TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistวัคซีน "วาระแห่งชาติ" ที่ทำให้รู้ว่า .... บางคนไม่มีฝีมือ?

วัคซีน “วาระแห่งชาติ” ที่ทำให้รู้ว่า …. บางคนไม่มีฝีมือ?

ความอลวน ชักเข้า ชักออก ของหน่วยงานภาครัฐและรัฐบาลเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนที่เกิดขึ้นเฉพาะภายในเดือนพฤษภาคมเพียงเดือนเดียว สร้างความเข้าใจผิดรวมถึงความสับสนในข้อมูลให้กับประชาชนจำนวนมาก ซึ่งสันนิษฐานไม่ได้เลยว่า เกิดจากความมั่วในการบริหารจัดการ หรือ ความไม่รู้เพราะไม่เคยบริหารจัดการ

เริ่มจากกรณีการจองคิวฉีดวัดซีนโควิด-19 ที่ให้ลงทะเบียนผ่านแพลตฟอร์มหมอพร้อม ทั้งไลน์บัญชีทางการและแอปพลิเคชันสำหรับประชาชนใน 2 กลุ่มเป้าหมายแรก คือ ผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปี และผู้ป่วย 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง 

โดยจะเริ่มลงทะเบียนได้ตั้งแต่ 1 พฤษภาคม และฉีดต้นเดือนมิถุนายน 2564 เป็นต้นไป วันแรกของการลงทะเบียนมีปัญหาเพราะแพลตฟอร์มหมอ (ยังไม่) พร้อม ทำให้ในช่วงแรกมีผู้มาลงทะเบียนน้อยมาก จนเกิดการกระตุ้นรณรงค์ให้มาฉีดวัคซีนเพิ่มมากขึ้น 

วันที่ 14 พฤษภาคม 2564 นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ได้ให้สัมภาณ์ มีการปรับเปลี่ยนและเพิ่มช่องทางในการลงทะเบียนจองฉีดวัคซีน 3 ช่องทาง ประกอบด้วย 1.ลงทะเบียนผ่านหมอพร้อม 2.ลงทะเบียนผ่านอสม.ทั่วประเทศ หรือลงทะเบียนที่โรงพยาบาลที่มีสิทธิในการรักษา โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) 3.Walk in ช่วยให้ประชาชนเข้าถึงวัคซีนได้อย่างสะดวกสบาย และสามารถแก้ปัญหาที่อยู่ไม่ตรงกับบัตรประชาชน

รวมทั้งยังเป็นการพาวัคซีนไปหาประชาชนให้ใกล้ที่สุด โดยมีศูนย์ฉีดวัคซีนนอกโรงพยาบาล เช่น เซ็นทรัลลาดพร้าว สามย่านมิตรทาวน์ เดอะมอลล์บางกะปิ บิ๊กซีบางบอน และอีก 21 แห่ง

วันที่ 20 พฤษภาคม 2564 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีคำสั่งไม่ให้วอล์คอิน (Walk-in) แต่ให้ลงทะเบียน ณ จุดบริการ หรือ On-site Registration เพราะเกรงว่าอาจเกิดความเข้าใจผิดว่า ทุกคนที่เดินทางไปจะได้ฉีดในวันนั้น แล้วปรากฏว่าไม่ได้ฉีด จนอาจเกิดปัญหาตามมาได้

และนี่เองเป็นสาเหตุ ที่มาของประโยคเด็ดของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เรื่องวัคซีนว่า “ไม่ต้องให้ใครให้ข่าว ให้ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อ​ไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) เป็นคนให้ข่าวแห่งเดียว และอะไรที่ได้ข้อสรุปแล้วถึงค่อยออกมาพูด”

พร้อมทั้งย้ำว่า “ไม่มี Walk-in” ขอให้ประชาชนเข้าใจเรื่องการฉีดวัคซีนที่รัฐบาลได้ประกาศให้เป็นวาระแห่งชาติ  มีเพียง 3 ช่องทางในการลงทะเบียนจองฉีดวัคซีนเท่านั้น คือ 1.ลงะเบียนผ่านระบบหมอพร้อม  2.ลงทะเบียน ณ จุดบริการ และ 3.จัดสรรให้กับกลุ่มเฉพาะ

วันที่ 26 พฤษภาคม 2564 พลเอกณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะ ผอ.ศปก.ศบค.ได้รับคำสั่งจากพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะผอ.ศบค.ให้ปรับแผนการลงทะเบียนเพื่อรับการฉีดวัคซีนใหม่ ขอให้ชะลอการลงทะเบียนระบบหมอพร้อม แต่ให้ลงทะเบียนผ่าน แอปพลิเคชันเฉพาะของจังหวัดที่จะเริ่มในวันที่ 27 พฤษภาคม เวลา 12.00 น. โดยหมอพร้อมจะทำหน้าที่ในการติดตามการฉีดวัคซีนเข็ม 1-2 รวมทั้งผลข้างเคียง การออกใบรับรองการฉีดวัคซีนที่ครบถ้วน เท่านั้น

กรณีที่เกิดขึ้นทั้งหมด ยังไม่นับรวมผู้ที่มีอายุ 18–59 ปีที่เป็นคนธรรมดา ซึ่งยังไม่สามารถลงทะเบียนได้ เพราะแพลตฟอร์มยังไม่เปิด ซึ่งหลายคนร้อนใจมาก อยากจะฉีดวัคซีนเพื่อตัวเอง เพื่อครอบครัว และเพื่อประเทศชาติอันเป็นที่รัก อย่างที่ภาครัฐพยายามรณรงค์ แต่จากข้อมูลจะเห็นว่าการฉีดมีความพร้อมที่ไม่พร้อม น่าจะเป็นเรื่องวัคซีนมากกว่า ซึ่งมีผลต่อเรื่องภูมิคุ้มกันหมู่

นอกจากนี้ ยังมีกระแสข่าวเกี่ยวกับการปาดหน้าเค้ก มีกลุ่มคนอภิสิทธิ์ชนที่ได้ฉีดวัคซีน โดยไม่ต้องลงทะเบียน ในขณะที่คนลงทะเบียนไม่ได้ฉีด หรือกรณีวัคซีนแอสตร้าเซเนก้าที่ผลิตโดยบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด มีสัญญาจะส่งมอบให้รัฐบาลมีการเลื่อน พร้อม ๆ กับข่าวจากสาธารณสุขว่า ผู้สูงอายุมากกว่า 60 ปี สามารถฉีดวัคซีน Sinovac ได้ ทำให้เกิดกระแสความไม่ไว้วางใจรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เหมือนเป็นการบีบบังคับให้ฉีดวัคซีนยี่ห้อที่ไม่พึงประสงค์ ซึ่งอาจจะมีผลต่อชีวิตผู้ฉีด

เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2564 ที่ผ่านมา เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 138 ตอนพิเศษ 112 ง หน้า 37-38 เผยแพร่ประกาศราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ว่าด้วยการให้บริการทางการแพทย์และการสาธารณสุข ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และสถานการณ์ฉุกเฉินอื่น ๆ 

ตามที่ได้มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2563 และต่อมาได้ขยายระยะเวลาการบังคับใช้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าว ออกไปเป็นระยะอย่างต่อเนื่องจนถึงวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2564 นั้น เพื่อให้การให้บริการทางการแพทย์และการสาธารณสุขแก่ประชาชน ตลอดจนการให้ความช่วยเหลือ ผู้ยากไร้ ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และสถานการณ์ฉุกเฉินอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต ….. วิทยาลัยจุฬาภรณ์ว่าด้วยการให้บริการทางการแพทย์และการสาธารณสุข ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และสถานการณ์ฉุกเฉินอื่น ๆ ไว้  ของสำนักงานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ตามประกาศฉบับนี้ ให้ดำเนินการโดยคำนึงถึงประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับเป็นสำคัญ โดยให้พิจารณาถึงความสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล มติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์เป็นการเฉพาะ และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง

ประกาศ ณ วันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2564 ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ประธานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์และนายกสภาราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์

ในเวลาต่อมา ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จะจัดสรรและนำเข้าวัคซีนทางเลือก “ซิโนฟาร์ม” ของบริษัท ไบโอจีนีเทค จำกัด จำนวน 1 ล้านโดส เพื่อเป็นทางเลือกฉีดให้ประชาชน ซึ่งจะมีการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน ขณะเดียวกันเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เปิดเผยว่า วัคซีนของ “ซิโนฟาร์ม” ยื่นเอกสารครบถ้วนแล้วอยู่ระหว่างประเมินคำขอขึ้นทะเบียน

จะเห็นได้ว่า ตลอดเดือนพฤษภาคมนี้ ข้อมูลภาครัฐเกี่ยวกับ ช่องทางและวิธีการลงทะเบียน จำนวนวัคซีน ยี่ห้อวัคซีน การส่งมอบ ฯลฯ ล้วนมีแต่ความไม่ชัดเจน และปรับเปลี่ยนตลอดเวลา หนำซ้ำเมื่อมีการตั้งคำถาม ผู้ที่ต้องตอบกลับเฉยหรือตอบคำถามกำกวม ทั้งที่รัฐบาลบอกเสมอว่านี่เป็นวาระแห่งชาติที่ต้องสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้กับคนในชาติ

ดังนั้น ก่อนจะโทษประชาชน ควรพิจารณาตัวเองและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ก่อน ว่าทำดีหรือยัง และเต็มที่หรือเปล่า

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ