TH | EN
TH | EN
หน้าแรกInterviewเปิดเคล็ดลับการทำงานของ “อ้อ-พรทิพย์ กองชุน” ผู้หญิงคุณภาพของวงการเทคโนโลยีและสตาร์ทอัพไทย

เปิดเคล็ดลับการทำงานของ “อ้อ-พรทิพย์ กองชุน” ผู้หญิงคุณภาพของวงการเทคโนโลยีและสตาร์ทอัพไทย

หากเอ่ยชื่อ “อ้อ-พรทิพย์ กองชุน” คนในสายเทคโนโลยีไม่มีใครไม่รู้จักผู้หญิงคนนี้ ผู้บริหารคนแรกของ Google ในประเทศไทย เป็นผู้บุกเบิกตลาดในไทยให้ Google และนำนวัตกรรมของ Google เข้ามาให้เกิดการใช้อย่างแพร่หลายในประเทศไทยตลอดทศวรรษที่ผ่านมา

ปัจจุบัน “อ้อ-พรทิพย์ กองชุน” ผู้ร่วมก่อตั้งและ CGO (Chief Growth Officer) ของ Jitta สตาร์ทอัพฟินเทคที่มีความแข็งแกร่งทั้งผลิตภัณฑ์และฐานตลาด ผู้หญิงคนนี้ไม่ได้เรียนมาทางโนโลยี แต่เกือบตลอดเส้นทางชีวิตที่ผ่านมาเธอล้วนทำงานกับบริษัทเทคโนโลยี จนกระทั่งมาทำบริษัทของตัวเองที่เป็นฟินเทค

อ้อเล่าให้ The Story Thailand ฟังว่า เริ่มต้นทำงานที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ช่วงนั้นปี 2000 อินเทอร์เน็ตเริ่มเกิด อุตสาหกรรมท่องเที่ยวคืออุตสาหกรรมที่เข้าสู่ออนไลน์ก่อนใคร ทั้งบริการจองตั๋วออนไลน์ จองแพ็กเกจออนไลน์ ทำให้เห็นว่าอุตสาหกรรมนี้เริ่มมีการทำธุรกิจด้วยรูปแบบใหม่ จึงย้ายจากททท. หลังจากทำงานที่ททท. อยู่ 2 ปี ไปทำธุรกิจท่องเที่ยวออนไลน์ ที่ Passion Asia ทำในส่วนงานเทคโนโลยี แต่ตอนนั้นไม่มีความรู้เกี่ยวเทคโนโลยีและออนไลน์ จึงศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับการทำธุรกิจออนไลน์ 

การทำงานที่นี่ทำให้เธอมั่นใจว่าเธอชอบเทคโนโลยี พอทำได้ราว 3 ปี เธอจึงย้ายมาทำงานที่ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย ทำในส่วนของงานธุรกิจเอ็นเตอร์ไพร์ส อาทิ ERP และ CRM (สมัยนี้เรียก Microsoft Dynamic) ตอนนั้นไมโครซอฟท์ไม่มีผลิตภัณฑ์เหล่านี้ ทีมอ้อเป็นทีมแรกที่ทำผลิตภัณฑ์นี้ ทำให้ได้เรียนรู้เกี่ยวกับการทำงานกับพันธมิตรและระบบนิเวศในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีในประเทศไทย 

ที่ไมโครซอฟท์เธอได้เรียนรู้เรื่องการสร้างช่องทางการ การสร้างพันธมิตร การสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ในตลาด ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่ดูแลตอนนั้น เป็นสินค้าใหม่ ต้องทำวิจัยตลาดและวางแผนการตลาด สิ่งที่เรียนรู้ตรงนั้นดีมาก ๆ หลังจากทำที่ไมโครซอฟท์ได้ 2 ปี Google ประกาศรับ Country Consultant ของประเทศไทย ซึ่งตอนนั้น Google เปิดไม่กี่ประเทศ มีไทย เวียดนาม และฟิลิปินส์ เป็นการทดลองตลาดที่ Google ยังไม่มีธุรกิจอยู่ เธอจึงตัดสินใจสมัคร และผ่านการสัมภาษณ์หลายรอบ ทำให้รู้ว่า Google ต้องการเข้ามาทำธุรกิจในตลาดที่ไม่เคยทำมาก่อน ต้องเริ่มตั้งแต่ศูนย์ เริ่มจากจะทำธุรกิจในไทยอย่างไร ต้องสร้างทีม สร้างพันธมิตร สร้างตลาด 

ประสบการณ์ที่ได้ทำงานที่ไมโครซอฟท์ทำให้เธอมีความสามารถที่ตรงความต้องการของ Google จนได้ทำงานที่ Google หลังจากผ่านการสัมภาษณ์ 3 เดือน และต้องโชว์ไอเดียว่าจะทำธุรกิจ Google ในไทยอย่างไร (ซึ่งเหมือนการ pitch ของสตาร์ทอัพ) 

จุดเริ่มต้น Google Thailand 

อ้อบอกว่า เคล็ดลับที่ทำให้ได้งานที่ Google คือ การนำสิ่งที่คนคิดว่าเป็นจุดแข็งที่สุดของ Google ในไทย ซึ่งจริง ๆ เป็นจุดอ่อนที่สุด คือ Google Search คนรู้จัก Google มากที่สุดตอนนั้นจาก Google Search ในไทยมีคนรู้จักแต่ยังไม่โด่งดังมาก (ตอนนั้นปี 2005 Google เป็นบริษัทที่กำลังโต เหมือนเป็นสตาร์ทอัพเข้ามาใหม่ในประเทศไทย) ​Google Search เป็นจุดแข็งทั่วโลกแต่เป็นจุดอ่อนในไทย เธอเสนอว่า Google ควรจะแก้ปัญหาเรื่อง Google Search ภาษาไทยคนไทยค้นหาแล้วพบสิ่งที่ต้องการ จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับ Google ในการเข้ามาทำธุรกิจในประเทศไทย ก่อนขยายสู่ผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ต่อมาเธอวิเคราะห์ภูมิทัศน์ธุรกิจ รวมถึงเสนอแผนงานในการบุกตลาด Google ในไทย จนเธอได้รับข้อเสนอเป็น Country Consultant ประจำประเทศไทยของ Google

ประสบการณ์การทำงานของเธอคลุกคลีอยู่กับการสร้างตลาดใหม่ สร้างธุรกิจใหม่ นำผลิตภัณฑ์ใหม่เข้าสู่ตลาดซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของธุรกิจต่าง ๆ ในช่วงนั้น ๆ ประสบการณ์การทำงานที่อ้อได้เรียนรู้เรื่องการทำโครงการ (Project Management) 

ทำงานที่ Google มา 10 ปี ทำงานเยอะมาก มีการเวียนตำแหน่งและความรับผิดชอบหลากหลาย ดูแลประเทศไทย ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และเวียดนาม แต่สิ่งที่ภูมิใจสุด คือ ตอนที่มาโฟกัสประเทศไทย หลังจากที่เริ่มต้นที่ประเทศไทยและตระเวนไปทำงานในทุกประเทศใน SEA จน 4 ปีหลังกลับมาโฟกัสที่ประเทศไทย

พันธกิจแรก คือ การทำให้ Google Search เป็นที่นิยมในประเทศไทย เริ่มจากการทำให้ Google Search เข้าใจภาษาไทย ด้วยการทำงานใกล้ชิดกับนักพัฒนาของ Google และนำเสนอถึงความสำคัญของการทำให้ Google Search ภาษาไทยมีแข็งแรง เพื่อเป็นผลิตภัณฑ์ที่จะเปิดประตูตลาดประเทศไทย 

“อ้อ เป็นหนึ่งใน 4 Country Consultant ที่ได้นำเสนอ Eric Schmidt ถึงความสำคัญของการทำ Google Search ภาษาไทยให้แข็งแรง จนทำให้ Google Search ประสบความสำเร็จในตลาดไทย ซึ่งทำให้ Google มีโอกาสนำผลิตภัณฑ์อื่น ๆ เข้ามาให้คนไทย ธุรกิจไทยได้ใช้ ซึ่งผลิตภัณฑ์ต่อมาคือ Google AdWords เป็นตัวที่ทำให้เห็นว่าประเทศไทยมีโอกาสทางธุรกิจมากขึ้นได้อย่างไร”

อ้อทำผลิตภัณฑ์ทุกตัวของ Google ที่ต้องทำเป็นภาษาไทย แต่ผลิตภัณฑ์ที่เธอภาคภูมิใจมาก คือ Google Maps (และ Google Street View) และ YouTube เพราะเป็นผลิตภัณฑ์ของ Google ที่สร้างผลกระทบ (impact) ให้กับคนไทย

Google Map คือ แอปหนึ่งที่คนไทยใช้มาก แทบทุกคนใช้ Google Map เพื่อนำทาง ธุรกิจเอสเอ็มอีได้อานิสงส์จาก Google My Business ที่ทำให้เอสเอ็มอีได้ใช้ประโยชน์จาก Google Map อย่างเต็มที่ สร้างผลกระทบต่อการขยายโอกาสทางธุรกิจให้กับเอสเอ็มอีไทย นี่คือความภูมิใจของเธอ

การเปิดตัว YouTube Thailand ในประเทศไทย เป็นการสร้างระบบนิเวศคอนเทนต์บน YouTube เป็นอีกหนึ่งผลงานของเธอที่ใช้เวลา 5 ปีจนเปิดตัว YouTube ประเทศไทย (YouTube.co.th) สำเร็จ ที่มาพร้อมกับระบบธุรกิจของ YouTube ในประเทศไทย มีการสร้างระบบสนับสนุนและแบ่งรายได้กับครีเอเตอร์ 

“ก่อนหน้านี้คนไทยดูยูทูปเยอะมาก และมีคอนเทนต์บนยูทูปจำนวนหลายล้านวิว แต่ครีเอเตอร์ไทยไม่สามารถสร้างรายได้บนยูทูปได้ การเปิดตัวยูทูปในไทย เป็นการสร้างธุรกิจและระบบนิเวศให้กับเจ้าของคอนเทนต์ไทย ก่อนหน้านั้นยูทูปในไทยโตเฉพาะจำนวนคนดู พอเปิดตัวยูทูปในไทยจำนวนยูทูปครีเอเตอร์เพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด” 

การมี YouTube Thailand ทำให้เกิดการสร้างคอนเทนต์ภาษาไทยจำนวนมากขึ้นอย่างก้าวกระโดด และจากเดิมที่อาจจะมีแต่คอนเทนต์บันเทิงที่มีสัดส่วนคอนข้างมาก ยูทูปมีคอนเทนต์มากมายหลากหลายตอบโจทย์ความต้องการของผู้คนได้ คนสามารถเข้าไปหาข้อมูลความรู้จาก YouTube ได้เหมือนกับที่ใช้ Google 

ทั้ง 3 ผลิตภัณฑ์ที่คนไทยใช้ทุกวัน Google Search, Google Map และ YouTube คือ 3 แพลตฟอร์มที่สร้างประโยชน์ทั้งให้กับผู้ใช้งานทั่วไปและธุรกิจ เป็น 3 ผลิตภัณฑ์ที่เธอปลุกปั้นให้เกิดในประเทศไทย นี่คือความภูมิใจของอ้อ และนั่นคือโปรเจกต์สุดท้ายของอ้อที่ Google 

เริ่มออกเดินทางสู่ความฝัน 

ก่อนที่เธอจะตัดสินใจมาเริ่มต้นใหม่อีกครั้งที่ Jitta …

ที่ออกจาก Google เพราะอยากออกมาหาความท้าทายใหม่ แต่การตัดสินใจเดินออกจากบริษัทที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก เป็นเรื่องที่ยากลำบากอยู่เหมือนกัน เธอใช้เวลาตัดสินใจอยู่นานพอสมควร จนหนึ่งได้ฟัง “แลร์รี เพจ” ผู้ร่วมก่อตั้ง Google พูดใน All Hand ว่า “If you are not doing something that are crazy, then you are doing the wrong thing.” ประโยคนั้นทำให้เธอตัดสินใจว่า สิ่งที่ทำที่ Google นั้นยังไม่ Crazy พอ 

“ถ้าเราไม่ตัดสินใจตอนนั้น อ้อก็ยังอยู่ที่ Google สบาย ๆ ใน comfort zone ของเรา แต่ประโยคนั้นของ แลร์รี เพจ ทำให้อ้อตัดสินใจมาทำ Jitta เพราะถ้าไม่ออกมาทำสตาร์ทอัพเองในเวลานั้น คือ ปี 2015 ก็อาจจะไม่ใช่เวลาที่ดีที่เริ่มทำสตาร์ทอัพก็ได้”

ที่ทำ Jitta เพราะอยากทำในสิ่งที่เราเริ่มต้นด้วยตัวเธอเอง ที่ Google แม้เธอจะได้ริเริ่มโปรเจกต์และทำจนประสบความสำเร็จแต่เธอไม่ได้เริ่มจากศูนย์ เธอมีทรัพยากรของบริษัทและทีมงานสนับสนุน เธออยากรู้ว่าหากเธอไม่มีสิ่งเหล่านั้นเธอจะยังทำได้อยู่ไหม

“อ้ออยากรู้ว่าหากนามสกุลอ้อไม่ใช่ Google อ้อจะทำได้หรือไม่ ถ้าเป็น “พรทิพย์ จิตตะ” อ้อจะสร้างให้เป็นแบรนด์ดิ้งได้ไหม และอ้อมีความมั่นใจในการก้าวครั้งนี้ เพราะอ้อและ co-founder อีกสองท่านเรารู้จักกันมานานนับสิบปี มั่นใจว่าเรามาทำงานในองค์กรที่เรารู้จักเป็นอย่างดี”

ที่ Jitta คือ Build from Scratch ต้องสร้างขึ้นใหม่หมด ตั้งแต่แบรนด์ดิ้ง เริ่มต้นจากการที่ไม่มีทีมงานด้วยซ้ำไป แต่เธอมีความมั่นใจในแนวคิดของ Jitta ที่จะสร้างแพลตฟอร์มที่คนทั่วโลกสามารถใช้งานได้และจะเปลี่ยนแปลงโลกของการลงทุน พันธกิจชัดมากที่จะช่วยคนบนโลกนี้สร้างความมั่งคั่งด้วยวิธีที่ง่ายที่สุดเพราะเทคโนโลยีจะเข้ามาช่วยเรื่องการลงทุน เหมือนการ shooting the moon เป็นสิ่งที่อยากที่จะต้องไปถึงให้ได้ และมีโอกาสที่จะเป็นไปได้ 

“เป็นความตั้งใจ ความหวังดีที่อยากให้คนได้รับประโยชน์ ต่อให้เราทำออกมาแล้วไม่มีใครใช้เลย เราจะใช้เอง แต่พอให้เพื่อน ๆ ลองใช้งานและบอกว่าเป็นประโยชน์กับเขา เขาได้ประโยชน์ เราต้องทำให้สิ่งนี้เกิดประโยชน์ในวงกว้าง”

สิ่งที่ Google และ Jitta มีเหมือนกัน คือ การโฟกัสที่พันธกิจ (mision) และโฟกัสในทุกสิ่งที่ทำเพื่อตอบพันธกิจ ที่ Jitta โฟกัสที่จะช่วยให้นักลงทุนมีผลกำไรด้วยวิธีที่ง่ายขึ้นได้ สิ่งนี้คล้ายกับ Google ช่วงแรก ๆ ที่มีแค่ search และทยอยมีผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ออกมาเพื่อตอบโจทย์พันธกิจที่ต้องการ “to organize the world’s information and make it universally accesible and useful

Jitta ก็เช่นกัน มีพันธกิจที่มุ่งมั่น to help global investors create better returns through simple methods และไม่ใช่ผลิตภัณฑ์วิเคราะห์หุ้นเท่านั้น แต่ยังมีผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ที่ทำให้คนได้ผลตอบแทนที่ดีขึ้นจากการลงทุน สร้างความมั่งคั่งได้ 

Jitta คือแพลตฟอร์มวิเคราะห์หุ้น อายุ 10 ปี วิเคราะห์หุ้นตลาดอเมริกาเป็นตลาดแรก ปัจจุบันมี 19 ตลาดหุ้นหลักทั่วโลก ครอบคลุมหุ้น 95% ของหุ้นที่ซื้อขายทั่วโลก และแข็งแกร่งมาก หลักการเลือกหุ้นที่ผ่านการวิเคราะห์จากอัลกอริธึมของ Jitta สามารถสร้างผลตอบแทนที่ดี 

connect the dots ……

อ้อสะสมองค์ความรู้มาตั้งแต่ทำงานที่แรกจนจบที่ Google ทั้งหมดหลอมรวมเป็นองค์ความรู้ที่ใช้กับ Jitta 

ที่เริ่มทำที่ททท. ไม่ใช่เกิดจาก passion แต่เกิดจากสถานการณ์ อ้อจบการเงิน แต่ช่วงนั้นวิกฤติต้มยำกุ้ง ทำให้เธอไม่สามารถทำงานตรงสาย เธอบอกว่าเธอไม่เลือกงาน รู้แต่ว่าต้องทำอะไรสักอย่าง เข้าไปทำงานที่ททท. เธอได้เรียนรู้เรื่องการบริหารโครงการ พอมาทำ Passion Asia กับรุ่นพี่ที่เคยอยู่ททท. เป็นสตาร์ทอัพสมัยโน้น ที่นี่เธอต้องทำทุกอย่างทั้งบัญชี HR แอดมิน คอนเทนต์ ทำทุกอย่าง ไม่ใช่สิ่งที่ชอบแต่เธอก็ทำ นอกจากนี้ ยังต้องทำเว็บ เธอต้องเรียนรู้ HTML เพราะต้องแก้เว็บเพราะนักพัฒนาไม่อยู่ ทั้งหมดที่ต้องรับผิดชอบทำให้เธอร้องไห้ตอนนั้น แต่ทำให้เธอขอบคุณในตอนนี้ 

“โชคดีมากเลยที่ต้องทำงานทุกอย่างที่ไม่มีคนทำ ทำให้ตอนนี้พอมาเป็นเจ้าของธุรกิจ ก็ต้องทำทุกอย่างเหมือนกัน ทั้งฝ่ายบัญชี การเงิน ฝ่ายการตลาด ฝายขาย ฝ่ายพัฒนาธุรกิจ ฝ่ายพัฒนาเทคโนโลยี ประสบการณ์จากทุกที่ที่ผ่านมมาหล่อหลอมให้อ้อมมีทักษะที่จะบริหารจัดการองค์กรอยู่ตอนนี้ อ้อจะสอนน้องในองค์กรตลอดว่า งานบางงานเราไม่ได้ชอบ แต่พอทำแล้วเรากลับได้ประสบการณ์ได้การเรียนรู้ งานยาก ๆ ยิ่งทำให้เราเก่งขึ้น เพราะฉะนั้นต้องอดทนที่จะทำให้ได้” 

เธอได้เรียนรู้ในสิ่งที่ไม่เคยทำ ต่อให้ใหม่แค่ไหนไม่เคยเห็นมาก่อนในชีวิตก็ไม่กลัวที่จะเรียนรู้ เธอยกตัวอย่างว่า เธออยู่โลกเทคโนโลยีมาทั้งชีวิต แต่ตอนที่ Jitta Wealth จะต้องขออนุญาตเป็นบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เธอต้องเรียนรู้ใหม่หมดว่าการจะเป็นบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนจะต้องทำอะไรบ้าง รวมถึงต้องเรียนรู้พรบ. และกฎระเบียบทุกอย่างของทุกหน่วยงานกำกับไม่ว่าจะเป็นตลาดหลักทรัพย์ฯ ก.ล.ต. ปปง. ธนาคารแห่งประเทศไทย 

“ตอนนั้นรู้สึกว่าเป็นโลกใหม่มากแต่ไม่เคยรู้สึกว่าจะทำไม่ได้ อ้อเป็นตัวหลักในเรื่องการขอใบอนุญาต จนได้รับใบอนุญาตเป็นบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนที่เน้นเทคโนโลยีด้วย เป็นระบบใหม่ที่เป็น Fintech เราเป็นเจ้าแรกที่ได้ใบนี้” 

เธอขอบคุณประสบการณ์การทำงานในช่วงที่ผ่านมาที่ต้องเริ่มต้นทำสิ่งใหม่ทุกครั้ง ทำให้เธอมีความมั่นใจว่าแม้จะไม่มีประสบการณ์ในเรื่องใหม่นั้น แต่เธอเชื่อมั่นว่าเธอมีทักษะสำคัญทักษะหนึ่ง คือทักษะที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ซึ่งเป็นทักษะที่เธอมองว่าเป็นทักษะที่จำเป็นในอนาคต ‘Learn how to Learn’ ไม่กลัว เรียนรู้ และเชื่อมั่นว่าจะทำได้ 

เป้าหมายสูงสุดในการทำงาน 

เนื่องจากเป็นคนที่ชอบทำงานมาก เป้าหมายสูงสุดของการทำงาน คือการได้ทำงาน เธอเชื่อว่าการได้ทำงานเหมือนได้เรียนรู้ประสบการณ์ที่มากขึ้น ส่วนเป้าหมายในการทำงาน คือทำอย่างไรให้ Jitta ประสบความสำเร็จตามหมุดหมายที่ตั้งไว้ และจะท้าทายตัวเองตลอดเวลาว่าเมื่อไรจะถึงหมุดหมายที่วางไว้ ทำให้มีความสุขกับการทำงาน 

“ถ้าเราทำงานอย่างมีเป้าหมาย เป้าหมายนั้นจะมาทำงานให้เราเสมอ พอเรารู้ว่าเป้าหมายคืออะไร เป้าหมายจะเป็นตัวผลักดันที่ทำให้เราทำงานและเกิดงานขึ้น และขับดันให้เราสำเร็จไปเรื่อย ๆ ”​

สำหรับเป้าหมายระยะยาว คือการได้ทำงานแล้วงานนั้นสามารถนำไปใช้ต่อยอดได้ พอทำงานมาก ได้เรียนรู้ สะสมประสบการณ์มา สามารถนำไปถ่ายทอดให้คนอื่นได้ อยากจะถ่ายทอดองค์ความรู้ในการลงทุนเพื่อทำให้ชีวิตคนไทยดีขึ้นด้วยความรู้ในการบริหารจัดการเงิน 

อีกสิ่งที่ Google และ Jitta มีความเหมือนกัน คือการสร้างผลิตภัณฑ์ที่สร้างผลกระทบกับคนในสังคมและสิ่งนั้นจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตผู้คนที่ทำให้ชีวิตของเขาดีขึ้น 

แม้ว่างานทุกสิ่งที่เธอทำจะประสบความสำเร็จแทบทุกงาน (แต่ต้องฝ่าฝันอุปสรรคตลอดเส้นทางกว่าจะสำเร็จ) แต่เธอบอกว่า เธอยังไม่ประสบความสำเร็จ วันที่ Jitta กลายเป็นแพลตฟอร์ม (ของคนไทย) ที่คนทั่วโลกใช้งาน นั่นคือ ความสำเร็จ

โฟกัส และ อึด… เคล็ดลับความสำเร็จ

เคล็ดลับการทำงานของอ้อที่ทำให้เธอสะสมความสำเร็จตลอดเส้นทางการทำงาน 2 สิ่ง คือ การโฟกัส กับ Resilience (ความยืดหยุ่น) 

อ้อเป็นคนที่โฟกัสและมุ่งมั่นมาก แต่ละโปรเจกต์เธอจับแล้วจะกัดไม่ปล่อย ไม่ว่าจะยากแค่ไหนเธอจะมุ่งมั่นทำจนสำเร็จ แม้ว่าบางโปรเจกต์จะใช้เวลานานก็ตาม 

“หากเรามุ่งมั่นที่อยากจะทำอะไรให้สำเร็จ เราจะอยู่กับมันได้ จะโฟกัส ไม่ออกนอกลู่นอกทาง เรียกว่ามี “จิตตะ” (อิทธิบาทสี่) เราเป็นคนมุ่งมั่นและเอาใจใส่ ซึ่งเป็นมาโดยตลอด” 

เธอบอกว่า ที่ Jitta เองก็ต้องมี “จิตตะ” เพราะตอนนี้มีโอกาสทางธุรกิจใหม่เกิดขึ้นมาก แม้ Jitta ยังไม่คว้าโอกาสทันที Jitta แต่ไม่ได้ปิดกั้น แต่จะต้องโฟกัสกับพันธกิจและสิ่งที่ทำ

นอกจากการโฟกัสแล้ว เธอบอกว่าเธอเป็นคนที่อึดมาก ไม่ย่อท้ออะไรง่าย ๆ เธออยู่กับปัญหาได้ และพยายามแก้ปัญหา ตอนทำ Jitta Wealth ช่วงแรก มีปัญหาให้แก้ทุกวัน เธอมีความสุขที่ได้เจอปัญหาและได้แก้ไขปัญหา 

“อ้ออึดมาก ล้มเหลว ผิดพลาด ก็แก้ไข เราเรียนรู้มาตลอดทั้งชีวิตว่าเราต้องเจออุปสรรคไม่น้อยกว่าจะไปถึงเป้าหมายได้ ถ้าวันไหนถามทีมงานแล้วบอกว่าไม่มีปัญหาอะไร อ้อจะเครียด เพราะจะผิดปกติ และอ้อจะคิดว่าจะเจอสึนามิในไม่ช้า อ้อจะเตรียมตัวรับปัญหา คือถ้ามีปัญหาจะเป็นเรื่องปกติ อ้ออยู่กับปัญหาได้ นี่คือเคล็ดลับ คืออยู่กับความเจ็บปวดให้ได้ เราไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นจากปัจจัยภายนอกที่เราควบคุมไม่ได้และคาดไม่ถึง เราต้องเตรียมพร้อมและมีความยืดหยุ่นสูงและต้องอึดให้มาก” 

บทบาทของ co-founder ทั้งสามของ Jitta แบ่งกันชัดเจน เผ่า-ตราวุทธิ์ เหลืองสมบูรณ์​ CEO ดูแลวิสัยทัศน์และพันธกิจ รวมถึงยุทธศาสตร์ธุรกิจและการลงทุน ส่วนฮันท์- ศิระ สัจจินานนท์ จะดูเทคโนโลยีของ Jitta ส่วนอ้อดูแลธุรกิจทั้งหมดตั้งแต่การพัฒนาธุรกิจ ฝ่ายขาย การตลาด ทรัพยากรบุคคล ทั้งวางแผนและการดำเนินงาน 

พันธกิจ Jitta 

Jitta ยังเป็นจุดเล็ก ๆ ในภูมิทัศน์ของโลกการเงินการลงทุนของโลก ข้อมูลจาก PWC ระบุว่ามูลค่าการลงทุนโลก (AUM- asset under management) ของปี 2021 อยู่ที่ 150 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (หรือประมาณ 5,000 ล้านล้านบาท (ยังไม่รวมเงินที่ไม่เข้าระบบการลงทุน) Jitta Wealth ขอส่วนแบ่งการตลาดเพียง 1% ก็มีมูลค่า 1.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ โอกาสเรื่องการลงทุนทั่วโลกยังเยอะมาก Jitta ยังสามารถทำอะไรได้อีกมาก 

Jitta ใช้ประเทศไทยเป็นตลาดเริ่มต้นของ Jitta Wealth เพราะสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่คุ้นเคย และตลาดไทยไปได้เร็วเพราะฐานของคนที่รู้เรื่องการลงทุนและลงทุนในกองทุนน้อยมาก ประมาณ​ 7% ของประชากร ซึ่งถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับอเมริกาที่สัดส่วนนักลงทุนอยู่ที่ 50% ทั้ง ๆ ที่ประเทศไทยควรจะเป็นประเทศที่ควรจะมีแผนการลงทุนแผนทางการเงินที่ดีกว่าประเทศอื่น ๆ เพราะประเทศไทยอยู่อันดับสุดท้ายของเอเชียในดัชนีบำเหน็จบำนาญนานาชาติประจำปี 2021 (Global Pension Index 2021) แสดงว่าคนไทยยังไม่มีความรู้ ไม่มีเครื่องมือ หรือไม่มีเทคโนโลยีที่จะช่วยให้คนไทยวางแผนการเงินและเริ่มที่จะลงทุนและวางแผนอนาคตทางการเงินให้งอกเงินจนถึงยามเกษียณ

“ประเทศมีความจำเป็นที่จะต้องมีเครื่องมือที่จะช่วยให้เข้าถึงความรู้และการลงทุน นี่คือพันธกิจของ Jitta” 

ให้บริการ Jitta Wealth มา 2 ปี ปัจจุบันเป็นบลจ.ที่บริหารกองทุนส่วนบุคคล ที่มีเงินกองทุนมากเป็นอันดับหนึ่งของประเทศไทย มีประมาณ 60,000 กองทุน ที่ทำเช่นนี้ได้ เพราะ Jitta ใช้เทคโนโลยีมาช่วยทำให้สามารถขยายศักยภาพและรองรับกองทุนได้มาก 

ย่างก้าวของ Jitta ที่ผ่านการคิดและวางแผนของผู้ร่วมก่อตั้งทั้งสาม แม้ดูเหมือนจะไม่หวือหวาแต่เป็นก้าวอย่างที่มั่นคง เพราะธุรกิจของ Jitta สร้างอยู่บนความเชื่อใจและเชื่อมั่น …. วิสัยทัศน์ การโฟกัส และการไม่ยอมแพ้ของอ้อและทีมก่อตั้ง คือคำมั่นสัญญาว่าจะสร้าง Jitta ให้เป็นแพลตฟอร์มของคนไทยที่ช่วยคนไทยและคนทั่วโลกเข้าถึงการลงทุนได้ง่ายขึ้นและได้รับผลตอบทนที่ดี เพื่อสร้างความมั่นคงทางการเงินให้กับผู้คน

บทสัมภาษณ์อื่น ๆ ที่น่าสนใจ

‘ศุภชัย ปาจริยานนท์’ มากกว่าความเป็นหมอ คือ การขับเคลื่อนองค์กรด้วยนวัตกรรม และการเพิ่ม GPD ให้กับภูมิภาค

เปิดยุทธศาสตร์ “KX Endless Capital” กับบทบาท Venture Investment รูปแบบใหม่และพันธกิจขยายระบบนิเวศของ KX

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ