TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน ชะลอเพื่อพุ่งทยานไปต่อ

ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน ชะลอเพื่อพุ่งทยานไปต่อ

ข้อมูลจากสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ปี พ.ศ. 2560 ระบุว่า สถานพยาบาลในประเทศไทยมีจำนวน 38,512 แห่ง แบ่งเป็นสถานพยาบาลของรัฐ 13,364 แห่ง คิดเป็นสัดส่วน 34.7% สถานพยาบาลเอกชน 25,148 แห่ง คิดเป็น 65.3% 

โรงพยาบาลทั้งหมด หากแบ่งตามความสามารถในการให้บริการทางการแพทย์ จะมีสถานพยาบาลระดับปฐมภูมิ (Primary Care) มีจำนวนทั้งสิ้น 37,857 แห่ง คิดเป็น 98.3% ของสถานพยาบาลทั้งหมด ส่วนสถานพยาบาลระดับทุติยภูมิ (Secondary Care) และสถานพยาบาลระดับตติยภูมิ (Tertiary Care) จำนวน 664 แห่ง (1.7%) ซึ่งในจำนวนนี้ 294 แห่ง ประมาณ 0.7% ซึ่งเป็นโรงพยาบาลในสังกัดรัฐ กระทรวงสาธารณสุข องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ และกรุงเทพมหานคร ส่วนโรงพยาบาลเอกชน มีจำนวน 370 แห่ง หรือ 0.9%

โรงพยาบาลเอกชนจำนวน 370 แห่ง แบ่งเป็น โรงพยาบาลในกรุงเทพฯ 116 แห่ง และต่างจังหวัด 254 แห่ง 

ช่วงโควิดระบาดเมื่อปี 2563 ที่ผ่านมาธุรกิจโรงพยาบาล เป็นธุรกิจหนึ่งที่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากชาวต่างชาติที่เคยเข้ามารับการรักษา หรือตรวจสุขภาพที่โรงพยาบาลในประเทศไทย ไม่สามารถบินเข้ามาได้ จากนโยบายปิดน่านฟ้า ในขณะที่คนไข้หรือผู้ป่วยในประเทศเอง ถ้าไม่จำเป็นมากก็จะไม่ไปโรงพยาบาล

แต่ปี พ.ศ. 2564 นี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า รายได้และกำไรสุทธิของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน (ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ) น่าจะกลับมาฟื้นตัวดีขึ้น ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะฐานที่ต่ำในปีก่อนหน้า โดยมีรายได้ขยายตัวอยู่ที่ 1%-4% และกำไรสุทธิโต 15%-20% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ซึ่งสภาพการแข่งขันของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนจะยากและรุนแรงขึ้น จากผู้ประกอบการที่มีอยู่จำนวนมากในตลาด ขณะที่คนไข้ที่มีศักยภาพกลับไม่ได้เพิ่มขึ้นตาม กลุ่ม Medical Tourism ยังไม่กลับมาใช้บริการ ทำให้เกิดการแย่งชิงตลาดคนไข้ในประเทศ 

เครือโรงพยาบาลกรุงเทพดุสิตเวชการ ที่ประกอบไปด้วย 6 กลุ่ม คือ กลุ่มโรงพยาบาลกรุงเทพ กลุ่มโรงพยาบาลสมิติเวช โรงพยาบาลบี เอ็น เอช กลุ่มโรงพยาบาลพญาไท กลุ่มโรงพยาบาลเปาโล และกลุ่มโรงพยาบาลรอยัล ซึ่งเป็นเครือโรงพยาบาลเอกชนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มียอดรายได้และกำไร 

  • ปี พ.ศ. 2560 มีรายได้  72,839.41  ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 10,215.74  ล้านบาท
  • ปี พ.ศ. 2561 มีรายได้  79,406.93 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 9,191.46 ล้านบาท
  • ปี พ.ศ. 2562 มีรายได้  83,893.22 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 15,517.17 ล้านบาท
  • ปี พ.ศ. 2563 มีรายได้ 69,101.64  ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 7,214.24 ล้านบาท

แม้สถานการณ์โดยรวมของโรงพยาบาลเอกชนอาจจะยังไม่เข้าสู่ภาวะปกติ เหมือนช่วงก่อนหน้าโควิดระบาด แต่ธุรกิจยังคงไปได้ เพียงแต่กำไรจากผลประกอบการลดลงเล็กน้อย เชื่อกันว่าอีกไม่นานจะกลับมาสดใสเช่นเดิม ดูได้จากจำนวนโรงพยาบาลเอกชนที่เปิดใหม่ในช่วงระบาดของโควิดและหลังจากนี้

โรงพยาบาลเมดพาร์ค (Med Park) ย่านพระราม 4 จากความร่วมมือโรงพยาบาลมหาชัยและคณะแพทย์หลากหลายสาขา ที่เปิดให้บริการรักษาพยาบาลในเฟสแรกแล้วบางส่วน เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2563 ให้บริการรักษาโรคยากที่มีความซับซ้อนและโรคที่ยังหาวินิจฉัยไม่ได้หรือรักษาไม่หายตามแนวทาง destination medicine ของ Mayo Clinic ที่ Rochester Minnesota ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยมีแพทย์เฉพาะทางกว่า 30 สาขา สามารถให้บริการห้องตรวจผู้ป่วยนอก 300 ห้อง และสามารถรองรับผู้ป่วยค้างคืนได้ 550 เตียง โดยมีจำนวนเตียงผู้ป่วยวิกฤติ 130 เตียง

โรงพยาบาลวิมุต เกิดจากความร่วมมือของกลุ่มพฤกษาเรียลเอสเตท ที่ต้องการขยายสู่ธุรกิจสุขภาพ (Health Care) กับบริษัท เทพธัญญภา จำกัด เจ้าของโรงพยาบาลเทพธารินทร์  ที่มีชื่อเสียงเชี่ยวชาญในด้านโรคเบาหวานและต่อมไร้ท่อมานานกว่า 36 ปี โรงพยาบาลวิมุต มีงบประมาณลงทุนเกือบ 5,000 ล้านบาท เป็นอาคารสูง 18 ชั้น สร้างอยู่บนพื้นที่ขนาด 4 ไร่ ริมถนนพหลโยธิน ใกล้สี่แยกสะพานควาย (ติดกับธนาคารออมสิน สำนักงานใหญ่) เป็นโรงพยาบาลขั้นตติยภูมิ (Tertiary Care) ขนาด 236 เตียง บริการรักษาพยาบาลทั้งโรคทั่วไป โรคซับซ้อน เช่น หัวใจ กระดูก ซึ่งเพิ่งเปิดให้บริการเฟสแรก เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2564 ที่ผ่านมา

โรงพยาบาลลาดพร้าว มีแผนจะยกระดับให้มีศูนย์เฉพาะทางมากขึ้น มีแพทย์ประจำโรงพยาบาล ที่สามารถรักษาโรคซับซ้อนได้ เช่น ศูนย์ตาที่จะเปิดให้บริการปี พ.ศ. 2566  และศูนย์เฉพาะทาง ตับ ไต หัวใจ โดยขณะนี้มีแผนเข้าซื้อกิจการ (Take Over) โรงพยาบาลเอกชนแห่งใหม่ย่านปริมณฑล จำนวน 200 เตียง มูลค่าประมาณ 800 ล้านบาท โดยอยู่ระหว่างการตัดสินใจว่า จะลงทุนเอง 100% หรือร่วมกับนักลงทุนในสัดส่วนคนละ 50% หลังจากนั้น 3 ปีจะนำเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งโรงพยาบาลดังกล่าว มีรายได้เพิ่มขึ้นทุกปีและมีกำไร อีกทั้งยังมีลูกค้าที่เป็นประกันสังคมมากถึง 150,000 ราย  

นอกจากนี้ มีแผนจะซื้อกิจการรีสอร์ท ที่เขาใหญ่  อ.ปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา เนื้อที่ 22 ไร่ มูลค่า 300 ล้านบาท เพื่อนำมาทำโครงการ “ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ” หรือ Wellness Center  ซึ่งอยู่ระหว่างการเจรจา

แม้ปัจจุบันธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน จะมีสัดส่วนของผู้ป่วยต่างประเทศน้อยลงมากจากผลกระทบของการแพร่ระบาดจากการติดเชื้อไวรัส-โควิด 19 แต่ไม่ได้หมายความว่าธุรกิจโรงพยาบาลจะตาย เพราะขณะนี้มีสัญญาณเตรียมฟื้นกลับมารุ่งเรืองอีกครั้งนับเป็นธุรกิจที่ไม่มีวันตายจริง ๆ 

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ