื่อสื่อสารกับคนทั่วไปในสังคม กลายเป็นเรื่องยาก ถึงขั้นเป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิตประจำวันของเจ้าตัวแทบจะในทุกเรื่อง 

นับดาวเล่าว่า แม้จะพยายามสื่อสารโต้ตอบทำความเข้าใจกับคนรอบข้างด้วยการอ่านปากของคู่สนทนาแล้ว ก็ไม่อาจแก้ปัญหาได้ หรือแม้แต่ใช้การเขียนก็ไม่ช่วยอะไรมากนัก เพราะคนส่วนใหญ่ในสังคมที่เร่งรีบไม่มีเวลาพอที่จะรับฟังความต้องการของคนไร้เสียงเช่นเธอ

เช่นเดียวกันกับ “เรวัต กาญจนกิตติชัย” คนพิการทางการได้ยินอีกรายที่ระบุว่า แม้จะมีเทคโนโลยีอย่างโทรศัพท์มือถือให้ใช้พกติดตัวตลอดเวลา แต่การสื่อสารกับคนหูดีส่วนใหญ่ก็ยังจำกัดอยู่ที่การส่งข้อความ หรือโทรศัพท์ไปขอให้ล่ามหรือคนที่เข้าใจภาษามือช่วยสื่อสารกับคนหูดีให้หน่อย ซึ่งเป็นเรื่องที่ลำบากมาก หรือในกรณีที่มีโทรศัพท์เข้ามาก็ต้องไปขอให้คนหูดีช่วยรับ แล้วใช้การเขียนบนกระดาษเป็นตัวกลางในการสื่อสาร

TTRS พันธกิจเพื่อ "โลกไม่เงียบ" ของ "คนไร้เสียง"

เรียกได้ว่า กว่าที่จะสื่อสารพูดคุยกับคนรอบข้างจนรู้เรื่อง หรือบรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งใจไว้ ต้องใช้เวลาและสรรพกำลังอย่างมาก ทั้งกับคนพิการทางการได้ยินและคนหูดีที่เข้ามาให้ความช่วยเหลือ ตลอดจนคนทั่วไปที่มีเหตุให้ต้องสื่อสารกับคนพิการทางการได้ยิน ความยุ่งยากซับซ้อนดังกล่าว ทำให้หลายครั้ง คนพิการทางการได้ยินเหล่านี้ถูกปฎิเสธการสื่อสารจากคนหูดี 

ทั้งนี้ นับดาว และ เรวัต ถือเป็นหนึ่งในคนพิการทางการได้ยินที่มาขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ซึ่งมีอยู่ทั้งหมดราว 400,000 คน ที่ต้องประสบปัญหาการดำรงชีวิตในสังคม เพียงเพราะไม่สามารถสื่อสารกับคนปกติทั่วไปได้ กลายเป็นเป้าหมายในพันธกิจหลักของ ศูนย์บริการถ่ายทอดการสื่อสารแห่งประเทศไทย หรือ Thai Telecommunication Relay Service (TTRS) ซึ่งเป็น ศูนย์ Call Center ในการให้ความช่วยเหลือคนพิการทางการได้ยินในการสื่อสารกับคนในสังคมผ่านระบบและเทคโนโลยีทางการสื่อสารที่ได้รับการประยุกต์ ปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงให้สอคคล้องกับบริบทของคนพิการทางการได้ยินในประเทศไทยมากขึ้น  

การสื่อสารอุปสรรคพื้นฐานสำคัญของคนหูหนวก

ศาสตราจารย์วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ ประธานมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ (Universal Foundation for Persons with Disabilities) กล่าวว่า การสื่อสารเป็นอุปสรรคสำคัญของคนหูหนวกในการที่จะใช้ชีวิตเฉกเช่นคนปกติในสังคม และสารพัดปัญหาที่คนหูหนวกต้องเผชิญอยู่ทุกวันนี้ ก็มีต้นตอสาเหตุมาจากการที่คนหูหนวกไม่สามารถพูดคุยกับคนทั่วไปได้ ดังนั้น ถ้าสามารถแก้ไขปัญหาการสื่อสารได้ ย่อมช่วยให้คนหูหนวกดำรงชีวิตอยู่ได้เหมือนคนทั่วไป การเดินหน้าขจัดอุปสรรคทางการสื่อสารให้กับคนพิการทางการได้ยินจึงเป็นเป้าหมายหลักของ ศูนย์ TTRS แห่งนี้ 

“มันคือ ความเสมอภาค ถ้าเราช่วยให้คนหูหนวกสื่อสารกับคนหูดีได้ คนหูหนวกก็จะอยู่บนโลกใบนี้ได้อย่างเสมอภาคเหมือนคนอื่น” โดยมีผู้ช่วยสำคัญที่จะทำให้การสื่อสารระหว่างคนหูดีและคนหูหนวกเป็นไปอย่างราบรื่นได้ ก็คือ “ล่ามภาษามือ” 

ทว่า การใช้ล่ามภาษามือในการติดตามคนพิการทางการได้ยินแบบประกบตัว เพื่อให้ความช่วยเหลือกลับเป็นเรื่องที่สิ้นเปลืองทั้งเวลาและงบประมาณ บวกกับการที่จำนวนล่ามที่มีอยู่น้อย ทำให้การให้ความช่วยเหลือคนพิการทางการได้ยินอย่างทั่วถึง และครอบคลุมจึงเป็นเรื่องที่ยากลำบากมาก กลายเป็นแรงผลักดันสำคัญที่ทำให้ทางศูนย์ TTRS ต้องเดินหน้าพัฒนาการให้บริการให้ก้าวหน้ามากขึ้น โดยการนำเทคโนโลยีนวัตกรรมเข้ามาใช้ 

ศูนย์ TTRS ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2554 โดยความร่วมมือระหว่างมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ และศูนย์วิจัยเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกและเครื่องมือแพทย์ (A-MED) ในสังกัดของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยมี สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) ให้การสนับสนุนงบประมาณและช่วยดูแลในเรื่องโครงสร้างขั้นพื้นฐาน

นอกจากนี้ กสทช.ยังเล็งเห็นถึงเห็นความสำคัญ จนประกาศให้เรื่องการติดต่อสื่อสารของคนพิการทางการได้ยินอยู่ใน แผนการจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม ของ สำนักงาน กสทช.  

ดังนั้น จากเดิมที่ต้องเสียล่ามภาษามือหนึ่งคนไปทั้งวันเพื่อช่วยพาคนหูหนวกไปพบแพทย์ที่ใช้เวลาคุยกันจริง ๆ เพียงแค่ 10 นาที การใช้เทคโนโลยีทางการสื่อสาร จึงช่วยให้ล่าม 1 คน ประหยัดเวลา ไม่จำเป็นต้องเดินทางไปกับคนหูหนวก และใช้เวลาที่เหลือในการให้ความช่วยเหลือคนหูหนวกรายอื่นๆ เพิ่มขึ้นได้ ทำให้การใช้ล่ามภาษามือเพื่อประโยชน์ของคนหูหนวกเป็นไปอย่างคุ้มค่า ทั้งเงินและเวลา เมื่อให้บริการล่ามภาษามือผ่านอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง อีกทั้งยังสามารถจัดเพิ่มบริการที่ช่วยให้คนหูหนวกสื่อสารกับคนหูหนวกในกลุ่มของตนเองได้อย่างราบรื่น 

“ยิ่งแก้ไขปัญหาการสื่อสารของคนหูหนวกได้มากจนคนหูหนวกเหล่านี้สามารถสื่อสารได้มากขึ้น ก็จะยิ่งทำให้คนหูหนวกได้ใช้เวลาดำเนินชีวิตอย่างคนทั่วไปได้มากขึ้น”

ปัจจุบัน จำนวนคนพิการทางการได้ยินที่ขึ้นทะเบียนราว 400,000 คนนี้ เข้ามาสมัครใช้บริการกับทางศูนย์ TTRS เพียงแค่ 40,000 คน แต่ใช้บริการจริงๆ เป็นประจำเพียง 10,000 กว่าคน ตลอดทั้งปี ขณะที่ล่ามภาษามือทั้งประเทศมีอยู่ราว 500 คน กระจายไปตาม 77 จังหวัดทั่วไทย และทำงานกับทาง TTRS อยู่ประมาณ 40 คน

โดยจำนวนคนพิการทางการได้ยิน 40,000 คนที่เข้ามาลงทะเบียนกับทาง TTRS คือ คนหูหนวกที่สามารถใช้ภาษามือในการสื่อสารได้ เรียกได้ว่า การสื่อสารของคนพิการทางการได้ยินกับคนทั่วไปจึงมีปัจจัยที่เป็นรายละเอียดปลีกย่อยที่ซับซ้อนให้ทางศูนย์ TTRS เข้าไปให้ความช่วยเหลือบริการการสื่อสารมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันทางศูนย์มีทางเลือกในการให้บริการกับคนพิการทางการได้ยินถึง 9 ช่องทาง 

ยกตัวอย่างเช่น แม้คนพิการบางคน ไม่สามารถใช้ภาษามือได้ แต่ยังสามารถสื่อสารผ่านช่องทางอื่นได้ เช่น ภาษาเขียน แต่ไม่สะดวก เพราะการเรียนภาษาเขียนในรูปแบบของคนหูหนวกจะมีไวยากรณ์ที่ต่างจากที่คนปกติทั่วไปเรียน ดังนั้นจึงจำเป็นต้องใช้บริการล่ามเข้ามาให้ความช่วยเหลืออยู่ดี เพราะภาษาไทยที่เรียนเปรียบเสมือน ภาษาที่สอง หรือ second language ของคนพิการทางการได้ยินซึ่งสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลัก คนหูตึง กับคนหูหนวก 

“ข้อดีของการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ คือ ทำให้คนพิการทางการได้ยินสามารถใช้บริการล่ามภาษามือได้ทุกที่ทุกเวลา ขอเพียงแค่สามารถเข้าถึงสัญญาณ 4G ส่วนข้อดีอีกประการหนึ่งก็คือ ช่วยให้ล่ามหนึ่งคนสามารถให้บริการคนพิการทางการได้ยินเป็นจำนวนมากได้ ช่วยให้ล่าม 40 คนสามารถให้บริการคนพิการทางการได้ยินกว่า 10,000 คนได้”

เรียกได้ว่า เมื่อปัญหาการสื่อสาร คือ อุปสรรคหลักในการใช้ชีวิตของคนพิการทางการได้ยิน TTRS จึงตั้งเป้าที่จะเป็นตัวกลางเชื่อมโยงคนหูหนวกและหูดีให้สามารถสื่อสารเข้าใจกันได้ โดยอาศัยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเข้ามาประยุกต์ใช้ ทำให้การบริการของทาง TTRS ครอบคลุมและตอบสนองความต้องการของคนพิการทางการได้ยินได้

Total Conversation เทคโนโลยีที่ประยุกต์และต่อยอดภายใต้บริบทของสังคมไทย 

ความปรารถนาที่อยากจะทำให้คนพิการทางการได้ยินสามารถสื่อสารกับคนหูดีผ่านอุปกรณ์สื่อกลางอย่างโทรศัพท์ได้ ถือเป็นโจทย์หลักที่ ดร.ณัฐนันท์ ทัดพิทักษ์กุล หัวหน้าทีมวิจัยเทคโนโลยีที่ทุกคนเข้าถึงและสิ่งอำนวยความสะดวก ได้รับเพื่อคิดหาหนทางช่วยเหลือคนพิการทางการได้ยิน ทำอย่างไรจึงจะพัฒนาเทคโนโลยีที่ให้คนพิการสามารถพึ่งพาตนเองในการสื่อสารโดยใช้อุปกรณ์ที่ต้องพกพาในชีวิตประจำวันอยู่แล้วอย่างโทรศัพท์เข้ามาใช้ให้เป็นประโยชน์

สำหรับปัญหาหลักในการสื่อสารผ่านโทรศัพท์ของคนพิการทางการได้ยินก็คือการที่คนกลุ่มนี้ไม่สามารถใช้ “เสียงพูด” พูดได้ และการสื่อสารหลัก ๆ ต้องอาศัย ภาษามือ ที่ใช้การมองเห็นในการถ่ายทอดอารมณ์ ความรู้สึก ความเห็น ความนึกคิดเป็นหลัก 

ทั้งนี้ เมื่อได้รับโจทย์แล้ว ทางทีมงานก็เริ่มต้นศึกษาด้วยการมองโมเดลในต่างประเทศว่ามีการนำเทคโนโลยีใดเข้ามาใช้จนพบ ระบบบริการล่ามทางไกล หรือ Telecommunication Relay Service ซึ่งมี core technology หรือเทคโนโลยีแกนหลักที่เรียกว่า Total Conversation โดยถ้าจะพูดในรูปแบบที่เข้าใจง่ายที่สุดก็คือเป็นเทคโนโลยีทางการสื่อสารที่ประกอบด้วยภาพ วิดีโอ ข้อความและเสียง 

อย่างไรก็ตาม เมื่อได้ตัวแกนหลักของเทคโนโลยีที่จะใช้แล้ว ก็ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถนำมาใช้ในประเทศไทยได้ทันที เพราะทางทีมงานยังต้องนำมาวิจัย เพื่อปรับปรุงเปลี่ยนแปลงและพัฒนาระบบให้สอดคล้องกับบริบทการใช้งานของคนพิการทางการได้ยินในสังคมไทย จนกระทั่งได้มาเป็นระบบที่ใช้งานอยู่ใน TTRS ในปัจจุบัน 

สำหรับหลักการทำงานของเทคโนโลยีที่ใช้ที่ TTRS จะแบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลัก ก็คือ ส่วนที่ให้บริการคนพิการทางการได้ยิน ซึ่งแต่ละช่องทางการบริการได้รับการออกแบบโดยผ่านการสอบถามถึงความต้องการใช้ของคนพิการทางการได้ยินมาเป็นอย่างดีแล้ว และในส่วนที่สอง ก็คือ การเข้าบริหารจัดการล่าม ซึ่งถือเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้การบริหารของศูนย์ Call Center แห่งนี้ ดำเนินไปได้อย่างสะดวกราบรื่น 

เหตุเพราะจำนวนล่ามภาษามือที่มีอยู่อย่างจำกัด ทำให้การเก็บข้อมูลมาวิเคราะห์ เพื่อให้สามารถจัดสรรจำนวนล่ามให้สอดคล้องกับความต้องการใช้งานของคนพิการทางการได้ยินในแต่ละช่วงเวลาจึงมีความสำคัญมากที่สุด 

ดร.ณัฐนันท์ กล่าวว่า บริการที่หลากหลาย และจำนวนล่ามที่เพียงพอคือกุญแจสำคัญที่เทคโนโลยีทำให้เกิดขึ้น โดยต้องเข้าใจว่า การนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ทำให้คนพิการทางการได้ยินมีตัวเลือกที่จะใช้ในการสื่อสารมากขึ้น ตามความถนัดของตนเอง และความเหมาะสมของเวลาสถานที่ โดยต้องไม่ลืมว่า ในบางพื้นที่ของไทย อินเทอร์เน็ตก็ยังไม่สามารถเข้าได้ ดังนั้น คนพิการทางการได้ยินก็จะไปเลือกใช้บริการล่ามที่ไม่ต้องพึ่งพาสัญญาณอินเทอร์เน็ตแทน

ดร.ณัฐนันท์ อธิบายว่า จุดเด่นของระบบนี้ คือ การพัฒนาให้ตอบโจทย์การให้บริการ 2 ทางด้วยกันคือ รูปแบบความสามารถของคนหูหนวกในไทยที่จะสื่อสารผ่านล่ามได้ โดยทีมงานมีการออกแบบระบบให้สอดคล้องกับความสามารถในการสื่อสารของคนหูหนวกที่มีหลากหลายประเภทได้ค่อนข้างครอบคลุมครบถ้วน และรูปแบบการบริการที่สอดคล้องกับโครงสร้างขั้นพื้นฐานของไทย โดยเฉพาะสัญญาณอินเทอร์เน็ตที่ยังไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่ 

ทั้งนี้ ในส่วนของระบบบริหารจัดการล่ามจะแบ่งออกเป็น 3 ส่วนหลักคือ

  1. รองรับการจัดคิว
  2. พัฒนากระบวนการรับเรื่องให้เร็วขึ้น ลดขั้นตอนด้วยระบบอัตโนมัติ เช่น กรณีฉุกเฉินสามารถส่งพิกัดระบุตำแหน่งมาได้เลยแทนการโทร
  3. ระบบสถิติ คือการเก็บข้อมูลมาวิเคราะห์ปริมาณการใช้ในแต่ละช่วงเวลา เพื่อจัดการจำนวนล่ามให้สอดคล้องกับจำนวนการใช้งาน 

อาจกล่าวได้ว่าเป็นการประยุกต์พัฒนาเทคโนโลยีเพื่อเป็นกลไกในการออกแบบจัดการที่จะทำให้ล่ามมีเพียงพอต่อการใช้งาน นอกจากนี้ ทางทีมงานวิจัยยังมีการสอบถามผู้ใช้งานและล่ามทุกปีเพื่อเพิ่มเติมฟังก์ชั่นการทำงานเล็ก ๆ น้อย ๆ ของระบบ ทำให้ระบบให้บริการได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น 

“ที่ต่างประเทศไม่มี แต่ถ้าคนหูหนวกในไทยคิดว่าเป็นประเด็นหลัก เราก็จะเติมเข้ามาในระบบให้ได้มากที่สุด ฉะนั้น ความพึงพอใจต่อการใช้งานระบบของเราจึงมีมากกว่า เพราะว่าเรามีการปรับปรุงอยู่เสมอให้สอดคล้องเข้าใจกับบริบทของความเป็นไทย“

ในฐานะนักวิจัย สิ่งที่ ดร.ณัฐนันท์ คาดหวัง ก็คือ การได้เห็นเทคโนโลยีที่ว่าพัฒนาขึ้นมานี้เป็นประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตของคนพิการ ช่วยให้คนพิการทางการได้ยินสามารถพึ่งพาหาเลี้ยงตนเองได้ และยกระดับคุณภาพความมั่นคงในชีวิต เพราะสามารถติดต่อเข้าถึงความช่วยเหลือในกรณีฉุกเฉินได้ 

โดยการสื่อสารขั้นพื้นฐาน คือ สิ่งแรกที่นักวิจัยอยากเห็น เป็นความเท่าเทียมที่เกิดขึ้นในการใช้ระบโทรคมนาคม และในยุคที่โทรศัพท์และอี-คอมเมิร์ซ สามารถสร้างรายได้ การบริการของ TTRS จะกลายเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการช่วยคนพิการทางการได้ยินให้มีโอกาสสร้างอาชีพของตน เช่น เปิดร้านขายของ หรือ ให้บริการขนส่งอาหาร ซึ่งทาง TTRS มีช่องทางบริการพิเศษที่ร่วมมือกับทางบริษัท Grab เพื่อให้บริการคนส่งอาหารที่หูหนวกโดยเฉพาะ และสุดท้ายก็คือเรื่องสวัสดิภาพของคนพิการทางการได้ยิน 

“TTRS จึงรองรับการใช้งานใน 3 บริบท หนึ่ง คือ การใช้งานทั่วไป สอง คือ เพิ่มมูลค่าประกอบอาชีพ อันที่สามคือ การทำเรื่องสวัสดิการ ไม่ว่าจะเป็นด้านสุขภาพ และความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน เราคิดว่า ทั้งสามอันนี้จะทำให้คนหูหนวกได้ชีวิตอย่างเป็นปกติได้ดียิ่งขึ้น”

และเหนือสิ่งอื่นใด ก็คือ ความสุขและความภูมิใจเล็ก ๆ ที่ได้เป็นหนึ่งในฟันเฟืองสำคัญที่สร้างรอยยิ้มให้กับคนพิการทางการได้ยินเหล่านี้ 

บริหารจัดการ “ล่ามก้าวข้ามข้อจำกัดเพื่อชีวิตปกติของคนหูหหนวก

แม้จะมีเทคโนโลยีที่ได้รับการพัฒนาออกแบบเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของคนพิการทางการได้ยินในสังคมไทยได้มากขึ้น แต่สำหรับนับดาว และเรวัต สองคนพิการทางการได้ยิน สิ่งที่ยังต้องการจาก TTRS คือ การเพิ่มจำนวนล่ามภาษามือให้มีมากขึ้น เนื่องจากล่ามภาษามือของศูนย์ TTRS ที่มีอยู่ในปัจจุบัน แม้จะเยอะขึ้นกว่าในอดีต แต่ก็ยังมีไม่เพียงพอต่อการใช้งาน 

ชนัญชิดา ชีพเสรี หัวหน้าล่ามภาษามือ ประจำศูนย์ TTRS กล่าวว่า ในฐานะล่าม ไม่ว่าอย่างไรก็อยากที่จะให้ความช่วยเหลือคนพิการทางการได้ยินให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่ด้วยข้อจำกัดหลายประการ ทำให้ล่ามไม่สามารถตอบสนองความต้องการของคนพิการทางการได้ยินได้อย่างทั่วถึง และเป็นโชคดีอย่างมาก ที่มีหน่วยงานและนักวิจัยอย่าง A-MED ที่เห็นความสำคัญจำเป็นและนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการบริหารจัดการ ทำให้การทำงานของล่ามเป็นระบบและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ทั้งนี้ ล่ามภาษามือ ถือเป็นเครื่องมืออำนวยความสะดวกหรือสื่อกลางที่ทำหน้าที่ถ่ายทอดสาร รวมถึงอารมณ์ความรู้สึกของคนพิการทางการได้ยินให้คนในสังคมทั่วไปได้เข้าใจความคิดความต้องการของผู้คน ซึ่งการมีล่าม ไม่เพียงช่วยให้คนหูหนวกเหล่านี้สื่อสารได้รู้เรื่องเท่านั้น แต่ยังมีผลต่อความมั่นคงทางจิตใจ ตลอดจนความภาคภูมิใจของคนพิการทางการได้ยินเหล่านี้ เพราะในท้ายที่สุดแล้ว สิ่งที่คนเหล่านี้ต้องการจริงๆ ก็คือการใช้ชีวิตได้อย่างเท่าเทียมกับคนปกติทั่วไป และความรู้สึกที่ว่าตนเองสามารถสื่อสารด้วยตนเองได้ โดยไม่ต้องไปรบกวนคนรอบข้าง คือ สิ่งที่คนพิการหรือบกพร่องทางการได้ยินต้องการมากที่สุด

“การใช้ชีวิตของคนหูหนวก เขาต้องการใช้ชีวิตอิสระด้วยตัวของตนเอง เรามีหน้าที่คือช่วยในการสื่อสาร”

ชนัญชิดา กล่าวว่า เทคโนโลยีที่ทาง A-Med ประยุกต์และปรับปรุงพัฒนาขึ้นมานี้ไม่เพียงช่วยให้ล่ามสามารถให้ความช่วยเหลือคนพิการทางการได้ยินโดยก้าวข้ามข้อจำกัดด้านสถานที่และเวลา รวมถึงประหยัดต้นทุนค่าใช้จ่ายต่างๆ อย่างการเดินทาง เท่านั้น แต่ยังเป็นระบบจัดเก็บข้อมูลที่ช่วยในการบริหารจัดการล่ามได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้รู้ว่าช่วงเวลาสดที่ต้องจัดสรรล่ามให้มากหน่อย ช่วงไหนที่ลดจำนวนล่ามลงได้ ช่วยคัดแยกสารเพื่อลดการรอคิว ทำให้สามารถจัดสรรเวลาบริการได้ 7 วัน 24 ชั่วโมง เพียงแต่ในช่วงกลางคืนจะจำกัดเฉพาะบริการฉุกเฉินเท่านั้น

“จากที่แต่ก่อนการใช้ล่ามภาษามือจะจำกัดอยู่แค่ธุระสำคัญ เช่น การไปพบแพทย์ การเข้าพบหน่วยงานราชการ การทำบัตรประจำตัวประชาชน การนัดสัมภาษณ์งาน หรือการสอบเข้าเรียนต่างๆ ล่ามก็สามารถให้บริการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของคนพิการทางการได้ยินมากขึ้น”

การเป็นล่ามออนไลน์ หรือล่ามภาษามือผ่านโปรแกรมของ TTRS ทำให้เวลาหนึ่งวันและหนึ่งชั่วโมงในการทำงานสามารถทำงานให้บริการแก่คนพิการทางการได้ยินได้มากกว่า 60-70 สาย ซึ่งในฐานะหัวหน้าล่ามภาษามือ ประโยชน์ของเทคโนโลยีนวัตกรรมที่นำมาใช้ไม่เพียงทำให้คนพิการมีความสุขมากขึ้นเท่านั้น แต่ยังมีส่วนสำคัญในการเพิ่มพูนทักษะและพัฒนาขีดความสามารถของล่ามภาษามือได้อีกทางหนึ่งด้วย

กล่าวได้ว่า สำหรับคนหูหนวก TTRS คือ บริการถ่ายทอดการสื่อสารที่สะดวก รวดเร็ว ใช้งานง่าย ได้ทุกที่และทุกเวลา และไม่จำกัดจำนวน ตลอดจนระยะเวลาการโทรศัพท์ ขณะที่สำหรับล่าม TTRS ก็คือ ศูนย์รวมที่สุดแห่งองค์ความรู้และประสบการณ์ที่จะทำให้ล่ามได้ขัดเกลาฝีมือตนเองพร้อมๆ ไปกับการให้ความช่วยเหลือคนพิการทางการได้ยินให้ทั่วถึงมากขึ้น 

“ล่ามสามารถประหยัดเวลาในการรอและการเดินทางซึ่งล่ามอาจจะไปให้บริการกับคนพิการทางการได้ยินรายอื่น ๆ ได้  เทคโนโลยีทำให้เราได้พบเจอคนหูหนวกทุกช่วงวัย ตั้งแต่วัยเด็กไปจนถึงวัยผู้สูงอายุ เจอคนหูหนวกทุก ๆ รูปแบบ ตั้งแต่ ผู้ที่สามารถใช้ภาษามือได้ หรือคนที่ใช้ภาษามือชุมชน หรือเด็ก ๆ ที่ใช้ภาษามือตามท่าทาง ส่งผลให้ล่ามมีคลังคำ มีคำศัพท์ที่จะช่วยให้ล่ามสื่อสารได้มากขึ้น กว้างขึ้น เป็นความสุขเล็ก ๆ ที่เราสามารถทำให้เขาสามารถสื่อสารผ่านไปได้ โดยที่คนหูดีก็เข้าใจ คนหูหนวกก็เข้าใจและได้ตามความต้องการ และล่ามได้พัฒนาทักษะตนเอง ได้มองภาษาเป็นภาพในมุมมองเดียวกันกับคนหูหนวก”

บริการที่หลากหลายและช่องทางที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้มีผู้เข้ามาใช้บริการเพิ่มมากขึ้น โดยกลุ่มหลัก ๆ ยังคงเป็นคนพิการทางการได้ยิน และมีหน่วยงานหรือองค์กรที่เห็นความสำคัญก็เข้ามาใช้บริการด้วยเช่นกัน ซึ่งบริการล่ามภาษามือออนไลน์นี้เป็นบริการฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย 

อย่างไรก็ตาม แม้จำนวนผู้ที่เข้ามาลงทะเบียนใช้งานจะมีถึง 40,000 คน แต่เมื่อเทียบกับสัดส่วนคนพิการทางการได้ยินทั้งหมดในประเทศถือได้ว่ายังน้อย อีกทั้งมีอีกจำนวนไม่น้อยที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการของ TTRS ได้เพราะขาดแคลนอุปกรณ์เทคโนโลยี 

ขณะเดียวกัน สิ่งที่ชนัญชิดา เรียกร้อง “ความเข้าใจ” จากสังคม ทั้งในเรื่องของความเข้าใจคนพิการทางการได้ยิน และความเข้าใจในการทำงานของล่ามภาษามือ เพราะล่ามภาษามือ คือ สิ่งจำเป็นสำหรับคนพิการทางการได้ยินจริง ๆ 

นอกจากนี้ ล่ามออนไลน์ยังช่วยเปิดโอกาสใหม่ ๆ ในชีวิตให้กับคนพิการทางการได้ยิน เช่น การมีอาชีพหรือหน้าที่การงานที่คนหูหนวกสามารถทำได้มากขึ้น

ในฐานะล่าม สิ่งที่ต้องการ คือ การที่ได้พัฒนาตนเองไปเรื่อย ๆ เพื่อให้ความช่วยเหลือคนพิการทางการได้ยิน อยากให้คนหูหนวกเข้ามาใช้บริการมากขึ้นและอยากให้คนหูดีอย่าปฎิเสธการรับสายจาก TTRS     

“เหนือสิ่งอื่นใด ต้องขอบคุณที่มีหน่วยงานอย่าง A-MED เห็นความสำคัญและนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วย สิ่งที่ A-MED ทำมาจากความต้องการของคนหูหนวก มีการสอบถามแล้วนำข้อมูลจากคนหูหนวกมาทำต่อ อันนี้ถือเป็นสิ่งที่คนหูหนวกต้องการจริง ๆ ต้องขอบคุณตรงนี้ เพราะถ้าไม่ได้เทคโนโลยี การสื่อสารก็ไม่สามารถไปต่อได้”

เพื่อโลกที่ “คนทุกคน” สื่อสารได้อย่างเท่าเทียม 

ในส่วนของแผนงานในอนาคต ทาง ศาสตราจารย์วิริยะ กล่าวว่า ต้องการขยายการให้บริการล่ามภาษามือให้ครอบคลุมกับความต้องการของคนพิการทางการได้ยินให้มากที่สุด โดยหนึ่งในเป้าหมายหลักของศูนย์ คือ การเข้าไปในระบบการศึกษาและช่องทางอื่น ๆ เช่น อาชีพและการจัดหางานเพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตของคนหูหนวก ซึ่งปัจจุบันยังมีน้อยอยู่ โดยเฉพาะในด้านการศึกษา ที่ถ้าหากทำให้คนหูหนวกสามารถเรียนร่วมกับคนทั่วไปในห้องเรียนเหมือนกับที่คนพิการทางสายตาสามารถทำได้เพราะมีสื่ออย่างหนังสือเสียงและอักษรเบลล์เข้ามาช่วย 

“การศึกษาจะทำให้คนหูหนวกมีศักยภาพไม่แตกต่างจากคนทั่วไป และสามารถทำให้คนหูหนวกเข้าไปศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยได้ โดยไม่ยุ่งยาก สามารถเข้าไปศึกษาในมหาวิทยาลัย โดยมี Tablet ติดตัวไปแค่เครื่องเดียวก็สามารถใช้บริการล่ามได้เลย เพราะฉะนั้นก็จะช่วยให้คนหูหนวกเข้าถึงองค์ความรู้ได้ดี” 

นอกจากนี้ ทาง TTRS ยังให้คำมั่นที่จะเดินหน้าพัฒนาปรับปรุงการให้บริการเพื่อตอบโจทย์ปัญหาและความต้องการของคนพิการทางการได้ยินเพื่อช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนพิการทางการได้ยินในสังคมไทยได้มากยิ่งขึ้น ภายใต้ความช่วยเหลือของ A-MED ซึ่งเดินหน้าพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อให้ความช่วยเหลือคนพิการในทุกกลุ่มทุกประเภท ไม่เพียงเฉพาะคนพิการทางการได้ยิน ให้สามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุขและยืนหยัดพึ่งพาตนเองได้ 

ขณะที่สำหรับ นับดาว และ เรวัต ในฐานะคนพิการทางการได้ยิน บริการของ TTRS ไม่เพียงแต่เป็น “โซลูชัน” ที่เข้ามาช่วยให้สามารถดำรงชีวิตในสังคมอยู่ได้อย่างสะดวกสบายมากขึ้นเท่านั้น แต่ยังช่วยแบ่งเบาภาระ และเพิ่มความเข้าใจที่คนทั่วไปมีต่อคนพิการทางการได้ยินได้

“พอได้ใช้แล้ว ดีมากเลย ช่วยแก้ปัญหาอุปสรรคด้านการสื่อสารที่เคยมีมาในอดีต TTRS ช่วยทำให้ปัญหาการสื่อสารลดลง เป็นไปอย่างง่ายดายขึ้น และเป็นประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตของคนหูหนวกอย่างแท้จริง ได้ใช้บริการเป็นประจำทุกวัน คุยเรื่องทั่วไปกับคนหูดี ไปหาคุณหมอ โทรศัพท์สั่งอาหาร โทรหลาย ๆ อย่าง อยากให้มีล่ามเพิ่มขึ้น และอยากให้ TTRS พัฒนาในด้านอุปกรณ์ ช่วยเพิ่มอุปกรณ์ให้มากขึ้น เพราะตนเองรู้สึกว่า มีไม่เพียงพอ อยากให้มีอุปกรณ์ที่จะเข้ามาช่วยคนพิการทางการได้ยินให้สามารถสื่อสารได้ทั่วถึงมากขึ้น หวังว่า จะมีอุปกรณ์ต่าง ๆ ให้เข้ามาใช้บริการได้อย่างครบถ้วน” นับดาว กล่าว 

ทั้งนี้ ทั้งสองต่างหวังให้มีการประชาสัมพันธ์บริการของ TTRS ให้เป็นที่รู้จักทั้งในหมู่ของคนพิการ หน่วยงานรัฐและเอกชน ตลอดจนคนในสังคมทั่วไปได้มากขึ้น

NOTE : 

ปัจจุบัน TTRS มีอยู่ 9 บริการ สำหรับคนพิการทางการได้ยิน มีบริการ 2 ประเภท คือ ข้อความ และ วิดีโอ สำหรับคนพิการทางการพูด มีบริการปรับปรุงเสียงพูด 

9 บริการประกอบด้วย 

  1. บริการถ่ายทอดการสื่อสารแบบข้อความสั้น (SMS)
  2. บริการถ่ายทอดการสื่อสารแบบรับ-ส่งข้อความผ่านแอปพลิเคชัน TTRS Message
  3. บริการถ่ายทอดการสื่อสารแบบสนทนาข้อความผ่านแอปพลิเคชัน TTRS Live Chat
  4. บริการถ่ายทอดการสื่อสารแบบสนทนาข้อความบนอินเทอร์เน็ต
  5. บริการถ่ายทอดการสื่อสารแบบสนทนาวิดีโอบนอินเทอร์เน็ต และผ่านโทรศัพท์วิดีโอ
  6. บริการถ่ายทอดการสื่อสารแบบสนทนาวิดีโอผ่านแอปพลิเคชัน TTRS Video
  7. บริการถ่ายทอดการสื่อสารแบบสนทนาวิดีโอผ่านเครื่องบริการถ่ายทอดการสื่อสารสาธารณะ (ตู้ TTRS)
  8. บริการถ่ายทอดการสื่อสารแบบแปลงเสียงเป็นข้อความผ่านแอปพลิเคชัน TTRS Caption
  9. บริการถ่ายทอดการสื่อสารแบบปรับปรุงเสียงพูด

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ