TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistค่าไฟฟ้าแพง .... ใช่ภาระประชาชนไหม

ค่าไฟฟ้าแพง …. ใช่ภาระประชาชนไหม

ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจว่าธุรกิจผลิตไฟฟ้าของไทย มีลักษณะผูกขาดโดยภาครัฐเป็นผู้ซื้อรายเดียว (Enhanced Single Buyer Model) นั่นคือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)

ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (Independent Power Producer: IPP) เช่น บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด(มหาชน) หรือ EGCO,  บริษัท โกลว์ พลังงาน จำกัด(มหาชน) หรือ GLOW, บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC ในเครือปตท., บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULFหรือ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด(มหาชน) หรือ RATCH หรือผลิตผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็ก (Small Power Producer: SPP) เมื่อผลิตแล้วต้องจำหน่ายให้กับ กฟผ. เท่านั้น

ในการผลิตไฟฟ้า หน่วยงานภาครัฐทำหน้าที่กำกับดูแล ทั้งในด้านการผลิต การจำหน่าย รวมถึงการกำหนดราคาค่าไฟฟ้าและจัดทำแผนการลงทุนเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ และการเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าไม่สามารถทำได้ในระยะเวลาอันสั้น เนื่องจากการก่อสร้างโรงไฟฟ้าต้องใช้เวลา 5-7 ปี จึงต้องมีการจัดทำแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ (Power Development Plan) หรือที่เรียกกันว่า แผน PDP เป็นแผนแม่บทในการจัดหา พลังงานไฟฟ้าของประเทศในระยะยาว 20 ปี

เพื่อสร้างความมั่นคงและความ เพียงพอต่อความต้องการใช้ไฟฟ้า รองรับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ มีการกำหนดการผลิตไฟฟ้าสำรอง ร้อยละ 15  เป็นการรับประกันว่า ประเทศจะมีปริมาณไฟฟ้าใช้เพียงพอและเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน จะไม่เกิดไฟฟ้าดับ

มาดูตัวเลข ปริมาณความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดในแต่ละปี ย้อนกลับไป 5 ปี (พ.ศ. 2559 – 2563) มีอัตราน้อยลง บางปีถึงกับติดลบ (ข้อมูลจาก: การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.))

  • ปี พ.ศ. 2559 ความต้องการพลังไฟฟ้าสูงสุด  29,618.80  เมกะวัตต์  
  • ปี พ.ศ. 2560 ความต้องการพลังไฟฟ้าสูงสุด  28,578.40  เมกะวัตต์  
  • ปี พ.ศ. 2561 ความต้องการพลังไฟฟ้าสูงสุด  28,338.10   เมกะวัตต์  
  • ปี พ.ศ. 2562 ความต้องการพลังไฟฟ้าสูงสุด  30,853.20  เมกะวัตต์  
  • ปี  พ.ศ. 2563 ความต้องการพลังไฟฟ้าสูงสุด 28,637  เมกะวัตต์ 

จะเห็นว่าปริมาณการใช้ไฟฟ้าของปี 2563 ลดลงจากเดิม เนื่องจากปัญหาเรื่องการแพร่ระบาดของโควิด -19 ทำให้ภาคธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรมใช้ไฟฟ้าน้อยลง จากการที่ผลิตน้อย การจำกัดเวลาดำเนินการ และบางแห่งปิดกิจการ ซึ่งเดิมกลุ่มนี้ใช้ปริมาณไฟฟ้าเยอะมาก ได้แก่ อพาทเม้นท์ ห้างสรรพสินค้า สถานศึกษา โรงแรม โรงพยาบาลและอื่น ๆ แม้การใช้ไฟฟ้าในครัวเรือนจะเพิ่มขึ้น แต่เทียบไม่ได้กับภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมดังกล่าว 

ผู้รับผิดชอบจะมีการวางแผนผลิตไฟฟ้า เพราะไฟฟ้าที่ผลิตได้ไม่สามารถเก็บเป็นสต็อกเหมือนสินค้าอื่น จำเป็นต้องส่งไปยังลูกค้าหรือผู้ใช้ไฟฟ้าทันที โดยผ่านระบบสายส่ง ซึ่งที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่าปริมาณไฟฟ้าสำรองมีความล้นเกิน 15% มาหลายปี

โดยปกติแล้วสินค้าที่มีเยอะเกินความต้องการราคาจะถูกลง แต่สำหรับไฟฟ้าไม่ใช่ เพราะมีการตกลงราคากันไว้เป็นสัญญาระยะยาว ดังนั้นจึงมีต้นทุนแฝงใน ราคาค่าไฟฟ้าซึ่งในที่สุดก็ตกเป็นภาระของผู้ใช้ไฟฟ้า

สำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย ระบุว่า ประเทศไทยกำลังประสบกับปัญหากำลังผลิตไฟฟ้าสำรอง ที่อยู่ในระดับสูงมาก และสูงกว่ามาตรฐานสากลที่กำหนดไว้ประมาณ 15%

โดยข้อมูลจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ระบุว่าในเดือน ธ.ค. 2563 ประเทศมีกำลังการผลิตติดตั้งไฟฟ้า 45,480 เมกะวัตต์ เมื่อเทียบกับความต้องการไฟฟ้าสูงสุดในปี 63 ที่ 28,637 เมกะวัตต์ ส่งผลให้มีกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองสูงถึง 37% หรือ 27% เมื่อหักส่วนนำเข้าไฟฟ้าออกไป 

มีข้อมูลว่า ตั้งแต่เดือนแรกของ ปี 2564 ความล้นเกินของการผลิตไฟฟ้า ทำให้ โรงไฟฟ้าเอกชนขนาดใหญ่ จำนวน 8 แห่ง ไม่ได้เดินเครื่องผลิตไฟฟ้าเลย แต่ก็ยังก่อให้เกิดต้นทุนภาระค่าไฟมูลค่านับพันล้านบาทต่อเดือน ที่ผู้ใช้ไฟต้องแบกรับ เนื่องจากสัญญาซื้อขายไฟฟ้าถูกออกแบบให้มีการประกันกำไรให้แก่นักลงทุนไม่ว่า โรงไฟฟ้าจะมีการเดินเครื่องหรือไม่

การรับซื้อไฟฟ้าเข้ามาในระบบเข้ามามากเกินกว่า ความต้องการใช้ไฟฟ้าในสัดส่วนที่สูงมาก ​เป็นต้นทุนค่าไฟฟ้า ที่ประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าต้องจ่ายด้วยหรือ ทำไมรัฐบาลไม่เร่งแก้ปัญหาไฟฟ้าล้นเกิน หนำซ้ำยังมีการเปิดทางให้มีการลงทุนเพิ่มเติมโดยไม่มีหลักเกณฑ์ ทั้งที่ควรมีการชะลอหรือเลื่อนออกไปก่อน 

ปีนี้ (พ.ศ. 2564) ยังคงมีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดรอบใหม่ ส่งผลกระทบต่อกิจการด้านธุรกิจและอุตสาหกรรม มีโรงงานบางแห่งทยอยปิดกิจการลง ในขณะที่ภาครัฐเรียกร้องให้คนทำงาน Work From Home ตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลให้ค่าไฟฟ้าตามบ้านเรือนพุ่งสูงขึ้นอีกครั้ง  แต่รัฐจะ “ช่วยค่าไฟ” โดยคิดจากฐานเดือนเมษายน จริง ๆ ควรแก้ปัญหาตั้งแต่ประเมินการใช้ไฟฟ้าผิดทำให้มีไฟฟ้าสำรองล้นเกินไปดีกว่าไหม

ภาพ: www.egco.com

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ